Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2529
แบงก์แหลมทองก่อนปี 2525 ตำนานของ “นันทาภิวัฒน์” และ “ราชนิกูล” ณ ซอยอโศก!?!             

 


   
search resources

ธนาคารแหลมทอง
สุระ จันทร์ศรีชวาลา
กุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา
สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
ใหญ่ นันทาภิวัฒน์
ไพศาล นันทาภิวัฒน์
วุฒิเทพ นันทาภิวัฒน์
Banking




สิ่งที่ไม่น่าเชื่อแต่ต้องปลงใจเชื่อเกิดขึ้นได้เสมอในธุรกิจด้อยพัฒนาเช่น ประเทศเรา !

ปัญหาธนาคารแหลมทองเป็น CASE STUDY ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจที่ใช้ความพยายามอย่างมาก ๆ ในการทำความเข้าใจในปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานในธนาคารที่เล็กที่สุดของประเทศเล็ก ๆ ซึ่งดูไม่ใหญ่กว่าโรงจำนำเท่าใดนักนี้

บางทีคำตอบที่ได้รับ มันง่ายกว่าคิดเสียอีก!?

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติเคยเล่าว่า เขาได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเหตุผลของการเติบโตอย่างเชื่องช้าที่สุดของธนาคารหวั่งหลี (นครธนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีอายุยาวนานมากในประเทศนี้ ในที่สุดความพยายามเขาได้รับคำตอบง่าย ๆ ว่าคนตระกูลหวั่งหลีเจ้าของธนาคารไม่ต้องการให้โต

ไม่เพียงแต่ธนาคารนครธนเท่านั้น การศึกษาความเติบโตของธนาคารขนาดเล็กของประเทศเราอาจจะใช้ “คำตอบ” ที่เป็นสูตรนี้มาอรรถาธิบายได้ แน่นอนย่อมรวมธนาคารแหลมทองซึ่งบริหารโดยคนของตระกูลนันทาภิวัฒน์ จนเป็นธนาคารที่เล็กที่สุดเข้าไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นปริศนาสำคัญ-ที่มาแห่งความขัดแย้งของกลุ่มผู้ถือหุ้น 2 ฝ่ายที่ปะทุไม่หยุดเวลานี้ เกิดขึ้นมาอย่างไรในที่สุดอาจจะต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อพบคำตอบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ชนิดที่เป็นไปแล้วแทนปมเงื่อนที่คิดกันว่าคงสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง

นักศึกษาที่คิดจะทำ THESIS เกี่ยวกับปัญหาธนาคารนี้ คงจะต้องลำบากใจอย่างมากในเรื่อง FOOTNOTE หรือบางทีนักศึกษา MBA ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าที่ยก CASE STUDY นี้ขึ้นมาศึกษา อาจจะถือว่า “โจ๊ก” ที่สุดเรื่องหนึ่งก็ได้ !

ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ ทายาทของ “หลี ฮั้วเฮง” ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากซัวเถามาอยู่เมืองไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 คนแซ่หลีคนนี้มีกิจการโรงสีขนาดใหญ่มาก ชื่อ “ฮั้วเฮงบี้”

ใหญ่เติบใหญ่ได้ร่ำเรียนโรงเรียนที่ดีดุจคนจีนนักธุรกิจที่มีอันจะกินสมัยนั้น เขาเริ่มที่โรงเรียนปทุมคงคาและมาจบที่อัสสัมชัญ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้ดำเนินธุรกิจโรงสีสืบต่อจากผู้เป็นพ่อ จะด้วยเหตุใดไม่แจ้ง โรงสีขนาดใหญ่มีอันต้องเจ๊งไปในที่สุดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน

ใหญ่เป็นคนกว้างขวาง เขาคบทั้งคนจีนด้วยกันและราชนิกูล เขาได้ชื่อว่าเป็นคนขององค์พระนครสวรรค์เข้านอกออกในวังเสมอ ๆ “คุณพ่อผมเลี้ยงลูกทุกคนแบบคนไทย ผิดกับคนจีนรุ่นเดียวกัน พวกผมเรียนโรงเรียนไทย ไม่พูดภาษาจีนกันเลย” สมปองซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวุฒิเทพ ทายาทคนที่ 3 ของใหญ่เล่ากำพืดของครอบครัวนันทาภิวัฒน์ในอดีตให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

ผู้ที่รู้จักใหญ่ดีเล่าให้ฟังว่า เขาชอบนุ่งผ้าม่วงเวลาสังสรรค์กับพวก “เจ้านาย” ดุจข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมยึดถือปฏิบัติทั่วไปเวลานั้น คนจีนทั่วไปถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับ “เจ้านาย” ก็หาได้ปฏิบัติเช่นใหญ่ไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ผู้จัดการ” พบหลักฐานภาพสีน้ำมันของใหญ่ นันทาภิวัฒน์ ในชุด “ราชปะแตน” ในห้องประชุมสำนักงานใหญ่ธนาคารแหลมทองปัจจุบัน

“มิน่าเล่าลูกคุณใหญ่หลายคน เช่น คุณสมปอง และอภิวัฒน์ จึงแต่งงานกับหม่อมราชวงศ์” นักธุรกิจเก่าคนหนึ่งร่วมแสดงความเห็นสนับสนุน

ใหญ่คบเพื่อนมาก บางเสียงก็ว่าเขาใช้วงพนันเป็นที่รู้จักและคบคน “รุ่นลูก ๆ ไม่มีใครเทียบเขาได้ คุณใหญ่เป็นคนใจป้ำ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับคุณพจน์ สารสิน สหัท มหาคุณ เคยเล่นการพนันด้วยกันจนเคยถูกตำรวจจับ” ผู้อยู่วงการธนาคารมาค่อนชีวิต ปัจจุบันอายุเกือบ 80 ปีเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

