Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2529
สมบูรณ์-สุระ ใครฉีกสัญญาประนีประนอมก่อน?             
 


   
search resources

ธนาคารแหลมทอง
สุระ จันทร์ศรีชวาลา
สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
Banking




ประเด็นนี้ไม่สู้มีข้อกังขากันเท่าใดนัก เพราะคงไม่มีใครยอมรับว่าฝ่ายตนเป็นผู้ฉีกสัญญาก่อน อย่างไรก็ตาม แง่มุมทัศนะที่มองซึ่งกันและกันว่า เป็นผู้ที่ละเมิดข้อตกลงประนีประนอมนั้นมีเหตุผลหนักแน่นไม่น้อย ส่วนจะตัดสินใจว่าเหตุผลใครดีกว่า...ก็แล้วแต่

สัญญาในเรื่องการถอนการฟ้องร้องซึ่งกันและกัน ได้รับการยอมรับและปฏิบัติกันทั้งสองฝ่าย ที่เป็นปัญหาก็คือข้อ 2.5 ที่มีข้อความว่าจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญของธนาคารแหลมทอง จำกัด เพื่อแก้ข้อบังคับเพิ่มจำนวนกรรมการ และดำเนินการให้ฝ่ายหนึ่ง (สุระ จันทร์ศรีชวาลา) ได้เข้าเป็นกรรมการบริหารธนาคาร และให้นางเล็ก นันทาภิวัฒน์ได้เข้าเป็นกรรมการของธนาคารภายในวันที่ 31 มีนาคม 2528

อีกข้อหนึ่งก็คือข้อ 2.6 ที่มีข้อความว่าธนาคารแหลมทอง จะให้การค้ำประกันและอาวัล แก่ฝ่ายหนึ่งหรือบริษัทในเครือ ซึ่งฝ่ายที่หนึ่งมีส่วนรับผิดชอบ และบริหารในวงเงิน 250 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ รวมทั้งการจดจำนองอันดับสองด้วย หากมีข้อโต้แย้งในการตีราคาหลักทรัพย์คู่สัญญาทั้งสองยินดีให้นายชาตรี โสภณพนิช เป็นผู้พิจารณาและชี้ขาด

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

ตอนที่คุณชาตรี โสภณพนิชเข้าไกล่เกลี่ยมันสาเหตุอะไร

มันจะมีสาเหตุอะไร...เพราะเหตุว่าผมกับคุณชาตรีก็ชอบพอกัน แล้วก็ให้แบงเกอร์ด้วยกัน มีเรื่องเราก็คุยอะไรกัน แกก็บอกว่าเจอสุระเขาเล่าให้ฟังยังงั้นยังงี้... มีอะไรก็ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกัน แกก็พูดยังงี้ ผมก็ว่าตามใจ.. คุณชาตรีทำได้ก็ดี ผมก็ไม่ขัดข้อง

เงื่อนไขที่คุณชาตรีทำให้ก็เป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย ผมก็ขอยืนยันว่าหนึ่งเป็นความริเริ่มของคุณชาตรีเองและเราสองฝ่ายก็เห็นชอบ ตกลงที่จะมีการไกล่เกลี่ย 2 เงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมทางเราไม่เคยเป็นผู้ผิดสัญญา...ทำอะไรทุกอย่างครบถ้วน อย่างที่เขากู้ แต่ขณะนั้นเราไม่มีวงเงินเป็นตัวเงินเราจะให้ความช่วยเหลือได้ก็ในรูปการค้ำประกันหรืออาวัล...แต่ต้องมีหลักประกันครบ เรายืนยันในหลักการ จะมาเอาฟรีแฮนด์อย่างแบงก์อื่นเราไม่ยอม

แล้วที่เขามาอ้างว่าแบงก์ให้เขาไม่ครบตามที่ตกลงกัน 250 ล้านบาท แล้วให้เขาไป 70-80 ล้าน ก็เพราะเขาไม่มีหลักประกันมาให้เรา ไม่ใช่เราไปเบี้ยวเขา

ข้อตกลงที่รวมไปถึงหลักทรัพย์ที่ค้ำเป็นครั้งที่สองหรือที่สามหรือไม่ ?

