ความตื่นตัวถึงทิศทางการพัฒนาของเครือข่ายภาคประชาชนบนแผ่นดินด้ามขวานเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เข้มแข็ง และคึกคักยิ่งเวลานี้ โดยเฉพาะคนภาคใต้ตอนล่างพื้นที่เป้าหมายสร้าง Land bridge เชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ได้หยิบแนวคิด Southern Seaboard ไปพินิจพิเคราะห์จนได้ข้อสรุปว่า รัฐกำลังเร่งผลักดันให้ “สงขลา-สตูล” ก้าวไปสู่ “จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก” ซึ่งจินตนาการได้ถึงการยกเอา “มาบตาพุด-สมุทรปราการ-แม่เมาะ” ไปรวมกันไว้ที่นั่น... แล้วอนาคตของลูกหลานจะเป็นอย่างไร?!
พร้อมๆ กับการกลับมายึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งของระบอบทักษิณ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่พรรค เพื่อไทยได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลและมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็คือน้องสาวคนสุดท้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง ภาพในจินตนาการของคนบนแผ่นดินด้ามขวานก็ผุดพรายไปด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะถูกหว่านกระจายไปทั่วพื้นที่
เนื่องเพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายว่าจะหว่านบรรดาเมกะโปรเจ็กต์ให้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินด้ามขวานไว้มาก มายหลากหลายโครงการ
เริ่มตั้งแต่บริเวณคอขวานที่อ่าว ก.ไก่ ด้านบนของอ่าวไทย รัฐบาลมีแผนจะถมทะเลสร้างเมืองใหม่ขนาดประมาณ 2 แสนไร่ ใช้เงินลงทุนมหาศาลราว 1.8 ล้านล้านบาท อันเป็นโครงการที่ถูกผลักดัน ขึ้นมาใหม่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยจำลองมาจากเมืองดูไบ ที่ต้องระหกระเหินหนีโทษทัณฑ์ไปอยู่ที่นั่น
ถัดจากนั้นลงไปเรื่อยๆ ตลอดแนวด้ามขวาน ไม่ว่าบนบกหรือในทะเลก็จะมีเมกะโปรเจ็กต์กระจายอยู่เต็มไปหมด อาทิ โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้า ถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานร่วมที่เน้นใช้ก๊าซ จากอ่าวไทย โครงการผันน้ำตาปี-พุมดวง เขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา มอเตอร์เวย์ข้ามชาติ เหมืองถ่านหิน การขุดเจาะอุโมงค์ลอดเขา การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน ท่อส่งน้ำมันข้ามคาบสมุทร อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ นานาอีกมากมายที่กระจายตัวอยู่ถ้วนทั่ว
แต่ที่ถูกเทน้ำหนักให้อย่างเป็นพิเศษ ก็คือเมกะโปรเจ็กต์ตามแผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) เชื่อม 2 ฟากทะเลในภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างจังหวัดสงขลาในฝั่งอ่าวไทยกับจังหวัดสตูลในฝั่งอันดามัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ได้แก่ การสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง โดยเชื่อมต่อกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ และระบบท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ เป็นต้น
ทั้งนี้ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” นี่แหละที่เครือข่ายภาคประชาชนเชื่อกันว่า รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณจะให้ความสำคัญกับการเร่งด่วนผลักดันให้เกิดเป็นจริงโดยเร็ว
