"เส่งซิม เส่งอี่" อ่านได้จากหนังสือจีนสี่ตัวมีความหมายว่า "จริงใจต่อกัน"
ถาวร พรประภา เมื่อหนุ่มๆ เดินทางไปเจรจากับผู้บริหารบริษัทนิสสันมอเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่นเขายังไม่รู้ภาษาอังกฤษจึงต้องอาศัย
เฉลิม เชี่ยวสกุล เป็นล่ามให้ การเจรจาของถาวรนั้นเขาได้ช่วยเปิดประตูการค้าต่างประเทศให้กับนิสสันมอเตอร์ด้วยการส่งรถจำนวน
60 คันเข้ามาขายในประเทศไทย
ประเทศไทยก้เลยเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกของนิสสันและถาวร พรประภา คือคนแรกที่ช่วยบุกเบิกให้
การเจรจาการค้าครั้งนั้นถาวร พรประภา เขียนหนังสือจีนสี่ตัว "เส่งซิม
เส่งอี่" ให้กับนิสสัน และถาวรบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามกลการของเขากับนิสสันล้วนตั้งอยู่บนหลักการ
"จริงใจต่อกัน" นี้โดยตลอดอีกทั้งยังเป็นหลักการสำคัญระหว่างตัวเขากับคู่ค้าทุกๆ
ราย ด้วย เขาบอกอีกว่าหกจะประเมินความสำเร็จของเขาต้องประเมินจากหลักการนี้เป็นพื้นฐาน
เขาไม่ได้พูดว่าถ้าพ้นจากเขาแล้ว หลักการนี้จะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่?
ถ้าฝ่ายหนึ่งยึดถืออีกฝ่ายกลับไม่ยึดจะเกิดผลเยี่ยงไร?
และถาวรคงไม่พูดว่าหากต้องพากันล่มจมทั้งสองฝ่ายแล้วหลักการนี้จะยังใช้ได้อยู่ตลอดไป?
"มีหลายคนถามผมอย่างเป็นห่วงทำธุรกิจกับญี่ปุ่นมากมายเช่นนี้ มิกลัวถูกญี่ปุ่นยึดหรือ
เพราะเห็นตัวอย่างมามาก ผมบอก ผมโชคดีที่ทำการค้าพบแต่คนดีๆ มีความจริงใจต่อกัน
ล้วนเห็นสายน้ำคำนึงถึงต้นน้ำทุกราย" ถาวรพูดเพียงความโชคดีที่น่าอิจฉาสำหรับยุคนี้ของเขาซึ่งก็ไม่ผิด
เนื่องเพราะประสบการณ์ความสำเร็จของถาวรนั้น นอกจากความเก่งกาจสามารถแล้วก็ยังมีส่วนผสมของความโชคดีอยู่ไม่น้อยจริงๆ
จะว่าไปแล้วถาวรเริ่มโชคดีตั้งแต่ที่เกิดเป็นลูกชายคนที่สามมิใช่ลูกชายคนโตของพ่อ-ไต้ล้งกับแม่-เช็งเจ้าของกิจการค้าของเก่าย่านเชียงกงด้วยซ้ำ?!
