Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2529
ตลาดรถยนต์ทรุดสยามกลการหกคะเมน             
 

 
Charts & Figures

ยอดการจำหน่ายรถยนต์บรรทุกและรสบัส ปี 2529 (ม.ค.-ส.ค.)
ยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งของยี่ห้อต่างๆในปี 2529 (ม.ค.-ส.ค.)
เปรียบเทียบยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งยี่ห้อต่างๆในปี 2529


   
search resources

สยามกลการ, บจก.
Auto Dealers




ปี 2529 เป็นปีที่ภาวะการค้ารถยนต์ตกต่ำมากๆ คือ ต่ำยิ่งกว่าปี 2528 ที่ว่ากันไว้เมื่อต้นปีนี้ว่าตกต่ำที่สุดแล้วถึง 1,100 คันต่อเดือนโดยถัวเฉลี่ย หรือลดลงอีกประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนทีเดียว เฉพาะอย่างยิ่งรถบรรทุกและรถบัสยอดการจำหน่ายลดลงประมาณ 1,000 คันและรถยนต์นั่งยอดการจำหน่ายลดลง 100 คันต่อเดือน

ในจำนวนนี้ กลุ่มรถญี่ปุ่นทั้งหลายเกือบทุกยี่ห้อต่างนั่งตาละห้อย ปล่อยให้รถยุโรปแซงหน้าแย่งตลาดที่ตัวเองเคยครองอยู่อย่างชนิดที่ห้ามกันไม่หยุด โดยเฉพาะในบรรดารถยนต์นั่งหรือที่เรียกกันว่ารถเก๋ง

ภาวะซบเซาของตลาดรถยนต์เริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่ปี 2527 เมื่อสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ตกลงกว่า 5,000 คันต่อปีเมื่อเทียบกับปี 2526 และตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 2528 ด้วยปริมาณการตกต่ำถึง 20,000 กว่าคันเมื่อเทียบกับปี 2527

และในปี 2529 ภาวะตลาดรถยนต์ที่ว่ากันว่าจะฟื้นก็ยังไม่ฟื้น เมื่อรถญี่ปุ่นที่ครองตลาดโดนพิษของค่าเงินเยนโหมกระหน่ำอีกระลอก อย่างแทบไม่หายใจหายคอ

ปี 2529 ค่าเงินเยนได้พุ่งตัวเองสูงขึ้นกว่าเดิมอีก 78 เปอร์เซ็นต์ ยังผลให้ราคารถยนต์ต้องสูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ขณะที่รถสกุลยุโรปฉวยโอกาสตีตื้นขึ้นมาพอได้หายใจหายคอบ้าง

ค่ายสยามกลการซึ่งมีนิสสันครองตลาดในประเภทรถยนต์นั่งเป็นอันดับสองรองจากโตโยต้าในช่วงที่ไม่ห่างไกลนักก่อนหน้านี้ พอย่างเข้าปี 2529 เพียงเริ่มเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้นเอง รถยนต์นิสสันอันโด่งดังของค่ายสยามกลการร่วงหล่นลงอย่างน่าใจหาย ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จากยอดการจำหน่าย 443 คันเป็นอันดับสองรองจากโตโยต้าซึ่งมียอดการจำหน่าย 463 คันในเดือนมกราคม ลดลงไปเหลือเพียง 174 คัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ตกไปถึงอันดับที่ 5 คือต่ำกว่าโตโยต้า (ขายได้ 463 คัน) มิตซูบิชิ (ขายได้ 277 คัน) บีเอ็มดับบลิว (240 คัน) และ เปอโยต์ (234 คัน)

และยอดการขายของนิสสันซึ่งเป็นรถที่ขายได้มากที่สุดของค่ายสยามกลการ ก็ตกต่ำและรักษาอยู่ในระดับนี้มาตลอด ดีที่สุดคือเดือนมีนาคมซึ่งขายได้ 213 คัน และแย่ที่สุดคือเดือนมิถุนายน ซึ่งเหลือเพียง 127 คัน

ในขณะที่รถอื่นๆ ของสยามกลการแทบจะเอาตัวไม่รอดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอัลฟาโรมิโอ 8 เดือนที่ผ่านมาในขณะนั้นมียอดการขาย 1 คันเท่านั้น

