|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อถาม Shino กับ Ken Mori สามีภรรยาเจ้าของบ้าน Wabi เกี่ยวกับศิลปะการคัดลายมือภาษาญี่ปุ่นที่แขวนโชว์ตรงบริเวณทางเข้าบ้าน พวกเขาใช้ความพยายามพักใหญ่เพื่ออธิบายความหมายของข้อเขียนนั้น ซึ่งคำอธิบายใกล้เคียงที่สุดเท่าที่ทำได้ น่าจะเป็นไปตามคำพูดของ Ken ที่ว่า
“เราไม่ถึงกับร่ำรวย แต่ยินดีต้อนรับเพื่อนๆ”
และ Shino ผู้ภรรยาเสริมว่า
“เพราะบ้านหลังนี้ว่างเปล่า นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเก่งขึ้น เพราะถ้าคุณไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย คุณต้องคิดว่าจะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้อย่างไร”
Ken อธิบายเพิ่มเติมว่า “พูดง่ายๆ คุณไม่จำเป็นต้องร่ำรวย หรือครอบครองอะไรมากมาย”
เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมบ้านหลังนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นจริงตาม เนื้อหาศิลปะการคัดลายมือที่กล่าวถึงข้างต้น เพราะมองดูจากภายนอก บ้าน Wabi ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลทองคือถนนแถบชานเมือง แทบไม่มีอะไรสะดุดตา นอกจากเป็นเพียงบ้านรูปทรงลูกบาศก์สีขาวที่ผุดขึ้นมาจากรั้วสี่เหลี่ยมสีดำ
สถาปนิก Sebastian Mariscal ผู้รับหน้าที่ออกแบบบ้าน Wabi เมื่อสามปีก่อนเล่าว่า
“เมื่ออ่านจากรายการที่ Shino กับ Ken ระบุถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการและไม่ต้องการแล้ว ผมรู้สึกว่า โดยจิตใต้สำนึกแล้ว พวกเขาต้องการบ้านประเภทต้องพินิจพิเคราะห์จากภายใน ไม่ใช่ บ้านที่โอ่อวดตนเองต่อสายตาผู้พบเห็นมาแต่ไกล พวกเขาอยากได้บ้านสำหรับเป็นที่พำนักพักพิงตลอดไป
หลัง Mariscal พบว่าที่ดินแปลงนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ข้อจำกัด ด้านการออกแบบหรือการตรวจสอบใดๆ ทีมงานของเขาจึงเดินหน้า ได้เต็มที่ Shino อธิบายในช่วงนี้ว่า
“เราต้องการให้ Mariscal ทำงานด้วยสไตล์และแนวคิดของตนเอง จึงไม่พยายามเข้าไปบงการอะไรมากนัก”
หลังจากนั่งถกกันอย่างจริงจังในเบื้องต้น ว่า สามีภรรยาคู่นี้อยากให้บ้านของพวกเขาเป็น อย่างไร และไม่อยากให้เป็นอย่างไร Ken เล่าว่า Mariscal เริ่มรู้สึกเกร็งเล็กน้อย เพราะไม่แน่ใจ “แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน เขาเริ่มเครื่องร้อนและ เนรมิตบ้านจนมีสภาพอย่างที่คุณเห็นทุกวันนี้”
Mariscal เปิดใจกรณีนี้ว่า
“มันวิเศษมากกับการพบลูกค้าที่ท้าทาย และเปิดโอกาสให้คุณได้ทำในสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง พวกเขาไว้ใจผมจริงๆ”
เห็นได้จาก Mariscal ออกแบบทางเข้าถึง ประตูด้านหน้าด้วยการนำแผ่นคอนกรีตวางเรียง กันแบบคดเคี้ยว แลดูเป็นธรรมชาติ เขาต้องการ ให้ตัวบ้านซ่อนอยู่หลังแนวป่าบริเวณสนามด้านหน้า เมื่อต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้น จะทำหน้าที่บังด้านหน้าของตัวบ้านได้มากกว่าที่เป็นอยู่
