น่าจะมีคนเป็นจำนวนมากอยากทราบว่าเขา-วานิช ไชยวรรณ รู้สึกนึกคิดเช่นไรเกี่ยวกับเรื่องวุ่น
ๆ ในแบงก์แหลมทอง หรือพูดอีกทีก็คือความขัดแย้งระหว่างสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
กับกลุ่มสุระ จันทร์ศรีชวาลา
เคยมีคนถามสุระเกี่ยวกับท่าทีของวานิช ไชยวรรณ ภายหลังที่มีข่าวออกมาว่าสุระแอบดอดไปคุยกับวานิชก่อนหน้าการยื่นหนังสือขอให้มีการเปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มสุระ
4 ข้อ โดยข้อที่ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดคือการพิจารณาถอดถอนสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
ออกจากตำแหน่ง
“เฮียวานิช อึดอัดใจมาก แกพูดกับผมว่าถ้ารู้มาก่อนว่าเข้าแบงก์แหลมทอง
แล้วต้องมาเจอปัญหายุ่ง ๆ อย่างนี้ รับรองไม่เข้ามาแน่....” สุระ จันทร์ศรีชวาลายืนยันกับ
“ผู้จัดการ”
มีบางคนแสดงความเห็นในเชิงวิเคราะห์ลึกลงไปอีก
“คุณวานิชอยากจะขายหุ้นแหลมทองรู้แล้วรู้รอดด้วยซ้ำไป เพียงแต่ก็คงจะติดขัดที่คุณสมบูรณ์
เข้าใจว่าคงจะมีข้อตกลงกันอยู่บางอย่าง”
บางคนที่ไม่ใช่บางคนข้างต้นก็มองเป็นตรงกันข้าม
“กลุ่มวานิช ไชยวรรณ เป็นกลุ่มที่ลอยตัวมาตลอด ก็อาจจะพูดได้ว่าเมื่อตาอินกับตานาทะเลาะกัน
กลุ่มวานิช ไชยวรรณ ก็น่าจะเป็นตาอยู่ได้ไม่ยาก เพราะเกมที่ผ่าน ๆ มาเห็นได้ชัดว่าทั้งสมบูรณ์และสุระไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์เลย
มีแต่เจ็บมากหรือเจ็บน้อยเท่านั้น”
แต่ไม่ว่าใครจะพูดกันอย่างไรแค่ไหน ตัววานิช ไชยวรรณ ไม่เคยพูดเลยสักคำว่าจริง ๆ แล้วเขารู้สึกนึกคิดเช่นไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น วานิช ไชยวรรณ ปิดปากตัวเองได้สนิทมาก ๆ
ในทันทีที่วาณิช ไชยวรรณเดินออกมาจากห้องประชุมบนชั้น 4 ของแบงก์แหลมทองสำนักงานใหญ่ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ห้องประชุมแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นของแบงก์
ผู้สื่อข่าวหลายคนตรงเข้าไปห้อมล้อมวานิชพร้อมกับป้อนคำถามไปหลายคำถาม โดยเฉพาะ
“ผู้จัดการ” ถามวานิชว่า บรรยากาศการประชุมเป็นอย่างไร
ด้วยสีหน้าเงียบขรึมตามสไตล์ปกติและเท้าที่ก้าวเดินเร็วเป็นพิเศษ วานิชพูดกึ่งบ่นออกมาไม่กี่วลี
“นั่งจนเมื่อยหลัง...”
แล้วก็ไม่พูดหรือตอบอะไรอีก
วานิช ไชยวรรณ เป็นนักธุรกิจที่เคย “เก็บปากเก็บคำ” อย่างไรคง
“เก็บปากเก็บคำ” เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
วานิช ไชยวรรณ พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนนครปฐม พ่อแม่คือนายง้วนกับนางเชียะเง้ง
มีร้านขายของโชวห่วยเล็ก ๆ อยู่ที่ตัวจังหวัด
เขาเหมือนลูกหลานคนจีนที่ทำมาค้าขายอีกหลาย ๆ คน คือเรียนหนังสือให้พออ่านออกเขียนได้
และรู้จักบวกลบคูณหารแล้วออกมาหาประสบการณ์จริงด้วยการทำการค้าให้ครอบครัว
จะมาทำค้าขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “พรสวรรค์” เฉพาะตัว... ว่างั้นเถอะ....
