โรงพยาบาลแห่งนี้เริ่มต้นด้วยความยากลำบาก ขาดเงินทุน ทำเลที่ตั้งไม่ใช่ย่านชุมชนหากแต่เป็นท้องทุ่งชานกรุงเทพฯ
แต่ก็มีแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ มีความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวในการพัฒนาคนและเครื่องมือทางการแพทย์
อย่างไม่หยุดนิ่ง และสิ่งนี้จริง ๆ ที่ทำให้ผงาดขึ้นมาให้บริการคนไข้ได้อย่างน่าเลื่อมใส
ประเทศไทยในทุกวันนี้มีอัตราการเกิดที่ลดลงอันเป็นผลจากการรณรงค์คุมกำเนิดอย่างกว้างขวา
และค่อนข้างจะได้ผลแต่ตัวเลขจำนวนประชากรก็ไม่ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่อยู่ในวัยกำลังทำงาน
สาเหตุนั้นน่าจะมาจากหลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะประการสำคัญก็คือวิทยาการทางด้านการแพทย์ของเรา
ได้พัฒนาถึงขั้นสามารถรักษาชีวิตผู้เจ็บป่วยได้สูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด
แพทย์ไทยนั้นฝีมือไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแพทย์ในประเทศอื่น ๆ หรือจะเหนือชั้นกว่าเสียอีก
และถ้าขีดความสามารถในการช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยประกอบด้วยความสามารถของแพทย์บอกกับเครื่องทางการแพทย์ที่ทันสมัยแล้ว
การพัฒนาขีดความสามารถในแง่ของความพร้อมทางเครื่องไม้เครื่องมือก็นับว่ารุดหน้าไปพอสมควรหากมองโดยภาพกว้าง
ๆ
หรือรุดหน้าเอามาก ๆ เมื่อมองที่จุดใดจุดหนึ่ง
โรงพยาบาลสยามที่ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว ก็คงจะเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดตัวอย่างหนึ่ง
เมื่อโรงพยาบาลนี้เกิดขึ้นใหม่ ๆ คงไม่มีใครคิดหรอกว่า ที่นี่จะกลายเป็นผู้นำทางด้านเครื่องมือแพทย์ที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยี
เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ขนาดโรงพยาบาลรัฐที่มีเงินสนับสนุนและเป็นแหล่งฝึกแพทย์พยาบาลยังพัฒนาเรื่องการมีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยได้อย่างเชื่องช้าแล้ว
โรงพยาบาลเอกชนที่ทุนจำกัดกว่าจะสามารถทำได้อย่างไรกัน?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลสยามก็ไม่ใช่โรงพยาบาลของนายทุนที่มีเงินมากมายมหาศาลเสียอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เหตุผลนี้มีข้อโต้แย้งได้ประการหนึ่ง
นั่นคือความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวของคน
คน ๆ นี้ชื่อนายแพทย์รัศมี วรรณิสสร ประธานกรรมการบริษัทแพทย์สยามซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลสยาม
โรงพยาบาลสยามมีชื่อเสียงในความเป็นผู้นำจนทุกวันนี้ได้เพราะความเด็ดเดี่ยวของนายแพทย์รัศมีโดยแท้
นายแพทย์รัศมี วรรณณิสสร จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เมื่อปี 2497
ได้เกียรตินิยมเหรียญทอง และได้ดีกรี Dr. MED., MAGNA CLAUDE. FACHARZT.
F. NEUROLOGIE
เดิมนั้นรับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ และได้ร่วมหุ้นกับเพื่อน ๆ และญาติก่อตั้งโรงพยาบาลสยามขึ้นเมื่อปี
2515 บนสถานที่ตั้งปากซอยโชคชัย 4 ที่ขณะนั้นยังเป็นท้องทุ่งเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นหลายแห่ง เปาโล พร้อมมิตรและโรงพยาบาลกรุงเทพ
เป็นต้น
มีบางแห่งอย่างเช่นโรงพยาบาลมุสลิมเกิดขึ้นมาแล้วก็ปิดตัวเองไปเพราะทนขาดทุนไม่ไหวเช่นเดียวกับอีกหลายแห่ง
นายแพทย์รัศมีเคยกล่าวว่า การหาทุนมาเพื่อดำเนินกิจการนั้นเป็นเรื่องเจ็บปวดและขมขื่นที่สุด
ทำให้รู้รสชาติของการเป็นนักลงทุนและนักบุกเบิกอย่างถึงแก่น
"พอสร้างเสร็จยังติดหนี้เขาอยู่ แต่หลักการและความเชื่อตอนนั้นก็คิดว่าเรามีฝีมืออยู่ที่ไหนคนเขาต้องมาหาจนพบ
พอสร้างตึกเสร็จ 6 ชั้นใช้งานเพียง 2 ชั้นมี 25 เตียง ตั้งอยู่กลางป่า ภายใน
3 เดือนคนไข้เต็ม..." นายแพทย์รัศมีเล่า
โรงพยาบาลสยามเปิดประตูบริการคนไข้วันแรกวันที่ 9 มกราคม 2515 ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ปรากฏว่าได้รับความนิยมเชื่อถือจากชาวบ้านโดยตลอด ขึ้นปี 2516 จำนวนเตียงผู้ป่วยก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวคือจาก
25 เตียงเป็น 50 เตียง
ปี 2518 กระโดดไปเรื่อย ๆ จนมีเตียงถึง 150 เตียง อาคารทุกชั้นเสร็จสิ้นและตบแต่งโดยสมบูรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ได้มาตรฐานพร้อม
ๆ กับท้องทุ่งที่เวิ้งว่างค่อย ๆ กลายเป็นชุมชนตามลำดับ
ขณะนั้นโรงพยาบาลสยามมีความเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก ๆ ในเรื่องการตรวจรักษาที่เกี่ยวกับสมอง
และปี 2519 เป็นปีที่โรงพยาบาลสยามเริ่มดังเป็นพลุ
เพราะเป็นปีที่โรงพยาบาลตัดสินใจซื้อเครื่องตรวจสมองคอมพิวเตอร์โทโมกราฟ
(COMPUTER TOMTOGRAPH) หรือ CT เข้ามาติดตั้งเป็นเครื่องแรกของประเทศไทยมูลค่า
10 ล้านบาท เปิดศักราชความเป็นโรงพยาบาลที่นอกจากจะประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว
เครื่องไม้เครื่องมือก็ทันสมัยเทียมหน้าเทียมตาประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งนั่นก็อาจจะยังไม่สำคัญเท่ากับที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้เป็นจำนวนมาก
"เป็นเครื่องที่ดีที่สุดขณะนั้น เราได้มาเป็นเครื่องที่ 4 ของโลก
คือ 2 เครื่องไปสหรัฐฯ เครื่องที่ 3 ใช้ในอังกฤษ เราเป็นเครื่องที่ 4 เป็นของอีเอ็มไอ..."
