Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2554
ไทฟูโด (Tai Fu Do) ศาสตร์มวยไทยในศิลป์ผสม             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ์

   
search resources

Education
โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ์
ชีวิน อัจฉริยะฉาย




ถ้ากรุงศรีมีสิบขนมต้ม อยุธยาคงไม่ล่มแหลกสลาย วิชามวยมึงเลิศประเสริฐชาย ลบลายทหารกล้าพม่ากู นับแต่ครั้งเจ้าอังวะประกาศเกียรติ ไม่มีใครกล้าเหยียดฤาลบหลู่ อันชั้นเชิงมวยไทยใครก็รู้ คู่ต่อสู้เข็ดขามไปตามกัน...

หากอ่านเพียงบทขึ้นต้นในกลอน “มวยไทย” ของผู้ใช้นามปากกา “แอ๊ด อัจฉริยะ” คงทำให้เลือดในกายคนไทยพลุ่งพล่านด้วยความภูมิใจในศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเรา

มวยไทย มวยปล้ำ หย่งชุน ไทเก๊ก กังฟู ยูโด ไอคิโด เทควันโด ยูยิตสู คูราช.... สารพัดวิชาการต่อสู้นี้เป็นเพียงบางส่วนของศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมที่มีอยู่ บนโลกใบนี้ บางวิชามีมานานกว่าร้อยปี ขณะที่บางวิชาก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงศตวรรษ

สิ่งที่น่าภูมิใจคือ ทุกวิชาที่กล่าวนี้ล้วนเป็นศิลปะการต่อสู้มือเปล่าที่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชีย แต่ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งกว่าคือ รายการสารคดีต่างประเทศเคย ยกย่องให้มวยไทยเป็นหนึ่งศิลปะการต่อสู้ที่มีพลังเตะหนักหน่วงที่สุดในโลกและเป็นศิลปะป้องกันตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นอันดับ 2 รองจากกังฟู

...ยกย่างสามขุมคลุมธรณี ท่วงทีสง่าน่าเกรงขาม หมัดศอกถีบเข่าเข้าตามเตะตัดฉัดย่ามยามรุก ทุ่มทับจับหัก ปักหลักสืบเท้าก้าวบุก เข่าลอยสอยดาวเข้าคลุก ได้ทุกอาวุธยุทธนา หมุนคว้างสร้างพิษได้รอบตัว พม่ากลัวมวยไทยไม่กล้าสิบคนก็สิบพ่าย ใครเข้ามาเป็นส่ายหน้ายอมแพ้แก่มวยไทย...

ท่อนกลางของบทกลอน “มวยไทย” ยังให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากท่อนแรก แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าอาวุธมวยไทยที่ปรากฏในบทกลอนนี้ต่างจากมวยไทยที่เห็นบนเวที “ลุมพินี” หรือ “ราชดำเนิน” โดยเฉพาะท่าทุ่มทับจับหักที่เมื่อนึกภาพตามหลายคนอาจคิดถึงยูโดผสมไอคิโด้ มากกว่ามวยไทยที่เห็นวันนี้

เพราะมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่บรรพบรุษนักรบของเราคิดค้นไว้ ไม่เพียงเพื่อป้องกัน ตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีอีกวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อป้องกันรักษาชาติ จึงได้คิดค้น ปรับปรุง วิธีการรับและรุกเอาไว้ครบทุกรูปแบบ ทั้งหัว หมัด เท้า เข่า ศอก ตลอดจนการทุ่ม

มวยไทยโบราณจึงมีแม่ไม้และอาวุธมวยที่หลากหลายกว่ามวยไทยในปัจจุบัน ไม่จำกัด เฉพาะการยืนต่อสู้ แต่เมื่อจำเป็นต้องล้มก็ต้องสามารถ “กอดรัดฟัดเหวี่ยง” เหมือนมวยปล้ำได้ เพราะในยามศึกสงคราม ศัตรูสามารถรุกเข้ามาได้ในทุกรูปแบบและไร้ซึ่งกติกา

