วิโรจน์ ภู่ตระกูล ประธานบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็น
"ผู้จัดการมืออาชีพ" แห่งยุคสมัย ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการงาน
เป็นที่ยอมรับของวงการ โดยได้รับคำยกย่องสรรเสริญมิขาดระยะ
"...ในวัยเพียง 49 ปี วิโรจน์ ภู่ตระกูล จากคนที่ไม่มีชาติตระกูลผู้ดีเก่า
หรือเตี่ยที่เป็นเจ้าสัว เขาได้เดินมาแล้ว 25 ปีกับบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ส และจากวันแรกในปี
2522 ที่เขาเริ่มเข้ามาเป็นประธาน เขาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เริ่มมาเห็นผลในปีสองปีนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของ
"ผู้จัดการ" คนนี้ซึ่งเขาเองก็ได้รับการยอมรับจากจุฬาลงกรณ์ฯ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาพาณิชยศาสตร์ให้เขาเมื่อปี
2525 และในปี 2527 รัฐบาลอังกฤษได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBE (OFFICER
THE ORDER OF THE BRITISH EMPIRE) …" ข้อความข้างต้นตัดตอนมาจาก "ผู้จัดการ"
ปีที่ 2 ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2527 ซึ่งประกาศให้ วิโรจน์ ภู่ตระกูล เป็น
"ผู้จัดการแห่งปี" และเป็นหนังสือฉบับแรกที่เห็นความจรัสแสงของวิโรจน์ฯ
ตั้ง 2 ปีมาแล้วก่อนใคร ๆ
จนมาถึงวันนี้ 4 สถาบันได้มอบตำแหน่ง "นักการตลาดแห่งปี 2528-2529"
แก่วิโรจน์อีก
สถาบันทั้งสี่ประกอบด้วย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ (จีบ้า) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ และโครงการการตลาดภาคภาษาอังกฤษธรรมศาสตร์ (เอ็มไอเอ็ม) โดยงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติและมอบโล่อย่างเป็นทางการจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่
25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านนมา ณ ห้องราชมณเฑียร โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ
งานนี้แปลกก็ตรงที่อาจารย์มหาวิทยาลัยมากันมาก ดังนั้นเมื่อพบนักการตลาด
นักโฆษณาจากวงการเอเยนซี่ฯ การสนทนาจึงเกิดขึ้นอย่างเมามัน อาหารที่เตรียมไว้
COCKTAIL RECEPTION จึงไม่พร่องไปเท่าที่ควร ขณะนั้น "ผู้จัดการ"
พยายามแทรกตัวเข้าไปให้ใกล้วิโรจน์มากที่สุด อยากจะฟังเขาสนทนากับเพื่อนฝูงในวงการจะว่ายังไงกันบ้าง
ส่วนการสัมภาษณ์นักข่าวนั้นฟังมามากแล้ว
"ผมว่าจะเอาใส่กรอบติดไว้ที่ข้างฝาในห้องนอน เตรียมลูกดอกไว้ด้วย...วันไหนถูกด่ามากจะได้ปาแก้กลุ้ม..."
วิโรจน์พูดขึ้นตอนหนึ่ง เข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในกรอบรูปนั้นคงเป็นคำเยินยอเขาจากหนังสือพิมพ์
อีกตอนหนึ่ง คู่สนทนาคนหนึ่งกล่าวกับวิโรจน์ในทำนองว่าเขาคงเตรียม SPEECH
มาเป็นอย่างดี วิโรจน์ก็ล้วงแผ่นกระดาษที่พับไว้ในกระเป๋าเสื้อออกมา พลางพูดว่า
"ตอนแรกก็ต้องว่าตามนี้ก่อน หลังจากนั้นคงกลอนสด..." ว่าแล้ววิโรจน์ก็ยัดกระดาษ
2 แผ่นนั้นเข้าที่เดิม
เวลาประมาณ 19.10 น. สุภัทรา ตันดิสถิกร ผู้จัดการอาวุโส บริษัทอี๊สต์เอเซียติ๊กในฐานะผู้ดำเนินรายการก็ขึ้นเวที
เชิญใครต่อใครพูดกันตามวาระ และก็มาถึงอาจารย์อัฉจิมา เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการ
เอ็มไอเอ็ม ในฐานะผู้ประสานงานการคัดเลือกนักการตลาดแห่งปีนี้ ขึ้นมากล่าวถึงเหตุผลในการเลือกวิโรจน์
เสียงเธอค่อนข้างเบา ประกอบกับคนในงานประมาณ 100 คนเศษคุยกันเสียงกลบจนแทบจะไม่ได้ยิน
จุดสำคัญของงานวันนี้อยู่ที่ วิโรจน์ ภู่ตระกูล ทุกคนรอคอยฟังวาทะของเขา
ซึ่งดูเหมือนว่าเขาไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง
ผู้ฟังวันนี้มี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งสอนวิชาบริหารธุรกิจ
กับบรรดาผู้จัดการอาชีพ อาทิ ธนดี โสภณศิริ สุภัทร ตันติสถิกร อมเรศ ศิลาอ่อน
หรือแม้กระทั่งพารณ อิสรเสนา แห่งปูนใหญ่ก็มา แต่น่าเสียดาย 2 คนหลังกลับไปก่อน
อีกกลุ่มหนึ่งคือบรรดานักข่าวซึ่งเป็น "ตัวกลาง" ที่วิโรจน์หวังจะ
PROMOTE บริษัทลีเวอร์บราเดอร์ส โอกาสเช่นนี้มือการตลาดเช่นเขาย่อมไม่ปล่อยให้ผ่านไปเปล่าแน่
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้ คนส่วนใหญ่ได้รับทราบว่าในปี
2528 ที่ผ่านมาบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจของเราเกินเป้าหมายมากพอประมาณ
จนกระทั่งพนักงานบริษัทเองกล่าวและพยายามจะเรียกตนเองหรือขนานนามในปี 2528
ว่าเป็นปีทองของบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด.." เขาขึ้นต้นอย่างน่าฟัง
"ปัจจัยของผลงานที่ผมใคร่จะหยิบยกมากล่าวในที่นี้มี 4 ประเด็นใหญ่ ๆ กล่าวคือยอดขายที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ 950 ล้านนะฮะ...(อาจารย์อัฉจิมาพูดในตอนต้นว่าปี
2528 ยอดขายของลีเวอร์เพิ่มขึ้น 950 ล้านบาท) ประมาณ 1,000 ล้านบาท (หัวเราะ)
หรือ 35% ประการที่สอง คือการวางตลาดสินค้าใหม่และสินค้าเก่าที่ปรับแต่งโฉมใหม่อีกรวมทั้งสิ้น
21 รายการ ประการที่สาม ผลงานดังกล่าวข้างต้นได้นำไปสู่ตลาดและประสบความสำเร็จ
โดยมิได้ใช้พนักงานเพิ่มขึ้นแม้แต่คนเดียว ซึ่งหมายความว่าการเพิ่มผลผลิตในการทำงานของคนทุกชั้นวรรณะในองค์กรได้เพิ่มขึ้นอย่างสูงมาก
ณ ที่นี้บริษัทขอถือโอกาสขอบคุณพนักงานทุกคน และประการที่สี่ ซึ่งผมไม่อยู่ในฐานะที่จะเปิดเผยแต่ขอยืนยันในที่นี้ว่ากำไรของบริษัทสูงกว่าปีกลายในอัตราที่สูงกว่าปีกลายในอัตราที่สูงเกินคาดหรือตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"
เสียงหัวเราะของคนฟังดังขึ้นเบา ๆ ในตอนท้ายอย่างมีปริศนา
สุนทรพจน์ของวิโรจน์ตอนต่อไปเริ่มจิกหัวใจผู้จัดการมืออาชีพ "ผลงานของบริษัทในปี
2528 มิใช่เกิดเพราะคนคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานของทีมของหมู่คณะซึ่งมีความมั่นใจแน่วแน่ตามที่ได้สาบานตนไว้ว่า
อยากที่จะประสบผลสำเร็จในปี 2528 พยายามจะพลิกแผ่นดินว่าคนอื่นเข้าใจว่าเศรษฐกิจซบเซามันจริงหรือเปล่า
ถ้าเราเป็นนักวิชาชีพหรือผู้จัดการวิชาชีพจริง ๆ แล้วเราสามารถจะฝ่าฟันอุปสรรคได้มากน้อยสักแค่ไหน
ซึ่งในต้นปีไม่มีใครรู้แน่ เราพยายามที่จะพิสูจน์ไม่ลดละถึงขั้นถึงตอน บทบาท
และหน้าที่ของผู้จัดการอาชีพที่จะสำแดงฤทธิ์และทำให้เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นว่าเศรษฐกิจถึงแม้มันจะซบเซา
ถ้าเราพยายามบางสิ่งบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นก็ได้.."
