|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การบริหารธุรกิจหากมีเพื่อนรู้ใจร่วมเคียงบ่า เคียงไหล่ ย่อมทำให้หนทางข้างหน้ามีอนาคตสดใส เหมือนดังเช่น “พิชิต อัคราทิตย์” และ “ศุภกร สุนทรกิจ” มาร่วมงานกันอีกครั้งใน บลจ.เกียรตินาคิน
ภาพงานแถลงข่าวในวันเปิดตัวทีมผู้บริหารใหม่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2554 ของ บลจ.เกียรตินาคิน ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนน้องใหม่ คลอดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่มีพิชิต อัคราทิตย์ ในฐานะประธานกรรมการ และศุภกร สุนทรกิจ กรรมการและกรรมการผู้จัดการ ทำให้หวนนึกถึงภาพเดิมๆ อีกครั้งที่ทั้งสองร่วมสัมภาษณ์ และแถลงข่าวร่วมกันในนามผู้บริหาร บลจ. เอ็มเอฟซีอยู่บ่อยครั้ง ในตอนนั้นพิชิตเป็นกรรมการผู้จัดการ ส่วนศุภกรนั่งในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ
พิชิตเป็นผู้บริหารที่มีมุมมองในระดับมหภาคทั้งในและต่างประเทศ บทบาทของเขาจึงเป็นผู้ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรรวมเป็นหลัก ส่วนศุภกร นอกจากอยู่ในฐานะผู้ร่วมบริหาร ในอีกด้านหนึ่งเขามีส่วนหลักในการกำหนด ยุทธศาสตร์การตลาด โดยเฉพาะในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศ รวมไปถึงการมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
ความรู้ด้านการเงิน โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจกองทุนรวมทำให้ผู้บริหารทั้งสองร่วมบริหาร บลจ. เอ็มเอฟซีมาเป็นระยะเวลา 8 ปี ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 2 แสนล้านบาท และอยู่ในอันดับ 4 ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในประเทศไทย
ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการ ทำให้ศุภกรตัดสินใจลาออกจากเอ็มเอฟซีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากร่วมงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อมารับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจาก กบข.เข้าเป็นผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ใน บลจ.นครหลวงไทย และคณะผู้บริหาร กบข.ได้ชักชวนให้ศุภกรมาร่วมงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
ด้านพิชิตในวัย 56 ปีได้ลาออกจาก บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อเดือนธันวาคม 2553 เขาออกก่อนศุภกร ไม่ว่าใครจะออกก่อนหรือหลัง แต่เหตุผลในการลาออกของทั้งสองเป็นเหตุผลเดียวกันคือ ต้องการพักผ่อน แม้ว่าจะมีข่าวลือว่าบรรยากาศการทำงานในเอ็มเอฟซีจะมีการเมืองมากมาย เพราะผู้ถือหุ้นหลักคือกระทรวงการคลัง ร้อยละ 16 ธนาคารออมสิน ร้อยละ 24 และบริษัท หลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด ร้อยละ 24.92 จึงทำองค์กรแห่งนี้กลายเป็นการทำงานในรูปแบบกึ่งรัฐวิสาหกิจ
ศุภกรใช้เวลา 2 เดือนในการพักผ่อน ส่วนพิชิตใช้เวลาร่วม 7 เดือน พักผ่อน และเดินทางท่องเที่ยวไปในยุโรปและสหรัฐ อเมริกา พิชิตบอกว่าช่วงระยะเวลาทำงานในบริษัทเดิมไม่ค่อยมีเวลา ต้องทำงานหนัก
พิชิตบอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่าธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน ชักชวนให้มา ร่วมงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ พิชิตและธวัชไชย รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน เมื่อทั้งสองศึกษาในสถาบันเดียวกันที่ University of Texas at Austin ประเทศสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าพิชิต วัย 56 ปี จะไม่ได้มีตำแหน่งในการบริหาร บลจ.เกียรตินาคินโดยตรง แต่การนั่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการ เปรียบเหมือนคนที่อยู่บนยอดพีระมิด และคอยดูแลภาพรวมเพื่อให้คำปรึกษาจากประสบการณ์ที่ทำงานมาทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน
ในภาครัฐ พิชิตมีประสบการณ์นั่งเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ปัจจุบันยังนั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
การกลับมาพบกันใหม่ใน บลจ.เกียรตินาคิน ทำให้ศุภกรบอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า ดีใจมาก เพราะการทำงานกับคนรู้จักในวงการ รู้ฝีมือกัน ทำให้การทำงานมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน นับว่าเป็นโชคของเขาและบริษัท
“อาจารย์พิชิตมาจาก กลต. ภาพของท่านมีทั้งคอมเมอร์เชียล มีความคมด้าน ความคิด มีภาพลักษณ์ของผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ และเป็นผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำงาน”
คำกล่าวชื่นชมของศุภกรที่มีต่อ พิชิต สะท้อนให้เห็นทัศนคติในการทำงานร่วมกันเป็นไปในทางบวก
ส่วนพิชิตก็ดูเหมือนจะมั่นอกมั่นใจ ในฝีมือ เพราะประสบการณ์ร่วมงานกันมา ทำให้เห็นว่า ศุภกรเป็นคนทำงานอุทิศเวลา ค่อนข้างมาก ความสนิทสนมทำให้พิชิต มักจะเรียกเขาว่า “อาจารย์หน่อย” ส่วนศุภกรมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น นอกจากดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์กองทุนแล้ว เขาต้องบริหารภาพรวมของบริษัทด้วยวัย 44 ปี
บลจ.เกียรตินาคิน ปัจจุบันมีโครง สร้างผู้ถือหุ้นหลัก 2 กลุ่ม คือ ธนาคารเกียรตินาคินถือร้อยละ 60 ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถือร้อยละ 40 มีคณะกรรมการบริษัททั้งสิ้น 7 คน พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล ชวลิต จินดาวณิค ชาญศักดิ์ ธนเตชา ศุภกร สุนทรกิจ ซึ่งกรรมการทั้ง 5 คนเป็นตัวแทนจากธนาคาร เกียรตินาคิน ส่วนยิ่งยง นิลเสนา และธีระพงษ์ นิลวรสกุล อีก 2 คนมาจาก กบข.