เนื่องจากแลนด์บริดจ์จะเป็นตัวทะลุทะลวงให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ตามมามากมายทั่วทั้งแผ่นดินด้ามขวาน อันเป็นการสร้างภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะเป็นตัวช่วยเจาะฐานคะแนนเสียงของคนใต้ให้กับพรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสตีตื้นพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาบ้าง หลังจากที่ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาแทบไม่สามารถลงหลักปักหมุดให้ได้เสียง ส.ส.ในพื้นที่
มีสิ่งที่เชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะให้ความสำคัญมากที่สุดกับการเดินหน้าก่อสร้างแลนด์บริดจ์ในอัตราเร่งก็คือ เมื่อนำเมกะโปรเจกต์นี้ไปผนวกรวมกับนโยบายที่หาเสียงไว้ระหว่างเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งได้ประกาศไว้ว่าจะแจ้งเกิด “นครปัตตานี” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สิ่งนี้ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลจะเป็นเครื่องมือเสริม ที่สำคัญมากในการใช้ดับ “ไฟใต้” ที่เป็นเหมือนหอกข้างแคร่คอยทิ่มแทงระบอบทักษิณมานมนานหลายปีแล้วได้อีกด้วย
ดังนั้น เพียงแค่ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งจะก่อรูปเป็นตัวเป็นตน ยังแทบจะตั้งไข่ไม่ได้ด้วยซ้ำ เครือข่ายภาคประชาชนบนดินแดนด้ามขวานต่างๆ นับเนื่องตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ล่องเลยต่อเนื่องลงมายัง 14 จังหวัดภาคใต้ก็ได้นัดแนะ และกำหนดทำกิจกรรมร่วมกันอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการ “เพชรเกษม 41”
เป็นการออกมาประกาศชัดของเครือข่ายภาคประชาชน ถึงการต่อต้านการพัฒนาที่มากมายไปด้วยการลงทุนทำเมกะโปรเจ็กต์ อันจะนำมาซึ่งการพลิกผันให้ผืนแผ่นดินด้ามขวานกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดมหึมาแหล่งใหม่
ตามแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ได้ให้แต่ละเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ คิดกิจกรรมและเคลื่อนไหวกันเองก่อน จากนั้นจึงให้นำไปสู่การรวมตัวเคลื่อนไหวพร้อมกันครั้งใหญ่ ณ บริเวณวนอุทยานเขาพาง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2554 ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้แถลงนโยบายการพัฒนาประเทศต่อรัฐสภาเพียงวันเดียว โดยการแถลงนโยบายของรัฐบาลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม และไปสิ้นสุดในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ 2 จังหวัดเป้าหมายสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลจะมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักมากเป็นพิเศษ
สมยศ โต๊ะหลัง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล บอกเล่าให้ฟังว่า ก่อนถึงช่วงปฏิบัติการใหญ่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายฯ สตูลได้จัดกิจกรรมแพลงกิ้ง หรือการแกล้งตายบนชายหาดปากบาราในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านแลนด์บริดจ์ รวมถึงร่วมกันปกป้องชายหาดไม่ให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยมีกลุ่มเยาวชนและประชาชนเข้าร่วมนับร้อยคน
อีกทั้งในวันที่ 17 สิงหาคม วันเดียวกันนั้น เครือข่ายฯ สตูลก็ได้เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือต่อต้านแลนด์บริดจ์ให้วินัย ครุขุนทด ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อให้นำส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคมเคลื่อนขบวนไปยืนหนังสือต่อธานินทร์ ใจสมุทร ส.ส.เขต 1 จังหวัดสตูล พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้น วันที่ 20 สิงหาคมเคลื่อนขบวนไปยื่นต่อฮอซาลี ม่าเหร็ม ส.ส.เขต 2 จังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน
ขณะที่สุไรดะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา บอกเล่าว่า เครือข่ายฯ สงขลาได้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างแลนด์บริดจ์และท่าเรือน้ำลึก สงขลา 2 ต่อพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อให้ส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
สำหรับกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 นอกจากจะมีเวทีวิชาการว่าด้วยประชาชนต้องมีส่วนกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์ วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต อ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน และภารณี สวัสดิรักษ์ จากเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม เป็นวิทยากร นำอภิปรายแล้ว ยังมีการประกาศเจตนารมณ์ของผู้แทนเครือข่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมด้วย
แต่ที่ต้องถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญของปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ก็คือ การรวมพลังแพลงกิ้งบนท้องถนนด้านหน้าวนอุทยานเขาพางที่จังหวัดชุมพรนั่นเอง โดยมีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนหลายพันคนที่เข้าร่วมนอนแกล้งตายแบบตัวเหยียดตรงต่อเนื่องกันเป็นทิวแถวยาวสุดตาบนถนน 4 เลนอันเป็นเส้นทางสายหลักลงสู่ภาคใต้ ซึ่งภาพการทำกิจกรรมของภาคประชาชนนี้ได้รับความสนใจนำเสนอทางสื่อมวลชนจำนวนมาก
ภายหลังปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ครั้งใหญ่ในครานั้น เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดและชุมชนต่างๆ ได้พร้อมใจกันปฏิญาณว่าจะขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันต่อไป พร้อมๆ กับให้แต่ละเครือข่ายกลับไปจัดกิจกรรมที่เป็นอิสระของตนเอง แต่ให้สอดรับกับแนวทางของการเคลื่อนไหวในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ากุมอำนาจการบริหารประเทศได้อย่างเป็นทางการ ภายหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้เพียงประมาณเดือนเดียว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องเผชิญกับการท้าทายแบบร่วมกันของทุกเครือข่ายภาคประชาชนบนแผ่นดินด้ามขวานเป็นหนที่สอง
นั่นคือนับตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนเป็นต้นมาได้มีปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ครั้งใหม่ภายใต้หัวข้อ “เดินเท้าปักธงเขียว เกี่ยวก้อยกันบรรเลงเพลง พิทักษ์ปักษ์ใต้”
ทั้งนี้ สิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนกำหนดเป็นกิจกรรมสำคัญร่วมกันอีกคราครั้งก็คือ การรวมตัวกันเดินเท้ารณรงค์ไปทั่วพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์ที่มากมาย ไปด้วยปัญหาและมลภาวะบนแผ่นดินด้ามขวาน แต่ต้องการให้ประชาชนได้เป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง
เริ่มออกเดินเท้าก้าวแรกที่อำเภอ ปะทิว จังหวัดชุมพร ซึ่งมีการวางแผนว่าจะให้ขบวนเคลื่อนตัวไปได้วันละประมาณ 30 กิโลเมตร พร้อมกับช่วยกันระดมปักธงเขียวไปตลอดทางจนกว่าจะครอบคลุมทั่วพื้นที่เป้าหมาย แล้วไปสิ้นสุดที่หาดปากบาราจุดก่อสร้างท่าเรือแลนด์บริดจ์ฝั่งทะเลอันดามันที่จังหวัดสตูล
นอกจากนี้ก็จะมีช่วงเวลาแวะพักเป็นระยะ เพื่อให้ศิลปินชื่อดัง อาทิ หงา คาราวาน, แสง ธรรมดา, ซูซู, ตุด นาคอน และเพื่อนพ้องน้องพี่ได้เปิดคอนเสิร์ต รวมถึงให้ศิลปินแขนงอื่นๆ ที่เข้าร่วมเปิดการแสดงเพื่อรณรงค์เรื่องการพิทักษ์รักษาทรัพยากรในแผ่นดินภาคใต้ที่กำลังจะถูกทำลาย
