Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2529
เมื่อสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ ปล่อยหมัดตัดราคาหวังน็อคคู่แข่ง เอาศิริวิวัฒน์ เป็นเดิมพันแล้วทุกอย่างก็พังไปตามระเบียบ             
โดย ปราณี ชีวาภาคย์
 


   
search resources

สมเจตน์ วัฒนสินธุ์
Electronic Components
บริษัท ศิริวิวัฒน์ (2515) จำกัด




เมื่อศิริวัฒน์ล้มลงไปนั้นบทเรียนที่ได้รับบทสำคัญบทหนึ่งคือ หลักการตลาดเรื่องการตัดราคาเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ… การล้มของศิริวัฒน์นี้นั้น "ผู้จัดการ" ได้นำเอามาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อเตือนใจกับทุกวงการ

เรื่องในวงการอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าเคยสร้างความฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อบริษัทศิริวัฒน์ทำการประมูลงานราชการตัดราคากันชนิดที่แทบจะหากำไรไม่ได้ แล้วอีกไม่นานผู้ผลิตรายหนึ่งก็ถึงกับเบรกแตกออกใบปลิวมาโจมตีกล่าวหาว่าบริษัทศิริวัฒน์ ทำการตัดราคาหม้อแปลงเพื่อดึงเอาตลาดมาไว้ในกำมือหมด แต่แล้วก็ไม่สามารถส่งของให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ตามกำหนดเวลา ทางด้านสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทศิริวัฒน์ ก็ได้ประกาศเสียงกร้าวตามลักษณะนิสัยโผงผางว่า "ผมจะตัดราคาต่อไปจนกว่าจะสามารถครองตลาดทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด" (ติดตามอ่านใน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 12 หน้า 46-59)

ศึกในครั้งนั้นดูเหมือนว่าบริษัทศิริวัฒน์เป็นผู้ชนะ เพราะยังสามารถประมูลงานของการไฟฟ้ามาได้โดยตลอด แต่ยังมีคนอีกหลายกลุ่มตั้งแต่ ธนาคารที่ให้สินเชื่อ คนในวงการหม้อแปลง ตลอดจนสื่อมวลชนต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าสมเจตน์กำลังเล่นกับไฟอยู่ ระวังจะย้อนกลับมาโดนตัวเอง!

แต่คนมีความสามารถอย่างสมเจตน์ก็สามารถเล่นละครตบตาคนดูได้แนบเนียน จนคนเกือบจะเชื่ออยู่แล้วว่าบริษัทศิริวัฒน์จะเป็นผู้ชนะ จนปลายปี 2528 ความจริงก็ปรากฏออกมาว่า บริษัทศิริวัฒน์ไม่สามารถจะพยุงฐานะของบริษัทให้ดำเนินกิจการต่อไปได้แล้ว โรงงานต้องหยุดการผลิต เครื่องจักรทั้งหลายกำลังคนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของศาลแรงงานนำขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คือโจทก์ ซึ่งก็คือพนักงาน 400 คนของบริษัทศิริวัฒน์ที่ไม่ได้รับเงินเดือนตอบแทนมาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน

ส่วนตัวสมเจตน์นั้นได้เงียบหายไปจากวงการโดยทิ้งหนี้สินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทไว้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายนั่ง "ซึม" กันไปตามระเบียบ

"ผู้จัดการ" ได้พบและสัมภาษณ์แหล่งข่าวทั้งหลายที่รู้จักกับสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ ทุกคนต่างก็พูดยกย่องและยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า สมเจตน์นั้นเป็นคนที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง เป็นแบบฉบับของนักต่อสู้ที่ไม่ยอมถอย เป็นนักธุรกิจดีเด่นของปี 2524 และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทศิริวัฒน์นั้นก็ดำเนินกิจการมานานถึง 28 ปี มีกำลังการผลิตมากที่สุดและทันสมัยกว่าทุกบริษัทมาก

แต่บริษัทศิริวัฒน์ก็ต้องมาเจอวันนี้เข้าจนได้! ทำไม?

