กลุ่ม "ไทยรัฐ" อยากได้บางกอกโพสต์เข้ามาอยู่ในเครืออีกฉบับนั้น
พูดกันมาก ๆ เพียงแต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จยังไม่มีใครกล้ายืนยัน อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวของบางกอกโพสต์แล้ว
ถึงจะตัดเรื่องกลุ่ม "ไทยรัฐ" ออกไป การเปลี่ยนแปลงก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
และถ้ารวมเรื่องความพยายามของกลุ่ม "ไทยรัฐ" เข้าไป มันก็คือตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงดี
ๆ นี่เอง
อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ "ไทยรัฐ" กำลังใกล้แล้วเสร็จ แท่นพิมพ์ระบบมหึมาที่สั่งตรงมาจากเยอรมนีตะวันตกก็กำลังอยู่ในระหว่างการติดตั้งอย่างรีบเร่ง
ในห้วงเวลาแห่งการขยายอาณาจักร "ไทยรัฐ" ของกำพล วัชรพล ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่อึกทึกครึกโครมที่สุด,
ลงทุนสูงกว่าทุก ๆ ครั้ง และก็น่าเกรงขามอย่างยิ่ง
การปรับเปลี่ยนรูปโฉม "ไทยรัฐ" ให้เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับแรกที่พิมพ์
4 สี หนา 32 หน้า ซึ่ง "แกรนด์" มาก ๆ นั้น ในชั้นแรกคล้ายกับเรื่องที่คุยกันเล่น
ๆ แต่ถึงชั้นนี้แล้วก็คงจะไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป
วงการทราบกันดีว่าเป็นเรื่องที่กำพล วัชรพล ต้องทำแน่ ๆ
และด้วยประสิทธิภาพของแท่นพิมพ์ระบบมหึมาแท่นใหม่ซึ่งมีกำลังการผลิตเหลือเฟือนอกเหนือจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเพียงฉบับเดียว
ก็พูด ๆ กันปากต่อปากว่ากลุ่ม "ไทยรัฐ" อาจจะต้องออกหนังสือพิมพ์เพิ่มอีกฉบับ
มียอดพิมพ์ระดับน้อง ๆ ไทยรัฐ
พูดกันลึกลงไปอีกว่าน้อง ๆ ไทยรัฐฉบับนี้จะเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษ?
และหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ว่า ๆ กันนี้ชื่อ "บางกอกโพสต์"
เสียอีกด้วย!!
แน่นอนที่สุด...การออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ด้วยการตั้งชื่อหัวหนังสือซ้ำกับชื่อ
"บางกอกโพสต์" ซึ่งเป็นหัวหนังสือที่มีมานานแล้วเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ตามกฎหมายการพิมพ์
เพียงสิ่งเดียวที่ทำได้ก็มีแต่จะต้องเข้าไปเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ "บางกอกโพสต์"
เท่านั้น
หนังสือพิมพ์ "บางกอกโพสต์" เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันและก็เป็นเจ้ายุทธจักรวงการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมาโดยตลอด
บริษัทโพสต์พับลิชชิ่ง-เจ้าของ "บางกอกโพสต์" นั้น นอกจากจะมี
"บางกอกโพสต์" ออกเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเช้าแล้ว ก็ยังมี
"บางกอกเวิลด์" อีกฉบับที่ออกเป็นรายวันฉบับบ่ายและมีหนังสือในเครืออีกจำนวนหนึ่งอย่างเช่น
"สติวเดนท์" กับ "บิสสิเนสอินไทยแลนด์" เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการเป็นเจ้าของ "บางกอกโพสต์" ก็คือการที่จะต้อง
TAKE OVER บริษัทโพสต์พับลิชชิ่ง ซึ่งนอกจากจะได้หนังสือพิมพ์ฉบับเก่าแก่มีผลกำไรงามฉบับนี้ไปครอบครองแล้วก็ยังจะได้หนังสือพิมพ์แถมพกไปอีกทั้งเครือด้วย
ดู ๆ ไปแล้วก็เย้ายวนมาก
น่าจะมีใครเข้ามา TAKE OVER ไปตั้งนานแล้ว!!
จุดนี้ก็เป็นปริศนาอย่างหนึ่งเหมือนกันที่ทำไมการ TAKE OVER "บางกอกโพสต์"
โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจึงไม่เกิดขึ้นและเพราะเหตุใด "บางกอกโพสต์"
จึงต้องกลายเป็นอาณาจักรที่ไม่มีกลุ่มใดถือหุ้นไว้เกินกว่า 18% หรือพูดอีกทีก็คือไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงในปัจจุบัน
แล้วยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่ม "ไทยรัฐ" เล่าจะมีข้อยกเว้นหรือไม่?
"เรายอมรับว่าได้จับตาดูความเคลื่อนไหวของคุณกำพลในระยะใกล้ ๆ นี้มาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ
เราเชื่อว่าเรื่องที่กลุ่มนี้จะออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่อีกฉบับคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่ถ้าอยากซื้อบางกอกโพสต์คงทำได้อยู่เพราะเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม นั่นก็หมายความว่ากลุ่มไทยรัฐจะต้องลงเงินจำนวนมาก
ๆ ในการกว้านซื้อหุ้น"
เอียน เจมส์ ฟอเซท กรรมการผู้จัดการบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง-เจ้าของ
"บางกอกโพสต์" เปิดใจพูดกับ "ผู้จัดการ" ภายหลังจากที่เรื่องกลุ่ม
"ไทยรัฐ" พยายามติดต่อขอซื้อหุ้นบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งได้กลายเป็นเรื่องที่รับทราบกันกว้างขวางพอสมควรแล้ว...ไม่กี่เดือนนี่เอง
คงไม่มีใครปฏิเสธข้อเท็จจริงจากคำพูด เอียน เจมส์ ฟอเซท
"เพียงแต่ผมว่าเรื่องเงินก้อนเล็กก้อนใหญ่คงไม่ใช่ปัญหาสำคัญสำหรับกลุ่มไทยรัฐหรอก
ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่จะมีผู้ถือหุ้นกลุ่มไหนยอมขายหุ้นให้หรือเปล่าเท่านั้นแหละ..."