อย่างไรก็ดี สมยศ โต๊ะหลัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่เครือข่ายภาคประชาชน บนพื้นแผ่นดินด้ามขวานใช้ชื่อปฏิบัติการว่า “เพชรเกษม 41” ก็เพื่อต้องการใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งสายหลักและสำคัญที่สุดของพื้นที่ภาคใต้เป็นสัญลักษณ์และสร้างนัยของกิจกรรมขึ้น
เป็นการเอาชื่อถนน 2 สายมาผสมกันคือ “ถนนเพชรเกษม” กับ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นถนน 4 เลนที่เชื่อมต่อกันแบบต่อเนื่อง ถือเป็นแนวเส้นทางสายหลักที่ตรงที่สุดจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่แผ่นดินภาคใต้
สำหรับถนนเพชรเกษมมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอีกชื่อหนึ่งว่า ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภาคใต้ หรือที่มักเรียกกันติดปากว่าถนนสายเอเชียนั่นเอง มีจุดเริ่มต้นที่วงเวียนใหญ่ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วเมื่อถึงจังหวัดชุมพรที่สี่แยกปฐมพร เลี้ยวขวาไปทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกเข้าจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง แล้วเข้าสู่สี่แยกท่ามิหรำที่จังหวัดพัทลุง ก่อนไปสิ้นสุดในเขตแดนไทยที่อำเภอ สะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งถนนสายนี้ยังเชื่อมต่อเข้าไปยังประเทศมาเลเซียและเลยไปถึงได้ประเทศสิงคโปร์
ส่วนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 มีจุดเริ่มที่สี่แยกปฐมพรในจังหวัดชุมพรแล้วล่องลงใต้ผ่านอำเภอสวี ทุ่งตะโก หลังสวน และละแม แล้วเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอท่าชนะ ผ่านไชยา ท่าฉาง พุนพิน บ้านนาเดิม บ้านนาสาร และเวียงสระ จากนั้นเข้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่อำเภอฉวาง ผ่านไปยังนาบอน ทุ่งสง ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ และชะอวด ก่อนที่จะเข้าสู่จังหวัดพัทลุงที่อำเภอป่าพะยอม ผ่านควนขนุน และไปสิ้นสุดแบบบรรจบกับถนนเพชรเกษมที่สี่แยกท่ามิหรำในอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
“เมื่อเพชรเกษม 41 คือเส้นทาง 2 สายที่เชื่อมต่อเป็นถนน 4 เลนสายหลักที่วิ่งตรงที่สุดจากกรุงเทพฯ ล่องลงสู่ภาคใต้ จึงไม่ต่างอะไรจากเส้นทางสายอำนาจจากศูนย์กลางเมืองหลวงที่ทิ้งดิ่งลงสู่ผืนแผ่นดิน ด้ามขวาน จึงถือเป็นถนนสายที่สามารถทำให้คนปักษ์ใต้รู้สึกถึงความรื่นรมย์และชื่นชมก็ได้ หรืออาจจะแปรเปลี่ยนเป็นขมขื่นและอกตรมก็เป็นได้เช่นกัน” สมยศ โต๊ะหลัง กล่าวและเสริมว่า
“หากทิศทางการพัฒนาของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณจะยังเป็นแบบโถมถมเมกะโปรเจ็กต์ที่ไม่ใช่ความต้องการของคนด้ามขวานลงไปอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายภาคประชาชนจึงเชื่อว่าต่อไปถนนสายนี้ก็คงไม่ต่างอะไรจากเส้นทางที่ถูกกลุ่มทุนใหญ่ ทั้งไทยและเทศใช้ช่วงชิงทรัพยากรจากคนในท้องถิ่นนั่นเอง”
ความจริงแล้วการใช้สัญลักษณ์ “เพชรเกษม 41” เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่เดือนมานี้ แต่ต้องนับว่ามีความซับซ้อนและเข้าใจยากกว่า “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” เสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็จะถูกใช้เป็นช่องทางเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากท้องถิ่นของทุนใหญ่ในแบบเดียวกัน
เนื่องจากแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ประกาศว่าจะรุกก้าวให้ก่อสร้างมาแล้วนับสิบปี และหลายรัฐบาลที่ผ่านๆ มาต่างก็เดินหน้าขับเคลื่อน ด้วยความเข้มข้นมาตลอด