ก็ได้...แต่มันพอเพียงหรือคุ้มไหมล่ะ สมมุติว่าแปลงหนึ่งราคา 20 ล้านบาท แล้วเขาไปจำนองไว้แล้ว 10 ล้านบาท จะขอจำนอง 5 ล้าน...เราก็ยินดีพิจารณา แต่มันไม่มีอย่างที่ว่า แต่ละครั้งที่เขามาที่ดินของเขาตีราคามาตารางวาละหมื่น แบงก์อื่นเขาตีให้ 2,000 บาท มันผิดกันอย่างนี้ ตายแล้ว...คุณจะไปพูดอะไรกัน แล้วเราก็มีข้อตกลงกันว่าถ้ามีข้อถกเถียงกันในเรื่องนี้ให้แบงก์กรุงเทพซึ่งเป็นคนกลางตีราคา ตัวนายสุระเองเขาก็มาหาผมบอกว่าให้แบงก์นี้จัดการ...ไม่ต้องไปหาแบงก์อื่นเลย ท่านว่าเท่าไหร่ ทางผมถือว่าตีได้ตรงกัน…คือเขารู้ว่าขายหน้า

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วเขาก็มาหาผม บอกว่าเขาเดือดร้อน...ต้องการสัก 10 ล้านบาท...ไม่มีหลักทรัพย์ เขาก็ควักเช็คมา...ผมก็ว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกันผมจะช่วยคุณ...ก็ให้เขาเอาเช็คนี้ไปดิสเคาน์...ผมรับซื้อคุณ 9.5 ล้านบาท...เขาบอกว่าเป็นของลูกค้าเขาอีก 3-4 เดือนก็จะจ่ายให้ ซึ่งมันก็เกินข้อตกลงแล้ว แต่นี่ผมให้เขากู้โดยรับซื้อลดเช็ค เขามาทำในนามสยามวิทยา.. ตัวเขาเองก็เซ็น น้องชายเขานายกุรดิษฐ์ก็เซ็น

พอถึงเดือนมิถุนายน เช็คครบกำหนดก็เด้ง... ผมก็บอกว่าจะเอายังไงคุณสุระ เขาก็บอกว่าขอผลัดไปอีก ผมก็บอกไปว่าคุณไปจัดการเสียให้เรียบร้อย เพราะเราประชุมกรรมการเดือนละครั้ง และเดือนกรกฎาคมนี่ผมจะเสนอคุณเป็นกรรมการบริหาร ถ้าเรื่องเช็คไม่เรียบร้อยจะลำบาก กรรมการเขาซักผมแล้วผมแก้ตัวให้คุณไม่ได้...เขาก็บอกว่าครับ... ผมจะจัดการให้เรียบร้อยก่อนประชุม

พอวันศุกร์ปลายเดือนกรกฎาคม...เช็คก็เด้งอีก...เขาไม่ได้จัดแจงอะไร แต่ผมก็ยังรักษาคำพูด...ผมก็เสนอชื่อเขาเป็นกรรมการบริหาร มีหลักฐานในรายงานการประชุมคณะกรรมการหมด

คือตอนนั้นในความเห็นของคุณสมบูรณ์อยากให้เรื่องมันยุติ...

ไม่ใช่... คุณอย่าพูดอย่างนั้น มันไม่ยุติ ผมเป็นสุภาพบุรุษ...พูดคำไหนคำนั้น ไม่มีอะไรที่ผมต้องไปบิดพลิ้ว...แม้ไม่ได้เขียนกันเป็นสัญญาผมก็ต้องเสนอชื่อเขา ก็อย่างที่ผมพูดให้ฟังตอนแรก...เงินที่เขาเคลมมาผมก็ใช้ให้ มันไม่ใช่เกี่ยวกับว่ายุติ ผมรับปากกับใครผมต้องรักษาคำพูดของผม ผมก็เสนอ...ที่ประชุม ถามนายสุระมีหนี้สินเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ผมก็ต้องบอกว่ามีเช็คจำนวนหนึ่ง...เขาก็บอกว่าอย่างนั้นรับไม่ได้ จะเป็นกรรมการบริหารมีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อ...เร่งรัดสินเชื่อ จะมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ถ้าตัวเองยังมีหนี้สินกับธนาคาร

คณะกรรมการทุกคนเขาไม่รับหมด...คุณจะให้ผมทำยังไง ผมจะไปโอเวอร์รูลกรรมการเขาได้อย่างไร แล้วมีกรรมการคนหนึ่งเสนอว่าถ้าเป็นอย่างนี้ ให้ข้อเสนอเรื่องนายสุระจะเป็นกรรมการบริหารให้ยกเลิกไปเลย...ยกเลิก ผมยังขอกับที่ประชุมว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เรื่องกรรมการบริหารในการประชุมคราวนี้ผมถอนไปก่อน แต่ถ้านายสุระชำระหนี้สินแล้วผมจะเสนอเข้ามาใหม่

