|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ครั้งหนึ่งในชีวิตวัยเด็กถึงวัยรุ่น แทบทุกคนคงเคยพับกระดาษเป็นรูปต่างๆ ครั้นเมื่อเราเริ่มเติบใหญ่ เกือบทุกคนกลับทิ้งกิจกรรมนี้ไว้ในอดีต เหมือนกับที่เราเลิกเป่ากบ โดดยาง เล่นว่าว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า การพับกระดาษจะทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือจะหาเลี้ยงชีพได้อย่างไร แต่หนุ่มคนนี้พูดอย่างเต็มปากว่า เขาคือ “นักพับกระดาษอาชีพ” เต็มตัว
“ซาดาโกะ! เธอจำตำนานนกกระเรียนพันตัวไม่ได้หรือ เมื่อเธอพับนกกระเรียนครบหนึ่งพันตัว เธอจะขอพรให้หายจากโรคร้ายนี้ได้ ฉันจะสอนเธอเองนะ”
เรื่องเล่าของ “ซาดาโกะ” เด็กหญิงชาวญี่ปุ่นเหยื่อกัมมันตภาพรังสีจากการถูกถล่มด้วยปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาที่ต้องมาป่วยด้วยโรคลูคีเมีย ถูกผูกกับตำนานของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่า นกกระเรียนเป็นสัตว์วิเศษที่มีอายุยืนยาวถึงหนึ่งพันปี หากใครพับนกกระเรียนถึงหนึ่งพันตัวจะได้รับพรให้สุขภาพแข็งแรงและหายจากความเจ็บป่วย แต่เธอพับได้เพียง 644 ตัว ก็มาเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 12 ปี
เรื่องเด็กหญิงคนนี้ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือ ภาพยนตร์ การ์ตูน ละครเวที และละครโทรทัศน์ กระจายไปในหลายประเทศ ไม่เพียงแต่เรื่องเล่า แบบพับนกกะเรียนและคำเรียก การพับกระดาษในภาษาญี่ปุ่นที่ว่า “โอริกามิ (Origami)” ก็ถูกส่งออกไปทั่วโลกพร้อมกัน
ภายในอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม ที่ผ่านมา หนาแน่นด้วยเยาวชนนานาชาติหลายร้อยคนที่กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับกิจกรรมพับกระดาษ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 กิจกรรมที่ค่ายวิทยาศาสตร์ จัดขึ้นในงาน “เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4”
มือน้อยๆ ที่ค่อยๆ บรรจงกรีดพับจับไปจับมาจนกระดาษสีหนึ่งแผ่นกลายเป็น ดอกกุหลาบกลีบบาน บ้างก็ซ้อนกระดาษสีแดงกับสีเขียวพับไปพับมาจนออกมาเป็น สตรอเบอรี่ เด็กผู้ชายหลายคนสนุกกับการพับกระดาษเป็นชิ้นส่วนเพื่อประกอบเป็นลูกบอล เด็กจีนบางคนภูมิใจที่ได้อวดแพนด้ากระดาษที่ตนพับเอง ฯลฯ
นอกจากผลงานที่ใช้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนตัวน้อยเห็นบนโต๊ะของวิทยากร ยังมีผลงานการพับกระดาษขั้นเทพที่นำมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนเหล่านี้ ทั้งไดโนเสาร์หลายชนิด เจ้าสาวสีไวโอลิน มังกรไฟในเทพนิยาย รวมถึงนกกระยาง แมงป่อง และกบที่ดูเหมือนมีชีวิตและขยับได้จริง ผลงานเหล่านี้ดูสวยงามและเสมือน จริงราวกับสร้างมาด้วยเวทมนตร์ จนไม่อยากเชื่อว่าพับมาจากกระดาษเพียงแผ่นเดียว
“ผมรู้สึกเหมือนมีเวทมนตร์ทุกครั้งที่มีกระดาษอยู่ในมือ มันเหมือนเราปลุกชีวิตให้กระดาษเป็นอะไรก็ได้”
