Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2529
ยิบอินซอย...กำเนิดจาก 3 ตระกูลที่มีสายโยงใยกับหลายตระกูลเศรษฐี             
 


   
search resources

ยิบอินซอย, บจก.
Financing
ยิบอินซอย




เมื่อ 71 ปีก่อนนั้นหนุ่มไฟแรงที่ชื่อนายยิบอินซอยได้เข้าไปบุกเบิกมาเลเซีย เพื่อเอาวิชาการวิเคราะห์แร่มาเผยแพร่ในประเทศไทยได้สำเร็จเป็นคนแรก นับเป็นการเปิดประตูของอุตสาหกรรมเมืองแร่ในประเทศไทย ต่อจากนั้นกลุ่มยิบอินซอยก็ได้สร้างอุตสาหกรรมทอกระสอบขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีก และยังมีอีกหลาย ๆ อย่างที่กลุ่มนี้ได้สร้างเอาไว้

ถึงวันนี้ยิบอินซอยก็สามารถขยายอาณาจักรการค้าเข้าไปในทุกวงการ ทำการขายทุกอย่างที่ขวางหน้าไปจนถึงธุรกิจการเงิน แม้จะไม่มีคนที่ชื่อยิบอินซอยอยู่แล้วก็ตาม

ชื่อยิบอินซอยนั้นเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยมาก

คุ้นหูเพราะความที่เป็นตระกูลพ่อค้าเก่าแก่ตระกูลหนึ่ง และคนในวงการอาจจะคุ้นหูเพราะชื่นชมในผลงานศิลปะของศิลปินวัยเฉียด 80 ที่มีชื่อ มีเซียม ยิบอินซอย ส่วนสิ่งที่คุ้นกันมากที่สุดก็เห็นจะในฐานะบริษัทการค้าซึ่งมีอายุเป็นครึ่งศตวรรษอย่างไม่ต้องสงสัย

บริษัทยิบอินซอยและกิจการในเครือทั้งหลายนั้นก่อร่างกันขึ้นมาจากคน 3 ตระกูล คือ ยิบอินซอย จูตระกูล และลายเลิศ โดยทั้ง 3 ตระกูลนี้เกี่ยวดองเป็นญาติกัน

ยิบอินซอยคือนายยิบอินซอย ซึ่งเสียชีวิตไปกว่า 10 ปีแล้ว

ส่วนจูตระกูลคือ นายชู จูตระกูล คู่เขยของนายยิบอินซอย และลายเลิศคือนายเลนำคิน พ่อตาของนายยิบอินซอยและนายชู จูตระกูล ซึ่งมีลูกชายคือนายฉันท์ ลายเลิศ น้องชายของมีเซียม ยิบอินซอย และมีเลียม จูตระกูล หรือนัยหนึ่งนายฉันท์ ลายเลิศ ก็คือน้องภรรยาของนายยิบอินซอยและนายชู จูตระกูล นั่นเอง

ก็อีนุงตุงนังพอหอมปากหอมคอ

บริษัทยิบอินซอย จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2473 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 20 ล้าน มียอดขายเอาปีใกล้ ๆ นี้ราว ๆ 300 ล้านบาท พนักงาน 350 คน มีบริษัทในเครือที่นอกเหนือจากบริษัทยิบอินซอย...บริษัทแม่อีก 3 บริษัท คือ บริษัทยิบอินซอยแอนด์แย๊คส์ บริษัทไทยแลนด์คอมพิวเตอร์ เซ็นเตอร์ และบริษัทซิกซันส์ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด และเข้าร่วมถือหุ้นอยู่ก็มี เช่น บริษัทบางชัน เยนเนอรัล แอสเซมบลี่ (โรงงานประกอบรถยนต์บางชัน) บริษัทบลูไซเคิลโปรดักส์ (ประเทศไทย) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร บริษัทเยนเนอรัลเอ็นยิเนียริ่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ บริษัทโรงงานทอกระสอบสีคิ้ว (สีคิ้วจูตมิล) บริษัทเทพพาณิชย์ บริษัทยูนิเวอร์แซลมอเตอร์ และบริษัทเงินทุนยิบอินซอยเงินทุน เป็นต้น