แล้วจะมาว่าผมเบี้ยว...ไม่ตั้งเขาเป็นกรรมการบริหาร และมาแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างนี้ แล้วคุณลองคิดดูซิระหว่างเดือนกรกฎาคม-มิถุนายน...ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่ทราบ เขาไปทำใต้ดินกว้านซื้อหุ้นไว้หมดเรียบร้อยมาโอนเอาต้นเดือนสิงหาคม ผมมารู้เรื่องก็กลางเดือนสิงหาคม

ซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อย...

ไม่ใช่...คุณพยัพ (ศรีกาญจนา) กรรมการของผม

คุณพยัพตอนนั้นถือไว้เท่าไหร่ ?

ก็ไม่รู้เขารวมหัวกันขายไปตอนนั้นก็ประมาณ 3 แสนหุ้นล่ะ

ทำไมขาย

คุณไปถามเขาเองสิ...ผมไม่ตอบปัญหาของคนอื่น เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ก่อตั้งแบงก์มา นี่ก็เป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้เขาลาออกก่อนครับวาระ...เขาคงละอายมั้ง

พอผมรู้...เขาประกาศโครมว่าจะทำยังงั้นยังงี้ พอการประชุมเดือนสิงหาคม...ต่อมา ทั้งที่เรารู้เรื่องการกว้านซื้อหุ้นแล้ว ก็พูดกันเรื่องหนี้สินอะไรต่าง ๆ เขาก็บอกว่าขอเวลาอีกหน่อย เขาจะมาจัดการเรื่องเช็ค 9.5 ล้านบาทภายในวันที่ 15 กันยายน (2528) ส่วนหนี้สินเซาท์เอเชีย ไฟเบอร์ เขาก็จะขอผ่อนผันทำสัญญากู้กันใหม่แต่ดอกเบี้ยเขาจะเริ่มตั้งต้นชำระแล้ว...ทั้งนี้ทั้งนั้นภายในวันที่ 15 กันยายน จะต้องเรียบร้อย ถ้าเกินจากนั้นแล้วขอให้ธนาคารดำเนินคดีได้

นี่ก็เป็นหลักฐานที่ปรากฏในการประชุมกรรมการ แล้วพอเลยวันที่ 15 กันยายน...ทุกอย่างเขาไม่ทำสักอย่าง แล้วคุณจะให้ผมทำอย่างไร ผมก็ต้องดำเนินคดีฟ้องคดีแพ่งกับเขากับสยามวิทยา...เรียกใช้เช็คคืน 9.5 ล้านบาท ฟ้องดำเนินคดีเซาท์เอเชียไฟเบอร์ร่วม 50 ล้านบาท เขาก็อยู่ด้วยในการประชุมคณะกรรมการและเขาเป็นคนให้คำมั่นสัญญาในที่ประชุม

แล้วที่เขาไปพูดกับหนังสือพิมพ์ว่าผมไม่รักษาคำพูดตามสัญญาประนีประนอม ผมอยากทราบว่าผมผิดตรงไหน ถ้าคุณเป็นผมคุณจะรู้สึกแฟร์ไหมที่เขามาทำอย่างนี้กับผม หรือถ้าคุณเป็นผมคุณจะทำไหม...คุณจะไม่ฟ้องอย่างนั้นเหรอ ผมทำตามมติของคณะกรรมการ และตัวของเขาเองเป็นคนยืนยันในคณะกรรมการอย่างนั้น...ผมทำไม่ได้ทำเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ผมไม่ได้ทำเพราะมีเรื่องเจ็บใจ ผูกอาฆาตอะไร ผมฟ้องเขาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ส่วนที่เขาฟ้องกลับมานี่ผมไม่ทราบว่าอะไร...ผมฟ้องเพราะมีเหตุผลที่ต้องฟ้อง ไม่ใช่ไปพาลว่าเพราะเขามาซื้อหุ้นเรา...เราจึงฟ้องเขา ไม่ใช่เราเห็นว่าเขากว้านซื้อหุ้นแบงก์โครมๆ แล้วประกาศว่าจะยึดแบงก์เราจึงไปฟ้องเขา...นั่นไม่ใช่เหตุผล

