Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2554
ชายหนุ่ม 3 คน กับปรากฏการณ์ใหม่ในลาว             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 


   
search resources

News & Media
Advertising and Public Relations
Laos
ปรเมต พิมโคตร
สมบัติ ดิดทะวง
สมแพง ผูกสาลีวง
InConcept Co., Ltd.




เรื่องราวของชายหนุ่ม 3 คนที่มีพื้นเพแตกต่างกันแต่เป้าหมายในชีวิตของทั้ง 3 เหมือนกัน คือต้องการเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อทุกคนได้มารวมตัวกัน จึงเกิดปรากฏการณ์ซึ่งสร้างสรรค์วิถีใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการสื่อและโฆษณาของลาว

ตอนที่ปรเมต พิมโคตร เดินทางเข้ามาทำงานในลาวครั้งแรก ผู้ที่ชักชวนเขาให้เข้ามาเจรจากับเขาว่า ระยะทำงาน เวลาตามสัญญาจ้างของเขาน่าจะอยู่แค่ประมาณ 3 เดือน

ในช่วงนั้นประมาณ พ.ศ.2548 (2005) ซึ่งเป็นระยะที่ปรเมตกำลังเริ่มทบทวนกับตัวเองเกี่ยวกับกิจการส่วนตัวที่เขาตั้งขึ้นได้กว่า 3 ปีมาแล้ว บริษัทรับทำสื่อสิ่งพิมพ์และป้ายโฆษณา ซึ่งเปิดอยู่ บนศูนย์การค้าเจริญศรี พลาซ่า จังหวัดอุดรธานี

ด้วยความที่ยังเป็นเด็กหนุ่ม อายุยังไม่ถึง 30 ปี ขาดประสบการณ์ในด้านการบริหารกิจการ แม้บริษัทของเขายังสามารถทำกำไร แต่ก็ได้ตัวเลขที่ไม่น่าพอใจเท่าไรนัก

เมื่อถูกเชื้อเชิญให้เข้ามาช่วยดูแลด้านการออกแบบรูปเล่มให้กับนิตยสารมหาชน นิตยสารหัวใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว ใน สปป.ลาวในขณะนั้น เขาเกิดความสนใจชักชวนดีไซเนอร์ในบริษัทเดินทางเข้ามายังนครหลวงเวียงจันทน์ด้วยกัน 2 คน

แต่ระยะเวลาทำงานของปรเมตมิได้สิ้นสุดลงในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน ดังที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก

ทุกวันนี้ เขายังอยู่ในลาวและเป็น 1 ใน 3 หุ้นส่วนคนสำคัญของไอซีซี กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจด้านสื่อและโฆษณาที่กำลังมีผลงานชนิดที่เรียกได้ว่า “มาแรง” อย่างมากในวงการธุรกิจของลาวขณะนี้...

ปรเมตจบด้านการออกแบบนิเทศศิลป์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตหลังเรียนจบได้ไปใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างอยู่ระยะหนึ่ง เป็นผู้ช่วยช่างภาพอยู่ที่สตูดิโอออมนิวิชั่น และกราฟิกดีไซเนอร์ ก่อนกลับมาเปิดธุรกิจของตนเองที่จังหวัดอุดรธานีจนกระทั่งถูกชักชวนให้เข้ามาทำงานในลาวเมื่อปี 2005

ปี 2005 เป็นช่วงเวลาที่สมบัติ ดิดทะวง เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับชีวิตวิศวกรในบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งในนครหลวง เวียงจันทน์

เขาทำอาชีพนี้มาแล้ว 4 ปี

สมบัติต้องการทำอะไรที่เป็นของตนเอง เป็นเจ้าของกิจการมากกว่า

เขาเริ่มติดต่อกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในไทย เพื่อหาลู่ทางประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ การเกษตร หรือธุรกิจอาหารในลาว

เนื่องจากในระยะนั้นลาวยังขาดสิ่งเหล่านี้อยู่

ซีพีแนะนำให้เขาทำฟาร์มหมู

พ.ศ.2549 (2006) ขณะที่ปรเมตเริ่มเข้าไปใช้ชีวิตทำงานอยู่ในลาวอย่างเต็มตัว เพื่อบุกเบิกนิตยสารมหาชน