"ในโอกาสนี้ผมใคร่จะหยิบยกผลงานหรือปัจจัยที่สำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของลีเวอร์ฯ
ในปี 2528 มาอธิบายหรือกราบเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบ" ตอนนี้เขาคงพุ่งเป้าไปยังผู้จัดการมืออาชีพและอาจารย์สอนวิชาการบริหารธุรกิจทั้งหลาย
"ประการที่หนึ่งซึ่งผมจะจำเป็นบทเรียนไว้จนกระทั่งวันที่ผมสิ้นชีวิต
นั่นก็คือความแน่วแน่ที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ โดยพนักงานในบริษัททุกคน
ทุกชั้นวรรณะในองค์กร ไม่ใช่แต่ฝ่ายจัดการถือเอกเทศอย่างตัวเองเป็นเทวดาเดินดิน
แต่ทุกคนมีบทบาทที่ก่อเกิด COMMITMENT ให้บริษัทก้าวไปสู่เป้าหรือจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้
ประการที่สอง ซึ่งผมจะจดจำเอาไว้มากทีเดียว คือความคิดสร้างสรรค์ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
คนคือ DYNAMIC เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ชั้นวรรณะรายได้ ภาษี ในฐานะที่เราเป็นผู้จัดการอาชีพ
ก็พยายามจะตอบสนองความต้องการนั้นด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผมคิดว่าในปี
2528 เป็นปีที่มีการโฆษณา ตัดราคา ลดแลกแจกแถม มากกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ในประวัติศาสตร์ในช่วง
10 ปีที่ผ่านมา..."
ถึงตอนนี้วิโรจน์จู่โจมผู้มีปริญญา MBA พ่วงท้ายอย่างฉับพลัน "ประการที่สาม ซึ่งเป็นการปรับหรือปลุกระดมคนในองค์กร
MBA อาจจะสอนอะไรหลายอย่าง แต่ผมเชื่อแน่ว่าไม่มีที่ไหนหรือใครสอนได้คือเรื่อง
HUMAN DYNAMIC คือจะปลุกระดมให้คนทำสิ่งต่าง ๆ เกินกว่าขอบเขตเหตุผลของธุรกิจธรรมดา...
ในวันที่ 28 ธันวาคมปีที่แล้วบริษัทตระหนักดีเหลือเกินว่าสิ่งที่พนักงานทุกคนในองค์กรได้ประสบความสำเร็จเกินคาด
บริษัทจึงมอบของที่จารึก ก็คือเหรียญทองหนักสองสลึง ประธานบริษัทได้หนึ่งเหรียญ
คนกวาดถนนในบริษัทก็ได้หนึ่งเหรียญ ทุกคนทุกชั้นวรรณะเหมือนกัน เป็นโอกาสที่จะรวบรวมพลังของคนทั้งหมดว่าเราจะมาทำงานร่วมกัน
ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้และเราได้เกินเป้าที่ตั้งเอาไว้สมควรแล้วที่จะจารึกในเกียรตินี้
ผลดีก็มีต่อมา คือว่าพนักงานทุกคนบอกนายปีนี้ได้เหรียญปีหน้าขอสร้อยได้ไหม
(หัวเราะ) ผมก็เลยว่าอยากจะได้สร้อยต้องขายเกินกว่า 1 พันล้าน ถ้าขายเกินกว่าหนึ่งพันล้าน
ผมคิดว่าสร้อยผมก็ไม่วิตกเท่าไหร่..."
และแล้วก็มาถึงตอนสุดท้าย.." แต่ก่อนที่ผมจะจบท่านสุภาพสตรี สุภาพบุรุษที่เคารพในฐานะที่ผมเป็นผู้จัดการอาชีพ
ผมไม่ได้เป็นเถ้าแก่ ผมไม่ได้เป็นเจ้าสัว ผมเป็นคนธรรมดาทำมาหากินโดยอาศัยหลักวิชาการของการจัดการมาประกอบธุรกิจในยุคสมัยของคนปัจจุบันนี้
และผมขอที่จะใช้เวลา สติปัญญา ความสามารถเท่าที่มีอยู่ พยายามที่จะส่งเสริมและยกระดับ
มาตรฐาน ผลงาน ตลอดจนอุดมการณ์ผู้จัดการอาชีพให้สูงขึ้นไปกว่านี้ เท่าที่ผมจะทำได้
ขอขอบคุณ"
นี่เรียกว่าคัดลอกคำต่อคำเพื่อคงสีสันของสุนทรพจน์ วิโรจน์ ภู่ตระกูล ไว้อย่างเต็มที่