ซึ่งถ้าแบ่งเป็นสายแล้ว เครือข่ายของบริษัทยิบอินซอยก็จะกระจายอยู่ในสายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำด้านนำเข้าและส่งออก สายการเงินและสายอุตสาหกรรม โดยที่เป็นกิจกรรมเด่นๆ ก็คือด้านรถยนต์และโรงงานทอกระสอบ

ด้วยเหตุนี้กระมังที่คนทั้งหลายมักจะพูดว่า ยิบอินซอยนั้นค้าขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ หรือขายทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นแบบฉบับที่ไม่เหมือนใครและไม่ค่อยมีใครเหมือน

โดยเฉพาะสายการเงินนั้น ก็ยิบอินซอยนี่เองที่ทำหน้าที่เป็น "กัมประโด" ใน 25 จังหวัดทางภาคใต้และภาคอีสานให้กับธนาคารนครหลวงไทย และภาคอีสานให้กับธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ก่อนที่ระบบธนาคารสาขาจะถูกประกาศใช้ตาม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ เมื่อปี 2516

ก่อนที่จะขยายอาณาจักรยิบอินซอยมาจนถึงปัจจุบันนี้ กลุ่มยิบอินซอยเริ่มสร้างตัวมาจากธุรกิจเหมืองแร่ก่อน ความจริงแล้วต้องเรียกว่าเริ่มทำธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งบริษัทยิบอินซอยด้วยซ้ำไป เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ยิบอินซอยแอนด์โก ถูกตั้งขึ้นก่อนแล้วที่หาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2468 และการเข้ามาทำธุรกิจเหมืองแร่นั้นคงจะต้องยอมรับกันว่าเป็นเพราะนายยิบอินซอยซึ่งเป็นผู้บุกเบิกคนแรกนั้น เป็นคนที่ฉลาดและรู้จักมองการณ์ไกลอย่างยิ่ง

ในขณะนั้นปีนังได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางซื้อขายและถลุงแร่ใหญ่มากที่สุดสำหรับประเทศไทยแล้วแม้ว่าจะมีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์มากทางภาคใต้ก็ตาม แต่คนไทยในตอนนั้นไม่มีความรู้ในเรื่องแร่เลย จึงค่อนข้างจะเสียเปรียบในเชิงการค้ากับปีนังอยู่มาก และในขณะเดียวกันพ่อค้าชาวปีนังก็ไม่ยอมสอนเชิงการค้าแร่ให้คนต่างชาติด้วย

นายยิบอินซอยหลังจากศึกษาจบจาก LINGMAN UNIVESITY ประเทศจีนแล้วก็ได้กลับเมืองไทยเพื่อช่วยนายยับหลงผู้บิดาคุมงานรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายปราจีนบุรี จากการเป็นหนุ่มไฟแรงหลังจากช่วยบิดาทำงานอยู่ได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตัดสินใจเดินทางไปบุกเบิกภาคใต้ ดินแดนที่อุดมด้วยแร่ธาตุ โดยในตอนแรกได้พยายามศึกษาเรียนรู้เรื่องแร่จากปีนังก่อน จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ

"ในสมัยนั้นเรายังมีฝรั่งเป็นที่ปรึกษาการโลหกิจ การซื้อขายแร่อยู่ในมือโรงงานถลุงแร่ที่ปีนัง เรื่องการวิเคราะห์แร่ดีบุกยังเป็นความลับของโรงถลุงอยู่ และนายยิบก็ไปเอาความลับมาได้โดยเป็นผู้รับซื้อแร่ส่งไปขายโรงถลุง นายยิบจัดเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างกรมโลหกิจกับตลาดแร่อย่างดี สิ่งที่เราเคยเข้าไปไม่ถึงนายยิบก็เป็นสะพานทอดให้ข้ามไป" วิชา เศรษฐบุตร อดีตอธิบดีกรมโลหกิจ (กรมการเหมืองแร่) ได้เคยเขียนกล่าวถึงวิธีการและชมเชยนายยิบอินซอยเอาไว้ในเรื่องการบุกเบิกเหมืองแร่

