อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปลายปีเตรียมรับนักท่องเที่ยวคึกคัก เมื่องาน “มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554” (Royal Flora Ratchaphruek 2011) หรือเรียกย่อๆ ว่า “ราชพฤกษ์ 2554” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 พ.ย.2554-15 ก.พ.2555 โดยเนื้อหางานครอบคลุมงานเทศกาลตั้งแต่ลอยกระทง-ฮาโลวีน-คริสต์มาส-ปีใหม่-วันเด็ก-วันตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ปีหน้า
จึงเป็นที่คาดหวังว่า ภายในสามเดือนหรือ 99 วันนี้จะได้รับผลประโยชน์เชิงธุรกิจบริการหลายพันล้านที่จะรองรับคนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจ ท่องเที่ยวคมนาคมขนส่งทั่วไทย... นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลัก ที่โชว์ศักยภาพของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านพืชสวนหลาย ด้านและเป็นผู้ผลิตผลไม้เขตร้อนที่มีคุณภาพสูงมาก
เมื่อเจาะลึกข้อมูลสำคัญของงานราชพฤกษ์ 2554 จะพบว่าความยิ่งใหญ่ของมหกรรมพืชสวนโลก 2554-2555 ยังคงระดับ จัดงานใหญ่แต่ต่างจากครั้งแรกเมื่อปี 2549 บนพื้นที่เดิมที่ร่มรื่นกว่าเก่า 470 ไร่ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอ เมือง เชียงใหม่
ธีมหลักของมหกรรมพืชสวนโลกปีนี้ เน้น “ขจีทัศน์” ที่เกิดจากแนวคิด 3Gs (Generation, Garden, Greenitude) + 3Rs (Reuse, Reduce, Recycle) โดยใช้สัญลักษณ์ดอกราชพฤกษ์ บานเหลืองสะพรั่งอลังการซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ในหลวง และดอกไม้ 6 ดอกหมายถึง 6 ทวีปที่ทั้ง 27 ประเทศร่วมจัดงานมหกรรมฯ นี้ด้วย
ไฮไลต์ของงานมหกรรมนี้กล่าวกันว่าทุ่มทุนสร้างและเนรมิต “สวนแสงแห่งจินตนาการ” ในเวลากลางคืนจะมีการแสดง light & sound ของผีเสื้อเรืองแสงและใบไม้เรืองแสงไหวเต้นรำพร้อมดนตรีบรรเลง ส่วนกลางวันจะมีทุ่งดอกไม้ solar cell ที่เก็บแสงแล้วไปบานสว่างกลางคืน
นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์ที่ “กระเช้าราชพฤกษ์ลอยฟ้า” สูง 40 เมตร ชมวิวมุมสูง และเด็กๆ ก็มีพื้นที่เรียนรู้ที่ “สวนเยาวชนรักษ์โลก” ที่ใช้สื่อมัลติมีเดียและ interactive บอกเล่า เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการลดโลกร้อนผ่านตัวการ์ตูน “คูน” ได้อย่างสนุกสนานเข้าใจง่าย
แม้สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์จะเป็นไฮไลต์ของงาน แต่อย่าลืมว่า หัวใจสำคัญของงานมหกรรมพืชสวนโลกก็คือ การเรียนรู้ธรรมชาติของพืชสวนและดอกไม้ที่อลังการและหาชมได้ยากจากทั่วโลก ซึ่งไฮไลต์ของมหกรรมฯ ก็คือ “สวนนานาชาติ 27 ประเทศ” ที่จัดสวนตามวัฒนธรรมประเพณีของตน
เช่น ภูฏานจัดสวน Blue poppy ดอกไม้ประจำชาติพร้อม สักการะพระศรีศากยมุนีที่ประดิษฐานใน Bhutanese Altar รวมทั้งจำลองบ้านภูฏานและสัญลักษณ์ประจำชาติ เบลเยียมจัดรูปแบบเป็นกรวยดอกไม้แล้วประดับประดาด้วยสับปะรดหลากสี อินเดียจัดสวนสมุนไพรและสักการะพระพิฆเนศและพระอุมาเทวีใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ อิหร่านนำสุสานฝังศพกวีเอกฮาเฟสมาแสดง ญี่ปุ่นก็คงจัดภูเขาไฟฟูจิจำลองกับชมดอกซากุระและเบญจมาศเหลือง โมร็อกโกจัดสวนสไตล์ผสมผสาน มอริเตเนียจัดสวนกระบองเพชรหลากสีและต้นไม้พื้นเมือง แคนาดาจัดน้ำตกไนแอง การาจำลองและสวนไม้พรรณเมืองหนาว สเปนจัดสวนไม้ดอกสีประจำชาติ แดง เหลืองและแสดงต้น Dragon Tree ที่หาชมยาก และเกาหลีใต้จำลองทิวทัศน์ธรรมชาติไว้ในสวนที่มีพรรณไม้ต้นกำเนิด ฯลฯ
ขณะเดียวกัน พื้นที่จัดสวนของภาคองค์กร-เอกชนไม่มีธีม ชัดเจนเป็นเอกภาพเหมือนมหกรรมฯ ครั้งแรก แต่นำเสนอหลากหลาย ปรากฏว่าปีนี้องค์กรระดับบิ๊กๆ บางแห่งไม่ได้ร่วมงานเหมือน เคย เช่น ธนาคารกสิกรไทย บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทย แต่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ยังคงร่วมมหกรรมฯ นี้โดยนำเสนอวิถีปฏิบัติ 84 ตำบลพอเพียงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ฉายหนัง 3D รอบทิศทาง มีการชิม ชม ชาจากโครงการภูฟ้าและจัดสวน Smart Agriculture แปลงสาธิตพืชสวนพืชไร่ด้วย
ที่พลาดไม่ได้คือ นิทรรศการเรือนกล้วยไม้ ซึ่งประเทศไทย มีความโดดเด่นมาก มีพื้นที่ทั้งหมด 5 โซน ตั้งแต่โซนกล้วยไม้เฉลิมพระเกียรติที่มีไฮไลต์แสดงกล้วยไม้พระราชทานนาม, ธรรมชาติแห่งกล้วยไม้ (Thai Orchid Habitats), กล้วยไม้สร้างสรรค์ที่นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม, ห้องเรียนกล้วยไม้และอุโมงค์กล้วยไม้หรรษาที่เอากล้วยไม้ที่มีชื่อสัตว์ต่างๆ มาสร้างจินตนาการ Orchid Zoo
นอกจากนี้ยังมีสวนสมุนไพรที่ใช้แนวคิด 3Gs+3Rs สร้างสรรค์นวัตกรรม Herbal for Future Life 9 โซนนำเสนอประวัติตำรับสมุนไพรและยาสมุนไพรกว่า 500 ชนิดบนความหลากหลาย ทางชีวภาพ รวมทั้งแสดงผลิตภัณฑ์สมุนไทยที่ส่งออกตลาดโลก เช่น กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน และพริกไทย
ส่วนของนิทรรศการที่เด่นมากคือ “นิทรรศการบัว” ที่ใช้แนวคิดหนึ่งเดียวในโลกที่หาชมยาก เช่น บัววันวิสาข์ที่ชนะเลิศระดับโลก บัวจิ๋วที่เล็กที่สุดในโลก บัวยักษ์ที่บานไม่รู้โรยใน 5 วัน และบัวกระด้งเมืองหนาวที่ขอบใบสูงมากๆ ถือว่าให้ครบถ้วนทั้งนิทรรศการและกิจกรรมบัวประดับทั้งของไทยและเทศ
ส่วนของแปลกของหายาก จะจัดอยู่ในพื้นที่นิทรรศการหมุนเวียนใน Expo Center 2 เช่น กล้วยร้อยหวี มะพร้าวทะเลอายุ 400 ปีและใช้เวลาแต่ละผลกว่าจะสุกถึง 7 ปี ช้อยนางรำ ซึ่งกระดิกใบได้ตามจังหวะดนตรีและสียงปรบมือ เนระพูสีไทย พลับพลึงธาร ไม้ไผ่ยักษ์ ขณะที่พืชพันธุ์ใหม่ๆ ก็นำแสดงด้วย เช่น มะยมหนาม ลูกใต้ใบดอกขาว และพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น รองเท้านารีทุกสายพันธุ์ ฟ้ามุ่ย เอื้องปากนกแก้ว ตามมาด้วยโซน พืชมหัศจรรย์ เช่น โดมเห็ดเรืองแสง ไม้ไผ่ทำเสื้อ พืชไล่แมลง
ส่วนธีมของงานเกี่ยวกับ 3Gs+3Rs ได้จัดเป็นนิทรรศการปลายปี ภายใต้คติว่า “รากฐานสีเขียววันวาน รักษ์มรดกเพื่อลูกหลาน สืบสานปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต ลดโลกร้อน” แสดงการจัดสวนลดอุณหภูมิ cooling garden จัดไม้กระถางภูมิทัศน์ เมือง และจัดสวนแนวตั้งบนดาดฟ้า การใช้ Green Wall, Green Roof เพิ่มพื้นที่สีเขียว
นี่คือส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่ยังมีอีกมาก เช่น นวัตกรรม เทคโนโลยีพืชสวน, เครื่องจักรกลเกษตร, ผัก เห็ด ผลไม้ พืชอุตสาหกรรม ชาและกาแฟกับแนวคิด Horticulture for the world, powering into a sustainable future และการประชุมวิชาการด้านพืชสวนทั้งระดับนานาชาติและในประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าตลอด 99 วันที่รัฐรดน้ำพรวนดินทุ่มเทงบประมาณและจิตวิญญาณคนเกษตร จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ครั้งนี้ น่าจะมีพื้นที่ให้ภาคเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน และคนรักต้นไม้ดอกไม้ที่เป็นคนธรรมดาได้มีเวทีแสดงออกของตนเอง ก็จะสมบูรณ์แบบมิใช่น้อย
|