|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ทุกวันนี้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากการที่หลายๆ หน่วยงานพยายามช่วยกันส่งเสริมให้ผู้หญิงได้รับสิทธิในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในที่ทำงาน บทบาทของผู้หญิงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน นอกจากจะพยายามเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้ให้คำปรึกษากับผู้บริหารหญิงหรือพนักงานหญิงในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงเดินไปถูกทางในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในการเป็นหัวหน้า
ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงคุณสมบัติของผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำว่า จะต้องมีทัศนวิสัยที่กว้าง รู้จักการคิดนอกกรอบ เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส และจะต้องตามทันเทคโนโลยีใหม่ๆ หากว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติเหล่านี้แล้วก็มักจะเป็นที่ยอมรับในสังคม และได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำ หากแต่เมื่อขึ้นไปทำงานในระดับบริหารแล้ว ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับปัญหา ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าคอนเน็กชั่น การติดต่อประสานงานและการรู้จักผู้คนในสายงานอาชีพต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหาร และผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่ก็มักจะมีคอนเน็กชั่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่ขาดคอนเน็กชั่นนั้นก็น่าจะเป็นเพราะว่า ผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่เมื่อเลิกงานแล้วจะตรงกลับบ้านเพื่อไปดูแลครอบครัวมากกว่าที่จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือเจ้านายเหมือนกับผู้ชาย ปัญหาเรื่องของการแบ่งเวลาให้ลงตัวระหว่างการทำงานและครอบครัวนั้น ถือได้ว่าเป็นปัญหาหลักของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ เพราะเมื่อต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน จึงทำให้มีเวลาไม่พอในการดูแลครอบครัว
เมื่อเรื่องคอนเน็กชั่นเป็นปัญหาสำหรับผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่ องค์กร Women’s Leadership Exchange หรือที่เรียกย่อๆ ว่า WLE จึงถูกจัดตั้งขึ้นโดย Leslie Grossman ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทการตลาดชั้นนำที่นิวยอร์กและเป็นคนให้คำปรึกษาแก่นักธุรกิจหญิงมามากกว่า 20 ปี Leslie เริ่มมีกิจการเป็นของตัวเองเมื่อตอนอายุ 25 ปี และ Andrea March ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอีกคนก็ทำธุรกิจส่วนตัวเช่นกัน พวกเธอทั้งสองคนล้วน เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน รู้ว่าการเป็นผู้บริหารหญิงนั้นไม่ง่ายเลย จึงได้ช่วยกันจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนนักธุรกิจหญิง
WLE มีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ผู้หญิง ที่ทำงานในสายงานต่างๆ ได้มาทำความรู้จักกัน โดยทำการรวบรวมผู้บริหารหญิงในสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในแต่ละสาขาอาชีพ เช่นเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับซีอีโอใน บริษัทต่างๆ หรือแม้กระทั่งข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐมาทำความรู้จักและแลก เปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานกัน เช่น มีการจัดงานสัมมนาขึ้นในแต่ละปี เพื่อให้ผู้บริหารหญิงจากทุกสาขาอาชีพที่ทำงานอยู่ต่างรัฐและคนละประเทศได้มีโอกาสมาทำความรู้จักกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานกัน ในงานสัมมนาแต่ละ ครั้งก็มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน
นอกจากนี้ WLE ยังเปิดสอนหลักสูตรสำหรับ ผู้บริหารหญิง โดยเน้นไปที่วิธีการสร้างคอนเน็กชั่นในการทำงาน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่มักจะเจอในที่ทำงาน เพราะโดยปกติแล้ว ผู้บริหารหญิงมักจะขาดคนให้คำปรึกษาในเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ เนื่องจากว่าผู้บริหารหญิงมีจำนวนที่น้อยมาก เมื่อมีปัญหาจึงไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาใครได้
เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาและจีนได้มีการตกลงร่วมกันที่จะให้ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ในการเป็นผู้นำในแต่ละประเทศได้ไปดูงานและทำความรู้จักกันไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มคอนเน็กชั่นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน โดยจัดตั้งโปรแกรม U.S.-China Women’s Leadership Exchange and Dialogue หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Women-LEAD ขึ้นมา
โปรแกรม Women-LEAD มีวัตถุประสงค์หลักๆ คือให้โอกาสผู้บริหารหญิงของจีนและสหรัฐ อเมริกา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โปรแกรมแลกเปลี่ยนนี้ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการส่งผู้บริหารหญิงของจีนจำนวน 30 คน ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หสหรัฐอเมริกา โดยจะได้พบกับผู้บริหารหญิงของอเมริกาในสาขาอาชีพที่หลากหลายเพื่อเป็นการสร้างคอนเน็กชั่นและพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ในการทำงาน เช่น ผู้บริหารหญิงของจีนทั้ง 30 คนได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mona Locke ผู้สื่อข่าวหญิงชาวจีนอเมริกัน และเป็นภรรยาของ Gary Locke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
การพบปะพูดคุยกันในครั้งนี้พวกเธอได้พูดคุยถึงปัญหาทั่วไปที่ต้องพบเจอในการทำงาน การแบ่งเวลาให้ลงตัวระหว่างการทำงานและครอบครัว การเผชิญกับปัญหาทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น การหย่าร้าง ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น การเพิ่ม โอกาสในสังคมให้กับผู้หญิง และการเพิ่มแรงบันดาล ใจให้กับผู้หญิงในการก้าวขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหาร หรือระดับอาวุโสในทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเชื่อว่า ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงในจีนและอเมริกาในการก้าวขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหารได้มากขึ้นในอนาคต เพราะพวกเธอจะรู้ว่ามีอุปสรรคอย่างไรในการจะเป็นผู้บริหารหญิง และควรจะต้องมีการเตรียมตัว อย่างไรเพื่อจะได้เป็นผู้บริหารหญิง
โปรแกรม Women-LEAD ยังเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ อเมริกาและจีนด้วย โดยให้ผู้หญิงของทั้งสองประเทศ เป็นตัวแทนไปแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น ทางประเทศจีนต้องการให้ผู้บริหารหญิงมาดูงานเรื่องเทคโนโลยี ที่ใช้ในการเกษตร ทางสหรัฐอเมริกาจึงจัดให้ไปดูงาน ที่ Silicon Valley เพื่อนำความรู้กลับไปปรับปรุงการเกษตรตามชนบทที่ประเทศจีน ซึ่งทั้งสองประเทศเชื่อว่าความรู้ที่ได้ในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตมากยิ่งขึ้นไปอีก และยังทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นตามมาอีกด้วย
โปรแกรมการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ องค์กรส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและจีนมองว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดีและมีความสำคัญมาก เพราะโปรแกรมนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและจีนดีขึ้นเรื่อยๆ และยังช่วยให้ผู้บริหารหญิงที่ทำงานในสายงานเดียวกันได้รู้จักกันและแลกเปลี่ยนความรู้กัน
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว โปรแกรม Women-LEAD ยังเป็นโปรแกรมที่จะช่วยผลักดันให้ผู้นำหญิงของจีนเห็นความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิงมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงในประเทศจีนยังได้รับสิทธิในสังคมน้อยกว่าผู้ชายเยอะมาก และโปรแกรมนี้จะทำให้จีนไม่ท้อถอยที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เพราะว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และต้องค่อยๆ แก้ไขไป แม้กระทั่งอเมริกาที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้ ดังนั้นจีนจึงไม่ควรมองข้ามและท้อถอยในการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
นอกจากนี้ Hillary Clinton ซึ่งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พูดถึงโปรแกรม Women-LEAD ว่าโปรแกรมนี้เพิ่งเริ่มต้นเพียงเท่านั้น และการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะช่วย ให้ผู้นำหญิงจากจีนที่มาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น มีรัฐบาลที่บริหารจัดการงานได้เป็นอย่างดี และเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะว่าผู้นำหญิงจีนเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเรื่องผู้หญิงในจีนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการจัดประชุมนานาชาติเรื่องผู้หญิงครั้งที่ 4 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดประชุมโดยองค์การสหประชาชาติ (The Fourth UN Conference on Women in Beijing) Hillary ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โปรแกรม Women-LEAD จะทำให้เรื่องสิทธิของผู้หญิงเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องสิทธิมนุษยชนคือเรื่องสิทธิของผู้หญิง
ดังนั้น เรื่องสิทธิของผู้หญิงจะได้รับความสนใจในการแก้ปัญหามากขึ้น อย่างเช่นปัญหาเรื่องจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารมีน้อยมาก ตอนนี้หลายๆ ประเทศจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวน ผู้หญิงในระดับผู้บริหารให้มีมากขึ้น เพราะนอกจากจะแก้ไขปัญหาเรื่องจำนวนผู้บริหารหญิงแล้วยังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมด้วย
ถ้าหากว่า บ้านเรามีองค์กร WLE บ้างก็คง จะดีไม่น้อยเลย ผู้หญิงที่ทำงานในสายงานต่างๆ จะได้ขอคำปรึกษาได้ว่า ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรและทักษะแบบไหนที่พวกเธอจำเป็นต้องมีในการเลื่อนตำแหน่งไปทำงานในระดับผู้บริหารหรือระดับอาวุโสแล้วจะเป็นที่ยอมรับ เพราะว่าผู้หญิงในที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะขาดต้นแบบและคนคอยให้คำ แนะนำในที่ทำงานเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานซึ่งไม่มีเขียนไว้ในกฎของบริษัท และในที่สุดถ้าหากผู้หญิงสามารถรู้ได้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรและจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแบบไหน ก็จะทำให้ ผู้หญิงสามารถเตรียมตัวให้พร้อมและมีทักษะสำคัญ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้บริหาร
ดังนั้น จำนวนผู้หญิงที่จะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหารก็จะมีมากขึ้น และท้ายที่สุดอันดับของประเทศไทยในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมดีขึ้นไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม
- ผู้นำหญิง นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนเมษายน 2554
|
|
|
|
|