ถาวรนั้นมีชื่อเดิมเป็นจีนว่า "เกียง" ซึ่งหากจะถอดความก็จะตรงกับชื่อไทยของเขา
ถาวรเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2459 มีพี่น้องคลานตามกันมา 8 คน สินธ์เป็นพี่ชายคนโต
พี่ชายคนที่ 2 เสียชีวิตเมื่อยังเล็ก ตัวเขา ไพโรจน์ ปรีชา พรรณี (จรัญวาศน์)
ปริญญาและนิภา (จรัญวาศน์) เป็นน้องสาวคนสุดท้อง
พ่อแม่ของถาวรมีร้านชื่อ "ตั้งท่งฮวด" เป็นร้านขายของเก่าจำพวกเครื่องเหล็ก
เมื่อเขาลืมตาดูโลกกิจการยังเล็กๆ ต้องปากกัดตีนถีบพอสมควร "สภาพภายในร้านคับแคบ
เต็มไปด้วยสินค้าที่เป็นของเก่า แม้แต่ชั้นบนก็เต็มไปด้วยสินค้า มีห้องนอนสำหรับผู้ใหญ่
แต่สำหรับเด็กๆ และคนอื่นในร้าน เวลาจะนอนเอาเตียงผ้าใบมากางนอนข้างๆ กองสินค้า
บางทีร้อนก็ต้องเอาเตียงไปกางนอนริมถนนหน้าร้าน" ถาวรเขียนเล่าไว้ในบันทึกความจำเมื่อมีอายุครบ
60 ปี
เมื่อยังเด็กนั้นถาวรเป็นคนใฝ่รู้ เขามีโอกาสได้เข้าเรียนหลายโรงเรียน
(มากจนจำไม่หมด) มีทั้งที่เป็นโรงเรียนจีนและโรงเรียนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเรียนกลางคืนอาศัยกลางวันทำงานช่วยครอบครัว
ชอบเดินทางไปตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปประเทศจีนกับพ่อโดยทางเรือ
การได้เห็นสถานที่แปลกใหม่นี้ช่วยให้โลกทัศน์ของเขากว้างขวาง และเพราะความฉลาดช่างสังเกตจดจำอีกทั้งมีมนุษยสัมพันธ์สูงทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่อยู่ไม่ขาด
ครั้งหนึ่งระหว่างขึ้นรถไฟฟ้าไปเที่ยวภูเขาไท้แพงซันในฮ่องกง ถาวรซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่าน
หนังสือชื่ "แซนี้ เส่งกง จือโหล่ว" เป็นหนังสือแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ
มีความหมายในภาษาไทยว่า "ทางสำเร็จของคนหนุ่ม" ถาวรชอบหนังสือเล่มนี้มาก
"เพราะได้คติและปรัชญาในการดำเนินชีวิตซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้
หนังสือเล่มนี้สร้างความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยานและความมานะบากบั่นเพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิต
มีข้อความที่น่าจดจำตอนหนึ่งว่า 'สวรรค์ได้ให้งานที่ยิ่งใหญ่แก่มนุษย์ ฉะนั้นเราต้องยิ้มรับแม้ว่าหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จจะเต็มไปด้วยขวากหนามไม่ราบรื่น
เราจะต้องมานะต่สู้จนถึงจุดหมายปลายทาง เราจึงจะเป็นคนเหมือคนได้' ..."
ถาวรพูดถึงสัจธรรมที่เขาค้นพบจากหนังสือเล่มนี้
และยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ถาวรชอบอ่านเพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจของเขา
ซึ่งรวมทั้งตำราพิชัยสงครามของซุนวู
กล่าวกันว่า หากถาวรเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวที่จารีตประเพณีชาวจีนกำหนดให้เป็นผู้สืบทอดความเป็นผู้นำทุกๆ
ด้าน ซึ่งส่วนมากผู้เป็นพ่อจะเอาไว้ใกล้ตัวเพื่อเรียนรู้งานโดยตรงจากพ่อมิยอมให้ไปไหนมาไหนตามอำเภอใจแล้ว
บางทีอาจไม่มีโอกาสได้รับประสบการณ์แปลกใหม่เช่นนี้ก็เป็นได้
ถาวรโชคดีที่ไม่ใช่ลูกคนโต เพราะเช่นนี้เอง
การรู้จักคบเพื่อนและนอบน้อมเข้าหาผู้ใหญ่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นำโชคมาให้ถาวร
"ข้าพเจ้าเคยได้รับเมตตาจากท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคือท่านขุนเศรษฐภักดี
ท่านเรียกข้าพเจ้าไปพบแล้วบอกขายโรงสีเก่าให้ข้าพเจ้า 2 โรงในราคาถูก ข้าพเจ้าจึงไปบอกคุณพ่อให้มาซื้อไว้
ในที่สุดข้าพเจ้าก็ขายโรงสี 2 โรงนั้นได้กำไรต่อมา โดยโรงหนึ่งขายให้แก่เจ้าสัวปอเซี้ย
(ยี่ห้อฮงเส็ง) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีมากมาย มีกิจการใหญ่โตมากในเวลานั้น"
ถาวรเขียนเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำอันเป็นเหตุการณ์ระหว่างที่เขาเริ่มนำสินค้าใหม่ๆ
จากญี่ปุ่น อาทิ ตลับลูกปืน เครื่องกลึง เครื่องเจาะ มาขายในร้านตั้งท่งฮวดและรวมทั้งเริ่มต้นขายของเก่าชิ้นใหญ่ๆ
อย่างเช่นซื้อโรงสีมารื้อขาย หรือซื้อเรือกลไฟ รางรถไฟ มาขายต่อ โดยเจ้าสัวป๋อเซี้ยที่เขากล่าวถึงนั้นต่อมาเมตตาถึงขั้นยกลูกสาวให้
ลูกสาวเจ้าสัวคนนี้ชื่อ อุษา ภรรยาที่ได้กลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญผลักดันให้กิจการของถาวรยิ่งใหญ่เป็นปึกแผ่นไม่นานช้าหลังจากนั้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงนั้น ถาวรเล็งเห็นด้วยสายตายาวไกลว่ารถยนต์สหประชาชาติที่ใช้ในระหว่างสงครามมีมากมายและกลายเป็นของเหลือใช้
เขาคิดว่าถ้าซื้อมาขายคงได้กำไรงาม ดังนั้นจึงเดินทางไปประเทศอังกฤษ เยอรมนี
ฮอลแลนด์ และสิงคโปร์ เพื่อติดต่อซื้อรถเก่าเหล่านั้น ถาวรซื้อได้เป็นจำนวนมากและก็ขายหมดเกลี้ยง
ทั้งนี้ก็ด้วยความช่วยเหลือของเจ้าสัวซิวเม้งและเจ้าสัวจือเม้ง ด้วยการให้ยืมทุนซื้อของที่สิงคโปร์
ส่วนในด้านการค้ำประกันกับธนาคารสำหรับการสั่งซื้อรถเก่า เขาได้เถ้าแก่ซุ่นเฮงหลีเป็นผู้ค้ำประกันให้
เจ้าสัวจือเม้งต่อมาเป็นพ่อตาของปริญญาน้องชายของถาวร
ส่วนเถ้าแก่ซุ่นเฮงหลีนั้นเป็นพ่อสามีของพรรณีและนิภาน้องสาวทั้ง 2 ของเขา
(สามีน้องสาวทั้ง 2 ชื่อชิด และนิพนธ์ จรัญวาศน์)
และยังมีอีกมากที่เคยให้ความช่วยเหลือถาวรในช่วงก่อร่างสร้างตัว
โดยเฉพาะคนที่ชื่อ สุริยน ไรวา แล้ว ถาวรไม่อาจลืมได้
ถาวรกับสุริยนคบหากันเป็นเพื่อนตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มรุ่นกระทง กินนอนเที่ยวและค้าขายด้วยกัน
และสุริยนก็เป็นคนจัดการเรื่องขออนุญาตจากทางราชการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ถาวรด้วย
"ชื่นั้น พ.ต.อ.หลวงจุล กะวัฒนกร เป็นผู้ตั้ง ส่วนนามสกุล พรประภา
นายพันโท (มนู หงสุเวช) คุณหลวงวิเศษสังหาร เป็นผู้ตั้ง" ถาวรเล่า