หลังจากที่ไปดูลู่ทางทางด้านซื้อขายแร่มาแล้วว่าจะต้องมีอนาคตที่สดใส นายยิบอินซอยก็มีความคิดที่จะทำกิจการด้านนี้ แต่เนื่องจากจะต้องใช้เงินทุนมาก นายยิบอินซอยจึงได้ชักชวนญาติ ๆ มาตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลยิบอินซอยแอนด์โกขึ้นในปี 2468 ที่หาดใหญ่ มีหุ้นส่วนคือ นายยิบอินซอย นายเลนำคิน และชู จูตระกูล ต่อมาในปี 2473 ก็จดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทยิบอินซอย จำกัดขึ้น และอีก 2 ปีต่อมาก็ย้ายมาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน

กิจการเริ่มแรกคือการซื้อแร่ดีบุกจากบรรดาเหมืองต่าง ๆ ในภาคใต้ ส่งไปขายยังโรงถลุงที่สิงคโปร์ โดยมีจุดรับซื้อที่หาดใหญ่ สงขลา ทุ่งสง บ้านดอน และส่งไปยังปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์

จากกิจการซื้อขายแร่ในระยะเริ่มแรกต่อมาก็ได้ขยับขยายไปด้านตลาดส่งสินค้าออก เช่น ไม้สัก ยางพารา สินค้าพื้นเมืองทุกชนิด ไปจนถึงการทำเหมืองด้วยตัวเอง การค้าเครื่องจักรที่เกี่ยวกับเหมือง เป็นต้น

จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทยิบอินซอยก็ได้ มร. พอล แลมซ์ซีซ์ ฝรั่งชาวเยอรมันเข้ามาร่วมผนึกกำลังขยายฐานของยิบอินซอยให้กว้างขึ้นไปอีก

"คุณแลมซ์ซีซ์เป็นเพื่อนกับคุณยิบและคุณชู เข้ามาอยู่แถบเอเชียตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ ตอนหลังจึงมาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย มีกิจการค้าขายกับต่างประเทศก่อนสงคราม แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว เพราะเขาเป็นคนเยอรมันที่แพ้สงครามก็ถูกริบทรัพย์สิน คุณยิบจึงชวนเข้ามาอยู่ตั้งแต่นั้นมา ทุกคนในยิบอินซอยก็เคารพนับถือเหมือนญาติคนหนึ่ง ทุกวันนี้อายุมากแล้ว แต่ก็ยังมาช่วยงานของบริษัท โดยเป็นที่ปรึกษา" แหล่งข่าวในยิบอินซอยเล่าประวัติของ มร. แลมซ์ซีซ์ให้ทราบ

จากประสบการณ์ที่เคยทำธุรกิจสั่งเข้าสินค้าต่างประเทศมาก่อน เมื่อ มร. แลมซ์ซีซ์ได้เข้ามาอยู่กับยิบอินซอย บริษัทฯ ก็เริ่มเปิดกิจการเกี่ยวกับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์เบอร์โร่ว์ ปุ๋ยตราใบไม้ สีซิสซันส์ เครื่องจักรกล ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เช่น นมผงเด็กอ่อน ผลิตภัณฑ์สามเอ็ม เบียร์เยอรมัน ฯลฯ

ในช่วงนั้น 3 ขุนพลของยิบอินซอยจะรับหน้าที่ไปคนละด้าน คือ

นายยิบอินซอยจะดูแลด้านเหมืองแร่ ซึ่งเคยบุกเบิกมาก่อน

ชู จูตระกูล รับผิดชอบด้านการลงทุน

ส่วน มร. แลมซ์ซีซ์ รับผิดชอบด้านการค้ากับต่างประเทศ

ลักษณะการค้าของยิบอินซอยในสมัยก่อนนั้นนิยมขายสินค้าให้ครบวงจร เช่น เริ่มจากการทำเหมืองแร่ ต่อมาก็มีการสั่งเข้าเครื่องจักรในการขุดแร่ หรือในวงการเกษตรที่ยิบอินซอยเข้าไปเปิดตลาดด้วยการสั่งเข้าปุ๋ยตราใบไม้ เมื่อสินค้าติดตลาดแล้วก็เริ่มขยายแนวออกไปอีกโดยสั่งเข้ายากำจัดแมลง รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการทำนา เป็นต้น