ซูบารุก็เป็นรถยนต์นั่งที่สยามกลการต้องปวดหัวอย่างหนัก เนื่องจากในปีนี้ขายได้โดยเฉลี่ยเพียงเดือนละ 20 คันเท่านั้น ในขณะที่เมื่อปี 2528 เฉลี่ยประมาณ 50 คันต่อเดือน

การที่รถยนต์นั่งยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งจะร่วงลงหรือยอดการจำหน่ายตกต่ำลงนั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ หนึ่ง- ราคา สอง- เทคโนโลยีในตัวรถ

ในปี 2529 ค่าเงินเยนพุ่งขึ้นสูง ทำให้รุญี่ปุ่นทุกค่ายตรึงราคาไว้ไม่อยู่ ต้องพุ่งสูงขึ้นตามรถยนต์นั่งของญี่ปุ่นที่เคยยึดครองตลาดได้เนื่องจากราคาต่ำ อะไหล่หาง่ายไม่แพงก็กลายเป็นว่าราคาแพงแทบจะใกล้เคียงกับรถยุโรป เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั่วไปก็หันไปเล่นรถยุโรปซึ่งมีอิมเมจในสายตาคนไทยว่า ยังไงๆ ก็ต้องดีกว่ารถญี่ปุ่น

รถยนต์นั่งนิสสันของค่ายสยามกลการนั้น ในช่วงนั้นมีรถออกมาหลายรุ่นด้วยกันคือ มาร์ช สแตซ่า ซันนี่ บลูเบิร์ด เซดริก สกายไลน์ และพัลซ่า

มาร์ช เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ค่ายสยามกลการเอามาเข้าหวังเจาะตลาดรถเล็กแต่ยอดการจำหน่ายไปได้ไม่ดีนัก การขายในแต่ละเดือนจะได้ยอดประมาณ 20 กว่าคันเท่านั้น ช่วงที่เรียกว่าบูมที่สุดก็ประมาณ 30 กว่าคันเท่านั้นเอง

"สาเหตุที่มันไปได้ไม่ค่อยดี เนื่องจากความหรูหรา ความสวยงามหลายสิ่งหลายอย่างถูกตัดออกเกือบหมดเมื่อนำเข้ามาเมืองไทย ซึ่งเทียบกับของยี่ห้ออื่นแล้ว ยี่ห้ออื่นเขาให้อะไรมากกว่ามาร์ชในญี่ปุ่นถ้าคุณเห็นแล้วคุณจะชอบมาก ภายในมันหรูหราหน้าปัดอะไรต่างๆ พราวไปหมด ยิ่งโดยเฉพาะวัยรุ่นเห็นเป็จต้องชอบ แต่พอเอาเข้ามาในตลาดเมืองไทย สิ่งที่ไม่จำเป็นถูกตัดออกเหลือเพียงเข็มวัดน้ำมัน วัดไมล์ เข็มวัดความร้อน แล้วก็ไฟ แค่นั้นเอง บางสิ่งบางอย่างที่มันสวยหรือที่คนชอบมากกว่านี้ ไม่ได้ใส่เข้าไป มันก็ไม่ชวนให้ใช้ ไม่หรู ดูแค่เรียบๆ เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเทียบกับซูซูกิรุ่นเอสเอ 413 ซึ่งเป็นรถที่ในเครือสยามกลการข้ามาเหมือนกันแล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซูซูกิเขามีเข็วัดรอบให้ภายในเขาสวยหรู เบาะก็ลายสวยหรู ดูแล้วมันเร้าใจอยากขับ หุ้นก็สวยมีสปอยเลอร์ให้อีก มันน่าใช้" ผู้สันทัดกรณีในวงการค้ารถกล่าวให้ทัศนะกับ "ผู้จัดการ"

นิสสันมาร์ช เป็นรถที่ขายได้น้อยกว่ารถเล็กขนาดเดียวกันของยี่ห้ออื่นๆ ด้วยสาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ ยี่ห้ออื่นอย่างเช่น สตาร์เล็ตของโตโยต้าได้มีการพัฒนาตัวถังรถขนาดนี้ให้ใหญ่กว่าเดิม ห้องผู้โดยสารก็กว้างกว่าเดิม เครื่องยนต์ก็ถูกทำให้เร้าใจขึ้นอีก ในขณะที่นิสสันยังคงย่ำอยู่กับที่