นายแพทย์รัศมีพูดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจสมองเครื่องแรกของโรงพยาบาลและไม่ลืมที่จะบอกด้วยว่า
"ผมตัดสินใจซื้อโดยไม่มีเงินเลย เราก็ต้องหาทุน ผมก็ออกหุ้นกู้ 10 ล้านบาทอัตราผลตอบแทนร้อยละ
1 ต่อเดือน"
ซึ่งนี่แหละที่ต้องนับว่าเป็นความเด็ดเดี่ยวของผู้มีสายตายาวไกลจริง ๆ
"ซีที นี่เป็นเพราะเราบุกตลาดครั้งแรกคนอื่นกำลังงงอยู่ เราเลยลืมตาอ้าปากได้"
นายแพทย์รัศมีสรุปที่มาแห่งความสำเร็จขั้นแรก
แล้วเครื่องตรวจสมองเครื่องที่ 2 ซึ่งทรงประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแรกก็ตามเข้ามาในปี
2525 "ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นเห็นเข้าแต่ไม่รู้เมืองไทยใครเป็นเอเยนต์ ก็ไม่รู้จะถามใคร
ต่อมาถึงได้ทราบว่าเป็นบริษัทวิทยาคม" นายแพทย์รัศมีกล่าว
เครื่องที่ว่านี้เป็นของฮิตาชิ ซึ่งผู้มีประสบการณ์อย่างนายแพทย์รัศมียอมรับว่า
"ภาพสวยดีกว่าอีเอ็มไอมาก ขณะนี้ก็ยังสวยดีอยู่ และฮิตาชิเท่าที่คบเขา
ซินเซียจริ งๆ ราคาเท่าไหร่นั้น ไม่เสียบอกไม่เสีย อันนี้เป็นหัวใจของการบริการหลังการขาย..."
ก็แน่นอนที่ทำให้โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยใช้เหตุอันอาจจะเกิดจากลูกเล่นของคนขาย
ซึ่งก็จะมีผลไปกระทบค่าใช้จ่ายของคนไข้ ที่โรงพยาบาลเองก็ไม่ต้องการให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่สมเหตุสมผลขึ้น
"เรื่องเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนมันก็โดนกันเกือบทุกแห่งละครับ
แต่ประการสำคัญ บริการที่ให้มันดีและเหมาะสมกับที่เขาต้องจ่ายออกไปหรือไม่มากกว่า..."
ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
และจะเชื่อหรือไม่ สำหรับโรงพยาบาลสยามนั้นรายได้ที่เป็นกำไรส่วนหนึ่งแทนที่จะนำความมั่นคงไปสู่ใครคนใดคนหนึ่ง
กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ดูเหมือนเครื่องมือใหม่
ๆ ที่จะช่วยในการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคต่างเดินหน้าเข้าติดตั้งที่นี่ไม่ขาดสาย
"คุณหมอท่านเป็นคนที่ตั้งเข็มในเรื่องนี้ชัดเจนมาก มีอะไรใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ท่านจะไม่รั้งรอเลย..."
ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทวิทยาคมตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจสอบสมองของฮิตาชิ
กล่าวถึงนายแพทย์รัศมีบ้าง
ในปี 2527 ก็เลยเป็นปีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจสอบสมองของฮิตาชิเครื่องที่
3 ถูกนำเข้ามาติดตั้งอีกเครื่อง คราวนี้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น คือนอกจากตรวจสมองแล้วก็ยังตรวจอวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้ด้วย
เครื่องดังกล่าวนี้ราคา 20 ล้านบาท
พร้อม ๆ กับการก้าวรุดหน้าของกิจการที่กลายเป็นสถาบันทางด้านสมองไปแล้ว
ล่าสุดที่คงจะทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้สมบูรณ์อย่างไม่มีที่ติก็เห็นจะได้แก่การตัดสินใจลงทุนเป็นเงินถึง
30 ล้านบาทสั่งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับตรวจระบบหลอดเลือดเข้ามาติดตั้งบริการคนไข้
ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านี้
แน่นอน นี่ไม่ใช่การก้าวที่ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
โรงพยาบาลแห่งนี้ยังจะก้าวออกไปอีกเรื่อย ๆ เพราะความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวที่จะพัฒนาคุณภาพของบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือของที่นี่ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม