เมื่อใหญ่ นันทาภิวัตน์ ยังไม่ร่ำรวยอู้ฟู่ นับย้อนจากวันนี้ไปประมาณ 50 ปี ครอบครัวของเขาตั้งรกรากดูมั่นคงพอประมาณบนถนนนเรศ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างถนนสุรวงศ์กับถนนสี่พระยา
ลูกเต้าของเขาทุกคนได้ถือกำเนิด ณ ที่แห่งนี้
ห้วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัว ญี่ปุ่นเปิดฉากบุกเอเชียอาคเนย์
มันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความร่ำรวยอย่างมากและทันตาเห็นของเขา อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่-ค้าแร่ในภาคใต้
ใหญ่เริ่มมองเห็นว่าบ้านนันทาภิวัตน์ที่ถนนนเรศดูจะเป็นทิศทางเดียวกับไฟสงครามจะลุกลามไปถึง
เขาคิดจะหอบหิ้วครอบครัวออกจากจุดที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของเมือง
พระยาอโศกมนตรีเจ้านายเก่ายุครัชกาลที่ 6 ผู้ที่มีดินชานเมืองจำนวนมาก
เมื่อพระยาอโศกเริ่มอัตคัดขัดสนก็แก้ปัญหาโดยการเฉือนที่ดินอันเป็นสมบัติราคาถูกในสมัยนั้นออกขาย
เหมือนเจ้านายแห่งกรุงสยามทั่วไป ใหญ่ นันทาภิวัตน์ ซึ่งรู้จักรักใคร่อันดีกับพระยาอโศก
จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวสะสมมาเรื่อย ๆ แปลงใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่ไม่ใช่ผืนเดียวติดต่อกัน
นันทาภิวัตน์มีที่ดินกว่า 30 ไร่ ปัจจุบันบริเวณตรงนั้นเรียกกันว่าสุขุมวิท
21 หรือซอยอโศกซึ่งผู้ตั้งชื่อตั้งใจให้ไว้เป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของที่ดินเดิม
บนที่ดินผืนใหญ่ของเขาเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ต่อมาบ้านหลังใหญ่ ๆ หลาย ๆ หลังถูกสร้างขึ้นในบริเวณนั้น บ้านหลายหลังเหล่านั้นรวมกันเรียกว่า “บ้านไพศาล”
ใหญ่เห็นว่าลูก ๆ น่าจะมีอิสระแก่กันโดยเฉพาะเมื่อมีครอบครัว จึงกั้นรั้วระหว่างบ้านของลูกแต่ละคนในบ้านไพศาล
ว่ากันว่าต่อมาเมื่อนันทาภิวัตน์กลมเกลียวที่สุด ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เรียกคืนไม่ได้อีกแล้ว
รั้วกั้นบ้านเล็กในบ้านใหญ่ถูกรื้อ ความใกล้ชิดรักใคร่ดุจพี่น้องตระกูลผู้ดีอย่างแท้จริงขึ้นสู่กระแสสูงอย่างยิ่ง
แต่แล้วโลกกลับหมุนกลับ เมื่อใหญ่และไพศาลเรียงแถวอำลาโลกไป รั้วภายในบ้านไพศาลได้ถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้ง
แน่นหนาและแข็งแรงกว่าเดิม
บ้านไพศาลของตระกูลนันทาภิวัตน์วันนี้เงียบเหงาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ใหญ่มีลูกชาย 7 คน หญิง 1 คน ได้แก่ ไพศาล สมบูรณ์ สมปองหรือวุฒิเทพ เถาวัลย์
คุณหญิงสมสุข ศรีวิศาลวาจา บุญยิ่ง อภิวัฒน์ และสืบสกุล
ดูเหมือนใหญ่จะรักลูกชายคนแรกมาก บริษัทเหมืองแร่ตั้งชื่อว่าไพศาล บ้านใหญ่อันรวมบ้านเล็กหลาย
ๆ บ้านของตระกูลนันทาภิวัตน์ ก็เรียกว่าบ้านไพศาล ว่ากันว่าไพศาลเคียงคู่กับผู้พ่อสร้างฐานะครอบครัวมาด้วยกัน