วานิช ไชยวรรณ มีชื่อเดิมชื่อสุน คนที่รู้จักวานิชมานาน ๆ จึงมักเรียกเขาว่า
“สุน” หรือ “เฮียสุน” ซึ่งถ้าใครเรียกอย่างนี้ก็จะเป็นที่ทราบกันว่า
น่าจะรู้จักวานิชตั้งแต่วานิชยังเป็นนักธุรกิจระดับภูธรไม่ใช่ระดับชาติ เช่น
ทุกวันนี้
เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มนั้นวานิชแยกตัวจากครอบครัวไปทำการค้าอยู่ทางภาคใต้
ขายสินค้า จิปาถะ และเริ่มร่ำรวยหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี
และยิ่งร่ำรวยเป็นปึกแผ่นขึ้นเมื่อมาทำโรงเหล้าที่จังหวัดนครปฐมบ้านเกิด
จากนั้นก็มาซื้อบริษัทประกันชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งติดอันดับ “บ๊วยสุด”
มาไว้ในครอบครอง เป็นการ DIVERSIFIED ครั้งที่เปลี่ยนโฉมหน้าและฐานะของวานิช
ไชยวรรณ จากเจ้าของโรงเหล้าธรรมดา ๆ (ซึ่งสำหรับในต่างจังหวัดก็นับว่าไม่ใช่ธรรมดา ๆ เด็ดขาด) มาเป็นนักธุรกิจเจ้าของสถาบันการเงินระดับชาติอย่างเต็มภาคภูมิ
ก็ต้องยอมรับวานิช ไชยวรรณเป็นคนที่มีสายตายาวไกลมากคนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนอะไรสูงส่งมาก่อนก็ตาม
“เพราะถ้าเขาไม่คิดไกลหรือมองไกลแล้ว คนอย่างวานิช อย่างมากก็คงเป็นไปแค่เศรษฐีเจ้าของโรงเหล้าต่างจังหวัดคนหนึ่ง คงไม่ก้าวมาได้ไกลขนาดนี้แน่ ๆ” แหล่งข่าวในวงการเงินคนหนึ่งให้ข้อคิดเห็น
บริษัทประกันชีวิตที่ว่านี้ ชื่อไทยประกันชีวิต ปีที่วานิช ไชยวรรณ ซื้อก็คือปลายปี
2513
และเมื่อซื้อมาครอบครองแล้ว วานิช ไชยวรรณก็มอบการบริหารกิจการทั้งหมดให้กับ
อนิวรรตน์ กฤตยากีรณ ของพ่อ ดร. กอรป กฤตยากีรณ รับผิดชอบไปอย่างเด็ดขาด
“เรียกว่าพ่อ ดร. กอรปจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ไทยประกันชีวิตโตขึ้นมาได้เท่านั้น
วานิชบอกพอใจที่สุด” ผู้บริหารของไทยประกันชีวิตที่เคยร่วมงานกับพ่อ
ดร. กอรป ในช่วงแรก ๆ เล่ากับ “ผู้จัดการ”
ถ้าพูดถึงความ “ใจถึง” แล้ววานิช ก็น่าจะเป็นคนที่ “ใจถึง”
มาก ๆ อีกทั้งรู้จักใช้คนด้วย เพราะเขาเลือกไม่พลาดหรอก คุณอนิวรรตน์เป็นเพชรน้ำหนึ่งของวงการประกันจริง ๆ” แหล่งข่าวคนเดินสรุป
อนิวรรตน์ กฤตยากีรณ เดิมทำงานที่บริษัทไทยสมุทร มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
จากไทยสมุทรฯ ก็ย้ายมานั่งเป็นผู้บริหารให้บริษัทไทยประสิทธิประกันภัยยุคก่อนที่สุระ
จันทร์ศรีชวาลาจะเข้ามาเทกโอเวอร์ แล้วย้ายอีกครั้งมาที่บริษัทศรีอยุธยาประกันภัย
จนปลายปี 2513 วานิช ไชยวรรณ ก็ดึงอนิวรรตน์ มานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยประกันชีวิต
และด้วยประสบการณ์และความสามารถของอนิวรรต์บวกความ “ใจถึง” ของวานิช
ไทยประกันชีวิต จากบริษัทที่ถูกจัดอยู่ “บ๊วยสุด” ก็เจริญเติบโตมาอย่างรวดเร็ว
“ผมอยากจะพูดว่าไทยประกันชีวิต เติบโตขึ้นมาได้ด้วยนโยบายผสมผสานอาจจะเรียกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างแนวทางการบริหารแบเอไอเอกับไทยสมุทรเข้าด้วยกัน