อีกทั้งในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชน แวดวงผู้คนในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐเอง รวมถึงบรรดานักวิชาการทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างได้นำโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไปถกแถลงกันแล้วอย่างกว้างขวาง จึงถือว่าเป็นที่รับทราบกันแพร่หลาย
นอกจากนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อนรัฐเองก็เคยทุ่มเงินหลายหมื่นล้านบาทสร้าง “ถนนแลนด์บริดจ์” เชื่อมระหว่างจังหวัดกระบี่กับอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นคิดว่าจะให้ เป็นส่วนประกอบของแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ตอนกลาง อันเวลานี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่ชี้ให้เห็นความไม่คุ้มค่ามาแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจให้ก่อสร้างแลนด์บริดจ์เส้นใหม่ โดยเลื่อนลงมายังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอย่างเวลานี้
ทว่า พร้อมๆ กับที่สังคมไทยได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นกุมบังเหียนอำนาจรัฐ อันถือเป็นนอมินีชุดใหม่ของระบอบทักษิณ ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนบนผืนแผ่นดินด้ามขวานออกมาเคลื่อนไหวด้วยเป็นห่วงทิศทางการพัฒนาประเทศชาตินั้น ก็ได้มีคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่หยิบยกเอาแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล รวมถึงเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ภายใต้แนวคิดโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดไปพินิจพิจารณาและวิเคราะห์ครั้งใหม่ไว้อย่างเป็นระบบ
โดยแค่ห้วงเวลาเพียงกว่าเดือนมานี้เอง กลุ่มคนกลุ่มนี้ก็ได้ผลิตเอกสารชี้แจง ความจริงเกี่ยวกับแลนด์บริดจ์และเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูลออกแจกจ่ายอย่างแพร่หลาย พร้อมกับชี้ประเด็นแบบชัดเปรี้ยงลงไปตรงๆ เลยว่า...
สงขลา-สตูลกำลังจะก้าวไปสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก
ที่จริงกลุ่มคนที่รวมตัวกันศึกษาและ จัดทำเอกสารชี้แจงความจริงเกี่ยวกับแลนด์ บริดจ์สงขลา-สตูล รวมถึงเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ อย่างที่ว่า ก็คือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัดเป้าหมายของการก่อสร้างนั่นแหละ
มีทั้งที่เป็นบุคลากรในภาครัฐ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่าย ภาคสังคม และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนลงตัวทั้งในรูป ของความร่วมมือทางข้อมูล ด้านงานวิชาการ และที่สำคัญคือการจัดหาแหล่งทุนสนับสนุน โดยตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาใหม่ใช้ชื่อว่า...”คณะทำงานหยุดการพัฒนาสงขลา-สตูล สู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กรรมการชมรมแพทย์ชนบท และคีย์แมนคนสำคัญของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลกับผู้จัดการ 360 ํ ในฐานะที่เป็น 1 ในคณะทำงานชุดที่ตั้งขึ้นใหม่ชุดนี้ว่า เอกสารชี้แจงความจริง เป็นการรวบรวมข้อมูลเมกะโปรเจ็กต์ ที่รัฐกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ สามารถกล่าวได้ว่าไม่เคยมีการเปิดเผยในลักษณะนี้ที่ไหนมาก่อน