ในยุคการก่อร่างสนร้างตัวของถาวรนั้นเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติ
การเมืองเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่แบ่งกันเป็นก๊กผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมากุมบังเหียนบริหารประเทศและธุรกิจการค้าถ้าจะให้ราบรื่นแล้วล้วนต้องอิงผู้มีอำนาจ
ถาวรตระหนักในข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง
สุริยน ไรวา นั้น "ผู้จัดการ" เคยเขียนถึงมาแล้วครั้งหนึ่งว่าเขาคือผู้ริเริ่มงานใหญ่ๆ
ในยุคก่อนปี 2500 โดยเฉพาะการก่อตั้งธนาคารเกษตรขึ้น และธนาคารเกษตรนี้เป็นฐานการเงินสำคัญของกลุ่มจอมพล
ป. พิบูลสงคราม กับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ผู้นำกลุ่ม "ซอยราชครู"
ที่ต่อมากลายเป็นพรรคชาติไทย ภายใต้การนำของพลตรีประมาณ อดิเรกสาร (คู่เขยพลตำรวจเอกเผ่า)
และพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (น้องภรรยาของพลตำรวจเอกเผ่าและพลตรีประมาณ)
ก็ในเมื่อสุริยน ไรวา มีกลุ่มจอมพล ป. กับ "ซอยราชครู" เป็นเส้นสาย
ไฉนเลยเพื่อนรักของสุริยน อย่างถาวรจะเป็นอื่นไปได้
"เมื่อเริ่มตั้งตัวได้ระดับหนึ่งคือตั้งท่งฮวดเริ่มใหญ่มีชื่อเสียงในวงการค้าเครื่องเหล็กนั้นน่ะ
ถาวรก็เริ่มเข้าไปใกล้ชิดกลุ่ม จอมพล ป. และใกล้ชิดกันมากขึ้น เมื่อแยกจากตั้งท่งฮวด
มาตั้งสยามกลการ เริ่มนำรถนิสสันบุกตลาด โดยเฉพาะพลตรีประมาณ อดิเรกสาร แล้ว
ดูเหมือนจะสนิทมากที่สุด เคยให้ความช่วยเหลือถาวรครั้งสำคัญถึงขั้นกิจการจะอยู่หรือไปหลายครั้ง
และเดินทางไปดูช่องทางการค้าที่ญี่ปุ่นด้วยกันบ่อยๆ ..." แหล่งข่าวที่เป็นคนรุ่นใกล้เคียงกับถาวรกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
และจะเป็นด้วยความบังเอิญหรือไรมิทราบได้ ในยุคที่องค์การ รสพ.มีพลตรีประมาณ
อดิเรกสาร เป็นผู้อำนวยการนั้นรถนิสสันดูเหมือนจะขายให้ รสพ.ได้มากเป็นพิเศษ
ว่ากันว่าช่วงดังกล่าวรถญี่ปุ่นอย่างนิสสันเป็นรถที่ยังไม่มีใครนิยม ด้วยเห็นว่าเป็นของถูกไม่ได้มาตรฐานสู้รถฝรั่งไม่ได้
ระหว่างที่สยามกลการของถาวรกำลังปวดหัวอย่างหนักก็เผอิญมามีโชคเอาที่ รสพ.ช่วยไว้ได้หวุดหวิด
สามารถทำให้ถาวรกับสยามกลการผงาดอยู่ได้จนวันนี้
หมดยุค จอมพล ป. กลายเป็นขั้วอำนาจฝ่ายปรปักษ์อย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นักธุรกิจที่เคยใกล้ชิดจอมพล ป.มีอันเป็นไปต่างๆ นานา ไม่ยกเว้นแม้แต่สุริยน
ไรวา ที่ต่อมากิจการธนาคารต้องถูกยึดเป็นของรัฐ จนกลายเป็นธนาคารกรุงไทยโดยรวมกับกับธนาคารอีกธนาคารหนึ่ง
ชิน โสภณพนิช ต้องไปปักหลักอยู่ต่างประเทศ มีประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ กับบุญชู
โรจนเสถียร ช่วยอยู่โยงให้และอีกหลายคนจำเป็นต้องล้างมืในอ่างทองคำไม่ทำธุรกิจอีกต่อไป