ผมอยากให้คุณเขียนลงไปว่า...ไม่ใช่เหตุผลที่เขาอ้างว่าผมโกรธเขา...เขาไปซื้อหุ้นได้เป็นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเจ้าของแบงก์หรืออะไร... ผมถึงต้องหาทางแก้ลำโดยการฟ้องร้องเขา...มันไม่จริง ถึงเขาเป็นเจ้าของแล้วทำแบบนี้โดยที่ผมยังเป็นกรรมการผู้จัดการผมก็ต้องฟ้อง

ปกติแล้วลูกค้าที่ธนาคารจะฟ้องร้องนี่ไม่ต้องถึงกรรมการหรอก ผมมีอำนาจเต็มที่ในการฟ้องร้อง เพราะผมได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ...ไม่ต้องผ่านกรรมการเลย แต่เฉพาะรายนายสุระนี่ ผมเห็นว่าหนึ่งฐานะเขาเป็นกรรมการ สองผมมีสัญญาประนีประนอม ผมจึงเสนอให้คณะกรรมการ...เขาจึงมีมติออกมา

ในการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดคุณสุระพูดบ่อย ๆ ว่าคณะกรรมการให้เวลาเขาน้อยมากในการหาเงินมาซื้อหุ้น

อ๋อ... ก็แน่ละสิ ก็เขาทำแบบนี้มันถูกหรือผิด คุณ...เมื่อคุณรู้ว่าอันตรายกำลังจะมาถึงคุณ คุณก็ต้องมีไหวพริบ มีเล่ห์เหลี่ยมที่จะมาหักมาแก้กัน อยู่ดี ๆ คุณจะปล่อยให้เขากว้านซื้อหุ้นเข้ามาเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ป้องกันหรือ แล้วเราก็อยากจะรู้... คือตอนนั้นหุ้นของเรามีอยู่ 3 ล้านหุ้น เขาก็บอกว่าเขามีเท่านั้นเท่านี้เราก็ไม่รู้ เพราะเขาซื้อแล้วเขาไม่โอน

ถ้าเราจะรู้ได้ก็มีอย่างเดียวก็คือเพิ่มทุนอีกทีเพื่อให้รู้แน่ว่าตัวเลขของเขามีเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นเขาต้องรีบมาโอน ... มา แสดงออกมาเลย ตอนนั้นเราจึงรู้ว่าเขามีอยู่ 40 กว่าไม่เกิน 42 เปอร์เซ็นต์ ก็เมื่อตอนหยั่งเสียงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (28 มีนาคม 2529) เขาก็มีอยู่ 41.5 เปอร์เซ็นต์ เราต้องป้องกันตัวเราเอง เราก็อยากจะรู้เขามีเท่าไหร่...ใครขายให้เขาไปบ้าง เราก็ต้องประกาศเพิ่มทุนทันที... มันก็ออกมาอย่างนั้น

เขาจะมาอ้างว่าให้เวลาเขาน้อยนี่ ...ผมและผู้ถือหุ้นทุกคนก็มีเวลารู้แค่สองอาทิตย์เหมือนกัน แต่ผู้ถือหุ้นทุกคนที่เขาซื้อเขาเอาเงินของเขาใส่เข้าไป แต่ของคุณสุระต้องไปกู้เงินเขา... มันผิดกันอยู่ตรงนี้ คนอื่นเขามีเงินของเขา เพราะฉะนั้นการที่คนอื่นเขาพูดหรือการที่ผู้ถือหุ้นอื่นเขาไม่ต่อว่าผม... เงินเขามีอยู่ในกระเป๋าเขาเห็นแบงก์จำเป็น... เขาก็ให้ ที่มีเหลือไม่ซื้อหุ้นเพิ่มก็มีอยู่ 3-4 พันหุ้น...เท่านั้นเอง นอกนั้นทุกคนเขาก็ให้มาหมด

แล้วที่นายสุระไปเที่ยวขอซื้อสิทธิ์เขา หุ้นละ 100 บาท เขายังไม่ขายเลย เขาขายไม่ดีกว่าหรือ...3, 000 หุ้นก็ได้แล้ว 3 แสนบาท แน่นอนคนอื่นเขาไม่มาบ่นไม่มาว่า เขาสละสิทธิ์เขาก็ไม่เคยบ่นเคยว่า เพราะผู้ถือหุ้นคนอื่น... เป็นเงินของเขา นายสุระต้องไปกู้เขามานี่ แน่นอนจะว่าผมลูกไม้หรือแท็คติค... ผมเป็นผู้จัดการของแบงก์... รู้ว่าจุดอ่อนอยู่ที่ไหนผมก็ต้องป้องกัน จะให้ผมมานั่งเฉย ๆ ได้อย่างไร