สำหรับเอกสารชี้แจงความจริงสงขลา-สตูลกำลังจะก้าวไปสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มสวยงามเห็นแล้วสะดุดตาและน่าตื่นใจไปพร้อมๆ กันด้วยระบบออฟเซ็ต 4 สีบนกระดาษอาร์ตมันอย่างดี โดยมี 2 รูปแบบคือ เล่มบางขนาด A4 เป็น การสรุปโครงการขนาดใหญ่อย่างชี้ประเด็นกระชับ และเล่มหนาหน่อยขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กที่ให้ข้อมูลค่อนข้างละเอียด
“จากเอกสารชี้แจงความจริงที่ให้ข้อมูลเมกะโปรเจ็กต์ไว้อย่างเป็นระบบนี้ ทำให้ผมสามารถจินตนาการต่อได้ว่า ต่อไปแผ่นดินของทั้งจังหวัดสงขลาและสตูลจะถูกพัฒนา แบบหยิบยกเอาเมืองหรือแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มารวมกันไว้ ที่เห็นชัดเจนก็มาจาก 3 ที่ ได้แก่ มาบตาพุดที่ระยอง สมุทรปราการ และแม่เมาะที่ลำปาง”
นพ.สุภัทรขยายภาพในจินตนาการให้ฟังว่า อุตสาหกรรมหลักที่รัฐต้องการให้ตาม มากับแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ก็คืออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งถูกตั้งขึ้นที่ภาคตะวันออกไปแล้ว 3 เฟส แต่ปัจจุบันไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีก ดังนั้น ตั้งแต่เฟส 4 เป็นต้นไปจะถูกผลักดันให้ลงมาอยู่ที่ภาคใต้ โดย 2 จังหวัดนี้ถือเป็นเป้าหมายหลัก
นั่นจึงไม่ต่างอะไรจากการหยิบยกเอามาบตาพุดเข้ามาไว้
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เอื้ออำนวย อุตสาหกรรมเกษตรที่ลงหลักปักฐานใน 2 จังหวัดนี้อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันอยู่กระจัด กระจายไปทั่วพื้นที่ ต่อไปก็ยิ่งจะขยับขยาย แตกฉานซ่านเซ็นมากยิ่งขึ้นไปอีก
นั่นก็จะไม่ต่างอะไรจากการหยิบยก เอาสมุทรปราการเข้ามาเติม
นอกจากนี้แล้ว เมื่อรัฐบาลชุดเร่งเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ในภาคใต้ การหาแหล่งพลังงานรองรับจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในภาคใต้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ จึงต้องเดินหน้าต่อทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีกหลายแห่ง เมื่อไม่กี่ปีมานี้จึงได้เห็นแผนฟื้นการผลักดันให้เปิดเหมือง ถ่านหินที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นั่น
ซึ่งหากเป็นผลสำเร็จก็จะเหมือนหยิบยกเอาแม่เมาะมาผสมโรงไว้ด้วย
“สิ่งที่ยืนยันว่าอีกไม่กี่ปีสงขลา-สตูลจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก ดูได้จากพื้นที่อุตสาหกรรมที่มาบตาพุดเริ่มจากราว 4,000 ไร่ เวลานี้ขยายเต็มที่แล้วก็ยังเพียงกว่า 20,000 ไร่ แต่ที่สงขลาโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ขอใช้ที่เพิ่มแห่งละเกือบ 1,000 ไร่ โรงถลุงเหล็กจะเอา 8,000 ไร่ โรงกลั่นน้ำมัน 10,000 ไร่ แล้วยังเตรียม ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมไว้อีกนับหมื่นนับแสนไร่ ส่วนที่สตูลเตรียมไว้ให้น้ำมัน 5,000 ไร่ แถมอีกกว่า 150,000 ไร่เพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมด้วย” นพ.สุภัทรกล่าวและว่า
ภาคใต้หรือแม้แต่จังหวัดสงขลา-สตูล ปัจจุบันมีการพัฒนาอยู่บนฐานทรัพยากรของท้องถิ่น ทั้งด้านการเกษตร การค้า การท่องเที่ยวและการบริการ แม้จะมีอุตสาหกรรม บ้างแต่ยังไม่มากนัก การจะพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักนับว่ามีศักยภาพรองรับได้ แต่ควรจะให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ เรื่องนี้ต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนตัดสินใจด้วย
หมอที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานหยุดการพัฒนาสงขลา-สตูลสู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก กล่าวด้วยว่า 2 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และสิ่งนี้ไปกันไม่ได้เลยกับการทำให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก เรื่องนี้มีการพิสูจน์ไว้เป็นที่ประจักษ์แล้ว อีกทั้งการท่องเที่ยวหรือการพัฒนาบนฐานทรัพยากรก็สามารถ พัฒนาได้อย่างยั่งยืนด้วย ขณะที่อุตสาหกรรมหนักอยู่ได้เพียงไม่กี่สิบปี