นอกจาก “ทุ่มทับจับหัก” “กอดรัดฟัดเหวี่ยง” มวยไทยดั้งเดิมยังมีเคล็ดวิชาอื่น เช่น “ป้อง-ปัด-ปิด-เปิด” เป็นหลักการป้องกันตัวที่ถือเป็นพื้นฐานแรกของมวยไทยโบราณ “ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน” เป็นทักษะม้วนตัวล้มตัวเพื่อให้บาดเจ็บน้อยที่สุดและหาจังหวะลุกให้เร็วที่สุด และ “ล่อ-หลอก-หลบ-หลีก-หลอกล่อ-ล้อเล่น” เป็นลูกเล่นเพื่อรอจังหวะสวนกลับซึ่งต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบสูง เป็นต้น

หัวใจของมวยไทยคือเพื่อการป้องกันตัว ดังนั้น สุดยอดเคล็ดวิชามวยไทยจึงไม่ได้อยู่ที่ต่างฝ่ายต่างใช้กำลังเข้าปะทะกัน ต่างจากมวยไทยกระแสหลักทุกวันนี้ที่มักฝึกฝนการโจมตี เตะต่อย ทำลายล้าง โดยอาศัยความทนทานเข้ารับลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ แล้วรอดูว่าใครทนกว่ากัน คนนั้นจึงได้เป็นผู้ชนะ

ดังนั้น แนวทางฝึกฝนมวยไทยโบราณจึงต่างโดยสิ้นเชิงจากมวยปัจจุบัน ซึ่งเน้นการฝึก พละกำลังเพื่อทนการรับลูกเตะต่อยเข่าศอกของคู่แข่ง ขณะที่มวยโบราณเน้นการใช้ไหวพริบปฏิภาณเข้าชิงจังหวะด้วยท่ามวยที่ฝึกฝนมาจนชำนาญ โดยอาศัยแรงกระทำของคู่ต่อสู้เป็นตัวตอบสนอง หรือที่คนเรียนมวยมักบอกว่า เป็นการ “ผันแรงของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นกำลังของเรา” นี่จึงทำให้ในการฝึกมวยไทยโบราณจำเป็นต้องมีการฝึกทั้งสมาธิควบคู่ไปด้วย

ดูเหมือนวันนี้ มวยไทยพันธุ์แท้อย่างมวยโคราช (หรือมวยอีสาน) มวยล้านนา (หรือมวยเหนือ) มวยลพบุรี มวยท่าเสา (หรือมวยอุตรดิตถ์) และอีกหลายมวยโบราณ แทบจะไม่เหลือให้เห็นอีกแล้วบนสังเวียนมวยบ้านเรา ชื่อที่อนุชนรุ่นหลังยังพอได้ยินและพอเห็นอยู่บ้าง คงเหลือแต่ “มวยไทยไชยา” ที่นับวันจะหาดูยากขึ้นทุกที

...ปัจจุบันสมัยยุคไทยเพี้ยน มวยไทยแปรเปลี่ยนไปได้ ขายชาติขายศิลป์แม่ไม้ วิชาไทยเอาไปขายฝรั่งมัน เจ้ากรุงอังวะคงหัวเราะร่า สมน้ำหน้าคนไทยไม่ยึดมั่น นายขนมต้มก้มหน้าจาบัลย์ ไอ้มวยชั้นหลานเหลนมันเดนมวย...