และแล้วก่อนที่ญี่ปุ่นจะเปิดฉากรุกใหญ่ ทำสงครามช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะระเบิดอย่างแท้จริง ใหญ่ได้ยึดอาชีพทำเหมืองแร่ ค้าขายแร่ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยตั้งชื่อว่าบริษัทไพศาล จำกัด อันเป็นชื่อลูกชายคนโต “แร่ที่สำคัญตอนนั้นคือดีบุกและวุลแฟรม ซึ่งเป็นที่ต้องการของญี่ปุ่นมาก การค้าแร่ทำให้ครอบครัวคุณใหญ่รวยเอามาก ๆ”

ใหญ่เป็นคนมองการณ์ไกล เขาเห็นว่าอนาคตการค้าแร่- เหมืองแร่ใช่จะรุ่งโรจน์ตลอดไปไม่ “คุณพ่อคิดว่าการค้าปัจจุบันไม่มีอะไรดีเท่าการค้าเงิน ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในความคิดของนักธุรกิจรุ่นเก่ารุ่นนั้นเกือบทุกคน” วุฒิเทพบอก

ประเทศไทยเกิดมีธนาคารระยะไล่เลี่ยกัน 5 แห่ง ในช่วงก่อนจะเกิดสงครามเกาหลี หรือหลังสงครามโลกที่ 2 ยุติลง หรือในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อันได้แก่ ธนาคารแหลมทอง ธนาคารเกษตร ธนาคารสหธนาคาร ธนาคารศรีนคร ธนาคารไทยทนุ (โปรดอ่าน “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 30 เดือนมีนาคม 2529 เรื่องสหธนาคาร...ในตอนกำเนิดสหธนาคาร)

ในบรรดาธนาคาร 5 แห่งนั้น ใหญ่กับพรรคพวกได้ชิงเปิดธนาคารแหลมทอง ก่อนใคร ๆ!

พรรคพวกของเขาประกอบด้วย หลีเบน เบญจฤทธิ์ (คนแซ่หลีเหมือนกัน) นักธุรกิจใหญ่มาก เจ้าของบริษัทเซาอีสต์เอเชียเทรดดิ้ง ทำการค้าเกือบทุกอย่าง ทั้งส่งออก-นำเข้าสินค้า ตึกของบริษัทนี้ใหญ่มากในเวลานั้น เมื่อธนาคารแหลมทองตั้งขึ้นครั้งแรกก็อาศัยชั้นล่างตึกนี้เป็นที่ทำการ นอกจากนี้หลีเบนยังเป็นเอเย่นต์เรือ ซึ่งมีสาขาอยู่ที่ฮ่องกง และเป็นผู้จัดการบริษัทเดินเรือทะเลไทยอีกด้วย

อีกปีกหนึ่งได้แก่ บุญทอง สันติกาญจน์ เจ้าของบริษัทไทยประสิทธิ์ ซึ่งต่อมามีไทยประสิทธิ์ประกันภัยและประกันชีวิต (ปัจจุบันตกมาเป็นของสุระ จันทร์ศรีชวาลา) เจียร วาณิช พ่อค้าแร่พังงา ซึ่งเป็นต้นตระกูลเจียรวนิช เจ้าพ่อภาคใต้ในปัจจุบัน ทุกวันนี้มีกิจการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาก และโอสถ โกสิน นักกฎหมายหนุ่ม ทั้ง 3 คนเป็นเพื่อนสนิทกันมาก

“ยังไม่ทันดำเนินการ ก็เกิดขัดแย้งทางความคิดกันขึ้น คุณบุญทองซึ่งค้าขายกับฝรั่งที่สิงคโปร์ มีความเห็นว่าคนไทยไม่มีความสามารถในการบริหารแบงก์จึงเสนอให้ฝรั่งมาเป็นผู้จัดการ คุณพ่อไม่เห็นด้วย โดยยืนยันว่าตนบริหารแบงก์ได้ กลุ่มคนบุญทองจึงแยกตัวออกในเวลาต่อมา” วุฒิเทพ นันทาภิวัฒน์ เล่าความหลังให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีเพื่อนมาก ใหญ่ก็สามารถรวบรวมพรรคพวกได้ ที่สำคัญได้แก่ จุติ บุญสง พลตรี ไชย ประทีประเสน พลตรีสฤษฏิ์ ธนรัชต์ (ยศขณะนั้น) “จอมพลสฤษดิ์ นั้นคุณพงศ์สวัสดิ์ สุริโยทัย พ่อเลี้ยงค้าไม้ที่เชียงใหม่แนะนำคุณพ่อให้รู้จัก” สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการจัดการธนาคารแหลมทองคนปัจจุบัน บอกกับ “ผู้จัดการ” เอง

ทั้งสองคนนี้วุฒิเทพยืนยันว่ามาถือหุ้นของธนาคารด้วย “จอมพลสฤษดิ์ถือหุ้น 10% โดยท่านไม่มายุ่งเกี่ยวในการบริหารเลย การที่ท่านเข้ามาทำเพราะกรรมการเห็นว่าจะเป็นการดีในการดำเนินการ เพราะขณะนั้นท่านเป็นคนที่มีอำนาจคนหนึ่ง”

กรรมการชุดแรกของธนาคารแหลมทองประกอบด้วย พระยาปรีชานุศาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นประธานกรรมการ กรรมการคนอื่นมีจอมพลสฤษดิ์ พลตรีไชย ประทีประเสน พยัพ ศรีกาญจนา เบน เบญจฤทธิ์ จุติ บุญสง โอสถ โกสิน ไพศาล นันทาภิวัฒน์ โดยมีใหญ่ นันทาภิวัฒน์ เป็นกรรมการจัดการ

ธนาคารแหลมทองได้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2491

ปัญหาใหญ่ที่ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ต้องเผชิญในด่านสุดท้ายก็คือการจัดการหรือบริหารงานธนาคารซึ่งถูกปรามาสว่าไม่มีความสามารถ บุคคลซึ่งคนตระกูลนันทาภิวัฒน์จะลืมเสียมิได้คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