หลาย ๆ คนลงความเห็นว่าสมเจตน์น่าจะต้องรู้ว่าทำอะไรลงไปบ้าง และจะเกิดผลตามมาอย่างไร? แต่สมเจตน์ก็ยังดันทุรังทำต่อไปอีกเป็นเพาะอะไรกันแน่?

สมเจตน์เริ่มต้นงานครั้งแรกด้วยการเป็นวิศวกรไฟฟ้าของห้างวรบูรณ์หลังจากที่เพิ่งจบการศึกษาจากคณะวิศว จุฬาฯ และได้เลื่อนมาเป็นผู้จัดการแผนกสินค้าไฟฟ้า ก่อนที่จะเบนเข็มชีวิตมาลุยกิจการของตัวเองในปี 2501

ในตอนนั้นสมเจตน์รวบรวมเงินจากญาติ ๆ มาตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยดัดแปลงสถานที่บริเวณหลังบ้านในซอยกัลปพฤกษ์เป็นโรงงาน

ตลาดหม้อแปลงในประเทศขณะนั้นเล็กมาก ผู้ผลิตภายในประเทศเป็นโรงงานเล็ก ๆ สามารถส่งหม้อแปลงให้เฉพาะบริษัทคนจีนเท่านั้น ส่วนตลาดราชการซึ่งเป็นตลาดใหม่นั้นจะสั่งเข้าหม้อแปลงจากต่างประเทศมาโดยตลอด

บริษัทศิริวัฒน์เริ่มขยายกิจการเมื่อปี 2505 ซึ่งในขณะนั้นเกิดสงครามเวียดนาม และทางบริษัทศิริวัฒน์ก็โชคดีที่ได้รับออร์เดอร์ผลิตหม้อแปลงส่งให้กับฐานทัพอเมริกันในไทย

ในช่วงระยะ 10 ปีแรกของการเริ่มต้นนั้น สมเจตน์ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมหม้อแปลงที่ผลิตโดยคนไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดภายในประเทศ ไม่ต้องไปสั่งเข้ามาจากต่างประเทศให้เสียดุลการค้า จนในที่สุดความพยายามของสมเจตน์ก็เริ่มประสบผลสำเร็จขึ้นมาด้วยการเป็นนักธุรกิจที่รู้จักมองการไกล สมเจตน์จึงยอมเสียเงินเป็นล้านบาทเพื่อซื้อ KNOW HOW ของอิสราเอลมาใช้ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า

ทำให้บริษัทศิริวัฒน์เป็นบริษัทของคนไทยแห่งแรกที่สามารถทาบรัศมีกับหม้อแปลงต่างชาติได้

"ในตอนแรกนั้นสมเจตน์พยายามจะเข้าประมูลงานของการไฟฟ้า แต่ไม่สำเร็จ เพราะถือว่าหม้อแปลงของไทยยังไม่ได้มาตรฐานพอ ในปี 2514 เมื่อสมเจตน์ตัดสินใจซื้อ KNOW HOW มาจากอิสราเอล และส่งลูกน้อง 5 คนไปฝึกงานเป็นเวลาถึง 6 เดือน หลังจากนั้นบริษัทศิริวัฒน์จึงสามารถประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภมิภาคได้ และเริ่มผลิตส่งให้ในปี 2515" แหล่งข่าวในวงการหม้อแปลงท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

และด้วยการต่อสู้ที่ไม่หยุดยั้งในปี 2522 บริษัทศิริวัฒน์ก็เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองอีก ด้วยการส่งหม้อแปลงไปขายกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งในเรื่องนี้ แหล่งข่าวท่านเดิมวิจารณ์กลยุทธ์นี้ว่า "ความจริงตลาดเมืองนอกก็ไม่ใช่ว่าขายได้ราคาดีมากนักเพราะภาษีรัฐบาลเก็บแพงมาก แต่ที่บริษัทศิริวัฒน์ทำกรส่งนอกคง เพราะต้องการโฆษณาว่าบริษัทศิริวัฒน์ก็เป็นบริษัทแห่งแรกในประเทศไทย ที่สามารถผลิตหม้อแปลงส่งนอกเป็นการช่วยสร้างภาพพจน์ให้ตลาดภายในประเทศดีขึ้น"