สำหรับถาวรนั้นตัวเขาและสยามกลการยังเดินไปได้ราบรื่น ซึ่งก็อาจจะเป็นได้ที่ถาวรยังไม่ใช่นักธุรกิจใหญ่โตมากนักในช่วงปี
2500 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย แต่นั่นก็คงไม่ใช่เหตุผลประการเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างยัง
"ราบรื่น"
ตรงนี้เห็นทีจะต้องยอมรับว่าเป็นความสามารถบวกกับความโชคดีของถาวรอีกนั่นแหละ
ถาวรโชคดีที่สนิทสนมกับสหัท มหาคุณ ซึ่ง สหัท มหาคุณ ก็ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์อย่างยิ่ง
ส่วนความสามารถนั้นเป็นเรื่องของความพลิกแพลงและจับจุดได้ถูกว่าผู้มีอำนาจอย่างจอมพลสฤษดิ์ชอบอะไร
หลังการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลท่านนี้ไม่นานนัก ถาวร พรประภา หันเหธุรกิจไปสนใจกิจการเหมืองแรฟลูออไรด์
บริษัทยูนิเวอร์เวอร์แซล มายนิ่ง ที่ถาวรก่อตั้งขึ้นประกอบด้วยผู้ถือหุ้นสำคัญหลายคนอย่างเช่นพ่อเลี้ยงพงษ์สวัสดิ์
สุริโยทัย บรรเจิด ชลวิจารณ์ สงวน จันทรสาขา (น้องต่างพ่อของจอมพลสฤษดิ์)
และ ทองดุลย์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่คนแวดวงใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์
"ช่วงหลายปีแรกคุณถาวรไม่สนใจเลยว่ากิจการจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ทราบว่าทำไปทำไม
แต่พอขาดทุนมากเข้า คุณถาวรก็จำเป็นต้องเข้ามาดูแล จัดการแก้ไขจนระยะหนึ่งไปได้ดีมาก
เพิ่งจะกลับมาทรุดอีกครั้งตอนช่วงหลังๆ นี้" อดีตข้าราชการกรมโลหะกิจบอกให้ฟัง
สืบเนื่องต่อมาในยุครัฐบาลจอมพลถนอม-จอมพลประภาส กลุ่มสยามกลการก็ยังเดินหน้าต่อไปอย่างก้าวกระโดดและเป็นยุคที่เริ่มผูกตัวเองเข้าใกล้ชิดกลุ่มธนาคารกรุงเทพของชิน
โสภณพนิช...คนซัวเถาด้วยกันกับบรรพบุรุษของถาวร...ซึ่งก็เป็นธนาคารที่ขณะนั้นมีประธานชื่อจอมพลประภาส
ความใกล้ชิดระหว่างสยามกลการกับถาวรต่อมาพัฒนาถึงขั้นมีการเชิญถาวรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการธนาคาร
และเมื่อหมดยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส เริ่มเข้าสู่ยุคที่การเมืองขาดศูนย์อำนาจที่มีลักษณะชี้ขาดและเบ็ดเสร็จ
หากแต่เป็นศูนย์อำนาจที่กระจัดกระจายไม่มีกลุ่มใดมีอำนาจเด็ดขาดอีกต่อไป
สำหรับถาวรนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวิตกให้มาก เพราะกิจการได้หยั่งรากจนมั่นคงแล้วระดับหนึ่ง
ถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นกลุ่มพีเอสของพอล สิทธิอำนวย
กับสุธี นพคุณ หรือกลุ่มเจ้าของสถาบันการเงินรุ่นหลังๆ นี้แล้ว คือข้อเสียเปรียบที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ก็เห็นจะเป็นโชคที่คนรุ่นถาวรได้รับที่เผอิญไม่เหลือตกทอดมาถึงคนรุ่นหลังๆ
ที่หากจะวัดกันด้วยเรื่องความรู้ความสามารถแล้ว ก็อาจจะไม่ต่างกว่ากันเท่าไรกระมัง