สมบัติกลับต้องเดินทางเข้ามาเมืองไทยบ่อยครั้ง เพื่อดูงานในฟาร์มหมูของซีพีหลายแห่ง

สมบัติมีบทบาทสำคัญในการทำให้ซีพีตัดสินใจขยายสาขาเข้ามาเปิดกิจการในลาว ในนามบริษัท ซี.พี.ลาว โดยรับช่วง สัมปทานโรงงานอาหารสัตว์เก่าของรัฐบาล สปป.ลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์ไปดำเนินการต่อ

โรงงานอาหารสัตว์ที่ซีพีเข้าไปรับช่วงต่อในลาว เปิดดำเนินการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 (2007)


(อ่าน “ซี.พี.ลาว เล็กแต่มากโอกาส” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ปัจจบันจำนวนหมูในฟาร์มของสมบัติมีอยู่ประมาณ 5,000 ตัว ถือเป็นฟาร์มที่มีขนาดใหญ่รองๆ ลงมาจากฟาร์ม หมูที่ซีพีเข้าไปทำเองอยู่ในลาว

สมบัติจบวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อปี พ.ศ.2544 (2001) เขาเป็นชาวคำม่วนที่ดิ้นรนเข้ามาเรียนหนังสือในเวียงจันทน์ตั้งแต่ระดับมัธยม เพราะต้องการความก้าวหน้าในชีวิต

เขามีเพื่อนร่วมรุ่นในคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติคนหนึ่งชื่อสมแพง ผูกสาลีวง

ทั้งคู่สนิทกัน เพราะมีพื้นเพเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาต่อสู้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงเหมือนกัน และมองเป้าหมายในชีวิตใกล้เคียงกัน นั่นก็คือมีความต้องการ เป็นเจ้าของกิจการ มากกว่าเป็นลูกจ้าง

หลังเรียนจบวิศวกรรมโยธา สมแพง ใช้ชีวิตวิศวกรเหมือนกับสมบัติอยู่ประมาณ 4 ปี จนเริ่มรู้สึกอิ่มตัว

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่สมบัติออกมาตั้งกิจการฟาร์มหมู สมแพงได้ไปเข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดค่ายเพลงที่ชื่อว่าอินดี้ เร็คคอร์ด

ในตอนนั้นสมแพงกับเพื่อนๆ มองตรงกันว่า ศิลปินเพลงของลาวไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะคนลาวส่วนใหญ่ยังนิยมฟังเพลงไทยจากฝั่งไทยมากกว่า เขาและเพื่อนๆ จึงมีความคิดตั้งค่ายเพลงขึ้นมา เพื่อปั้นศิลปินชาวลาวโดยเฉพาะ

อัลบั้ม 2 ชุดแรกของค่ายอินดี้ฯ เป็นเพลงรวม คือมีทั้งเพลงสตริง ร็อก ฮิพ ฮอพ ฯลฯ อยู่ในแผ่นเดียวกัน เพื่อทดสอบ ตลาดว่าผู้ฟังชาวลาวจะชอบเพลงแนวไหน

ในที่สุด ก็ได้พบว่าศิลปินลาวที่จะเป็นที่นิยมของคนลาวน่าจะต้องทำเพลงประเภทร็อกหรือฮิพฮอพ มากกว่าสตริง

ค่ายอินดี้ฯ จึงเน้นทำเพลง 2 ประเภทนี้

ผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์ของค่ายอินดี้ฯ คือการปั้นวงดนตรีร็อกชื่อดังของลาวขึ้นมาวงหนึ่ง ชื่อวง Cell

ความโด่งดังของร็อกเกอร์วงนี้แพร่กระจายข้ามโขงเข้ามาถึงผู้ฟังในเมืองไทย จนในที่สุด วง Cell ก็ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดค่ายสนามหลวงการดนตรี ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไปแล้ว

ช่วงที่วง Cell เริ่มมีชื่อเสียง สมแพง เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ

เขาเรียนจบ กลับมาลาวอีกครั้งในปี พ.ศ.2552 (2009)