นักสังเกตการณ์ผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์คนหนึ่งแสดงความเห็นให้ฟัง
ก็คงปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไม่ได้อีกเช่นกัน
"บางกอกโพสต์" เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
2489 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะยุติลงหรือเมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา
ตัวผู้ก่อตั้งที่สำคัญ ๆ ก็มีอยู่ด้วยกัน 9 คน (อ่านจากล้อมกรอบเรื่อง
"เสรีไทยคอนเนกชั่น") โดยมีหุ้นใหญ่เป็นอเมริกันชื่ออเล็กซานเดอร์
แมคโดนัลด์ ส่วนอีก 8 คนเป็นคนไทยซึ่งหลาย ๆ คนเป็นอดีตเสรีไทยสายอาจารย์ปรีดี
พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย
เมื่อแรกทีเดียว "บางกอกโพสต์" ออกเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับบ่าย
และก็เป็นฉบับบ่ายเรื่อยมานับเป็นสิบปีก่อนจะเปลี่ยนมาออกเป็นฉบับเช้าประกบกับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษอีกฉบับที่ชื่อ
"บางกอกเวิลด์" ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า แล้วเปลี่ยนมาเป็นฉบับบ่ายในภายหลัง
แมคโดนัลด์นั้นอดีตเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยโอเอสเอส ซึ่งมีภารกิจติดต่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทย
แมคโดนัลด์ก็เลยมีมิตรสหายเป็นเสรีไทยอยู่มากหน้าหลายตาโดยเฉพาะเสรีไทยชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น
อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แล้ว แมคโดนัลด์ให้ความเคารพนับถืออย่างมากๆ
และก็เพราะความที่เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดอาจารย์ปรีดีและเสรีไทยนี่เอง
ทำให้แมคโดนัลด์ถูกจับตามองอย่างไม่ค่อยจะไว้วางใจจากกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม
และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ศัตรูทางการเมืองของกลุ่มอาจารย์ปรีดีในขณะนั้น
"นายแมคฯ บริหารบางกอกโพสต์อยู่ได้ไม่ถึง 10 ปีดีก็เริ่มรู้ตัวว่าฝ่ายปกครองกลุ่มจอมพล
ป.กับอัศวินเผ่าไม่ค่อยชอบหน้าเขา นายแมคฯ จึงต้องเอาเพื่อนของเขาเข้ามาอีกคน
ชื่อนายเฮนรี่ เฟรดเดริค โดยเอามาอยู่ในกองบรรณาธิการก่อน เป็นการเตรียมสำรองเอาไว้
ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันกับตัวนายแมคฯ ประสิทธิ ลุลิตานนท์ เล่ากับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งแมคโดนัลด์ก็คาดหมายได้ถูกต้อง
ในปี 2499 จากข้อเขียนของเขาภายใต้ชื่อ "บางกอก เอดิเตอร์" ได้ก่อให้เกิดความขัดข้องหมองใจอย่างรุนแรงกับพลตำรวจเอกเผ่า
ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น "อัศวินเผ่า" ก็เลยหาเรื่องบีบแมคโดนัลด์ออกไปนอกประเทศ
ตำแหน่งบรรณาธิการคนที่ 2 ต่อจากแมคโดนัลด์จึงได้มาอยู่กับแฮรี่ เฟรดเดริค
ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ที่แมคโดนัลด์ตระเตรียมเอาไว้แล้วล่วงหน้า
"จะต้องเข้าใจว่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษยุคนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับอเมริกาทั้งสิ้น
เพียงแต่เป็นอเมริกาคนละปีกเท่านั้น คือปีกหนึ่งก็เป็นพวกอาจารย์ปรีดี ส่วนอีกปีกก็หนุนกลุ่มจอมพลป.กับพลตำรวจเอาเผ่า เพราะฉะนั้นบางกอกโพสต์เมื่อเกิดขึ้นมาก็เลยต้องมีบางกอกเวิลด์เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่กี่ปี
และก็เป็นที่รู้ ๆ กันว่าบางกอกโพสต์เป็นกลุ่มอาจารย์ปรีดี ส่วนบางกอกเวิลด์ก็มีนายเบอลิแกนเข้ามาร่วมกับพลตำรวจเอกเผ่า
ทั้ง 2 ฉบับก็เลยทั้งขัดและแข่งกันมาก.. ." นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ก็น่าจะพูดได้ว่าการขจัดแมคโดนัลด์ออกไปนอกวงโคจรนั้น ได้ประโยชน์ทั้งในแง่การเมืองและในแง่ผลประโยชน์ทางธุรกิจพร้อม ๆ
กัน
และสำหรับคนที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข "บางกอกโพสต์" แล้ว สิ่งนี้คือความแค้นที่
"บางกอกเวิลด์ เป็นผู้มีส่วนสร้างขึ้น ซึ่งสักวันหนึ่งข้างจะต้องมีการชำระกันบ้าง
"บางกอกโพสต์" ในยุคแฮรี่ เฟรดเดริคแม้จะยังเป็นยุคแห่งการสืบทอดเจตนารมณ์จากคนเก่าผู้จากไปด้วยเหตุจำเป็น
ซึ่งทำให้แนวทางและนโยบายส่วนใหญ่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือก็จริง
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เกิดการวางรากฐานไว้และมีผลถึงอนาคตของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อย่างยากแก่การปฏิเสธก็คือ
งานด้านโฆษณา-แหล่งรายได้สำคัญอีกแหล่งหนึ่งซึ่งมีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายอดขายหนังสือพิมพ์
พร้อม ๆ กับการก้าวขึ้นรับตำแหน่งบรรณาธิการและผู้กุมอำนาจสูงสุดของแฮรี่
เฟรดเดริค นี่เองที่ประสิทธิ ลุลิตานนท์ พ้นโทษออกมาหลังจากต้องถูกจองจำอยู่ในคุกเกือบ
9 ปีเต็มด้วยข้อหา "กบฏวังหลวง" และได้เข้าร่วมงานอีกครั้งกับบางกอกโพสต์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณา
ฝ่ายใหม่ที่ตั้งขึ้นสำหรับประสิทธิ ลุลิตานนท์โดยเฉพาะ
"ก่อนหน้านั้นบางกอกโพสต์มอบงานด้านโฆษณาให้บริษัทฝรั่งแห่งหนึ่งเหมาทำ โดยบางกอกโพสต์ได้รายได้เดือนละ
50,000 บาท นายเฟรดริคเขาก็คิดว่าถ้าเอามาทำเองน่าจะให้รายได้ดีกว่า เขาก็เอามาให้ผมทำเพราะเห็นผมมีพรรคพวกเพื่อนฝูงในวงการธุรกิจมาก
ผมก็เริ่มงานอีกครั้งกับบางกอกโพสต์ในหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาซึ่งผมทำคนเดียวจริง
ๆ ไม่มีแม้กระทั่งเลขาฯ ต้องทำทุกอย่างเองหมด" ประสิทธิกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ก็ในช่วงที่ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาชื่อประสิทธิ ลุลิตานนท์ นี่เองที่บางกอกโพสต์ได้เปิดหน้า
"ชิปปิ้ง ไกด์" ขึ้นเล็ก ๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นหน้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับหนังสือพิมพ์ได้อย่างมั่นคงและเป็นกอบเป็นกำต่อไปในระยะยาว
เนื่องจากเป็นหน้าที่จะต้องลงโฆษณากันทุกวันอีกทั้งก็จะต้องโตไปพร้อม ๆ กัน
กับการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย
"ตอนที่เริ่มนั้นผมก็คิดว่าหน้าชิปปิ้งไกด์ มันจะต้องเป็นงานประจำ
เพราะผมเคยทำเอ็กซ์ปอร์ตอิมปอร์ตมาก่อน คิดว่ามันจะเป็นเมนไลน์ของเราได้เพราะสินค้าเข้าสินค้าออกของเรามีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตารางเดินเรือเข้าออกก็มีมากพอ แม้ว่าตอนที่เริ่มบริษัทเดินเรือจะยังมีไม่กี่แห่ง