นอกจากรู้จักคบเพื่อนและผู้หลักผู้ใหญ่อันมีผลทำให้เกิดความราบรื่นในการดำเนินธุรกิจไปได้อย่างไม่ติดขัดแล้ว
การคบค้าสมาคมกับกลุ่มนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นของถาวรก็ออกจะเป็นเรื่องโชคดีของเขาอีกเรื่องหนึ่ง
กับนิสสันมอเตอร์นั้น ถาวรสนิทกับประธานของนิสสันหลายรุ่นโดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ
ที่ทราบถึงความเหนื่อยยากของถาวรและสยามกลการในช่วงของการบุกเบิกระยะแรกๆ
มีอยู่หลายครั้งที่ผู้บริหารระดับล่างๆ ของนิสสันมอเตอร์มาตรวจตลาด และการทำงานของตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างสยามกลการและพบข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการบีบรัดตัวแทนจำหน่าย
เรื่องสามารถยุติลงง่ายๆ เมื่อถาวรพูดกับประธานของนิสสันฯ
หรือในด้านการทำแร่ส่งไปขายญี่ปุ่น บริษัทของถาวรเริ่มต้นส่งแร่ไปขายให้บริษัทนโช่
อิวายอิ มาตั้งแต่แรก มีช่วงหนึ่งราคาแร่สูงขึ้น บริษัทญี่ปุ่นหลายรายมาติดต่อขอให้ถาวรขายแร่ให้โดยจะให้ราคาสูงกว่าที่นโช่
อิวายอิ รับซื้อ ซึ่งถาวรสามารถทำได้ เนื่องจากไม่ได้มีสัญญาผูกมัดกับนิโช่
อิวายอิ แต่ด้วยความค้าขายต้องจริงใจต่กันถาวรตอบปฏิเสธไปอย่างหน้าตาเฉย
สูญเสียรายได้ไปจำนวนไม่น้อย และอีกหลายปีต่อมาเกิดสถานการณ์ฟลูออไรด์ผลิตส้นตลาด
ราคาตกต่ำ ผู้บริหารรุ่นใหม่ของนโช่ อิวายอิ ไม่รู้เรื่องแต่หนหลังก็ตัดสินใจจะไปรับซื้อแร่จากแหล่งอื่น
ซึ่งให้ราคาถูกกว่า ถาวรต้องบินไปเจรจาว่าลืมความหลังแล้วหรือ นั่นแหละจึงได้ยินยอมรับซื้อแร่จากบริษัทถาวรต่อไป
"อย่าง ย่ามาฮ่า ก็เหมือนกัน ตอนจะร่วมทุนกันก่อตั้งสยามยามาฮ่า ผมบอกกับเขา
(ประธานยามาฮ่า) จะกลืนผมหรือจะช่วยผม เขาบอกจะช่วย เราจับมือกันร่วมทุนทันที
ทำไปได้ 3 ปี เขามาถามยืนได้หรือยัง ผมบอกยืนไหว เขาขายหุ้นของเขาคืนให้หมด
จนตอนนี้ค่าเงินเยนแข็งนี่แหละเขามาติดต่ออยากร่วมทุนกันอีกครั้ง..."
ถาวรพูดถึงการร่วมทุนกับ ยามาฮ่า กับ "ผู้จัดการ"
แต่ก็นั่นแหละ วันเวลาที่ผ่านไปเป็นสิบๆ ปี ย่อมไม่มีสิ่งใดหยุดยืนอยู่กับที่
สถานการณ์มีแต่ต้องเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับความร่วงโรยตามอายุขัยของคนรุ่นเก่าๆ
ถาวรนั้นยอมรับตรงๆ ว่า "สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้เกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้เพียงแต่แทนที่จะประหัตประหารกันด้วยอาวุธกลับประหัตประหารกันด้วยสงครามเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันกันเหมือนเลือดเข้าตาเท่านั้น"
สิ่งนี้ย่อมกระทบทั้งนิสสันมอเตอร์และสยามกลการอย่างช่วยไม่ได้
การอำลาโลกไปของประธานบริษัทนิสสันที่ใกล้ชิดกับถาวรและทราบเรื่องแต่หนหลังดีก็มาเกิดขึ้นเมื่อปี