“อาจารย์หม่อมท่านเป็นคนแปลก นึกจะพอใจใครท่านก็ช่วยอย่างเต็มที่โดยไม่คิดอะไร ไม่คิดค่าตอบแทน พอเรื่องนี้รู้ถึงหูคุณวิลาส โอสถานันท์ แห่งธนาคารเกษตร ก็มาขอร้องท่านให้ช่วยบ้าง ท่านเรียกตั้ง 5 หมื่นบาท สมัยนั้นไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ” วุฒิเทพเล่าปูมหลังให้ “ผู้จัดการ” ฟังอย่างละเอียด

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และมีประสบการณ์ในงานธนาคารมาก่อน เคยเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง และเคยทำงานอยู่ธนาคารชาติ โดยโดดเข้ามาช่วยวางรูปงานบริหาร งานด้านเอกสารทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นคนหาสมุห์บัญชีมือดีมาประจำธนาคารแหลมทองอีก 2 คน คือ ตริน บุนนาค (สามี) และจิตรา บุนนาค (ภรรยา) แห่งสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศ “คุณตรินและคุณจิตราเป็นนักเรียนบัญชีรุ่นแรกของจุฬาฯ รุ่นเดียวกับคุณเฉลิม ประจวบเหมาะ”

เถาวัลย์ นันทาภิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการธนาคารแหลมทอง และทายาทคนที่ 4 ของ ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ เคยพูดกับ “ผู้จัดการ” ถึงหม่อมคึกฤทธิ์ไว้ว่า “ท่านมีบุญคุณต่อแบงก์ในยุคเริ่มต้นอย่างมาก ปัจจุบันท่านยังมีหุ้นอยู่ในแบงก์ด้วย” พร้อมกันนั้นเถาวัลย์ ก็ชี้ให้ดูรูปของหม่อมคึกฤทธิ์ ซึ่งสถิตอยู่ในห้องทำงานของตนอันแสดงถึงความเคารพอย่างสูง

ธนาคารแหลมทองประกาศว่าทุนจดทะเบียนครั้งแรก 12 ล้านบาท มากกว่าทุกธนาคารที่ก่อตั้งในระยะไล่เลี่ยกัน แต่ข่าวบางกระแสอ้างว่าที่แท้จริงมีเพียง 3 ล้านบาท เท่านั้น “ที่เหลือทำบัญชีว่าได้กู้บรรดาผู้ถือหุ้นไปแล้ว” เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารชาติรุ่นเก่าแย้ม ๆ กับ “ผู้จัดการ”

สมบูรณ์ วุฒิเทพ และเถาวัลย์ ยืนยันกับ “ผู้จัดการ” ว่าเริ่มแรกตระกูลนันทาภิวัฒน์ถือหุ้นในธนาคารแหลมทองมากที่สุด 60% ดังนั้นใหญ่ นันทาภิวัฒน์จึงได้มอบสิทธิ์ในการบริหารงานโดยนำลูกชายที่พ้นการศึกษาแล้ว 3 คนมาช่วยบริหารงาน

ใหญ่นั้นถือว่าได้เป็นพนักงานระดับซูเปอร์ A (เรียกกันสมัยนั้น) คือมีอำนาจลงนามแทนธนาคารเพียงผู้เดียวก็ได้ ไพศาลดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการ สมบูรณ์นั้นเข้ามาดำรงตำแหน่ง CHIEF CASHIER ก่อนจึงมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ทั้ง 2 คนเป็น OFFICER ระดับ A เหมือนกัน ส่วนวุฒิเทพเข้ามาเป็นเสมียนธรรมดา

สมปอง (วุฒิเทพ) นันทาภิวัฒน์ ลูกชายคนที่สามของใหญ่ เรียนหนังสือจากเมืองไทยเพียงเล็กน้อย ก็บุกข้ามทะเลไปเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ด้านการต่อเรือที่ประเทศญี่ปุ่น เขาอยู่ประเทศนั้นถึง 10 ปี

เขากลับมาเมืองไทยแบบมือเปล่าไม่มีปริญญาติดตัว เมื่อเข้าทำงานที่ธนาคารแหลมทอง จึงเป็นเสมียนธรรมดาตั้งแต่ยุคธนาคารก่อตั้ง ทำงานเพียง 2-3 ปี ผู้พ่อก็ส่งไปเรียนด้านธนาคารที่ประเทศอังกฤษ รุ่นเดียวกับประสิทธิ์ ณ พัทลุง อดีตหัวหน้าฝ่ายกฎหมายธนาคารชาติ ยุค ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เขากลับถูกกีดกันไม่ให้เป็น OFFICER วุฒิเทพจึงตัดสินใจโบกมือลาออกจากธนาคารตั้งแต่ปี 2496

“มีคนบอกว่าธนาคารเราเล็ก ไม่เห็นควรเสนอผมเป็น OFFICER ผมไม่พอใจมากจึงขอลาออก พอดีช่วงนั้นคุณพ่อเป็นหนึ่งเอกชนที่ฝ่ายเอกชนที่ร่วมหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จึงส่งตัวผมไปเป็นผู้ช่วยคุณเลื่อน พงษ์โสภณ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมขณะนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการ” วุฒิเทพเปิดใจกับ “ผู้จัดการ” โดยไม่ยอมบอกว่าใครเป็นคนกีดกันไม่ให้เขาเป็น OFFICER แต่ก็พอจะเดาออก

เขาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยไม่กี่ปี ก็ล้มป่วยจนต้องรักษาตัวที่ฮาวายในขณะที่จอมพลผิน ชุณหะวันทราบว่ากิจการบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลฯ กำไรดีจึงเข้ายึดบริหารกิจการด้วยคนของตนเอง

เพราะการรักษาตัวที่ฮาวาย วุฒิเทพจึงได้รู้จักฝรั่งเจ้าของกิจการผลิตน้ำส้มในเมืองไทย ดังนั้นเมื่อสุขภาพเขาดีขึ้น เขาจึงมาทำงานกับบริษัทไบเล่ย์ (ประเทศไทย) จนถึงปี 2506 อันเป็นช่วงที่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ร่วมทุนกับญี่ปุ่นตั้งบริษัทกรุงเทพอบพืชและไซโล วุฒิเทพจึงถูกดึงตัวมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ “ผมเห็นว่าเขาเป็นนักเรียนเก่าที่ญี่ปุ่น คงทำงานกับญี่ปุ่นได้ดี” สมบูรณ์พูดถึงเหตุผลที่ดึงน้องชายของตนเข้ามาเกี่ยวข้องกับธนาคารอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะกิจการกรุงเทพอบพืชและไซโล ธนาคารแหลมทองถือหุ้นใหญ่

“ญี่ปุ่นที่เป็นผู้จัดการกระทำความผิด นำเงินของบริษัทไปหมุนจึงต้องพิจารณาตัวเองลาออกไป ผมจึงเป็นผู้จัดการแทนตั้งแต่ปี 2509” วุฒิเทพบอก “ผู้จัดการ”

ทุกอย่างดำเนินมาด้วยดี ดูเหมือนเป็นกิจการหนึ่งที่ธนาคารแหลมทองภาคภูมิใจมาก แต่แล้วในปี 2523 ก็มีอันต้องทำให้วุฒิเทพต้องพ้นวิถีธนาคารแหลมทองอีกครั้ง และถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้าย เพราะวุฒิเทพประกาศไม่มาเกี่ยวข้องอีกเลยตราบที่มีชีวิตอยู่

“ประธานบริษัทเขาหาว่าผมทำงานบกพร่องจึงตั้งเงื่อนไขให้ผมต้องเอาโฉนดที่ดิน และหุ้นของธนาคารมาค้ำประกันการทำงานของตน ผมถือว่าการกระทำไม่ชอบธรรม” เขาบอก

ประธานบริษัทนี้ได้แก่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์!

ในปีเดียวกันนี้แต่ก่อนหน้าที่วุฒิเทพจะลาออกจากรุงเทพอบพืช มีเรื่องเล่ากัน (จริงบ้างไม่จริงบ้าง!?!) ว่ามีการทะเลาะกันเกิดขึ้นในบ้านไพศาล ซอยอโศก โดยเริ่มจากสุนัขตัวเดียว สุนัขเจ้ากรรมตัวนั้นไปกัดคนใช้ของอีกบ้านหนึ่งในบริเวณเดียวกัน ฝ่ายนั้นบังคับให้น้องชายของตนนำภรรยามาขอโทษ แต่ฝ่ายน้องชายบอกว่าไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้

วุฒิเทพจึงพาครอบครัว (ภรรยาของเขาชื่อ ม.ร.ว. มาลี วรวรรณ) ออกจากบ้านไพศาลมาสร้าง แฟลตให้ฝรั่งเช่า โดยครอบครัวตนเองอาศัยอยู่ชั้นล่างที่สุขุมวิท 16 ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา “บ้านของผมที่ซอยอโศกถูกปิดตายแต่นั้นมา” วุฒิเทพเล่า

มีการวิจารณ์กันมากว่าวุฒิเทพผู้ซึ่งเข้าใจเรื่อง COMMODITY ดีที่สุดของเมืองไทย และเป็นคนที่วงการส่งออกข้าวโพดนับถืออย่างสูง ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบมีเรื่องมีราวกับใคร (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ) เขาน่าจะเป็นผู้บริหารธนาคารแหลมทองที่สามารถคนหนึ่ง

ย้อนกลับไปครั้งแรกที่วุฒิเทพออกจากธนาคารแหลมทองมาอยู่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย เขาจากมาได้เพียงปีเดียว ใหญ่ก็ลาจากโลกไม่มีวันกลับด้วยโรคหัวใจ

ว่ากันว่าตระกูลนันทาภิวัฒน์ถูกคร่าชีวิตด้วยโรคนี้ อันเนื่องมาจากความดันโลหิตสูง ถือกันว่าเป็นกรรมพันธุ์ทั้งตระกูล “พวกเราเป็นคนหน้าแดงเวลาดื่มเหล้าหรือโกรธ” คนนันทาภิวัฒน์คนหนึ่งบอกสัญลักษณ์ของเขา ใหญ่ ไพศาล บุญยิ่ง หรือแม้แต่ภิวัฒน์ (เหน่ง) ก็จากโลกไปด้วยโรคเดียวกัน สมบูรณ์เองก็เคย HEART ATTACK จนต้องหามส่งโรงพยาบาลมาแล้วเช่นกัน

ไพศาล พี่ใหญ่จึงเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการต่อมา

ไพศาล นันทาภิวัฒน์ เป็นลูกชายคนแรกเริ่มเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบอันเป็นที่โรงเรียนที่ “เจ้านาย” นิยมสมัยนั้น ซึ่งปรากฏต่อมาคนตระกูลนันทาภิวัฒน์ส่วนใหญ่ต้องเรียนโรงเรียนนี้ จากนั้นก็เข้าธรรมศาสตร์ เรียนบัญชี แต่แล้วต้องออกกลางคันขณะที่เรียนได้ 2 ปี

เขาเริ่มทำงานเคียงคู่กับผู้เป็นพ่อในช่วงที่ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ร่ำรวยอย่างมาก ๆ หรือมากที่สุดเลยก็ว่าได้จากการทำเหมืองแร่- ค้าแร่ที่นครฯ