เขาเสียสละด้วยการออกจากการเรียนหนังสือกลางคันเพื่ออนาคตของคนทั้งตระกูล
สมบูรณ์กับสมปอง อายุไล่เลี่ยห่างกันเพียงปีเดียว และเป็นพี่น้องคู่ที่ทะเลาะกันมากที่สุด
ในบรรดาพี่น้อง 8 คนนั้น สมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ได้ชื่อว่าเป็นคนฉลาดที่สุด
สมบูรณ์ลืมตาดูโลกในช่วงที่พ่อไม่ร่ำรวยนัก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์
2465 เขาได้รับการเลี้ยงดูแบบคนไทยที่มีชาติตระกูลอย่างแท้จริง “ผมเรียนจบโรงเรียนสวนกุหลาบ
รุ่นเดียวกับพลเอกสัณฑ์ จิตรปฏิมา พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูล พลตำรวจเอกสุรพล
จุลพราหมณ์ รุ่นหลังพลเอกเปรมเพียงปีเดียว” เขาบอกกับ “ผู้จัดการ”
ที่สำคัญเขาสอบได้ที่ 1 ของสวนกุหลาบในปีนั้น
“ผมเข้าจุฬาฯ เรียนวิศวฯ เพราะผมเก่งคำนวณ และบิดามีกิจการเหมืองแร่
ค้าขายแร่” สมบูรณ์คุยให้ฟังถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเหมืองแร่
เขาจบการศึกษาอายุน้อยมากเพียง 20 ปีเท่านั้น หนุ่มน้อยสมบูรณ์เริ่มทำงานครั้งแรกด้วยการรับราชการที่บริษัทแร่และยางไทย
“ตอนนั้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลท่านยึดเหมืองแร่ จากพวกอังกฤษมีเรือขุดตั้ง
40 ลำ พวกที่จบวิศวฯ มาใหม่มาทำงานที่นี่กันมาก”
ขณะนั้นพ่อของเขาตั้งบริษัทไพศาล เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ ค้าแร่ดีบุกและวุลแฟรมแล้ว
โดยมีลูกชายคนโตช่วยงาน สมบูรณ์เล่าว่าช่วงสงครามใกล้ยุติดูรุนแรงน่ากลัว
ตนจึงลาออกจากบริษัทแร่และยางไทยมาทำงานคู่กับไพศาลในบริษัทของตระกูลนันทาภิวัตน์
ปลายปี 2491 ใหญ่กับพวกร่วมกันตั้งธนาคารแหลมทอง สมบูรณ์เป็นลูกชายคนหนึ่งในสามคนที่ถูกดึงเข้าทำงานที่ธนาคาร
“ตอนตั้งแบงก์พ่อบอกให้ผมมาช่วย ผมเลยบอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ผมขออย่างถ้าผมมาทำงานแบงก์
กิจการอื่นต้องเลิกหมด เพื่อไม่ให้คนมองว่าตั้งแบงก์เพื่อสนับสนุนกิจการของครอบครัว
ผมพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิ ใครจะว่าผมแฟมิลี่ แต่ผมไม่มีประโยชน์ หรือเอาเงินไปใช้ในธุรกิจของตนเอง”
สมบูรณ์เน้นหลายครั้งถึงเรื่องที่ภาคภูมิใจอย่างมากนี้ กับ “ผู้จัดการ”
ในการสนทนาซึ่งนานกว่า 2 ชั่วโมง
และแล้วบริษัทไพศาลก็เลิกกิจการไปในที่สุด
สมบูรณ์เริ่มงานในตำแหน่ง CHEIF CACHER ซึ่งเป็น OFFICER CLASS A จนมาถึงผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ
กรรมการรองผู้จัดการ และกรรมการจัดการเมื่อปี 2518
ประสบการณ์ถึง 27 ปีในธนาคารแหลมทอง กว่าเขาจะขึ้นสูงสุด ย่อมเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
นอกจากความรู้ด้านธนาคารที่สั่งสมจากประสบการณ์โดยตรงแล้ว สมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ยังเจียดเวลา
6 เดือนฝึกงานที่ WELLS FARGO BANK สหรัฐอเมริกา
มองเพียงมิติเดียวแล้ว สมบูรณ์น่าจะเรียกได้ว่าเป็นนายธนาคารมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของเมืองไทย
ปัจจุบันเขาเป็นนายธนาคารที่อำนาจบริหารเต็มที่ที่มีอายุทำงานนานที่สุดในบรรดานายธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดก็ว่าได้
และเขาได้รับความไว้วางใจจากกิจการหลายแห่งที่ธนาคารแหลมทองมีหุ้นเพียงเล็กน้อยให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
กล่าวคือ ประธานกรรมการบริษัท ฟอร์โมสต์ฟรีชแลนด์ ประธานกรรมการบริษัทจีเอสสตีล
ประธานบริษัทฟีนิคพัลพแอนด์เพเพอร์ รองประธานกรรมการบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย
และกรรมการบริษัทดุสิตธานี
ยิ่งไปกว่านั้นสมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย
(ปี 2525-2526) อีกด้วย
“มีแบงเกอร์คนไหนบ้างที่เป็นมืออาชีพหรือได้รับการยอมรับเท่าผม”
เขาประกาศอย่างอหังการที่สุดกับ “ผู้จัดการ” เมื่อต้นเดือนเมษายน
2529
เขามีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้มีบุญคุณอย่างสูงต่อธนาคารแหลมทองและตระกูลนันทาภิวัตน์
สมบูรณ์เป็นคนฉลาดหลักแหลมจนสุระ จันทร์ศรีชวาลาคู่ปรับคนสำคัญของเขาต้องยอมรับว่า
“เขาเป็นคนเก่งมาก คนคนนี้คาดยาก ถ้าเป็นคนอื่นผมพอจะคาดเดาอะไรได้”
เขาเป็นนักเล่นบริดจ์ระดับเซียน เล่นมาตั้งแต่หนุ่มรุ่นกระทงจนถึงความชรามาเยือนอย่างคนวัย
64 เช่นปัจจุบัน
แต่สมบูรณ์แตกต่างจากหม่อมคึกฤทธิ์ตรงที่เก็บอารมณ์ซึ่งค่อนข้างแปรปรวนในบางครั้งของเขาไม่อยู่
ยิ่งไปกว่านั้นมันกลับถูกส่งออกมาอย่างรุนแรงท่วมท้นเมื่อถูกสิ่งเร้า
โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งอำนาจ
ในบรรดานันทาภิวัตน์ เขายังมีลักษณะ STRONG PERSONALITY ที่สุด
หรือจะพูดอีกอย่างว่า สมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ เป็นนายธนาคารตัวเล็กแต่เสียงดังและใจใหญ่อย่างมาก ๆ เสียด้วย
“นานมาแล้ว ตอนนั้นแกอายุน้อยกว่าเพื่อนประมาณ 22 ปี เท่านั้นเอง
ร่วมวงเล่นบริดจ์ ประกอบด้วยผู้ใหญ่ทั้งนั้น ตั้งแต่คุณหลวงสรการฯ อายุ 80
ปี คุณทวี แรงขำ คุณประสิทธิ์ ณ พัทลุง อายุ 30 ปี หมอสมภพ สุสังกรกาญจน์
เวลาแกโมโหขึ้นมาคุณหลวงสรการฯ ยังเคยถูกดุเอาเลย” คนเก่าคนแก่ที่รู้นิสัยสมบูรณ์ดีเล่าให้ฟัง
ว่ากันอีกว่าในก๊วนเล่นกอล์ฟสมัยนั้น สมบูรณ์ร่วมวงไพบูลย์ด้วย โดยมีอายุน้อยกว่าเพื่อน
เมื่อสมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ เป็นหัวแถวของนันทาภิวัตน์ หลังจากไพศาลสิ้นชีวิตนั้น
บทบาทแห่งอำนาจเฉียบขาดกับความเป็นสุภาพบุรุษดูประสานกลมกลืนกัน จนแยกไม่ออก
เขาถูกกล่าวหาว่าเผด็จการอำนาจบ้าง คนที่ทนไม่ไหวคนแรกคือ วุฒิเทพ น้องชายติดกันนั่นเอง
ในธนาคาร พลตำรวจตรีต่อศักดิ์ ยมนาค ประธานกรรมการธนาคารแหลมทองคนแรกที่ลาออกจากตำแหน่งในขณะที่ทุกคนก่อนหน้าออกจากตำแหน่งเมื่อสิ้นชีวิต