ปี 2009 เป็นปีที่ธุรกิจฟาร์มหมูของ สมบัติเริ่มอยู่ตัว เขากำลังมองหาธุรกิจใหม่

ปี 2009 เช่นกัน เป็นปีที่บริษัทสตาร์ โทรคม ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในลาวซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยเวียดเทล ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 จากเวียดนามมีแผนเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า (re-branding) มาเป็นแบรนด์ “ยูนิเทล”

การ re-branding จำเป็นต้องใช้สื่อ เพื่อการรณรงค์ส่งสารการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปสู่ผู้บริโภค ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

สมบัติมองเห็นช่องทางเพราะธุรกิจ สื่อและโฆษณาในลาวขณะนั้นยังไม่พัฒนา มากนัก เขาจึงเร่งศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้

เขาได้คุยกับสมแพง เพี่อนสนิทที่เพิ่งกลับมาจากอังกฤษ ทั้งคู่มีแนวคิดตรงกันว่าจะเปิดบริษัทเอเยนซี่โฆษณาขึ้น เพื่อเข้าไปรับงาน re-branding ให้กับยูนิเทล

เพียงแต่ต้องหาเพื่อนร่วมคิดที่มีประสบการณ์ความรู้ด้านสื่อและโฆษณาเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย

ทั้งคู่มองไปที่ปรเมต

ปี 2009 เป็นปีที่ปรเมตได้ใช้ชีวิตอยู่ใน สปป.ลาว เข้าสู่ปีที่ 5

จากสัญญาเริ่มต้นเมื่อปี 2005 ที่ให้เขาเข้ามาดูเรื่องการออกแบบรูปเล่มให้กับนิตยสารมหาชน เพียง 3 เดือน แต่เอาเข้าจริงๆ เขาต้องอยู่ร่วมปลุกปั้นนิตยสารฉบับนี้จนติดตลาด ด้วยรูปเล่มที่ดูทันสมัย แปลกตากว่านิตยสารอื่นๆ ที่มีอยู่ในลาวก่อนหน้านั้น

จากผลงานในนิตยสารมหาชน เมื่อนายจ้างของเขามีความคิดจะขยายงาน จากที่ทำนิตยสารไปสู่การทำสื่อโฆษณาปรเมตจึงถูกชักชวนให้เข้าไปเป็นหลักในธุรกิจใหม่นี้อีกครั้ง

จากสัญญา 3 เดือนในปี 2005 ปรเมตจึงต้องอยู่ในลาวต่อเนื่องมาอีก 4 ปี

งานแรกในบทบาทบริษัททำสื่อโฆษณาของปรเมต คือการเข้าไปทำปฏิทินปี 2007 ให้กับบริษัทลาวโทรคม

ปรเมตไม่รู้จักกับสมบัติและสมแพง โดยตรง แต่เขารู้จักและสนิทกับเพื่อนสนิท ของทั้งคู่

ช่วงที่สมบัติและสมแพงมีความคิดจะตั้งบริษัทเอเยนซี่โฆษณาขึ้นมานั้น ทั้งคู่ได้ให้เพื่อนไปทาบทามปรเมตให้มาร่วมหุ้นด้วยอยู่หลายครั้ง แต่ปรเมตก็ยังไม่ตัดสินใจ

ในที่สุด เมื่อปรเมตเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานเดิม ต้องการความท้าทายใหม่ๆ จึง ได้ตกลงใจเข้าร่วมหุ้นกับสมบัติและสมแพง

บริษัทอินคอนเซ็ปต์จึงก่อกำเนิดขึ้น ในปลายปี 2009

การรวมตัวกันของคนทั้ง 3 ถือได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะนอกจากทั้ง 3 เป็นคนที่มีความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในจิตใจเช่นกัน อายุไล่เลี่ยกัน (ปัจจุบันปรเมตอายุ 34 ขณะที่สมบัติและสมแพงอายุ 31) แบ็คกราวน์ที่แตกต่างกันของคนทั้ง 3 ยังเอื้อต่อธุรกิจที่กำลังจะทำร่วมกัน