แต่หม้อแปลงของบริษัทศิริวัฒน์มาได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงก็คือช่วงที่สมเจตน์ตัดสินใจเปลี่ยน KNOW HOW จากอิสราเอลมาเป็นของเวสติ้งเฮ้าส์

ช่วงก่อนที่จะซื้อ KNOW HOW จากเวสติ้งเฮ้าส์นั้นสมเจตน์นั่งปวดหัวทุกวันว่าทำอย่างไรคนไทยจึงจะยอมรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเสียที? เพราะช่วงที่ซื้อ KNOW HOW จากอิสราเอลนั้นก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร พอหลังจากที่ซื้อ KNOW HOW ของเวสติ้งเฮ้าส์มาแล้ว ตลาดก็ยอมรับกันมาก ทำให้บริษัทศิริวัฒน์เริ่มทีมงานมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่นับว่าสมเจตน์เป็นนักธุรกิจที่รู้จักมองการไกลดีมาก"

หลังจากที่ปล่อยให้บริษัทศิริวัฒน์โดดเด่นแต่เพียงผู้เดียวในยุทธจักรหม้อแปลงมานานพอสมควรแล้ว บริษัทไทยแมกซ์เวลก็เข้ามาขอทาบรัศมีบ้างในปี 2521

บริษัทไทยแมกซ์เวลนำทีมโดย มร. ซันนี่ ยง ชาวสิงคโปร์ มีผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ 4 ชาติ คือ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย

ครั้งแรกที่เริ่มเปิดตัวนั้นบริษัทไทยแมกซ์เวลออกไปลุยตลาดต่างจังหวัดก่อนถึง 2 ปี พอขึ้นปี 2528 จึงโดดเข้ามาประมูลงานทางราชการสู้กับบริษัทศิริวัฒน์ และก็สามารถประมูลงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ด้วย "การประมูลในครั้งนั้นมีปัญหามาก แม้ว่าไทยแมกซ์เวลจะสามารถประมูลได้ในราคาที่ต่ำกว่าก็ตาม แต่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ต้องเรียกมาแก้ไขอยู่หลายครั้งกว่างานโครงการนี้จะผ่านไปได้" เจ้าหน้าที่ของ กฟภ. ท่าหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ทราบ

สำหรับบริษัทศิริวัฒน์เมื่อเริ่มมีคู่แข่งเป็นตัวเป็นตนขึ้นมานั้น ได้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างนั้น "ผู้จัดการ" ได้รับการบอกเล่าจากลูกหม้อเก่าของบริษัทศิริวัฒน์ท่านหนึ่งว่า "ไทยแมกซ์เวลเข้ามามีผลกระทบต่อศิริวัฒน์เล็กน้อยเท่านั้น เพราะคุณภาพหม้อแปลงของเขาในตอนนั้นยังไม่ค่อยดี ความจริงแล้วถ้าตอนนั้นศิริวัฒน์ไม่มีปัญหาภายในเกิดขึ้นเสียก่อนไทยแมกซ์เวลอาจจะอยู่ไม่ได้ แต่เมื่อศิริวัฒน์มีปัญหาภายในเกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสให้ไทยแมกซ์เวลเติบโตขึ้นมาได้จนถึงวันนี้"