เช่นเดียวกับสหธนาคาร “คุณต่อศักดิ์” แกไม่ชอบจะเป็นประธานแบงก์เฉย ๆ อยากจะมีอำนาจบ้าง ก็เลยสวนทางกับคุณสมบูรณ์ ที่ถือตนว่าเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจ ก็เลยขัดกัน” คนเก่าธนาคารแหลมทองเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
ในที่สุดพลตำรวจตรีต่อศักดิ์ ก็เลยสะบัดก้นจากไป
จากกรณีข้างต้นเลยทำให้ผู้สนใจกิจการธนาคารแห่งนี้เป็นพิเศษ ตั้งสมมุติฐานกันขึ้นมาว่าการลาออกจากตำแหน่งประธานของพยัพ ศรีกาญจนา อาจจะต้นเหตุเดียวกัน “คุณไปถามเขาเองสิ ผมไม่ตอบปัญหาของคนอื่น”
สมบูรณ์ตอบคำถามเหมือนไม่ได้ตอบกับ “ผู้จัดการ”
ในบางสถานการณ์ความเป็นคนยึดมั่นถือมั่นอย่างมากของสมบูรณ์กลับเป็นสิ่งดี
ในปี 2525 เขาได้สร้างวีรกรรมรุกโต้ตอบพลโทหาญ ลีนานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4
(ขณะนั้น) ที่ออกมาตีแผ่ว่าธนาคารประกอบการมุ่งประโยชน์เข้ากระเป๋าแต่ฝ่ายเดียว
เห็นสมควรยึดธนาคารมาเป็นของรัฐ พลโทหาญโชคร้ายที่เจอสมบูรณ์ นันทาภิวัตน์
ประธานสมาคมธนาคารไทยเข้าพอดี การตอบโต้ชนิดไม่ถอยแม้ก้าวเดียวของนายธนาคารร่างเล็กใจใหญ่
เป็นที่พออกพอใจแก่บรรดานายธนาคารทั้งหลายอย่างยิ่ง หนังสือ “ดอกเบี้ย”
จึงยกสมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ ขึ้นเป็นนายธนาคารประจำปี 2525 ซะเลย
จนมาถึงกรณียืดเยื้อที่สุดกับสุระ จันทร์ศรีชวาลา ผู้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องพบว่าวิธีการต่อสู้ของสมบูรณ์นั้นใช้แบบ
“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ทุกระยะทุกขั้นตอน
“ท่านเป็นคนควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยจะอยู่ โดยเฉพาะเวลาคุณสุระออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้กับธนาคาร
ท่านจะต้องออกแถลงข่าวตอบโต้บ้าง ถ้าท่านจะทำใครจะห้ามเสียให้ยากเลย”
พนักงานระดับบริหารคนหนึ่งของธนาคารแหลมทองปัจจุบันบอก “ผู้จัดการ”
สมบูรณ์ นันทาภิวัตน์เกิดอาการ HEART ATTACKED จนต้องหามส่งโรงพยาบาลสมิติเวช
เมื่อประมาณปี 2524 เหมือนจะรู้ว่าตนเองถึงคิวแล้วที่ “โรคประจำตระกูล”
จะฉุดคร่าเอาชีวิตไป แต่ก็ยังดีที่วันนี้คนห้อมล้อมให้ความอบอุ่น ห้วงเวลาที่นอนซมโรงพยาบาลเขามีคนมาเฝ้ามาปรนนิบัติไม่ขาด
ชีวิตเช่นสมบูรณ์มันเหงา ๆ อยู่แล้ว ถึงแม้จะสิ้นลมหายใจวันนี้ ยังดีกว่าวันหน้าที่อาจไม่มีใครดูใจเลย
ภิวัฒน์ นันทาภิวัตน์ (เหน่ง) กับสุระ จันทร์ศรีชวาลา คือคนที่มาดูอาการเอาใจใส่อย่างยิ่งตั้งแต่แรกจนถึงวันสุดท้ายที่เขาออกจากโรงพยาบาลได้
ขณะที่ยังนอนอยู่โรงพยาบาลนั้น สมบูรณ์ได้เซ็นโอนหุ้นของเขาเองให้เหน่งไปหลายหมื่นหุ้น
เขาคิดตอนนั้นเหน่งคือหลานรักคนเดียวที่เขาฝากผีฝากไข้ได้
21 เมษายน 2525 ภิวัฒน์มีอันต้องลาจากไปไม่มีวันกลับโดยไม่ได้ร่ำลาเขาสักคำ
สมบูรณ์ “ช็อก” ไม่คาดคิดมาก่อนว่าหลานรักจะชิงตัดหน้าเขาไปก่อน