รถยนต์นั่งนิสสันที่ขายดีที่สุด ก็เห็นจะเป็นนิสสันซันนี่ ซันนี่เป็นรถที่ขายดีมากที่สุดของค่ายรถนิสสันในประเทศไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เรียกว่าเป็นตัวทำเงินทีเดียว ซันนี่เป็นรถที่ไม่ใหญ่และไม่เล็กเกินไป อิมเมจดีมาตลอด

ส่วนรถยนต์นั่งนิสสันที่ยอดการขายแย่ที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาคือ พัลซ่า ซึ่งขณะนี้หมดรุ่นไปแล้ว นิสสันพัลซ่าเป็นรถยนต์ที่สยามกลการเอาเข้ามาแล้วสองครั้ง ตลาดย่ำแย่ทั้งสองครั้งในยุโรปเรียกนิสสันพัลซ่า ว่าเชอร์รี่ ซึ่งในบ้านเราเมื่อยุคแรกๆ นั้น ค่ายสยามกลการก็เคยนำเข้ามาครั้งหนึ่ง ตอนแรกก็ให้ชื่อว่าเชอร์รี่เหมือนกัน แต่เนื่องจากเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า มีปัญหามากในเรื่องเพลา และอีกหลายๆ อย่าง คนไทยในยุคนั้นยังไม่เคยชินกับรถที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้าด้วย อิมเมจของเชอร์รี่จึงไม่ค่อยดีนัก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็นพัลซ่า ที่บูมอยู่พักหลังๆ ก็คือ พัลซ่ามิลาโนที่ค่ายสยามกลการพยายามที่จะบูมการขายในพักหลังด้วยการแถมแหลก ทั้งล้อแม็กซ์ ทั้งสติ๊กเกอร์ต่างๆ มากมาย แต่ก็ขยับไปได้ไม่ดีเช่นเคย

"ราคามันสูงเกินไป รูปร่างมันก็ตลกๆ ยังไงไม่รู้ สปอร์ตก็ไม่สปอร์ต รถบ้านก็ไม่รถบ้าน คือรูปร่างมันเป็นกล่องๆ มันเป็นเหลี่ยมมากเกินไป ผมว่ามันไม่ต้องกับสายตาคนไทยมากกว่า" แหล่งข่าวในวงการค้ารถยนต์วิจารณ์

ทางด้านสแตนซ่าและบลูเบิร์ดนั้น ตลาดก็ไปได้เรื่อยๆ แต่มาตกเอาในช่วงหลังๆ นี้มาก เนื่องจากรุ่นหลังๆ ของสแตนซ่าและบลูเบิร์ดนี้อยู่ในตลาดมานานแล้ว คนก็เริ่มเบื่อๆ กัน

ลักษณะของตลาดรถยนต์ มีลักษณะอย่างหนึ่งนั่นคือ เมื่อนำรถเข้ามาใหม่ในตอนแรกยอดการขายจะสูง หลังจากนั้นแล้ว ก็จะตกต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มจะเก่าไปแล้ว

นิสสันบลูเบิร์ดยอดการขายจึงตกต่ำลงกว่าเดิมมากในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในปีนี้นิสสันได้ออกบลูเบิร์ดอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีแปลกแหวกแนวออกไปคือเป็นรุ่นเทอร์โบ ใช้เครื่องซีเอ 18 เครื่องยนต์ 1800 ซีซี ระบบหัวฉีด ซึ่งหลายคนในวงการรถยนต์กล่าวกันว่าเป็นรุ่นที่น่าใช้มาก และตลาดจะไปได้ดีทีเดียว

