Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2554
คนหนุ่มสาวที่ถูกทอดทิ้ง             
 


   
search resources

Social




ปัญหาคนหนุ่มสาวตกงานในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่เพียงเป็นปัญหาหนักในวันนี้ แต่ยังจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปอีกนานหลายทศวรรษ

ขณะนี้คนหนุ่มสาวชาวสเปนต่างรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอนาคต และหลักการที่ว่า การทำงานหนัก จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่กำลังแตกสลาย ก่อนจะเกิดวิกฤติการเงินโลก อัตราการว่างงานในสเปน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ถูกกดทับไว้ชั่วคราว จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปน ซึ่งเป็นการเติบโตที่เกิดจากการก่อหนี้บวกกับความรุ่งเรืองในภาคการก่อสร้าง ทำให้ในปี 2007 อัตราว่างงานของสเปนอยู่ที่เพียง 8% เท่านั้น แต่ขณะนี้กลับพุ่งกระฉูดมาอยู่ที่ 21.2% โดยเฉพาะอัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวชาวสเปน ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 46.2%

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวเพิ่ม ขึ้นในประเทศในกลุ่ม OEDC ซึ่งเปรียบเหมือนสโมสรของประเทศ ร่ำรวย โดยคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีในสหภาพยุโรป (Euro-pean Union: EU) ตกงานถึง 1 ใน 5 เทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีตกงานน้อยกว่า คือประมาณ 18% แต่ก็ยังมีประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเม็กซิโก ที่อัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวอยู่ในระดับต่ำเพียงไม่ถึง 10%

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนหนุ่มสาวจะเป็นแรงงานกลุ่มแรก ที่ถูกปลดออกจากงาน เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์น้อยและทักษะความชำนาญต่ำ เมื่อเทียบกับแรงงานที่อาวุโสกว่า ดังนั้น ในหลายๆ ประเทศ คนหนุ่มสาวจึงตกเป็นเป้าหมายของนายจ้าง ที่ต้องการตัดลดค่าใช้จ่าย และถูกปลดออกจากงานได้ง่ายกว่าแรงงานอาวุโส หลายประเทศในกลุ่ม OECD มีอัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาว สูงกว่าอัตราว่างงานของประชากรแรงงานกลุ่มอื่นๆ 2 เท่าโดยเฉลี่ย และบางประเทศยิ่งสูงไปกว่านั้น อังกฤษ อิตาลี นอร์เวย์และนิวซีแลนด์ มีแรงงานในวัยหนุ่มสาวตกงานมากกว่าแรงงานกลุ่มอื่นๆ ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ในสวีเดน การว่างงานในคนอายุระหว่าง 15-24 ปี สูงกว่ากลุ่มที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปีถึง 4.1 เท่า นับเป็นอัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปีที่สูงที่สุดใน OECD นับตั้งแต่ OECD เริ่มเก็บสถิติอัตราการว่างงานมาตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา

การว่างงานในคนหนุ่มสาวสร้างความเสียหายโดยตรงคือ รัฐต้องจ่ายสวัสดิการตกงานมากขึ้นและยังสูญเสียรายได้จากภาษี รายได้บุคคลธรรมดา และแรงงานของคนหนุ่มสาวต้องกลายเป็นสิ่งสูญเปล่า อังกฤษได้ลองคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนหนุ่มสาวชาวอังกฤษตกงานถึง 744,000 คนว่า ทำให้ อังกฤษเสียหาย 155 ล้านปอนด์ (247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อสัปดาห์ จากการที่รัฐต้องเสียงบประมาณจ่ายสวัสดิการตกงานมาก ขึ้น และต้องสูญเสียประสิทธิภาพการผลิต

ส่วนความเสียหายโดยอ้อมได้แก่ปัญหาสมองไหล คนหนุ่มสาวที่รู้สึกว่าตัวเองไร้อนาคตในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน มักจะตัดสินใจออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ในต่างประเทศ ได้ง่ายกว่าแรงงานกลุ่มที่อายุมากกว่า ซึ่งมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ในโปรตุเกส ซึ่งอัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวอยู่ที่ 27% มีมากถึง 40% ของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-30 ปีที่บอกว่า พร้อมจะออกไปหางานทำในประเทศอื่น ในอิตาลี ปัญหาสมองไหลเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรังของอิตาลี ในไอร์แลนด์ ปัญหาคนหนุ่มสาวท้อแท้กับการหางานทำ ได้หวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ไอร์แลนด์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเสือเศรษฐกิจแห่ง Celt เคยดีใจและคิดว่าปัญหานี้ได้จบสิ้นไปแล้ว