น้ำตาเอกบุรุษของเขาถึงร่วงเผาะ ๆ สมบูรณ์เคยกล่าวว่า เขาไม่เคยเสียใจอะไรที่ยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้
มันเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
และก็สุระอีกนั่นแหละที่ยกโขยงพี่น้องมาช่วยเป็นธุระในงานศพ กลุ่มแขกมาเฝ้างานสวดศพทุกคืนสร้างความประทับใจหัวแถวนันทาภิวัตน์เช่นเขาอย่างลึก ๆ ดังนั้นเมื่อสมบูรณ์มาเป็นผู้จัดการมรดกเหน่ง พบว่าเหน่งซื้อหุ้นไว้จำนวนมาก
และกลุ่มแขกอ้างว่าใช้เงินของมิดแลนด์ ประกอบกับเหน่งก็เป็นหนี้กลุ่มแขกจำนวนหนึ่ง
กระแสข่าวฝ่ายสมบูรณ์กล่าวว่าเมื่อสุระ จันทร์ศรีชวาลามาขอหุ้นจึงเป็นไปได้โดยง่าย
ยิ่งสุระผู้เมื่อต้องการอะไรมักจะตีนอ่อนมืออ่อนด้วยแล้ว เรื่องน่าจะยุ่งยากจึงจบลงด้วยความพอใจของทุกฝ่าย
สมบูรณ์ตอนนั้นไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่าหุ้นที่เขาให้หลานชายจะมาถึงมือแขก
รวมกับหุ้นที่เขาตัดใจชำระหนี้ที่หลานชายก่อไว้กับกลุ่มแขก จะเป็นหนามยอกอกที่ทำให้วัยชราของเขาที่น่าจะเย็นลงและสุขุมกลับไปสู่สภาพตรงข้ามเช่นวันนี้
แม้ธนาคารแหลมทองจะเป็นธนาคารเล็ก ๆ ของประเทศนี้ หากมองลงไปถึงเจตนาและนโยบายแล้ว
มีหลายประการที่ควรยกขึ้นมายกย่องชมเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรม
ซึ่งสมบูรณ์เป็นคนกล่าวกับ “ผู้จัดการ” เองว่า เขาและพี่ชายเห็นความสำคัญดังกล่าวนี้ตั้งแต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเกิดขึ้น
นายธนาคารที่มีปริญญาวิศวกรรมศาสตร์พ่วงท้ายเช่นสมบูรณ์ สมควรอย่างยิ่งที่ได้รับการชมเชยว่าเป็นนักการธนาคารที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ
โครงการที่สมบูรณ์ภาคภูมิใจมากเห็นจะได้แก่ การก่อตั้งบริษัทกรุงเทพอบพืชและไซโล
สร้างไซโลขนาดใหญ่ เพื่อควบคุมคุณภาพข้าวโพดสำหรับการส่งออก เขาเป็นคนเจรจาร่วมทุนกับญี่ปุ่นจนสำเร็จ
วุฒิเทพ นันทาภิวัตน์ ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการบริษัทนี้ยอมรับกับ “ผู้จัดการ”
ว่าการเกิดขึ้นของไซโลเป็นผลงานของสมบูรณ์ แม้ว่าต่อมาโครงการนี้จะล้มลุกคลุกคลาน
เปลี่ยนมือเจ้าของและผู้บริหารหลายครั้งหลายครา แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการเล็งการณ์ไกลของสมบูรณ์
นันทาภิวัตน์ เพราะปัจจุบันข้าวโพดเกือบทุกเม็ดที่ส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการของไซโลซึ่งเขาเป็นผู้บุกเบิก จึงจะเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
แน่นอนย่อมมีบางโครงการที่สมบูรณ์ไม่อยากจะนึกถึงมัน เช่น โครงการไทยฟาร์มมิ่ง
แบบอิสราเอล ปลูกพืชเมืองหนาว ผ่านกรรมวิธีรักษาความสด ก่อนการส่งออกที่เชียงใหม่
“มีปัญหาความไม่เข้าใจของชาวไร่ ซึ่งรากฐานการศึกษาไม่เพียงพอ อย่างเป็นต้นว่าถั่วมีอายุ
45 วัน ต้องตัดทันที ชาวไร่บอกว่า 47 วันโตขึ้นอีกหน่อย น้ำหนักเพิ่มอีกนิด