สำหรับสนามหลังบ้านซึ่งมีต้นสนเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่ง พวกเขาต้องการสร้างรั้วตรงนั้นพอดี แทนที่ทีมงานจะโค่นทิ้ง เพราะกิ่งก้านเกะกะ พวกเขากลับอนุรักษ์ต้นสนเอาไว้ และยอมให้กิ่งสนแต่ละกิ่งมีที่อยู่เป็นเอกเทศ เป็นการให้ ความสำคัญกับรายละเอียดอย่างคาดไม่ถึง ทำให้บ้านหลังนี้มีเสน่ห์อย่างประหลาด ตรงกับหลักความงามไม่สมบูรณ์ หรือ wabisabi แห่งนิกายเซนของญี่ปุ่น
เพราะเจ้าของบ้านอยากได้บ้านที่มีทางเข้าเพียงจุดเดียว และเป็นที่ที่พวกเขาสามารถ เก็บหรือถอดรองเท้าได้อย่างสะดวก ทั้งเวลาเดินออกมาจากโรงเก็บรถ หรือเดินเข้ามาจาก ถนน เมื่อเข้าประตูด้านหน้ามาแล้ว ผู้มาเยือนจะพบบ่อปลาคาร์พขนาดใหญ่และสวยงาม ซึ่งมีทางเดินยกตัวแนวตั้งฉากกับบ่อน้ำ นำไปสู่โรงเก็บรถและห้องซักล้างซึ่งอยู่ด้านขวา และนำไปสู่ห้องทำงานเล็กๆ ที่อยู่ทางซ้าย (ดูภาพประกอบ) เมื่อเปิดประตูห้องทำงาน พวกเขาสามารถยกเก้าอี้ออกมานั่งชื่นชมความงามตามธรรมชาติด้านนอกได้อย่างสุขใจ
Shino รู้ซึ้งถึงความอัตคัตพื้นที่ในกรุงโตเกียวเป็นอย่างดี เพราะห้องนั่งเล่นใหญ่ของบ้านมีขนาดพอๆ กับเสื่อตาตามิที่เห็นในภาพประกอบ แต่ที่บ้าน Wabi ในแคลิฟอร์เนีย เสื่อตาตามิเป็นส่วนหนึ่งของห้องนั่งเล่นและเป็นพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ของทั้งคู่
Shino พูดถึงความพอใจในความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายนี้ว่า
“ดิฉันเคยมีโต๊ะตัวเดียวสำหรับรองรับกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่ารับประทานอาหาร ทำงาน แล้วก็นอน ทำให้ดิฉันมั่นใจว่าอยู่ได้แน่นอน แม้มีเพียงห้องเดียว”
ส่วน Ken มีความสุขกับงานออกแบบที่สะท้อนบ้านสไตล์ดั้งเดิมของคุณยายที่โตเกียว เช่น มีชานบ้านขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสไตล์ดั้งเดิมของบ้านญี่ปุ่นที่เรียกว่า engawa โดยออกแบบให้บริเวณนี้เป็นห้องนั่งเล่นยกพื้นสูง มีประตูกระจกบานเลื่อนขนาดมหึมาสูงจากพื้นจดเพดาน 6 บาน ซึ่งทำงานด้วยกลไกพิเศษที่สั่งผลิตเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เมื่อเลื่อนเปิดออกทั้งหมด ทำให้พื้นที่ในร่มและกลางแจ้งปราศจากสิ่งขวางกั้น ที่สำคัญคือสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่ง Ken เพิ่มเติมจุดนี้ว่า
“เดิมทีทุกบ้านมีห้องลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่คุณแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะไม่ได้เหยียบย่างเข้าไปเลยเป็นเวลาหลายเดือน สุดท้ายต้องกลายสภาพเป็นห้องเก็บของ แต่ที่นี่ คุณทำกิจกรรมได้ทุกอย่างทุกวัน กลายเป็นห้องที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที”
แม้จะจัดสรรพื้นที่ส่วนใหญ่ของตัวบ้านชั้นล่างสำหรับเป็นห้องนั่งเล่นแบบเปิดโล่งขนาดใหญ่และที่รับประทานอาหาร แต่ยังมีพื้นที่เหลือพอสำหรับแพนทรีเล็กๆ ห้องทำงาน และห้องน้ำแบบญี่ปุ่น
|
|
|
|
|