ผลกระทบจากปัญหาการว่างงานอีกประการคืออาชญากรรม การจลาจลที่เพิ่งเกิดขึ้นในอังกฤษโดยกลุ่มวัยรุ่นเมื่อไม่นาน มานี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการว่างงานในคนหนุ่มสาว นักวิจัยบางคนพบความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นในคนหนุ่มสาว กับการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน (ปล้นชิงวิ่งราว ขโมยรถ) และความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายมากที่สุดจากปัญหาการว่างงาน คงไม่พ้นตัวคนตกงานนั่นเอง Jonathan Wadsworth นักเศรษฐศาสตร์แรงงานจาก London School of Economics (LSE) ชี้ว่า คนหนุ่มสาวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการตกงาน ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางอารมณ์ ผลวิจัยชี้ว่า สิ่งที่จะใช้คาดการณ์การตกงานในอนาคตของคนคนหนึ่งได้ดีที่สุด ก็คือการที่เขาเคยตกงานมาก่อน ในอังกฤษ คนหนุ่มสาวที่เคยตกงานเพียง 3 เดือนเมื่ออายุก่อน 23 ปี มีแนวโน้มจะตกงานอีกครั้งเฉลี่ยนาน 1.3 เดือน เมื่อมีอายุถึง 28-33 ปี เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ไม่เคยตกงานมาก่อน และการตกงานครั้งที่ 2 ในชีวิต จะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงมากขึ้นอีก

ผลวิจัยในสหรัฐฯ และอังกฤษพบว่า การตกงานในคนหนุ่มสาวจะทิ้งรอยแผลเป็นด้านรายได้หรือ “wage scar” ไปจน ถึงวัยกลางคน ยิ่งตกงานนานเท่าใด รอยแผลเป็นนี้ก็จะยิ่งบาดลึก มากขึ้นเท่านั้น ชาย 2 คนที่มีภูมิหลังเท่าเทียมกันทั้งการศึกษา ฐานะความเป็นอยู่ การศึกษาของบิดามารดาและระดับ IQ แต่หากคนหนึ่งตกงานเป็นเวลานาน 1 ปีก่อนอายุ 23 ปี 10 ปีหลังจากนั้น คาดว่าเขาจะมีรายได้ต่ำกว่าอีกคนที่ไม่เคยตกงานถึง 23% ถ้าเป็นผู้หญิง ช่องว่างความต่างของเงินเดือนหรือ wage scar จะน้อยกว่าผู้ชายคือ 16% ความเสียหายนี้จะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงวัยกลางคน แม้ว่าจะลดน้อยลงก็ตาม โดยเมื่อถึงอายุ 42 ปี wage scar ในผู้หญิงจะลดลงเหลือ 12% ส่วนใน ผู้ชายจะลดลงเหลือ 15% wage scar ยังพบในบัณฑิตหนุ่มสาว ที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อต้นทศวรรษ 1980 ผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่าบัณฑิตที่โชคร้ายเหล่านี้ จะได้รับค่าจ้างเงินเดือนที่ลดลง 6-7% ต่ออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% แม้ว่าผลกระทบจาก wage scar นี้จะลดลง แต่สามารถจะส่งผลต่ออคนคนนั้นในระยะยาวได้นานถึง 15 ปี

ในญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 คนหนุ่มสาวที่ตกงานเป็นเวลานาน จำต้องยอมทำงานที่ “ไม่ปกติ” กล่าวคืองานที่ได้รับค่าแรงต่ำ และแทบไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมหรือความก้าวหน้าในอาชีพ นายจ้างก็มักจะชอบรับบัณฑิตจบใหม่มากกว่า คนที่ตกงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา ทำให้คนหนุ่มสาวที่ตกงานได้รับความเสียหายจาก wage scar กล่าวคือมีโอกาสน้อยลง ที่จะได้งานถาวรและค่าจ้างเงินเดือนที่สูง “คนหนุ่มสาวที่ถูกทอดทิ้งอยู่ข้างหลัง” คือคำที่ OECD ใช้เรียกหนุ่มสาวที่โชคร้ายเหล่านี้ ในรายงานล่าสุด นายจ้างในญี่ปุ่นระบุว่า พนักงานที่มาจากช่วง “ทศวรรษที่หายไป” ของญี่ปุ่น เป็นกลุ่มพนักงานที่มีปัญหาซึมเศร้าและความเครียดสูงกว่าพนักงานกลุ่มอื่น

การตกงานในทุกรูปแบบยังสัมพันธ์กับการไม่มีความสุขในชีวิต ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะ wage scar หรือการมีรายได้น้อยหน้าคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับการมีอายุสั้น มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดหัวใจวายเมื่ออายุมากขึ้น และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ผลการศึกษาคนที่ตกงานในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ พบว่า การตกงานมีผลกระทบต่ออายุขัยของ คนหนุ่มสาว มากกว่าคนที่อายุมากกว่า และ คนอเมริกันที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) มีปัญหาการขาดความเชื่อมั่นและความกระตือรือร้นเรื้อรังนานหลายทศวรรษ

