Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2554
เสน่ห์ในเส้นสีและชีวิตของ Maqbool Fida Hussin             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Art




ในแวดวงศิลปะสมัยใหม่ของอินเดีย ผลงานและชื่อของ Maqbool Fida Husain เป็นที่รู้จักกว้างขวางทั้งในอินเดียและเวทีศิลปะโลก ด้วยงานที่มีพลังเปี่ยมชีวิตชีวา บอกเล่าการเปลี่ยนผ่านของศิลปะอินเดียร่วมสมัยตลอดหลายทศวรรษ บางคนขานเรียกเขาว่าศิลปินตีนเปล่า บ้างเรียกเพลย์บอย ความขี้เล่นขี้โอ่และรู้ถ่อมตนอยู่ในที ทำให้ภาพชีวิตของฮูเซนมีเสน่ห์และสีสันเฉกเช่นภาพเขียนของเขา แต่ช่วงท้ายของชีวิตเขากลับต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศควาตาร์ เพราะถูกปองร้ายหมายหัวโดยกลุ่มฮินดูขวาจัด เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะมีอายุ 96 ปี โดยไม่มีโอกาสกลับมาสัมผัสแผ่นดินเกิด

มัคบูล ฟีดา ฮูเซน เกิดเมื่อปี 1915 ในครอบครัว ยากจนในตำบลปานธาร์ปูร์ รัฐมหาราษฏระ เขาสูญเสีย มารดาตั้งแต่อายุได้ขวบเศษ ฮูเซนเริ่มเรียนศิลปะกับ V.D. Devlalikar ศิลปินมีชื่อแห่งเมืองอินดอร์ ต่อมาจึงเข้าบอมเบย์ (เมืองมุมไบในปัจจุบัน) เพื่อหางานทำ ทีแรกเขาใฝ่ฝันจะเป็นนักแสดง แต่เมื่อโอกาสไม่เปิดช่องหนุ่มช่างฝันก็หันมาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนป้ายโฆษณาหนัง พร้อมกับศึกษาศิลปะใน Sir JJ School of Art ที่ มีชื่อ ช่วงนั้นเองที่เขามีโอกาสพบปะกับศิลปินหัวก้าวหน้า รุ่นเดียวกัน และก่อตั้ง Progressive Artists Group ขึ้น ในปี 1948 สมาชิกของกลุ่มซึ่งต่อมาล้วนเป็นศิลปินมีชื่อ ได้แก่ F.N. Souza, H.S. Gade, S. K. Bakre, K.H. Ara และ S.H. Raza

ภาพเขียนของฮูเซน มีสีสดสว่าง กระนั้นเป็นการใช้สีในเชิงโครงสร้างและการแสดงออก มากกว่าเชิงประดับตกแต่ง ขณะเดียวกันประสบการณ์การเขียนคัตเอาต์หนังขนาดใหญ่ก็ส่งผลให้เส้นสายในภาพเขียนของเขาโดดเด่น มีพลัง ฮูเซนเป็นศิลปินที่ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษาและทดลองอย่างไม่หยุดนิ่ง แม้แต่ตอนอายุ 90 ปี เขายัง หันมาเรียนภาษาอารบิก ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะและอารยธรรมแห่งคาบสมุทรอาหรับ นับแต่ช่วงต้นของงาน ศิลปะเขาใส่ใจศึกษาทั้งศิลปะอินเดียและตะวันตก ในแง่มรดกศิลปะอินเดีย เขาเรียนรู้หลักสุนทรียศาสตร์เรื่อง รส (Rasa) เรื่องระยางหก (Sadanga หรือ Six Limbs of Paintings) รวมถึงลักษณะของ ‘moving focus’ หรือทัศนมิติเคลื่อนที่ ไวยากรณ์การเล่าเรื่องที่เรียบง่ายเป็นแบบแผน (schematic) ของศิลปะพื้นบ้านและชนเผ่า การใช้สีที่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์และท่วงทำนอง (lyrical) ของภาพเขียนราชปุตบางสำนัก พร้อมกันนั้นก็เปิดใจเรียนรู้ศิลปะแนวใหม่ๆ จากโลกตะวันตกที่ลามไหลเข้ามาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อาทิ แนวคิวบิสต์ เยอรมันเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ และนำมาใช้ได้อย่างไม่ขัดเขิน จนมีลีลาและไวยากรณ์ของการแสดงออกเป็นของตนเอง

ขณะเดียวกัน ฮูเซนสนใจศึกษาคัมภีร์ทางศาสนา ทั้งอิสลามและฮินดู โดยศึกษาคัมภีร์อัลกุระอานกับ Mohammad Ishaq ศึกษาคัมภีร์ภควัทคีตาและอุปนิษัท กับเพื่อนสนิท Mankeshwar เป็นนักบวชในศาสนาฮินดู ต่อมาเขายังอ่านมหากาพย์มหาภารตะและรามายณะทั้งฉบับของวัลมิกิและตุลสีทาส ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ฮูเซนเขียนภาพจากมหากาพย์รามายณะไว้กว่า 150 ภาพ ในบรรดาภาพเขียนกว่าหมื่นภาพที่เขาสร้าง สรรค์ไว้ ล้วนสะท้อนถึงความรักความชื่นชมที่เขามีต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแผ่นดินแม่ รวมถึงความหรรษาต่อชีวิตหลากรสที่ปะทะและพบเจอได้ทุกหัวถนนในอินเดีย

ในปี 1955 ฮูเซนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในศิลปินแถวหน้าของอินเดีย เขาได้รับรางวัลปัทมศรี นัยหนึ่งรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรม ต่อมาในปี 1971 เขาได้รับเชิญไปร่วมงาน Sao Paulo Biennial พร้อมกับปาลโบล ปิกัสโซ ในปี 1986 เขาได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก นอกจากนี้ฮูเซนยังมีผลงานภาพยนตร์ เช่น หนัง สั้นเรื่อง Through The Eye of A Painter ที่ได้รับรางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเบอร์ลินปี 1967 หนังยาวที่เขาอำนวยการสร้างและกำกับในวัย 85 ปี โดยมี Madhuri Dixit นักแสดงสาวดาวดังของบอลลีวูดนำแสดง คือเรื่อง Gaja Gamini หนังยาวอีกเรื่องที่เขากำกับในวัยย่าง 90 คือ Meenaxi แม้หนังยาวทั้งสองเรื่องจะไม่ทำเงินแต่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในวงกว้าง

ความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง ที่สำคัญความเป็นมุสลิมและอาจผนวก ด้วยภาพลักษณ์ของศิลปินขี้เล่นกึ่งเพลย์บอย ทำให้ฮูเซนกลายเป็นเป้านิ่ง เมื่อกระแสฮินดูชาตินิยมก่อตัวเข้มแข็ง ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 การโจมตีระลอกแรกประเดิมด้วยบทความวิพากษ์วิจารณ์ว่า ฮูเซนลบหลู่เทพเจ้าในศาสนาฮินดู พร้อมกับตีพิมพ์ภาพนู้ดของพระสรัสวดี ซึ่งเป็นสเกตช์ที่เขาวาดไว้กว่า 20 ปี ก่อน เรื่องนี้สร้างความโกรธแค้นแก่ชาวฮินดูจำนวนมาก มีการบุกเข้าทุบทำลายแกลเลอรี่ที่เก็บภาพเขียนของฮูเซน รวมทั้งการยื่นฟ้องข้อหาเขียนภาพอนาจาร และปลุกเร้า ความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนา

เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ฮูเซนกล่าวขอโทษต่อ สาธารณชนในทันที ขณะที่ศิลปินนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ศิลป์มีชื่อจำนวนมากรวมตัวกันประท้วงการกระทำของฝ่ายฮินดูขวาจัด และเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สาธารณชนร่วมใช้วิจารณญาณ ว่าอันที่จริงวิหารฮินดูที่มีชื่อแห่งเมือง Hoysala ก็มีภาพเขียนโบราณเป็นรูปพระสุรัสวดีเปลือย นั่นยังไม่ต้องพูดถึงประติมากรรมกามสูตรอันลือชื่อแห่งวิหาร Khajuraho แต่กลุ่มฮินดูขวาจัดและชาวฮินดูที่โกรธแค้นอีกมากก็ไม่พร้อมจะฟังเหตุผล แม้ว่าหลายคนก็ไม่เคยเห็นภาพสเกตช์ต้นเรื่อง

การโจมตีในทำนองเดียวกันตามมาอีกหลายระลอก โดยมีชนวนจากภาพเขียนสีดาเปลือย และภาพ เขียนโครงร่างเปลือยของผู้หญิงโผขึ้นจากแผนที่ประเทศ อินเดีย ซึ่งกรณีหลังนี้แกลเลอรี่ผู้จัดนิทรรศการถือวิสาสะ ตั้งชื่อเองว่า Mother India ก่อกระแสความโกรธแค้นที่ตามด้วยการบุกเข้าทุบทำลายแกลเลอรี่หลายแห่ง บ้านพักของฮูเซนในเมืองมุมไบ และการยื่นฟ้องข้อหาเดิมๆ แต่กระจายฟ้องในหลายหัวเมืองทั่วประเทศ รวม 99 คดี โดยมีเจตนาให้ศิลปินวัยย่าง 90 ต้องเดินทางไป ให้การต่อศาลอยู่เป็นระยะ ทุกครั้งที่ภาพเขียนของเขาเป็นกรณีขึ้นมา ฮูเซนจะกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตัดสิน หากคำตัดสิน ว่าภาพเขียนของเขาเป็นการอนาจาร ตนก็ยินดีทำลายทิ้งเสีย กระนั้นไม่มีใครฟังเสียง กระแสความเกลียดชังยังลุกลามถึงขั้นมีคนตั้งค่าหัวฮูเซนไว้ถึง 101 โครรูปี (หนึ่งโครเท่ากับสิบล้าน) อีกรายยินดีจ่ายสินจ้างเป็นทองคำหนักหนึ่งกิโลกรัม หากผู้ใดสามารถควักลูกตาและตัดหัวแม่โป้งขวาของฮูเซนมาได้

ในปี 2006 ฮูเซนตัดสินใจลี้ภัยตัวเองและครอบ ครัวไปอยู่ประเทศควาตาร์ ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์สื่อเขาไม่เคยแสดงความเคืองแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน เขามักกล่าวว่า อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเห็นต่าง เพียงแต่จะดีกว่านี้หากความเห็นต่าง จะเป็นเรื่องที่นำมาถกอภิปราย แทนที่จะกลายเป็นเหตุแห่งความรุนแรง

“กว่าห้าพันปี งานการของเราศิลปินก้าวย่างมาพร้อมกับพลังขับเคลื่อนอื่นๆ ในสังคม นี่เป็นเพียงแค่ก้าวสะดุดเล็กๆ ผมหวังว่าไม่ช้าคนรุ่นใหม่จะเบื่อหน่าย ความคิดสุดโต่งทั้งหลาย และอะไรๆ ก็จะเปลี่ยนไป ผมไม่อยากทิ้งแผ่นดินเกิด และก็ไม่ต้องการให้คนหัวเก่า เหล่านั้นถูกผลักไสจากสังคม อย่างไรเสียเราก็เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน”

แต่เมื่อไม่มีวี่แววว่าฝ่ายฮินดูขวาจัดคิดจะถอนฟ้องคดีความเหล่านั้น และไม่มีผู้นำทางการเมืองฝ่ายใด คิดเข้ามาไกล่เกลี่ย ในปี 2010 มัคบูล ฟีดา ฮูเซนมอบ หนังสือเดินทางของตนคืนแก่สถานทูตอินเดียในเมืองโดฮา ยอมรับสถานภาพผู้ลี้ภัยสากล เป็นสัญญาณบอก เลิกสัญชาติอินเดียและถอดใจที่จะมีโอกาสกลับไปเหยียบแผ่นดินเกิด

แม้ว่าควาตาร์จะยินดีมอบสัญชาติควาตารีแก่เขาโดยทันที และฮูเซนเองก็มีชีวิตสุขสบายมั่งคั่ง เขายังเขียนภาพและทำโครงการศิลปะใหญ่ๆ อยู่ไม่ว่างเว้น แต่ในใจลึกๆ ทุกคนรู้ดีว่าตราบจนวันที่เขาจากไป ฮูเซนรักและอยากกลับอินเดีย แผ่นดินที่เขาถือเป็นบ้าน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us