ขณะนั้น-ปี 2524 พันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พิชัย
รัตตกุลลาออกจากกรรมการพรรค เหลือความเป็น "ประชาธิปัตย์" ไว้เฉพาะฐานะสมาชิกพรรคธรรมดา
ครั้งนั้น-พิชัย รัตตกุล ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมจะเนรคุณประชาธิปัตย์ไม่ได้
โดยเฉพาะเมื่อประชาธิปัตย์ต้องตกต่ำเช่นเลานี้ ก็ยิ่งเป็นหน้าที่ของคนเก่า
ๆ ของสมาชิกเก่า ๆ ที่ต้องช่วยกัน แต่ตราบใดที่ยังมีถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่
มาอย่างเทวดาอย่างนี้นะครับ เราทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องหาทางเขี่ยนายถนัดออกไปให้ได้
ขณะนี้-ปี 2529 พิชัย รัตตกุลเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังโดนลูกพรรครุกไล่เพื่อเขี่ยออกจากตำแหน่ง
คนที่เคยใกล้ชิดกับนายพิชัยหลาย ๆ คนกล่าวถึงพิชัยเป็นเสียงเดียวกันว่าบุรุษผู้นี้
"ปากหวานมาก" …แน่นอนการกล่าวถึงเช่นนี้ชี้ให้เห็นภาพพจน์ได้กว้างไกลมากทีเดียว
ครั้งหนึ่งชนะ รุ่งแสง บุญยิ่ง นันทาภิวัฒน์ ถูกวางตัวให้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่เขตหนองแขม-ตลิ่งชัน
อันเป็นเขตชานเมืองรอบนอก ผู้ที่คลุกคลีกับพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนั้นเล่าว่าทั้งชนะและบุญยิ่ง
มีความกดดันและแค้นเคืองไม่น้อยเลย เพราะเรารู้ ๆ กันอยู่ว่า นักธุรกิจผู้ใหญ่เช่นนี้ไม่เหมาะนัก
สำหรับการต้องมึงมาพาโวยหาเสียงในเขตชานเมือง แต่กระนั้นทั้งสองคนนี้ก็ลุยไถจนประสบผลสำเร็จ
ว่ากันว่าผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ชนะและบุญยิ่งไปลุยไถนั้นคือพิชัย
เหตุผลถูกสรุปลงตรงที่ว่าทั้งชนะและบุญยิ่ง มีเกรดในระดับคู่แข่งภายในพรรคของพิชัย
ช่วงที่พิชัยขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคชนะเหินห่างไปจากประชาธิปัตย์ กระทั่งมีการจัดความสัมพันธ์กันใหม่ในตอนหลัง
จนชนะตัดสินใจลงสมัครเป็นผู้ว่า กทม. เมื่อปีที่แล้ว
การเลือกตั้งปี 2526 ดำรง ลัทธิพิพัฒน์พร้อมเพื่อนพ้องจำนวนหนึ่ง เตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคกิจสังคม
เกือบถึงขั้นประกาศตัวกันอยู่แล้ว ได้มีเหตุผลทาง "เทคนิค" บางประการเกิดขึ้น
ทำให้ดำรงค์ยังคงอยู่ที่เดิม และลงสมัครในเขตห้วยขวาง
พรรคกิจสังคมช่วยเหลือดำรงค์อีกแรงหนึ่งด้วยการส่งผู้สมัครในเขตนั้นเพียง
2 คน ขณะที่มี สส. ได้ 3 ตำแหน่ง ผลปรากฏว่าดำรงค์ได้รับเลือกตั้ง ขณะที่
สส. อีก 2 คนของเขตนี้มาจากพรรคประชากรไทย
ผู้คลุกคลีกับพรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นเปิดเผยว่า การเกือบเปลี่ยนพรรคของดำรงค์มีเหตุเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพิชัย
พิชัย รัตตกุลมีคุณสมบัติที่พิเศษประการหนึ่ง นั่นคือสามารถลูบหัวลูบไหล่กับใครก็ได้อย่างสนิทสนม
เสมือนรู้จักกันมาแรมปี
คุณสมบัตินี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสามารถในการ "ผลิต" ภาพของตัวเองให้ปรากฏต่อสังคมได้อย่างน่าประทับใจ
แทบทุกครั้งของการปราศรัยหาเสียง ก่อนหละหลังคิวพูด พิชัยจะลงมานั่งคลุกกับพื้นอยู่หน้าเวทีท่ามกลางชาวบ้านที่มาฟังปราศรัย
แม้บ่อยครั้งจะมีสายฝนโปรยปราย
เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นกับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเลือกตั้งของตนโดยตรง
เช่นเกิดไฟไหม้ พิชัยไม่รอช้าที่จะไปเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขพร้อมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นตามสมควร
ในขณะที่พิชัยกำลังมีบทบาทสูงเด่น ข่าวคราวกระจายออกมาเป็นระยะว่า พิชัยมีปัญหาไม่น้อยกับลูกพรรคที่มาจากภาคใต้
เพียงรอวันปะทุดุเดือดเท่านั้น
แต่ถึงวันนี้กลับมิได้เป็นเช่นนั้น สส. มากกว่าครึ่งหนึ่งจากทุกภาค กดดันให้พิชัยลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
สส. ภาคใต้ส่วนหนึ่งเสียอีกที่ยืนอยู่ข้างพิชัย
ไกรสร ตันติพงษ์ รองหัวหน้าพรรคและเป็น สส. อาวุโสสูงสุดของพรรคเป็นหนึ่งในหัวหอกที่กดดันพิชัย
ทั้ง ๆ ที่สนิทสนมกับพิชัยมาตลอด และค่อนข้างมีความแปลกแยกกับ สส. กลุ่มภาคใต้อยู่ด้วยซ้ำ
เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ สส. เขตเดียวกับพิชัย เป็นคีย์สำคัญคนหนึ่งของพรรคเปิดตัวชัดเจนในการฟาดฟันกับพิชัย
วีระ มุสิกพงศ์ ปัญหาของตัวเองยังคาราคาซังอยู่ในศาล จึงไม่เปรี้ยงปร้างออกมามากนัก
แต่รู้กันทั้งพรรคว่าวีระเป็นคนหนึ่งด้วยที่รุกไล่หัวหน้าพรรค
มารุต บุนนาค ชวน หลีกภัย แสดงท่าทีของนักประนีประนอม มารุตนั้นคาดหมายกันว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคแทนพิชัย
วันเกิดครบรอบ 60 ปีของพิชัย เมื่อ 16 กันยายนนั้น ไม่มีการร่วมอวยพรอย่างคึกคักจากลูกพรรค
"เพราะจัดเป็นการภายใน" เป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับงานมงคลของคนระดับนี้…
วีระ มุสิกพงศ์ให้สัมภาษณ์ล่วงหน้าว่าจะไม่ไปร่วมงาน
ข้อกล่าวหาที่ลูกพรรคมีต่อพิชัยจนถึงขั้นเสนอให้พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งนั้น
ที่หลัก ๆ มี 3 ประการ
หนึ่ง-การคัดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ผ่านไป ลูกพรรคอ้างว่าพิชัยใช้อำนาจรวบรัดโดยมิได้ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร
จึงทำให้ผลออกมาไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร
สอง-การใช้เงินกองกลางจำนวน "นับสิบล้าน" สำหรับการหาเสียงลูกพรรคอ้างว่าพิชัยนำเงินส่วนนี้เข้าบัญชีส่วนตัว
และเบิกจ่ายแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีกรรมการบริหารอื่นรับทราบด้วย
สาม-การแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีเงื่อนงำ
ข้อแรกกับข้อสองนั้นไม่หนักหนานัก หากไม่มีข้อสามเข้ามาจุดชนวน
ปัญหาข้อที่จุดชนวนนั้น สรุปลงตรงที่ว่า ตามข้อตกลงกันในพรรคนั้น พรรคจะส่งรายชื่อบุคลที่จะเป็นรัฐมนตรีให้กับพลเอกเปรมจำนวน
26 คน เพื่อให้พลเอกเปรมคัดเอา 17 คน ตามโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์
ลูกพรรคอ้างว่า ขณะยังอยู่ระหว่างการต่อรองเพื่อเอา 17 ตำแหน่ง พิชัยกลับยอมรับเอา
16 ตำแหน่งอย่างง่ายดายและแทนการส่งรายชื่อผู้ที่พรรคเห็นเหมาะสมทั้ง 26
คนไปให้พลเอกเปรมชี้ขาด กลับส่งไป 16 คนตามโควต้าพอดิบพอดี
ใน 16 คนนี้ มี ดร. พิจิตต รัตตกุลรวมอยู่ด้วย ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
การก่อหวอดเรียกร้องให้พิชัยทำเรื่องนี้ให้กระจ่างเกิดขึ้นทันที แต่แทนการอธิบายกลับกลายเป็นความโกรธเกรี้ยว
