|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ในทางการเมืองก็เช่นกัน นักการเมืองทั่วโลกต่างได้รับรู้ถึงบทบาทที่อินเทอร์เน็ตได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกทางการเมืองมากขึ้น ในประเทศไทยเราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น พรรคการเมืองที่สามารถบริหารสารสนเทศและการนำเสนอข้อมูลของพรรคผ่านสื่อมวลชนได้ดีเท่าไรย่อมทำให้ได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าพรรคคู่แข่งมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่พรรคการเมืองที่เน้นการหาเสียงแบบเคาะประตูหรืออาศัยเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ตกทอดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หรือ 20 เริ่มถูกลดความสำคัญลงอย่างน่าตกใจ ในบางจังหวัดที่ระบบอุปถัมภ์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมานับทศวรรษ ก็ได้พบกับจุดจบอย่างน่าประหลาดใจ แม้ว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยจนน่าอัศจรรย์ แต่เราต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มตั้งเค้าจนเป็นรูปเป็นร่างในต่างประเทศมามากกว่าทศวรรษแล้วเช่นกัน
ในเมืองไทย เราพบว่านักการเมืองหลายพรรคได้นำเอา social network ที่เป็นที่นิยมออกมาใช้กันไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, My Space, และเน็ตเวิร์กต่างๆ มากมาย นักการเมืองที่เริ่มนำ Social networking ออกมารณรงค์หาเสียงคนแรกๆ คือ บารัค โอบามาของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะลามไปทั่วโลก ตรงนี้รวมถึงท่านอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เราเห็น ออนไลน์กันอยู่บ่อยๆ รวมถึง รมต.และ ส.ส.หลาย ท่านที่บางครั้งออกมาทะเลาะกันโชว์ในโลกไซเบอร์ ถือว่าเป็นการอภิปรายนอกสภาได้อย่างน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม หลายท่านอาจจะแย้งว่า จะได้ผลจริงหรือ ในเมื่อพรรคที่นิยมทวิตข้อความกัน อย่างเป็นล่ำเป็นสันกลับแพ้การเลือกตั้ง ผมคงต้องขอบอกตรงๆ ว่า ในประเทศไทยก็ได้ผลบ้าง แม้ว่าจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เห็นผลกันไม่น้อยอย่างกรณีภาพยนตร์โฆษณาของชูวิทย์ที่สร้างกระแสโพสต์ ต่อกันไปทั่วเฟซบุ๊ก จนกระแสของเบอร์ 5 ในตอนนั้นมาแรงแซงพรรคขนาดกลางแทบทุกพรรค
ส่วนเหตุผลที่ทำไมกระแสทางเน็ตในไทยยังไม่แรงเท่าต่างประเทศ ผมเชื่อว่าคงตอบได้ไม่ยากเพราะว่าจำนวนประชากรไทยที่ออนไลน์นั้นยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยเลย ขณะที่ประเทศ พัฒนาแล้วประชากรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ต่างหาข้อมูล กันบนโลกไซเบอร์ทั้งสิ้น เราลองมาคิดง่ายๆ ว่า ถ้า ประชากรไทยที่ออนไลน์ตอนนี้มีราว 35 เปอร์เซ็นต์หรือ 20 ล้านคน ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนี้ ถ้าคนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ออนไลน์ หรือ 45 ล้านคน จะสร้างความแตกต่างทางการเมืองได้มากหรือน้อยขนาดไหน
ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อหัวประชากรมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก กล่าวคือ 83 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกีวีต่างอยู่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็น รองเพียงประเทศในสแกนดิเนเวียและฮอลแลนด์เพียง 1-5 ปอร์เซ็นต์ สูงกว่ามหาอำนาจโลกอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ราวๆ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ลองคิดดูคร่าวๆ ว่าถ้าประชากรไทยถึง 83 เปอร์เซ็นต์ออนไลน์ เท่ากับว่าเรามีคนถึง 53 ล้านคนอยู่บนเน็ต ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของไทยได้มากกว่า 3 เท่าของประชากรไทยในปัจจุบัน ที่น่าสนใจกว่านั้นคือในประชากรทั้งหมดนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์หรือทั้งสองอย่าง ทำให้ ผลกระทบของ Social Networking และการบริหารข้อมูลทางสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
การเมืองในประเทศนิวซีแลนด์ก็เช่นกัน การหาเสียงนั้นสามารถกระทำได้หลายแบบเช่นเดียวกับบ้านเรา เช่น การตั้งป้ายหาเสียง ซึ่งแน่นอนครับ การทำลายป้าย ก็เป็นเรื่องปกติ แม้ว่าจะไม่ได้บ่อยเท่าที่บ้านเรา และการทำลายป้ายหาเสียงโดยมากมักจะเป็นในแนวสร้าง สรรค์ ซึ่งน่าจะทำโดยคนที่มีหัวทางศิลปะไม่มากก็น้อย อาจจะมีพวกมือบอนคอยเขียนด่าบ้างแต่ก็ไม่แรงเท่าเมืองไทยที่มีทั้งเรยาตอแหล ดีแต่พูด หรืออะไรที่ไม่ค่อย จะสร้างสรรค์นัก แต่นั่นเป็นการหาเสียงแบบเก่า ส่วนพวกแนวอุปถัมภ์ หรือเคาะประตูบ้านนับวันยิ่งลดลงหรือไม่ก็สอบตกกันไปตามระเบียบ
แม้แต่การปราศรัยใหญ่แบบบ้านเราต่างถือว่าสร้างความสนใจให้ฝรั่งเป็นอย่างมากเพราะว่าการหาเสียงแบบปลายศตวรรษที่ 20 ต่างเป็นเรื่องหาดูได้ยากในต่างประเทศ ที่เขาปราศรัยใหญ่กันผ่านยูทูป หรือห้องส่งขนาดกลางที่มีคนดูไม่เกินหลักพันแต่ออกอากาศให้คนดูนับแสนนับล้านได้
ในนิวซีแลนด์นั้นเทคโนโลยีได้เข้ามาแทนที่แม้แต่ที่ทำการพรรค จากประสบการณ์ของผมในนิวซีแลนด์ทำให้ผมพบว่าขนาดที่ทำการพรรคทั้งระดับประเทศ หรือแม้แต่ระดับจังหวัดต่างมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่การจัดงานต่างๆ ของพรรคจะอาศัยการเช่าห้องบอลลูมของโรงแรมมากกว่าเพื่อประหยัดรายจ่ายผูกพันในระยะยาว
ในประเทศไทย ผมเคยจำได้ว่านักการเมืองรุ่นเก่าท่านหนึ่งออกมาโจมตีพรรคการเมืองใหญ่แห่ง หนึ่งว่า ไม่มีที่ทำการพรรคในเขตต่างๆ และตาม จังหวัดต่างๆ แบบเป็นเน็ตเวิร์ก ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ผมต้องอธิบายว่าที่ทำการพรรคมาจากไหน ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อประชาชนเลือก ส.ส.จากพรรค การเมืองใดๆ แล้ว ส.ส.คนนั้นๆ จะเอาบ้านของตนเองเป็นที่ทำการให้คนมาติดต่อ ตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะ ประเทศไทยแต่รวมไปถึงต่างประเทศด้วย ทีนี้ถ้าประเทศใดก็ตามที่มีการเมืองแบบสองพรรค เกิดในเขตนั้นๆ มีพรรคที่หนึ่งได้รับเลือก พรรคที่สองถ้าไม่ทำอะไรเลยย่อมจะต้องสูญพันธุ์ เนื่องมาจากว่าไม่มีตัวแทนในพื้นที่ ทางออกจึงเหลือเพียงอย่างเดียวคือตั้งที่ทำงานพรรค เพื่อให้คนไม่ลืมและยังสามารถลงพื้นที่ได้โดยอาศัยที่ทำการพรรคเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับต่างประเทศ
เมืองไทยของเราก็เอาแนวคิดดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ที่พรรคการเมืองของไทยเริ่มเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แม้ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป พรรคการเมืองเก่าๆ ในไทยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดโบราณ ไม่ว่าจะเป็นอาศัยกลุ่มการเมือง อาศัยการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรืออาศัยการซื้อเสียงผ่านหัวคะแนนโดยไม่หวังที่จะมีนโยบายที่ยั่งยืนหรือต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายพรรคการเมืองในบ้านเราถูกลดขนาดลงจากพรรคขนาดกลางระดับประเทศมาเป็นพรรคขนาดเล็กระดับจังหวัดหรือแทบจะสูญพันธุ์กันไปเลย เพราะว่าเกิดการเปลี่ยน แปลงในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเกิดในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แม้แต่ในนิวซีแลนด์ที่พรรคการเมืองระดับกลางจะมีอำนาจมากก็เกิดความถดถอยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 เนื่องจากว่าในอดีตพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในนิวซีแลนด์จะไม่ขัดเวลาที่พรรคขนาดกลางถึงเล็กออกมาประกาศว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เช่นพรรคแรงงาน มักจะให้พรรคกรีนมาแบ่งคะแนนเสมอ เพื่อหวังที่จะเอาไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปฏิรูปการหาเสียงด้านไอที
บรรดาพรรคการเมืองในโลกนั้น พรรคกรีนมักจะเป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการประชา สัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนมาตลอด เพราะพวกเขาเชื่อว่าเมื่อมีผลงานต้องประกาศให้คนทั่วไปทราบและปฏิบัติการณ์อนุรักษ์ธรรมชาติ แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดผลข้างเคียงสิ่งหนึ่งคือการทำให้ประชาชนหันมาสนใจพรรคกรีนมากกว่าพรรคการเมืองใหญ่ทำให้บรรดาพรรคการเมืองใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในการยึดพื้นที่ข่าวให้มากที่สุด แทนที่จะไปหวังพึ่งระบบเก่าๆ
เช่นที่ทำการพรรค ซึ่งคนที่เข้ามาในที่ทำการจะน้อยลงไปทุกๆ วัน สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือการลดจำนวนที่ทำการพรรคจากเดิมที่มีอยู่ในทุกๆ เขตเลือกตั้งมาเป็นเพียงที่ทำการในเมืองใหญ่ๆ ของแคว้นแทน ขณะที่ ส.ส.ก็ลดขนาดของการเอาบ้านตนเองมาเป็นที่ทำการพรรคมาสู่ที่ทำการพรรครวมของเมืองเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ในอดีตการติดต่อ ส.ส.จะทำโดยประชาชนไปเคาะประตูบ้าน ไปที่ทำการพรรคในเขตนั้นๆ หรือโทรหา ส.ส.
ในปัจจุบันการเข้ามาของสารสนเทศ ทำให้ประชาชนนิวซีแลนด์สามารถใช้เครือข่ายต่างๆ เช่น เว็บไซต์์ของพรรคการเมืองนั้นๆ ต่อมาคือการใช้อีเมลในการส่งข้อมูลต่างๆ และกิจกรรมของพรรค เพื่อลดต้นทุนในการประชาสัมพันธ์ ต่อมาคือการใช้เครือข่ายต่างๆ เช่น เฟซบุ๊กของนักการเมืองโดยการอัพเดตกิจกรรม นโยบายของพรรค รวมถึงแถลงผลงานรัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การอัพเดตต่างๆ ไม่ใช่กระทำเพียงทวิตข้อความไม่กี่ประโยค หรืออัพเดตโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กแค่ไม่กี่ภาพ แบบที่นักการเมืองไทยทำกัน แต่จะเป็นการนำเอารูปไปลงในเว็บเช่น flickr หรือ multiply ก่อนที่จะลิงค์กลับมาที่ face book หรือเว็บไซต์ของพรรค รวมทั้งการเอาคลิปลงใน youtube และลิงค์ไปตาม social network ต่างๆ เพื่อลดการเพ่งเล็งของ กกต.นิวซีแลนด์ที่จะหันมาดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียง
นอกจากนี้การใช้ไอทีเน็ตเวิร์กทำให้ประชาชน ที่มีการศึกษาหันมาลดการพึ่งพาระบบการเมืองเดิมๆ และให้ความสนใจกับนโยบายมากกว่าระบบการเมืองเดิมๆ ที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ของเขาเริ่มที่จะเสียความนิยมลงไปเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนหันไปมองที่นโยบายมากกว่า ทำให้พรรคการเมืองของเขาหันมาแข่งกันที่นโยบายและภาวะผู้นำมากกว่า ตรงนี้เองที่ส่งผลให้ที่ทำการพรรคมีน้อยลง แต่ประชากรที่รับข้อมูลข่าวสารทางเน็ต ต่างมีวิจารณญาณในการเลือกนักการเมืองมากขึ้นเพราะเขารับข้อมูลที่มาจากทุกๆ ทางและมีความสามารถในการตัดสินใจที่ดีจากพื้นฐานการศึกษาที่ดี
ในประเทศไทย ผมเชื่อว่าสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาในสังคมไทยเราได้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปลอกของฝรั่งมาทั้งหมด เพราะคนไทยของเราจำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้มีความคิดวิพากษ์แบบ critical thinking ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะตกเป็นเหยื่อของสื่อสารสนเทศที่มีวาระแอบซ่อนทางการเมืองได้
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าถ้าเรานำเอาสื่อทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเมืองให้กับประชาชน จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลายวิธีทาง ในที่สุดจะสามารถลดวงจรอุบาทว์ที่นักวิชาการพูดถึง รวมไปทั้งลดการพึ่งพาการเมืองแบบอุปถัมภ์และสร้างการเมืองให้เข้มแข็งผ่านสารสนเทศที่เจริญมากขึ้นทุกๆ วัน
|
|
|
|
|