ดังนั้นจึงเห็นว่าลักษณะการค้าของยิบอินซอยจะขายสินค้าทุกประเภท

ปี 2509 ยิบอินซอยก็เริ่มขยายธุรกิจออกไปอีก โดยจับมือกับบริษัทวิลเลียม แจ๊คส์ ซึ่งเป็นบริษัทของอังกฤษมาค้าขายในมาเลเซีย ตั้งเป็นบริษัท ยิบแอนด์แย๊คส์ จำกัดขึ้นมา เพราะยิบอินซอยเล็งเห็นว่าบริษัทวิลเลียมแจ๊คส์มีประสบการณ์ด้านการค้ากับต่างประเทศมากจะสามารถช่วยเหลือในด้านการค้าแร่ได้ เมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจกันบริษัทยิบอินซอยก็ย้ายสินค้าของเอเย่นต์บางตัวให้มาอยู่บริษัทใหม่ แต่เมื่อร่วมงานกันได้นานพอสมควรยิบอินซอยเห็นว่าไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ ในปี 2515 จึงซื้อหุ้นทั้งหมดของวิลเลียมแจ๊คส์กลับมาดำเนินการเอง

ยิบอินซอยไม่เพียงแต่จะทำการสั่งเข้าสินค้าจากต่างประเทศเท่านั้น ในเวลาต่อมาก็มีนโยบายจะทำการผลิตเองด้วย "คือเราไม่ชอบที่จะค้าขายอย่างเดียว เราชอบที่จะสร้างอะไรให้กับสังคมด้วย เพราะถ้าคิดจะค้าขายอย่างเดียวเพื่อเอากำไรก็ไม่ดีแน่" เทียนชัย ลายเลิศ กรรมการของบริษัทฯ ให้เหตุผลในแนวนโยบายของบริษัท

ดังนั้นสินค้าหลายตัวที่ยิบอินซอยเคยสั่งเข้ามาขายในตอนแรก ๆ ก็เริ่มทำการผลิตขึ้นเองเป็นอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น การตั้งโรงงานสียี่ห้อซีสซันส์ เป็นสีที่ใช้ในอุตสาหกรรมและสีทาบ้าน ซึ่งแต่เดิมบริษัทยิบอินซอยเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับบริษัท ซิสซันส์ บราเดอร์ เพ้นท์ ประเทศอังกฤษ ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เกิดขึ้น จึงได้ชักชวนให้บริษัทแม่ในอังกฤษมาร่วมหุ้นกันตั้งโรงงานในประเทศไทย มาภายหลังบริษัทแม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปทำธุรกิจด้านอื่น ยิบอินซอยจึงซื้อหุ้นทั้งหมดขึ้นมาเป็นของบริษัท

หรือผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ยิบอินซอยในยุคแรกภูมิใจมากก็คือ เป็นผู้สร้างอุตสาหกรรมทอกระสอบให้ประเทศไทยได้สำเร็จ

ในสมัยก่อนนั้นประเทศไทยยังต้องสั่งซื้อกระสอบมาจากต่างประเทศ สาเหตุเพราะปอที่จะนำมาทอกระสอบของไทยยังไม่ดี ไม่สามารถนำมาทอกระสอบได้ ซึ่งบริษัทยิบอินซอย โดย มร. แลมซ์ซีซ์ ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตร เพื่อพยายามปรับปรุงปอของไทยให้มีคุณภาพ ในครั้งแรกจึงมีการตั้งโรงงานทอกระสอบขึ้นในประเทศ และยิบอินซอยจะเป็นตัวแทนจำหน่าย