ดังนั้นเมื่อใหญ่ตั้งธนาคารแหลมทองไพศาลจึงเป็นหนึ่งในกรรมการชุดแรก และดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการในครั้งแรก เขาแต่งงานกับเล็ก หงสเวช “คุณเล็กถูกพี่ชายผมดึงมาช่วยงานที่แบงก์ในตำแหน่งแคชเชียร์ตั้งแต่ต้นจนเกษียณอายุ 65 ปี คุณเล็กมีความรู้พอสมควร เพราะจบ ม. 8” เถาวัลย์เล่า

เมื่อไพศาลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการเมื่อปี 2497 จึงเป็นเหตุสมควรอย่างยิ่ง เขาเป็น “ผู้ใหญ่” ที่คนนันทาภิวัฒน์เชื่อฟัง จะเป็นได้ว่าช่วงเขายังมีชีวิตอยู่ “ตำนาน” ของนันทาภิวัฒน์ยังเก็บเงียบงำ ณ บ้านซอยอโศกเท่านั้น มิได้ออกมาสู่สาธารณชนอย่างอื้อฉาวเช่นปัจจุบัน

ห้วงเวลา 21 ปีที่ไพศาลบริหารธนาคารแหลมทองนั้นดูเหมือนว่าทั้งไพศาลและธนาคาร LOW PROFILE พอ ๆ กัน ธนาคารนี้ไม่เคยเพิ่มทุนจดทะเบียนเลยตั้งแต่ช่วงใหญ่และไพศาลเป็นเวลาถึง 28 ปี “พี่ชายผมไม่ชอบขยายตัว ท่านเป็นคน CONSERVATIVE อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น” สมบูรณ์ ให้เหตุผลสั้น ๆ กับ “ผู้จัดการ”

อย่างไรก็ตาม ผลงานไพศาลที่จับต้องได้น่าจะยกขึ้นได้ 3 ประการ หนึ่ง-การย้ายสำนักงานจากตึกเซาท์อีสต์เอเชีย เทรดดิ้งมาอยู่สุรวงศ์ “รวมการตกแต่งมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท ขณะนั้นเป็นตึกที่ใหญ่มาก แต่ปัจจุบันเล็กกว่าแบงก์อื่นมาก” วุฒิเทพบอก สอง-การตั้งสาขาเพิ่ม 2 แห่งที่ อโศก (หน้าบ้านนันทาภิวัฒน์) และราชวงศ์

สาม-ชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมปริ๊นเซส ได้ริเริ่มโครงการโรงแรมดุสิตธานี มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อประมาณปี 2510 ช่วงแรกการดำเนินงานมีปัญหาการเงินอย่างมาก ชนัตถ์เร่ขอความสนับสนุนจากธนาคารหลายแห่งแต่ก็คว้าน้ำเหลว จนมาถึงธนาคารแหลมทองเล็ก ๆ แห่งนี้ “ไม่ใช่ผมคนเดียว พี่ชายผมเป็นคนสนับสนุน เราเห็นว่าคุณชนัตถ์เป็นคนดีมีความสามารถ เราก็แบ่งเป็น 3 ส่วนที่เหลือ 200 ล้าน คนละครึ่งกับธนาคารกรุงไทย ตอนนั้นคุณจำรัส จตุรภัทร เป็นผู้จัดการ แต่มอบหมายให้เราดำเนินการ” สมบูรณ์เล่ากับ “ผู้จัดการ” โดยมอบความดีครั้งนั้นให้พี่ชาย–ไพศาล นันทาภิวัฒน์

มีข้อสงสัยประการหนึ่งว่า ธนาคารแหลมทองเกิดขึ้นจากนายเหมืองหลาย ๆ คนจากปักษ์ใต้อันเป็นช่วงการค้าแร่กำลังบูมได้ที่ ธนาคารนี้น่าจะพุ่งแรงด้วย “ที่จริงลูกค้าหลายรายของแบงก์เราตอนเปิดกิจการใหม่กลับกลายเป็นหน่วยราชการ โรงไฟฟ้าวัดเลียบตอนนั้นเป็นเบลเยียม มาฝากเงินวันเดียว 7 ล้านบาท กรมไปรษณีย์ฯ ก็หลายล้าน เงินจากงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นหลวงพรหมโยธี เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งถือคุณพ่อผมเป็นคนของท่าน ส่วนฝ่ายเอกชนนั้นลูกค้ารายใหญ่ได้แก่บริษัท ซุ่นเฮงหลี พ่อค้าข้าวรายใหญ่ ต่อมาเจ๊งไป” วุฒิเทพผู้มีส่วนรู้เห็นการเกิดของธนาคารยุคแรก ๆ เล่าอย่างไม่ปิดบังกับ “ผู้จัดการ”

เขาเน้นว่า คนที่มีบุญคุณและอยู่เบื้องหลังอีกคนของการเกิดธนาคารแหลมทอง คือหลวงพรหมโยธีคนนี้!

“พ่อค้าเหมืองแร่ส่วนใหญ่เข้ามาใช้บริการแบงก์ฝรั่ง เช่น แบงก์ชาร์เตอร์ เนื่องจากสาขาที่ภาคใต้แหลมทองมาเปิดสาขาที่ภาคใต้ไม่กี่ปีนี้เอง อาจจะเป็นเพราะมันเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ DOCUMENT จากแบงก์ฝรั่ง ฝรั่งด้วยกันยอมรับ ผมไม่ทราบว่าตอนนั้นแบงก์แหลมทองเปิดแอล/ซีเป็นหรือยัง” อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติกล่าวเสริมกับ “ผู้จัดการ”

สำหรับ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ส่วนใหญ่เราเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมประมาณ 35-40% รองลงมาได้แก่อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต ส่วนค้าแร่นั้นแรก ๆ ก็มี พอมีบริษัทไทยซาโก้รับซื้อแต่เพียงผู้เดียว เราก็เลิกไป”