คือเอไอเอนั้นกลุ่มลูกค้าของเขาส่วนมากจะเป็นผู้มีรายได้สูง ส่วนไทยสมุทรก็เรียกว่าขายประกันให้มวลชนจริง ๆ คนรายได้น้อยก็มาเป็นลูกค้าประกันชีวิตได้ ซึ่งสำหรับไทยประกันชีวิตแล้วเขาวางกลุ่มลูกค้าไว้ทุกระดับ
เซลล์ขายประกันก็จะมีความชำนาญเฉพาะกลุ่มลูกค้าไป คือ บางคนก็ขายชาวบ้านลูกทุ่งหน่อย
บางคนก็ขายกับนักธุรกิจหรือคนมีฐานะ การฝึกฝนจะต่างกัน มันเป็นการบริหารที่ยาก
แต่เขาก็ทำได้สำเร็จ ก็เป็นเคล็ดอันหนึ่งที่ทำให้เขาโตขึ้นมาอย่างพรวดพราดในช่วงระยะสั้น ๆ” นักขายประกันผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนับ 20 ปีอธิบาย
ก็คงไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งวานิช ไชยวรรณ ไม่ให้เดินหน้าต่อไป
บริษัทไพบูลย์ประกันภัย, บริษัทไทยประกันสุขภาพก็เลยต้องเป็นอีก 2 กิจการที่วานิช
ไชยวรรณ เอาเข้ามาอยู่ในเครือไทยประกันชีวิต
และได้เข้าไปมีหุ้นในธนาคาร, สถาบันการเงิน รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ อีก หลายแห่ง
อย่างเช่น ธนาคารทหารไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บูรพา, ไทเม็กซ์ไฟแนนซ์และบริษัทไทเม็กซ์
อินดัสทรีส์ เป็นต้น
ซึ่งการเข้าไปของวานิช “คอนเนกชัน” ที่ควรจะต้องพูดถึงก็คือ
“คอนเนกชัน” ระหว่างเขากับอนุตร์ อัศวานนท์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยที่ทั้ง
2 ฝ่ายใกล้ชิดสนิทสนมกันมานานพอสมควรแล้ว
การเข้าไปมีหุ้นในไทเม็กซ์ไฟแนนซ์ และไทเม็กซ์ อินดัสทรีส์ที่ผลิตน้ำมันพืชขายนั้น
ก็เป็นอนุตร์ อัศวานนท์ ที่แนะนำให้วานิชได้มีโอกาสรู้จักกับดาโต๊ะ โรเบิร์ต
ชาน นักธุรกิจมาเลย์เชื้อสายจีน ประธานกลุ่มบริษัทปาลม์ของมาเลเซีย เพราะอนุตร์มีศักดิ์เป็นพี่เขยของดาโต๊ะฯ
และเฉพาะในไทแม็กซ์ อินดัสทรีย์นอกจากจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างวานิช
ไชยวรรณ กับกลุ่มปาล์มโก้แล้ว อีกคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ด้วยคือ อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ น้องชายสมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์
วานิช ไชยวรรณ-อนุตร์ อัศวานนท์-ดาโต๊ะโรเบิร์ต ชาน- อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์
จึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก
การเข้าไปมีหุ้นในธนาคารแหลมทองของวานิช ไชยวรรณ กับกลุ่มปาล์มโก้ ก็ไม่น่าจะเป็นอื่นไปได้
ถ้าไม่ใช่เป็นการประสานของอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์
“แต่ผมไม่เคยรู้จักเขามาก่อนนะเขามาพบผม มาแนะนำตัว แล้วก็บอกว่าอยากจะเข้ามามีหุ้นและเป็นกรรมการแบงก์ เพราะจะเป็นเกียรติยศแก่ตัวเขา เพราะกรรมการของแบงก์เราก็ล้วนแล้วแต่ผู้ใหญ่มีหน้ามีตา
แรก ๆ ก็ผมก็ยังไม่ให้คำตอบ ต้องสอบประวัติกันอีกพักใหญ่ ๆ ซึ่งก็พบว่าเขาเป็นคนดี
น่านับถือ คณะกรรมการของเราก็เลยตัดสินใจขายหุ้นให้เขา 1 แสนหุ้น แล้วตอนหลัง