ท่อนจบของบทกลอน “มวยไทย” อาจทำให้ความภาคภูมิใจที่หลายคนมีมาเมื่อบรรทัดแรกดับลง พร้อมกับความหวังที่จะเห็นมวยไทยโบราณหยัดยืนอยู่บนเวทีโลกอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ถึงกับสิ้นหวังเสีย ทีเดียว

ในปี 2518 มีครูมวยท่านหนึ่งเปิดสถาบันสอนศิลปะป้องกันตัว ซึ่งได้นำเอา ปรัชญาและหลักวิชาการต่อสู้ในแบบฉบับมวยไทยโบราณมาเป็นพื้นฐาน ผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าอื่นๆ จากเอเชีย พัฒนาจนกลายเป็นหลักสูตรวิชาป้องกันตัวรูปแบบใหม่ (Mixed Martial Arts) ที่มีชื่อเรียกว่า “ไทยยุทธ”

ถัดจากนั้นอีกราว 30 ปี มีครูมวยอีกท่านเปิดโรงเรียนสอนป้องกันตัวที่มีหลักการคล้ายกัน ภายใต้ชื่อว่า “ไทยหัตถยุทธ” หรือที่หลายคนอาจเคยได้ยินในชื่อ “ไทฟูโด”

“ไท” มาจากวิชามวยไทย (โบราณ) และไทเก๊ก

“ฟู” มาจากวิชากังฟู

“โด” มาจากวิชายูโด, เทควันโด้, ไอคิโด้, คาราเต้-โด้ และอฮันวาโด

“ความหมายของไทฟูโดจริงๆ คือเพื่อระลึกถึงครูอาจารย์ “โด” ตัวนี้ ภาษาจีนอ่านว่า “เต๋า” แปลว่า วิถีทาง “ฟู” มาจากกังฟู แปลว่าทักษะความชำนาญ ส่วน “ไท” ก็คือ สภาวการณ์ของความเป็นอิสระ หรือปรมัตถ์ ฉะนั้นศิลปะไทฟูโด คือ การนำเอาวิถีทางที่ฝึกฝนจนชำนาญมาพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงอิสระ หรือพ้นจากการยึดติดรูปแบบต่างๆ”

คำอธิบายจากชีวิน อัจฉริยะฉาย หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนและหลักสูตรไทฟูโด มาพร้อมกับคำยืนยันหนักแน่นว่า “ไทฟูโด” ถือเป็นศิลปะป้องกันตัวแขนงใหม่ เป็นเคล็ดวิชาที่คิดค้นมาจากประสบการณ์เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้หลายแขนงมานานกว่า 30 ปี

หากไม่นับวิชาการต่อสู้สไตล์มวยจีนที่ได้รับมาจากการคลุกคลีอยู่กับปู่และตาซึ่งเป็นนักสู้มวยจีนและมวยไทเก๊กที่อพยพมาจากประเทศจีน ชีวินเริ่มร่ำเรียนศิลปะการต่อสู้จริงจังมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ส่วนใหญ่เป็นศิลปศาสตร์ที่มาจากเอเชีย อาทิ มวยไทย ไทเก๊ก กังฟู เทควันโด คาราเต้ ไอคิโด้ อฮันวาโด ยูยิตสู ฯลฯ รวมถึงศิลปะการใช้อาวุธรูปแบบต่างๆ เพราะเชี่ยวชาญหลายศาสตร์ เขาจึงได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาการออกแบบเทคนิคการต่อสู้ในหนังองค์บากและต้มยำกุ้ง

เมื่อผ่านการฝึกฝนมามาก ชีวินจึงพบว่าศิลปะการต่อสู้แต่ละศาสตร์มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน เหมาะที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะในสถานการณ์จริง ไม่มีใครสามารถนำทุกศาสตร์มาใช้ในเวลาเดียวกันได้ เขาเริ่มคิดค้นและเรียบเรียงเอาจุดเด่นของศิลปะการป้องกันตัวแต่ละแขนงมาร้อยเรียงและจัดลำดับท่าขึ้นใหม่ จนเป็นหลักการง่ายๆ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ป้องกันตัวได้จริง รวมถึงนำไปพัฒนาทักษะการต่อสู้ของตนเองในแขนงต่างๆ หรือเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น สอนศิลปะป้องกันตัว, บอดีการ์ด และสตั้นต์แมน เป็นต้น