ปรเมตมีประสบการณ์และความชำนาญด้านการทำสื่อและโฆษณามาโดยตรง

สมบัติมีความเป็นนักลงทุนสูง รู้ขั้นตอนเกี่ยวกับการทำธุรกิจเป็นอย่างดี ที่สำคัญ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนหลายคนใน สปป.ลาว

สมแพงผ่านการศึกษามาจากต่างประเทศ มองเห็นและเข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคม

ในการตัดสินใจที่จะทำอะไรแต่ละอย่าง ทั้งปรเมต สมบัติ และสมแพงจะต้องปรึกษาหารือ ถกเถียงกัน จนได้ข้อสรุป ที่ลงตัว เห็นพ้องต้องกันทุกคนแล้ว จึงเริ่มลงมือปฏิบัติ

“เรามี 3 หัว เรามีสมองอยู่ 3 สมอง แล้วเวลาคิดอะไร พอมันคิดรวมกันแล้ว มันแมสมาก มันเป็นอะไรที่ประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วในความเป็นประชาธิปไตย มันเบรนสตอร์มแล้ว มันแข็งแรงมาก” เป็นคำอธิบายภาพการทำงานอย่างคร่าวๆ ของ ทั้ง 3 คน ที่ปรเมตบอกกับผู้จัดการ 360 ํ

ปลายปี 2009 เป็นปีที่ สปป.ลาว มีงานใหญ่ นั่นคือการเป็นเจ้าภาพจัด “เวียงจันทน์เกมส์” หรือมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 มีทั้งนักกีฬา สต๊าฟโค้ช แฟนกีฬา รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามายังนครหลวงเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก

อินคอนเซ็ปต์จึงใช้โอกาสนี้ในการโหมแคมเปญ re-branding ให้กับยูนิเทล

เริ่มจากการออก “ทัวริสต์ซิม” ที่ได้แจกแผนที่เวียงจันทน์ให้กับนักท่องเที่ยว ทุกคนที่ซื้อซิมโทรศัพท์ของยูนิเทล มีการออกบูธเพื่อขายซิมตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของเวียงจันทน์ อาทิ ประตูชัย หรือวัดพระธาตุหลวง

ตามสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้มีช่างภาพรับจ้างจำนวนมาก ที่คอยรับจ้างถ่ายภาพให้กับนักท่องเที่ยว อินคอนเซ็ปต์จึงเสนอทางยูนิเทลให้ตัดเสื้อแจ็กเก็ตแจกให้กับช่างภาพเหล่านี้ทุกคน โดยบนเสื้อจะมีโลโกของยูนิเทลติดอยู่ มองเห็นได้อย่างเด่นชัด

ถือเป็นการใช้สื่อที่ผสมผสานเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ธุรกิจของลาวเคยแต่อาศัยเพียงสื่อหลักในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปสู่ผู้บริโภค

“อุละหา ทองวันทา ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทสตาร์เทเลคอม เปิดเผยว่า หลังเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าเป็น “ยูนิเทล” (Unitel) มาได้ 1 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการกว่า 3 ล้านราย คิดเป็น 35% ของทั้งตลาด รายรับบริษัทในปี 2552 เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจากปี 2551 และคาดว่าปี 2553 จะมีรายรับประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปี 2552” เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ ข่าว “ผู้จัดการออนไลน์” เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553

เป็นข้อมูลที่พิสูจน์ผลงานการ re-branding แบรนด์ “ยูนิเทล” ของอินคอนเซ็ปต์ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ก็มิใช่เป็นผลงานที่เกิดจากแคมเปญการออกทัวริสต์ ซิม หรือการแจกเสื้อแจ็กเก็ตให้กับช่างภาพรับจ้างตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์เท่านั้น

ภายใต้แคมเปญการ re-branding อินคอนเซ็ปต์ยังได้เข้าไปเช่าเวลาสถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาว ช่อง 3 จัดรายการเพลงทางโทรทัศน์ ชื่อรายการ “ยูนิมีเพลง” โดยมียูนิเทลเป็นสปอนเซอร์หลัก

ถือเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ใช้ลักษณะการเช่าเวลาจากสถานีโทรทัศน์เพื่อจัดรายการที่มีเนื้อหา จากเดิมที่รายการ โทรทัศน์ส่วนใหญ่ในลาวก่อนหน้านั้น หากไม่เป็นการเช่าเวลาเพื่อจัดรายการขายตรงสินค้าก็จะเป็นรายการที่สถานีจัดเอง และรายการของหน่วยงานรัฐ

(อ่าน “ยุทธศาสตร์ “อินโดจีน” ของทีวีไดเร็ค” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2552 หรือใน www. gotomanager.com ประกอบ)

“เวียงจันทน์เกมส์” นอกจากเป็นงานใหญ่ที่ สปป.ลาว ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับภูมิภาคแล้ว งานนี้ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรลาวครั้งใหญ่

นั่นคือพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์

ข้อมูลที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ก่อนหน้าการจัด “เวียงจันทน์เกมส์” ก็คือคนลาว ส่วนมากรับข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์จากประเทศไทย โดยเฉพาะละครของช่อง 3 และช่อง 7

ทั้งๆ ที่ใน สปป.ลาว ก็มีสถานีโทรทัศน์อยู่แล้วถึง 3 ช่อง นั่นคือสถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาว ช่อง 1 และช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “ลาวสตาร์”

เนื่องจากรายการที่ถูกนำเสนอจากสถานีโทรทัศน์ทั้ง 3 ส่วนใหญ่เป็นรายการแบบพื้นๆ หลายครั้งก็นำภาพยนตร์เก่าๆ จากจีน หรืออินเดียมาฉายใหม่ ทำให้ไม่มีความหลากหลาย จนคนลาวไม่นิยมดู กลับ ชอบดูรายการโทรทัศน์จากประเทศไทยมากกว่า

การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ กระตุ้นให้คนลาวหันมาชมการถ่าย ทอดสดกีฬาผ่านทางสถานีโทรทัศน์ลาวมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้สถานีโทรทัศน์ของ ลาวที่เป็นช่องพาณิชย์หรือกึ่งพาณิชย์อย่าง สถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาว ช่อง 3 และลาวสตาร์ จำเป็นต้องพัฒนารายการขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการของผู้ชมเหล่านี้

นอกจากนี้การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ของ สปป.ลาวครั้งนี้ รัฐบาลลาวได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ให้กับสถานีโทรทัศน์ แห่งชาติลาว ช่อง 3 และมีการพัฒนาระบบ การส่งสัญญาณ ทำให้สัญญาณภาพที่ออกมาจากช่อง 3 มีความคมชัดขึ้น

(อ่าน “สนามกีฬาซีเกมส์ ความท้าทายสุดๆ ของงานก่อสร้าง” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ความนิยมในการรับชมรายการโทรทัศน์ของคนลาวผ่านสถานีโทรทัศน์ลาว ยิ่งมาได้รับการตอกย้ำให้มีมากขึ้นอีกครั้ง จากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ที่จัดขึ้น หลังเสร็จสิ้นเวียงจันทน์เกมส์ไปไม่ถึง 6 เดือน

เนื่องเพราะบริษัทอาร์เอส ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในประเทศไทยตอนนั้น ไม่อนุญาตให้มีการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ทำให้คนลาวที่เคยรับข้อมูลข่าวสารจากรายการโทรทัศน์ไทยผ่านช่องทางนี้ ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้

ตรงข้ามกับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาว ช่อง 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามปล่อยสัญญาณถ่ายทอดสดมาให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คนลาวจึงสามารถชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางช่อง 3 (ลาว) ได้

สถานีโทรทัศน์ของลาวจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

“ก่อนปี 2009 คนลาวเกือบ 80-90% ดูแต่ทีวีไทย แต่หลังจากนั้นมาสัดส่วนได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนี้เรายังไม่รู้ตัวเลขที่ ชัดเจนว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เท่าที่รู้มา ก็เกือบจะ 60-40 แล้ว” สมบัติให้ข้อมูล

