เครือข่ายภาคประชาชนที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นใหม่ล่าสุดคือ “คณะทำงานหยุดการพัฒนาสงขลา-สตูล สู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก” ที่ประกอบขึ้นจากบุคลากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจาก 2 จังหวัดพื้นที่สร้างแลนด์บริดจ์ ร่วมกันจิ๊กซอว์ต่อภาพอนาคตท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ เพียงชั่วเดือนสองเดือนมานี้ก็ได้ร่วมกันจัดทำ “เอกสารชี้แจงความจริง” ภายใต้ชื่อ “สงขลา-สตูล กำลังก้าวไปสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก” ออกแจกจ่ายเผยแพร่ไปแล้วจำนวนมาก
หลายปีที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิด โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล และนครศรีธรรมราชอย่างคึกคัก เพื่อให้ภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่แทนที่ภาคตะวันออก ข้อมูลเมกะโปรเจ็กต์เหล่านั้นมักเปิดเผยอย่างแยกส่วนจนแทบไม่มีใครเห็นภาพรวมทั้งหมด
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้วางแผนพัฒนา “แลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา” ให้มี ท่าเรือใหญ่เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งทะเล โดยเลิก แนวคิดการขุดคอคอดกระที่มีมาแต่อดีต แล้วเน้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่งเสริมให้พื้นที่ฝั่งอันดามันตอนบนเป็นแหล่งท่องเที่ยว
แต่ “สงขลา-สตูล” กลับจะให้เป็นพื้นที่ “อุตสาหกรรมหนัก” ในอนาคตอันใกล้
ต่อไปนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบของ “คณะทำงานหยุดการพัฒนาสงขลา-สตูล สู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก” โดยในส่วนของภาพประกอบได้นำมาจากที่แต่ละโครงการได้นำเสนอไว้แล้วนั่นเอง
โรงแยกก๊าซจะนะ-โรงไฟฟ้าจะนะ’ ก้าวแรกการพัฒนาสงขลาสู่การเป็นอุตสาหกรรม
โรงแยกก๊าซจะนะและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียเริ่มสร้างในปี 2546 บนพื้นที่ 950 ไร่ ปัจจุบันส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ด้วย มีปัญหาเสียงดัง น้ำเสีย อากาศในพื้นที่ร้อนขึ้น บ่อน้ำตื้นแห้ง ถมดินปิดกั้นทางน้ำ และถมทับป่าพรุ รวมทั้งการยึดที่ดินศาสนบริจาค (วากัฟ) ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยที่เจ้าของและทายาทไม่ยินยอม
เมื่อโรงแยกก๊าซสร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าจะนะเริ่มสร้างในพื้นที่ 751 ไร่ เป็นโรงไฟฟ้า พลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงกำลังผลิต 725 เมกะวัตต์ และจะสร้าง โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 โรงในปี 2554 ซึ่งจะทำให้เป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
ผลกระทบสำคัญของโรงฟ้าจะนะคือ น้ำหล่อเย็นที่มีอุณหภูมิสูงปล่อยลงสู่คลองนาทับ ปลาตาย มลพิษทางอากาศ เสียงดังรบกวนชุมชน รวมทั้งการใช้ค่า Ft มาทำมวลชน สัมพันธ์ปีละกว่า 50 ล้านบาท ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นและทำโครงการพัฒนาที่สูญเปล่า
‘สะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล’ จุดเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
สะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีท่าเรือ น้ำลึกนาทับ (สงขลา 2) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยเชื่อมต่อด้วยทางรถไฟรางคู่เพื่อการขนส่งสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะตามมา ‘ท่าเรือน้ำลึกปากบารา’ ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว
ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ มีการถมทะเลสร้างท่าเรือซึ่งห่างจากฝั่ง 4 กิโลเมตร และมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นความยาวนับกิโลเมตรระหว่างท่าเรือกับทะเลเปิด สิ้นสูญความเป็น “สตูล สะอาด สงบ” ลงอย่างแน่นอน
ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2
จุดเปลี่ยนจะนะเป็นมาบตาพุด
ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 หรือท่าเรือน้ำลึกนาทับ ที่บ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นท่าเรือน้ำลึกในขนาดเท่า กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา ออกแบบท่าเรืออยู่บนฝั่ง มีสะพานเทียบเรือยื่นไปในทะเล
ประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำในทะเล การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง และชายหาดที่ขาวสะอาดจะถูกแทนที่ด้วยเรือสินค้า คราบน้ำมัน ขยะ และเสียงรบกวนจากการ ขนถ่ายสินค้า
‘รถไฟรางคู่’
เชื่อมการขนส่ง 2 ท่าเรือ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือปากบารามายังท่าเรือ นาทับ ด้วยเงินลงทุน 44,100 ล้านบาท
จะมีการเวนคืนที่ดินตลอดแนวรางรถไฟข้างละ 25 เมตร ยาว 142 กิโลเมตร จะผ่านพื้นที่ 22 ตำบล ใน 8 อำเภอ ตัดขาดชุมชนที่อยู่สองฝั่งทางรถไฟ กีดขวางทางน้ำ ในฤดูน้ำหลาก ฝุ่นและเสียงจากการขนส่ง รถไฟสินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่ มีความเร็วสูง
การมีท่าเรือขนาดใหญ่ทั้ง 2 ฝั่งทะเลที่เชื่อมต่อด้วยรถไฟรางคู่นั้น จะชักนำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดแนวรางรถไฟในอนาคต
‘ท่อส่งน้ำมันข้ามคาบสมุทร’ ละงู-สิงหนคร โครงการระเบิดเวลาเงียบ
โครงการท่อส่งน้ำมันดิบข้ามคาบ สมุทร เริ่มต้นจากทุ่นขนถ่ายน้ำมันดิบที่ยื่น ออกไปในทะเล 37 กิโลเมตรทางตะวันตกของเกาะตะรุเตา เพื่อให้เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ขนถ่ายน้ำมันผ่านท่อแล้วเก็บใน ถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่บนบก 10 ลูก บน พื้นที่ 5,000 ไร่ บริเวณบ้านปากบางละงู ท่อส่งน้ำมันจะพาดอำเภอละงู ควนกาหลง รัตภูมิ ผ่านสี่แยกคูหาไปยังอำเภอควนเนียง ไปสู่อำเภอสิงหนคร
มีการเวนคืนพื้นที่ดินขนาด 10,000 ไร่ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร บริเวณบ้านรำแดง บ้านวัดขนุน บ้านป่าขวาง บ้านบ่อทราย เพื่อสร้างถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ถึง 50 ลูก แต่ละลูกเก็บน้ำมันนับล้านลิตร มีท่อส่งน้ำมันเชื่อมออกทะเลกว่า 20 กิโล เมตรในทะเลอ่าวไทย
ความเสี่ยงที่สำคัญคือ การระเบิด และไฟไหม้ถังน้ำมันขนาดใหญ่ การปนเปื้อนของคราบน้ำมันสู่ชุมชนและทะเลสาบ สงขลา ทำให้ส่งผลต่อนากุ้ง นาข้าว ตาลโตนด พื้นที่เกษตร ประมงพื้นบ้าน วิถีชุมชนแบบโหนดนาเลในพื้นที่สาบสูญอย่าง แน่นอน
‘นิคมอุตสาหกรรม’ ที่กำลังจะตามมา ร่องรอยที่ยังปกปิด
นิคมอุตสาหกรรม คือคำตอบที่จะตามมาหลังจากโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมหลักฐานชิ้นแรกคือภาพนิคมอุตสาหกรรม ที่ปรากฏในร่างเอกสารรายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของท่าเรือ น้ำลึกปากบาราเนื้อที่ถึง 150,000 ไร่ ดังแผนภาพที่แสดงไว้นี้
สำหรับพื้นที่จังหวัดสงขลา แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ปีนัง-สงขลา เพื่อใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ มีการวางแผนที่จะให้พื้นที่ของอำเภอจะนะ-นาหม่อม-สะเดา เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
‘มอเตอร์เวย์ทางด่วนหาดใหญ่-สะเดา’ เพื่อลำเลียงสินค้าอุตสาหกรรม
มอเตอร์เวย์ หรือทางด่วนหาดใหญ่-สะเดา เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียพร้อมให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2555 ทางด่วนมีระยะทาง 55 กิโลเมตร มีจุดพักสินค้าและพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่บ้านทับโกบ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในเนื้อที่ 990 ไร่
นี่เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ชัดว่าสงขลากำลังจะก้าวสู่อุตสาหกรรมหนักเช่นเดียวกับจังหวัดระยอง
‘เหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินสะบ้าย้อย’ ยังเดินหน้าไม่หยุด
ใต้ผิวดินของอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีถ่านหินจำนวนมากที่อยู่ในชั้นตื้น เป็นถ่านหินชนิดดีที่ให้ความร้อนสูงกว่าถ่านหินลิกไนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) จึงจับจ้องที่จะเปิดเหมืองถ่านหินและสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้
