|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หอยหลอด หอยทะเลรูปทรงคล้ายหลอดกาแฟ ไม่ว่าจะอยู่จานผัดฉ่าหรือฝังตัวอยู่ในธรรมชาติ ก็ทำให้ใครหลายคนนึกถึงดอนหอยหลอด สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงครามขึ้นมาทันที
จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าดอนหอยหลอด ในวันนี้เพิ่งจะฟื้นตัวหลังจากผ่านวิกฤติที่ทำให้หอยหลอด ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่เกือบจะสูญพันธุ์ เคยเหลืออยู่ในพื้นที่ ต่ำสุดแค่ครึ่งตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ก่อนจะพลิกฟื้นกลับขึ้นมาเป็นแหล่งอาหาร ท่ามกลางดงอุตสาหกรรมของเมืองสมุทรสงครามได้ในวันนี้
การเปลี่ยนแปลงของดอนหอยหลอด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากกิจกรรมรอบพื้นที่ที่ส่งผลต่อบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง อันเป็นที่ตั้งของดอนหอยหลอด และความไม่สมดุลระหว่างการผลิตหอยหลอดของธรรมชาติกับปริมาณ การจับของมนุษย์ อีกทั้งเคยถูกซ้ำเติมด้วย อุตสาหกรรมที่รุกเข้ามาในพื้นที่ใกล้เคียง การคงอยู่ของหอยที่ดอนหอยหลอดจึงถือเป็นกรณีศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีองค์ประกอบครบทั้งการเป็นแหล่งอาหารและการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังสามารถอยู่รอด ทั้งที่เป็นปลายทางรับน้ำจากภาคอุตสาหกรรมได้อย่างน่าสนใจ
สภาพพื้นที่ของดอนหอยหลอดประกอบด้วย 5 ดอนที่สำคัญ มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลรวมทั้งหมด 546,875 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ของอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ ต.บางจะเกร็ง ต.แหลมใหญ่ ต.บางแก้ว และ ต.คลองโคน
พื้นที่ดินเลนของดอนเกิดจากการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และตะกอนน้ำทะเลที่บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง เมื่อน้ำลงจะเกิดสันดอนทราย สภาพพื้นสันดอนเป็นโคลนเลนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารสูงเหมาะต่อการฟักตัวและเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ทำให้หอยหลอดที่ชอบฝังตัวอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่มีตะกอนดินเลนปนทราย ขยายพันธุ์และเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ในสมัยก่อนสภาพพื้นที่ของดอนหอยหลอดจะเป็นป่าชายเลน ตามแนวชายฝั่งนั้นจะเป็นป่าโกงกางและแสม ถัดเข้ามาด้านในจะเป็นป่าจากและตะบูน ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นชุมชนชายฝั่งที่หากินอยู่กับการประมงพื้นบ้านและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ จากสภาพดังกล่าว ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากเป็น แหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ดอนหอยหลอดยังมีคุณค่าและประโยชน์ ในการป้องกันน้ำท่วม ช่วยรักษาเสถียรภาพ ของชายฝั่ง รักษาคุณสมบัติทางอุทกวิทยาของระบบแม่น้ำลำคลองและยังให้คุณค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชุมชนด้วย
ตามรายงานของสำนักความหลากหลายทางชีวภาพพบว่า มีสัตว์จำพวกที่ไม่มี กระดูกสันหลังถึง 42 ชนิดและสัตว์จำพวก หอย 10 ชนิด นอกจากนั้นยังพบนกอย่างน้อย 18 ชนิด เป็นนกทะเลและนกชายเลน ด้วยเหตุนี้ทำให้ดอนหอยหลอดได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2544 เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันดับ ที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 1009 ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์
“สมัยก่อนที่นี่มีฐานทรัพยากรเป็นจำนวนมาก การทำมาหากินก็ครบวงจรใน รอบปี หน้าร้อนได้หอยได้ปู หน้าหนาวได้ปลาได้กุ้ง หอยหลอดก็หยอดได้ทั้งปี จุดเริ่มต้นของปัญหาที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน แปลงและมีผลต่อการเจริญเติบโตและขยาย พันธุ์ของหอยหลอด เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2528-2529 ที่หน่วยงานของรัฐในสมัยนั้นส่งเสริม การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีนายทุนจากถิ่นอื่นเข้า มาทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้ป่าชายเลนในบริเวณ นี้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก แถมยังมีน้ำเสียจากบ่อกุ้งที่ปล่อยลงดอนอีก ทำให้สภาพแวดล้อมถูกทำลายไป มีผลทั้งต่อตัวดอนและหอยหลอด” ภานุวัฒน์ คงรักษา อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลบางจะเกร็ง หรือที่รู้จักกันในนามผู้ใหญ่โจ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอดบอกกับทีมงานผู้จัดการ 360 ํ
ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ดอนหอยหลอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการขยายถนนและสิ่งปลูกสร้างเข้าไปกินเนื้อที่ของป่าชายเลน ผลกระทบจากความแออัด ของนักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวนดอน อีกทั้งยังมีการปล่อยน้ำเสียที่มาจากสิ่งปลูกสร้าง เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เติบโตจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไหลลงดอน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรัพยากรของพื้นที่เสื่อม โทรมลง ยังไม่รวมผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวมากันมากๆ ทำให้มีปัญหารถติด ในชุมชนซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวชุมชนอีกด้วย
เขมิกา เปรุณาวิน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่ 1 ตำบลบางจะเกร็ง เล่าให้ฟังว่า ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของดอนหอยหลอดและสุขอนามัยของชาวบางจะเกร็งก็คือ การมีอุตสาหกรรมรุกเข้ามาในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำไปแล้ว แต่ก็ได้มีการผลักดันให้บางส่วนของพื้นที่เป็นโซนสีม่วงและอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมได้ในปัจจุบันโดยกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสรับรู้และตัดสินใจให้เกิดขึ้น ที่สำคัญ การมีอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้ขัดกับข้อกำหนดของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชัดเจนก็ตาม
ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งฟักตัวและเติบโต ของหอยหลอด มีทั้งท่าเรือขนถ่ายถ่านหินและคลังแก๊ส LPG ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวชุมชนและระบบนิเวศของดอนหอยหลอด เนื่องจากเวลาขนถ่ายถ่านหินที่ท่าเรือ ฝุ่นจากถ่านหินได้ฟุ้งไปทั่ว บริเวณ นอกจากนี้คลังแก๊สยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยอีกด้วย
“ถ้ายึดตามข้อกำหนดในส่วนของขนาดและขอบเขตของพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอย หลอดแล้ว เขตห้ามเข้าของอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบ เริ่มตั้งแต่ริมถนนพระราม 2 ครอบคลุมถึงสี่ตำบลเลยทีเดียว” ภานุวัฒน์ ช่วยยืนยันถึงข้อห้ามที่ไม่ควรเกิดกิจกรรมของอุตสาหกรรมในพื้นที่
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือความไม่สมดุลระหว่างการผลิตหอยหลอดกับการจับของมนุษย์ที่พึ่งพารายได้จากดอน จนถึงขั้นนำไปสู่การแข่งขันกันใช้ทรัพยากร
การจับหอยหลอดในสมัยก่อนชาวบ้านใช้ปูนแดงหยอด แต่หอยหลอดจะขึ้นมาช้า จึงเร่งปฏิกิริยาด้วยการเปลี่ยนมาใช้ปูนขาวและกลายเป็นมาตรฐานของการหาหอยหลอดในปัจจุบันของพื้นที่นี้ นานไปยิ่ง หาหอยยากขึ้น ก็เปลี่ยนมาลักลอบใช้โซดาไฟผสมปูนขาวลาดไปทั่วดอน ไม่ใช่แค่ หอยหลอดที่ทนไม่ได้ สัตว์น้ำอื่นๆ ก็ตายไปตามๆ กัน พวกที่ยังไม่โตเต็มวัยก็ต้องพลอยตายไปด้วยไม่มีโอกาสเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ทำให้หอยหลอดและสัตว์น้ำบริเวณนี้ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย
ก่อนเกิดวิกฤติหอยหลอด กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอดได้สำรวจพบว่ามีหอยหลอดหลงเหลืออยู่ในพื้นที่แค่ 5 ตัวต่อตารางเมตร เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ที่มีถึง 20 ตัวต่อตารางเมตร แต่พอถึงช่วง วิกฤติในปี พ.ศ.2551-2552 สำรวจพบว่าเหลืออยู่ 0.5 ตัวต่อตารางเมตรเท่านั้นซึ่งถือว่าแทบจะสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว
“ช่วงนั้นชาวบ้านหยอดหอยหลอดแทบไม่ได้เลย ต้องหันไปจับสัตว์น้ำชนิดอื่นแทน แต่ที่ยังเห็นว่ามีหอยหลอดขายในบริเวณดอนและท้องตลาดมาจากแหล่งอื่นทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชุมพร ระนอง สมุทรปราการ จันทบุรี ตราด กัมพูชา พม่า ออสเตรเลีย เวียดนาม โดยเฉพาะที่ชุมพร อาชีพหลักของเขาก็คือสวนผลไม้ สวนปาล์ม เขาจะหยอดหอยก็เพื่อกินเท่านั้น ดังนั้นเขาไม่ค่อยสนใจหอยหลอดเท่าไร เพียงแต่ตั้งกฎว่า ถ้าพวกเราไปจับต้องหยอดด้วยปูนแดงเพียงอย่างเดียว คนที่นั่น หยอดหอยได้วันละ 5 กิโลกรัมแต่พอเราไปหยอดได้วันละ 30-40 กิโลกรัม เขาก็เลยบอกว่าคนบ้านเราหยอดเก่ง” สุภาพ คงรักษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.บางจะเกร็ง เปิดเผยที่มาของหอยหลอดส่วนใหญ่ที่จำหน่ายอยู่ในพื้นที่
ชาวสมุทรสงครามเรียกหอยจากที่อื่นว่า หอยต่างด้าว ซึ่งต่างจากหอยหลอด ที่ดอนหอยหลอดตรงสี รสชาติและขนาด จะมีก็จากชุมพรที่จะมีสีและขนาดเหมือนกันแต่ก็ต่างที่รสชาติ
“ของบ้านเราตัวหอยจะออกขาวเหลือง ใส ค่อนข้างเล็ก ของที่อื่นจะออกดำ ขุ่น ตัวใหญ่กว่า รสชาติของเราจะนิ่มหวาน แต่ของเขาเหมือนเคี้ยวหนังสติ๊ก”
จากปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้นนอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว อีกมุมหนึ่งก็คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมบริเวณ โดยรอบดอนหอยหลอด หอยหลอดลดลงชาวประมงพื้นบ้านจับได้ลดลง รายได้ก็น้อยลง นักท่องเที่ยวที่มาดอนหอยหลอดก็มีโอกาสน้อยที่จะเห็นหอยหลอดขณะยังมีชีวิต ถ้าหอยหลอดสูญพันธุ์ดอนหอยหลอด ก็ขาดสิ่งดึงดูด นักท่องเที่ยวคงไม่อยากมาดูหาดเลนเปล่าๆ เศรษฐกิจชุมชนที่เป็นอยู่ เช่น การขายอาหารทะเลทั้งแบบสดและแปรรูป ร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งรายใหญ่ และรายย่อยที่เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว อาจจะต้องปิดตัวลง ชาวประมงที่ขายของอยู่อาจจะต้องกลับไปฝากชีวิต โอกาสและรายได้จากท้องทะเลแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอด จึงร่วมมือกับ ดร.กอบชัย วรพิมพงษ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนา การเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อคิดหาแนวทางและกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์หอยหลอด อย่างเต็มรูปแบบ
ผู้ใหญ่โจเล่าให้ฟังว่าในช่วงแรกนั้นได้ขอกันพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ 75 ไร่ ที่ดอนหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แต่มีชาวบ้านบางกลุ่มไม่เห็นด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกับพื้นที่หาหอยกระปุก ของชาวบ้านตำบลแหลมใหญ่ ดังนั้น ทางกลุ่มฯ จึงลดพื้นที่อนุรักษ์เหลือแค่ 22 ไร่
นอกจากกลุ่มฯ จะกั้นเขตอนุรักษ์ซึ่งเป็นอุบายในการสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านแล้ว ทางกลุ่มฯ ยังหากุศโลบายเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านด้วย การทำพิธีทางศาสนาในการสืบชะตาดอนหอยหลอดอีกด้วย เมื่อชาวบ้านไม่หยอดหอยในพื้นที่อนุรักษ์ ผลก็คือ หอยหลอดได้ ขยายพันธุ์และฝังตัวเจริญเติบโตในพื้นที่ ที่อนุรักษ์เอาไว้
จากการสำรวจของกลุ่มฯ พบว่า หอยหลอดเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 12.5 ตัวต่อ ตารางเมตร และตัวที่โตเต็มวัยยังออกไปฝังตัวนอกเขตอีกด้วย ที่สำคัญทางกลุ่มฯ และชาวบ้านพบว่า ในเขตอนุรักษ์นี้มีสัตว์ทะเลที่หายไปและที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้น เยอะมาก เช่น ตัวก้านธูป ดอกไม้ทะเล กุ้ง หอยแมลงภู่ หอยเสียบ หอยแครง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ที่กลุ่มฯ ได้กั้นเขตอนุรักษ์นั้น ด้านนอกเขตก็เริ่มที่จะไม่มีหอยหลอดให้หยอดกันแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเสมือนการพักดอนไปในตัว สิ่งที่เกิด ขึ้นก็คือสภาพดินเลนนอกเขตอนุรักษ์ก็ได้เริ่มปรับตัว ความเป็นพิษในดินได้ถูกฟื้นฟูโดยธรรมชาติจนสภาพดินและน้ำสมบูรณ์ หอยหลอดและสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เริ่มกลับมา จนชาวประมงพื้นบ้านสามารถกลับมาจับหอยหลอดได้เช่นเดิม
ดร.กอบชัยให้ความเห็นถึงแนวทางการอนุรักษ์หอยหลอดและทรัพยากรในพื้นที่ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนว่า ควรจะเพิ่มมาตรการการกำหนดขนาดหอยหลอดที่ให้ จับได้เพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงที่หอยหลอด มีชุกชุมจะเป็นเดือนเมษายน-กรกฎาคมของทุกปี ชาวประมงจะจับหอยหลอดได้เป็นจำนวนมากขนาดปะปนกันไป แต่ถ้าโดยรวมมีขนาดเล็ก ราคาที่พ่อค้าคนกลาง รับซื้อก็จะลดลง ซึ่งขนาดของหอยหลอดที่เหมาะสมควรจะเริ่มต้นที่ขนาด 4.5 เซน ติเมตร เคยมีการศึกษาพบว่าหอยหลอดที่ดอนหอยหลอดมีเซลล์สืบพันธุ์เจริญเต็มที่ที่ขนาดประมาณ 4.3 เซนติเมตร ซึ่งถ้าปล่อยให้หอยหลอดมีโอกาสได้สืบพันธุ์ก่อนที่จะถูกจับก็เสมือนเป็นการช่วยเพิ่มประชากรหอยหลอดในอนาคตไปในตัว นอกจากนี้ถ้าชาวประมงเลือกจับแต่หอยหลอดที่มีขนาดใหญ่ก็จะทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้นอีกด้วย
ถึงแม้ว่าทรัพยากรและหอยหลอดซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้กลับมาในพื้นที่แล้ว แต่ทางกลุ่มฯ ก็ยังไม่หมดภารกิจในการทำงานอนุรักษ์เพียงแค่นี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นเพียงการนำร่องเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น ยังมีปัญหาอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไข
ดังนั้นทางกลุ่มจึงวางแผนที่จะทำโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังการใช้ปูนขาวผสมโซดาไฟในการจับหอยหลอดของชาวบ้านจากถิ่นอื่นที่เข้ามาหากินในบริเวณดอนหอยหลอด การเสนอแนะและตั้งกฎการจับหอยหลอด ข้อเสนอแนะเรื่องการบำบัดน้ำเสียของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ข้อเสนอแนะให้มีการกั้นเขตของนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้ลงไปรบกวนดอน ในส่วนที่ชาวบ้านจับหอยหลอด การจัดการเรื่องขยะบนดอน การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการตัดสินใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุ่มน้ำ การปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปของชุมชนด้วยการเข้าค่ายอนุรักษ์
โครงการเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีบทบาทน้อยมากในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังคงหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐอย่างจริงจังเพื่อให้ทรัพยากรคงอยู่คู่กับดอนหอยหลอดและที่สำคัญเพื่อวางรากฐานให้ดอนหอยหลอดเป็นแหล่งถนอมอาหารทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป
|
|
|
|
|