รายได้ของ บลจ.ซีพี ออลล์ ที่แตะกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการสินค้าภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้เป็นอย่างดี
บมจ.ซีพี ออลล์เปิดเผยตัวเลขของผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 ว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 76,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.3 และมีกำไร 4,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 จากไตรมาสสอง ปีนี้มีรายได้รวม 40,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 และมีกำไร 2,170 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.6
การเติบโตของซีพี ออลล์ได้แสดงผลให้เห็นผ่านรายได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 2552 มีรายได้ 115,285 ล้านบาท และมีกำไร 4,597 ล้านบาท ปี 2553 มีรายได้ 138,565 ล้านบาท กำไร 6,143 ล้านบาท
รายได้ 1 แสนล้านในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาสะท้อน ให้เห็นว่า ซีพี ออลล์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอ้างว่าจะรักษาระดับการเติบโตร้อยละ 15 ต่อไป
การเจริญเติบโตของรายได้จะสอดคล้องไปกับแผนธุรกิจที่ได้วางเป้าหมายจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 7,000 แห่ง ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2556) หรือเฉลี่ยเพิ่ม 500 แห่งต่อปี จากปัจจุบันที่มีสาขา 6,086 แห่ง
นอกจากการเพิ่มปริมาณสาขาแล้ว การบริหารจัดการสินค้า ภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักสำคัญ โดยจะมุ่งเน้นสินค้าที่เป็นอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม มากกว่าสินค้าอุปโภค
เพราะจากการทดลองตลาดมา 4-5 ปี บริษัทได้นำเบเกอรี่ และอาหารสุขภาพ รวมถึงน้ำผลไม้ปั่นและกาแฟปั่น ซึ่งพบว่าสามารถทำกำไรได้ถึงร้อยละ 30 ในขณะที่สินค้าอุปโภคมีกำไรร้อยละ 10 เท่านั้น
ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า เมนูอาหารกล่องแช่เย็นพร้อมรับประทาน (Chilled Food) เช่น แซนด์วิชอบร้อน และอาหารกล่อง เป็นตลาดที่ใหญ่ และเริ่มได้รับความนิยมเหมือนอาหารกล่องพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Frozen Food)
แต่อาหารกล่องแช่เย็นในอุณหภูมิ 4-5 องศา จะคงรสชาติ ได้ดี และเบเกอรี่ที่ใช้วิธีการอบเหมือนประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีกลิ่น หอม ขณะนี้ได้เปิดเพียง 40-50 สาขาเท่านั้น คาดว่าจะขยายเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้
กำไรที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทจัดหมวดสินค้าระหว่างรับประทาน และสินค้าเพื่อใช้ มีสัดส่วน 73:26 เป็นแนวโน้มอาหารพร้อมรับประทานจะเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า
หากสัดส่วนของสินค้าเซเว่นอีเลฟเว่นเน้นสินค้าอุปโภค ย่อมส่งผลถึงรายได้ของกลุ่มซีพีได้เป็นอย่างดี เพราะบริษัทแม่ในฐานะผู้ผลิตอาหารหมู ไก่ ไข่ ปลา และแปรรูปเข้าสู่ร้านค้าเซเว่น อีเลฟเว่นสามารถเชื่อมโยงธุรกิจในเครือและก่อให้เกิดกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร
การมองหาโอกาสใหม่ๆ ของบริษัทไม่ได้หยุดให้ลูกค้าเดิน เข้ามาซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตอันใกล้บริษัทจะขาย สินค้าอิงไปกับเทคโนโลยีออนไลน์ หรือเทคโนโลยี 3G ที่ทำให้การสื่อสารรวดเร็ว
แผนธุรกิจในอีก 1-2 ปีข้างหน้าของบริษัท ก็คือ การทำธุรกิจ B to C การซื้อ-ขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า โดยบริษัทจะทำแค็ตตาล็อกสินค้านำขึ้นไปไว้บนอินเทอร์เน็ตและเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า สามารถมารับสินค้าได้ที่ร้านภายในระยะเวลา ที่กำหนด
สินค้าไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าบริษัทเป็นผู้ขาย แต่ผู้ค้าที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งบริการในรูปแบบนี้เพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่ใช้บริการออนไลน์
แม้ว่าผู้บริหารจะไม่บอกว่าจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่จากปริมาณลูกค้าที่เข้าร้านเซเว่น 7 ล้านคนต่อวัน หรือเข้ามา ซื้อสินค้า 1,250 คนต่อวันต่อสาขา ทำให้บริษัทแสวงหาโอกาสที่มีอีกมากมาย
|