Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2529
"บุญชู"-"ศุภชัย" ดวลฝีปากกลางสภา             
 


   
search resources

ศุภชัย พานิชภักดิ์
Economics
บุญชู โรจนเสถียร




4 กันยายน 2529 ภายในอัครสถานอันทรงเกียรติแห่งรัฐสภาวันนั้นเป็นวันนัดประชุมของเหล่า ส.ส. 347 คน ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาได้เพียงเดือนเศษ ๆ เช่นเดียวกับรัฐบาลเปรม 5 ก็คลอดออกมาเป็นตัวเป็นตนได้ไม่ครบเดือนดี

แต่นัดหมายวันนั้น ต้องนับเนื่องว่าสำคัญทีเดียว เนื่องจากเรื่องเก่า ๆ ต้องนำกลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สิ่งที่เรียกว่า "พระราชกำหนด 7 ฉบับ" ที่ยังคั่งค้างการอนุมัติให้ออกมาบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติตามกระบวนการนิติบัญญัติ ได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร

คงจำได้ว่า เดิมทีนั้นพระราชกำหนดดังกล่าวมีด้วยกัน 8 ฉบับ แต่มีอันถูกคว่ำข้าวเม่าโดยฝ่ายค้านไปเสียก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้ป๋าเปรมยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งนี้ในจำนวน พ.ร.ก. ทั้งหมดมีอยู่เพียง 3 ฉบับที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ มีเสียงวิจารณ์ค่อนแคะกันหลายระลอกแล้ว โดยเฉพาะสุ่มเสียงที่โอดโอยมาจากนายแบงก์ทั้งหลาย สาเหตุก็เพราะ พ.ร.ก. สำคัญทั้งสามฉบับนี้เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินโดยตรง

หนึ่งในนั้นว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์…หนึ่งนั้นเป็นเรื่อง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์…และหนึ่งสุดท้ายเป็น พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย

อันที่จริงพระราชกำหนดที่เหลืออีก 4 ฉบับนั้น เกือบทั้งหมดข้องเกี่ยวในเรื่องการเงินการคลังของประเทศ ไหนจะเรื่องพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ไหนจะปรับปรุงโครงสร้างเงินกู้ต่างประเทศ แล้วก็เรื่องของประมวลรัษฎากร ดังนั้นภาระหนักในการชี้แจงแถลงไขถึงที่มาและที่ไปของ พ.ร.ก. เหล่านี้จึงตกอยู่กับเจ้ากระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยฯ ซึ่งเตรียมตัวกันมาขึ้นเขียงของฝ่ายค้านอย่างเต็มที่

สุธี สิงเสน่ห์ และ ศุภชัย พานิชภักดิ์ นั่งเคียงกันอยู่ปีกซ้ายของที่นั่งคณะรัฐมนตรี แถวถัดลงมาจากแถวที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีนั่ง สองคนนี้ในสายตานักสังเกตการณ์ทั่วไปมักถือเป็น "คู่หู" ที่ไม่ "พลิกล็อก" ตรงกันข้ามต้องเรียกว่าทำงานเข้าแข้งเข้าขากันดียิ่งประหนึ่งปาท่องโก๋ที่ต้องอยู่ติดกัน ขืนแยกออกมาก็ไม่เรียกปาท่องโก๋ ยังไงยังงั้น

ผู้แทนปากตะไกบางคน ถึงได้ค่อนขอดเป็นระยะ ๆ ว่า "ศิษย์อาจารย์คู่นี้รักใคร่กันดี"

ตัดฉับกลับมาแถวนั่งของพรรคฝ่ายค้านมุมขวา ดาวจรัสแสงดวงใหม่เอกเขนกรอท่าอยู่แล้ว เพราะได้รับการมอบหมายให้เป็นตัวหลักในการอภิปรายซักไซ้รัฐบาล ด้วยความที่มีภูมิรู้ทางเศรษฐกิจดีที่สุดคนหนึ่ง อย่างน้อย ๆ ก็เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในสมัยเปรม 1 มาแล้ว และฉายาของเจ้าตัว ใคร ๆ ก็เรียก "ซาร์เศรษฐกิจ" -บุญชู โรจนเสถียร หัวหน้าพรรคกิจประชาคม คือ ดาวเด่นของฝ่ายค้านในวันนั้น

