นับตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมาแล้วที่วงการคอมพิวเตอร์ของไทยเมื่อจะพูดถึงผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ภายใต้เครื่องหมายการค้า
"เด็ค" ก็ต้องพูดถึง "บีดีซี" ด้วยว่า "บีดีซี"
มีฐานะเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทยของ "เด็ค"
แต่ในระยะไม่กี่เดือนมานี้ การพูดถึง "บีดีซี" นอกจากจะต้องพูดถึง
"บีดีซี" แล้วก็อาจต้องพูดถึง "เอเอสแอล" ด้วย เพราะเผอิญ
"เอเอสแอล" ก็ขายผลิตภัณฑ์ของ "เด็ค" เหมือนกัน
การเข้ามาของ "เอเอสแอล" นั้นก็เข้ามาพร้อม ๆ กับข้ออ้างที่ว่า
"ตลาดคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยยังมีที่ว่างเพียงพอสำหรับผู้ที่ขายเด็คมากกว่าหนึ่งราย"
ส่วนเจ้าเก่าอย่าง "บีดีซี" ก็ยืนยันความเป็น "หนึ่งเดียวคนนี้"
ว่า "ดีบีซี" ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวถูกต้องทุกประการ
เพราะฉะนั้นการที่มีผู้ขายผลิตภัณฑ์ "เด็ค" โผล่เข้ามาแย่งชิงชิ้นปลามันไปต่อหน้าต่อตาเช่นนี้
หัวเด็ดตีนขาดก็จะเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้
พูดง่าย ๆ ก็คือมีแต่จะพังกันไปข้างหนึ่งเท่านั้น
"เด็ค" (DEC) เป็นผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของบริษัท DIGITAL EQUIPEMT
CORP แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกในด้านมินิคอมพิวเตอร์
(โดยเมื่อปี 2527 สามารถเอาชนะยอดขายของไอบีเอ็มไปได้อย่างหวุดหวิดแต่เมื่อรวมทุกผลิตภัณฑ์แล้วยังเป็นรองไอบีเอ็มห่างพอสมควร)
ในปัจจุบันได้มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของ "เด็ค" ทั่วโลกมากกว่า
400,000 เครื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยก็มีการติดตั้งไปแล้วราว 160 เครื่อง
ใช้งานต่างกันไป
เรียกว่าสำหรับตลาดบ้านเราแล้ว "เด็ค" ก็ต้องนับเป็นผลิตภัณฑ์ระดับแนวหน้ายี่ห้อหนึ่งทีเดียวแหละ
"เด็ค" ติดตั้ง "บีดีซี" หรือบางกอกดาต้าเซนเตอร์ (BANGKOK
DATA CENTER) เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย (EXCLUSIVE DISTRIBUTOR)
ซึ่งทำหน้าที่ทั้งด้านการขายให้บริการและการซ่อมบำรุง ฯลฯ เมื่อปี 2524
"โดยเรามีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรถูกต้องทุกอย่าง…" อนุวัฒน์ วนานุเวชพงศ์
ผู้จัดการทั่วไปของบางกอกดาต้าเซนเตอร์บอกกับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ของ "เด็ค"
นั้น "บีดีซี" คว่ำหวอดอยู่ในยุทธจักรคอมพิวเตอร์มานานพอสมควร
"บีดีซี" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 โดยนักธุรกิจชาวราชาสนามม้า-บุญวงศ์
อมาตยกุล ร่วมกับกรรมการของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยหรือ "สนามม้านางเลิ้ง"
อีกหลายท่าน
ในช่วงเพิ่งเริ่มก่อตั้งนั้น "บีดีซี" ได้เช่าเครื่องยี่ห้อ
ซีดีซี ของบริษัท คอนโทรลดาต้า ประเทศไทยมาใช้เพื่อให้บริการแก่ "สนามม้านางเลิ้ง"
ในด้านการควบคุมการแข่งม้า และให้บริการเช่าเวลาเครื่องคอมพิวเตอร์กับหน่วยราชการ
และเอกชนทั่วไป เพราะการควบคุมการแข่งขันเป็นงานหลักจะใช้เวลาทำงานก็เพียงในช่วงวันเสาร์
หรือวันอาทิตย์เท่านั้น
ก็เริ่มต้นจากพนักงาน 34 คน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานด้านซอฟต์แวร์
พอล่วงเข้าปี 2516 "บีดีซี" ขยายธุรกิจจาก "ศูนย์ให้บริการคอมพิวเตอร์"
มาเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อแรกที่ขายก็คือไอซีแอล
ของอังกฤษ
เมื่อไอซีแอลปิดกิจการเลิกผลิตคอมพิวเตอร์แล้ว "บีดีซี" ก็ขายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์อีก
2-3 ยี่ห้อเป็นเครื่องพิมพ์ (PRINTER) บ้าง เป็นเครื่องเทอร์มินัล (TERMINAL)
บ้าง จนกระทั่งปี 2524 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ
"เด็ค" ภายใต้การดูแลและสนับสนุนของ DIGITAL EQUIPMENT CORP. เขตภาคพื้นตะวันออกไกลซึ่งตั้งสำนักงานในสิงคโปร์
ปัจจุบัน "บีดีซี" มีพนักงาน 130 คน ยอดขายเมื่อปี 2528 ที่ผ่านมาประมาณ
140 ล้านบาท
คงต้องบอกกล่าวกันอีกสักนิดว่า การเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ "เด็ค"
นั้นมีอยู่ 2 รูปแบบ
แบบแรกเรียกว่า DISTRIBUTOR และอีกแบบเรียกว่าโออีเอ็มหรือ ORIGINAL ENUSER
MANUFACTURING
"สองแบบนี้จะมีความแตกต่างกันคือ กรณีของ DISTRIBUTOR จะมีฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทแม่โดยตรง
ซึ่งทั่วโลกขณะนี้มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 15 รายเท่านั้น ส่วนโอเอ็มอีมีเป็นร้อย
ๆ ราย เพราะโออีเอ็มเป็นเพียงผู้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทแม่มาขายต่ออีกทีหนึ่ง
โดยมีข้อผูกพันและมิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเช่นเดียวกับ DISTRIBUTOR"
อนุวัฒน์ วนานุเวชพงศ์ชี้แจงให้ฟัง
อนุวัฒน์ผู้เพิ่งจะได้รับการ "โปรโมต" ขึ้นมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของ
"บีดีซี" หลังจากตำแหน่งนี้ถูกปล่อยว่างมาระยะหนึ่งด้วยเหตุผล
ภายในบางประการกล่าวยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "บีดีซี" เป็น
DISTRIBUTOR ของ "เด็ค" แต่ผู้เดียวในประเทศไทย เพราะฉะนั้นสิทธิทุกอย่างที่ควรมีควรได้
เช่น การใช้เครื่องหมายการค้าของ "เด็ค" เอกสารต่าง ๆ ที่เป็น
ความลับทาง "บีดีซี" จะได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกับ DISTRIBUTOR
ทั้งหลายทั่วโลก
"และบริษัทแม่ก็ไม่มีนโยบายจะตั้ง DISTRIBUTOR หลาย ๆ รายในแต่ละประเทศเพราะจะทำให้แย่งตลาดกัน
จึงได้กำหนดให้มี DISTRIBUTOR แต่ผู้เดียวในแต่ละประเทศ โดยมีการตั้งให้เป็น
EXCLUSIVE DISTRIBUTOR อย่างเช่นในไทยก็คือ บางกอกดาต้าเซนเตอร์ ในไต้หวัน
คือ ไชน่าคอมพิวเตอร์ หรืออินโดนีเซียก็คือบริษัท แอสตร้ากราเฟีย เป็นต้น"
ส่วนโออีเอ็ม จะขายได้เฉพาะสาขาของงานหรือเฉพาะกิจการที่ได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทแม่ของ
"เด็ค"
"อย่างเช่น โอเอ็มซี ซึ่งมี SPECIAL AREA ด้านแบงกิ้งก็จะขายอยู่ในไลน์ของแบงกิ้งเท่านั้น
จะขายนอกไปจากนี้ไม่ได้ ต้องว่ากันเฉพาะ SPECIAL AREA ที่ทำสัญญาไว้เท่านั้น"
อนุวัฒน์ หรือที่คนในวงการคอมพิวเตอร์ชอบเรียกกันว่า "คุณช้วน"
ยกตัวอย่างที่แสดงถึงข้อแตกต่างระหว่าง DISTRIBUTOR กับ โออีเอ็มให้ฟัง
และอนุวัฒน์ก็ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นคงเส้นคงวาเช่นเดิมว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุมกับบริษัทแม่แล้วนั้น
"เอเอสแอล" ไม่ได้เป็นทั้ง DISTRIBUTOR หรือแม้กระทั่งโออีเอ็มเลยสักอย่าง"
แต่ "เอเอสแอล"" ก็นำผลิตภัณฑ์ของ "เด็ค" เข้าตลาดเมืองไทยอย่างเงียบ ๆ มานานหลายเดือนแล้ว โดยที่ลูกค้ารายใหญ่ของ "เอเอสแอล" ที่เซ็นสัญญากันไปเรียบร้อยเป็นรายแรกก็คือ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
"เอเอสแอล" หรือ AUTOMATED SYSTEM LIMITED นั้นเป็นกิจการของนักธุรกิจฮ่องกง และเป็นกิจการในเครือของกลุ่ม
"ซีเอสเอ" ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย OVERSEAS CHINESE BANKING CORPORATION
และผลิตภัณฑ์ของ "เด็ค" ที่ "เอเอสแอล" จะติดตั้งให้ลูกค้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็คือเครื่อง
รุ่น VAX 11/750 จำนวน 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งติดตั้งที่สำนักงานใหญ่บางกรวย
ส่วนอีกเครื่องหนึ่งก็ติดตั้งที่เหมืองแม่เมาะจังหวัดลำปาง
มูลค่าทั้ง 2 เครื่องรวมเบ็ดเสร็จก็ราว ๆ 550,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ
14,300,000 (อ่านว่า 14 ล้าน 3 แสนบาทถ้วน ๆ) ซึ่งแหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็บอกว่า
"ราคาที่เราตกลงทำสัญญากับเอเอสแอลฮ่องกงถูกกว่าราคาของผู้ขายเครื่องเด็คในนี้มาก
เราจึงตัดสินใจเลือกเอเอสแอลแทนที่จะเป็น "บีดีซี"
หรือพูดกันตรง ๆ ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นได้ตกลงใจภายหลังการเปิดประมูลเมื่อปลายปี
2528 แล้วว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ที่เหมืองแม่เมาะเชื่อมต่อกันอีกเครื่องหนึ่งที่สำนักงานใหญ่บางกรวยนั้นเครื่อง
VAX 11/750 เป็นเครื่องที่เหมาะสมที่สุด (เพราะสามารถใช้กับแพ็กเกจด้าน
CAD CAM ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด) ก็เพียงว่าจะเลือกเครื่องของใครเท่านั้น
ซึ่งเมื่อเอเอสแอลเสนอราคาที่ถูกกว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็เลือกฝ่ายนี้
ส่วนผู้ขายทะเลาะกันหรือไม่อย่างไรก็เป็นเรื่องของผู้ขาย ลูกค้าย่อมไม่เกี่ยวอยู่แล้ว…
ว่างั้นเถอะ
เอเอสแอลนั้นเมื่อจับลูกค้ารายใหญ่อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้แล้วก็จัดการตั้งบริษัทในนี้บริษัทหนึ่งชื่อ
EIGHT BIT CORP. ซึ่งก็มีคนไทยเข้าร่วมหุ้นด้วย
อีกทั้งท่าทีในระยะใกล้ ๆ นี้ก็แสดงออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า จะขายเครื่องของ
"เด็ค" ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่นำพาว่าใครเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ในนี้มาก่อน
เพราะกรรมการผู้จัดการของเอเอสแอล-ปีเตอร์โก๊ะ ก็บอกว่า "ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่
เพราะฉะนั้นยังมีที่ว่างพอสำหรับตัวแทนจำหน่ายที่มากกว่าหนึ่ง…"
ท่าทีเช่นนี้ของเอเอสแอลถูกตอบโต้อย่างทันควันจากบางกอกดาต้าเซนเตอร์
"เราจะนำเรื่องนี้แจ้งไปยังบริษัทแม่ประมาณเดือนหนึ่งแล้ว บริษัทแม่ก็ยืนยันใช้สิทธิอันชอบธรรมของเรา
และจะมีมาตรการออกมาจัดการคลี่คลายปัญหาอย่างแน่นอนที่สุดในเร็ววันนี้ด้วย
แต่จะเป็นมาตรการอะไรนั้น ขออุบไว้ก่อน เอาไว้ทราบกันตอนที่เราลงมือดีกว่า…"
อนุวัฒน์ วนานุเวชพงศ์ ประกาศออกมาเมื่อไม่นานนี้
ก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไป