Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2554
รำลึกประวัติศาสตร์ที่นนทบุรี             
โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
 


   
search resources

Entertainment and Leisure




นนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์กว่า 400 ปี เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองเดิมตั้งอยู่บริเวณที่เรียกกันว่า “ตำบลตลาดขวัญ” เป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

อารมณ์พักผ่อน เพียงได้นั่งจิบชากาแฟริมน้ำ ทอดสายตา มองเรือที่วิ่งผ่านไปมาเพลินๆ ก็สุขใจแล้ว ยิ่งได้เห็นสิ่งก่อสร้างอาคารโบราณสถาน อาคารเก่าแก่ ซึ่งสร้างมาเป็นร้อยปีด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อยากรู้อยากค้นหา

แถวที่เรียกกันว่าท่าน้ำนนท์ จะเห็นอาคารสองชั้นปลูกสร้าง ขนานกับลำน้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นที่ทำการของทางราชการ “ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี” ก่อนที่จะย้ายไปตั้ง ณ ศูนย์ราชการ บนถนนรัตนาธิเบศร์ในปัจจุบัน

อาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เรือนแถวต่อเนื่องเป็น สี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบพื้นที่กว้างตรงกลาง ปูด้วยพื้นไม้หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้อง บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ไทย ดูสง่างาม ฝีมือประณีต ราวระเบียงลวดลายฉลุโปร่งรับกับบานเกล็ดไม้ ช่วงบนเป็นกันสาดสำหรับกันแดดและฝน มีบันไดขึ้น-ลงหลายมุม โดยทำเป็นมุขยื่นออกมาและล้อมบันไดเอาไว้ ชั้นล่างยกสูงจากพื้นดิน

ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันคือที่ตั้งกองการฝึกอบรม กระทรวงมหาดไทย

จังหวัดนนทบุรีอยู่ในเขตปริมณฑล เป็นจังหวัดที่มีความเป็น มาทางประวัติศาสตร์กว่า 400 ปี เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรี อยุธยาเป็นราชธานี เมืองเดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณที่เรียกกันว่า “ตำบล ตลาดขวัญ” เป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาทีเดียว

เมื่อ พ.ศ.2092 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงยก ฐานะเป็นเมืองนนทบุรี ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีทำมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกเอาไว้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของลาลูแบร์ที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

“สวนผลไม้ที่เมืองบางกอกนั้นมีความยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง 4 ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันหนักหนา”

เดิม แม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้า แม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่ วกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชะลอ มาออกหน้าวัดเขมาฯ เมื่อปี พ.ศ.2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้ วัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมาฯ เมื่อขุดคลองลัดแล้ว แม่น้ำก็เปลี่ยน ทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน มาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2208 ทรงเห็นว่าแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนคร ได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อมบ้าน บางศรีเมือง และย้ายเมืองนนทบุรีมาด้วย

เมื่อ พ.ศ.2264 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดขึ้น ตัดตามโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลวกอ้อมไปทางบางบัวทอง ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล ชายฝั่งทั้งสองข้างของคลองลัดเกร็ดถูกกัดเซาะให้ห่างกันมากขึ้น พื้นที่ตรงกลางที่มีแม่น้ำล้อมรอบ “เกาะเกร็ด”

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก ชาวเมืองนนทบุรีต้องอพยพ จากถิ่นเดิม ข้ามแม่น้ำไปหลบซ่อนในสวนบางกรวย บางใหญ่ หนีภัยสงคราม เมื่อเข้าสู่สมัยธนบุรีและยุคกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองฟื้นฟูเข้าสู่สภาพปกติ ชาวบ้านค่อยๆ ย้ายกลับถิ่นฐาน ยังมีผู้คนถิ่นอื่น เช่น ชาวมอญที่อพยพมาแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานที่ปากเกร็ด ในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานที่เมืองนนทบุรี

นอกจากนี้ยังมีชาวไทยมุสลิมจากเมืองปัตตานีที่เข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และจากเมืองไทรบุรี ที่เข้ามาในรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรด เกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ตำบลท่าอิฐ และบ้านบางบัวทอง

จากเมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร เป็นเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน และเมืองนนทบุรีศรีเกษตรกรรม เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 4 เมืองนนทบุรีมีฐานะเป็นเมืองชายทะเลสังกัดกรมท่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง หัวเมืองต่างๆ ในการปกครอง ส่วนภูมิภาค เมืองนนทบุรีจัดอยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ

ศาลากลางเมืองนนทบุรีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากปากคลองอ้อม บ้านบางศรีเมือง มาตั้งที่ปากคลองบางซื่อ

เมืองนนทบุรีเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนนทบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนคำว่า เมืองเป็นจังหวัดในปี พ.ศ. 2459 แต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรีมาตั้งที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งก็คือศาลากลางจังหวัดริมน้ำนั่นเอง

ถนนสายแรกที่เชื่อมการคมนาคมไปยังพระนคร คือถนนประชาราษฎร์ ในเวลาต่อมาจึงตัด ถนนพิบูลสงคราม เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ศาลหลักเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ปากคลองอ้อม ตำบลศรีเมือง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2208 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย ที่ตั้งเมืองนนทบุรีจากบ้านตลาดขวัญ มาอยู่ปากคลองอ้อม

ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรีมายังที่ตั้งเดิมคือ บ้านตลาดขวัญ ศาล หลักเมืองที่ปากคลองอ้อม จึงยังคงอยู่ที่เดิมบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านนี้คือริมฝั่งเจ้าพระยา ด้านหลังติดถนนพิบูลสงครามนั้น มีวัดที่สร้างขึ้นมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

วัดเขมา เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดบัญชีกฐินหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 ทรงขอวัดนี้มาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์และทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เรียกว่า “วัดเขมา”

ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งอาราม และพระราชทานสร้อยนามต่อท้ายว่า วัดเขมาภิรตาราม ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่ศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งอัญเชิญมาจากพระราชวังจันทร์เกษม

วัดสังฆทาน สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยช่าง ที่มีความชำนาญตามแบบลังกาวงศ์ในสมัยกรุงสุโขทัย องค์พระประธานคือหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิ มีพุทธลักษณะพุทธศิลป์ เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง แต่ชาวบ้านยังคงมาสักการบูชาองค์หลวงพ่อโตอย่างไม่เสื่อมคลาย ชาวบ้านจึงนิมนต์พระจากละแวกใกล้เคียงมาเพื่อถวายสังฆทาน จึงเรียกกันติดปากว่า “วัดสังฆทาน”

อุโบสถแก้ว เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ชั้นบนใช้สำหรับ บวชพระภิกษุ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องสมุดและรับบริจาค

วัดนี้มีลักษณะเป็นธรรมชาติร่มรื่น เหมาะกับการเจริญภาวนา มีโครงการบวชเนกขัมมะ คือสตรีผู้ถือศีล 8

พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร “วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร” ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก รัชกาลที่ 3 ทรงสร้าง ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2390 เพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนี

ภายในเขตพระอารามมีความสงบร่มรื่น สะอาด ศิลปะ สถาปัตยกรรม อนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้ แม้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็มีความกลมกลืน

วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2536 จากสมาคมสถาปนิกสยาม โดยพระอุโบสถเป็นแบบพระราชนิยม ในรัชกาลที่ 3 คือศิลปะที่ได้จากจีนมาผสม กระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี มุงหลังคาถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบเก๋งจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี ลวดลายใบดอกพุดตาน กระจังฐานพระช่อฟ้าใบระกาประดับด้วยกระเบื้อง เคลือบสีสลับลายจากประเทศจีน ด้านหน้าในเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีช่อดอกพุดตาน ภายในเพดานลายฉลุปิดทอง ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้น รูปใบและดอกพุดตานนั้นประดับกระจก

ผนังภายในพระอุโบสถเขียนสีลายดอกไม้ร่วง บานประตูหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ กรอบประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นยกดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก ด้านในของบานประตูหน้าต่าง เขียนรูปกอบัว ดอกบัว นก และสัตว์น้ำ

สำหรับพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ ซึ่งทองแดงนี้ รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯให้ขุดมาจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้ถลุงเป็นเนื้อทองแดงเพื่อใช้เกื้อกูลพระพุทธศาสนา โดยหล่อพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ 2 อาราม คือ วัดเฉลิมพระเกียรติและวัดราชนัดดา ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปปางอื่นอีก 34 ปาง

ภายในพระวิหารหลวง “พระวิหารพระศิลาแลง” ประดิษฐานพระประธานศิลาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง หรือที่เรียกว่า ทรงลังกา เนื่องจากได้รับแบบอย่างมาจากลังกา มีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้นสูง 85 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ศาลาการเปรียญหลวง อาคารแบบผสมระหว่างอาคารทรงไทยกับเครื่องบนหลังคาแบบจีน ลักษณะเป็นตึกทรงสูง มีเสาอยู่ข้างใน ประดิษฐานพระชัยวัฒน์ มีกุฎิทรงไทย 20 หลัง เรือน ไทยภาคกลางใต้ถุนสูง กำแพงแก้วและป้อมปราการเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน มีเสมาเหมือนกับกำแพงพระบรมหาราชวัง มีป้อมปราการทั้งสี่มุม ต้นโพธิ์พันธุ์พุทธคยาที่ได้มาในสมัยรัชกาลที่ 4

วัดปราสาท สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้สักสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เครื่อง บนเป็นไม้สักแกะสลักประดับล้อมรวยมอญ (ศิลปะมอญ) ตรงหุ่นนก (สามเหลี่ยมข้างรวยมอญ) เป็นรูปราชสีห์ คชสีห์ ลักษณะ ทางสถาปัตยกรรมเป็นโบสถ์แบบมหาอุด ไม่มีการเจาะฝาผนังเลย ฐานพระอุโบสถเป็นแบบกาท้องช้างหรือท้องสำเภา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน พระสาวก มีภาพจิตรกรรม โดยช่างสกุลชั้นสูงนนทบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่เรียกว่าพุทธชาดชาดก นับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนนทบุรี ถือว่าวัดนี้เป็นวัดหนึ่งที่อนุรักษ์โบสถ์และศิลปกรรม ได้อย่างถูกวิธี จึงเป็นแหล่งวิทยาการที่น่าสนใจทั้งชาวไทยและเทศ

ตำหนักประถม-นนทบุรี เป็นตำหนักหลังแรกที่สร้างขึ้นในวังเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2462 (ตรงเซ็นทรัลเวิลด์สี่แยกราชประสงค์ในปัจจุบัน) ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง ทรงตั้งชื่อตำหนักตามเพลงไทยว่า “โหมโรงปฐมดุสิต”

เมื่อ พ.ศ.2527 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ได้ขอพระราชทานรื้อถอน ตำหนักบางส่วนไว้ที่ถนนงามวงศ์วาน เลขที่ 45/5 ซอยอัศนี

ตำหนักประกอบขึ้นโดยไม้ทุกชิ้นเป็นของเดิม โดยการรื้อพร้อมใส่หมายเลขบนไม้ทุกชิ้นเพื่อความถูกต้องในการประกอบขึ้นใหม่ ตำหนักนี้สร้างด้วยไม้สักทอง ประดับด้วยกระจก หลังคา กระเบื้องว่าว เป็นอาคารใต้ถุนสูง เป็นแบบพักอาศัยในยุคที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคแรกๆ ซึ่งยังมีหน้าตาแบบไทยๆ หลังคา ชัน เพดานสูง มีบานเกล็ด บานกระทุ้งตรงหน้าต่าง เพื่อระบายความร้อน มีเนื้อที่ใช้สอยบนชั้นสอง มีห้องนอน ห้องรับแขก ห้องน้ำ ห้องใต้หลังคาเป็นที่เก็บของ นอกจากนี้ระหว่างตำหนักใหญ่กับเรือนน้ำหลังเล็ก มีซุ้มแปดเหลี่ยมคั่นกลางและมีสระบัวอยู่ด้านหน้า ต่อไปด้วยตำหนักใหม่ใต้ถุนสูง ห้องโถงปิดลายทอง ใช้เป็นที่วางฮาร์ฟชิ้นประวัติศาสตร์ที่นำมาจากอังกฤษอายุกว่า 100 ปี

บนถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ เป็นที่ตั้งบ้านโสมส่องแสง ของครูมนตรี ตราโมท ดุริยางคศิลปิน คีตกวี 5 แผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ ผลงานประพันธ์ทำนองเพลงไทยไว้กว่า 200 เพลง และยังมีบทร้องอีกด้วย เช่น เพลงโสมส่องแสง ทายาทได้อนุรักษ์บ้านหลังนี้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาชีวิตของศิลปินไทยที่มีคุณความดี และนำสัจธรรมทางพระพุทธศาสนามาดำเนินชีวิต ยึดมั่นคุณธรรม มากกว่าวัตถุ โดยจัดแสดงวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ชีวประวัติ ข้าวของเครื่องใช้ ผลงานที่เป็นลายมือต้นฉบับ ตั้งแต่เพลงแรก เมื่ออายุ 20 ปี จนเพลงสุดท้ายเมื่อ 91 ปี

เกาะเกร็ด จากท่าเรือวัดสนามเหนือข้ามมาสู่เกาะเกร็ด ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอด ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โรงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาส

วัดปรมัยยิกาวาส หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดปากอ่าว พระ วิหารจะประดิษฐานพระพุทธไสยยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพจิตรกรรมที่เพดานเป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหาร ประดับตราพระเกี้ยว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี “พระนนทมุนินทร์” ปางขัดสมาธิ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเพชรแบบมอญ มีมุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน พระ อุโบสถตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะรูปแบบราชนิยมสมัย รัชกาลที่ 5 เป็นวัดเดียวที่มีการเก็บรักษาพระไตรปิฎกของมอญไว้

พระประธานเป็นพระปางมารวิชัย ที่พระหัตถ์ของพระองค์ เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช สำหรับเจดีย์เป็นทรงรามัญจำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุดตา เมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวมอญ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม

สำหรับวัดเสาธงทอง หรือวัดสวนหมาก ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียน ประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ด พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น เจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ทรงมะเฟือง

จากท่าเรือหน้าวัดเดินตามถนน จะเริ่มเห็นร้านค้าเรียงราย ตลอดแนว ทอดมันหน่อกะลา ข้าวแช่ ขนมไทยโบราณ อาหารคาว เช่น หมี่กรอบ แกงบอน แกงขี้เหล็ก ห่อหมก ใบไม้ดอกไม้ชุบแป้ง ทอด ของที่ระลึก ของประดิษฐ์ หัตถกรรมต่างๆ แม้แต่ผักสด ผักหนาม ผักพื้นเมืองต่างๆ มีให้ชอปกลับบ้าน

มาเกาะเกร็ดทั้งที มีทั้งให้ชอป ชิม ชม และไว้พระแล้ว ยังมีเรือนำชมรอบเกาะ และชมบ้านขนม ทั้งเม็ดขนุน ทองหยิบ ทองหยอด และอีกมากมาย

พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา นับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่ของจังหวัดนนทบุรี หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเอกลักษณ์ของชาวไทยรามัญที่สืบทอดมายาวนาน

เกาะเกร็ดเป็นหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบภาคกลาง เป็นแหล่ง เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

วัดชะลอ เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเสด็จทาง ชลมารคมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านนนทบุรีเรื่อยมาทางคลองลัด ในปัจจุบันคือคลองบางกรวย พระองค์ทรงเห็นว่าที่ตรงนี้น่าจะมีการสร้างวัดขึ้นมาสักวัดหนึ่ง เนื่องจากบริเวณนั้นในอดีตเคยมีเรือสำเภาจากเมืองจีนล่มและจมลง ลูกเรือล้มตายจำนวนมาก มีความเชื่อว่าเป็นที่อาถรรพ์ ในระหว่างการก่อสร้างก็ยังมีอุปสรรคนานัปการ จึงทรงเสี่ยงสัตยาอธิษฐานกับเทพเทวาและมีพระสุบินนิมิต ไปว่า ชายจีนชรามากราบทูลว่า ต้องสร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภาเพื่อการแก้เคล็ด จึงทรงสร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภา ทรงพระราช ทานนามว่า วัดชะลอ ต่อมาถูกทิ้งร้างมาจนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดนี้มีโบสถ์เรือหงส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อสร้างเมื่อปี 2526

วัดที่น่าสนใจของจังหวัดนี้อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่อำเภอบางบัวทอง คือวัดจีน วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศ ไทย จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

แต่เดิมคือโรงเจขนาดเล็ก คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย โดยวัดเล่งเน่ยยีหรือวัดมังกรกมลาวาส ได้มอบให้พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์เป็นประธานดำเนินการจัดสร้าง และมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรเป็นประธานที่ปรึกษา

โดยมีแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง เป็นผู้ดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง ทรงมีพระบรมราชานุญาต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “วัดบรม ราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะจีนนิกายรังสรรค์ โดยมีสมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 บริเวณวัดนี้มีเนื้อที่กว่า 12 ไร่ ประกอบด้วยวิหารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแนวปรัชญาและคติธรรมทางพระพุทธศาสนา จีนนิกายฝ่ายมหายาน วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์ วิหารหมื่นพุทธเจ้า วิหารบูรพาจารย์ ห้องปฏิบัติธรรม ที่พำนักสงฆ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรม

มีพิธีสมโภชเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 โดยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเป็นองค์ ประธาน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงตัดหวายลูกนิมิตพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552

ศาสนาพุทธนิกายหลักๆ ที่มีคนนับถือ คือนิกายหินยาน และนิกายมหายาน

นิกายหินยานหรือเถรวาทอยู่ในศรีลังกากว่า 70% หรือในประเทศไทยกว่า 94% มีประชากรนับถือ และยังมีประเทศกัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย ตอนเหนือเป็นเชื้อสายไทยและสิงหล

นิกายเถรวาท อันหมายถึงคณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งถ้อยคำ เนื้อความที่ทำสังคายนาไว้โดยเคร่งครัด นิกายหินยานนี้ในประเทศไทยยังแยกย่อยอีก คือธรรมยุติ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและการแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชอยู่ การก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย เป็นสาเหตุทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ (หินยานอื่น) มีการประชุมและมีมติเรียก “มหานิกาย”

นิกายมหายานแพร่หลายในประเทศจีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย ภูฏาน ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล เวียดนาม แนวคิดคือการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสรรพ ชีวิตในโลกไปสู่พระนิพพาน

นั่งรถผ่านไปที่ไหนก็เต็มไปด้วยสถานพยาบาล มีทั้งของรัฐ และเอกชนมากมาย ทำให้นึกได้ว่าเดือนกันยายนที่จะถึงนี้จะมีการจัดงานการกุศลเนื่องในวันมหิดลมากมายหลายหน่วยงานอย่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะระดมทุนจากคนไทยทั่วประเทศที่มีความพร้อม มีจิตใจเอื้ออารี รู้จักแบ่งปันต่อ ผู้ที่ด้อยกว่า ร่วมกันบริจาคเพื่อเป็นการเสริมกำลังใจแก่แพทย์และผู้ร่วมปฏิบัติงานในการช่วยกันดูแลคนในสังคมให้ปราศจากโรคภัยที่เกิดขึ้น

จัดงานโดยใช้ชื่อว่า “สวนดอกร้อยดวงใจเพื่อชีวิตที่สดใส... ห่างไกลจากธาลัสซีเมีย” เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์และช่วยผู้ป่วยยากไร้ธาลัสซีเมีย โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนท์ทีวี ช่อง 9 อสมท. เวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่งของวันอังคารที่ 13 กันยายน 2554 จะได้รับทั้งความรู้ทางการแพทย์ ความบันเทิงในรูปแบบละคร “รักนี้ ...ไม่มีวันจาง” เป็นการถ่าย ทอดเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมีย ซึ่งนำ แสดงโดยปฏิภาณ ปฐวีกานต์ กุลณัฐ กุลปรียาวัฒน์ ดารณีนุช โพธิปิติ แพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติงานจริง ฯลฯ

คราวนี้มารับรู้เรื่องโรคเลือดกันบ้าง

โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่เริ่มชินหูของคนไทยมากยิ่งขึ้น คนที่เป็นโรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะต้องเสียชีวิต ในที่สุด และเป็นโรคที่ใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก

รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เล่าว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียสูงถึงกว่า 600,000 คน พบว่ามีคนไทยที่เป็นพาหะของโรคนี้จำนวนถึง 24 ล้านคนทั่วประเทศ และพบว่าทุกๆ 1,000 รายของหญิงตั้งครรภ์ จะให้กำเนิดบุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมียแบบชนิดร้ายแรงรวม 6.8 คน ซึ่งเป็นสถิติที่น่าใจหาย ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ญาติพี่น้อง และเศรษฐกิจของประเทศชาติเป็นอย่างมาก ทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคธาลัสซีเมียให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นผู้นำและศูนย์กลางในการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคธาลัสซีเมียอยู่ในขณะนี้ เพราะสามารถควบคุม ป้องกัน รักษา และช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งส่วน ใหญ่เป็นผู้ป่วยยากไร้จำนวนมาก

“ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคเลือดจางที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่สร้างสายโกลบิน ทำให้ไม่เกิดการสร้างโปรตีนโกลบิน หรือสร้างได้เป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างที่ผิดปกติไป เมื่อส่องดูเม็ดเลือดแดง ผ่านกล้องจุลทรรศน์ จะพบเม็ดเลือดที่มีรูปร่างผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรงหรือเป็นเพียงพาหะ ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการเลย และตรวจพบว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียโดยเหตุผล อื่น ส่วนชนิดที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซีดตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน มักจำเป็นต้องรับเลือดทุก 3-4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการซีด ผู้ป่วยที่มีอาการซีดเรื้อรังจะมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก หน้าตา ท้องโต จากอวัยวะภายในคือตับและม้ามที่โตขึ้น ชนิดที่มีอาการรุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการซีดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีตับและหัวใจโต เป็นทารกบวมน้ำ และส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอดไม่นาน

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวช วิทยา และทีมแพทย์จากสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารก สาขาโลหิตวิทยา และอีกหลายหน่วยมีการร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียในหลายๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่หากระบวนการในการคัดกรองคู่สมรสที่มีความเสี่ยงสูง การวินิจฉัย ก่อนคลอด รวมทั้งมีการค้นคว้าถึงการรักษาแบบเฉพาะทาง ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์ (stem cell) และการรักษาแบบประคับประคอง เช่น เติมเลือด ให้ยาขับธาตุเหล็ก แก้ปัญหาต่อมไร้ท่อผิดปกติ แก้ปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตของผู้ป่วย และการแก้ปัญหาเรื่องการติดเชื้อ เป็นต้น

คณะแพทย์ฯ ได้มีการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียมาโดยตลอด และได้มีการพัฒนาทั้งการจัดหาเลือดที่มีคุณภาพและพอเพียงจากธนาคารเลือด การให้ยาขับธาตุเหล็กชนิดฉีดผ่านเครื่องปั๊มให้ยา จนปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายรายที่แม้จะเป็นโรคธาลัสซีเมียที่รุนแรง แต่มารับเลือดอย่างสม่ำเสมอ ดูแลอาหาร การออก กำลังกาย และให้ยาขับธาตุเหล็กชนิดฉีด ซึ่งต้องแทงเข็มฉีดยา ผ่านเครื่องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง ได้ครบ 5-6 วันต่อสัปดาห์ ให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อได้ไหว้พระเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของจังหวัดนนทบุรี และรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยเพื่อร่วมแบ่งปันสู่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าแล้ว

ก็ถึงเวลาชิมอาหารที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นยาจกยากจนเข็ญใจ คนมีสตางค์ แม้แต่ชาวต่างชาติยังชื่นชอบ มีขายในตรอก ซอกซอย หาบเร่ รถเข็น บนห้าง ร้านหรูมากมาย เปิดจนกระทั่งทำเป็นแฟรนไชส์ ขายแบรนด์กันในปัจจุบัน