ตลอดการอภิปรายในสภา พูดได้เลยว่าผูกขาดกันอยู่เพียงสองสามคน ซึ่งจัดเป็นมวยคู่เอก ผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตั้งแต่ตอนเช้า พอตกบ่ายก็ยิ่งดุเดือดเผ็ดมัน เมื่อ พ.ร.ก. แบงก์ 3 ฉบับนั้นถึงคิวฆ่า เหตุผลที่การอภิปรายจำกัดอยู่เพียงไม่กี่คนนี้ อธิบายได้ง่ายนิดเดียวว่า คนที่มีความรู้ในเรื่องการเงินการคลังชนิดถึงรากถึงแก่นจริง ๆ ในสภาฯ มีไม่มากนัก การอภิปรายนัดนี้จึงอิ่มด้วยสาระและคุณค่าจริง ๆ

ส.ส. รายอื่นที่ลุกขึ้นมาสลับฉากประปรายส่วนใหญ่ก็พูดตามแบบฉบับของผู้แทน ที่มีแต่น้ำมากกว่าเนื้อ ความเห็นมากกว่าข้อมูล และหาเสียงมากกว่าหลักการ อย่าว่าแต่เรื่องนี้เลย ขณะที่มีการอภิปรายปัญหาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศชาติอยู่นั้น ส.ส.หลายคนแทนที่ไม่รู้เรื่องจะนั่งฟังเพื่อให้รู้เรื่องต่อไป กลับหลบฉากอยู่ในห้องพักหลังห้องประชุม จะโผล่ออกมาพร้อมฝักถั่วสลอนก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงออดกดเรียกลงมติแล้วเท่านั้น

อย่าให้ต้องเอ่ยเลยว่า ส.ส. ที่น่ารักของประชาชนเหล่านั้นมีใครบ้าง ประเดี๋ยวจะเสียน้ำใจกันเปล่าๆ เอาเป็นว่าพวกเขามาประชุมกันวันนี้เพื่อยกมือให้รัฐบาลลูกเดียว

รัฐมนตรีสุธีนั้น ส่วนใหญ่จะตอบในเรื่องของภาษีและงบประมาณรายรับรายจ่าย ส่วน ดร. ศุภชัย ผู้ศิษย์นั้นมักว่าถึงปัญหาเกี่ยวกับ พ.ร.ก. แบงก์ 3 ฉบับนั้น และเบื้องหลังความอร่อยก็อยู่ตรงนี้ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็นการปะทะคารมและเหตุผลซึ่ง ๆ หน้า ระหว่างนักบริหารเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศสองคนนี้ แม้อีกคนจะเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม

รัฐมนตรีศุภชัย นับเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะฝีเท้าเร็วมากบนถนนการเมืองครั้งแรกของตน ผ่านสนามเลือกตั้งเขต 8 กทม. มาได้อย่างน่าพิศวง ด้วยเป็นเพียง ปชป. คนเดียว ในขณะที่เพื่อร่วมพรรคอีกสองคนสอบตก ยิ่งกว่านั้นทันทีที่ได้เป็น ส.ส. สมัยแรก ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็เนื่องมาจากความสามารถอันเป็นที่ยอมรับนั่นเอง

อาจารย์ศุภชัยเหมาะสมที่สุดที่จะตอบเรื่องของ พ.ร.ก. แบงก์ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ครั้งที่ยังทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยในรัฐบาลชุดที่แล้ว ก่อนลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาสาธยายโดยสรุปว่า เหตุผลที่รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมนั้น ก็เพราะมาตรการในการควบคุมกำกับแบงก์ทั้งหลายยังไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป

ถึงได้เกิดสถานการณ์ "วิกฤตแบงก์ล้ม" อย่างน้อยก็สองแห่ง และความระส่ำระสายในหมู่ทรัสต์และเครดิตฟองซิเอร์ ในช่วงระยะ 2-3 ปีมานี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจบางอย่างให้กับแบงก์ชาติมากขึ้น