พอเขาไม่ซื้อก็หาว่าเขาโกง ต่อมาต้องขายกิจการให้คนอื่นไป โรงงานล้มละลายต่อมา”
สมบูรณ์แฉเหตุผลของความล้มเหลว ว่ากันว่าโครงการนี้ลงทุน 2-300 ล้านบาท
แต่ขายให้ทหารไปแค่ 60 ล้านบาท ในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
บริษัทโรยัลซีรามิค ที่เขาเป็นคนริเริ่ม ต้องมีอันเป็นไป จนเครือซิเมนต์ไทย
TAKE OVER ไปในที่สุด ฯลฯ
มีบางโครงการที่ยังไม่อาจจะสรุปความล้มเหลวในตอนนี้อย่างชัดแจ้งเสียทีเดียว
คือโครงการผลิตกระดาษด้วยปอแห่งแรกในโลก ซึ่งสมบูรณ์ เป็นคนปลุกปล้ำมากับมือ
ถึงวันนี้เขายังยืนยันว่า “หน่อ” ความคิดเขานั้นดี แต่เวลามันงอกงามเติบโตนั้น
มักจะพบปัญหาหรือถูกเหยียบย่ำจนไม่มีชิ้นดี เมื่อคิดถึงสิ่งเหล่านี้ทุกวันนี้สมบูรณ์
นันทาภิวัตน์ จึงลดความ “กระตือรือร้น” ไปมากทีเดียว
เพราะเมื่อมองกลับไปข้างหลังก็พบว่าสิ่งที่เขาพยายามสร้างเกียรติประวัติให้แก่วงการอุตสาหกรรมนั้นมันเหลือแต่ซากสิ่งปรักหักพังเสียส่วนใหญ่
พ่อของเขาจากไปเป็นคนแรกในปี 2497 พี่ชายคนโตที่เขาเชื่อถือเดินทางตามไปในปี
2518 วุฒิเทพ นันทาภิวัตน์ ผู้เป็นน้องซึ่งร่วมเส้นทางเดียวกันสร้าง “สิ่งที่ดีงาม”
แก่วงการส่งออกข้าวโพดในนามของธนาคารแหลมทอง ปฏิเสธจะร่วมทางกับเขาตลอดไป
ในปี 2524 ภิวัฒน์ (เหน่ง) หลานชายที่รู้ใจตายอย่างเป็นปริศนา “ช็อก”
ความรู้สึกเขาอย่างรุนแรง ในปี 2525 บุญยิ่ง นันทาภิวัตน์ ซึ่งเขาหมายมั่นปั้นมือว่าจะดึงมาช่วยงานธนาคารอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของตระกูลนันทาภิวัตน์
ก็หัวใจวายไปเมื่อต้นปี 2528
อภิวัฒน์ กับสืบสกุล น้องชายอีก 2 คนนั้นเล่าจะไว้วางใจได้สักแค่ไหน?
สมบูรณ์รู้สึกว่าบั้นปลายของชีวิตของเขาวังเวงอย่างมาก
“ผมพูดอย่างภูมิใจที่เป็นนายธนาคารมืออาชีพ ไม่มีกิจการของตนเองตั้งแต่ต้น
ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ คุณจะเห็นว่าที่ดินบ้านช่องผมมีมาก่อนตั้งแบงก์
ผมก็มีอยู่เท่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น” นี่กระมั่งคือสิ่งที่เขาเหลืออยู่
แม้อารมณ์ของเขาจะมีความสุขและอ่อนไหวอย่างมากกับเพลงเศร้า ๆ ที่พูดถึงความพลัดพรากของ
โอเปอเรต้าอย่าง ONE FINE DAY ของ MADAM BUTTERFY แต่แววตาของเขายังแสดงความอหังการและไม่ยอมใครง่าย ๆ โดยเฉพาะคนที่ชื่อสุระ จันทร์ศรีชวาลา
สมบูรณ์ตั้งใจจะอำลาธนาคารแหลมทองเมื่ออายุครบ 65 ปี ซึ่งเหลือเวลาอยู่เพียง
2 ปีเท่านั้น “ผมก็ตั้งใจอย่างนั้น แต่กรรมการจัดการของแบงก์เขาไม่มีกำหนดอายุ
ความตั้งใจน่ะเป็นของผม แต่ผมก็ไม่รู้ว่าอีก 2 ปี สถานการณ์หรือกรรมการของแบงก์จะว่าอย่างไร
สำหรับผมเองคิดว่าถ้าแบงก์มันเรียบร้อยดีก็ควรหาความสบายในชีวิตของเรา”
เขาบอกกับ “ผู้จัดการ”
เขาจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสนุกสนานกับการเล่นกอล์ฟและบริดจ์
แต่กว่าจะถึงวันนั้นสมบูรณ์ นันทาภิวัตน์ จะต้องเผชิญอะไรอีกบ้าง?