คือมีอี๊สต์เอเชียติ๊ก บอร์เนียว แล้วก็โหงวฮก แต่ผมก็เชื่อว่ามันจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในอนาคตซึ่งก็เป็นจริงทุกอย่าง" ประสิทธิพูดถึงงานชิ้นโบแดงของเขาให้ฟัง
เมื่อเริ่มเปิดหน้า "ชิปปิ้ง ไกด์" นั้นเป็นปี 2503 รายได้จากโฆษณาส่วนนี้ยังไม่มากนัก
แต่ล่วงเข้าปี 2529 นี้เอง บางกอกโพสต์มีหน้า "ชิปปิ้งไกด์"
ทั้งหมด 8 หน้า เต็ม ๆ เป็นรายได้ประจำก้อนใหญ่ในส่วนที่เป็นรายได้จากการโฆษณาหลายปีติดต่อกันมาแล้ว
และครั้งหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีมานี้เคยเกิดกรณีพิพาทครั้งใหญ่ระหว่างหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กับหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ด้วยสาเหตุที่ต่างฝ่ายต่างมีหน้า
"ชิปปิ้งไกด์" ด้วยกันทั้งคู่
"ตอนที่กลุ่มสุทธิชัย หยุ่น แยกจากบางกอกโพสต์ไปทำเดอะเนชั่น เขาก็ทราบดีว่ารายได้หลักด้านโฆษณานั้นมันอยู่ที่หน้าชิปปิ้ง
เขาก็พยายามเปิดขึ้นมาบ้าง โดยแรก ๆ ก็เอาพวกสายเดินเรือเล็ก ๆ ลง บางกอกโพสต์ก็กีดกันทุกทางเพราะถือว่ามาเบียดรายได้ของเขา
ก็สู้กันอยู่พักหนึ่ง ปั่นป่วนวงการชิปปิ้งมาก จนผลสุดท้ายก็ต้องแบ่งผลประโยชน์กัน"
มือโฆษณาของหนังสือพิมพ์มีชื่อฉบับหนึ่งย้อนอดีตช่วงนั้นกับ "ผู้จัดการ"
เป็นการช่วยสะท้อนว่าหน้า "ชิปปิ้ง ไกด์" สำหรับยุทธจักรหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษนั้น
"เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง"
สำหรับบางกอกโพสต์แล้วผลประโยชน์จากหน้า "ชิปปิ้ง ไกด์" ก็สมควรอยู่หรอกที่จะต้องขอบคุณผู้มีสายตายาวไกลอย่างประสิทธิ
ลุลิตานนท์กับแฮรี่ เฟรดเดริค
แต่ถ้าบางกอกโพสต์จะต้องแสดงความขอบคุณไปยังผู้ที่ช่วยยกระดับให้บางกอกโพสต์พัฒนาเติบโตมาได้จนทุกวันนี้แล้วละก้อ
บางกอกโพสต์จะต้องแสดงความขอบคุณไปที่กลุ่มลอร์ดทอมสัน ซึ่งเข้ามารับซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อปี 2506 พร้อม ๆ กับส่งกรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการคนใหม่ชื่อ เทรเวอร์ แลชฟอร์ดเข้ามาแทนแฮรี่
เฟรดเดริค
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นั้นมีบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งเป็นเจ้าของ
โพสต์พับลิชชิ่งซึ่งเริ่มต้นก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทแบ่งเป็น
10,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท และการเข้ามาของกลุ่มลอร์ดทอมสันก็คือการเข้ารับซื้อหุ้นจำนวน
4,500 หุ้นโดยบริษัททอมสันอินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น-บริษัทหนึ่งในกลุ่มลอร์ดทอมสันซึ่งจดทะเบียนที่ฮ่องกง
จาก 4,500 หุ้นก็ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอีกไม่กี่ปีต่อมากลุ่มลอร์ดทอมสันได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งอย่างสิ้นเชิงโดยมีหุ้นทั้งสิ้น
75 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย
กลุ่มลอร์ดทอมสันภายใต้การนำของลอร์ดลอยด์ ทอมสันนั้นเป็นเจ้าของธุรกิจกว่า
200 แห่งทั่วโลก และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ในประเทศอังกฤษ (เมื่อ
5 ปีที่แล้วกลุ่มนี้ได้เข้าไปร่วมกับรัฐบาลจีนก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ "ไชน่าเดลี่"
ขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ฉบับแรกในกรุงปักกิ่งด้วย)
ถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มเก่าอย่างแมคโดนัลด์และเฟรดเดริคที่ค่อนข้างจะเป็นนักอุดมการณ์มากกว่าความเป็นนักธุรกิจแล้ว
กลุ่มลอร์ดทอมสันก็คือกลุ่ม "มืออาชีพ" ด้านธุรกิจหนังสือพิมพ์ขนานแท้
เพราะฉะนั้นการเข้ามา TAKE OVER บริษัทโพสต์พับลิชชิ่งของกลุ่มลอร์ดทอมสันจึงมาพร้อม
ๆ กับการลงทุนขยายกิจการและการแสวงหา "กำไร" โดยเฉพาะ
บางกอกโพสต์เริ่มต้นยุค "มืออาชีพ" ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มทุนรวดเดียวจาก
1 ล้านบาทเป็น 4 ล้านบาท "แต่ก็ทำไม่สำเร็จด้วยเหตุผลหลายอย่าง โดยเฉพาะหุ้นส่วนคนไทยคัดค้านมาก"
แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งเปิดเผยให้ฟัง
หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มีการสั่งซื้อแท่นพิมพ์ระบบออฟเซ็ทของสหรัฐฯ เข้ามาติดตั้งเป็นแท่นพิมพ์ระบบออฟเซ็ทเครื่องแรกที่วงการพิมพ์ของไทยตื่นเต้นกันมาก
ๆ "ผมยังจำได้ว่าคุณประสาน มีเฟื่องศาสตร์ได้พาคุณกำพล วัชรพล มาชมแท่นของเราซึ่งตอนนั้นสำนักงานยังไม่ได้ย้ายมาที่ตึกอื้อจือเหลียง
ยังอยู่ที่อาคาร 4 ถนนราชดำเนินกลาง ต่อจากนั้นไม่นานคุณกำพลก็ซื้อแท่นระบบออฟเซ็ทของเยอรมนีเข้ามาติดตั้งที่ไทยรัฐบ้าง"
ประสิทธิ ลุลิตานนท์ เล่าเกร็ดเรื่องนี้ให้ฟัง
ส่วนด้านระบบงานของกองบรรณาธิการก็ได้สร้าง "คอนเนกชั่น"
ไว้กับคอลัมนิสต์และนักหนังสือพิมพ์เกือบทั่วโลกโดยอาศัยเครือข่ายกิจการหนังสือพิมพ์ของกลุ่มลอร์ดทอมสันเป็นสะพานเชื่อม
ในยุคที่มีกรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการชื่อ แลชฟอร์ด สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษเช่นบางกอกโพสต์นั้น
อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของการขยายงาน เพื่อให้เป็นการทำหนังสือพิมพ์ในรูปของธุรกิจอย่างแท้จริงและก็เป็นยุคที่แนวทางใหม่
ๆ ของการบริหารงานหนังสือพิมพ์ถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก
"หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นการวางรากฐานให้กับธุรกิจหนังสือพิมพ์ของบ้านเราในเวลาต่อ
ๆ มา..." นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าคนหนึ่งวิเคราะห์
แลชฟอร์ดเป็นคนมีความสามารถสูงมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า
ๆ มาเป็นสิ่งใหม่ ๆ แล้ว แลชฟอร์ด ดูเหมือนจะถูกบันทึกให้เป็นผู้บริหารหมายเลข
1 เพียงคนเดียวของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่กล้าทำอย่างไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม และก็ไม่เหมือนกับที่ผู้บริหารในยุคหลังจากเขาต้อง
"เล่น" กัน
"ผมว่าเงื่อนไขมันก็ให้ด้วย คือกลุ่มลอร์ดทอมสันก็เป็นเสียงใหญ่คอยหนุนอยู่ในบอร์ด
หนังสือพิมพ์ก็กำลังต้องการสิ่งใหม่ ๆ เพื่อจะได้ตามวิวัฒนาการของโลกให้ทันอยู่พอดีด้วย"
นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าคนเดิมพยายามจะมองอีกด้านหนึ่งในการประเมินความสามารถของ
แลชฟอร์ด
เทรเวอร์ แลชฟอร์ด เข้าทำหน้าที่กุมบังเหียนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระหว่างปี