ฝ่ายบุญชูลุกขึ้นโต้แย้งว่า รัฐบาลมักเรียกร้องอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ จนกลายเป็นการรอนสิทธิส่วนบุคคลมากเกินความจำเป็น และไม่สมเหตุสมผล ปัญหาจึงอยู่ที่ "สมควรที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีสิทธิอำนาจมากขึ้นกว่าเดิมจริงหรือ" อดีตซาร์เศรษฐกิจตั้งข้อสงสัยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ อำนาจที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. แบงก์พาณิชย์เดิมนั้นก็มากพอที่จะควบคุมทุกธนาคารให้อยู่ในร่องในรอยอยู่แล้ว บุญชูย้ำ

"ความผิดต่าง ๆ (ที่ทางแบงก์นำสินเชื่อไปปล่อยกู้ในหมู่พวกพ้องเดียวกัน จนกิจการมีอันต้องล้มลง) เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าเกิดมานานแล้วและสะสมกันมานานจนเหลือแก้ไข จะถือได้หรือไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเองละเลยต่อหน้าที่ในการนำความจริงทั้งหลายมาแสดง และความผิดก็พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ"

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะนักบัญชีด้วยกันเหมือนผม คงยอมรับความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนทำให้ทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ มีค่าน้อยกว่าหนี้สินนั้น การตรวจสอบทางบัญชีจะต้องรู้และตรวจพบแล้ว" บุญชู โรจนเสถียร กะแนะกะแหนพาดพิงถึงรัฐมนตรีสุธี

แต่ ดร. ศุภชัยก็ศอกกลับได้ถึงลูกถึงคนโดยปฏิเสธว่า การให้อำนาจแก่แบงก์ชาติเพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นโดยไม่จำกัด จริงอยู่ที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เป็นประชาชน หากทว่าผู้ฝากเงินอีกหลายหมื่นหลายแสนคนก็เป็นประชาชนเช่นเดียวกัน การเพิ่มอำนาจครั้งนี้จึงเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้ฝากเงิน (ที่จะไม่ถูกผู้บริหารแบงก์เอาเงินฝากจำนวนมหาศาลไปปู้ยี่ปู้ยำเพื่อประโยชน์ส่วนตน)

บุญชูเสนอกลับว่า แม้ฐานะของสถาบันการเงินที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมนั้นจะกระเตื้องขึ้นมาแล้ว แต่ผลของการลดทุนก็กระทบไปถึงผู้ถือหุ้นจำนวนมากที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเลย "จู่ ๆ ราคาหุ้น 100 บาทบอกว่าเหลือแค่ 5 บาทเท่านั้น เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมืออย่างนี้ ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน" พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลังตอบให้กระจ่างว่า ความผิดของแบงก์พาณิชย์นั้นมีขึ้นเมื่อไหร่ และกฎหมายเดิมแก้ไขไม่ได้ผลเป็นอย่างไรแน่ ถ้าชี้แจงแล้วผมถึงให้ (ผ่าน) ได้

ข้างรัฐบาลไม่ได้สนองความประสงค์ของหัวหน้าพรรคกิจประชาคมเสียทีเดียว ดร. ศุภชัย กล่าวสั้น ๆ เพียงว่า "ได้ทำตามขั้นตอนมาแล้ว แต่เนื่องจากขาดพื้นฐานทางกฎหมายจึงไม่ได้ผล" จากนั้นก็มีการโหวตและผลก็เป็นดังคาดหมาย พ.ร.ก. แบงก์ฉบับแรกผ่านโลด 157 ต่อ 34 โดยที่ตัวบุญชูเองกลับงดออกเสียง ราวกับว่าพอใจในคำชี้แจงของรัฐบาลอยู่บ้าง

อดีตซาร์เศรษฐกิจยังครองเวทีอภิปรายในนามฝ่ายค้านต่อไป ใน พ.ร.ก. ว่าด้วยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์โดยหยิกยกกรณี "โครงการ 4 เมษาฯ" ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปโอบอุ้มบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาการเงิน 25 บริษัท ด้วยสินเชื่อแบบ "ซอฟท์โลน" จำนวนกว่า 3 พันล้านบาท หรือที่บุญชูเรียกว่า "กู้แบบนุ่ม ๆ นิ่ม ๆ" เพราะเสียดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 1

ในขณะที่เงินก้อนดังกล่าว ทางทรัสต์นำกลับมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ดอกถึง 9% สบายแฮไป ไม่ต่างจากอัฐยายซื้อขนมยายนั่นแหละ หัวหน้าพรรคกิจประชาคมจึงตั้งข้อสงสัยว่า ผลต่างระหว่างดอกเบี้ยสองส่วนนี้ ธนาคารชาติเสียสละไปให้แก่บริษัทเหล่านั้น แทนที่จะเป็นรายได้ของแผ่นดินถือเป็นการสมควรหรือไม่ และการเข้าไปช่วยเหลือ 25 บริษัทดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจตรงไหน หรือช่วยเพิ่มการลงทุนแขนงใดกัน

"ขณะนี้บริษัททั้งหมดที่แบงก์ชาติเข้าไปดูแลอยู่มีกำไรหรือขาดทุน และการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการถือหุ้นเกินกว่า 50% ขึ้นไป ฐานะบริษัทเหล่านี้จะถือเป็นรัฐวิสาหกิจไปในตัวใช่หรือไม่ แล้วรัฐยังต้องรับภาระต่อไปอีกเท่าไหร่…คนบริหาร(ชุดใหม่) ที่ไปจากกระทรวงการคลังและธนาคารชาติ 6-70 คน เคยมีหน้าที่ควบคุมสถาบันการเงินมาแต่เดิม แต่ก่อนมีการแถลงบ่อย แต่พอพวกตัวเข้าไปทำเองกลับเงียบหายไป ผมไม่ทราบว่าเพราะอะไร" บุญชูซัดหมัดเป็นชุด

วาระนี้รัฐมนตรีสุธีเป็นผู้ตอบชี้แจงว่า เงินจำนวน 3,200 ล้านบาทที่เป็นซอฟท์โลนให้แก่ 25 บริษัทดังกล่าวนั้นไม่ใช่ให้เฉย ๆ แต่จะคืนกลับมายังรัฐบาลเมื่อบริษัทเหล่านั้นมีฐานะดีขึ้น และตามกฎหมายที่จะให้กู้ธนาคารชาติได้นั้นต้องมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักประกันเงินกู้ ส่วนสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นตามมติ ครม. เพื่อความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลในช่วงที่กระทรวงการคลังเข้าไปกู้ฐานะบริษัทเหล่านั้น ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาพขาดทุนอยู่บ้าง

"แต่ก็มี 4-5 บริษัทเริ่มมีผลกำไรแล้ว" รัฐมนตรีสุธียืนยันและย้ำว่า กระทรวงการคลังไม่ต้องการเอาไว้กับตัวนาน จนดูประหนึ่งว่าอยากมีบริษัทเงินทุนของตัวเอง จึงพยายามเร่งรัดฟื้นฟูให้เสร็จสิ้นแล้วโอนคืนให้แก่เจ้าของเดิมโดยเร็ว (ตามโครงการเรือช่วยชีวิต 4 เมษาฯ นี้มีระยะเวลา 5 ปีเต็ม ซึ่งขณะนี้ผ่านไปได้สองปีแล้ว) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 บริษัทที่อยู่ในฐานะพอที่จะโอนคืนเจ้าของเดิมได้แล้ว อย่างช้าภายในสิ้นปีนี้

ออดดังขึ้นเพื่อขอมติที่ประชุม ส.ส. หลายคนก็กรูกันออกมาจากห้องพักตามฟอร์ม แล้วผลก็คือ 136 ต่อ 38 หนนี้บุญชูยกมือค้าน เช่นเดียวกับวาระสุดท้าย-พ.ร.ก. ว่าด้วยแบงก์ชาติ ดร. ศุภชัยชี้แจงเสร็จไม่มีใครขออภิปราย แม้แต่บุญชูเองก็เงียบเฉย แล้วในที่สุดก็ลงมติด้วยเวลาอันรวดเร็ว 137 ต่อ 12 สักพักอตีดซาร์เศรษฐกิจในชุดพระราชทานสีครีมก็หิ้วกระเป๋าเอกสารเดินทอดน่องลงมายังใต้ถุนรัฐสภา

กับคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าทำไมจึงไม่อภิปรายในเรื่อง พ.ร.ก. แบงก์ชาติ เป็นเพราะอภิปรายไปก็เท่านั้นหรือไร บุญชูยิ้มที่มุมปากก่อนตอบว่า "ไม่ใช่ เพราะอภิปรายก็เท่านั้นหรอก แต่มันเซ็ง" แล้วก็เดินลิ่วออกพ้นธรณีประตูรัฐสภาไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us