“อีกอย่างที่รัฐบาลบอกว่าสร้างแลนด์บริดจ์แล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น ที่สำคัญจะเป็น การช่วยดับไฟใต้ด้วยนั้น ต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่า การใช้ชีวิตในสังคมอุตสาหกรรมไม่สอดคล้องกับวิถีมุสลิม ดังนั้นการดันสร้างแลนด์บริดจ์และเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ อาจจะเป็นการราดน้ำมันดับไฟใต้ก็เป็นได้”
ขณะที่ไกรวุฒิ ชูสกุล ฝ่ายบริหารการตลาดบริษัท หลี่เป๊ะ เฟอรี่ แอนด์ สปีดโบ๊ท จำกัด ในฐานะแกนนำในพื้นที่เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ให้ความเห็นกับผู้จัดการ 360 ํ โดยมองเห็นภาพอนาคตของจังหวัดสตูลหลังถูกทำให้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักว่า เมื่อถึงเวลานั้นธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดหลัก ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่น่าจะแทบไม่มีเหลือหลอ
ไกรวุฒิยืนยันหนักแน่นว่า จังหวัดสตูลมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งยิ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณค่ามากมายเกินกว่าที่จะเอาอุตสาหกรรมหนักเข้าไปทำลาย
สิ่งนี้ยืนยันได้จากพื้นที่ตอนบนของจังหวัดสตูลนั้น ซีกหนึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทะเลบัน ซึ่งเป็น 1 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จากพื้นที่สูงได้ทอดตัวลงมา เรื่อยๆ สู่คาบสมุทร จะเห็นขุนเขา เทือกสวน ไร่นา แม่น้ำ น้ำตก ผืนป่า รวมถึงสัตว์ป่า นานาชนิด
ก่อนถึงทะเลที่อำเภอละงู จะมีป่าโกงกางทอดตัวกั้นอยู่ จากนั้นเป็นทะเลน้ำตื้นที่มีเกาะแก่งน้อยใหญ่ถูกจัดวางไว้อย่างลงตัว อันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ถัดไปเป็นทะเลลึกแต่ก็ยังมีเกาะแก่งขนาดใหญ่สวยงาม คืออุทยานแห่งชาติตะรุเตา
อีกสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีคือ จังหวัดสตูล ยังมีพืชและสัตว์ที่ต้องนับว่าหาได้ยากยิ่งจากแผ่นดินอื่นๆ อาทิ ปูทหารยักษ์บนหาดปากบาราที่จะถูกสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึก แม้จะเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่มีอยู่นมนานแล้ว แต่ก็เพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง หรือ อย่างกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ขาวสตูล พบอยู่บนเกาะเขาใหญ่และเกาะลิดีในจังหวัดสตูล ถือเป็นหนึ่งเดียวของไทยและไม่เคยมีการค้นพบที่ไหนมาก่อน
นอกจากนี้แล้วก็มีนกชาปีไหนหรือนกซาฟีไหน พบที่บริเวณเกาะบูโหลน เป็นนกที่ถูกขึ้นทะเบียนไว้ในสนธิสัญญาไซเตส ปลาโลมา ปลาพะยูน ปลากระเบนแมนต้าหรือปลากระเบนราหู ฉลามวาฬ รวมถึงวาฬแคระที่ทุกๆ หน้าแล้งจะอพยพจากมหาสมุทรอินเดียผ่านน่านน้ำจังหวัดสตูลที่บริเวณหมู่เกาะเภตรา เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี เป็นต้น
“เอาแค่สภาพทางภูมิศาสตร์เราจะหาแผ่นดินไหนมีความสวยงามลงตัวแบบนี้ได้บ้าง หรือในท้องทะเลก็เป็นที่กล่าวขานกันว่าไม่มีพื้นที่ไหนเทียบเท่าได้ อย่างปะการังทั่วโลกมีอยู่ร่วมกว่า 300 ชนิด แต่ในทะเลของจังหวัดสตูลก็มีถึงกว่า 200 ชนิด นี่ยังไม่นับรวมปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ที่ก็มากมายหลากหลายไม่แพ้กัน” ไกรวุฒิกล่าว