2507 ถึงปี 2512 ซึ่งก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่นานนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริหารคนอื่นๆ
ทั้งก่อนหน้าและภายหลัง แต่เขาก็สร้างเกียรติประวัติไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่แลชฟอร์ดได้รับคำยกย่องมาก
ๆ ก็คือการ "เข่น" หนังสือพิมพ์คู่แข่งชื่อ "บางกอกเวิลด์"
ลงได้อย่างราบคาบ
ช่วยลบรอยแค้นที่ฝังรอยไว้ตั้งแต่ครั้ง "แมคโดนัลด์โดนบีบออกไปนอกวงโคจร"
ได้อย่างสาสมใจที่สุด
"บางกอกเวิลด์" เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับเช้าที่ออกมาไล่หลัง
"บางกอกโพสต์" ไม่กี่ปี มีเจ้าของเป็นคนอเมริกันชื่อ เบอลิแกน
ในยุคแรก ๆ นั้น "บางกอกเวิลด์" อาศัยความเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้านำหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายอย่าง
"บางกอกโพสต์" มาโดยตลอด
จนกระทั่งในยุคที่กลุ่มลอร์ดทอมสันเข้ามาใน "บางกอกโพสต์" แล้วจึงได้มีการปรับเปลี่ยนให้
"บางกอกโพสต์" เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าบ้าง เพื่อที่จะประกบแข่งกับ
"บางกอกเวิลด์" ซึ่ง ๆ หน้า โดยผู้ที่ตัดสินใจก็คือ แลชฟอร์ด
ขณะกำลังต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงโดยต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กันนั้น
เผอิญเจ้าของ "บางกอกเวิลด์" ถูกฆาตกรรมเสียชีวิต (สาเหตุถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับพฤติกรรม
"โฮโมเซ็กชวล" ของผู้ตาย)
"บางกอกเวิลด์" ก็เลยกลายเป็นเรือที่ไร้หางเสือพักหนึ่ง
"ผมจำได้ว่าประมาณปี 2509 บางกอกโพสต์โดยกลุ่มลอร์ดทอมสันได้ยื่นข้อเสนอจะซื้อกิจการของบางกอกเวิลด์
ซึ่งบางกอกเวิลด์ก็ทำท่าจะขายเหมือนกัน เพราะขาดเบอลิแกนแล้วเงินทองที่เคยได้จากแหล่งลึกลับบางแหล่งก็ไม่ได้อีกต่อไป
แต่เรื่องนี้เกิดเล็ดลอดไปเข้าหูจอมพลประภาส จารุเสถียร เข้า ท่านก็บัญชามาว่า
อย่าทำเช่นนั้น เพราะจะกลายเป็นการผูกขาดกิจการโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ท่านก็ขอให้กลุ่มทุนที่ท่านใกล้ชิดสนิทสนมอยู่ช่วยรับซื้อกิจการไปทำ
บางกอกโพสต์ก็เลยชวด..." อดีตลูกจ้างของ "บางกอกเวิลด์" เล่ากับ
"ผู้จัดการ" ซึ่งกลุ่มทุนใกล้ชิดสนิทสนมกับจอมพลประภาสที่ว่านี้
เขาหมายถึงกลุ่มอิตัลไทยของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต
ในปี 2510 กลุ่มอิตัลไทยโดยนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต กับยอยอร์ แบลินเจียรี่
จึงได้ก่อตั้งบริษัทเวิลด์เพรสขึ้นมาเพื่อรับโอนกิจการหนังสือพิมพ์ "บางกอกเวิลด์"
จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเดอะบางกอกเวิลด์มาทำแทน (ยอยอร์ แบลินเจียรี่ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อปี
2524 เขาเป็นคนอิตาเลียนที่มีฝีมือสูงมากด้านการบริหารงานก่อสร้างขนาดใหญ่
ความสามารถของแบลินเจียรี่เมื่อบวกเข้ากับคอนเนกชั่นระดับสูงของนายแพทย์ชัยยุทธ
กรรณสูต ได้ส่งผลให้กลุ่มบริษัทอิตัลไทยกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างอย่างรวดเร็วและสามารถขยายอาณาจักรออกไปอีกหลายด้านในปัจจุบัน)
และในปี 2521 ก็มีกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่จากสหรัฐฯ เข้ามาร่วมลงทุนกับอิตัลไทยในบริษัทเวิลด์เพรสเพื่อทำให้
"บางกอกเวิลด์" ที่ไร้หางเสือไปช่วงหนึ่งหวนกับขึ้นมาเป็น "เจ้าสังเวียน"
อีกครั้ง
กลุ่มนี้ก็คือกลุ่มของเจมส์ ไลเนน เจ้าของกิจการหนังสือไทม์-ไลฟ์
"พวกนี้เป็นเศรษฐีอเมริกันซึ่งประทับใจเมืองไทยตั้งแต่ครั้งที่ในหลวงรัชกาลปัจจุบันเสด็จเยือนสหรัฐฯ
และได้ตรัสชักชวนให้นักลงทุนอเมริกันมาร่วมลงทุนในประเทศไทย" ผู้ที่ทราบถึงเบื้องหลังการเข้ามาของกลุ่มไลเนนอธิบาย
ดู ๆ ไปแล้วก็น่าเกรงขามมาก
เพียงแต่ก็ออกจะโชคร้ายอยู่นิดหน่อยตรงที่กลุ่มไลเนนนั้นเมื่อลงเงินก้อนแรกมาแล้วก็ไม่เคยสนใจไยดีกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เท่าไร
ส่วนกลุ่มอิตัลไทยก็ไม่ถนัดเรื่องการบริหารกิจการหนังสือพิมพ์เลย เข้ามาก็เพราะไม่อยาก
"ขัด" ผู้ใหญ่เป็นเหตุผลหลัก
ข้างในของ "บางกอกเวิลด์" จริง ๆ แล้วจึง "กลวง" อย่างไม่น่าเชื่อ
"เพียง 2-3 ปีคล้อยหลังทุนรอนก็ร่อยหรอ และที่พลาดอย่างหนักก็คือการลงทุนเกือบ
10 ล้านบาทซื้อแท่นพิมพ์ใหม่เข้ามา ซึ่งเป็นเครื่องที่ทำงานห่วยมาก ไม่คุ้มกับการลงทุนเลย"
อดีตพนักงาน "บางกอกเวิลด์" เล่าสถานการณ์
ยืนหยัดอยู่มาได้ 5 ปี "บางกอกเวิลด์" ก็ถึงจุดหมดแรงเอาดื้อ
ๆ
สำหรับผู้ออกหน้าเป็นหุ้นส่วนใหญ่อย่างกลุ่มอิตัลไทยนั้น ก็คงไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากต้องยินยอมเปิดการเจรจากับกลุ่มลอร์ดทอมสันเจ้าของบางกอกโพสต์ซึ่งหลังจากพลาดมาครั้งหนึ่งแล้วก็เพียรพยายามยื่นเงื่อนไขรวมกิจการหนังสือพิมพ์ทั้ง
2 ฉบับอยู่ไม่ได้ขาด โดยเงื่อนไขครั้งล่าสุดมีหลักการใหญ่ๆ อยู่ 2 ประการคือ
ประการแรก-จะจัดตั้งบริษัทกลางขึ้นมาบริษัทหนึ่ง เป็นบริษัทที่โพสต์พับลิชชิ่ง
เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ถือหุ้น 75% บริษัทเวิลด์เพรสเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ถือ
25% ที่เหลือและบริษัทใหม่นี้จะเป็นเจ้าของและผู้บริหารหนังสือพิมพ์ทั้ง
2 ฉบับ
ประการที่สอง-บางกอกโพสต์จะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าต่อไป แต่บางกอกเวิลด์ต้องเปลี่ยนมาออกเป็นฉบับบ่ายเพื่อไม่ต้องแย่งตลาดกันเหมือนเก่า
ว่าไปแล้วก็คือข้อเสนอที่จะ "ฮุบ" กิจการกันดี ๆ นี่เอง เพียงแต่เมื่อฝ่ายหนึ่งก็เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่มีหน้ามีตา
การออกมาในรูปนี้ก็คงช่วยรักษาหน้าตาไว้ได้บ้างอย่างน้อยยังดูดีกว่าการรับซื้อกิจการกันตรง
ๆ
ภายหลังการเจรจาที่ใช้เวลาพอสมควรทางเวิลด์เพรสก็รับข้อเสนอของโพสต์พับลิชชิ่ง
บริษัทกลางที่ชื่อ อัลลายด์ นิวส์เพเพอร์ จึงได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2516 ด้วยทุนจดทะเบียน
12 ล้านบาท
บริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง เข้าถือหุ้น 75%
ส่วนทางฝ่ายเวิลด์เพรสเข้าถือหุ้นในนามบริษัทอิตัลไทยโฮลดิ้งและบริษัทแอมไทยพับลิคเกชั่น
ซึ่งบริษัทแรกเป็นของกลุ่มนายแพทย์ชัยยุทธกับแบลินเจรี่ ส่วนบริษัทหลังเป็นของกลุ่มไลเนน
อิตัลไทย โฮลดิ้งถือ 12.5% ข้างฝ่ายกลุ่มไลเนนก็ถือ 12.5% รวมแล้วก็ 25%
ลงตัวตามโควตาทุกประการ