เอกสิทธิ์ เข้มงวด เป็น 1 ใน 3 วิทยากรสอนพับกระดาษในเทศกาลวิทยาศาสตร์ เยาวชนเอเปค ด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี เขาถือเป็นวิทยากรที่อายุน้อยที่สุด แต่แก่กล้าด้วยประสบการณ์การพับกระดาษมานานกว่า 25 ปี
“แค่กระดาษแผ่นเดียว กับหนึ่งสมองและสองมือ สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้หลากหลาย ด้วยราคาที่ถูกมาก” เอกสิทธิ์กล่าวถึงเสน่ห์ของโอริกามิ
เขาเติบโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะแม่ของเขาเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น (ปัจจุบันมีตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมของมูลนิธิญี่ปุ่น) โดยวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เธอถ่ายทอดสู่ลูก คือ “โอริกามิ” เพราะเหตุที่บ้านยากจน วัยเด็กของเขาจึงไม่มีของเล่น ให้เลือกมากนัก แม่เขาใช้กระดาษมาเล่นกับเขา สอนเขาพับเป็นของเล่นด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากแบบพับง่ายๆ เช่น นก บอลเป่าลม กบกระโดด หน้าสุนัข หน้าแมว ฯลฯ
ด้วยความชอบไดโนเสาร์ เอกสิทธิ์มักขอให้แม่สอนพับไดโนเสาร์ แต่เพราะยุคนั้น แบบพับของญี่ปุ่นยังไม่พัฒนา ผู้เป็นแม่สอนไม่ได้ เขาจึงต้องบิดพับดัดแปลงด้วยตัวเอง ไปเรื่อย
วันหนึ่งในห้องเรียนชั้นประถม (ราว ป.3-ป.4) ครูศิลปะสั่งให้ทุกคนพับกระดาษ มาส่ง เพื่อนทุกคนหากไม่พับนกก็พับกบส่ง และได้คะแนนกลับไป 8 หรือ 9 คะแนน ส่วนเอกสิทธิ์พับไดโนเสาร์ส่งด้วยความมั่นใจว่าเพื่อนและครูจะต้องฮือฮา ปรากฏว่าครูให้ 6 คะแนน พร้อมกับตั้งคำถามว่า “พับอะไรมา ทำไมไม่พับนกหรือกบเหมือนคนอื่น”
จุดนี้ทำให้เอกสิทธิ์ศึกษาการพับกระดาษอย่างจริงจัง ประกอบกับญี่ปุ่นเริ่มมีแบบพับที่หลากหลาย เขาเข้าไปค้นแบบพับใหม่ๆ จากหนังสือญี่ปุ่นในที่ทำงานของแม่อยู่บ่อยครั้ง มัธยมต้น เขาเริ่มพับม้าเปกาซัสด้วยกระดาษแผ่นเดียวได้ จากนั้นก็เริ่มพับนกต่อกันเป็นสายด้วยกระดาษแผ่นเดียว ซึ่งถือเป็นเทคนิคใหม่สำหรับเมืองไทยยุคนั้น ผลงานชิ้นนี้ทำให้ได้เขาลงหนังสือพิมพ์ในคอลัมน์ Student Junior
เริ่มต้นจากแค่อยากพับไดโนเสาร์ให้ทุกคนดูออก เขาศึกษาเทคนิคการพับกระดาษ ขั้นสูงจากแบบพับระดับโลก จนเชี่ยวชาญชนิดที่ว่าเนรมิตกระดาษได้ดั่งใจนึก ยิ่งพับมากขึ้น เขาก็ยิ่งรู้สึกดำดิ่งสู่ความสุขลึกขึ้น จนครั้งหนึ่งเขาเคยฝันจะเป็น “นักพับกระดาษอาชีพ” หรือ “โอริกามิสต์” และได้บอกเล่าความเพ้อฝันนี้กับพ่อ
“พ่อถามว่า นักพับกระดาษคืออะไร พับถุงกล้วยแขก เร็วหรือ แล้วจะมีรายได้จากไหน จะหากินยังไง จะอยู่รอดในสังคมได้ไหม ฯลฯ สุดท้ายคุณพ่ออยากให้ทำอาชีพอะไรที่จับต้องได้หน่อย”
เพราะเริ่มเชื่อพ่อว่า อาชีพนักพับกระดาษอาจจะไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลยก็ได้ เอกสิทธิ์กลับเข้าสู่วิถีแห่งชีวิตจริง ของนักเรียน ม.ปลาย ด้วยการตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเอ็นทรานซ์ หวังเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี เพื่อที่จะได้มีงานที่ดีทำ
หลังสอบติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาใช้ชีวิตเยี่ยงนิสิตทั่วไป ต่างจากหนุ่มอื่นบ้างก็ตรงแทนที่จะแกะโน้ตดนตรีมาดีดกีตาร์จีบสาว เขาแกะรอยแบบพับแล้วพับกระดาษมาเป็นของกำนัลเอาใจสาว ส่วนอีกความต่างคือ เขามักเข้าอบรมปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง
จบปริญญาตรี ภาควิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยม อันดับหนึ่งเหรียญทอง บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งจึงแห่กันมายื่นข้อเสนอให้เขาไปทำงานด้วย แต่เพราะมีความคิดปฏิเสธหลักการทางธุรกิจที่เน้น “กำไรสูงสุด” อยู่ในส่วนลึก เขาให้โอกาสตัวเองทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ซีเมนส์” เพียงแค่ 2 ปีเพื่อกลับมาทบทวนจุดยืนในชีวิตอีกครั้ง
ขณะเป็นนักบัญชีอยู่ที่ซีเมนส์ เผอิญเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในกลุ่มคนรักโอริกามิเมืองไทยขึ้นมาคือ การมีบทความเรื่องการพับกระดาษลงหนังสือพิมพ์ และการเกิดขึ้นของบล็อกคนรักโอริกามิ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในฟันเฟืองของวงการโอริกามิบ้านเรา
เอกสิทธิ์เป็นขาประจำที่บล็อก ดร.บัญชา มักเข้าไปหาเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนความคิดและแบบพับใหม่ๆ จนพบกับคนรักโอริกามิเข้ากระดูกอย่างกัลยานี รุ่งวรรธนะ, ชวิศ วีรวัฒโยธิน และพุฒิไชย เลิศกุลทานนท์ หลังพูดคุยด้วย “ภาษาโอริกามิ” ถูกคอ เขาจึงชักชวนกันเปิดเว็บไซต์ “ชมรมนักพับกระดาษไทย” ในเดือนพฤศจิกายน 2551
วัตถุประสงค์หลักของชมรมคือ เพื่อให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ โอริกามิ พร้อมกับแจกแบบพับใหม่ๆ ให้คนรักการพับกระดาษได้ โหลดไปใช้ฟรี และยังใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ระหว่าง กูรูกับมือใหม่หัดพับ
“เพราะสะท้อนใจว่า ตอนเด็กๆ พวกเราต้องพับกันอย่างโดดเดี่ยวมานาน ไม่รู้จะไปตามหาเพื่อนที่สนใจเหมือนกันได้ที่ไหน สมัยก่อนเสิร์ชหาข้อมูลในเมืองไทยก็แทบไม่มี พอมาเป็นชมรมแบบนี้ ก็ทำให้เราได้เจอคนเก่งๆ ได้เปิดหูเปิดตา ไม่เป็นกบในกะลา เหมือนเมื่อก่อน ผมว่าผมเก่งขึ้นเพราะชมรม” เอกสิทธิ์ระบาย
อีกจุดประสงค์สำคัญก็เพื่อสื่อสารกับสังคมว่า โอริกามิไม่ใช่ เรื่องไร้สาระ แต่เป็นของเล่นที่ให้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน ฝึกแก้ปัญหา และฝึกความจำ การพับกระดาษยังให้ความรู้แจ้งในทาง คณิตศาสตร์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูง ที่สำคัญ การพับกระดาษถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างตรรกะและจินตนาการ
“ศาสตร์และศิลป์ของการพับกระดาษ คือการเชื่อมโยงแขนงวิชาทั้งฟากของจินตนาการ และเหตุผลเข้าด้วยกัน เพราะหากจะพับสัตว์แต่ไม่สามารถจินตนาการลักษณะของสัตว์นั้น ก็ไม่สามารถพับออกมาได้ ขณะเดียวกันถ้าไม่มีการทดลองวัดขนาด ความสมมาตรของมุม ชิ้นงานที่ออกมาก็ขาดความสมดุลและสวยงามดังที่จินตนาการไว้” จากบทความของ ดร.บัญชา
ทั้งนี้ ต่างประเทศศึกษาองค์ความรู้จากโอริกามิกันอย่างจริงจัง ทั้งในเชิงคณิตศาสตร์ และวิศวกรรมกลศาสตร์ บางประเทศสอนให้เด็กพับกระดาษเพื่อถอดสมการพหุนาม อธิบาย ตรีโกณมิติ และหาค่ารากที่สองของจำนวนจริง ฯลฯ ขณะเดียวกันหลักของโอริกามิยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากสาขาอาชีพ เช่น การพับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ เป็นต้นแบบการพับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของดาวเทียมในอวกาศ และเป็นต้นแบบของบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ใช้ในการแพทย์ แม้แต่ในวงการแฟชั่นก็ยังใช้การจับจีบรอยพับรูปต่างๆ ไปออกแบบเสื้อผ้า เป็นต้น
รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแวดวงโอริกามิในประเทศตน เพื่อความก้าวหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมด้านต่างๆ แต่เมืองไทย โอริกามิกลับถูกมองเป็นเพียงศิลปะพับนกและกิจกรรมสำหรับเด็ก
“โอริกามิคือเครื่องมือที่ฝึกกระบวน การคิดได้ดีกว่าตัวต่อเลโก้เสียอีก เพราะสำหรับเลโก้ เมื่อไรที่คุณต้องการฝึกความคิดที่ซับซ้อนขึ้น คุณก็ต้องใช้ตัวต่อมากขึ้น แต่สำหรับโอริกามิ กระดาษแผ่นเดียว คุณแค่ใส่ความคิดมากขึ้น ทุ่มเทมากขึ้น อดทนมากขึ้น ก็กลายเป็นผลงานที่ซับซ้อนขึ้นได้”
ด้วยกระดาษเพียงแผ่นเดียว พับได้ตั้งแต่นกกระเรียนตัวเดียว นกเรียงตัวเป็นสายยาว หมู่บ้านนกที่มีลูกบ้านนับสิบ หรือพับไดโนเสาร์และสารพัดสัตว์ พับเป็นมังกรไฟในเทพนิยายหรือเป็นคาแรกเตอร์ในเรื่อง Wizard of OZ ไปจนถึงพับฉากปลาหมึกยักษ์โจมตีเรือเหมือนในหนัง Pirate of the Caribbean ก็ยังได้ (ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เคยมีคนพับออกมาแล้วทั้งสิ้นและบางอย่างก็มีแบบพับให้ไปฝึกพับแล้วด้วย)
จากที่ตั้งเป้าสมาชิกไว้เพียง 30 คน ครบเดือนแรกยอดทะลุเป้าไปกว่าสองเท่า ปีแรก มีสมาชิก 3,000 คน ถึงวันนี้มีสมาชิกกว่า 8,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มาสมัครสมาชิกเพื่อความสนุก ความเท่ และเพื่อจีบสาว รองลงมาคือกลุ่มครอบครัว ซึ่งพ่อแม่รุ่นใหม่หลายคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า โอริกามิเป็นของเล่นที่พัฒนาความคิดและจินตนาการให้ลูกได้ ที่สำคัญคือมีราคาถูกและหาได้รอบตัว
ในฐานะประธานชมรมนักพับกระดาษไทย เอกสิทธิ์พยายามประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ด้วยการขอหน่วยงานรัฐไปตั้งโต๊ะสอนพับกระดาษแก่บุคคลทั่วไปตามงานต่างๆ พอถูกพบเห็นบ่อยเข้า บวกกับ ความอลังการของผลงานที่นำไปโชว์ ชมรมฯ จึงเริ่มเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน เพียงไม่นานก็เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีบริษัทเอกชน โรงเรียน และผู้จัดอีเวนต์ ติดต่อให้เขาไปเป็นวิทยากร พับกระดาษโชว์ และสร้างงานประกอบโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ โดยหนึ่งผลงานที่ถูกพูดถึงมาก ณ ขณะนั้น ได้แก่ “เป็ดกระดาษ” ในโฆษณากระดาษ “ไอเดีย กรีน”
