สมัยผมยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ผมมีความสนใจวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์มากขนาดมีความคิดที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์
แต่จากคำของคนรอบข้างไม่สนับสนุนด้วยเหตุที่ว่าจะหางานทำยากและชีวิตต้องลำบากปากแห้ง
(ไม่เหมือนนายธนาคารในปัจจุบัน) แต่ด้วยต้องการให้แน่ใจ ก่อนกรอกใบสมัครเอ็นทรานซ์
ผมได้ขอคำปรึกษาจาก ดร.ระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นอาจารย์สอน วิชาด้านดาราศาสตร์ที่ภาควิชาฟิสิกส์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผมไม่ได้รู้จักท่าน เป็นการส่วนตัวแต่ดุ่ย
ๆ ไปขอพบ) ระหว่างการสนทนา อาจารย์ระวีถามว่าผมมีความสนใจในเรื่องใดอีก นอกจากวิชาดาราศาสตร์หรือฟิสิกส์
ผมตอบไปว่าด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ ผมได้ข้อแนะนำว่า ถ้าจะเอาจริงดังใจหวัง
น่าจะเรียน ทางวิศวกรรมไฟฟ้าในระดับปริญญาตร ีและไปต่อวิชาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ในระดับปริญญาโทขึ้นไป
ในต่างประเทศ ซึ่งสามารถไปลงเอยเป็นนักวิทยุดาราศาสตร์ได้ (เหมือนจูดี้ ฟอสเตอร์
ในภาพยนตร์เรื่อง Contact) อาจารย์ได้ทิ้งท้ายว่าการเรียนการสอนวิชาดาราศาสตร์ในประเทศไทยยังไม่ค่อยพัฒนา
ขาด การสนับสนุนและขาดอุปกรณ์สำหรับค้นคว้าวิจัย ผลจากการเข้าพบครั้งนั้นผมก็เลยมาลงเอยที่คณะวิศวกรรมฯ
สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับบ้านเราตั้งแต่ไหนแต่ไรคือ ความไม่สนใจในการพัฒนาการเรียนการสอน
และวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่เป็นแก่นขององค์ความรู้ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
ผลพวงอย่างหนึ่งที่ได้คือ การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าที่ควร
ที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาอยู่บนวิธีคิดของนักการทหาร นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์
และนักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ พักหลังมีนักเศรษฐศาสตร์มามีบทบาทมากขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่เป็นการตัดสินหรือกล่าวโทษว่าใครดีหรือไม่ดีกว่าใคร
แต่ต้อง การแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลในการพัฒนาวิธีคิดของสังคม จุดแข็งของวิธีคิดแบบวิทยา
ศาสตร์ คือ การใช้ตรรกในวิถีที่สอดคล้องกับโลก ของความเป็นจริงด้วยความเป็นกลาง
ถ้าสังคมไทยมีการพัฒนาวิธีคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
น่าจะช่วยให้สังคม ดีขึ้น
ถือโอกาสระบายความพอหอมปาก ผมขอกลับเข้าเรื่อง... ผมได้เคยเขียนถึงหนังสือที่ชื่อว่า
The brief history of time ที่เขียนโดย Stephen Hawking ในโอกาสก้าวย่างสู่ปี
ค.ศ. 2000 ส่วนหนึ่งของหนังสือได้กล่าวถึงความพยายามของนักฟิสิกส์ (ที่ดูจะยิ่งใหญ่เกินตัว)
ที่จะหากฎเกณฑ์หนึ่งเดียวที่สมบูรณ์ในตัวเอง ที่สามารถอธิบายธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของจักรวาล
และถ้าความพยายามนี้ประสบผลสำเร็จจะเป็นการสร้างอภิ มหาทฤษฎี สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
(Theory of Every-thing) ผลลัพธ์ที่ได้จากความพยายามดังกล่าว แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปที่สมบูรณ์
(หรือแม้กระทั่งอาจล้มเลิกทฤษฎีไปเลยก็เป็นไปได้) แต่นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ยังมีความหวังอยู่กับทฤษฎีที่มีชื่อว่า
ซูเปอร์สตริงส์ (Superstrings)
ด้วยความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวและความสนใจในวิชาฟิสิกส์ทำให้ผมพยายามทำความเข้าใจกับทฤษฎี