น่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่แลชฟอร์ดไม่มีโอกาสได้ชื่นชมผลงานดังกล่าวนี้ของเขา ซึ่งที่จริงแลชฟอร์ดก็ไม่ได้อยู่เห็นการจัดตั้งบริษัทอัลลายด์
นิวส์เพเพอร์ ด้วยซ้ำไป
จากจุดอ่อนส่วนตัวเกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านเงิน ๆ ทอง ๆ และติดการพนัน
"เล่นม้า" ชนิดโงหัวไม่ขึ้น แลชฟอร์ดถูกกลุ่มทอมสันจับโยนออกไปจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก่อนหน้าที่กลุ่ม
"บางกอกโพสต์" จะบรรลุข้อตกลงกัน
ลูกหม้ออย่าง เท่ห์ จงคดีกิจ ถูกเสนอให้เข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งแทนตำแหน่งที่ว่างของแลชฟอร์ด
ซึ่งเป็นการเข้ารับตำแหน่งในบอร์ดครั้งแรกของเท่ห์และอยู่เรื่อยมาจนปัจจุบัน
ส่วนด้านการบริหารนั้นกลุ่มลอร์ดทอมสันตกลงให้ประสิทธิ ลุลิตานนท์รักษาการไปพลาง
ๆ จนล่วงเข้าปี 2515 ก่อนหน้าจะมีการจัดตั้งบริษัทอัลลายด์ นิวส์เพเพอร์
ไม่นานนักกลุ่มลอร์ดทอมสันจึงได้ส่ง "นาย" คนใหม่เข้ามาอีกคน
คนคนนี้ชื่อ ไมเคิล เจมส์ กอร์แมน นักธุรกิจชาวอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่นเพียง
30 เศษ ๆ ไม่เคยผ่านงานหนังสือพิมพ์มาก่อน แต่ก็มีมาดของนักบริหารที่เฉียบคนหนึ่ง
"เข้าใจว่าคงเป็นเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังมีการจัดองค์กรใหม่ มีการตั้งบริษัทกลาง และมีการรวมกิจการหนังสือพิมพ์เพิ่มจาก 1 ฉบับเป็น 2 ฉบับ กลุ่มลอร์ดทอมสันก็เลยต้องส่งคนที่มีความสามารถด้านบริหารธุรกิจอย่างกอร์แมนเข้ามาเป็นนายใหญ่
แทนที่จะเอานักหนังสือพิมพ์อย่างเช่นแลชฟอร์ดเข้ามา..." บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มีชื่อเสียงฉบับหนึ่งให้ข้อคิดเห็น
ไมเคิล เจมส์ กอร์แมน ทำหน้าที่เป็น "นายใหญ่" ทั้งในโพสต์ พับลิชชิ่งและอัลลายด์
นิวส์เพเพอร์ จนถึงปี 2526 หรือประมาณ 10 ปีเศษ ซึ่งต้องนับเป็นช่วงเวลา
10 ปีเศษของการบริหารงานที่สร้างความสลับซับซ้อนให้กับองค์กรแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคใด
และด้วยความสลับซับซ้อนที่เขาสร้างขึ้นนี้ก็ได้ส่งผลมาถึงปัจจุบันท่ามกลางคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า
"มันเป็นความผิดพลาดหรือความถูกต้องกันแน่"
ในปี 2519 กลุ่มลอร์ดทอมสันส่งคนที่รู้เรื่องงานหนังสือพิมพ์เข้ามาอีกคนหนึ่งเพื่อช่วยกอร์แมนเป็นหูเป็นตาในจุดที่กอร์แมนไม่สันทัด
เขาเป็นคนออสเตรเลียชื่อเอียน เจมส์ ฟอเซท
"พูดก็พูดเถอะ การเอาเอียน ฟอเซทเข้ามานั้นก็เพื่อให้มาคุมกองบรรณาธิการซึ่งผู้อาวุโสสูงสุดคือ
เท่ห์ จงคดีกิจ คุณต้องอย่าลืมว่าบางกอกโพสต์นั้นก่อตั้งมานาน หลายคนเป็นคนเก่าคนแก่
คนของกลุ่มลอร์ดทอมสันปีหนึ่งก็บินมาประชุมครั้ง ส่วนนายใหญ่โดยมากเขาไม่แตะต้องข้างล่างอยู่แล้ว
เขาก็คล้าย ๆ กับคนที่เข้ามาดูแลผลประโยชน์ดี ๆ นี่เอง ถ้ายังมีกำไรเขาก็ยิ่งไม่แตะ
เพียงแต่กอร์แมนนั้น ก็ยิ่งเข้าไปแตะไม่ได้ใหญ่ เพราะตัวเองไม่รู้เรื่องการทำหนังสือพิมพ์เลย
ก็ต้องเอาเอียน ฟอเซท เข้ามาเป็นหูเป็นตา" แหล่งข่าวระดับวงในคนหนึ่งพูดให้ฟัง
ซึ่งเอียน ฟอเซท ก็ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาประกบเท่ห์ จงคดีกิจ จริง ๆ
เพียงแต่เอียนไม่ได้เป็นหูเป็นตาให้กอร์แมน เขาเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าของอย่างกลุ่มลอร์ดทอมสันเท่านั้น
ไป ๆ มา ๆ เอียน ฟอเซท กับกอร์แมนก็เลยเป็นที่ทราบกันทั้งบางกอกโพสต์ว่าเป็นผู้บริหารที่ขัดแย้งกันมาก
ขัดกันไปหมดเกือบทุกเรื่องที่มีเหตุให้ต้องขัด
ในช่วงปลายปี 2519 บริษัทโพสต์พับลิชชิ่งเพิ่มทุนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกจากที่เคยพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี
2507 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มลอร์ดทอมสันเพิ่งจะเข้ามาในโพสต์พับลิชชิ่ง การเพิ่มทุนครั้งนี้ก็เพิ่มจากทุนจดทะเบียน
1 ล้านบาทเป็น 1 ล้าน 4 แสนบาท และมีผลทำให้กลุ่มธุรกิจใหญ่อย่างกลุ่ม เชาว์
เชาว์ขวัญยืน กลุ่มชำนิ วิศวผลบุญ แห่งบริษัทจีเอสสตีล และกลุ่มจิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
ได้เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นรวมกับกลุ่มเก่าโดยกลุ่มลอร์ดทอมสันพยายามลดสัดส่วนการถือหุ้นของฝ่ายตนลง
"คือจากเดิมกลุ่มลอร์ดทอมสันถือหุ้นอยู่ราว ๆ 75% ภายหลังการเพิ่มทุนซึ่งมีการดึงกลุ่มทุนในประเทศเข้ามา
3 กลุ่มแล้ว กลุ่มลอร์ดทอมสันก็เหลือหุ้นอยู่ 7,100 หุ้นจากหุ้นทั้งหมด 14,000
หุ้นหรือประมาณ 51% ทั้งนี้วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะแสดงตนให้เป็นบริษัทของคนไทยมากขึ้นเพราะภายหลังเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516 แล้ว บริษัทต่างชาติถูกเสียงสังคมโจมตีมาก ปัญหาภายในกับลูกจ้างคนไทยก็มาก
ก็ต้องเรียกว่ามันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวตามสถานการณ์"
แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
สำหรับกอร์แมนก็เป็นภารกิจที่เขาจะต้องแสดงฝีไม้ลายมืออย่างมาก ๆ เพราะโดยแนวโน้มนั้นกลุ่มลอร์ดทอมสันก็คงจะพยายามลดสัดส่วนการถือหุ้นของฝ่ายตนให้เหลือเพียง
49% เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็จะต้องบริหารกิจการกันโดยที่อำนาจการบริหารไม่ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับกลุ่มอื่นพร้อม ๆ ไปด้วย
ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่ายดายนักโดยเฉพาะกับองค์กรที่จะต้องรักษาภาพพจน์ความเป็น
"ฐานันดรที่ 4" เอาไว้อย่างเคร่งครัด
และภายหลังจากปี 2520 ไปแล้วกอร์แมนก็ยิ่งพบว่ามันเป็นเรื่องที่ยากเอามาก
ๆ
ปี 2520 ลอร์ดลอยด์ ทอมสัน ถึงแก่กรรม กิจการทั้งหมดของเขาตกอยู่กับทายาทชื่อลอร์ดเคเน็ท
ทอมสัน
อีก 2 ปีให้หลังลอร์ดเคเน็ท ทอมสัน ก็ตัดสินใจขายหุ้นให้บริษัทโพสต์พับลิชชิ่งทิ้งทั้งหมด เพราะท่านลอร์ดคนนี้สนใจแต่ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันทางภาคเหนือของเกาะอังกฤษ
ไม่มีเวลาจะมาสนใจดูแลธุรกิจเล็ก ๆ (ในสายตาของท่านลอร์ด) ในประเทศไทยอีกต่อไป
ไมเคิล กอร์แมน กับ เอียน ฟอเซทที่ขัดแย้งกันมาตลอดก็ดูเหมือนจะเริ่มมองหน้ากันติดตอนนี้เอง ซึ่งก็เช่นเดียวกับผู้บริหารอีกหลาย ๆ คนทั้งในบางกอกโพสต์และบางกอกเวิลด์ที่ตกอยู่ในสภาพคงลงเรือลำเดียวกัน
คือกิจการก็คงไม่ถึงกับพินาศไป มันเคยเป็นอยู่อย่างไรก็คงจะเป็นกันอยู่อย่างนั้น
เพียงแต่ไม่มีใครทราบว่าใครจะเข้ามาเป็นเจ้าของแทนกลุ่มลอร์ดทอมสันถ้าได้เจ้าของใหม่นโยบายจะคงเดิม
หรือเปลี่ยนไป?
