สถานีวิยุ บี.บี.ซี. กรุงลอนดอนได้นำบทรายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลไทย
"ไฟแนนเชี่ยล ไทม์" ไปออกอากาศ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมามีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
"ดุลทางการเมืองยังอยู่กับฝ่ายทหาร มากกว่าประชาชนผู้ออกเสียง… พลเอกชวลิตมีบทบาทสำคัญที่ไม่เปิดเผยออกมาในวงกว้าง
ต่อการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ และโน้มน้าวให้หัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ เปลี่ยนใจกลับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง
ที่ว่า ให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง"
บทรายงานข่าวชิ้นนี้มีข้อผิดพลาดอันสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ ตรงที่ว่าพลเอกชวลิตโน้มน้าวบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง
ๆ
ความจริงถ้าติดตามกันโดยตลอดจะพบว่า พลเอกชวลิตไม่ต้องมีการโน้มน้าวกันเลยแม้แต่น้อย
หากต้องโน้มน้าวก็คงเป็นการโน้มน้าวให้รอร่วมรัฐบาลชุดหน้ามากกว่า เพราะในรัฐบาลชุดนี้มีผู้สนับสนุนพลเอกเปรมมีเกินกว่าที่จะจัดโควต้ารัฐมนตรีกันได้อย่างเหมาะสมเสียด้วยซ้ำ
พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคนั้น
การประกาศไม่เอาพลเอกเปรมมาเป็นนายกรัฐมนตรีในคราวหาเสียง โดยเจตนาแล้วต้องยอมรับว่าพิชัยต้องการอย่างนั้นจริง
ๆ
แต่ความต้องการของพิชัยก็คือการต่อสู้ทางการเมือง ในขั้นแรกก็ต่อสู้เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งจนมีเสียงข้างมากแต่เพียงพรรคเดียวในสภา
เมื่อไม่สำเร็จก็ต้องต่อสู้กับพรรคอื่น ๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อไม่สำเร็จอีก
ก็ต้องต่อสู้กันในพรรค ว่าถ้าเป็นอย่างนี้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านหรือจะยอมร่วมรัฐบาล
ภายใต้การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม
รู้กันเต็มอกว่า หลังจากแพ้ขั้นแรกพิชัยก็ต่อสู้ในขั้นที่ 2 และ 3 อย่างแกน
ๆ
พร้อมกับการที่พิชัยและพลพรรคส่วนหนึ่งประกาศก้องว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งภายในพรรคเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพในปัญหานี้นัก
ความจริงที่เป็นอยู่นั้น นักการเมืองในสายภาคใต้ ล้วนเหนียวแน่นกับพลเอกเปรม
เหนียวแน่นมากกว่าหัวหน้าพรรคของตัวเองเสียอีกก็แทบจะกล่าวได้
กำลังและบารมีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์สายภาคใต้มีมากแค่ไหนตำแหน่งเลขาธิการพรรคของวีระ
มุสิกพงศ์ และจำนวน สส. จากภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ทุกสมัย ล้วนเป็นคำตอบที่ชัดเจน
ภายหลังการเลือกตั้งจึงไม่ยากที่พิชัย รัตตกุล และนักการเมืองในส่วนที่เคยประกาศว่าไม่เอาพลเอกเปรม
ต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ด้วยการชี้นำของมติพรรค
พรรคกิจสังคมนั้นไม่มีปัญหา ป้ายประกาศคราวหาเสียงของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา
ที่มีใจความว่า "สนับสนุนให้ พล.อ.อ. สิทธิ เป็นนายกรัฐมนตรี โปรดเลือก
เบอร์1-2-3" นั้น เปิดเงื่อนไขให้แก้ตัวได้สบายกว่าพิชัย
ป้ายนั้นไม่ได้บอกว่าไม่เอาพลเอกเปรม หรือนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
เมื่อพรรคกิจสังคมได้รับเลือกมาแค่ 51 คน พลอากาศเอกสิทธิ จึงเป็นนายกฯ ไม่ได้
และก็รู้กันอยู่เต็มอกเหมือนกันว่า การยกป้ายประกาศอย่างนั้น เป็นเรื่องที่แทบไม่มีโอกาสเป็นศูนย์
ป้ายนั้นมีความหมายเฉพาะเทศกาลหาเสียงเท่านั้น
พลอากาศเอกสิทธิเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ภายใต้การนำของพลเอกเปรมในโควต้าของพลเอกเปรม
ก่อนเข้าสังกัดพรรคกิจสังคม รวมทั้งพลอากาศเอกสิทธิสนิทสนมกับพลเอกเปรมมากแไหนนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้
