"ผู้จัดการ" ถามคุณสุนทร อรุณานนท์ชัย ว่าในความเห็นของเขาถ้าให้เลือกผู้บริหารที่มีฝีมือเยี่ยมยุทธ 3 คนเขาจะเลือกใครบ้าง ซึ่งคำตอบก็คือ ดร. อำนวย วีรวรรณ ศุกรีย์ แก้วเจริญ
และธนินท์ เจียรวนนท์ โดยให้เหตุผลว่า 2 คนแรกเป็นผู้บริหารงานเก่ง มีความสามารถกระจายงานได้สูง จนบนโต๊ะไม่เคยมีเอกสารค้างอยู่เลย
ส่วนคนหลังเป็นคนที่มีชีวิตเริ่มการทำงานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มีสมองที่เป็นเลิศคิดเรื่องงานได้ตลอด
24 ชั่วโมง ขนาดคนที่จบดอกเตอร์ด้านบริหารธุรกิจยังคิดตามไม่ค่อยทัน
ในด้านส่วนตัวแล้วสุนทร อรุณานนท์ชัยจะบอกว่าผู้ใหญ่ที่เขานับถือและมีบุญคุณกับเขามากที่สุดก็คือเสนาะ อินทรกำแหง อดีตประธานบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ และเป็นกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน
เพราะนอกเหนือจากเคยให้ความรู้ในเชิงธุรกิจในช่วงแรกในการทำงานแล้วก็ยังมีความสนิทสนมรักใคร่ตัวเขา
แม้กระทั่งงานแต่งงานก็ยังเป็นเจ้าภาพให้
แต่คนที่ "ผู้จัดการ" หรือใครไม่ได้ถาม และสุนทรจะถือโอกาสชมเชยเสมอ
เมื่อมีโอกาสพูดพาดพิงถึง คือ อารยา อรุณานนท์ชัย ผู้เป็นภรรยาของเขาเอง
อารยาเดิมทีเป็นลูกหม้อของธนาคารกสิการไทย เชี่ยวชาญด้านการวางแผนงบประมาณ
ตำแหน่งสุดท้ายของเธอที่ธนาคารกสิกรไทย คือรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งงานในฝ่ายนี้ขึ้นตรงกับบัญชาและบรรยงค์
ล่ำซำเท่านั้น
รู้จักกับสุนทร อรุณานนท์ชัยที่นิวยอร์กตอนที่เธอไปฝึกงานที่นั่น และคงจะเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าพรหมลิขิตเพราะเมื่อสุนทรเข้าทำงานกับทิสโก้
พนักงานที่กสิกรไทยส่งเข้าไปช่วยวางระบบบัญชีก็คือ อารยา ทำงานร่วมกัน ใกล้ชิดสนิทสนมกันจนในที่สุดก็ตกลงที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
พิธีแต่งงานจึงจัดขึ้นในปี 2514
หลาย ๆ คนเคยคิดว่าการที่อารยาลาออกจากกสิกรไทย ก็เนื่องจากอาจจะอึดอัดเนื่องจากสุนทร
อรุณานนท์ชัยออกจากทิสโก้ ซึ่งมีกสิกรไทยถือหุ้น ไปทำงานที่สินเอเซียที่มีธนาคารกรุงเทพถือหุ้น
ตอนนั้นย้ายมาอยู่สินเอเซียลูกผมเกิดแล้ว และภรรยาผมเขาทำงานทุ่มเทมาก มากกว่าทุ่มเทให้ครอบครัวเสียอีก
ผมก็พูดกันหลายปีแล้วว่าอยากให้ออกมาช่วยเลี้ยงลูก ผู้ใหญ่อย่าง ดร. อำนวย
วีรวรรณ ที่สนิทกับครอบครัวของเราก็ช่วยพูด สุดท้ายที่ลาออกคุณอารยายังไม่กล้าลากับคุณบัญชาหรือคุณบรรยงค์เลย
เขากลัวว่าจะไปเจอแล้วลาไม่ออกแน่ ทุกวันนี้เขายังว่าผมที่อยู่ดี ๆ ไปชวนเขาออก
เขาอยู่แบงก์เขาสบายใจแล้วทำงานได้มาก เวลาปลายปีปิดบัญชีเขาอยู่ทั้งคืน..แหม..