และที่สำคัญก็คือจะมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารหรือไม่?
สำหรับผู้บริหารหลาย ๆ คนที่แต่ละคนก็อยู่กันมานาน ๆ นั้นสถานการณ์นี้นับว่าไม่ต่างจากฟ้าผ่าเวลากลางวันจริง ๆ
โดยเฉพาะกับกอร์แมนแล้ว ในฐานะ "นายใหญ่" ก็คงจะต้องหนักหนาสาหัสที่สุด
เขาต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้
ต้นปี 2523 กอร์แมน ก็เลยตั้งโฮลดิ้งคัมปะนีขึ้นแห่งหนึ่งที่ฮ่องกงชื่อบริษัทฟ๊อกซ์เลย์
โฮลดิ้ง จำกัด จากนั้นก็จัดการให้บริษัทฟ๊อกซ์เลย์ โฮลดิ้ง รับโอนหุ้นทั้งหมดของกลุ่มลอร์ดทอมสันที่ต้องการจะขายทิ้งเอาไว้
แล้วก็วิ่งหากลุ่มทุนรายใหม่ที่จะเข้ามารับซื้อหุ้นไปจากฟ๊อกซ์เลย์ โฮลดิ้งอีกทอด
"จำเรื่องกลุ่มหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ของสิงคโปร์ได้ไหมเล่า เมื่อปี
2524 ก็วิจารณ์กันมากว่ากลุ่มนี้ได้เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่งไป
49% เป็นเรื่องราวใหญ่โตมากเพราะกลายเป็นว่าจะเข้ามาครอบงำกัน พนักงานบางกอกโพสต์เองก็คัดค้าน
ในที่สุดกลุ่มสเตรทไทม์ก็เลยเข้ามาไม่ได้ ก็พูดกันว่ากอร์แมนเป็นคนไปดึงเข้ามา
โดยตกลงกันอย่างไรไม่มีใครรู้" แหล่งข่าวคนหนึ่งช่วยฟื้นความหลังที่เพิ่งผ่านไปไม่นานปีนี่เอง
ก็ยังไม่มีใครทราบว่าเป็นเรื่องที่กอร์แมน "พลาด" ไปจริง ๆ หรือเป็นเรื่องที่กอร์แมนต้องตกอยู่ในสภาพของ
"แพะรับบาป"
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ลงเอยด้วยการขายหุ้นที่บริษัทฟ๊อกซ์เลย์ โฮลดิ้ง
ถืออยู่ไปให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมคนละเล็กคนละน้อยแบ่ง ๆ กันไป ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ากันว่าคนของกลุ่มลอร์ดทอมสันก็จะได้อยู่บริหารกิจการต่อไปจนถึงปี
2530 หรืออีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย (ทำข้อตกลงและโอนหุ้นเมื่อ 2525)
เป็นอันว่าก็ไม่ต้องมีกลุ่มใดเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเด็ดขาดอีกต่อไป
พอล่วงเข้าปี 2526 ไมเคิล เจมส์กอร์แมน ก็ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการ
"สาเหตุก็เพราะแพ้คดีที่เกี่ยวกับข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก
3 ปี แต่ผ่อนผันให้กักบริเวณแทนเป็นเวลา 1 เดือน จำเลยไม่ยอมอุทธรณ์ แต่จะมีอะไรลึกกว่านั้นไม่ทราบเหมือนกัน
พูดกันก็เพียงว่ากอร์แมนเสียใจที่เขาต้องตกที่นั่งลำบากอย่างนั้นก็เลยตัดสินใจไปทำธุรกิจก่อสร้างในประเทศจีน
ด้วยความที่รู้จักกับนักการเมืองจีนเป็นอย่างดีหลายคนตั้งแต่ครั้งที่เขาไปช่วยก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ที่ปักกิ่งแล้ว
ตอนนี้ก็ร่ำรวยสบายไปแล้ว..." คนรู้จักกับกอร์แมนเล่าให้ฟัง
เอียน ฟอเซท เข้าทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการแทนกอร์แมน
เท่ห์ จงคดีกิจ เข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของบางกอกโพสต์และอนุสรณ์
ทวีสิน เป็นบรรณาธิการของบางกอกเวิลด์
เป็นการแยกกรรมการผู้จัดการออกจากตำแหน่งบรรณาธิการเป็นครั้งแรก จะด้วยเหตุผลใดก็ไม่ทราบ
แต่ในทางปฏิบัติก็คือทุกส่วนคานกันไปคานกันมา เปรียบเทียบกับ "นายใหญ่"
คนก่อน ๆ ที่กลุ่มลอร์ดทอมสันส่งเข้ามาคุม เอียน ฟอเซทก็ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดไปหมดทุกส่วนเหมือนเดิมอีกต่อไป
การเข้ามารับหน้าที่ของเอียน ฟอเซทก็มาพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง
"เนื่องจากโครงสร้างการรวมกิจการ ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างบางกอกโพสต์กับบางกอกเวิลด์เมื่อปี
2516 ไม่สู้จะรัดกุมนักในด้านการเงินและการบริหาร โดยเฉพาะภาระทางภาษีทางฝ่ายโพสต์
พับลิชชิ่งต้องเสีย 2 ต่อคือเสียในส่วนของอัลลายด์นิวส์เพเพอร์แล้วก็มาเสียอีกในนามโพสต์
พับลิชชิ่ง ดังนั้นเมื่อเดือนเมษายน 2527 คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้ศึกษาลู่ทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกว่า
ทั้งนี้โดยความช่วยเหลือของที่ปรึกษาภายนอก"
และจากผลการศึกษาปัญหานั้นในระหว่างปี 2527 ก็ได้มีการดำเนินการเป็น 4
ขั้นตอน คือ
หนึ่ง-บริษัทโพสต์พับลิชชิ่งได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 20 ล้านบาท (จาก 1 ล้าน
4 แสนบาท) ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 2 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 10 บาท (จากเดิมหุ้นละ
100 บาท) ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเวิลด์เพรสจะเข้าร่วมถือหุ้นด้วย 25%
ของทุนจดทะเบียน (หมายถึงกลุ่มอิตัลไทยกับกลุ่มไลเนน) ส่วนอีก 75% ก็จะถือโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของโพสต์พับลิชชิ่งตามสัดส่วนที่เคยถือไว้
(และจำนวนหนึ่งก็แบ่งขายให้กับพนักงานคนละราว ๆ 200 หุ้นโดยเฉลี่ย)
สอง-บริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง เข้าถือหุ้นทั้ง 100% ของบริษัทอัลลายด์ นิวส์เพเพอร์และบริษัทเวิลด์เพรส
สาม-นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527 บริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง ได้เข้าดำเนินกิจการและรับโอนทรัพย์สินของบริษัทอัลลายด์
นิวส์เพเพอร์ ตลอดจนพนักงานทั้งหมดโดยคงไว้ซึ่งสิทธิและผลประโยชน์ในการจ้างที่มีอยู่ทุกประการ