สุระ จันทร์ศรีชวาลา

คุณชาตรีเข้ามาได้อย่างไร

ผมไม่ทราบ คือจู่ ๆ ผมได้รับโทรศัพท์จาก ดร. วิชิต (สุรพงษ์ชัย) ว่าบอสต้องการพบ ผมก็เรียนถามว่าเรื่องอะไร ก็ได้รับคำตอบว่าคงเป็นเรื่องรามาฯ หรือเรื่อง...ผมก็ว่า... เอ คือผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องนี้ ผมก็ถามตรง ๆ เขาก็บอกว่านายต้องการพบเรื่องนี้เพราะคุณสมบูรณ์ไปหา ผมก็ไป... ผมเห็นว่าคุณชาตรีตอนนั้นทำดีที่สุด

และตัวผมเองก็มีแรงกดดันคือพวกผมตราหน้าผมว่าถ้าตอนนั้นไม่เพิ่มทุนจาก 50 ล้านเป็น 100 ล้านปัญหาจบไปแล้ว.. ทุกวันนี้จะไม่มีปัญหา

คุณสุระถือว่าช่วงนั้นได้เปรียบอยู่

ผมไม่ได้ถือว่าผมได้เปรียบอะไรนะ แต่ผมเชื่อว่าในขณะนั้นเขาต้องยอม ถ้าเขาต้องการจะรักษาแบงก์นี้ ... เพราะเขาเพิ่มทุนไม่ได้

คือต้องได้เสียง 3 ใน 4 ถึงจะเพิ่มได้

ครับ.... คือตอนนั้นคุณเล็ก (นันทาภิวัฒน์) คอนโทรลอยู่ 27 เปอร์เซ็นต์... คุณแม่ไม่ยอม

ก็เลยโกรธคุณสุระ

ทุกคนโกรธผมหมดเพราะผมไปประนีประนอม ซึ่งต่อมาเมื่อเพิ่มทุนได้แล้ว เขาก็บิดตัวรายงานการประชุมว่าขายให้คนอื่น ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วขายไม่ได้

ตอนที่คุณสุระไปพบคุณชาตรี คุณชาตรีว่าอย่างไร ?

ผมบอกก็ว่าได้ ผมไม่ได้ขัดข้องหากว่ามันเกี่ยวกับผมคนเดียวแต่มันไม่ใช่ของผมคนเดียว มันเป็นของกลุ่มทั้งหมด ตอนแรกเขาจะไม่ทำสัญญาอะไรเลย... ทางเราไม่ยอม คือผมคิดว่าแบงก์จะต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่พรรคพวกผมก็ว่าเขาต้องเบี้ยวแน่ และผมจะต้องเป็นคดีความกับคุณสมบูรณ์

เรื่องที่คุณสุระไม่ได้เป็นกรรมการบริหาร รู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการอาวัลตั๋วเงินของสยามวิทยาไม่ครบ 250 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องเช็คแค่ 9.5 ล้านบาท

ผมว่าผมเคยพูดเรื่องนี้แล้วนะ... ถ้าผมจำไม่ผิด ผมจะอธิบายให้ฟัง ที่วันนั้นบอกว่าคณะกรรมการต้องการให้เคลียร์หนี้สินเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2527...วันที่ทำสัญญาประนีประนอมผมไม่ได้เป็นหนี้สินเขาเลย และเขาก็รู้ดีแก่ใจว่าในเมื่อเขาให้สินเชื่อกับกลุ่มสยามวิทยา 250 ล้านบาท ... มันต้องเกิดหนี้สินขึ้นมา นอกจากหนี้สินของอีสเตอร์โจ และหนี้สินของยนตรภัณฑ์...มันเป็นหนี้สินเดิมอยู่ เขาก็รู้แก่ใจ แล้วเขายังต้องการให้ผมเคลียร์นี่แสดงว่าเขาไม่ต้องการให้เราเป็นกรรมการบริหารตั้งแต่วันแรก

มีการบอกล่วงหน้าหรือเปล่าว่าให้เคลียร์หนี้สินก่อนเดือนกรกฎาคม 2528 เพื่อที่เขาจะได้เสนอชื่อคุณสุระเป็นกรรมการบริหาร ?

ไม่เคยครับ...แล้วทำไม.... ผมอยากถามคุณทำไมต้องใช้เวลานาน ถึง 6 เดือน ในสัญญานั้นผมคิดว่าระบุไว้ให้ผมเป็นภายใน 10 หรือ 15 วัน (ตามสัญญาระบุไว้ว่าภายในวันที่ 31 มีนาคม 2528) คือในเมื่อในฝ่ายผมทำทุกอย่างให้มันถูกต้องตามสัญญาแล้ว แต่ทำไมเขาต้องรีรอ ทำไมเขาไม่ให้สินเชื่อ เพราะเขามีเครื่องหมายคำถามอยู่ข้างหลัง

การอาวัลเงินกู้ที่ไม่ครบ 250 ล้าน เป็นเหตุมาจากหลักทรัพย์ที่มาค้ำมีมูลค่าไม่คุ้มกับหนี้หรือเปล่า

ไม่จริงถ้าคุณอ่านสัญญา.... ในสำเนาสัญญาฉบับนั้น เขียนไว้ว่าเขาจะให้สินเชื่อผมต่อเมื่อมีหลักทรัพย์นั้นทางฝ่ายผมไปจดจำนองอันดับสองให้เขา.... เขาก็ยินดีรับ

ข้อนี้รู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา ... ปัญหาคือเรื่องมูลค่าของหลักทรัพย์

ใช่ถูกต้อง...การจำนองอันดับที่สองหรือที่สามมันมีความหมายของมันอยู่ ตลอดเวลาหลักทรัพย์ที่ผมเอาไปให้เขานั้นคุ้มค่าทั้งหมด เขาบอกว่าหลักทรัพย์ของผมไม่คุ้มค่ามีรายไหนไม่คุ้มค่ายกตัวอย่าง ที่ดินที่สวนหลวงอย่างนี้ ....ตารางวาหนึ่งเขาขายกัน 7,000-9,000บาท เอาเป็นว่าประมาณ 7,500 บาท ไร่หนึ่งเท่าไหร่.... ก็ 3 ล้านบาท เขาตีราคาให้ผมเท่าไหร่ ตอนแรกบอกว่าจะตีให้ตารางวาละ 500 บาท ไร่หนึ่ง 2 แสนบาท

ตอนหลังทำไปทำมา... คุยกันอยู่ตั้งนาน เขาก็ไม่เชื่อ..ตัวเขาเองนี่โทร...ไปหาคุณประกิต ประทีปะเสน ว่าธนาคารไทยพาณิชย์รับจำนองที่ดินตรงนั้นไว้ไร่หนึ่งกี่ตังค์ ตกลงตอนหลังครั้งหลังถ้าผมจำไม่ผิดเขาให้ผมไร่หนึ่ง 6 แสนถึงหนึ่งล้านบาท .. คือตารางวาละ 1,500-2,000 บาท

ทำไมไม่หาคนกลางหรือแบงก์กรุงเทพตามที่ตกลงกันไว้?

เดี๋ยว...ประเด็นมันมีอยู่ว่าเวลาคุณญาติดีกัน ในขณะที่คุณยังดีกัน.... การที่คุณจะเอาบุคคลที่สามเข้ามาผมเห็นว่าไม่เป็นการสมควรเลย นอกจากว่าเราตกลงกันไม่รู้เรื่อง ในขณะนั้นเราตกลงกันรู้เรื่อง และผมก็ยอม... โอเค ผมคิดว่าอะไรที่เป็นไปได้ผมทำ และผมก็เอาโฉนดที่ดินที่สวนหลวงไปจำนำเขา 6 ไร่เศษ ในตอนนั้นเพื่อค้ำประกัน อันนี้ถือว่าตกลงกันได้

ดังนั้นการที่กู้ได้ไม่ครบ 250 ล้านบาทเป็นเพราะคุณสุระไม่ได้กู้ให้เต็มเอง

ไม่.. เขามีเป้าหมายอยู่แล้วว่าไม่ให้

ถ้าไม่ให้กรณีนี้ถือว่าตกลงกันไม่ได้แล้วน่าจะไปหาคนกลางได้แล้ว

คือเขา...เขาบอกมาเลยว่าไม่ให้ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นไปในลักษณะนี้ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว...คือเขากังขาอยู่ตลอดเวลาว่าผมคงไม่ใช้ FACILITY อันนี้ เอาเงินจำนวนนี้มาซื้อหุ้นของธนาคารแหลมทอง..เท่าที่ผมคิด