ครบกำหนด 2 ปีที่ขีดเส้นให้ตัวเองกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน เอกสิทธิ์รู้สึกว่าเส้นทางนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เขายอมทิ้งเงินเดือนก้อนโตและตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญโปรแกรมบัญชีที่ซีเมนส์อย่างง่ายดาย เพื่อมุ่งหน้าสู่อาชีพ “โอริกามิสต์” อย่างเต็มตัว
“เอาเป็นว่ายังไม่มีใครหาเลี้ยงชีพด้วยการพับกระดาษล้วนๆ เหมือนผม” เอกสิทธิ์เชื่อว่า เขาเป็นนักพับกระดาษอาชีพคนไทยคนแรก และน่าจะยังเป็นคนเดียวในประเทศไทย ณ วันนี้
แหล่งที่มารายได้ของเอกสิทธิ์ประกอบด้วย รายได้จากการเป็นวิทยากรตามค่ายเด็กและเยาวชน ตามโรงเรียน ตามบริษัทห้างร้าน และหน่วยงานต่างๆ, รายได้จากงานพับกระดาษประกอบโฆษณาล่าสุดคือ โฆษณา “พับเพนกวินเป็นปลาวาฬ” ในเครื่องดื่มแบรนด์เด็ก, รายได้จากการขายผลงานโดยผลิตตามออร์เดอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศและรายได้จากการเขียนหนังสือ โดยเล่มแรกเขียนร่วมกับ ดร.บัญชา แต่แว่วว่าจะมีงานเขียนของตัวเองในเร็วๆ นี้
แม้จะไม่มีรายได้ประจำแน่นอน แต่เอกสิทธิ์มั่นใจว่า ที่ผ่านมา ต่ำสุดของรายได้ในแต่ละเดือนยังถือว่าเป็นรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้สบาย หากไม่นับค่าเขียนหนังสือและขายผลงาน อัตรารายได้เฉลี่ยต่อวัน (6 ชั่วโมง) อยู่ที่ 3-5 พันบาท แต่บางงานอาจได้สูงถึงหลักหมื่น ขณะที่งานวิทยากรในค่ายเด็กและเยาวชน ให้เท่าไรเขาก็ยินดีมา
“แค่มีงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันก็พออยู่ได้แล้ว เพราะปรัชญาการใช้ชีวิตของผมคือไม่ต้องรวยมาก อยู่แบบพอเพียง ทำในสิ่งที่เราตกหลุมรักทุกวันดีกว่า” เอกสิทธิ์สรุป
แม้คนรักโอริกามิจะเป็นเพียงกลุ่มเฉพาะ แต่จากประสบการณ์ในการตามเก็บเทคนิค จากแบบพับระดับโลกอยู่เสมอ เอกสิทธิ์ได้เห็นว่า หลายประเทศต่างก็มีชมรมนักพับกระดาษ โดยชุมชนที่ใหญ่ที่สุดเป็นของอเมริกา ซึ่งคนที่นั่นจริงจังกับเรื่องนี้ขนาดที่ต้องจัดการประชุมว่าด้วยเรื่องโอริกามิกันทุกปี และจัดแข่งขันประกวดโอริกามิกันทุกเดือน
นอกจากญี่ปุ่นที่ถือเป็นต้นตำรับและสุดยอดของแบบพับชั้นเซียน ยังมีอีกหลายประเทศที่พัฒนาและคิดค้นแบบพับขั้นเทพขึ้นมาได้เอง โดยหนึ่งในนั้นคือ เวียดนาม ที่สามารถพัฒนาแบบพับโดยใส่เอกลักษณ์ของประเทศออกสู่สายตาชาวโลกได้อย่างไม่น้อย หน้าญี่ปุ่น ขณะที่เมืองไทยยังไม่เคยมีแบบพับซับซ้อนที่คนไทยคิดเองจนไม่กี่ปีมานี้
หลังจากสั่งสมความรู้และเทคนิคการพับผ่านการทำตามแบบพับของคนชาติอื่นมาโดยตลอด ในที่สุดเขาก็พัฒนาแบบพับที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยออกมาได้สำเร็จถึง 3 แบบ ได้แก่ แบบพับพระพิฆเนศ แบบพับหนุมาน และแบบพับช้างเอราวัณ (ช้าง 3 เศียร) นอกจากเพื่อประกาศให้ชุมชนโอริกามิทั่วโลกได้รู้ว่า “คนไทยก็ทำได้” อีกเหตุผลก็เพื่อกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาคิดและกล้าที่จะสร้างแบบพับของตัวเองขึ้นมา
“ในระดับโลก เขาไม่พับตามคนอื่นกันแล้ว เขาต้องคิดเอง ดีไซน์เอง ผมหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดสร้างสรรค์ก้าวกระโดดไปจากรุ่นผม” นี่เป็นหนึ่งในความฝันสูงสุด ในฐานะประธานชมรมนักพับกระดาษไทย