ตามแนวคิดส่วนตัวของชีวิน ในการใช้ศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ผู้เล่นจำเป็นต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 อย่าง คือ 1. กำลังของร่างกายส่วนต่างๆ โดยเฉพาะมือ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญสำหรับวิชาไทฟูโด 2. ท่ามวย หรือท่วงท่าการต่อสู้ และ 3. เทคนิคหรือเคล็ดวิชา

“เทคนิคคือหลักการที่ผมจะสอนให้คุณนั่นเอง มันเป็นหลักการที่เกิดจากความเข้าใจทั้งหมดของผม ซึ่งเมื่อคุณรู้แล้วสามารถนำไปใช้เชื่อมโยงกับศิลปะป้องกันตัวได้ทุกแขนง แต่จู่ๆ ถ้าผมยื่นให้แต่หลักการหรือความเข้าใจก็ไม่ได้ มันต้องกลับไปหา รูปลักษณ์เพื่อให้คุณฝึกฝนการใช้หลักการเหล่านั้น” ชีวินอธิบาย

ขณะที่ท่ามวยท่าแรกของมวยไชยาที่ผู้ฝึกต้องเริ่มต้นเรียนรู้คือ สูตร “ป้องปัดปิดเปิด” สูตรของไทฟูโดพลิกแพลงเป็น “หลบหลีกปัดป้อง” โดยนัยก็คือการฝึกป้องกันตัว ส่วนกระบวน ท่าตอบโต้หรือจู่โจมเริ่มจากสูตร “คว้าหักจับทุ่ม” ผสมระหว่าง มวยไทย ไอคิโด ยูโด แต่พลิ้วไหวกว่าด้วยท่าทางไทเก๊กหรือหาก เป็นการจู่โจมในระยะประชิดก็ปรับมาใช้ท่ามวยหย่งชุน เป็นต้น

กระบวนท่าต่างๆ เหล่านี้ อาจารย์ชีวินเรียกว่า “รูปลักษณ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาร้อยเรียงมาจากจุดเด่นของศิลปะการต่อสู้หลายแขนง เพื่อให้เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับ “หลักการ” ชีวินยกตัวอย่างหลักการเรื่อง “การเข้าสู่ระยะ” โดยเขาแบ่งระยะ ประชิดในการต่อสู้ออกเป็น 4 ระยะ เริ่มจากระยะที่ประชิดที่สุดคือ 1. ระยะศอก 2. ระยะเข่า 3. ระยะหมัด และ 4. ระยะเท้า เมื่อเข้าใจหลักการเรื่องระยะแล้ว เขาบอกว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันตัวเบื้องต้นได้ทันที

“ถ้าไม่อยากโดนต่อย คุณก็ต้องยืนอยู่ระยะที่ 4 แต่เมื่อคุณยืนระยะ 4 นั่นก็คือถ้าคุณ จะโต้ตอบ สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องใช้วิธีถีบหรือเตะ เพราะถ้าคุณต่อยก็ไม่ถึง จนกว่าคุณจะก้าวเข้าไปหาคู่ต่อสู้ 1 ระยะ หรือถ้าคุณอยู่ในระยะศอก คุณก็ต้องถอยออกมาให้ได้อย่างน้อย 3 ระยะ เพื่อจะไม่ถูกคู่ต่อสู้ทำร้าย แต่ถ้าหนีไม่ได้คุณอาจต้องใช้หลักวิชามวยจีน คือมุ่งสู่เป้าหมายที่จุดตายทั้ง 12 จุดของคู่ต่อสู้” ชีวินอธิบาย

เขายกอีกตัวอย่าง ว่าด้วยหลักการหลบหลีกเวลาที่ถูกคนร้ายจับข้อมือ ขณะที่คนส่วนใหญ่มักสนใจ ไปที่การแกะข้อมือ ด้วยการใช้กล้ามเนื้อและแรงในการสะบัดหรือพลิกมือออก แต่เทคนิคที่ง่ายและได้ผล กว่า คือการทิ้งศอกข้างที่ถูกจับลง จะเป็นการสลายแรงจับของคู่ต่อสู้และทำให้มือหลุดออกมาได้โดยไม่ต้องใช้แรงมาก