ดาโต๊ะโรเบิร์ต ชาน ก็ติดต่อขอซื้ออีก 1 แสนหุ้น เราก็เลยขายให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไป 2 แสนหุ้น จากหุ้นงวดนั้นทั้งหมด 2 แสน 3 หมื่นหุ้น” สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เล่ากับ “ผู้จัดการ” ถึงเบื้องหลังการเข้ามาในแบงก์แหลมทองเมื่อต้นปี
2527 ของวานิช ไชยวรรณ กับกลุ่มปาล์มโก้ ซึ่งสมบูรณ์ไม่ปฏิเสธเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวานิช
ไชยวรรณ กลุ่มปาล์มโก้ กับ อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์
ส่วนว่าจะเป็นการเข้ามาภายใต้เงื่อนไขอย่างไรบ้างหรือไม่นั้น ไม่มีการพูดถึง
เช่นเดียวกับที่วานิช กับดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานเองก็อาจจะนึกไม่ถึงว่ามันเป็นการเข้ามาอยู่ระหว่างเขาควายแท้
ๆ
เพียงแต่ถ้าจะมองกันอีกในแง่มุมหนึ่งก็ต้องนับเป็นการยืนอยู่ระหว่างเขาควายที่ทำให้วานิชกับกลุ่มปาล์มโก้นี้มีความหมายมาก
“กลุ่มคุณวานิชกับปาล์มโก้พยายามรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ราว ๆ
24 เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด คุณคิดดูก็แล้วกันว่าจะมีความหมายมากน้อยแค่ไหนในขณะที่กลุ่มคุณเล็ก
นันทาภิวัฒน์ กับสุระมีอยู่ราว ๆ 42 เปอร์เซ็นต์ และพยายามโค่นกลุ่มคุณสมบูรณ์กับคุณอภิวัฒน์ที่กุมอำนาจการบริหารอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย
ซึ่งที่คุณสมบูรณ์กับอภิวัฒน์ยืนอยู่ได้ก็เพราะยังสามารถได้ความสนับสนุนจากกลุ่มคุณวานิชและปาล์มโก้...”
แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งช่วยจับประเด็น
เพราะฉะนั้นสำหรับเล็ก นันทาภิวัฒน์ และสุระแล้ว การเอากลุ่มสมบูรณ์ออกไปจากตำแหน่งบริหารในแบงก์แหลมทองจึงต้องพุ่งความสนใจไปที่ตัวแปรอย่างวานิชกกับปาล์มโก้
ซึ่งก็มีทั้งการติดต่อขอรับซื้อหุ้นจากวานิช การดึงวานิชเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วย
ไปจนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อจะทำให้หุ้นจำนวนกว่า 9 แสนหุ้นของวานิช
กลายเป็นหุ้นที่ผิดกฎหมาย ใช้ออกเสียงสนับสนุนใครต่อใครไม่ได้อีกต่อไป
“ซึ่งผมถือว่าสุระทำพลาดมาก คือ ถ้าจะใช้วิธีหนึ่งวิธีใดก็ใช้ไป แต่ถ้าคุณใช้ทั้งวิธีดึงในขณะเดียวกันก็พยายามกันไม่ให้เขามีเสียง
หุ้นที่ถือเป็นหุ้นเสียอย่างนี้นอกจากสุระจะดึงวานิชต้องยืนอยู่ข้างสมบูรณ์เหนียวแน่นขึ้น
เพราะวานิชเองลงเงินซื้อหุ้นมาแล้วก็คงไม่อยากเสียเงินฟรีต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นเสียแน่
ๆ...” แหล่งข่าวระดับวงในคนหนึ่งวิเคราะห์
ข้อวิเคราะห์นี้ได้รับการพิสูจน์ไปแล้วในการประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่
28 มีนาคมที่ผ่านมา
เพราะกลุ่มวานิช ไชยวรรณ ยังคงเทเสียงให้กับกลุ่มสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เหมือนทุกครั้ง
ความขัดแย้งในแบงก์แหลมทองระหว่างกลุ่มสมบูรณ์กับกลุ่มสุระนั้นคงไม่ใช่ความขัดแย้งที่จะยุติกันไปง่าย ๆ