"น่าเสียดาย ที่ราคาของรถรุ่นนี้สูงถึง 4 แสนกว่าบาท ซึ่งราคาขนาดนี้สามารถที่จะซื้อรถบีเอ็มดับบลิว 316 ได้คันหนึ่ง คนก็เลยหันไปเล่นรถบีเอ็มแทน ซึ่งเครื่องของบีเอ็ม 316 ก็เป็นเครื่องแบบระบบหัวฉีดเช่นกัน ซึ่งรถแบบใช้หัวฉีดนี้ในจำพวกรถยุโรปก็มีบีเอ็มนี่แหละ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ความน่าสนใจของบลูเบิร์ดรุ่นนี้ อยู่ตรงที่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยระบบเทอร์โบและหัวฉีด ซึ่งการใช้ระบบนี้จะทำให้ประหยัดน้ำมันและได้แรงม้าที่มากกว่าที่ใช้แบบคาบิวธรรมดา การขับจะเร้าใจกว่ามาก เพียงแต่ตลาดของรถรุ่นนี้ก็ยังไม่ดีนัก

รถยนต์นั่งนิสสันมีรถขนาดใหญ่อยู่ 2 รุ่นในขณะนี้ก็คือ เซดริกกับสกายไลน์ ซึ่งตลาดก็ย่ำแย่เช่นกัน เข้าใจกันว่าในช่วงใกล้ๆ นี้ทางสยามกลการคงต้องหยุดอย่างแน่นอน ตอนนี้ก็มีไว้เป็นตัวประกอบการขายไปเรื่อยๆ โดยพยายามขายให้กับแท็กซี่โรงแรม สนามบิน และนักบริหารญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย

สาเหตุที่รถยนต์นั่งของนิสสันทั้งเซดริกและสกายไลน์ไปไม่ไหวนั้น ก็ด้วยสาเหตุเดิมคือเนื่องจากราคาสูงมาก ปัจจุบันราคาสูงขึ้นไปถึง 6 แสนกว่าเกือบซื้อวอลโว่ได้คันหนึ่งเข้าไปแล้ว คนโดยมากจึงหันไปเล่นรถยุโรปแทน ซึ่งไม่เพียงแต่นิสสันเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ โตโยต้าคราวน์ก็ประสบเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นิสสันเป็นรถยี่ห้อแรกที่บุกเบิกตลาดรถขับเคลื่อนด้วยล้อหน้าได้สำเร็จเป็นยี่ห้อแรก ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีรถยี่ห้ออื่นๆ นำเข้ามาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และเมื่อนิสสันประสบความสำเร็จแล้ว ยี่ห้ออื่นๆ จึงได้ปฏิบัติตามด้วยการนำเข้ามาบ้าง และในที่สุดตลาดรถยนต์ในปัจจุบันก็กลายเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้าเกือบทั้งหมด เนื่องจากผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงไปได้มากกว่าการผลิตรถแบบขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง เนื่องจากไม่ต้องสร้างเสื้อเพลาหลัง ทุกอย่างไปรวมกันอยู่กับเกียร์ข้างหน้าหมด เกียร์ก็สามารถทำให้เล็กกว่าเดิมไปได้มาก ในขณะที่ผู้ใช้รถในบ้านเราไม่ค่อยชอบนักเนื่องจากสภาพถนนบ้านเรายังไม่ดีพอ ทำให้รถประเภทนี้สึกหรอเร็ว แต่นิสสันก็ประสบความสำเร็จด้วยการโหมโฆษณาสนับสนุนการขายอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

ซูบารุ เป็นรถอีกยี่ห้อหนึ่งของสยามกลการที่นำเข้ามา และประสบความล้มเหลวในปีนี้ ทั้งๆ ที่นักเลงรถหลายๆ คนว่ากันว่า ซูบารุ นั้นเป็นรถที่น่าใช้มาก

"มันเป็นรถที่เทคโนโลยีสูงมาก สูงเอามากๆ ทีเดียว จนหาช่างซ่อมในบ้านเราซ่อมลำบาก คือรถซูบารุ จะให้ชาวบ้านชอบก็คงไม่ไหว เพราะว่า ซ่อมก็คงจะลำบาก ศูนย์บริการก็ไม่ค่อยมี คนที่จะซื้อก็เลยไม่กล้าซื้อ แล้วอีกอย่างหนึ่งอะไหล่มันก็ทั้งหายากและแพงด้วย ซึ่งบางอย่างน่าจะหาซื้อได้ตามท้องตลาดก็ไม่มี ต้องไปที่อาคารแสดดำอย่างงี้ใครมันจะกล้า มันเป็นจุดบอดที่เขาต้องแก้ และถ้าแก้ได้ ซูบารุไม่แพ้นิสสันเลย" คนในวงการรถยนต์กล่าว