2528 นิสสันมอเตอร์กลายเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่ต้องขับเคี่ยวกับการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจด้วยกัน
(ซึ่งอย่างน้อยได้ทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้น สินค้าผลิตจากญี่ปุ่นมีราคาแพง)
และภารกิจของพวกเขาเป็นการทำให้วันนี้ดีที่สุดเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า ซึ่งบางครั้งไม่อาจไปใส่ใจกับอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ
พวกเขามาพร้อมกับความคิดใหม่ นโยบายใหม่ของนิสสันมอเตอร์ซึ่งแน่นอนย่อมต้องมีการผ่าตัดใหญ่ติดตามมา
สำหรับสยามกลการ "เฟืองจักร" ตัวหนึ่งของนิสสันแล้ว สัญญาณของระยะหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งใหม่อย่างเห็นได้ชัด
การปรับโครงสร้างเพื่อรองรับทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายใต้ร่มธงของนิสสันฯ
แม้ไม่ทำก็ไม่ได้เสียแล้ว นี่มิพักจะต้องพูดถึงปัญหาดินฟอกหางหมูที่สะสมตัวมาจากระยะซบเซาทางเศรษฐกิจหลายปีมานี้
ถ้าจะว่าเป็นความโชคร้ายก็เป็นความโชคร้ายที่ปี 2529 ถาวร พรประภา อายุ
70 แล้ว เป็นอายุ 70 ที่ยังไม่มีใครเด่นพอจะมาเป็นผู้สืบทอดโดยเฉพาะที่เป็น
"พรประภา" เสียอีกด้วย
บางทีในความโชคดียังมีความความโชคร้ายปะปนอยู่เป็นของคู่กันก็เป็นได้
ถาวรโชคดีที่มีโอกาสเรียนรู้โลกทั้งใกล้และไกลตัวอย่างที่พี่ชาย (สินธุ์)
ไม่ได้รับอันทำให้โลกทัศน์ทางการค้า และการลงทุนของเขาก้าวหน้านี้เองที่ทำให้เขาต้องมีปัญหาขัดแย้งกับพ่อและพี่ชายคนโตจนต้องแยกตัวมาตั้งกิจการของตนเอง...สยามกลการ
ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็ยังมีพี่ๆ น้องๆ ร่วมด้วย เพียงแต่ถาวรครอบครองเป็นหุ้นส่วนใหญ่
แต่ถาวรโชคร้ายเพราะความไม่ใช่ลูกคนโตซึ่งจารีตประเพณียอมรับความเป็นผู้นำ
พูดสิ่งใดล้วนคลี่คลายข้อขัดแย้ง ก็ได้ทำให้เกิดรอยร้าวที่ไม่อาจประสานขึ้นภายใต้โครงสร้างระบบครอบครัวอย่างไม่น่าจะเกิด
และเพราะความที่วันๆ มุทำแต่งาน ขาดการให้ความใกล้ชิดลูก จนบางคนก่อเรื่องไม่น่าจะก่อขึ้น
นั่นก็เป็นความโชคร้ายที่ภาวรเองก็เคยยอมรับออกมาตรงๆ
ถาวร พรประภา มีลูกทั้งหมด 13 คนที่เกิดจากแม่ต่างกัน 4 แม่
"ก็ไม่แปลกอะไร อย่างพวกจิราธิวัฒน์ เขาก็รวมกันติด แต่อย่างว่าจิราธิวัฒน์ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดข้อยกเว้นในทางที่เขาไม่มีปัญหา
ซึ่งทั่วๆ ไปแล้วหาได้ไม่ง่ายนัก..." นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเคยแสดงความเห็น
ลูกๆ นั้นถือเป็นความหวังที่ถาวรใฝ่ฝันมาก
"ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้บรรดาพี่น้องลูกหลานที่ทำงานร่วมกับข้าพเจ้าในปัจจุบันผู้ซึ่งในกาลข้างหน้าจะเป็นผู้บริหารงาน
ดูแลกิจการสืบแทนข้าพเจ้า ได้มีความรักใคร่กลมเกลียวสามัคคีกัน ช่วยเหลือออมชอมซึ่งกันและกัน