ถึงขั้นที่พิชัยเกือบกระชากคอเสื้อนฤชาติ บุญสุวรรณ สส. สงขลา
เรื่องที่ไม่กระจ่างอยู่แล้ว พิชัยถูกคลางแคลงใจอยู่แล้ว บวกกับเหตุการณ์วันนี้
กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ในพรรค
พิชัยยังยืนยันว่าส่งรายชื่อบุคลไปให้พลเอกเปรมตัดสิน 26 คน จำนวน 16 คนที่ได้เป็นรัฐมนตรีนั้นมาจากการตัดสินใจของพลเอกเปรม
อย่างไรก็ตามช่วงหลังคำยืนยันข้อนี้ของพิชัยค่อนข้างออกมาแกน ๆ โดยสิ้นเชิง
ฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างพิชัย มีความเห็นว่า การที่ ดร. พิจิตร ได้เป็นรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะการโหวตในพรรคเพื่อเสนอชื่อต่อพลเอกเปรมนั้น ดร. พิจิตรได้คะแนนมาเป็นอันดับ
4 ในโควต้ากรุงเทพมหานคร ในขณะที่เฉลิมพันธ์ มาเป็นอันดับ 5
อันดับ 1-4 ได้เป็นรัฐมนตรีทุกคน คือมารุต พลเอกหาญ ดร. ศุภชัย และดร.
พิจิตร ซึ่งพิจารณาในแง่คุณสมบัติแล้ว ดร. พิจิตร นั้นเป็น สส. ครั้งที่สองบวกกับความรู้ปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์
จึงไม่ควรเห็นเป็นเรื่องประหลาดต่อการที่ดอกเตอร์พิจิตรได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
แต่อีกฝ่ายมีเหตุผลว่าการโหวตในพรรคเพื่อเสนอชื่อต่อพลเอกเปรมนั้น มิได้กะเกณฑ์กันว่าให้ยึดเอาลำดับคะแนนที่ได้รับจากการโหวตเป็นเงื่อนไขตัดสินตำแหน่งรัฐมนตรี
ทั้งนี้ให้ถือว่าทั้ง 26 คนมีโอกาสเท่ากัน โดยพลเอกเปรมเป็นผู้ชี้ขาด
ลูกพรรคฝ่ายนี้มีความคลางแคลงใจยิ่งขึ้นกรณีที่พิชัยเข้าพบพลเอกเปรมแเพียงผู้เดียว
ขณะกำลังฟอร์มรัฐบาลกันอยู่ ทั้ง ๆ ที่โดยมารยาทแล้วควรเข้าพบพลเอกเปรมพร้อมกับคณะกรรมการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลของพรรคคนอื่น
ๆ ด้วย
ที่ร้ายแรงกว่านั้นลูกพรรคฝ่ายนี้อ้างว่า ในวันที่จะประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีนั้นพิชัยยังเรียกประชุมพรรคเพื่อ
"หารือ" ในการจัดตั้งรัฐบาลทั้ง ๆ ที่พิชัยตกลงและส่งรายชื่อรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์
16 คนกับพลเอกเปรมเป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว
การประชุมเพื่อ "หารือ" ในวันนั้น พิชัยมิได้เข้าร่วมประชุม
เพราะไปนอน "ป่วย" อยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
สำหรับปัญหาที่พิชัยยอมรับโควต้าพรรคประชาธิปัตย์ 16 ตำแหน่งแทนที่จะเป็น
17 ตำแหน่งด้วยหลักการที่ว่า จำนวน สส. 6 คนได้เป็นรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง และเศษปัดขึ้น
นั่นย่อมทำให้พรรคชาติไทยและกิจสังคมต้องปัดเศษขึ้นด้วย ซึ่งทำให้โควต้าของพลเอกเปรมลดลงทันที
3 ตำแหน่ง เรื่องนี้ก็รู้กันอยู่ว่าพลเอกเปรมต้องไม่ยอมแน่
แต่เรื่องที่กำหนดบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีไปชัดเจนโดยไม่เผื่อให้พลเอกเปรมเลือกนั้นเป็นปัญหาอย่างแน่นอน
ยิ่งมีลูกชายหัวหน้าพรรคได้เป็นรัฐมนตรีด้วย ปัญหาก็ยิ่งหนักหน่วง
มองกันง่าย ๆ พอจะเห็นกันได้ชัดว่า เรื่องอย่างนี้ถ้าเคลียร์ได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหาให้เสียทั้งชื่อตัวเสียทั้งชื่อพรรค
การออกมาเปรี้ยงปร้างของลูกพรรคประชาธิปัตย์ว่าไปแล้วก็มีข้อผิดพลาดอยู่ไม่น้อย