ที่สำคัญกว่านั้น ในพรรคกิจสังคม บุรุษหมายเลข 1 ตัวจริง ก็คือ พงส์ สารสิน
เขาผู้นี้มีภาพปรากฏต่อสังคมในบทบาทของนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง นักข่าวที่เคยพบพงส์ต่างผิดหวังเพราะมองไม่เห็นความแปลมคมอันใดจากตัวเขาผู้นี้
แต่สำหรับคนที่สัมผัสใกล้ชิดนั้น ต่างรู้ดีว่า พงส์เป็นนักการเมืองมือระดับ
"เซียนเหนือเซียน" แค่ไหน
พงส์เป็นนักเดินเกมส์มากกว่าเป็นนักประกาศปรัชญาและอุดมการณ์ งานการเมืองในหัวของพงส์ไม่ใช่งานการเมืองที่ต้องการชูธงของพรรควิ่งไปปักยังเป้าหมาย
พร้อมตีฆ้องร้องป่าวและประกาศเปรี้ยงปร้างโครมคราม
พงส์เป็นบุคคลในสังกัดพรรคการเมืองก็จริง แต่ในสายตาของเขานั้น พรรคการเมืองก็คือ
หนึ่งในดุลกำลังทางการเมืองอีกหลาย ๆ จุด ว่ากันว่าที่ผ่านมาตลอดเวลานั้น
พงส์เป็นผู้เดินเกมส์การเมืองในฐานะผู้เดินเกมส์วงกว้างมากกว่าตัวแทนจากพรรคกิจสังคมที่เดินเกมส์ต่อสู้กับดุลกำลังอื่น
ๆ
หนังสือพิมพ์บางฉบับเคยเขียนถึงพงส์ในประเด็นนี้ ในทำนองว่า "พงส์เป็นคนของกิจสังคม
หรือเป็นคนของฝ่ายอื่นที่มาอยู่ในกิจสังคมกันแน่"
หลาย ๆ ครั้ง คนในพรรคกิจสังคมแสดงความไม่พอใจที่พงส์ไม่ทำพรรคให้ฮือฮาและมีบรรยากาศทางการเมืองเหมือนที่พิชัยกำลังทำอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์
ที่แน่นอนนั้น พงส์ไม่เคยเคร่งเครียด ไม่ชอบเรื่องที่ต้องเหน็ดเหนื่อย
ทำตัวสนุกสนาน นอนตื่นสาย ไม่ชอบขวางลำและมีสัมพันธ์อันดีกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
วิกฤติรัธรรมนูญจนกระทั่งพลเอกเปรมยุบสภาให้เลือกตั้งกันใหม่เมื่อปี 2526
นั้น พรรคกิจสังคม โดย มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ปะทะกันค่อนข้างรุนแรงกับหัวขบวนของกองทัพบก
แน่นอนมีพลเอกชวลิต รวมอยู่ด้วย
ภาพที่ปรากฏออกมานั้นเหมือนกับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะเอาเป็นเอาตายกันให้ได้
ขณะเดียวกันพงส์กับพลเอกชวลิตก็มีนัดกินข้าวร่วมกันพร้อมการเสวนากันอย่างอบอุ่นโดยสม่ำเสมอ
หลักฐานการเป็นคนไม่ชอบขวางลำแสดงออกมาในตอนนี้ด้วยการที่พงส์ตัดสินใจถอนตัวจากการลงสมัครรับเลือกตั้งในปีนั้น
ทั้ง ๆ ที่มีการวางตัวกันไว้แล้ว
สนามเลือกตั้งในเขตกรุงเทพปีนั้นแม้ว่าพรรคกิจสังคมกำลังมีเครดิตสูงจากวิกฤตินี้
แต่พรรคกิจสังคม กลับจัดทัพลงสู้รบแบบไม่หวังผล
ถึงวันนี้พงส์ สารสิน กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็มิใช่ใครอื่น และวันนี้พลเอกชวลิต
ก็คือผู้บัญชาการทหารบกที่ให้การสนับสนุนพลเอกเปรมอย่างไม่เป็นอื่น
พรรคชาติไทย ระยะแรกมีปัญหานิดหน่อย นัยว่าบทบาททางการเมืองหลายประการระหว่างพลตรีประมาณกับพลเอกเปรม
ยังฝังใจกันอยู่
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากพลตรีประมาณ มาเป็นพลตรีชาติชายในช่วงที่เทศกาลหาเสียงกำลังเริ่ม
การเตรียมการให้ครบวงจรเพื่อเตรียมเข้าร่วมสนับสนุนพลเอกเปรมของพรรคชาติไทยจึงเสร็จสิ้น
พลตรีชาติชายกับนายบรรหาร ศิลปอาชานั้นถือได้ว่าเป็นผู้กุมกำลังหลักของพรรคชาติไทยในช่วงหลัง
ทั้งสองคนนี้กับพลเอกชวลิต ก็ไม่ได้ห่างไกลกัน ยิ่งได้พลตรีมงคล อัมพรพิสิษฐ์
ทส. พลเอกเปรม ช่วยประสานทางบรรหารอีกแรงหนึ่ง ทุกอย่างก็ลงเอยอย่างง่ายดาย
พรรคชาติไทยเซ็นชื่อสนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นพรรคแรก พร้อมกันนั้นก็จับมือกันเหนียวแน่นกับพรรคกิจสังคม
จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์เกือบกลายเป็นตัวตลก
พรรคราษฎรของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ และพลเอกมานะ รัตนโกเศศนั้นแทบไม่ต้องกล่าวถึง
และแน่นอนที่สุด-ถ้าหากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นแค่พลเอกเปรมตัวคนเดียวไม่มีพลังระดับค้ำจุนเหมือนพลเอกสิทธิ
จิรโรจน์แล้ว ย่อมไม่มีใครยอมสนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน