ความจริงเรามี Corporate takeover อย่างในกรณีแบบแหลมทองมานานแล้ว แต่มักจะมาในลักษณะของปลาใหญ่กินปลาเล็ก
บ่อยครั้งไปที่เรามักจะได้ยินตำนานในอดีตถึงการยึดหุ้นหรือยึดบริษัทของคนรุ่น เก่า ๆ ที่เจ้าหนี้จะยึดลูกหนี้
ธรรมเนียมและวัฒนธรรมของการยึดบริษัทนั้นก็เป็นของธรรมดาสามัญในวัฒนธรรมของการค้าเสรีในระบบทุนิยม
และมันก็ไม่น่าจะแปลกอะไรที่มันเกิดขึ้น เพราะเราเองก็อยู่ในสังคมทุนนิยม
(Capitalistic Society)
สังคมทุนนิยมคือสังคมที่คนแข็งกว่าเก่งกว่าต้องชนะไป บางครั้งการชนะนั้นมันเป็นเพราะอีกฝ่ายมีกำลังทรัพย์ที่เหนือกว่าจนมีผู้กล่าวว่า
ในสังคมทุนนิยมนั้นคนที่มีเงินก็จะมีเงินมากขึ้น ส่วนคนที่มีน้อยก็นับว่าจะมีน้อยลง
ถึงจะไม่ใช่สังคมที่ดีที่สุดก็ตาม แต่สังคมทุนนิยมก็ควรจะมีกฎเกณฑ์และกติกาที่ทั้งสองฝ่ายควรจะต้องเคารพและรัฐเองก็ต้องเป็นผู้วางกฎเกณฑ์และควบคุมกติกาให้ทุกคนปฏิบัติตาม
ซึ่งถ้าเราทำได้เช่นนั้นแล้ว บางทีปลาใหญ่ก็อาจจะกินปลาเล็กไม่ได้เหมือนแต่ก่อนต่อไปแล้ว
ถ้าเราปราศจากกติกาและกฎเกณฑ์นี้เสียแล้ว ผู้ที่มีกำลังมากกว่าจะต้องเป็นผู้ชนะเสมอไป
ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่เผอิญถ้าเรามัวยึดหลักผู้เข้มแข็งกว่าต้องชนะไปเสมอแล้ว
คุณธรรมความถูกต้องก็จะไม่มีความหมาย กลับเป็นใครมีเงินมากกว่าคนนั้นก็จะเป็นฝ่ายถูกเสมอไป
เหมือนอย่างกรณีของสุระ จันทร์ศรีชวาลา และสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ที่กำลังเป็นข่าวให้วงการธุรกิจได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปาก
ที่แน่ ๆ คนในวงการเงินการธนาคารก็จะต้องมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสุระ จันทร์ศรีชวาลา
หลายคนที่ผู้เขียนคุยด้วยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไอ้แขกเจ๊งแน่งานนี้”
เมื่อหยุดคิดถึงคำพูดนี้แล้วผู้เขียนก็อดที่จะหดหู่และสลดใจกับการมีอคติของคนเหล่านั้นที่มีต่อ
สุระ จันทร์ศรีชวาลา ไม่ได้
การต่อสู้ฟาดฟันกันระหว่างสุระและสมบูรณ์นั้นมันเป็นการสู้กันในลักษณะ
Corporate Takeover ซึ่งเป็นของธรรมดาในต่างประเทศ
ซึ่งความจริงมันก็เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในเมืองไทย
เพียงแต่ Corporate Takeover ครั้งนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างโจ่งแจ้งและเห็นได้ชัด
และสื่อมวลชนเองก็รายงานข่าวให้ได้รับทราบกันอย่างละเอียด
จริงอยู่การ Takeover ครั้งนี้มันสืบเนื่องมาจากเรื่องส่วนตัว แต่การ Takeover
ทุกครั้งในโลกนี้มันก็มีสาเหตุจากเรื่องส่วนตัวด้วยกันทั้งนั้นมิใช่หรือ?