การเปิดเหมืองถ่านหินต้องย้ายชุมชนถึง 2 ตำบล คือ ตำบลสะบ้าย้อย และ ตำบลทุ่งพอ ประชาชนเดือดร้อน 17 หมู่บ้าน 20,000 คน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ สัตว์ป่า ดิน น้ำใส อากาศบริสุทธิ์ วิถีชีวิตที่พอเพียงและเกื้อกูลกันในชุมชนนั้นย่อมจะหมดไป หากมีการเวนคืนและย้ายคนพื้นที่ออกไปจำนวนเงินเท่าใดก็ไม่อาจชดเชย ได้จริง
‘ระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ’ และ ‘เขื่อนนาปรัง’ เพื่อใคร
โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการในแผน แม่บทลุ่มน้ำเทพา-นาทวี คำถามที่เป็นข้อคลางแคลงใจในพื้นที่คือ โครงการนี้เพื่อการระบายน้ำจริงหรือ หรือเพื่อการผันน้ำไปรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต อันใกล้กันแน่
เป้าหมายหลักคือ การสร้างเขื่อนที่บ้านนาปรัง ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขาน้ำค้าง มีการปรับปรุงและขุดคลอง 7 สาย ขุดคลองผันน้ำและคลองเชื่อมจำนวน 4 แห่ง
ชายฝั่งอ่าวไทยจะมีทั้ง ‘หลุมขุดเจาะน้ำมัน’ และ ‘โรงถลุงเหล็ก’
บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย ปัจจุบันมีแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมห่างจากฝั่งอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 30 กิโลเมตร สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 7,000 บาร์เรล/วัน และกำลังจะขุดเจาะจากแท่นผลิตบัวบานและแท่นผลิตเบญจรงค์เพิ่มอีก
หลังจากที่เริ่มขุดเจาะน้ำมันก็พบว่า มีการปนเปื้อนของน้ำมันใกล้แท่นขุดเจาะ สัตว์น้ำลดลง พบสารหนืดสีดำเป็นก้อนกระจายตัวในแนวกว้างตามริมชายฝั่งและชายหาด
อีกหนึ่งอภิมหาโครงการ คือโรงถลุงเหล็กและอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำที่อำเภอระโนด ในพื้นที่ 8,000 ไร่ พร้อมสะพานเทียบเรือขนถ่ายแร่เหล็กและถ่าน หินที่ยาวออกไปในทะเลกว่า 18 กิโลเมตร และมีการสูบน้ำจืดจากทะเลสาบสงขลามาใช้จำนวนมาก
หากไม่สามารถจัดหาที่ดินบนชายฝั่งได้ การถมทะเลก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ศึกษาไว้แล้ว
ปัญหาใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมคือ ไม่มีพื้นที่ใดยอมให้สร้างโรงถลุงเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สกปรก ทั้งจากแร่เหล็กและถ่านหิน หากคนพื้นที่ใดยินยอมก็จะรีบสร้างในพื้นที่นั้น และระโนดเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้
บทเรียนจาก ‘มาบตาพุด’ แล้ว ‘สงขลา-สตูล’ จะไปทิศทางใด
นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มสร้างในปี 2524 และขยายอย่างรวดเร็วจาก 4,000 ไร่ เป็น 20,000 ไร่ ในเวลา 20 ปี โรงงานเพิ่มขึ้นถึงปีละ 68 แห่ง ขาด ระบบการจัดการมลพิษที่ดี ส่งผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน จนระยองมีผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงที่สุดของประเทศ
‘เราต้องเป็นคนกำหนดอนาคตของตนเอง’
จังหวัดสงขลาและสตูลมีทุนที่หลาก หลาย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม มีผืนดิน อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและการบริการที่โดดเด่น ปัจจุบันผู้คนทั้ง 2 จังหวัดมีความสุข มีวิถีชีวิตพอเพียง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสมดุลระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และบริการ มีความเกื้อกูลกันของผู้คน และมีความหวัง ในอนาคต
ขอให้ประชาชนคนสงขลา-สตูลได้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อการตัดสินอนาคตของจังหวัดว่า เราจะเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวมาเป็นพื้นที่สีน้ำตาล หรือไม่ เป็นสิ่งที่คนสงขลา-สตูลต้องชี้ขาด ไม่ใช่การกำหนดโดยส่วนกลางในคราบการพัฒนา
ข้อมูลเหล่านี้ยังถูกปกปิด บิดเบือน เปิดเผยเพียงบางส่วนไม่เคยบอกประชาชน ให้เห็นทั้งหมด เพราะหากเห็นทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าเสียงคัดค้านจะดังเต็มพื้นที่อย่างแน่นอน
เราคนสงขลา-สตูล และคนไทยทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง เราต้องการวิถีชีวิตที่เป็นสุข สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี และสังคมที่เกื้อกูลกัน
“อุตสาหกรรมหนัก” คือโครงการที่ทำลายความหวังในการสร้างสังคมเป็น สุขของคนสงขลา-สตูล
|