และสี่-นำหุ้นของบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่งจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งก็ได้รับอนุมัติเมื่อเดือนธันวาคม 2527
ประสิทธิ ลุลิตานนท์ บอกว่าสาเหตุที่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ด้วยเหตุผลใหญ่
ๆ 3 ประการคือ "อย่างแรกเราต้องการให้โพสต์ พับลิชชิ่งมีลักษณะเป็นบริษัทมหาชนอย่างแท้จริง
สอง-ลดภาระทางด้านภาษีเพื่อจะนำเงินส่วนที่ลดได้นี้มามอบเป็นสวัสดิการแก่พนักงานทุกคน
และสามช่วยส่งเสริมภาพพจน์ว่าเราเป็นบริษัทที่คนไทยเป็นเจ้าของโดยส่วนใหญ่"
ภายหลังการจัดองค์กรตามโครงสร้างใหม่และออกหุ้นใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2527
นั้น หุ้นของโพสต์พับลิชชิ่งก็มีการซื้อขายกันมากพอสมควรในช่วงแรก ๆ ซึ่งก็มีผลให้มีผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่
ๆ เข้ามาร่วมเพิ่มเติมอย่างเช่น กลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มธนาคารกรุงเทพและกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์
เป็นต้น
ต่อจากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนไหวรุนแรงนัก
"เท่าที่ติดตามดู ผมยังไม่เห็นมีการซื้อขายหุ้นกันเป็นจำนวนมากๆ เลย
แต่ก็ไม่แน่ะนะ เขาอาจจะซื้อขายกันเงียบ ๆ เซ็นโอนลอยกันเอาไว้ ยังไม่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นวิธีที่หลายแห่งเขาทำกัน
ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาหุ้นมันพุ่งขึ้นไปตามแรงซื้อ ซึ่งอาจจะเสียแผนก็ได้"
นักเลงหุ้นคนหนึ่งชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"
จากรายงานของตลาดหลักทรัพย์นั้นก็ได้ระบุว่า ณ วันที่ 25 เมษายน 2528 บริษัทโพสต์
พับลิชชิ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 437 ราย ซึ่งเมื่อ "ผู้จัดการ"
นำรายชื่อทั้งหมดมาศึกษาวิเคราะห์หาที่มาและความสัมพันธ์ก็พบว่า ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ๆ
คือ
อันดับที่หนึ่ง-กลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืน "ไทยออยล์" ถือหุ้นในนามนิติบุคคล
3 แห่ง ได้แก่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี (เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ร่วมทุนกับตระกูล
"สารสิน") ถือหุ้นอยู่ 199,221 หุ้น มูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์
(เชาว์ เชาว์ขวัญยืน เป็นผู้ก่อตั้ง) 126,761 หุ้นและบริษัทเดลต้าพรอปเพอตี้
(ของกลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืนอีกเหมือนกัน) 14,620 หุ้นรวมแล้วกลุ่มเชาว์
เชาว์ขวัญยืน ก็ถือหุ้นไว้ทั้งหมด 349,602 หุ้น หรือเท่ากับ 17.03%
กลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืน เข้าร่วมอยู่ในโพสต์ พับลิชชิ่ง เมื่อครั้งที่มีการเพิ่มทุนครั้งแรกในปี
2519 เป็นกลุ่มที่วิจารณ์กันว่า เข้ามาในรูปการลงทุนเพื่อผลตอบแทนมากกว่าเป้าหมายอย่างอื่น
ๆ
อันดับที่สอง-กลุ่มอิตัลไทยของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ถือหุ้นทั้งในนามส่วนบุคคลและในนามนิติบุคคลรวม
21 ราย จำนวนหุ้นที่ถือ 296,406 หุ้น หรือเท่ากับ 14.82%
กลุ่มนี้เข้ามาด้วยข้อตกลงระหว่างบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งเจ้าของบางกอกโพสต์กับบริษัทเวิลด์เพรสเจ้าของบางกอกเวิลด์ยุคก่อนปี
2516 เริ่มต้นถือหุ้นตามโครงสร้างการจัดองค์กรใหม่จากสัดส่วน 12.5% ของทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นมาเป็น
20 ล้านบาทเมื่อปี 2527 และได้กว้านซื้อหุ้นอยู่เรื่อย ๆ จนมีสัดส่วนเพิ่มเป็นดังกล่าวข้างต้น
ก็มีรายงานอยู่สม่ำเสมอว่า กลุ่มนี้ยังพร้อมที่จะเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มตนต่อไปอย่างไม่อั้น
อันดับที่สาม-กลุ่มจิราธิวัฒน์เจ้าของ "เซ็นทรัล" กลุ่มนี้ขนพลพรรค
"จิราธิวัฒน์" เข้าถือหุ้นทั้งหมด 80 ราย (ในนามนิติบุคคลหรือบริษัทเซ็นทรัลดีพาทเม้นท์สโตร์
1 ราย ส่วนที่เหลือเป็นการถือในนามส่วนบุคคลของ "จิราธิวัฒน์"
ตั้งแต่พี่ ๆ น้อง ๆ เขยสะใภ้ไปจนถึงรุ่นลูก ๆ) จำนวนหุ้นรวมทั้งหมด 284,362
หุ้น หรือเท่ากับ 14.22%
เป็นกลุ่มที่วิเคราะห์จุดยืนยากมาก ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอนาคตของหนังสือพิมพ์ในเครือโพสต์พับลิชชิ่ง
อันดับที่สาม-กลุ่มไลเนน ถือหุ้นโดยชาวต่างประเทศ (อเมริกัน) 21 รายรวมจำนวนหุ้น
266,219 หุ้น หรือเท่ากับ 13.31% ก็เป็นกลุ่มที่ติดสอยห้อยตามกลุ่มอิตัลไทยเข้ามาตั้งแต่ครั้งที่ร่วมกับอิตัลไทยออกหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
และไม่มีบทบาทมาโดยตลอด แต่ต้องถือว่าเป็นตัวแปรต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญมากเพราะถ้ากลุ่มนี้ขายหุ้นออกไปให้ใครหรือเทคะแนนเสียงให้กับบางกลุ่มแล้ว
(ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มอิตัลไทย ด้วยว่าใกล้ชิดกันมากที่สุด) ก็จะกลายเป็นเสียงที่ใหญ่มาก
ๆ "เท่าที่ทราบเขาก็ถือไว้อย่างนั้น ๆ ไม่ต่างจากครั้งที่ร่วมกับกลุ่มอิตัลไทยทำบางกอกเวิลด์คือไม่พยายามเข้ามายุ่งมาก
คิดว่าเขาถือหุ้นไว้ก็เพื่อผลประโยชน์จากการลงทุนมากกว่า โดยเฉพาะที่นี่จ่ายปันผลสูงเขาก็คงจะพอใจมากแล้ว
ส่วนเรื่องที่ใครคิดจะมาซื้อหุ้นกลุ่มนี้ไปก็คงอยู่ที่คอนเนกชั่นว่าเข้าถึงเขาได้ไหมแล้วก็เรื่องราคาหุ้น..."