ช่วยกันนำบริษัทและกิจการให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น เป็นบริษัทที่มั่นคงถาวรสืบไป
เพราะการบริหารงานใหญ่ๆ จะประสบความสำเร็จได้ต้องเป็นการบริหารโดยกลุ่มหรือคณะบุคคล
ไม่ใช่บุคคลเดียว จะเป็นพวกเรากันเองหรือบุคคลภายนอกที่มีความสามารถมาร่วมก็ได้
เข้าสุภาษิต หลายหัวดีกว่าหัวเดียว" ถาวรกล่าวไว้เมื่อฉลองอายุครบ 60
ปี ซึ่งตรงกับปี 2519
เป็นการกล่าวไว้ขณะที่อุษาภรรยาของเขายังไม่เสียชีวิต (อุษาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
ปี 2555) และเขาให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ว่า "อุษาสามารถดูแลได้หมด
ลูกทุกคนยอมรับนับถือเขา"
บางทีระหว่างบรรทัดของคำให้สัมภาษณ์นี้ถาวรกำลังนึกถึงว่าภรรยาของเขาไม่น่าด่วนลาโลกไปก็เป็นได้
เพราะอย่างน้อยย่อมพอยืนยันได้หลังการเสียชีวิตของอุษานั้นเค้าเงื่อนแห่งความยุ่งเหยิงเริ่มปรากฏอย่างเด่นชัด
ถาวรต้องทำงานหนักขึ้นเพราะงานปฏิบัติการโดยเฉพาะการดูแลเรื่องเงินทองอุษาเคยทำหน้าที่อย่างไม่มีที่ติ
รวมทั้งความเป็นเอกภาพภราดรภาพของลูกๆ ด้วย
"ลูกๆ คุณถาวรส่วนมากก็จะกระจายกันไปทำงานตามบริษัทในเครือต่างๆ เป็นต่างคนต่างทำไม่ค่อยยุ่งกัน
ก็เห็นจะมีคู่พรพินิจกับพรเทพซึ่งคนละแม่กัน 2 คนเท่านั้น ที่ความคิดออกจะสวนทางกันมากๆ
..." อดีตลูกหม้อของสยามกลการ
ถาวร พรประภานั้นช่วงหลายมานี้กิจวัตรประจำวันคือตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 อ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุ
หรือไม่ก็ปัญญานันทะพร้อมมกับสำรวมจิตตั้งสมาธิแล้ว ประมาณ 6 โมงเช้า ก็จะลงมาออกกำลังด้วยการตีแบดมินตันกับลูกหลานหรือแขกที่เชิญมาตีแบดฯ
เพื่อการสนทนาเป็นพิเศษ
เสร็จจากตีแบดก็จะเดินภายในสวนรอบๆ ตัวบ้านซึ่งร่มรื่น (เป็นบ้านในซอยทองหล่อ)
บริเวณสนามหญ้ามีไก่แจ้และนกกระทาให้ชมอย่างเป็นธรรมชาติประมาณ 7 โมงกว่าๆ
ก็จะขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัวและเข้านั่งประจำโต๊ะอาหารเช้าราวๆ 8 โมง
ช่วงนี้เลขา 1 ใน 7 คนของเขาจะต้องมาเข้าเวรรอรับคำสั่ง เพราะโต๊ะอาหารเช้านี้เองที่เป็นศูนย์บัญชาการของเขา
อาหารเช้าทุกเช้าจึงเป็นอาหารเช้าที่ถาวรจะต้องมีแขกมาร่วมโต๊ะเพื่อปรึกษางานและระหว่างนั้นถ้านึกสิ่งใดขึ้นได้เขาจะให้เลขาต่อโทรศัพท์เพื่อสั่งการทันที
เป็นเรื่องที่พูดกันว่า "ป๋า" (หมายถึงถาวร) กำลังโปรดใครนั้นดูไม่ยาก
สามารถดูจากการร่วมโต๊ะอาหารเช้าเป็นใช้ได้
อย่างเช่นช่วงหลังๆ นี้ก็จะมีแต่คุณหญิงพรทิพย์กับน้องชายแท้ๆ พรเทพ แต่ไม่ค่อยได้เห็นลูกที่ชื่อพรพินิจ
อย่างไรก้ดี นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้วสำหรับถาวร พรประภา
คนที่เพิ่งยอมลงจากหลังเสือด้วยความหวังที่เสือจะไม่ตะปบเอา
เขาฝันถึงการล้างมือในอ่างทองคำ ตอนนี้มิทำเสียนานแล้วก็ไม่ทราบ?