เรื่องปัญหาภายในนั้นลูกหม้อคนเดิมได้สรุปว่า "สมเจตน์มีความเชื่อมั่นในตัวบุคคลมากเกินไปประกอบกับมีปัญหาทางด้านครอบครวกับเกีรติพงศ์ น้อยใจบุญ ซึ่งเป็นหลานแท้ ๆ และทำงานเป็นมือขวาด้วย ในปี 2524 เกียรติพงศ์จึงลาออกมาตั้งบริษัทเอกรัฐขึ้นเพื่อผลิตหม้อแปลง ส่วนทีมงานที่เหลือก็ลาออกมาอีก 3 คน คนหนึ่งไปเรียนต่อ อีก 2 คนตามไปทำงานกับเอกรัฐ ความจริงแล้วการที่ทีมงานออกมาถึง 4 คน ก็มีผลกระทบต่อศิริวัฒน์บ้างเหมือนกัน แต่ด้านการบริหารก็ได้วางระบบดีแล้วทั้งมาตรฐานหม้อแปลงและการออกแบบ ตำแหน่งรองลงมาก็สามารถเข้ามาบริหารงานต่อไปได้เลย เพียงแต่ต้องปรับปรุงงานให้เข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจเท่านั้น"

อย่างไรก็ตามการเกิดปัญหาภาในขึ้นนั้นก็เป็นจุดหนึ่งที่บรรดาเจ้าหนี้หลายแห่งรวมทั้งผู้ที่อยู่ในวงการหม้อแปลงต่างก็วิจารณ์กันว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้การผลิตหม้อแปลงของบริษัทศิริวัฒน์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานจนทำให้ส่งงานไม่ทันและไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้

การออกมาตั้งบริษัทใหม่ของเกียรติพงศ์นั้นคงสร้างความโกรธแค้นให้กับสมเจตน์ไม่น้อย เพาะสมเจตน์ถือว่าเป็นผู้สร้างเกีรติพงศ์ขึ้นมาตั้งแต่เรียนจบวิศวะจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ จนกระทั่งมีความสามารถเป็นถึงผู้จัดการคุมโรงงานซึ่งสมเจตน์ได้เคยพูดกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"มันเป็นหลานผม แล้วผมจับมันไปฝึกงานหวังจะให้เป็นตัวแทนผม ทำงานกับผมมาได้สิบกว่าปีแล้ว มันกลับกำแหง"

ดังนั้นเมื่อบริษัทเอกรัฐโดดเข้ามาสู่วงการหม้อแปลงเป็นบริษัทที่สอง บริษัทศิริวัฒน์จึงประกาศศักดาของเจ้าถิ่นรุ่นลายคราม เพื่อสั่งสอนเด็กรุ่นหลานด้วยการตัดราคาในการประมูลงานของ กฟภ. เมื่อปี 2525 และสงครามตัดราคาก็เริ่มรุนแรงขึ้นตามเป็นลำดับ จนในที่สุดทั้งไทยแมกซ์เวลและเอกรัฐก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาประมูลงานสู้กับบริษัทศิริวัฒน์ เป็นผลให้บริษัทศิริวัฒน์สามารถครองตลาดหม้อแปลงได้ถึง 90%

แต่จุดนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะที่สมเจตน์เป็นผู้เลือกทางเดินด้วยตนเอง เพราะความที่สมเจตน์เป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก การตัดสินใจในแต่ละครั้งนั้นแม้จะมีทีมงานปรึกษาก็ตาม แต่สมเจตน์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองทุกครั้งโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากผู้ใด?

หลาย ๆ คนที่คิดว่ายักษ์ใหญ่ทุนหนาอย่างบริษัทศิริวัฒน์เสียอ่างจะตัดราคากันนานเท่าไหร่ก็คงจะไม่เดือดร้อน?

แต่ยังมีคนที่หนาว ๆ ร้อน ๆ แทนซึ่งมิใช่เอกรัฐหรือไทยแมกซ์เวล แต่กลับเป็นธนาคารทั้งหลายที่ให้บริษัทศิริวัฒน์กู้เงิน

มองดูผิวเผินแล้วบริษัทศิริวัฒน์อาจจะเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งตั้งมา 28 ปี มียอดการขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีแรกที่บริษัทศิริวัฒน์ซื้อ KNOW HOW มาจากอิสราเอลนั้น สามารถทำรายได้ถึง 20 ล้าน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2524 มีรายได้สูงสุดถึง 400 ล้านบาท และถ้านับรวมตั้งแต่เปิดกิจการมานั้นบริษัทศิริวัฒน์สามารถทำเงินรายได้หลายพันล้านบาท แถมยังมีธนาคารกรุงเทพหนุนหลังอีก