แม้แต่จอม Takeover ในอเมริกาเช่น ที บูน ฟิคคัน หรือ คาร์ล ไวคาห์น ที่เข้าไปยึดบริษัทต่าง
ๆ เช่น ยึดบริษัทกัลฟ์ออยล์ และสายการบินทีดับบลิวเอ นั้นก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ตัวเองต้องการทำกำไรทั้งสิ้น
ก็เลยมีข้ออ้างว่า ผู้บริหารเก่าบริหารงานไม่ดี
ฉันใดฉันนั้น การที่สุระอ้างว่า สมบูรณ์บริหารงานไม่ดี เขาจึงต้องขอมติผู้ถือหุ้นเพื่อปลดสมบูรณ์ก็เป็นเรื่องธรรมดาในการสู้กันในวงธุรกิจ
และเมื่อผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังคิดว่าสมบูรณ์สามารถจะบริหารธนาคารต่อไปได้
เรื่องมันก็น่าจะจบเพียงแค่นี้
แต่กลับมีการเสนอมติไม่ไว้วางใจสุระเพิ่มเติมอีก
ตรงนี้แหละที่เราคิดว่า พวกเราชอบเล่นอะไรนอกกติกากัน
แม้แต่การยื่นฟ้องบริษัทสยามวิทยาของสุระล้มละลาย ก่อนที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาข้อเสนอของสุระที่จะให้ปลดสมบูรณ์นั้น
ถึงแม้ฝ่ายบริหารของธนาคารแหลมทองจะอ้างว่าไม่เกี่ยวกัน แต่การกระทำดังกล่าวก็ทำให้คนนอกอดคิดไม่ได้ว่า
มันต้องเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน
บทบาทของสุระ จันทร์ศรีชวาลา ที่หลายคนในวงการมองเขาอย่างมีอคตินั้นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก
สุระเป็นพ่อค้าและนักธุรกิจ
และการเอาตัวเองให้อยู่รอดนั้นก็เป็นกฎข้อที่หนึ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักธุรกิจ
การซื้อมาถูกและขายไปแพงก็เป็นความสามารถของสุระในการค้าขาย
ถ้าเขาซื้อที่ดินที่สร้างโรงแรมรามาการ์เด้นมาเพียง 21 ล้านบาท แล้วเขาขายให้กับบริษัทบ้านและที่ดินไทย
ในราคา 58 ล้านบาท แล้วบริษัทบ้านและที่ดินไทยขายต่อให้บริษัทรามาทาวเวอร์ในราคาร้อยกว่าล้านบาทแล้ว
สุระไม่ผิดในกรณีนี้ ที่ผิดคือ ผู้บริหารรามาทาวเวอร์ในยุคนั้นที่ซื้อมาในราคา
140 ล้าน และยิ่งผิดหนักเมื่อผู้บริหารรามาทาวเวอร์ในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการของบริษัทบ้านและที่ดินไทยด้วย!!!
ส่วนการกู้เงินโดยเอาทรัพย์สินไปจดจำนองไว้ในราคาที่สูงค่าเกินทรัพย์สินก็ต้องดูกันว่า
ใครเป็นคนตีราคา แล้วการอนุมัตินั้นใช้กฎเกณฑ์อะไรอนุมัติ?
ถ้าคิดว่าเป็นการไม่ควรทำ ถ้าเช่นนั้นแล้วกลุ่มสุราทิพย์ที่กู้เงิน 5 ธนาคารมาร่วมหมื่นล้านก็ผิดเช่นกันเพราะก็ไม่มีอะไรค้ำนอกจากบุคคลค้ำประกันเท่านั้นเอง?
ทุกคนก็พากันตำหนิสุระและตามใจทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็ลืมนึกไปว่า สูตร “สุระ-ตามใจ”
สูตรนี้มีให้ดูได้ทั่วไปหมด เช่น “สว่าง-ชาตรี” ที่ธนาคารกรุงเทพ
หรืออีกหลายตัวอย่างที่ไม่ว่าธนาคารไหนก็มีแบบนี้ทั้งนั้น
ฉะนั้นถ้าเราวางตัวเองให้เป็นกลางสักนิดในเรื่องนี้ เราก็พอจะมองเห็นว่า
สุระ จันทร์ศรีชวาลา ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกรณีนี้เลย
สมบูรณ์อาจจะไม่ชอบสุระเป็นส่วนตัวและผู้ถือหุ้นฝ่ายสมบูรณ์อาจจะไม่ชอบในความเป็นแขกของสุระ
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาควรจะไปละเมิดสิทธิของสุระ ในฐานผู้ถือหุ้นของธนาคารแหลมทองที่มีสิทธิในการไต่ถามและไม่ไว้วางใจในตัวกรรมการผู้จัดการโดยการย้อนศรลงมติไม่ไว้วางใจสุระ
การลงมติไม่ไว้วางใจในตัวสุระนั้นนอกจากจะไม่ใช่วิธีการของผู้เจริญที่ไม่ควรจะแม้แต่คิดแล้วยังเป็นการปิดการแสดงสิทธิในอนาคตของผู้ถือหุ้นอีกด้วย
เพราะอีกหน่อยถ้าใครไม่ไว้วางใจผู้บริหารแล้วแพ้มติก็คงจะต้องโดนเสียงข้างมากที่ผู้บริหารกุมอยู่ลงมติไม่ไว้วางใจกลับเพียงเพราะมายุ่งเกี่ยวกับปุจฉาที่ว่า
ผู้บริหารคนปัจจุบันทำงานดีหรือไม่ดี?
ถ้าเรายังไม่รีบปรับปรุงตัวและพัฒนาความคิดเสียใหม่แล้ว เมื่อไหร่เราจึงจะได้เจริญกับเขาเสียทีล่ะ?
สุระเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกทั้งหมดในกรณีนี้
บทเรียนครั้งนี้ก็คงจะสอนสุระได้หลายเรื่อง
เรื่องแรกก็เห็นจะเป็นเรื่องของการกว้านซื้อทุกสิ่งที่ขวางหน้าเพื่อเก็งกำไร
การจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องหมายความว่า ตัวเองต้องมีสายป่านของตัวเองที่ยาว
เพราะการไปใช้สายป่านของสถาบันการเงินซึ่งได้เงินมาจากประชาชนเพื่อเอามาซื้อของที่ตัวเองจะขายต่อเพื่อให้ได้กำไรขึ้นมามากนั้นในด้านธุรกิจการค้านั้นไม่ผิด
แต่ในความถูกต้องแล้วมันไม่ควร
สำหรับคนที่ให้เงินสุระไปทำเช่นนั้นก็ไม่ใช่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์เพราะทรัพยากรด้านเงินตราเรามีจำกัด
เราควรจะจัดสรรปล่อยไปในด้านที่มันช่วยส่งเสริมในการสร้างงาน สร้างทักษะให้คนและสร้างอุตสาหกรรมที่มีคนได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องกันดีกว่าการมาซื้อที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร
เพราะเมื่อกำไรแล้ว ประชาชนก็ไม่ได้อะไร สถาบันการเงินก็จะได้เพียงแค่ดอกเบี้ย
แต่ถ้าเกิดภาวการณ์ขายไม่ออก สถาบันการเงินก็ต้องอยู่ในภาวะของการต้องช่วยกันแบกภาระนี้ต่อไปจนกว่าจะขายออก
หรือไม่ก็ต้องยึดที่ยึดทางเข้ามาเพื่อรอระบายขายใช้หนี้ต่อไปในอนาคต
ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ปล่อยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กต้องล้มหายตายจากไปเพียงเพราะขาดเงินหมุนเวียน
บทบาทนี้ของสถาบันการเงินต้องถูกนำมาทบทวนเช่นกัน
จะอย่างไรก็ตาม สุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็ยังโชคดีที่ตัวเองเป็นคนตั้งใจทำมาหากินและก็ใช้ชีวิตอย่างสมถะพอสมควร
โดยที่ตัวเองไม่ได้ฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อหรือเล่นการพนันเฉกเช่นคนอื่น ๆ ที่ล้มหายจากไปแล้วทิ้งปัญหาให้แก้กัน
และข้อนี้เองที่ทำให้สุระยังได้รับความเห็นใจอยู่บ้าง
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสุระและสมบูรณ์นั้นเป็นข้อขัดแย้งที่คงจะเหมือนเส้นขนานกันไปแล้ว
สุระจะชนะในที่สุดหรือสมบูรณ์จะยืนหยัดได้ต่อไปอีกนานเท่าใดนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญต่อไปแล้ว
เพราะที่สำคัญกว่าการอยู่รอดของสุระและการรักษาเก้าอี้ของสมบูรณ์คือ กติกาในวงการธุรกิจและบทบาทของแต่ละฝ่ายที่เราต้องนำมาทบทวนกันใหม่เพื่อเป็นบรรทัดฐานของจรรยาบรรณในวงการธุรกิจที่เราขาดอย่างมาก
ๆ
หาไม่เช่นนั้นแล้วไม่ว่าใครจะชนะก็ตามปัญหาในอนาคตมันก็ต้องเกิดขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน
ถ้าเราขาดซึ่งคุณธรรมในการประกอบการ
และการขาดคุณธรรมในการประกอบการคือสาเหตุสำคัญของการขัดแย้งครั้งนี้นี่เอง!