สมบูรณ์บอกว่าธนาคารแหลมทองสนใจอุตสาหกรรมตั้งแต่ไพศาลยังเป็นกรรมการจัดการ “มีน้อยโครงการที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ล้มไปหรือไม่ก็อาการหนัก” ผู้สังเกตการณ์บางคนวิเคราะห์ อันเป็นจุดหนึ่งที่เป็นอุปสรรคเติบโตของธนาคารแห่งนี้

ประการสำคัญจากการไม่เพิ่มทุนยาวนาน ธนาคารแหลมทองจึงไม่อาจหารายได้จากสินทรัพย์เช่นธนาคารใหญ่อื่น ๆ “นโยบายแบงก์แหลมทองก็เลยมีอยู่อย่างเดียว เล่นกันด้วย ACCEPTANCE MARKET การออกทีอาร์. ออกแอล/ซี และที่มากที่สุดคือการทำการันตีกับอาวัลเหมือนกัน แต่เขามุ่งไปที่การเอาลูกค้ามากู้เงินมากกว่าการไปการันตีตั๋วเงิน”

ธนาคารแหลมทองนับว่าโชคร้ายที่อาวัลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีปัญหากรณี “โคว้เฮงท้ง” แห่งเงินทุนหลักทรัพย์สหไทยรายเดียวก็อ่วมอรทัยมาจนทุกวันนี้

ไพศาลมีทายาทคนหนึ่ง ชื่อ ภิวัฒน์ (เหน่ง) จบการศึกษา BUSINESS ADMINISTRATION จาก BOSTON UNIVERSITY ด้วยความเป็นลูกนายธนาคาร ซึ่งลืมตามองโลกทุกอย่างผู้เป็นพ่อสร้างไว้ให้แล้ว เหน่งหนุ่มนักเรียนนอกจึงหรูหราฟุ่มเฟือย ใจป้ำกับเพื่อน ๆ ทุกคน “เหน่ง ลูกชายของพี่ผม ใหม่ ๆ ก็ไม่ค่อยเอาใจใส่งานนัก คุณพ่อรู้สึก UPSET ผมบอกว่าใจเย็น ๆ เผอิญพ่อเสียแกก็เริ่มทำงานจริงจังมากขึ้น” สมบูรณ์พูดถึงหลานชายของเขากับ “ผู้จัดการ” ด้วยสีหน้าและแววตาไม่สบายใจนัก จนต้องขอตัวเข้าห้องน้ำ ทำให้การสนทนาต้องยุติไปชั่วคราว เมื่อคำถามมาถึงตอนเขาเสียชีวิต

“เหน่ง คงคิดว่าคุณพ่อของเขายังอยู่อีกนาน จึงรู้สึกสบาย ๆ ไม่สนใจงานเท่าที่ควร แต่ผมเชื่อว่าเขาก็ต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเขาก็คือทายาทที่จะรับช่วงบริหารธนาคารต่อไป” วุฒิเทพอาของเหน่งอีกคนกล่าว

ไพศาลเสียชีวิตด้วยโรคประจำตระกูลเมื่อปี 2518 นำความโศกเศร้าเสียใจอย่างมากสู่ตระกูลนันทาภิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เล็กกับเหน่ง ภรรยาและบุตรชายคนโตของเขา

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ (อ่านล้อมกรอบ เรื่องของสมบูรณ์โดยเฉพาะ) เปิดใจกับ “ผู้จัดการ” ถึงการด่วนจากไปของพี่ชายว่า “ก็ไม่เซอร์ไพรส์สำหรับผม เพราะผมเป็นกรรมการรองผู้จัดการเมื่อพี่ปุบปับมาเสีย ผมก็ต้องขึ้นมาโดยตำแหน่ง แต่เซอร์ไพรซ์ตรงที่พี่ชายผมอายุสั้น มาเสียชีวิตทั้งที่อายุ 55 ปี”

ไพศาลจากไปเมื่อเหน่งอายุประมาณ 26 ปี

“เมื่อพี่ชายเสีย ผมก็เอาน้องชายผม อภิวัฒน์มา ให้เขาลาออกจากงานมาช่วยงานแบงก์” สมบูรณ์เล่าถึงแผนการบริหารธนาคารหลังจากไม่มีไพศาล

อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ทายาทคนที่ 7 ของนันทาภิวัฒน์ เรียนจบบัญชี จากจุฬาฯ แล้วเดินทางไปสหรัฐอเมริกาคว้า MBA จาก MICHIGAN UNIVERSITY พร้อม ๆ กับภรรยาราชนิกูล - ม.ร.ว.รัศมี (นามสกุลเดิม ดิสกุล) “อภิวัฒน์เขามีความรู้ทางการเงิน เขาเคยทำงานอยู่บริษัทต่างประเทศและด้านอุตสาหกรรมที่บริษัทไม้อัดไทย ผมก็ขอร้องให้เขามาช่วยแบงก์ เนื่องจากเขามีความรู้เรื่องบัญชี ภาษาอังกฤษดี การที่เขาเข้ามาเขาต้องลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่ง” สมบูรณ์ เล่า

ก่อนหน้านั้น ม.ร.ว.รัศมี ได้เข้ามาทำงานกับธนาคารแหลมทองก่อนตั้งแต่ปี 2515 ในตำแหน่งผู้จัดการ สาขาอโศก โดยที่อภิวัฒน์เข้ามาในปี 2519 “โดยปกติเราถือว่า 2 คนในครอบครัวก็พอแล้วสำหรับงานบริหาร จะแห่กันมาเต็มธนาคารได้อย่างไร อีกอย่างทุกคนเขามีอาชีพของเขา” สมบูรณ์ให้เหตุผลกับ “ผู้จัดการ” ซึ่งถามว่าทำไมถึงดึงอภิวัฒน์เข้ามาหลังไพศาลตาย

บ้านของอภิวัฒน์อยู่ในซอยอโศกเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้อยู่บ้านไพศาล อยู่ตรงกันข้ามเพียงถนนแคบ ๆ ขวางกั้นซึ่งหาได้เป็นสิ่งกีดขวางคุณหญิงรัศมีได้ เธอไปมาหาสู่กับเล็กลูกสะใภ้คนโต ชนิดเช้าถึงเย็นถึง แต่อยู่ดีๆ เธอทั้งสองกลับผิดใจกัน “เรื่องของผู้หญิงผมไม่ทราบ” เถาวัลย์ปฏิเสธที่จะพูดถึงสาเหตุอย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวร่ำลือกันมากบอกว่าวันหนึ่งเล็ก นันทาภิวัฒน์ ป่วยนอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน คุณหญิงรัศมีค่อนข้างจะ “แหม่มจ๋า” แต่งชุดขาวดำไปเยี่ยม จนถูกต่อว่าต่อขานว่าเป็นการกระทำไม่ถูกกาลเทศะ อย่างไรก็ตาม คุณหญิงรัศมีเองก็ยอมจะไปขอโทษ “ตอนนั้นคุณไพศาลยังมีชีวิตอยู่ ทุกอย่างก็จบโดยง่าย” เกี่ยวกับความขัดแย้ง ระหว่างสะใภ้ นันทาภิวัฒน์ 2 คนนี้ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพี่ใหญ่ปัจจุบันก็ยอมรับว่ามีจริง

จุด CLIMAX จริง ๆ เล็ก นันทาภิวัฒน์ ไม่พอใจคุณหญิงรัศมีมาก ๆ เมื่ออภิวัฒน์เข้ามาในธนาคารแล้วนั่นเอง!

อภิวัฒน์ก็เหมือนสายทางผู้ชายปีกหนึ่งของนันทาภิวัฒน์ ที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า STRONG PERSON ALITY (เช่น สมบูรณ์ ภิวัฒน์ ส่วนไพศาล วุฒิเทพ เถาวัลย์ ดูภายนอกเป็นคนค่อนข้างนิ่มนวลแต่ภายในก็แข็งพอ ๆ กัน) “ยิ่งมาประกบคุณหญิงรัศมีจึงมีลักษณะการทำงาน พูดเหมือนผู้ชายอกสามศอก ก็เลยทำอะไรต่ออะไรที่ออกมาจากคู่นี้ดูแข็งไปหมด”

แต่อภิวัฒน์โชคดีอยู่อย่างที่ได้ต่อสู้นอกธนาคารแหลมทองมาร่วม 15 ปี โดยทำธุรกิจตนเองและถูกส่งตัวเข้าไปฟื้นฟูธนาคารไทยพัฒนา ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารมหานคร

และการเข้าไปธนาคารไทยพัฒนายุคนั้นได้มีโอกาสรู้จักวานิช ไชยวรรณ ซึ่งเป็นกัมประโดของธนาคารไทยพัฒนาอยู่!

การทำงานข้างนอกมานานทำให้อภิวัฒน์รู้ซึ้งถึง COMPETENT MANAGEMENT และเห็นว่าธนาคาร ถ้าจะเน้นในแง่ OWNERSHIP แล้วจะไปไม่ได้ไกล ซึ่งความคิดนี้อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ฝ่ายอากับภิวัฒน์ (เหน่ง) ฝ่ายหลานมักจะมีข้อขัดแย้งในด้าน CONCEPT อยู่ตลอดเวลา...” (โปรดอ่าน “ผู้จัดการ” ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 เดือนมีนาคม 2527 เรื่องจากปก)

วุฒิเทพ (ซึ่งรู้ ๆ กันว่าแทบจะไม่นับญาติกับสมบูรณ์) เถาวัลย์ หรือแม้แต่สมบูรณ์เองก็ยอมรับกับ “ผู้จัดการ” เป็นเสียงเดียวกันว่า ภิวัฒน์ (เหน่ง) เริ่มสนใจกิจการธนาคารอย่างมาก ๆ เมื่อพ่อ (ไพศาล) ได้เสียไป “ตอนนั้นเป็นคนหนุ่มเลือดร้อน เขาถือว่าเขาคือทายาทก็ประกาศว่าเขาจะเป็นผู้บริหารแบงก์แหลมทองคนต่อไป ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเขาถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดในขณะนั้น” วุฒิเทพแสดงความเห็นประกอบ

สุระ จันทร์ศรีชวาลา กล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า “คุณเหน่งเอาการเอางานหลังจากคุณไพศาลเสียเพราะพวกผมแทนที่จะทำงานเข้าตอนสี่โมงเช้าหรือไม่เข้าเลย แกมาทำงานแต่เช้าก่อนพนักงานทุกคนด้วยซ้ำ”

อีกจุดหนึ่งที่ทั้งสามยืนยันเหมือนกันคือ ถ้าจะนับเฉพาะตระกูลนันทาภิวัฒน์ “มองหน้ากันไม่ติด” ในระยะหลัง ๆ

รัมภา (ลูกสาวคุณสรรเสริญ ไกรจิตติ อธิบดีศาลอุทธรณ์) ภรรยาของเหน่งดูเหมือนจะเข้ากับ ม.ร.ว.รัศมี ภรรยาอภิวัฒน์ ไม่ค่อยจะได้อีกด้วย

จะเป็นเหตุบังเอิญ หรือจงใจไม่ทราบได้ หลังจากอภิวัฒน์เข้ามาในแหลมทองเพียงปีเดียวอภิวัฒน์ก็เริ่มก่อตัวความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและธุรกิจกับกุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา โดยผ่านทางสมหวัง ภูวเศรษฐ์ อดีตผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของธนาคารทหารไทย จากการที่สมหวังเห็นว่ากุรดิษฐ์ เป็นคนตั้งใจทำงานและเป็นคนทำงานจริง สมหวังจึงดึงกุรดิษฐ์ มารู้จักกับอภิวัฒน์

“กุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา เป็นน้องชายสุระ เป็นตัวจักรที่สำคัญในการหาเงินทองให้กับกลุ่มของตนเอง” ภิวัฒน์ (เหน่ง) อยู่ในตำแหน่งล่าสุดในธนาคารคืออันดับสามรองจากสมบูรณ์ และอภิวัฒน์ ความตรงนี้ค่อนข้างจะขัดแย้งกับสิ่งที่เปิดเผยในหนังสือพิมพ์ที่ผ่าน ๆ มา “ผมเข้าดูแล BANKING DEPARTMENT ถือว่าเป็นอันดับสาม ไม่ใช่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการและรับผิดชอบฝ่ายต่างประเทศ” สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ กล่าวกับ “ผู้จัดการ”

เถาวัลย์เป็นคนพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเล็ก นันทาภิวัฒน์ ขณะนั้นไม่พอใจอภิวัฒน์ เพราะถือว่าอภิวัฒน์เป็น “คู่แข่ง” ที่จะเป็นใหญ่ในธนาคาร จนถึงขั้นเสนอสมบูรณ์ให้เอาอภิวัฒน์ออกจากตำแหน่ง

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นคนกลางซึ่งค่อนข้างอึดอัดใจต่อกรณีนี้ จนมีบางกระแสข่าวกล่าวหาสมบูรณ์ว่า “เหยียบเรือสองแคม” และถึงขั้นสรุปเกินเลยไปว่า เขาคือต้นเหตุที่ทำให้อภิวัฒน์

ทั้งกุรดิษฐ์ และอภิวัฒน์ก็เป็นคนหนุ่มอายุไล่เลี่ยกัน (โปรดอ่าน “ผู้จัดการ” ฉบับที่อ้างแล้วข้างต้น)

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สุระเข้ามาเกี่ยวข้องกับธนาคารแหลมทองในฐานะลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งซึ่งเถาวัลย์กล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่าการทำธุรกิจร่วมกับกลุ่ม สุระ จันทร์ศรีชวาลา ในช่วงนั้นดำเนินไปด้วยดี ตามแรงสนับสนุนของภิวัฒน์และด้วยความเห็นชอบของสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ในฐานะกรรมการจัดการ “คุณสุระเองตอนนั้นก็ไม่มีอะไรเสียหาย การติดต่อธนาคารดำเนินไปตามหลักการไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลยเถิด” อย่างไรก็ตาม ต่อความเห็นของสุระกล่าวว่าภิวัฒน์คือผู้มีบุญคุณของพี่ชาย (สมบูรณ์) ผมด้วย เพราะเขาเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้ายเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินของกลุ่มเขา”

ว่ากันว่าการคบกันระหว่างภิวัฒน์กับกลุ่มสุระ จันทร์ศรีชวาลา นั้น ต่างฝ่ายมีเป้าหมายที่ต่างกันในช่วงแรก สุระถือว่าภิวัฒน์เป็น “ตัวเชื่อม” ไปสู่ธนาคารแหลมทอง ทำให้เขามีฐานการเงิน ส่วนภิวัฒน์มีเป้าหมายว่า ถึงวันหนึ่งเขาจะต้องดึงสุระมาเป็นพวก สำหรับการดำรงไว้ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมองว่านักธุรกิจกลุ่มนี้มีความสามารถ ซึ่งในระยะต่อมาความเห็นของทั้งสองฝ่ายตรงกัน

สุระกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ซึ่งสนับสนุนความจริงข้างต้นว่า “...เรามีสมมุติฐานว่าธุรกิจแบงก์เราไม่ยุ่ง เป็นของคุณเหน่งคนเดียว แต่เรายินดีทำทุกอย่างให้คุณเหน่ง อะไรที่คุณเหน่งต้องการ...ให้เราเป็น NOMINEE คุณเหน่งต้องการให้เราใช้ชื่อ เนื่องจากคุณเหน่งไม่มีมือ...”

ทำไมภิวัฒน์คิดเช่นนั้น คำตอบต้องย้อนไปอ่านคำสัมภาษณ์ของสมบูรณ์ เกี่ยวกับอนาคตของภิวัฒน์ที่ยกมาแต่ต้นอีกครั้งหนึ่ง

ภิวัฒน์ทำอะไรไปบ้างก็ไม่มีใครรู้ชัดในตอนนั้น แม้แต่เล็ก นันทาภิวัฒน์ ผู้เป็นแม่ที่พอจะทราบ ๆ เจตนาของลูกชายซึ่งตนก็เห็นพ้องด้วย แต่ก็คงไม่ทราบรายละเอียดมากนัก

เล็กซึ่งรู้สึกผิดหวังไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อสามี–ไพศาลมาจากไปกะทันหัน จึงฝากความหวังเต็มเปี่ยมไว้ที่ภิวัฒน์ลูกชาย

แต่แล้วภิวัฒน์ (เหน่ง) ก็มาด่วนจากไปโดยไม่มีวันกลับเสียก่อน

(ภิวัฒน์) เหน่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ซึ่งคนตระกูลนันทาภิวัฒน์เชื่อว่าเป็นโรคของตระกูล แต่บางคนที่เชื่อไสยศาสตร์ เช่น สุระ จันทร์ศรีชวาลา เขาเชื่อว่าเขาอาจถูก “อำนาจลึกลับบางอย่าง” ความคิดเช่นนี้สุระเป็นคนบอกกับ “ผู้จัดการ” เอง

เล็ก นันทาภิวัฒน์ เสียใจมากที่สุด นอกจากจะเนื่องมาสูญเสียลูกชายสุดที่รักแล้ว เธอยังรู้สึกว่าเธอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง ว่ากันว่าหลังจากคลายความเศร้าโศกไปบ้างแล้ว อารมณ์แห่งความเป็นหญิงของเธอก็พลุ่งพล่านเป็นพิเศษ!?!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us