แกนนำในพื้นที่เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการโถมถมเมกะโปรเจ็กต์ลงไปในท้องถิ่นว่า แค่ยังไม่ต้องคิดถึง เรื่องของอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ที่จะถูกหว่านโปรยลงมา เอาแค่โครงสร้างพื้นฐานในส่วนของแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เรื่องนี้ก็ต้องนับว่าหนักหนาแน่นอน
เริ่มจากในส่วนของท่าเรือน้ำลึกปากบารา แค่เฟสแรกก็จะสร้างแท่งคอนกรีตขนาด มหึมากลางทะเลบริเวณอ่าวปากบาราที่มีชื่อเสียง โดยแท่งคอนกรีตมีความยาวถึง 1.1 กิโลเมตร กว้าง 430 เมตร และยังต้องสร้างสะพานคอนกรีตเชื่อมเข้าหาฝั่งอีกด้วยความยาว 4.3 กิโลเมตร ซึ่งส่วนนี้จะเป็นทั้งถนนให้รถวิ่งและมีเส้นทางรถไฟรางคู่อยู่ด้วย
การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารานี้จะต้องขอยกเลิกพื้นที่แบบชนิดต้องเจาะไข่แดงเป็นวงใหญ่ ทั้งในส่วนของตัวท่าเรือและสะพานเชื่อมเข้าหาฝั่ง โดยต้องกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเป็นพื้นที่กว่า 4,700 ไร่ ในส่วนของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา แม้ไม่มีการขอใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องสูญเสียให้กับเส้นทางเดินเรือสินค้าเข้า-ออกด้วยเช่นกัน เหล่านี้ยังไม่นับรวมมลพิษและมลภาวะทางทะเลที่จะตามมากับกิจกรรม ขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมผ่านท่าเรือแห่งนี้
ในส่วนของถนนในรูปแบบของมอเตอร์เวย์ และเส้นทางรถไฟรางคู่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะต้องสร้างต่อจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปอีกราวๆ 150 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อีกทั้งการวางท่อน้ำมันและก๊าซข้ามคาบสมุทรด้วยนั้น นอกจากต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้านแล้ว บางส่วนต้องผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดด้วย ซึ่งก็ต้องกระทบกับชุมชนและธรรมชาติบนบกอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากรวมเอาพื้นที่เตรียมไว้ทำนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมต่างๆ อีกกว่า 150,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 อำเภอคือ อำเภอละงู อำเภอมะนัง และ อำเภอควนกาหลง เวลานี้เพิ่งมีข่าวว่ากำลังมีกลุ่มทุนยักษ์ขอสัมปทานเหมืองทองคำอีกนับแสนไร่ เช่นนี้แล้วทิศทางการพัฒนาของจังหวัดสตูลในอนาคตจะสาหัสสากรรจ์แค่ไหน
เมื่อแผ่นดินปลายด้านขวาน โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาและสตูลถูกกำหนดให้ เป็นพื้นที่รองรับการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ อันเป็นไปตามแนวคิดโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งจะตามติดไปด้วยการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆ อีกมากมาย
จนคาดการณ์กันได้ว่าอีกไม่ช้านาน หรืออาจจะ 5 ปี 10 ปีนี้ บนแผ่นดินของ 2 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จะกลายเป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมหนักนั้น
หากเป็นเช่นนั้นจริง การเกิดขึ้นของแลนด์บริดจ์ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากการทำให้เกิดสิ่งที่ต้องเรียกว่า สงขลา-สตูลกำลังจะเกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบพลิกฟ้าพลิกดินเลยทีเดียว
สิ่งนี้ทำให้ต้องคิดเผื่อไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานว่า แล้วจะอยู่กันอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าพลิกดินมาถึง?!
|