คือผมคิดว่านี่มันเป็นเจตนา...เขาไม่ตั้งผมเป็นกรรมการบริหาร .... ทำไมไม่ตั้ง เขากลัวว่าผมจะรู้ แล้วผมพยายาม...มีอะไร ผมพยายามขัด ถ้าทำอะไรไม่นอกลู่นอกทางผมไม่แคร์ ผมโต้ตอบในที่ประชุมว่ามันไม่ถูกต้อง แล้วผมมีอีกหลายกรณีที่ผมจะอธิบายทีหลัง .... เพราะบางทีขึ้นศาลผมอาจจะต้องพูดว่าผมนี่ห้ามอะไรเขาบ้าง ที่เขาไม่ให้ผมเป็นกรรมการบริหารเพราะเขา กลัวผมจะรู้อะไรต่ออะไรทุกอย่างแล้วผมจะยับยั้ง ที่ไม่ให้ FACILITY ผมก็เพราะกลัวผมจะเอาเงินนั้นมาซื้อหุ้น

คือเขาประเมินพวกเราต่ำไปเหมือนกันว่าพวกเราคงไม่มีทางที่จะหาเงินมาซื้อหุ้นได้

อยากให้เล่าเรื่องเช็ค 9.5 ล้านบาทนี่ยังไงกันแน่?

โอเค...มันเป็นเช็คของลูกค้ารายหนึ่งของผม ซึ่งเอาเงินมาชำระค่าเช่าที่นะฮะ เราเป็นหนี้แหลมทองเราก็เอาเช็คนั้นไปขายลดให้กับแหลมทอง สยามวิทยา... ไม่ใช่ตัวผม ไปขายลดเช็ค การขายลดเช็คมันเป็นเรื่องปกติวิสัย มันเป็นเรื่องธรรมดา พอเช็คถึงกำหนด...ทางเจ้าของเขาก็มาบอกว่าขอผัดผ่อนไปก่อนทางสยามวิทยาก็ไปบอกแหลมทองว่าขอผัดผ่อนไปก่อน…แกก็ไม่ยอม ตอนหลังแกก็เรียกเก็บเงินจำนวนนี้มาฟ้อง

สาเหตุที่เขาฟ้องเพราะว่าตอนหลังนี่เราเริ่มมีเสียงไม่พอใจกันแล้ว เพราะกรรมการบริหารก็ไม่ตั้ง...เงินก็ไม่ให้กู้ และการที่เขาเอาตัวเช็คนั้นมาบีบ ผมถือว่าจิตใจเขาเจตนาที่จะทำกันแล้ว

ทราบมาว่าเช็คครบกำหนด ถึง 2 ครั้ง ...ครั้งแรกเดือนมิถุนายน ครั้งที่สองวันที่ 15 กันยายน (2528)

ผมว่ามันเป็นการต่อของลูกค้า มันไม่ได้เป็นเช็คของสยามวิทยา มันเป็นการต่อ ลูกค้ารายนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีทรัพย์สิน...เขามี

การขายลดเช็คเป็นธุรกิจปกติ แต่เขาก็ถือเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ ว่ามาบีบกัน เพื่อจะทำให้เครดิตผมเสีย เพราะเขามีเป้าหมายที่จะไม่ให้ผมเป็นกรรมการบริหารอยู่แล้ว จึงเอาเรื่องนี้มาพูด หลังจากที่เขาควรทำเมื่อ 6 เดือนก่อน ซึ่งในขณะนั้นไม่เป็นหนี้สินอะไรเขาเลย

ทำไมเมื่อรู้เจตนาเขาอยู่แล้ว 9.5 ล้านนี่ก็น่าจะจัดการแทนลูกค้าไปเลยอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ไม่มีข้ออ้างหลงเหลือในการไม่ตั้งให้เป็นกรรมการบริหาร

อันนี้เป็นคำถามที่คุณพูดถูกและดีมาก แต่ในบางครั้งในวงการธุรกิจนี่นะคุณ มีอะไรต่ออะไรหลายอย่างที่คุณไม่สามารถอธิบายได้ ... นะฮะ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us