ไม่ใช่เป็นความผิดพลาดในเกมการต่อสู้กับหัวหน้าพรรคของตัวเอง แต่เป็นความผิดพลาดในหลักการของนักการเมืองในสังกัดพรรคที่อ้างว่ามีประชาธิปไตยมากที่สุด
นั่นคือแทนที่จะร่วมพิจารณาให้เสร็จสิ้นเป็นการภายในว่าใครบ้างที่เหมาะสมจะเป็นรัฐมนตรี
ให้ลงตัวตามโควต้าที่มีอยู่
การณ์กลับเป็นว่าคนในพรรคมอบความไว้วางใจให้พลเอกเปรม ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
มากกว่าจะร่วมกันเป็นตุลาการในที่ประชุม
ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการตามหลักนี้ปัญหาไม่มีทางเกิดขึ้นได้
และถ้ามองให้ไกลกว่านั้น ปัญหาเช่นนี้ยิ่งจะไม่เกิดขึ้น หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นเอกภาพทางความคิดใน
"แนว" สำคัญตั้งแต่เริ่มต้น
นั่นคือแนวที่ว่าจะต้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก สส. หรือไม่อย่างไร เพราะการประกาศแนวจนเป็นสัญญาประชาคม
ในขณะที่พรรคยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นเอกภาพ ย่อมหมายถึงการต้อนตัวเองเข้ามุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาคือการจ่ายเงินบริจาคของพรรคโดยไม่มีใครรับรู้ด้วยนั้น คนที่คลุกคลีอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่า
เรื่องนี้ถ้ามองอย่างให้ความเป็นธรรมกับพิชัยบ้างแล้ว จะเห็นได้ว่าคนอย่างพิชัยนั้น
อยากเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าอยากได้เงิน อย่าว่าแต่หลัก 10 ล้านเลย ต่อให้หลัก
100 ล้านด้วยซ้ำไป
เหตุผลที่ทำเรื่องนี้ให้กระจ่างไม่ได้นั้น ก็เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้กระจ่างลำบาก
ว่ากันว่า การใช้จ่ายเงินในระหว่างการหาเสียง ไม่ว่าพรรคใดย่อมจัดสรรให้ลูกพรรคแต่ละคนไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับว่า ใครมีโอกาสได้รับเลือกมากน้อยแค่ไหนเป็นพื้นฐาน
เรื่องนี้ถ้าเปิดเผยออกมาให้รู้กันหมด ก็มองหน้ากันไม่ติด
ฟังจากฝ่ายค้านพิชัย บอกว่าความไม่ถูกต้องของพิชัยนั้นคือใช้จ่ายเงินโดยไม่มีคนอื่นรับรู้ร่วมด้วย
ถึงวันนี้กลุ่ม สส. ที่ไม่ต้องการพิชัยใช้มาตรการกดดันทางการเมืองเป็นหลัก
ถ้าจะว่ากันตามมาตรการกฎระเบียบของพรรคแล้ว ก็ต้องล่ารายชื่อสมาชิกพรรค 500
คนเพื่อขอเปิดการประชุมสมัยวิสามัญ
การล่าชื่อ 500 คนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การประชุมใหญ่จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
รวมทั้งผลจะลงเอยอย่างไร เมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปถึงวันนั้น ล้วนเป็นเรื่องน่าห่วง
อย่างไรก็ตามพอจะมองเห็นกันได้ไม่ยากว่า ถึงวันนั้นพิชัยก็ยังเป็นรองอยู่หลายขุม
ไกรสร ตันติพงษ์-มีน้ำหนักมากต่อสาขาพรรคในภาคเหนือ
เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-น้ำหนักไม่น้อยทางภาคอิสาน
ภาคใต้แทบไม่มีปัญหา และ สส. ระดับกลางอีกไม่น้อยจากทุกภาค ไม่เอากับพิชัยและมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของสาขาพรรคส่วนต่าง
ๆ
ถึงขั้นนี้ไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไรก็ตาม คนในพรรคประชาธิปัตย์ ยากที่จะมองหน้ากันได้สนิท
ยากที่จะเรียกเอกภาพกลับคืนมาในเร็ววัน