หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2514 ภายใต้ชื่อเต็ม ๆ
ว่า วอยซ์ ออฟ เดอะเนชั่น" เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษซึ่งสังกัดอยู่ในเครือเดียวกับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยชื่อ
"ประชาชาติ" และ "ประชาชาติรายสัปดาห์"
ในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 นั้น กลุ่มนี้คือกลุ่มนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ที่แสดงภาพออกมาใหญ่โตมากและสามารถสร้างผลสะเทือนทางความคิดให้กับกลุ่มคน
"หัวก้าวหน้า" ในยุคนั้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต
เดอะเนชั่นเกิดขึ้นมาได้ด้วยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลัก 3 คน
ธรรรมนูญ มหาเปารยะ อดีตบรรณาธิการข่าวในประเทศของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
หม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร (ช่วงนั้นยังใช้นามสกุลบุณยรัตนพันธุ์ของอดีตสามี)
อดีตบรรณาธิการข่าวสังคมของบางกอกโพสต์และบางกอกเวิลด์
และสุทธิชัย หยุ่น อดีตบรรณาธิการข่าวในประเทศของบางกอกโพสต์เช่นเดียวกับธรรมนูญ
มหาเปารยะ เพียงแต่เป็นรุ่นหลัง
"ตั้งขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าใครมาเป็นนายทุนใหญ่ให้ เรา 3 คนก็อาศัยเพื่อน
ๆ เกือบ 200 คน ช่วยกันลงเงิน ยืนโต๊ะ ยืมเก้าอี้ ยืมพิมพ์ดีด แล้วก็ทำออกมาด้วยใจและความคิดสร้างสรรค์จริง
ๆ" สุทธิชัย หยุ่น เล่ากับ "ผู้จัดการ"
เดอะเนชั่นเกิดขึ้นมาได้เพราะบางกอกโพสต์แท้ ๆ
หรือหากจะกล่าวให้ลึกลงไปอีกก็คงต้องกล่าวว่า เกิดขึ้นเพราะ "ลูกหม้อ"
ทั้ง 3 คนนี้เมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ ก็ได้ค้นพบ "ข้ออ่อน" อย่างสำคัญของอาณาจักรบางกอกโพสต์เข้า
พวกเขาพบว่าที่ที่เขาอยู่ไม่พยายามสร้างคนไทยเจ้าของประเทศขึ้นมาทำหน้าที่บริหาร
"นาย" ชาวต่างชาติคนหนึ่งจากไปก็มี "นาย" คนใหม่ถูกส่งเข้ามาเจ้าของประเทศก็เป็นมือเป็นเท้าไปเรื่อย
ๆ แม้ว่าขณะนั้นกิจการจะก่อตั้งมาแล้วกว่า 20 ปีก็ไม่เคยมีวี่แววว่า เจ้าของบริษัทจะมอบความไว้วางใจให้กับคนไทยแต่ประการใด
(ซึ่งปัจจุบันบางกอกโพสต์ก็เปลี่ยนทัศนคติอย่างนี้ไปพอสมควรแล้ว)
ยังพบอีกว่า ข่าวที่นำเสนอนั้น ให้ความสำคัญกับข่าวความเคลื่อนไหวและความเป็นไปภายในประเทศน้อยมาก
"คุณเชื่อไหมอย่างตอนที่สงครามเวียดนามยังไม่ยุตินั้น 6 ใน 7 วันข่าวลีดคือคือข่าวสงครามเวียดนาม
ข่าวของบ้านเรานาน ๆ จะโผล่ออกมาขึ้นลัดที ซึ่งก็เป็นที่พออกพอใจของฝ่ายปกครองไทยช่วงนั้น
คือไม่ต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์ กลายเป็นว่าเจ้าของหนังสือกับฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์มีความเห็นสอดคล้องกับฝ่ายปกครอง
คือเล่นแต่ข่าวต่างประเทศเป็นหลักข่าวข้างในอย่าไปสนใจมาก สนใจแล้วมันจะยุ่ง
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการนำเสนอข่าวอย่างนี้กลายเป็นฝ่ายพนักงานคนไทย"
อดีตนักข่าวของบางกอกโพสต์พูดให้ฟัง
และก็ได้พบสัมผัสกับอีกหลาย ๆ ปัญหา "ซึ่งผมพูดเสมอว่าโพสต์ในยุคนั้นคือหนังสือพิมพ์แขกบ้านแขกเมืองที่เผอิญออกตีพิมพ์ในประเทศไทยเท่านั้น"
สุทธิชัย หยุ่น สรุปในที่สุด
ที่จริงก็คงมีหลายคนคิดเช่นเดียวกับธรรมนูญ, คุณหญิงสุนิดาหรือสุทธิชัย
หยุ่น เพียงแต่หลาย ๆ คนนั้นอาจจะไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวอย่างที่ทั้ง 3 คนนี้มีอยู่คือความทะเยอทะยาน
อุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่และคอนเน็คชั่นบางระดับที่จะช่วยให้ทำกิจกรรมบางสิ่งบางอย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้
ซึ่งอย่างน้อย 3 สิ่งนี้มีอยู่ในตัวของทั้ง 3 คนอย่างเห็นได้ชัด
ครั้นเมื่อประกอบกันเข้าก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับเช้าชื่อ
"วอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น" (ฟังแต่ชื่อก็สื่อไปถึงจุดยืนแล้ว) ประกบแข่งกับบางกอกโพสต์
หลังจากนั้นไม่นานกลุ่ม "วอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น" ก็ดึงขรรค์ชัย
บุนปานกับสุจิตต์ วงษ์เทศ มาออกหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยชื่อประชาชาติและประชาติรายสัปดาห์โดยฉบับหลังมีธัญญา
ผลอนันต์ เป็นบรรณาธิการบริหาร (ออกวอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่นได้ประมาณ 2 ปี
ธรรมนูญ มหาเปารยะ ก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งที่คอขณะอายุเพิ่งจะ 40 เต็ม)
หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับได้รับความนิยมจากผู้อ่านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะบรรดากลุ่มหัวก้าวหน้าในสังคมนิยมอ่านกันอย่างยิ่ง
"หลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นยุคที่เสรีภาพเบ่งบาน
ซึ่งก็รวมถึงเสรีภาพด้านการเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์ด้วย แน่นอนช่วงนั้นกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกฝ่ายปกครองที่ขวาจัดมาก
ๆ มองว่าเป็นซ้ายเหมือนกัน ๆ กับพวกนักศึกษากับกรรมกร เช่นเดียวกับที่กลุ่มพลังประชาธิปไตยอีกหลาย
ๆ กลุ่มโดนตั้งข้อหาอย่างจงใจกลั่นแกล้งกัน" นักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนหนึ่งให้ข้อคิด
ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อม ๆ กับการขึ้นมาบริหารประเทศของรัฐบาล
"หอย" -ธานินทร์ กรัยวิเชียร หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับนี้ก็เลยถูกสั่งปิด
ห้ามตีพิมพ์เผยแพร่อีกเด็ดขาด
ขรรค์ชัย บุนปาน ต้องหอบหิ้วพลพรรคจากประชาชาติรายวันมาออกประชาชาติธุรกิจและมติชน
สุจิตต์ วงษ์เทศ กลายเป็นเจ้าของโรงพิมพ์
ส่วนคุณหญิงสุนิดากับสุทธิชัย หยุ่น กัดฟันออกหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษต่อไปหลังจากถูกสั่งปิดได้ราว
ๆ 1 เดือน
จากชื่อ "วอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น" ก็กลายมาเป็นชื่อ "เดอะ
เนชั่น รีวิว" หัวหน้าหัวใหม่ซึ่งเปลี่ยนตัวบรรณธิการจากสุทธิชัย หยุ่น
มาเป็นคุณหญิงสุนิดาแทน
และก็ได้ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินงานแทนบริษัทเก่า
ชื่อบริษัทบิสซิเนส รีวิว จัดตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2519 ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น
5 แสนบาท มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธิสิริโสภาทรงเป็นหุ้นใหญ่ (หม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดาเป็นพระธิดาพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา)
การดำเนินงานในช่วงแรก ๆ นั้นก็ทำกันไปได้โดยอาศัยกู้ยืมเงินจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธิสิริโสภามา
5 ล้านบาท
"ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ12 ต่อปี มีเงื่อนไขการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามกำลังความสามารถและฐานะทางธุรกิจของบริษัท"
ผู้ที่ทราบเรื่องดีบอกให้ฟัง
ว่าไปแล้วการล้ม แล้วได้เกิดขึ้นอีกครั้งนั้น ออกจะเป็นคุณมากกว่าโทษด้วยซ้ำไป
"ก็เล่ากันว่าพระองค์หญิงท่านกริ้วมากที่อยู่ ๆ มาแกล้งปิดหนังสือของพระธิดาท่าน
พระองค์หญิงนั้นแต่เดิมท่านไม่เข้ามาสนใจเลย แต่พอเกิดเรื่องเช่นนี้ท่านเข้ามาเต็มพระองค์ทันที
ฐานการเงินก็ต้องถือว่าหมดห่วงไปได้มาก.." ผู้ที่ทราบเรื่องดีคนเดิมเล่าต่อ
อีกหลาย ๆ ปีก็เลยผ่านไปพร้อม ๆ กับการดีวันดีคืนของ "เดอะ เนชั่น
รีวิว"
ในปัจจุบัน "เดอะ เนชั่น รีวิว" ที่เพิ่งจะตัดคำว่า "รีวิว"
ออกไปเป็น "เดอะ เนชั่น" เฉย ๆ เมื่อปีเศษที่ผ่านมาเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น
52,575,000.00 บาท เรียบร้อยแล้วโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 39,996 หุ้นก็คือบริษัทโมเดอร์นลิฟวิ่ง
(ราคาหุ้นละ 100 บาท บริษัทโมเดอร์นลิฟวิ่งนี้ก็มีหุ้นใหญ่คือพระวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภากับหม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา
กิติยากร)
ซึ่งก็เป็นการปรับเปลี่ยนภายหลังจากเกิด "เลเบอร์ คอนฟริค" ครั้งใหญ่ใน
"เดอะ เนชั่น" เมื่อปี 2526
ส่วนสำนักงานใหญ่ก็เพิ่งย้ายจากซอยสุขุมวิท 42 มาที่อาคารโอ่อ่าในซอยแสงจันทร์
(แยกสุขุมวิท 42) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว