ทุกวันนี้ปริมาณการใช้เหล็กเบาหรือเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพมีสูงถึง 30% ทีเดียว เนื่องจากผู้ใช้เหล็กแยกไม่ออกว่า “เหล็กเบา” กับ “เหล็กคุณภาพ” ต่างกันอย่างไร? เพราะดูภายนอกก็เหมือนกัน ยกเว้นเอาไปชั่งน้ำหนักหรือมีตรามาตรฐาน มอก.หรือไม่?
ผู้ผลิตเหล็กทรงยาวคุณภาพดังเช่น บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จึงใช้แบรนด์ใหม่ “TATA TISCON” รุกตลาดโดยใช้คอนเซ็ปต์ว่า “เหล็กระดับโลกเพื่อคนไทย” ที่อาศัย รากฐานแข็งแกร่งการผลิตและการตลาดในไทย 40 ปีในธุรกิจขายเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กรูปพรรณต่างๆ ผนวกกับประสิทธิภาพความเชี่ยว ชาญและนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตเหล็กระดับมาตรฐานโลกของบริษัทแม่ ทาทา สตีล กรุ๊ปที่มีอายุเก่าแก่ 150 ปีและเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอันดับที่ 7 ของโลก เป็นจุดแข็งของแบรนด์
“ชื่อของ TATA TISCON จะเป็นแบรนด์ที่ติดอยู่กับเหล็กคุณภาพ โดยเราพร้อมจะรับผิดชอบทุกอย่างเกี่ยวกับแบรนด์ เพื่อประกันความมั่นใจเรื่องคุณภาพการผลิตและคนบริการ โดยเราจะใช้แบรนด์ TATA TISCON เป็นตัวสื่อความมั่นใจกับลูกค้าของเรา” นี่คือพันธกิจของลาภทวี เสนะวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ตั้งแต่ปี 2549 ที่ทาทา สตีลเข้ามาซื้อกิจการผลิตเหล็กทั้งสามแห่งคือ บริษัท NTS Steel Group, บริษัทเหล็กก่อสร้างสยาม และบริษัทเหล็กสยาม (2001) ขณะนั้นยังคงใช้แบรนด์เดิม “เหล็กสยาม” อยู่ เป็นที่รู้จักกันในวงการผู้ใช้เหล็ก จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จึงแจ้งเกิดแบรนด์ TATA TISCON เป็นครั้งแรก เพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์เหล็ก เช่น งานเหล็กตัดและดัดสำเร็จรูปที่เรียกว่า Cut & Bend ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ
สุนีล เซ็ท ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การตลาดและการขายกล่าว ถึง Positioning ของเหล็ก TATA TISCON ไว้ว่า “เรามองว่าความเชี่ยวชาญการผลิตระดับโลกยังไม่มีรายไหนในประเทศไทยที่ยืนอยู่จุดนี้ได้ เพราะตลอด 40 ปีที่เราอยู่ในประเทศไทย เราเข้าใจ ผู้บริโภคซึ่งช่วยนำพาให้เหล็กคุณภาพ TATA TISCON เป็นที่เชื่อมั่น และไว้วางใจของลูกค้าที่หาซื้อเหล็กนี้มาใช้ก่อสร้างบ้านอาคารสถานที่ต่างๆ”
ดังปรากฏในอาคารสถานที่สำคัญที่เป็น iconic ของกรุงเทพฯ ต่างใช้เหล็กเส้นคุณภาพนี้ เช่น สำนักงานใหญ่ธนาคาร กสิกรไทย, สะพานพระรามแปด, สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
“ต่อไปนี้เราจะมีกิจกรรมทางการตลาดที่ลงไปในตัวสินค้า และการจัดส่ง ที่ทำ label ป้ายสีเหลืองผูกตราสินค้า TATA TISCON เห็นเด่นชัดตามรถบรรทุกสินค้า รวมถึงโปสเตอร์และป้ายผ้าไวนิลแบรนด์ TATA TISCON ตามร้านค้า จุด Point of Sales ที่ตู้โชว์จะมีแค็ตตาล็อก ส่วนสื่อโฆษณาจะออกเคเบิลทีวีและวิทยุ”
ส่วนกลยุทธ์ด้านการจัดจำหน่ายแบบ “TATA TISCON is avaiable everywhere” สุนีล เซ็ทเปิดเผยว่า ครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมายหลักๆ หนึ่ง-ตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, สอง-บริษัทผู้รับเหมารายใหญ่, สาม-ผู้แทนจำหน่ายระดับภูมิภาค 5 ภาค, สี่-ผู้นำเข้าและส่งออกในอินโดจีน
“เรามั่นใจว่าการจัดส่งสินค้าจากแหล่งผลิตซึ่งกระจายไปสามโรงงาน คือ ระยอง ชลบุรี และสระบุรี จะครอบคลุมการส่งสินค้าให้ได้ภายในเจ็ดวัน ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าสินค้าจะขาดตลาด หรือส่งช้า” สุนีลเล่าใหัฟัง
ในปัจจุบันทาทา สตีล (ประเทศไทย) ถือเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่มีกำลังผลิต 1.7 ล้านตัน ที่ผลิตจากวัตถุดิบเช่นสินแร่เหล็ก และเศษเหล็กในประเทศเป็นหลัก ต้นทุนตกประมาณ 14 บาท/กก. ขณะที่เศษเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งขึ้นลงตามตลาดโลก
นอกจากนี้ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ยังลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทในโครงการ Mini Blast Furnace เพื่อเพิ่มกำลังผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่เกิดจาก “น้ำเหล็กดิบ” ผ่านเตาหลอมระบบ Blast Furnace ที่ทำให้เหล็กบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปนออกมาเป็นเหล็กบิลเล็ตเกรดคุณภาพสูงมาก
“เราคาดหวังว่าจะขยายกำลังผลิตจาก 1.7 ล้านตันไป 3 ล้านตันได้ภายในปี 2015 แต่เมื่อปัญหาเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปยังมีอยู่ เราก็จะไม่ลงทุนมากนัก แต่สำหรับในไทยปีต่อปีเราคาดว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะขยาย 4-5% และปริมาณการใช้เหล็กน่าจะโตไปได้ถึง 8-9% เราจึงต้องรักษาความเป็นผู้นำตลาดเหล็กนี้ไว้”
|