String Theory ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายอย่างยิ่ง แต่ด้วยเหตุที่มีหนังสือซึ่งเขียนโดยนักฟิสิกส์
แนวหน้าในวงการพยายามอธิบายทฤษฎีนี้ให้ผู้คนทั่วไป (ที่ไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์แต่สนใจเรื่องนี้อย่างผม)
ให้ได้หามาอ่านอยู่หลายเล่ม ผมเลยพอมีกำลังใจในการศึกษาทฤษฎีนี้เพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาได้ตามสภาพ
ขณะเดียวกันก็อยากถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้เพลิด เพลิน (หรือไม่) ไปกับผมด้วย
การจะสร้างทฤษฎีเพื่อตอบปัญหาใดๆ ของ จักรวาล จะต้องสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของสิ่ง
ต่างๆ ที่มีอยู่ในจักรวาลซึ่งได้แก่ กาลและอวกาศ สสารและพลังงาน และปฏิสัมพันธ์
(Interaction) ระหว่างสิ่งต่างๆ การศึกษาสิ่งเหล่านี้มีประวัติอันยาว ไกล
ย้อนไป 300 ปีมาแล้วนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Sir Isaac Newton ได้ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง
และได้คิดค้นคณิตศาสตร์แคลคูลัสเป็นของแถม ซึ่งเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของการไขปริศนาของจักรวาล
แรงโน้มถ่วงถือเป็นแรงชนิดแรกที่ค้นพบและมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง
ถึงปัจจุบันแรงโน้มถ่วงก็ยังเป็นที่หนักอกของนักฟิสิกส์ในการหาทฤษฎีมาอธิบาย
ศตวรรษที่ 19 ได้มีการค้นพบสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กซึ่งเป็นบ่อเกิดของแรงอีกชนิด
Michael Faraday นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้วางแนวความคิดที่สำคัญว่า การคำนวณแรงที่เกี่ยวกับไฟฟ้าและแม่เหล็กสามารถทำได้ในรูปของสนาม
(Field) ซึ่งเป็นผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างขนานใหญ่จนเห็นผลพวงอยู่รอบตัวท่าน
ต่อมาไม่นานนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอต แลนด์นามว่า James Clerk Maxwell ได้พัฒนาสิ่งที่
Faraday วางรากฐานไว้ให้ก้าวกระโดดไปอีกขั้น นั้นคือ การสร้างสมการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
Maxwell แสดงให้เห็นว่าคลื่นวิทยุ ความร้อน แสง ที่ตาเห็น ไปจนถึงรังสีเอ็กซ์
ล้วนคือ คลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าทั้งสิ้น ความคิดนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการสร้างทฤษฎี
ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ ทางธรรมชาติที่สำคัญหลายๆ ชนิดให้มาอยู่ภายใต้
หลักการเดียวกัน สิ่งที่ไม่ว่าจะเป็น Newton หรือ Faraday หรือ Maxwell ค้นพบมิใช่แต่เพียงเสนอกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายความเป็นไปเท่านั้น
แต่ยังได้สร้างรูปแบบการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่สอดคล้องกับหลักการที่ค้นพบด้วย
ความสำคัญ ของคณิตศาสตร์คือ เป็นเครื่องมือสำหรับการทำนายปรากฏการณ์ ซึ่งสามารถใช้ในการพิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎี
และยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาเนื้อหาความรู้ให้ลึกซึ้งขึ้นไป นอกจากนี้การสร้างรูปแบบการคำนวณยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานด้วย
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ท่านจะพบต่อไปว่า การสร้างรูปแบบการคำนวณทางคณิตศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ
ของการค้นพบทฤษฎีทางฟิสิกส์ดังจะกล่าวต่อไป
ด้วยเหตุที่กาล-อวกาศมีข้อจำกัด ผมจึงขอเล่าต่อในตอนต่อไปและผมสัญญาว่าเป็นตอนจบของเรื่องนี้อย่างแน่นอน
แล้วพบกันครับ