ต้นสกุลของตระกูลเป็นชาวไหหลำได้อพยพมาจากเมืองจีนมาในประเทศไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
5 โดยมีหัวหน้าตระกูลชื่ออุ่นตุ้ย แซ่ฮุน ต่อมาเริ่มประกอบกิจการเป็นพ่อค้าทำขนมปังและได้สมรสกับอำแดงคำบุตรสาวของนายปิ้นและนางหุ่น
จันตระกูลเจ้าของตลาดน้อยในสมัยนั้น
ข้อมูลจากหนังสือ "คนจีน 200 ปีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร" โดยภาษิต
จิตรสว่าง บันทึกไว้ว่าบุตรและธิดาของอุ่นตุ้ยกับนางคำมีทั้งสิ้น 10 คนดังต่อไปนี้
"โกศล ฮุนตระกูล เกื้อ ฮุนตระกูล กิมเหลียง ฮุนตระกูล จิ้มลิ้ม ฮุนตระกูล
(เสียชีวิตในวัยเด็ก) เทียนย้ง ฮุนตระกูลและเทียนฮอก ฮุนตระกูล"
เมื่อโกศล ฮุนตระกูลหรือชื่อเดิมฮุนกิมฮวดอายุได้เพียง 19 ปีผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิต
ทิ้งน้อง ๆ ที่ยังเยาว์ทั้งชายและหญิงให้อยู่ในความดูแลถึง 7 คน เด็กชายเทียนเลี้ยงซึ่งต่อมาได้เป็นขุนนางคนแรกของตระกูลนี้อายุเพียง
6 ขวบ เด็กชายเทียนฮอกน้องคนสุดท้องอายุยังไม่เต็มขวบเสียด้วยซ้ำ
สิ้นบุญผู้เป็นพ่อ โกศล ฮุนตระกูล ก็ไม่ได้ย่อท้อรับภาระหัวหน้าครอบครัวประกอบกิจการค้าจนได้รับความเจริญรุ่งเรืองในเวลาต่อมา
โดยเริ่มต้นจากทำเครื่องดื่มน้ำมะเน็ดโซดาในปี 2446 และในปี 2449 ได้ขยายกิจการออกไปทางด้านขายยาตั้งเป็นห้างชื่อฮุนซุยโห
เมื่อการค้าเติบโตขึ้นจึงได้ร่วมกับพ่อค้าชาวจีนก่อตั้งบริษัทเรือเมล์สยามในปี
2451 ถัดมาอีก 1 ปี ได้รวมทุนกับพ่อค้าไหหลำด้วยกันก่อตั้งธนาคารบางกอกซิตี้แบงก์โดยตนเองดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
โกศล ฮุนตระกูล จัดได้ว่าเป็นผู้ประกอบการชาวจีนที่มีสานตายาวไกลและทันสมัย
สำหรับคนจีนด้วยกันในยุคสมัยนั้น เพราะในขณะที่พ่อค้าจีนอื่นนิยมส่งลูกหลานกลับไปเรียนที่เมืองจีน
โกศลกลับตัดสินใจส่งน้องชายของตนคือเทียนเลี้ยงเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ
ส่วนเทียนย้งกับเทียนฮอกนั้นส่งเข้าเรียนที่ราชวิทยาลัย ต่อมาจึงได้ส่งเทียนเลี้ยงกับเทียนฮอกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษทางด้านกฎหมายโดยมีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นข้าราชการ
ด้วยโกศล ฮุนตระกูล รู้ดีว่าพ่อค้านั้นจะก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงต้องอาศัยข้าราชการขุนนางที่ใกล้ชิดเจ้านายเป็นประการสำคัญ
ก็สมดังเจตนารมณ์ของผู้เป็นพี่ชายเมื่อเทียนเลี้ยงสำเร็จการศึกษาที่อังกฤษก็เข้ารับราชการในสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส
จากนั้นได้กลับมาเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ในรัชกาลที่ 7 จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีวิสารวาจา
ส่วนเทียนฮอกเมื่อเรียนสำเร็จก็เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศตามพ่ชาย
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสิทธิสยามการ ตำแหน่งหน้าที่ล่าสุดเป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศ
ในบรรดาน้องชายของโกศล ฮุนตระกูล ทั้งหมดพระยาศรีวิสารวาจาเป็นผู้ที่ถือได้ว่าได้รับความสำเร็จสูงที่สุด
เพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 พระยาศรีวิสารวาจาก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการราษฏร
และเมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดแรกที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี
พระยาศรวิสารวาจาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดต่อจนถึงรัฐบาลชุดที่
3
และเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองในรัฐบาลชุดที่ 14 ที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี
พระยาศรีวิสารวาจาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนแรกของตระกูล
ฮุนตระกูล ตำแหน่งสุดท้ายก็คือเป็นองคมนตรี
ทางสายลูก โกศล ฮุนตระกูล ส่ง ศิริ ฮุนตระกูล ไปเรียนวิชาบัญชี เอ.ซี.เอ.
จากประเทศอังกฤษ และส่ง สมหมาย ฮุนตระกูล ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยริกเกียว
(ภายหลังเปี่นชื่อเป็นเคโอะ) เพื่อหวังจะให้กลับมาดูแลธุรกิจของตระกูล
สำหรับตัว โกศล ฮุนตระกูล นั้นแม้ภายหลังธนาคารบางกอกซิตี้แบงก์ต้องไปรวมกับแบงก์จีนสยามเนื่องจากประสบปัญหาหนี้สูญ
เนื่องจากกรรมการบางคนปล่อยกู้ให้กับพรรคพวกและกิจการแบงก์เจ๊งไปเมื่อปี
2453 ก็ยังประกอบธุรกิจห้างขายยาและเปิดโรงน้ำแข็งทั้งในกรุงเทพฯ และที่หัวหิน
ได้รับการนับหน้าถือตาจากพ่อค้าชาวจีน โดยเฉพาะย่านสำเพ็ง เยาวราชอย่างสูง
ถึงกับได้เป็นตัวแทนชาวจีนย่านนั้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
8 และพระอนุชา (รัชกาลปัจจุบัน) เสด็จเยือนย่านคนจีนที่สำเพ็ง เมื่อวันที่
5 มิถุนายน 2489
ฮุนกิมฮวด หรือ กิมฮวด ฮุนตระกูล หรือ โกศล ฮุนตระกูล เสียชีวิตเมื่อ 2502
ทิ้งบุตรหลานที่สร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติไว้มากมายหลายคน
สมดั่งนามสกุลเดิม "ฮุน" ที่แปลว่า เมฆ ย่อมลอยอยู่บนท้องฟ้า
ให้ทั้งร่มเงาและน้ำแด่พื้นดิน บางครั้งบางทีอย่างปี 2527-2528 เมฆก็ให้น้ำมากเกินไปจนนักธุรกิจจมน้ำตายไปก็มากเหมือนกัน