“ตอนนี้ถ้าไปที่ต่างแขวง ต่างจังหวัด จะเห็นว่าคนดูทีวีลาวเยอะกว่า ถึงขั้นช่องไทยน้อยลงมาก นอกจากจะดูพวกข่าว” สมแพงยืนยัน

รายการ “ยูนิมีเพลง” ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่ถูกปรับรูปแบบการนำเสนอให้มีความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นฉาก ระบบไฟ ฯลฯ โดยอาศัยการศึกษารูปแบบ รายการจากประเทศต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ชม ชาวลาวเป็นจำนวนมาก และได้สร้างให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ให้กับรายการโทรทัศน์ใน สปป.ลาว ที่แทบจะทุกรายการหลังจากนั้น ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบ การนำเสนอให้มีความทันสมัย หรือมีความแตกต่างที่โดดเด่น เพื่อดึงดูดความนิยมของผู้ชม


ที่สำคัญ ก่อให้เกิดแขนงงานใหม่ขึ้น กับอินคอนเซ็ปต์ นั่นคือแขนงงานโทรทัศน์

ปัจจุบันอินคอนเซ็ปต์มีรายการโทรทัศน์ในมือที่เป็นผู้ผลิตเองอยู่ 3 รายการ หลักๆ เป็นรายการสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาว ช่อง 3 ทุกวัน เป็นรายการเกี่ยวกับเกมและเพลงกับรายการเทปที่ออก อากาศทางลาวสตาร์ เป็นรายการเกี่ยวกับรถยนต์

อินคอนเซ็ปต์ยังมีแผนเพิ่มรายการ โทรทัศน์ในพอร์ตของตนเองขึ้นอีก 2-3 รายการในเร็วๆ นี้

การมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเองอยู่ในมือ ทำให้อินคอนเซ็ปต์กลายเป็นเอเยนซี่ที่มีความแตกต่าง และได้เปรียบเอเยนซี่อื่นๆ เพราะนอกจากความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำเสนอให้กับลูกค้าแล้ว ยังมีสื่อและแผนกที่รับผิดชอบในการทำสื่อที่สามารถให้บริการไปพร้อมกันด้วย

ทุกวันนี้ สื่อที่อินคอนเซ็ปต์มี ไม่เฉพาะแค่สื่อโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว อินคอนเซ็ปต์ยังมีรายการวิทยุที่ครอบคลุมพื้นที่ในแขวงสำคัญๆ ของลาว นอกเหนือจากนครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่ภาคเหนือ ในแขวงหลวงพระบาง ภาคใต้ที่แขวงสะหวันนะเขต และจำปาสัก

รวมถึงการเข้าไปเช่าพื้นที่สำหรับการติดตั้งป้ายโฆษณา ตามจุดมองเห็นเด่นชัด มีศักยภาพต่อการโฆษณา ครอบ คลุมพื้นที่ทั่วทุกแขวงของ สปป.ลาว

แม้แต่ในโลกไซเบอร์ อินคอนเซ็ปต์ ได้เข้าไปเช่าพื้นที่ในเครือข่ายสังคม อย่าง facebook เพื่อให้ผู้ที่มีบัญชี facebook และลงทะเบียนไว้ว่ามีถิ่นฐานอยู่ใน สปป. ลาว สามารถมองเห็นโฆษณาที่อินคอนเซ็ปต์ทำให้กับลูกค้า

การมีสื่อในมือ เป็นจุดที่สร้างความ แตกต่างให้กับอินคอนเซ็ปต์จากเอเยนซี่โฆษณาอื่นๆ ผลงานที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด อีกอย่างหนึ่ง ถือเป็นข้อได้เปรียบอีกข้อของ อินคอนเซ็ปต์คือบทบาทในการเป็นอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์

อินคอนเซ็ปต์ได้เข้าไปเป็นผู้จัดงาน ใหญ่ระดับประเทศให้กับ สปป.ลาวมาแล้ว หลายงานด้วยกัน งานที่สำคัญคือพิธีเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2010 และพิธีกระโดดร่ม เพื่อเฉลิมฉลองนครหลวงเวียงจันทน์ครบรอบ 450 ปี เมื่อปีที่แล้ว

(อ่าน “ตลาดทุนแห่ง สปป.ลาว เมื่อทุนลาว คนลาวเป็นเจ้า” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

โดยเฉพาะงานหลัง มีผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล สปป.ลาว ตั้งแต่ประธานประเทศ อดีตประธานประเทศ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และแขกบ้านแขกเมืองของ สปป. ลาว ไปร่วมรับรู้ผลงานของอินคอนเซ็ปต์ด้วย

สำหรับบริษัทที่เพิ่งมีอายุการจัดตั้งไม่ถึง 2 ปีดี และมีเจ้าของเป็นคนหนุ่ม 3 คน ที่เพิ่งมีอายุอยู่ในวัย 30 ต้นๆ

ถือว่าการเติบโตของอินคอนเซ็ปต์ นั้น “รวดเร็ว” มาก ชนิดที่เรียกได้ว่า “ก้าว กระโดด”

อินคอนเซ็ปต์เป็นทั้งเอเยนซี่โฆษณา ที่ขายความคิดสร้างสรรค์ เป็นทั้งที่ปรึกษา ทางการตลาดให้กับเจ้าของสินค้า รวมถึงเป็นสื่อที่สามารถส่งสารที่เจ้าของสินค้าต้องการสื่อไปยังผู้บริโภคได้ ภายใต้องค์กร เพียงองค์กรเดียว

ด้วยความที่มีรูปแบบของบริการที่หลากหลาย และแต่ละบริการสามารถแตก ออกเป็นบริษัทลูก เป็นเครือข่ายได้อีกหลาย บริษัท

ทั้งสมบัติ สมแพง และปรเมต จึงนิยามตัวตนใหม่ จากบริษัทอินคอนเซ็ปต์ เป็นไอซีซี กรุ๊ป

“เราต้องการเป็นเอเยนซี่โฆษณา แต่เป็นเอเยนซี่ที่มีทุกอย่างเลย ยกตัวอย่าง ถ้าผมได้งานป้ายทั่วประเทศ ผมจะทำบริษัท ป้ายขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งเลย เพื่อรองรับงาน ป้ายตรงนี้ คือที่ไทย คนไทยจะชอบอะไรที่มันเคลียริไฟล์ แต่ของเรา เราพยายามเคลียริไฟล์ แต่เราจะเคลียริไฟล์ตัวเราเป็นลักษณะกลุ่มบริษัท” ปรเมตอธิบาย

ซึ่งลักษณะของการเป็นกลุ่มบริษัทนั้น เป็นลักษณะทั่วไปของการทำธุรกิจใน สปป.ลาว ที่ไม่อาจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้เพียงอย่างเดียว

“อย่างเรา เราแข็งมีเดีย หรือว่าแข็ง ทางด้านเอเยนซี่ และอะไรที่ต่อพ่วงมาด้วย สิ่งเหล่านั้น เราก็จะขอเป็นไอซีซี กรุ๊ป ที่มีสาขาย่อยออกมาจากจุดๆ นั้น ไม่เหมือน ธุรกิจที่ประเทศอื่น เพราะว่าประเทศอื่นนี่ ประชากรเยอะ อย่างไทย 60 ล้าน เวียดนาม 90 ล้าน ทำจุดเดียว แค่อันเดียว ก็ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้าของเรา เราทำอันเดียวไม่ได้ เราก็เลยต้องจัดกรุ๊ปขึ้นมา ซึ่งกรุ๊ปเหล่านั้นก็ขึ้นกับเรา 3 คนนี้ เป็นไอซีซี กรุ๊ป นั่นแหละ คือวิสัยทัศน์ของเรา” สมบัติเสริม

ปัจจุบันนอกจากผู้ร่วมทุนทั้ง 3 คนแล้ว พนักงานของไอซีซี กรุ๊ปมีอยู่ 18 คน ทุกคนเป็นพนักงานประจำทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่พิธีกรรายการโทรทัศน์และดีเจรายการ วิทยุ

การผสมผสานกันของคน 3 คน สมอง 3 สมอง ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับวงการสื่อและโฆษณาใน สปป. ลาว

ทำให้เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 วงการนี้ในลาวมีสีสันขึ้นอย่างมาก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us