มันก็เกินไป ทุ่มเทมากเหลือเกิน ผมว่าผมทุ่มเทแล้วเทียบกับเขาไม่ได้ "สุนทร
อรุณานนท์ชัย เล่าเบื้องหลังให้ฟัง
แต่อารยาเป็นแม่บ้านได้ไม่นาน ก็ต้องเข้ามาทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ยูเนียน
ซึ่งเป็นก้าวแรกที่ทำให้เธอต้องเข้าไปพัวพันกับกิจการของสหยูเนียนกรุ๊ป
เผอิญช่วงก่อนที่อารยาจะเข้าไปที่บริษัทยูเนียน วรรณพร วีรวรรณ ผู้บริหารเดิมได้ลาออกเพื่อไปรับงานใหม่ที่ต่างประเทศ
จึงมีข่าวมาว่าอารยาเข้าไปเพื่อแทนวรรณพร โดยตั้งโจทย์ตุ๊กตาโยงกันเอาเองว่า
เพราะวรรณพรเป็นน้องสะใภ้ ดร. อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเป็นผู้ใหญที่ฝ่ายสุนทรให้ความเคารพนับถือ
"ไม่เกี่ยวกันเลยครับ บริษัทหลักทรัพย์ยูเนี่ยนช่วงหลังเขามีปัญหาและผมไปซื้อหุ้นเขาอยู่
คุณอารยาก็เลยเข้าไปบริหาร คือเขาเป็นคนเก่งก็เข้าไปสะสาง และเมื่อคุณอารยาเข้าไปวางระบบอะไรเรียบร้อยแล้วก็มอบหมายให้คนอื่นทำต่อ
ซึ่งเขาก็ดำเนินมาด้วยดี มีปันผลทุกปีจากที่เคยขาดทุนตั้งเยอะ" สุนทร
อรุณานนท์ชัย ตอบข้อสงสัยของ "ผู้จัดการ"
จากก้าวนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ใหญ่สหยูเนี่ยนกรุ๊ปเห็นฝีมือ จึงชักชวนให้อารยาเข้าไปร่วมงาน
ซึ่งสุนทรเองที่ลงทุนซื้อหุ้นสหยูเนี่ยนเอาไว้ไม่น้อยก็ไม่รู้จะขัดข้องได้อย่างไร
และอารยาก็แสดงฝีมือเป็นที่ยอมรับของผู้บริหารอย่างถ้วนหน้า กิจการไหนมีปัญหาส่งอารยาเข้าไปดูแลไม่นานก็เข้ารูปเข้ารอย
จนปัจจุบันอารยา อรุณานนท์ชัยเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารของสหยูเนี่ยนกรุ๊ปทั้งหมด โดยรับผิดชอบหลักในเรื่องการเงินซึ่งเป็นสายเลือดใหญ่ของธุรกิจ
แถมยังต้องนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการให้กับบริษัทในกลุ่มอีก 3 บริษัท ไม่นับรวมตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทนครพิงค์
ไนท์บาซาร ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางสินค้าพื้นเมืองที่จังหวัดเชียงใหม่
และตำแหน่งล่าสุดก็คือกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงงานน้ำตาลราชบุรี ที่สุนทร
อรุณานนท์ชัย เพิ่งรับซื้อมาจากธนาคารสยามเมื่อปลายปีที่แล้ว
ดูแค่ตำแหน่งของสามีภรรยาคู่นี้แล้ว ก็คงบอกได้อย่างเดียวว่าเป็นคู่สร้างคู่สมที่มีความสามารถทางธุรกิจและบ้างานทั้งคู่
ซึ่งคงหาคู่สามีภรรยาอื่นมาเปรียบเทียบได้ยาก และลักษณะของการทำงานของสุนทร-อารยา
อรุณานนท์ชัย ในช่วงที่อารยาออกจากกสิกรไทยมาแล้วเท่าที่ "ผู้จัดการ"
จัดได้คือ สุนทรจะเป็นทัพหน้า "ลุย" ลงทุนในกิจการที่ตนเห็นว่ามีอนาคตที่ดี
อารยาเป็นทัพหลังเข้าไปบริหารจริง ๆ เพื่อพัฒนาระบบงานของกิจการนั้น ๆ และดูแลผลประโยชน์ในการลงทุนไปด้วยในตัว
หรือจะสรุปว่าสุนทร อรุณานนท์ชัย เป็น "นักเลงทุน" ที่มีสายตายาวไกล
ส่วนอารยา อรุณานนท์ชัยเป็น "นักจัดการ" มือฉมัง เมื่อมาจับคู่กันมีหรือจะไม่รวย เอาแค่รายได้ประจำที่เป็นเงินเดือนในแต่ละตำแหน่งก็นับเงินไม่ทันแล้ว
ไหนจะเงินปันผลที่ได้จากการลงทุน และรายได้ที่เกิดจากราคาหุ้นในกิจการที่ลงทุนเอาไว้ที่สูงขึ้นทุกปีซึ่งเป็นรายได้ที่มองไม่เห็นเพราะยังไม่ยอมขายอีกไม่รู้เท่าไหร่?
" คู่สร้าง- คู่สม" แบบนี้หาได้ง่าย ๆ ที่ไหน ดำรง พุฒตาลอ่าน
" ผู้จัดการ" แล้วไปสัมภาษณ์มาลงหนังสือของคุณด่วน