"วิธีการทำกระสอบในครั้งนั้นจะต้องนำปอจากประเทศอินเดียมาผสมกับปอไทยจึงจะสามารถทอเป็นกระสอบได้ เมื่อกระทรวงฯ และยิบอินซอยได้ร่วมมือกันติดตั้งเครื่องจักรเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าฝ่ายราชการลืมสั่งซื้อปอจากอินเดียเข้ามา โรงงานจึงต้องพยายามปรับปรุงปอไทยมาทำกระสอบให้ได้ จนกระทั่งสามารถทอเป็นกระสอบได้โดยไม่ต้องสั่งซื้อปอจากอินเดียมาผสมเลย การลืมในครั้งนั้นจึงนับเป็นผลดีไป" แหล่งข่าวท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ทราบ

และอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้เชื่อว่าเป็น "TRAINING SCHOOL" ให้กับคนรุ่นก่อนก็คือธุรกิจขายเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเบอร์โร่ว์

ยิบอินซอยเป็นตัวแทนจำหน่ายเบอร์โร่ว์ เมื่อปี 2503 "คอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นจะมีแต่บริษัทใหญ่ ๆ มาตั้งสาขาอยู่ในนี้ ที่เราทำก็คิดว่าเราต้องการจะฝึกอบรมคนจำนวนมาก ๆ ให้มีความรู้ในเรื่องนี้ ส่วนที่จะอยู่กับเราหรือไม่นั้นเราถือเป็นวิทยาทานที่จะให้พวกเขามีความสามารถติดตัวไป" ผู้บริหารท่านหนึ่งของยิบอินซอยกล่าว

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ในเวลานี้ก็ล้วนแต่ได้รับประสบการณ์มาจากยิบอินซอยหลายคน

หลังจากที่นายยิบอินซอยถึงแก่กรรมลงเมื่อปี 2512 แล้ว ในปีต่อมากลุ่มยิบอินซอยก็เริ่มหันมาจับงานธุรกิจการเงิน ซึ่งทำให้วงการต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากกว่ากลุ่มยิบอินซอยไม่เคยทำธุรกิจด้านการเงินมาก่อน และนอกจากนี้ประสบการณ์เท่าที่ผ่านมาก็มี ด้านค้าขายเท่านั้น ทุกคนจึงคอยจับจ้องดูว่ากลุ่มยิบอินซอยจะไปรอดหรือไม่

ในเรื่องนี้แหล่งข่าวผู้หนึ่งที่ใกล้ชิดกับกลุ่มยิบอินซอยได้เปิดเผยยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่ากลุ่มยิบอินซอยนั้นมีประสบการณ์ด้านนี้มาพอตัว โดยกล่าวว่ากลุ่มยิบอินซอยมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน ตอนที่นายยิบจบจากประเทศจีนก็ไปฝึกงานกับธนาคารที่ฮ่องกงมาก่อน และก็ยังให้ความสนใจในด้านนี้มาตลอด"

"ในตอนแรกเราก็ทำด้านการเงินมาแล้วคือในสมัยคุณยิบนั้นนายเหมืองทั้งหลายที่ไม่มีกำลังเงิน เราก็จะมีเงินทดรองจ่ายให้ก่อน แล้วใช้คืนในรูปของสินค้า จากประสบการณ์ด้านนี้เราจึงมีเครือข่ายในภาคใต้มาก ในตอนแรกเราจึงรับเป็นตัวแทนให้กับธนาคารนครหลวง" ผู้บริหารท่านหนึ่งชี้แจงให้ทราบ

กลุ่มยิบอินซอยเป็น "กัมประโด" ให้ธนาคารนครหลวงมา 7 ปี จึงเลิกและหันไปเป็น "กัมประโด" ให้กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ในช่วงปี 2495-2508 โดยรับมอบเป็น "กัมประโด" ใน 14 จังหวัดภาคใต้กว่า 40 สาขา