แต่ทางธนาคารที่ให้เงินกู้ต่างรู้ดีว่าฐานะการเงินของบริษัทศิริวัฒน์ทั้งหมดนั้น ต้องอาศัยเงินกู้จากธนาคารและถ้าบริษัทศิริวัฒน์ยังขืนตัดราคาโดยไม่คิดจะเอากำไรต่อไป? จะเป็นการเสี่ยงต่อการหมุนเงินมาก สมเจตน์จะต้องใช้ความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่คอยหมุนเงินให้ทันใช้ มิฉะนั้นยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทศิริวัฒน์อาจจะล้มได้เหมือนกัน

"ทางแบงก์กรุงเทพก็เคยเตือนสมเจตน์เรื่องตัดราคาเหมือนกันว่าทำไปแล้วไม่มีประโยชน์อะไร แต่สมจตน์ก็ไม่ฟังเสียง" แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้แห่งหนึ่งกล่าว

ธนาคารกรุงเทพซึ่งเคยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากับสมเจตน์ตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัทศิริวัฒน์ก็มีอันต้องหมางเมินกันไป จนบางโครงการที่สมเจตน์เสนอกู้เงินทางธนาคารกรุงเทพก็ปฏิเสธกลับไป เพราะไม่กล้าเสี่ยงด้วย

แต่อาศัยความกว้างขวางของสมเจตน์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกและเคยให้การสนับสนุน สส. บางคนอยู่บ้าง ทางธนาคารกรุงเทพจึงต้องยอมปล่อยเงินกู้ให้กับโรงการของสมเจตน์ต่อไป สาเหตุเพราะได้รับโทรศัพท์ขอร้องจากรัฐมนตรีบางท่านซึ่งสมเจตน์ขอให้ช่วยพูดให้

เมื่อต้องลงมาเสี่ยงด้วยกับบริษัทศิริวัฒน์ ทางธนาคารกรุงเทพจึงแนะนำให้ทางบริษัทฯ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เพื่อลดต้นทุนสู้กับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น แต่สมเจตน์กลับไม่สนใจคำแนะนำเหล่านี้ กลับบุกประมูลตัดราคา กฟภ. มากยิ่งขึ้น

สิ่งนี้เป็นจุดหนึ่งที่หลายคนสงสัยว่า คนมีความสามารถอย่างสมเตน์น่าจะดูออกว่าขืนตัดราคาต่อไปอย่างนี้มีหวังเจ๊งแน่ แต่ทำไมสมเจตน์จึงดันทุรังตัดราคาต่อไป?

นักสังเกตการณ์ท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า "ในครั้งแรกนั้นสมเจตน์คงจ้องจะตัดราคาเพื่อล้มคู่แข่งจริง โดยการตั้งราคาประมูลให้ต่ำมากจนไม่มีกำไร โดยคิดว่าถ้าคู่แข่งประมูลงานไม่ได้ก็คงจะเลิกกิจการไปเอง แต่คงจะต้องโทษดวงด้วยที่ในช่วงนั้นหลังจากที่ตัดราคาแล้ว เกิดวิกฤติการณ์ลดค่าเงินบาท ทำให้บริษัทศิริวัฒน์ขาดทุนมากลงไปอีก"

การประมูลงานในแต่ละครั้งของการไฟฟ้านั้น หลังจากที่มีการตัดสินใจให้บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดชนะการประมูลแล้ว กว่าที่บริษัทนั้นจะส่งมอบหม้อแปลงให้แก่ทางการไฟฟ้าจะต้องใช้เวลาผลิตไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน เพาะและบริษัทจะไม่สต็อคหม้อแปลงเอาไว้ให้เงินจม

และสำหรับบริษัทศิริวัฒน์นั้นเงินส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบในการผลิต แต่ละโครงการที่ประมูลได้จะมาจากการนำโครงการนั้นไปจำนองกับธนาคารกรุงเทพ เมื่อทางธนาคารฯ อนุมัติเงินกู้แล้ว จึงจะนำเงินนั้นไปซื้อวัตถุดิบมาผลิต่อไป

ดังนั้นเมื่อโครงการแรก ๆ ของบริษัทศิริวัฒน์ที่ประมูลตัดราคามานั้นขาดทุนมากเนื่องจากเจอฤทธิ์ลดค่าเงินบาท เพื่อความอยู่รอดของบริษัทฯ สมเจตน์จึงต้องหมุนเงินด้วยวิธีการฟันงานประมูลในครั้งต่อไปให้ได้ เพื่อที่จะนำโครงการหน้าไปจำนองกับธนาคาร เพื่อนำเงินออกมาใช้กับโครงการแรก

และเพื่อเป็นประกันว่าจะต้องประมูลให้ได้สำหรับโครงการต่อไป สมเจตน์จึงต้องกัดฟันตัดราคาให้ต่ำลงมาอีก และบริษัทศิริวัฒน์ก็ยิ่งจะขาดทุนมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าประมูลไม่ได้นั่นหมายถึงบริษัทฯ จะต้องช็อตแน่ ๆ

ในช่วงนั้นคนภายนอกจึงดูเหมือนว่าบริษัทศิริวัฒน์ตัดราคาอย่างบ้าระห่ำเกินไป!

"สมเจตน์คิดว่าถ้าสามารถฝ่ามรสุมให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จนถึงปี 2530 ทางบริษัทศิริวัฒน์ก็คงจะดีขึ้นมาบ้าง" แหล่งข่าวใกล้ชิดท่านหนึ่งเปิดเผย

ในช่วงนั้นสมเจตน์จึงต้องพยายามหมุนเงินให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ช่วงนี้ไปก่อน พร้อมกับมองหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยถูก ๆ บริษัทศิริวัฒน์ก็จะสามารถตั้งตัวได้อีกครั้งอย่างแน่นอน

และเพราะความสามารถของสมเจตน์นั้นแนบเนียนมากจนธนาคารแทบจะไม่รู้ระแคะระคายถึงภาระอันหนักอึ้งอันนี้ของบริษัทศิริวัฒน์มาก่อนเลย

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเปิดเผยถึงกลวิธีของสมเจตน์ว่า "ในช่วงที่ประมูลได้และกว่าจะนำโครงการมาจำนองแบงก์นั้นทางศิริวัฒน์ก็เริ่มขาดทุนแล้ว จึงต้อง MAKE ตัวเลขขึ้นมาใหม่เพื่อให้แบงก์ดูว่าไม่ขาดทุน โดยลดตัวเลขราคาวัตถุดิบที่ใช้ลงมา พอโครงการนี้ทางแบงก์อนุมัติแล้วก็ทำได้ไม่ครบตามจำนวนเพราะเงินไม่พอซื้อวัตถุดิบ ทำให้โครงการชะงักไป"

ในช่วงนั้นบริษัทศิริวัฒน์จึงถูกคู่แข่งขันโจมตีเรื่องส่งงานไม่ครบตามจำนวนและไม่ทันตามกำหนดซึ่งทางสมเจตน์ก็ออกตัวว่า "บางอันเร็วกว่าก็มี บางครั้งการไฟฟ้าบอกมาว่าต้องการอะไรเร็วเราก็ทำให้ก่อนตั้งหลายเดือน"

ส่วนแหล่งข่าวจากการไฟฟ้าเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า "เป็นเรื่องจริงที่ศิริวัฒน์ส่งงานช้า แต่บางงานที่การไฟฟ้าเร่งก่อนกำหนดก็ส่งให้ทันเหมือนกัน เรื่องนี้คงเป็นทำนองพึ่งกันไปพึ่งกันมา แต่ถ้าทางศิริวัฒน์ส่งงานช้าไม่ทันตามกำหนดก็ต้องถูกปรับตามสัญญาเหมือนกัน บางคราวโดนปรับเป็นล้านเลย"

ในกรณีที่ส่งงานไม่ทันนั้นทางบริษัทศิริวัฒน์จะต้องถูก กฟภ. ปรับเป็นเงิน 4.5% ต่อเดือนจนกว่าจะสามารถส่งงานได้ครบ และเมื่อรวมถูกปรับหลาย ๆ โรงการเข้าก็กลายเป็นเงินหลายสิบล้านบาท ยิ่งทำให้บริษัทศิริวัฒน์กระอักเข้าไปอีก

นอกากปัญหาเรื่องตัดราคาแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทศิริวัฒน์ต้องมีอันเป็นไปก็คือการขยายงานมากเกินไป

"สมเจตน์มักจะนำกำไรที่มีอยู่ไปขยายการลงทุนเป็นเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ มีการขยายโรงงานออกไปเรื่อย ๆ เงินก็จมอยู่กับพวกนี้หมด" แหล่งข่าวท่านหนึ่งวิจารณ์

"สมเจตน์ทำอะไรใหญ่ ๆ อยู่เสมอ เช่นขยายโรงงานออกไปเรื่อย ๆ แล้วก็พยายามกำจัดคู่แข่งมากเกินไป" แหล่งข่าวภายในวงการคนหนึ่งแสดงทัศนะ

ส่วนคนที่ใกล้ชิดก็ว่า "สมเจตน์เป็นคนใจร้อน คิดจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้"

การขยายงานของบริษัทศิริวัฒน์เริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อปี 2521 ซึ่งทางสมเจตน์ตั้งใจจะผลิตหม้อแปลงระบบ POWER TRANSFORMER ซึ่งเป็นหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่มาก เพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

ตามปกติแล้วหม้อแปลงระบบ POWER TRANSFORMER นั้นทาง กฟผ. แห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้และตลาดหม้อแปลงขนาดนี้คนไทยยังผลิตไม่ได้เพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก ทาง กฟผ. จึงต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศมาตลอด

เนื่องจากสมเจตน์เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมหม้อแปลงไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศมาตลอด งานชิ้นนี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของสมเจตน์มาก ๆ

"สมเจตน์วางแผนที่จะเข้ามาในตลาดนี้ให้ได้ และนี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ดึงเอาเงินทุนหมุนเวียนเข้ามามากเกินไป เพราะในแง่เครื่องมือที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก ๆ สถานที่ก็ต้องใหญ่" แหล่งข่าวในวงการฯ ให้ความคิดเห็น

สมเจตน์ลงทุนไปกับโครงการนี้หลายสิบล้านจนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จสามารถประมูลหม้อแปลงระบบนี้ขนาด 50MVK กับ กฟผ. ได้ 1 ตัว และนับเป็นหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทำการติดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2528 ที่สถานีย่อยสาขาชิดลมและก็สามารถเดินเครื่องได้ปกติมาจนถึงทุกวันนี้

นับเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจของสมเจตน์ยิ่งนัก แต่ก็เป็นลางแห่งความหายนะที่กำลังจะตามมา

แล้วเคราะห์กรรมก็กระหน่ำสมเจตน์อีก ในขณะที่สมเจตน์พยายามจะหมุนเงินเพื่อมาพยุงฐานะของบริษัทฯ มาได้จนถึงปี 2527 สมเจตน์ก็วิ่งเข้าไปชนซามูไรของปู่สมหมาย ฮุนตระกูลเข้าอย่างจัง เมื่อมาเจอกับมาตรการจำกัดสินเชื่อ 18% และการลดค่าเงินบาทอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ฐานะการเงินของบริษัทศิริวัฒน์กลับทรุดหนักลงไปอีก การหมุนเงินของสมเตน์เริ่มติดขัดมีปัญหาขึ้นมาเพราะมาตรการจำกัดสินเชื่อ ทำให้ธนาคารต้อง SCREEN ทุกโครงการที่ขอสินเชื่อ และยังต้องประกันโครงการด้วยเงินสดอีก 30% ของมูล่างาน

งานของบริษัทศิริวัฒน์จึงต้องชะงักลง เพราะไม่สามารถหมุนเงินมาผลิตหม้อแปลงส่งให้ กฟภ. ได้ ทำให้โครงการหลายแห่งของ กฟภ. ต้องหยุดชะงักลงไม่เป็นไปตามแผนการ ทาง กฟภ. จึงตัดสิทธิ์ไม่ให้บริษัทศิริวัฒน์เข้าประมูลงานอีกต่อไปตั้งแต่ปลายปี 2528

เมื่อไม่ได้งานจาก กฟภ. ก็ไม่สามารถไปหมุนเงินจากธาคารมาซื้อวัตถุดิบมาผลิตโรงงานก็เลยต้องหยุดดำเนินงานไปโดยปริยาย

ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ก่อนจะปิดโรงงานนนั้น สมเจตน์ก็ได้ใช้จิตวิทยาเพื่อปลุกปลอบขวัญพนักงานให้ทำงานอยู่กับบริษัทต่อไป ปรากฏว่าพนักงาน 400 กว่าคนยอมทำงานกับบริษัท โดยยอมรับเงินเดือนเพียงคนละ 500 บาท แต่เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง พนักงานก็สามารถอดทนมาได้ประมาณ 8 เดือนก็สุดจะทนกับภาวะทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นได้อีกต่อไปแล้ว ทุกคนจึงพร้อมใจกันผละงานและเข้าชื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าแรงจากบริษัทฯ

สำหรับธนาคารกรุงเทพและธาคารกรุงไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทศิริวัฒน์นั้นต่างก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวแต่ประการใด โดยนักสังเกตการณ์วิเคราะห์ว่าทางธนาคารเจ้าหนี้คงจะไม่กล้าโวยวายมากนักเพราะบริษัทศิริวัฒน์เป็นบริษัทที่ผลิตหม้อแปลงที่มีชื่อเสียงมากของประเทศ ถ้าทำอะไรลงไปแล้วอาจจะกระทบมากถึงอุตสาหกรรมหม้อแปลงและทำให้เสียภาพพจน์ของอุตสาหกรรมนี้ก็ได้

"ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันจากธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ว่าต่างก็กำลังรอให้สมเจตน์กลัมาปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น

การหยุดกิจการของบริษัทศิริวัฒน์นั้นก็มีผลทำให้เกิดน้องใหม่ขึ้นในวงการหม้อแปลง โดยในส่วนของพนักงานของบริษัทศิริวัฒน์หลังจากที่ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ แล้วก็กระจัดกระจายกันไป พนักงานส่วนหนึ่งนำทีมโดยสัมพันธ์ วงศ์ปาน อดีตผู้จัดการโรงงานของบริษัทก็ได้รวบรวมพนักงานจำนวนหนึ่งมาตั้งบริษัทไทยทราโฟเพื่อผลิตหม้อแปลงและล่าสุดก็สามารถประมูลงาน 10 ล้านบาทจาก กฟภ. ได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ไปตั้งบริษัทกิจวัฒนาเพื่อผลิตหม้อแปลงส่งขายเอกชน

จากการสอบถามไปยังบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตหม้อแปลงถึงเรื่องจะมีการตัดราคาเพื่อที่จะเข้ามาแทนตำแหน่งของบริษัทศิริวัฒน์บ้างไหม ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่มีศิริวัฒน์แล้ว เราก็จะไม่ตัดราคากันเด็ดขาด แม้ว่าจะมี MARKET SHARE กันไม่มากก็ตาม แต่ถ้างานที่เราประมูลได้นั้นมีกำไรเราก็อยู่ได้อย่างสบายแล้ว"

นี่ก็คงเป็นกรณีศึกษาอันหนึ่งที่ให้นักธุรกิจในวงการหม้อแปลงหรือแม้แต่วงการอุตสาหกรรมอื่นพึงสังวรณ์เอาไว้เป็นบทเรียนว่า เมื่อใดที่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลในการบริหารงานแล้ว ยักษ์ก็คือยักษ์เถอะมีสิทธิ์ล้มได้เหมือนกัน!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us