การตกงานยังส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย อย่างเช่นอาการ full-nest syndrome ในปี 2008 46% ของคนอายุระหว่าง 18-34 ปี ใน EU ยังคงอาศัยอยู่กับบิดาหรือมารดา หลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะในยุโรปใต้ ซึ่งมีปัญหาการว่างงาน สูง ลูกที่ยังคงอยู่บ้านเดิมกับบิดามารดา มีแนวโน้มที่จะเป็นคนตกงาน มากกว่าลูกที่ย้ายออกไป ขณะนี้ในอิตาลีมีคนอายุระหว่าง 18-35 ปี มากกว่า 7 ล้านคน ที่ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา 1 ใน 4 คนของผู้ชายอังกฤษที่อายุ 20 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอังกฤษวัยเดียวกันทุกๆ 1 ใน 6 คน หวนกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่

บางประเทศในยุโรปโดยเฉพาะในยุโรปใต้ รัฐบาลควรจะเปิดตลาดแรงงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อปลดปล่อยแรงงาน หนุ่มสาว ส่วนในประเทศที่ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว รัฐก็มักจะเน้นการเพิ่มทักษะการทำงานให้ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง รวมของทักษะและการเรียนก็ยังดีกว่าตกงานอยู่ว่างๆ ดังนั้น จำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือเรียนต่อในระดับสูงกว่าปริญญาตรี จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บัณฑิตศึกษาในสหรัฐฯ ได้รับใบสมัครเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% มาตั้งแต่ปี 2008 อย่างไรก็ตาม การเรียนยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีเสมอไป

ไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคนที่จะมีโอกาสได้งานทำ อัตราการว่างงานของบัณฑิตในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงสุดมาตั้งแต่ปี 1970 แม้แต่การศึกษาสายอาชีพก็อาจไม่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ รายงาน Wolf report ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาสายอาชีพในอังกฤษล่าสุดชี้ว่า หากเลือกเรียนในสายวิชาที่ตลาดไม่ต้องการ กลับจะยิ่งทำลายโอกาสในการได้งานทำ และลดโอกาสที่จะได้ค่าจ้างแรงงานที่ดีไปตลอดชีวิต ทางที่ดีคือนักศึกษา ควรจะถูกส่งไปฝึกงานกับบริษัทจริงๆ

ในเยอรมนี ซึ่งถูกยกให้เป็นต้นแบบของการรับนักศึกษาฝึกงาน นายจ้างเยอรมันราว 1 ใน 4 มีโครงการรับนักศึกษามาฝึกงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และนักศึกษาสายอาชีพในเยอรมนี เกือบ 2 ใน 3 ใช้เวลา 3 วันต่อสัปดาห์กับการฝึกงานในบริษัทเป็นเวลานาน 2-4 ปี ค่าใช้จ่ายในการฝึกงานร่วมกันรับผิดชอบโดยบริษัทกับรัฐบาลเยอรมนี นักศึกษาฝึกงานมักจะได้ทำงานในบริษัทนั้น เมื่อจบการฝึกงาน นับเป็นเรื่องปกติในเยอรมนี อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวชาวเยอรมันอยู่ที่ 9.5% จัดว่าต่ำที่สุดประเทศหนึ่งใน EU โครงการรับนักศึกษาฝึกงานที่คล้ายกับเยอรมนี ยังใช้ได้ผลในเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกของเยอรมนี ซึ่งเต็มไปด้วยกองทัพผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง อาจจะเหมาะสมกับโมเดลการรับนักศึกษาฝึกงานแบบนี้ แต่ไม่ชัดเจนว่า โมเดลนี้จะนำไปใช้กับประเทศที่เศรษฐกิจเกี่ยว ข้องกับภาคบริการมากกว่าได้หรือไม่ โมเดลนี้ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางวัฒนธรรม โครงการ school-to-work ของ Bill Clinton ซึ่งคล้ายกับโมเดลการรับนักศึกษาฝึกงานของเยอรมนี ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะถูกหมิ่นว่าเป็นการศึกษาชั้นสอง แม้แต่ในบางประเทศซึ่งการรับนักศึกษาฝึกงานเป็นที่นิยม แต่ก็ยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาว่างงาน เนื่องจากการล่มสลายของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม อังกฤษซึ่งเพิ่งเกิดการจลาจลโดยกลุ่มวัยรุ่นที่อ้างปัญหาการว่างงานเป็นชนวนก่อเหตุ กำลังคิดจะลองทำโครงการรับนักศึกษาฝึกงานดูบ้าง แต่สำหรับคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีที่ตกงานเป็นอาจิณ และขาดคนต้นแบบมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นคนขาดความมุ่งมั่นและเป้าหมายในชีวิต ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ควรจะทำโครงการฝึกงานในลักษณะที่เจาะจงและตัวต่อตัวมากกว่า เพราะการทำโครงการฝึกงานแบบเหมารวมกับคนตกงานทุกคน รังแต่จะเบียดคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดให้ตกหล่นหายไป

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us