ส้มตำ ประกอบด้วยส่วนผสมเครื่องปรุง สมุนไพร ยังมีผักเคียงที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังที่เป็นอาหารที่นิยมของผู้คนที่จะลดน้ำหนักอีกด้วย

ธุรกิจที่ได้รับกรรมสิทธิ์ การครอบครอง การบริหารจัดการ จัดจำหน่ายโดยความชอบธรรม การมีระบบระเบียบแบบแผนการจัดการเป็นของตัวเองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการขยายการตลาด การจัดจำหน่ายของธุรกิจ โดยให้สิทธิเครื่อง หมายการค้า วิธีการในการดำเนินธุรกิจ การถ่ายทอดระบบการผลิต การขาย การบริหารการตลาด โดยการกระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆมากขึ้น โดยมีรูปแบบ วิธีการเดียวกันในทุกสาขาให้มีมาตรฐานเดียวกับร้านต้นแบบ

ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ธุรกิจด้านอาหารและร้านค้าแบบมินิมาร์ทเป็นธุรกิจแรกๆ มาเกือบ 30 ปีมาแล้ว

ปัจจัยหลักของธุรกิจแฟรนไชส์คือใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบ ระบบธุรกิจ ระบบการจัดการธุรกิจที่ค้นคิดขึ้นมาในการผลิตสินค้า การบริการมีมาตรฐานในแบรนด์เดียวกัน ผู้ซื้อผู้ขายแฟรนไชส์ มีข้อตกลงทำธุรกิจร่วมกัน มีการจ่ายค่าตอบแทน ค่าแรกเข้าใช้เครื่องหมายการค้าและค่าตอบแทนผลการดำเนินการ

จากรัตนาธิเบศร์ แยกแคราย ผ่านศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี จนกระทั่งข้ามสะพานพระนั่งเกล้า เมื่อแล่นข้ามสะพานพระนั่งเกล้า เลี้ยวเข้าซอยไทรม้า จนถึงแยกตัว Y เลี้ยวขวาพบทิวสนซ้ายมือ และอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นห้องแรก คือที่หมาย

ร้าน “ตำมั่ว สะพานพระนั่งเกล้า” ซึ่งเป็นสาขาที่ 21

“ทำไมจึงชื่อตำบลไทรม้า”

ในสมัยโบราณ ถ้าทหารเดินทัพหรือผู้คนเดินทางด้วยม้าจากกรุงศรีอยุธยาเข้าบางกอก มาถึง ณ จุดนี้ จะหยุดพักริมเจ้าพระยา ณ บริเวณที่มีต้นไทรขึ้นครึ้มเป็นบริเวณกว้าง จะผูกม้าให้พักชั่วคราว จึงได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า “ไทรม้า”

เมื่อเข้าสู่ร้านจะรู้สึกอบอุ่น สดชื่น สบายตา ด้วยการจัดแต่งแบบสไตล์โมเดิร์น ดูโดดเด่นเป็นสง่า โปร่งด้วยกระจกรอบด้าน ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้หลากพันธุ์ ทำให้คิดว่าไม่น่าจะใช่ร้านแฟรนไชส์ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นสไตล์ของเจ้าของร้านเอง แขกที่เข้ามาใช้บริการจะรู้สึกกว่าได้รับประทานข้าวอยู่กับบ้าน

สืบตระกูล จิระพรรคฌา ผู้เป็นเจ้าของร้าน ซึ่งเรียนจบไฮสกูลจากประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์อินเตอร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์อินเตอร์ฯ จากจุฬาฯ พอจบได้เข้าทำงานเป็นนักบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ 3 ปี มีแผนว่าจะใช้ชีวิตคู่ ทำให้คิดถึงอนาคตครอบครัว อยากที่จะมีกิจการเป็นของตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกน้องใคร เหมือนเด็กรุ่นใหม่ทั่วไป มีความคิดไว้หลายอย่าง เช่น เปิดร้านหนังสือเช่า ร้านสะดวกซื้อ หรือโรงเรียน กวดวิชาและอื่นๆ จิปาถะ พอดีมาซื้ออาคารพาณิชย์ได้ห้องริมตั้งอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้านที่มีขนาด 999 ครัวเรือน และอยู่ท่าม กลางหมู่บ้านแถบนี้เกือบ 6,000 ครัวเรือน ถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่

เพราะเป็นคนที่มีจิตใจชอบงานบริการเป็นทุน อีกทั้งชอบทานส้มตำ อาหารอีสาน และมาถูกใจส้มตำแบรนด์นี้ที่รสชาติและการจัดการ

ร้านนี้เปิดมาได้กว่า 6 เดือนแล้ว วันแรกนึกว่าขายเฉพาะญาติๆ แต่ที่ไหนได้ผู้มาอุดหนุนโดยไม่ได้นัดหมาย จนญาติๆ ต้องมาช่วยกันบริการลูกค้า

จากวันนั้นถึงวันนี้ยอดขายดีขึ้นโดยลำดับ

ปัจจุบันลาออกจากงานประจำ มาดูแลกิจการอย่างเต็มตัว

ที่ตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ร้านส้มตำแบรนด์นี้ เพราะคิดว่าอย่างน้อยๆ เป็นแบรนด์ที่ติดตลาดเรื่องรสชาติ พร้อมทั้งเรียนรู้การจัดการ การจัดซื้อวัตถุดิบ การสต๊อกของการเก็บรักษาวัตถุดิบ แหล่งซื้อ และสูตรอาหารที่อร่อย รสชาติคงที่ บางอย่าง เช่น แจ่ว ปลาร้า ต้องใช้ของแบรนด์ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน ได้พี่เลี้ยงคอยชี้แนะแนวทางการดำเนินงาน ได้รับประสบการณ์ในเรื่องการบริหารบุคคล การตลาด การบริการตลอดถึงการตัดสินใจซึ่งถือว่า คุ้มค่า ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความคิดในทางที่ดีขึ้น

เช่น เมื่อวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา สำนักงานเขตมาตั้งคูหาเลือกตั้งด้านหน้าร้าน ซึ่งปกติเป็นที่จอดรถของลูกค้า ก็คิดเสียว่าได้ทำอีเวนต์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้คนในชุมชนนี้รู้จักร้านมากขึ้น ซึ่งในที่สุดเมื่อคิดดี คิดบวก เห็นผลทันที โดยผู้ที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะแวะเวียนเข้ามาทานที่ร้านเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานก็สั่งอาหารไปทานกัน เมื่อเสร็จงานก็เข้ามานั่งทานอีก

อาหารของที่นี่มีให้เลือกมากรายการ การปรุงที่รวดเร็วด้วยการจัดแบ่งแม่ครัวรับผิดชอบแตกต่างกันไป ตำก็ตำ นึ่งก็นึ่ง ต้มก็ต้ม ยำทอดว่ากันไป สังเกตเห็นอาหารที่ออกทุกโต๊ะคือ โคขุนกระทะร้อน ปลากะพงทอดน้ำปลาหรือนึ่งจิ้มแจ่ว เห็ดทอดสามเกลอ ปลาคังยำ ยำผักหวานกุ้งสด ต้มยำสามเห็ด ดูแล้วเป็น อาหารที่มีคุณค่าดีต่อสุขภาพมาก

บางคนอาจจะไม่รู้จักว่าต่ำมั่วนั้นใส่อะไรกันบ้าง จะมีมะละกอสับ ซึ่งต้องเป็นมะละกอแขกดำสายพันธุ์ดำเนินสะดวกจะกรอบ รวมกับเส้นหมี่ ถั่วงอก ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ พริกขี้หนู กระเทียม ปลาร้า น้ำปลา มะนาว เห็ดหูหนู กะหล่ำปลี

คนเรานั้นเมื่อได้กระทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบจะมีความใส่ใจ จะทำได้ดี ผ่านอุปสรรคขวากหนามไปได้ไม่ยากเย็น ดังวลีที่ว่า “ความสุขอยู่ที่ความพอใจ” ไงล่ะครับ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us