ที่ผ่าน ๆ มานั้น อาจจะพูดได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งเริ่มเป็นผู้กระทำให้อีกฝ่ายต้องตั้งรับและเมื่อได้โอกาสฝ่ายตั้งรับก็ตีตอบโต้กลับเอาบ้าง
เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดเวลาโดยกลุ่มวานิชกับปาล์มโก้ก็ต้องเป็นตัวแปรที่นั่งดูเฉย ๆ กระทั่งถึงจุดที่จะต้องชี้ขาดจึงค่อยเทเสียงหนุนฝ่ายสมบูรณ์ให้ครองอำนาจต่อไป
คำถามก็คือจะนั่งอยู่เฉย ๆ เช่นนี้ไปได้นานแค่ไหน
จะมีสักวันหนึ่งไหมที่กลุ่มนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของแบงก์แหลมทองด้วยตนเองบ้าง
“อย่างเช่นกรณีที่กลุ่มคุณเล็กกับสุระเห็นว่าสู้ไปแล้วก็มีแต่เปลืองตัว ตัดสินใจเทหุ้นทั้งหมดขายให้กลุ่มวานิชขึ้นมาล่ะ
อะไรจะเกิดขึ้น...” ผู้ติดตามสถานการณ์คนหนึ่งปุจฉาขึ้นมาลอย ๆ
วานิช ไชยวรรณ ในสายตาสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์นั้นเป็นวานิช ไชยวรรณที่เข้ามาในแหลมทองอย่างบริสุทธิ์ใจ เพียงเพื่อต้องการหน้าตาและชื่อเสียงในฐานะกรรมการแบงก์แหลมทองคนหนึ่ง
อีกทั้งก็เป็นคนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับน้องชายคนเล็กที่ชื่อ อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์
เป็นอย่างดี (วานิชเริ่มรู้จักกับอภิวัฒน์และอนุตร์ อัศวนนท์ เมื่อครั้งที่เป็น
“กัมประโด” ให้กับธนาคารไทยพัฒนา ที่ปัจจุบันคือ ธนาคารมหานคร ซึ่งทั้งอภิวัฒน์และอนุตร์ก็ทำงานอยู่ในธนาคารไทยพัฒนาด้วย)
ส่วนในสายตาของสุระ จันทร์ศรีชวาลาแล้ว วานิชเป็นคนที่สามารถเป็นไปได้ทั้งมิตรและศัตรูพร้อม ๆ กัน สุดแท้แต่เงื่อนไขและสถานการณ์จะโน้มเอียงให้เป็นมิตรหรือศัตรู เพราะถ้าจะว่าไปแล้วทั้งสุระและวานิชก็เป็นนักธุรกิจที่ PRACTICAL มาก ๆ
“สองคนนี้เป็นคนประเภทที่เมื่อทำธุรกิจแล้วต้องระลึกเสมอว่า ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร”
คนที่พอจะรู้จักทั้งสุระและวานิชเล่าให้ฟัง
ก็คงจะมีแต่วานิชในสายตาของวานิชเองเท่านั้นที่น่าจะต้องตั้งคำถาม อย่างเช่น
คำถามง่าย ๆ เกี่ยวกับเจตนาการเข้ามาในแบงก์แหลมทองของวานิชในสายตาของสมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์ เป็นต้น
สมบูรณ์ จะคำนึงหรือไม่ก็ตาม แต่สมบูรณ์ต้องไม่ปฏิเสธแน่ว่า กลุ่มไทยประกันชีวิตของวานิชนั้นถ้าจะว่าไปก็ใหญ่กว่าแบงก์แหลมทอง
การเป็นเจ้าของอาณาจักรที่ใหญ่กว่าแต่อยากเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์องค์กรที่เล็กกว่า
ก็เป็นเรื่องน่าคิดอยู่ไม่น้อยว่า จะช่วยให้มีเกียรติหรือหน้าตามากขึ้นอย่างไร?
หรืออาจจะเป็นเพราะองค์กรที่เล็กกว่าเผอิญเป็นแบงก์พาณิชย์?
“แต่ขอโทษเถอะ ผมว่าอย่างคุณวานิชถ้าอยากเป็นกรรมการแบงก์จริง ๆ เป็นที่ทหารไทยไปนานแล้ว
คุณลองเปรียบเทียบดูก็แล้วกันว่า ถ้าเพื่อเกียรติและหน้าตาแล้วระหว่างการเป็นกรรมการแบงก์ทหารไทยกับแบงก์แหลมทอง อะไรควรจะเป็นสิ่งที่ต้องเลือกมากกว่า…” แบงเกอร์คนหนึ่งให้ความคิดเห็น
จริง ๆ แล้ววานิชกำลังคิดอะไรกันแน่!?