|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คำพังเพยที่บอกว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้เรียนรู้อาเซียนได้บ้าง
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มนักลงทุนมาเลเซีย และกำหนดบทบาทของตัวเองชัดเจนว่าเป็นธนาคารอาเซียน ทำให้สถาบันแห่งนี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะปลุกกลุ่มประเทศในอาเซียนให้ตื่น ล่าสุดได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ประตูสู่อาเซียนกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย”
ธนาคารนำนักลงทุนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้ลงทุนโดยตรง เช่น บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)
หลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา ผู้ผลิตและค้ายางดิบ บอกว่าบริษัทลงทุนปลูกยางในลาวมา 6 ปี จำนวนพื้นที่ 2 แสนไร่ ในเขตพื้นที่เวียงจันทน์ คำม่วน สุวรรณเขต เป็นต้น และจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปลงทุนในครั้งนั้นเพราะรู้จักกับคนท้องถิ่น
แม้บริษัทจะดำเนินงานอยู่ในลาวมาได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตามแต่ยอมรับว่า ยังเรียนรู้ประเทศลาวได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะจากการได้ร่วมงานกับคนลาวพบว่าจะต้องใจเย็น เพราะผลของงานจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายทั้งหมด
แม้ว่าคนไทยจะเข้าใจภาษาลาวได้ร้อยละ 70-80 ก็ตาม แต่ก็ต้องเรียนรู้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะคำที่มักจะได้ยินบ่อยครั้งระหว่างคนไทยกับคนลาว ก็คือ เป็นบ้านพี่เมืองน้อง
“ทำอะไรในลาวต้องระมัดระวัง ใจเย็น เราต้องเป็นน้องอย่าเป็นพี่” หลักชัยกล่าว นัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความผูกพันระหว่างคนไทยกับคนลาวนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้กันอีกมาก ไม่ใช่เพียงได้ยินได้ฟังมา และคิดว่าเป็นไปตามนั้นก็หาไม่ การเข้าไปลงทุนในลาวจำเป็นต้องเรียนรู้กฎระเบียบในลาว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่างเช่นการเช่าพื้นที่ในลาว ช่วงแรกที่เข้าไปลงทุนเช่าพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (2.5 ไร่) ค่าเช่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เวลานี้ปรับขึ้นมาเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัทเช่าเป็นระยะเวลา 35 ปี
หลักชัยบอกว่าได้ลงทุนในลาวจำนวน 1,200 ล้านบาท ส่วนประโยชน์ด้านภาษีได้รับการยกเว้นภาษีจากบีโอไอ 7 ปี หลังจากเริ่มมีรายได้ไปอีก 7 ปี ไม่ต้องเสียภาษี จากนั้นอีก 3 ปีแรกจะเสียภาษีครึ่งหนึ่ง และสุดท้ายเสียภาษีร้อยละ 15
ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหารและกาแฟ ภายใต้แบรนด์แบล็คแคนยอน เปิดให้บริการร้านอาหารในกลุ่มประเทศอาเซียน เล่าประสบการณ์ว่า เหตุผลที่ตัดสินใจออกไปทำตลาดในอาเซียน เพราะได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐที่ในเวลานั้นมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” ตอนนั้นก็ร่วมเปิดบูธนำต้มยำกุ้งไปทำให้ลูกค้ารับประทาน
จากการทำธุรกิจในอาเซียนพบว่าประเทศไทยและประเทศในอาเซียนมีความคล้ายคลึงกันหลายด้าน เช่น สังคม วัฒนธรรมและการเมือง แต่คนไทยไม่กล้าเดินทางไปค้าขายในต่างประเทศ
ประวิทย์แนะนำผู้ประกอบการว่า หากต้องการเรียนรู้ในแต่ละประเทศอย่างแท้จริง ให้ซื้อตั๋วทัวร์ท่องเที่ยวไปให้เห็นกับตามากกว่าที่จะนั่งฟังที่ปรึกษา หรือร่วมมงานสัมมนาเท่านั้น
เขายังแนะนำว่ากรณีธุรกิจอาหารที่มีเมนูหรือสูตรของตนเองควรจะมีการจดลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ เหมือนอย่างเช่นที่เขาไปเห็นโลโกของสุกี้ยากี้เอ็มเคที่กัมพูชา ทั้งๆ ที่เอ็มเคยังไม่มีสาขาอยู่ที่นั่น
ส่วนในประเทศพม่า มีวัฒนธรรมค่อนข้างแข็งแกร่ง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน ด้านประเทศลาวได้รับอิทธิพลจากไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะละครไทย คนลาวจะชื่นชอบอย่างมาก
“ผมมีแผนเปิดสาขาแบล็คแคนยอนในเวียงจันทน์ปลายปีนี้ มีคนลาวแนะนำผมว่าหากต้องการให้คนมามากๆ ให้เชิญนางเอก “เรยา” จากละครเรื่องดอกส้มสีทองมาด้วย เพราะในวันนั้นคนลาวจะมาอยู่ที่ร้านกันหมดอย่างแน่นอน” ประวิทย์เล่า
นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เล่าประสบการณ์ในประเทศอินโดนีเซียว่า ปตท.เข้าไปลงทุนปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย เพราะมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ร้อนและมีฝนตลอดทั้งปี
การเข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่ดั้งเดิมนับถือศาสนาพุทธ
อย่างไรก็ดี เรื่องหลักที่ต้องรู้มี 2 เรื่อง คือ ต้องพูดภาษาอังกฤษ ถ้าพูดไม่ได้อย่างน้อยต้องพูดภาษาท้องถิ่น ทำให้ ปตท. จ้างพนักงานจากภาคใต้ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่น เรื่องที่สองกฎระเบียบที่แบ่งแยกระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะความล่าช้าของส่วนภูมิภาคที่จะนำกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่างๆ มาปฏิบัติ จะใช้เวลานาน และมีการเปลี่ยนกฎระเบียบบ่อยครั้ง ทำให้บางครั้งยากต่อการทำงาน
ในฐานะที่นิพิฐเป็นประธานสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย จึงมีนโยบายผลักดันให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะลงทุนทำสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุน เครื่องจักร ปุ๋ย และโลจิสติกส์
ประสบการณ์ของผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ก้าวออกไปในตลาดอาเซียนเป็นเพียงการฟังเรื่องราวสั้นๆ ในห้องประชุมสัมมนาเท่านั้น แต่หากต้องการสัมผัสด้วยตัวเองก็ต้องเริ่มเดินทางตั้งแต่วันนี้
|
|
|
|
|