"ในขณะนั้นรู้สึกว่าธุรกิจนั้นค่อนข้างดี เราก็เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ จ้างพนักงานเอง กำไรแบ่งคนละครึ่ง แต่ถ้าหนี้สูญเรารับเอง เพราะเราเป็นคนอนุมัติเงินกู้" แหล่งข่าวภายในเล่าให้ทราบถึงวิธีการทำงานในตอนนั้น

แต่ต่อมาก็ต้องมาเลิกเป็น "กัมประโด" เพราะ "แบงก์ชาติไม่ชอบระบบนี้ก็ขอให้เลิก แล้วธนาคารก็เข้ามาบริหารโดยเทกโอเวอร์พนักงานและสาขาทั้งหมด" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

และจากประสบการณ์เหล่านี้เองในปี 2513 กลุ่มยิบอินซอยจึงโจนเข้ามาในวงการเงินอย่างเต็มตัวด้วยการตั้งบริษัทเงินทุนยิบอินซอยขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 20 ล้านบาท โดยมีกลุ่มยิบอินซอยถือหุ้น 75% ของทั้งหมด ธนาคารกสิกรไทย 20% และบุคคลอื่นอีก 5%

บริษัทเงินทุนยิบอินซอยในระยะเริ่มแรกยังไม่ค่อยจะมีบทบาทมากนัก จนในปลายปี 2525 กลุ่มยิบอินซอยก็เริ่มขยายฐานทางการเงินออกไปอีก โดยการเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชสแมนฮัตตัน จำกัด

เนื่องจากได้มี พ.ร.ก. เงินทุนเกิดขึ้น เงินทุนเชสฯ จึงไม่สามารถถือหุ้นเกิน 40% ได้ จึงมีมติขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัทคนไทยที่มีฝีมือเชื่อถือได้สามารถมาดำเนินกิจการต่อไป

"ในตอนแรกที่ทราบข่าว เราก็ยื่นเรื่องให้เขาไปพิจารณา แต่ไม่ได้มีเรารายเดียวที่ยื่นเสนอไป สุดท้ายเชสฯ ตัดสินใจไว้วางใจเรา ซึ่งทำให้เราภูมิใจมาก" แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ทราบ

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชสแมนฮัตตันภายใต้การบริหารของกลุ่มยิบอินซอยก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร จำกัด

และจากการที่กลุ่มยิบอินซอยเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชสฯ ก็มีผลพลอยได้หลายอย่างให้กับยิบอินซอยเงินทุนด้วย

ที่สำคัญคือบริษัทเงินทุนเชสฯ ได้วางระบบการบริหารและอบรมบุคคลในการบริหารมาอย่างดี กลุ่มยิบอินซอยจึงได้นำระบบการบริหารไปใช้และขอตัวผู้บริหารบางคนไปช่วยงาน ส่วนศรีมิตรไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด จะมีแต่เพียงคนของกลุ่มยิบอินซอยเข้าไปเป็นกรรมการเพียง 2 คนคือ โชติ จูตระกูล และเทียนชัย ลายเลิศ

นอกจากนั้นแล้วธนาคารกสิกรไทยยังได้เข้าไปร่วมทุนกับศรีมิตรด้วยเพราะเชื่อมั่นในการบริหารทีมงานเก่าและความมั่นคงของยิบอินซอย

เป้าหมายของยิบอินซอยเงินทุนที่วางไว้สำหรับทีมงานที่ปรับปรุงใหม่ คือ ขยับจากกิจการลำดับที่ 100 ให้ขึ้นมาอยู่ใน 20 อันดับ และในปี 2526 ยิบอินซอยเงินทุนก็สามารถไต่มาอยู่อันดับที่ประมาณ 35 ได้ มีทีมงานเพิ่มจาก 3-4 คน ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงมาเป็น 75 คน