จะเห็นได้ว่าผู้บริหารเกือบทั้งหมดล้วนอยู่ในแวดวงธุรกิจการเงิน จึงทำให้ บลจ.น้องใหม่แห่งนี้คาดหวังที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับตลาด
บลจ.เกียรตินาคินมีขนาดทรัพย์สินในปัจจุบัน 22,000 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 15 ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในประเทศ จึงเป็นบริษัทขนาดเล็กที่เป็นทั้งน้องใหม่ และหน้าใหม่ เพราะเมื่อเทียบกับ บลจ.กสิกรไทย มียอดสินทรัพย์เป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 685,890 ล้านบาท และอันดับ สอง มูลค่า 562,640 ล้านบาท ของ บลจ. ไทยพาณิชย์
การบริหารบริษัทใหม่และมีขนาดเล็ก กลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับศุภกรและพิชิตเป็นอย่างยิ่ง จากเดิมที่บริหารบริษัทเอ็มเอฟซีที่อยู่ในอันดับ 4 ของตลาด มีมูลค่าสินทรัพย์ 279,741 ล้านบาท
ความเป็นน้องใหม่ทำให้บริษัทต้องเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานองค์กร อาทิ เพิ่มจำนวนบุคลากร โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุน เจ้าหน้าที่การตลาด รวมถึงการวางระบบไอทีทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้เชื่อมโยงการทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น
บลจ.เกียรตินาคินได้ตั้งเป้าไว้ว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะต้องมีขนาดสินทรัพย์มูลค่า (AUM) 7 หมื่นล้านบาท และภายใน 5 ปีจะต้องเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะในปีนี้เหลือเวลาเพียง 4-5 เดือน บริษัทจะต้องมีขนาดสินทรัพย์ 24,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมี 22,951 ล้านบาท
ทว่า ศุภกรเหมือนจะรู้ว่าตัวเลข 24,000 ล้านบาท อาจยังไม่เป็นที่น่าพอใจของคณะกรรมการ ซึ่งพิชิตมีความคิดเห็นสอดคล้องในเรื่องดังกล่าว จึงทำให้ศุภกร เอ่ยปากออกมาว่าตัวเลขน่าจะมากกว่า 25,000 ล้านบาท
หมายความว่าจะต้องเพิ่มขนาดสินทรัพย์ให้ได้กว่า 3 พันล้านบาทภายในปีนี้ ในแต่ละปีจะต้องเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินปีละเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทกำหนดแผนธุรกิจออกผลิตภัณฑ์ให้ได้ 14-15 กองทุนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเหลือเวลาเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น นับว่าเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยสำหรับบริษัทขนาดเล็ก
สำหรับกองทุน 14-15 กองทุน ส่วนหนึ่งจะเป็นกองทุนตั้งเป้าผลตอบแทน หรือทาร์เก็ตฟันด์ จำนวน 3 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนลงหุ้นในไทย 1 กองทุน กองทุน ลงทุนในอีทีเอฟประเทศจีน 1 กองทุน และกองทุนในอีทีเอฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 กองทุน และกองทุนแต่ละกองจะมีขนาด สินทรัพย์ประมาณ 300-400 ล้านบาท
เหตุผลที่ยังเลือกลงทุนในอีทีเอฟของจีนและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงจำนวนมาก จึงมองว่าเป็น จังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน เพราะทั้งสองประเทศยังมีโอกาสเติบโต
ศุภกรเชื่อว่าบริษัทมีโอกาสทำตลาด ใหม่ๆ เพราะสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีไม่มาก ปัจจุบันมีกองทุนบริหารเพียง 39 กองทุนเท่านั้น และมีกองทุนรวมอสังหา ริมทรัพย์ร้อยละ 70 มากที่สุด และกองทุน รวมตราสารหนี้แห่งหนี้ลงทุนในต่างประเทศ ร้อยละ 15.03
ส่วนกองทุนที่ยังไม่มีและจะเปิดตัว ในอนาคต เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน หรือทอง รวมถึงตราสารอนุพันธ์
โดยเฉพาะกองทุนน้ำมัน ศุภกร ปรารถนาจะเปิดให้บริการอย่างมาก เพราะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากมีพนักงานไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันผู้จัดการกองทุน 4 คน จากพนักงานทั้งหมดประมาณ 37 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดสรรพนักงานเข้ามาเพิ่มเติม ในส่วนของกองทุนโกลบอล ตราสารอนุพันธ์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
จึงทำให้บริษัทต้องเร่งปรับโครงสร้าง องค์กรภายในและวางระบบไอทีให้ทำงานได้รวดเร็วที่สุด เพราะการแข่งขันธุรกิจกองทุนในปีหน้าไม่ได้มีเพียงคู่แข่งภายในประเทศเท่านั้น แต่หลังจากเปิดเสรีในปีหน้าบริษัทต่างประเทศจะเข้ามาร่วมแข่งขันเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ด้วยขนาดของบริษัทเป็น องค์กรขนาดเล็ก บริษัทจึงพยายามสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการภายใต้ แนวคิดนำเสนอความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียกว่า บูติกฟันด์ ด้วยการมุ่งเน้น 3 ส่วน คือ First Class บริการและนวัตกรรม
โดยเฉพาะการให้บริการจะเน้นให้คำแนะนำในเรื่องของจังหวะการปรับพอร์ต บริหารหลังการขาย เพิ่มทั้งช่องทางจำหน่าย ทั้งผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงขายบริการผ่านสาขาของธนาคารเกียรตินาคิน 60 แห่งทั่วประเทศ
หากมองในด้านการเข้าถึงลูกค้าผ่านสาขาของธนาคารเกียรตินาคิน อาจจะเป็นจุดอ่อนก็เป็นได้เพราะด้วยจำนวนสาขาไม่มากนัก แต่ศุภกรพยายามลดความกังวลเรื่องดังกล่าวและชี้ให้เห็นจุดเด่น ของทีมขายของธนาคารเกียรตินาคิน ที่ได้ตั้งทีม Wealth Management เพื่อให้ความช่วยเหลือส่งผ่านลูกค้าภายใต้ความดูแลให้มาใช้บริการของ บลจ.อีกทางหนึ่ง
ในมุมมองของศุภกร เกี่ยวกับการบริหารจัดการบริษัทกองทุน เขามองว่า ในอันดับแรกบริษัทต้องมีขนาดสินทรัพย์ 3 หมื่นล้านบาท แต่หากต้องการให้มีเสถียรภาพต้องเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท ส่วนการขยายสินทรัพย์ให้ได้ 1 แสนล้านบาทเขายอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
หากสามารถผลักดันให้บริษัทมีขนาดสินทรัพย์ถึง 1 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าบริษัทจะได้รับความสนใจจากบริษัทใหญ่ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
สิ่งที่จะผลักดันให้เป้าหมายของศุภกรเป็นจริงได้นั้น เขามองว่า กบข.ในฐานะผู้ถือหุ้นจะเป็นแบ็กอัพช่วยให้เกิดเร็วขึ้น เพราะเขามีประสบการณ์บริหารเงินให้กับ กบข.มาก่อน ทำให้มีความสัมพันธ์ค่อนข้างดี
แม้ว่าศุภกรจะมองเห็นโอกาสหลายๆ ด้าน รวมถึงการสร้างบริษัทขนาด เล็กที่เห็นว่าสร้างง่าย และกำหนดให้เป็นไปตามความต้องการนั้น ศุภกรอาจจำเป็น ต้องเรียนรู้สไตล์การบริหารจัดการฝั่งธนาคารเกียรตินาคินในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย เพราะภาพของธนาคารเป็นสถาบันการเงินขนาดเล็ก ที่บริหารงานในรูปแบบ conservative ที่มีแนวทางการบริหารงานแตกต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ เสมือน ผู้บริหารมักจะกล่าวอยู่เสมอว่า บทบาทของธนาคารมีบริการการเงินทุกประเภท แต่สินค้าไม่ได้มีไว้ให้สำหรับลูกค้าทุกคน
ขณะที่ บลจ.เกียรตินาคิน น้องใหม่ จะต้องสร้างแบรนด์อย่างไร ให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่?
|
|
|
|
|