นอกจากนี้ เขายังฝันอยากเห็นคนไทยที่รักโอริกามิช่วยกันนำการพับกระดาษ ไปสร้างประโยชน์แก่สังคม เช่น สอนเด็กด้อยโอกาสผลิตของเล่นจากกระดาษแทนที่ จะไปแจกของเล่น เป็นต้น
ในฐานะโอริกามิสต์ไทย เขาฝันที่จะใช้การพับกระดาษเป็นพื้นฐานในการบูรณาการความสนใจและองค์ความรู้ให้กับเด็กไทย เพื่อให้เด็กไทยพัฒนากระบวน การคิดได้ทัดเทียมนานาชาติ
สำหรับเอกสิทธิ์ โอริกามิไม่เพียงให้อาชีพ แต่ยังทำให้เขาค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากเสียงหัวเราะเสมอไป ความสงบที่เกิดจากการดำดิ่งทำสิ่งที่ตนรักเป็นอีกความสุขที่หาได้ง่ายๆ ยิ่งเมื่อมีสมาธิอยู่กับการพับกระดาษมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เขาเกิดพุทธิปัญญาทั้งทางธรรมและทางโลก
ถ้าเริ่มต้นจากการพับเบี้ยวในขั้นตอนแรก ขั้นตอนหลังก็เบี้ยวไปด้วยผลงานที่ได้ก็ย่อมไม่สวยงาม นี่คือหลักของกฎแห่งกรรม หรือปัญหาไม่ได้มีไว้ให้หนี และความผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรปฏิเสธ เหมือนกับการพับกระดาษผิด หากเราลองคลี่ที่ผิดออกมาดู ก็จะได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากรอยที่ผิด และรอยตำหนินี้จะทำหน้าที่เตือนไม่ให้ทำผิดซ้ำรอยเดิม
แต่หากเราคลี่ผลงานที่พับสำเร็จออกมาดู เราจะเห็นรอยพับยุบยับเต็มไปหมด บางรอยพับนูน บางรอยพับเว้า แต่ละรอยชี้กันไปคนละทิศคนละทาง แต่ทุกรอยพับล้วนตั้งอยู่ในจังหวะจะโคนที่พอดีกัน และต่างก็ทำหน้าที่ของมันเพื่อขึ้นรูปเป็นโครงสร้างให้แผ่นกระดาษเปลี่ยนเป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น ในสังคมก็เช่นกัน ทุกคนมีหน้าที่และต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี และต้องยอมรับอีกฝ่ายที่ต่างจากเรา จึงจะรวมกันเป็น “ชาติ” ได้
หมดสามชั่วโมงในวิชาโอริกามิสำหรับเยาวชนเอเปคเหล่านี้ ปฏิกิริยาแรกของเด็กน้อยที่ได้เห็นกระดาษที่ตนพับกลายเป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่หวังคือ รอยยิ้ม และความภาคภูมิใจ แต่มีอีกสิ่งที่พวกเขาได้ติดมือกลับไปด้วย ก็คือมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างชาติที่เกิดขึ้นขณะช่วยกันพับกระดาษ โดยที่ความต่างทางภาษาหรือการวางฟอร์มที่เคยเป็นกำแพงกั้นถูกทำลายไปชั่วขณะ หรืออาจจะเป็นชั่วนิรันดร์สำหรับ เพื่อนใหม่บางคนที่ได้เจอที่ห้องเรียนพับกระดาษแห่งนี้
แม้ว่าสุดท้ายแล้ว โอริกามิไม่อาจเปลี่ยนชะตาชีวิตของเด็กหญิงซาดาโกะผู้เคราะห์ร้าย แต่ก็ทำให้เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่การพับเครื่องร่อนกระดาษทำให้เด็กชาย “หม่อง ทองดี” ดังชั่วข้ามคืน หลังคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันเครื่อง ร่อนพับกระดาษที่ญี่ปุ่นในปี 2552 แต่ก็ยังไม่ทำให้ความฝันในเรื่องสัญชาติของหนูน้อยเป็นจริง
แต่สำหรับเอกสิทธิ์ ความฝันเรื่องอาชีพของเขากำลังเป็นจริง และชีวิตของเขาก็ดูเหมือนจะดีขึ้น ทั้งหมดนี้ หนุ่มนักพับยอมรับว่า เกิดจากกระดาษแผ่นเดียวที่แม่สอนโดยแท้!
|
|
|
|
|