มีการเพิ่มทุนจาก 20 ล้านมาเป็น 40 ล้านในปี 2524 เป็น 50 ล้านและ 60 ล้านในปี 2525 และปี 2527 เพิ่มเป็น 120 ล้าน โดยมีนโยบายขยายกลุ่มผู้ถือหุ้นออกไป เพื่อให้ยิบอินซอยเงินทุนมีฐานสนับสนุนเพิ่มขึ้นในวงการธุรกิจ กลุ่มใหม่ที่เข้าร่วมคือ ธนาคารกสิกรไทย กลุ่มพรประภา สุรภีร์ สนิทวงศ์ และล่าสุดคือธนาคารพาริบาส์จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาขอถือหุ้น 10%

การที่ยิบอินซอยเงินทุนในพาริบาส์มาร่วมหุ้นเพราะพาริบาส์มีประสบการณ์และความรู้ด้านการเงินและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถนำมาขยายและส่งเสริมให้การบริหารของยิบอินซอยเงินทุนก้าวหน้าขึ้น

นอกจากประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจการเงินแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวที่น่ายินดีสำหรับกลุ่มยิบอินซอยในเรื่องโครงการพัฒนาสัญญาณภัยทางอากาศอัตโนมัติโดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์

หลังจากที่มีการเจรจากันมาเป็นเวลาหลายปี บริษัทยิบอินซอยในฐานะที่เป็นตัวแทนของบริษัทเบอร์โรว์คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ก็ประสบความสำเร็จในการเซ็นสัญญาระหว่างกองทัพอากาศไทย และบริษัท SYSTEM DEVELOPMENT CORP. (บริษัทลูกของเบอร์โร่ว์) ในโครงการพัฒนาฯ นี้เป็นจำนวนเงินถึง 71 ล้านเหรียญหรือประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท

โครงการนี้เป็นโครงการ FMS ซึ่งมีดอกเบี้ยถูกและระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวมาก ขณะนี้มีช่างเทคนิคจำนวนหนึ่งได้เริ่มมาสำรวจงานแล้ว และในอนาคตอันใกล้นี้คงจะมี PHASE 2 และ PHASE 3 ของโครงการนี้ต่อเนื่องออกไปเป็นมูลค่าอีกนับพันล้าน ซึ่งกลุ่มยิบอินซอยในฐานะตัวแทนและเป็น SUBCONTRACTOR ในโครงการนี้ก็ได้รับผลประโยชน์ไปพอสมควร

เนื่องจากกลุ่มยิบอินซอยประกอบด้วย 3 ตระกูลใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้นระบบการสืบทอดอำนาจจึงเป็นที่สนใจสำหรับบุคคลภายนอกอยู่มาก

แหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่าเดิมทีโครงสร้างการบริหารจะรวมอำนาจสูงสุดไว้ที่บุคคลคนเดียวคือนายยิบอินซอย ต่อมาคือ ชู จูตระกูล หลังจากนั้นมาก็มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารใหม่ โดยการกระจายอำนาจให้แต่ละบริษัทรับผิดชอบงานเอง แต่จะมีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นเป็นผู้ควบคุมนโยบาย โดยมีฉันท์ ลายเลิศเป็นประธานกรรมการของบริษัทฯ และมีทายาทของ 3 ตระกูลเพียง 3 คนเท่านั้นที่ทำงานให้กลุ่มยิบอินซอย นอกจากนั้นไปทำธุรกิจส่วนตัว คือ โชติ จูตระกูล เป็นกรรมการผู้จัดการด้านธุรการ เทียนชัย ลายเลิศ คุมด้านการตลาด และธวัช ยิบอินซอย

เวลา 71 ปี ที่ผ่านมาของกลุ่มยิบอินซอยได้ฟันฝ่ามรสุมต่าง ๆ มามากมาย แต่ก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ตลอด เพราะการทำธุรกิจให้ทันสมัยเปลี่ยนไปตามยุค ไม่ผูกกับสิ่งที่อยู่ในอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองมาจากธุรกิจเหมืองแร่ กลายมาเป็นการค้ากับต่างประเทศจนถึงบริษัทเงินทุนในปัจจุบัน

และนี่คือผลดีของการค้าที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันจนถึงเรือรบ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us