อดีตพนักงานบางกอกเวิลด์ซึ่งเคยสัมผัสกับกลุ่มไลเนนมาแล้ววิเคราะห์ให้ฟัง
อันดับที่สี่-กลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา บริษัทการเงินในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา
"รัตนรักษ์" มีหุ้น 151,643 หุ้น หรือเท่ากับ 7.58%
อันดับที่ห้า-กลุ่มชำนิ วิศวผลบุญแห่งบริษัทจีเอสสตีลซึ่งร่วมทุนกับตระกูล
"บุญสูง" ถือในนามส่วนบุคคล 3 รายรวม 18,345 หุ้น และในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่ยงค์อีก
66,570 หุ้น รวมแล้วก็ 84,915 หุ้นหรือเท่ากับ 4.25%
ส่วนนอกจากนั้นก็มีกลุ่มไมเคิล กอร์แมน อดีต "นายใหญ่" ผู้ต้องอำลาไปด้วยความขมขื่นและสร้างความสลับซับซ้อนทิ้งไว้ข้างหลังถือไว้ทั้งสิ้น
50,000 หุ้นถ้วน ๆ (5 ราย ๆ ละ 10,000 หุ้น ได้แก่ตัวกอร์แมน, ภรรยาและบุตร)
หรือ 2.5% "และบริษัทเอ็มแอนด์ซี เซอร์วิส ซึ่งมีหุ้นอยู่ 27,060 หุ้น
หรือ 1.35% ก็น่าที่จะเกี่ยวข้องกับกอร์แมนด้วย" แหล่งข่าววงในคนหนึ่งแสดงความเห็น
ธนาคารกรุงเทพถืออยู่ 75,000 หุ้นหรือเท่ากับ 3.75%
ธนาคารไทยพาณิชย์ 74,500 หุ้นหรือ 3.72%
เท่ห์ จงคดีกิจ, ประสิทธิ ลุลิตานนท์, กนต์ธีร์ ศุภมงคล กับอีก 2-3 กลุ่มถืออยู่ราวๆ
กลุ่มละ 1%
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีที่นั่งในบอร์ดตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้น ยกเว้นก็กลุ่มที่เป็น
"ลูกหม้อ" หรืออยู่ในตำแหน่งบริหารที่จะต้องให้นั่งกันเป็นธรรมดาเท่านั้น
ในบอร์ดของบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งขณะนี้นั้น มีด้วยกันทั้งหมด 12 ที่นั่ง
ซึ่งในการจัดสรรก็คือ
ผู้ก่อตั้งอย่างกนต์ธีร์ ศุภมงคล ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ซึ่งน่าจะเป็นการให้เกียรติกันในฐานะอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศมากกว่าจะเป็นการเข้ามาในฐานะผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือ
เอียน ฟอเซท ในฐานะกรรมการผู้จัดการที่ก็จะต้องมีที่นั่งในบอร์ดอยู่แล้ว
ส่วนประสิทธิ ลุลิตานนท์ ไมเคิล กอร์แมน และเท่ห์ จงคดีกิจ ก็อยู่ในฐานะที่ไม่ต่างกันเท่าไหร่
ซึ่งทั้ง 3 ก็เป็นกรรมการที่อยู่กันนานที่สุด โดยเฉพาะประสิทธินั้นต้องเรียกว่าอยู่มาเกือบทุกยุคทีเดียว
ส่วนที่เป็นการจัดสรรคือส่วนที่เหลืออีก 7 ที่นั่ง ประกอบด้วย
ตัวแทนจากกลุ่ม "เซ็นทรัล" คือสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และสุทธิเกียรติ
จิราธิวัฒน์
ตัวแทนจากกลุ่มอิตัลไทยคือนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต และลูกเขยที่ชื่ออดิศร
จรณะจิตต์
ตัวแทนกลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ซึ่งแปลกมากที่เชาว์มีที่นั่งเดียว (เชาว์เคยดำรงตำแหน่งประธานอยู่ช่วงหนึ่งก่อนหน้านี้และได้ขอลาออกเพราะอายุมากแล้ว
แต่ก็ถูกขอร้องให้ดำรงตำแหน่งกรรมการและเป็นที่ปรึกษาด้วย)
ตัวแทนกลุ่มชำนิ วิศวผลบุญ (ชำนิ นั่งเป็นกรรมการเอง)
และเก้าอี้ตัวสุดท้ายก็คือเก้าอี้ของกลุ่มธนาคารกรุงเทพที่ส่งปิติ สิทธิอำนวย เข้ามานั่งในบอร์ด
"การจัดสรรตำแหน่งในบอร์ดว่าไปแล้วก็ไม่ได้แย่งชิงกันเข้มข้นอะไรมากมายคือข้อเท็จจริงนั้นมันก็มีอยู่ว่า
ไม่มีกลุ่มใดเป็นเสียงใหญ่อย่างที่กลุ่มลอร์ดทอมสันเคยเป็นอยู่แล้ว อีกทั้งกรรมการแต่ละท่านก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่
ทำหน้าที่มานานกิจการก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ มีผลกำไรโดยตลอด ทุกอย่างก็อยู่ในลักษณะพยายามรักษาน้ำใจกัน
เคยเป็นมาอย่างไรก็ให้เป็นกันไปอย่างนั้น หรือถ้าจะพูดว่า CONSERVATIVE มาก
ๆ ก็คงไม่มีใครเถียงเพราะก็ CONSERVATIVE จริง ๆ ตั้งแต่บอร์ดลงไปจนถึงข้างล่างแหละ..."
อดีตผู้บริหารคนหนึ่งของบางกอกโพสต์วิจารณ์ออกมาตรง ๆ
ก็อาจจะพูดได้ว่ามันเป็น "วัฒนธรรม" ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัวไปแล้วและก็เป็น
"วัฒนธรรม" องค์กรที่ฝังรากลึกอีกด้วย
"เพราะเหตุนี้ถ้าตัดประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเมื่อเร็ว
ๆ นี้ออกไปซึ่งก็พูดกันมากว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็จะพบว่ากลุ่มบางกอกโพสต์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของบอร์ด โครงสร้างการบริหารหรือการนำเสนอรูปแบบใหม่
ๆ ให้กับผู้อ่านซึ่งต่างกันมากกับหนังสือพิมพ์คู่แข่งอย่างเดอะเนชั่น ที่พยายามปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลาขณะนี้ก็กำลังพุ่งแรงมาก
ผมว่าอีกปีสองปีก็ไม่แน่นะ โดยเฉพาะถ้าทางกลุ่มบางกอกโพสต์ยังนิ่งๆ อยู่อย่างนี้
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง..." นักสังเกตการณ์กลุ่มหนึ่งตั้งข้อถกเถียงซึ่งเผอิญ
"ผู้จัดการ" ได้รับฟังมา
นักสังเกตการณ์กลุ่มนี้มีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในบางกอกโพสต์น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
และถ้าเปลี่ยนก็จะเป็นการเปลี่ยนกันทั้งกระบิตั้งแต่ยอดสุดลงมาทีเดียวแหละ
เรื่องความพยายามของกลุ่ม "ไทยรัฐ" ที่จะเข้ามานั้นไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามความพยายามนี้ส่งผลสะเทือนอย่างยิ่ง
"ผู้ถือหุ้นบางกลุ่มจะต้องฉุกคิดและตัดสินใจแล้วว่าเขาจะเอาอย่างไร
อาจจะเห็นดีด้วยและอาจจะคัดค้านก็ได้ ซึ่งถ้าคัดค้านไม่เห็นด้วยก็คงจะต้องเตรียมป้องกันไว้"
แหล่งข่าวระดับสูงพูดกับ "ผู้จัดการ"
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างอิตัลไทยคงต้องขบคิดกันอย่างหนักว่าจะต้องทำอะไรต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา "ไทยรัฐ" ปัญหาเดียว บางทีอาจจะต้องคิดเลยไปว่า
ถ้าเอียน ฟอเซทต้องพ้นตำแหน่งไปในปี 2530 เท่ห์ จงคดีกิจซึ่งอายุใกล้ 70
แล้วอาจจะต้องขอปลดเกษียณตัวเอง เมื่อเหตุการณ์เช่นนั้นมาถึงจะแก้ปัญหากันอย่างไร
มีผู้สันทัดกรณีหลายคนพูดเอาไว้ว่าการกุมอำนาจในบริษัทโพสต์พับลิชชิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก
แต่ก็พอจะทำได้หากสามารถครอบครองหุ้นราว ๆ 25% ขึ้นไปและอาศัยคอนเนกชั่นไปสร้างความสามัคคีกับกลุ่มอื่น
ๆ ให้ได้เสียงเกิน 50% ขึ้นไป
"แต่ให้ตายเถอะ ได้มาแล้วจะบริหารกันอย่างไรนี่สิปัญหาใหญ่ ผมว่าเลือดมันจะท่วมเอานะขืนไปแตะโน่นแตะนี่ จะเปลี่ยนแปลงเข้า..."