อันที่จริง หลายๆ หลักการของไทฟูโดคือ ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ (reaction) ที่หลายคนทำอยู่แล้วโดยไม่ทันสังเกตลำดับขั้นตอน เพียงแต่ระหว่างผู้ที่เคยถูกฝึกวิชาป้องกันตัวมากับผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนมาก่อนอาจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่เหมือนกัน หรืออาจเหมือนกันแต่ประสิทธิภาพในการใช้แรงและความไวต่างกัน การฝึกฝนเทคนิคเหล่านี้ ผ่านกระบวนท่าต่างๆ จึงเป็นการฝึกปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

“มันต้องสมมาตรระหว่างความคิดกับการใช้แรง” ชีวินสรุปสั้นๆ ถึงหัวใจสำคัญของไทฟูโด ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับมวยไทยโบราณ

ชีวินเริ่มคิดค้นหลักสูตรไทฟูโดตั้งแต่ปี 2532 และเริ่มทดลองสอนให้กับลูกศิษย์ที่สนใจ พร้อมกับปรับปรุงหลักสูตรมาเรื่อยจนปี 2540 เขาเริ่มทำเรื่องขออนุญาตเปิดโรงเรียนสอนไทฟูโดจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้เวลากว่า 6 ปี จึงได้เปิดโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัว ไทยหัตถยุทธ หรือ “ไทฟูโด” แห่งแรกที่หาดใหญ่ และเพิ่งมาเปิดแห่งที่สองในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้

เนื่องจากยังเป็นศาสตร์ใหม่และมีที่ตั้งอยู่ที่หาดใหญ่ ไทฟูโดจึงมีชื่อเสียงอยู่ในกลุ่มคนเฉพาะ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มลูกศิษย์หรือผู้เรียนมวยที่รู้จักชื่อเสียงของอาจารย์ชีวิน อีกกลุ่มคือผู้ที่ชอบทดลองเรียนศาสตร์การต่อสู้ใหม่ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่อยู่ในหาดใหญ่และจังหวัดใกล้เคียงที่ให้ความสนใจในหลักการของไทฟูโด

ชีวินเชื่อว่า หลักสูตรไทฟูโดของเขาเหมาะกับผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมาก่อน เพราะหลักการไทฟูโดไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก ไทฟูโดจะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียน ได้ค้นพบว่าตัวเองต้องการเชี่ยวชาญในศาสตร์ไหน หากต้องการเชี่ยวชาญในแขนงอื่น

ขณะเดียวกันก็เหมาะกับผู้ที่เคยผ่านการเรียนศิลปะป้องกันตัวสายอื่นมาแล้ว โดยผู้เรียน สามารถนำหลักการของไทฟูโดไปต่อยอดสิ่งที่เคยเรียนมาได้ทันที เพียงแต่ผู้เรียนต้องเปิดใจยอมรับหลักการของไทฟูโดที่เขาสอนเสียก่อน

“การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเก่ามันถึงมีใหม่ แต่สิ่งที่ดีขึ้นในศาสตร์ใหม่ก็คือ แนวทางที่เราเอามาจากครูได้ถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นำไปสู่การเรียนการสอนที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ไทฟูโดเองนับเป็นศาสตร์การต่อสู้ของไทยชนิดหนึ่งที่อยู่บนแนวทางของมวยไทย ผสมกับศิลปะการต่อสู้หลายๆ อย่าง โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันตัว”

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงไหนก็ตาม หัวใจสำคัญที่ถือเป็น “สุดยอด” แห่งศิลปศาสตร์การป้องกันตัว นั่นคือ “การไม่เกิดการต่อสู้” เหมือนกับสิ่งที่ปรมาจารย์แห่งศิลปศาสตร์ “ไทฟูโด” ได้ทิ้งท้ายไว้...

“ทุกวันนี้ ผมแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ไม่ใช่ด้วยการใช้มวย”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us