รถยนต์นั่งซูบารุนั้นนักเล่นรถยนต์หลายคนต่างมองเหมือนๆ กันว่า เป็นรถที่มีสมรรถนะดี เทคนิคต่างๆ ก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะรุ่น จีแอลเอฟ นั้น มีหน้าปัดพราวอย่างชนิดไม่มีรถญี่ปุ่นค่ายไหนสู้ได้ แต่เมื่อคำนึงถึง Service After Sell แล้ว หลายคนท้อไปหมด

อีกยี่ห้อหนึ่งของค่ายสยามกลการที่มีการตลาดล้มเหลวที่สุดนั่นก็คือ อัลฟา โรมิโอ ซึ่งเป็นรถอิตาลีที่มีชื่อเสียงรองลงมาจากเฟียตในบรรดารถยนต์นั่งของอิตาลีด้วยกัน

ถ้าจะกล่าวถึงสมรรถนะของอัลฟา โรมิโอ แล้วก็เรียกว่า ดีกว่ารถญี่ปุ่นมาก ประสิทธิภาพการทรงตัวก็ดีกว่า และออกแบบมาอย่างชนิดที่เรียกว่าไฮเทคโนโลยีทีเดียว แม้แต่ระบบเกียร์ ซึ่งโดยปกติเกียร์จะอยู่ข้างหน้า แต่เกียร์ของอัลฟา โรมิโอ กลับไปอยู่กับเฟืองท้ายข้างหลังและระบบเบรกก็แตกต่างกว่ารถทั่วๆ ไปคือ รถทั่วไปจะมีเบรกอยู่ที่ล้อ แต่อัลฟา กลับออกแบบให้มาอยู่ข้างใน ซึ่งเป็นการออกแบบเหมือนกับรถแข่งเลยทีเดียว

ทางด้านราคาก็ไม่แพงมากนัก เรียกว่าสมน้ำสมเนื้อ แต่ก็ปรากฏว่าขายไม่ค่อยได้

สาเหตุแห่งความล้มเหลวทางด้านการตลาดของอัลฟา โรมิโอ ก็เข้าลักษณะเดียวกับที่ซูบารุประสบ คือปัญหาเกี่ยวกับอะไหล่แพงและหาช่างซ่อมลำบาก คนจึงไม่นิยมใช้ นอกจากคนที่รักอัลฟ่า โรมิโอ จริงๆ เท่านั้น

"ช่างทั่วๆ ไปที่จะมาทำการซ่อมมันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วรถของเขาก็ไม่เหมือนชาวบ้านอย่างนอตแต่ละตัว มันก็เป็นนอตหัวกลมแทนที่จะเป้นนอตหัวเหลี่ยมเหมือนรถอื่นๆ ทั่วไป เพราะฉะนั้นจะขันแต่ละทีก็ต้องหาประแจของมันโดยเฉพาะ มันจุกจิกมาก แล้วเครื่องมันก็เป็นเครื่องทวินแค็บ รู้สึกจะเป็นรุ่นแรกที่เอาเข้ามา คุณเคยเห็นไหม ที่เป็นเครื่อง 1300 นั่นนะ แต่มันวิ่งแรงจริงๆ เลยนะรุ่นนั้น วิ่งได้ถึง 170-180 เลยทีเดียว" นักเล่นรถคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สยามกลการได้หยุดการนำเข้ารถอัลฟา โรมิโอ มาแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ หลังจากขายล็อตสุดท้ายให้กับกองกำลังรักษาพระนครไปร้อยกว่าคัน ก็ปิดตลาดไปหนึ่งปีเต็มๆ แล้วล่าสุดก็นำเข้ามาอีก เป็นรถ 1800 ซีซี ชื่อว่า จูเลียตต้า แต่ตลาดก็ยังไม่ค่อยดีเอามากๆ คือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2529 ขายได้เพียงคันเดียวเท่านั้น

ส่วนทางด้านรถบรรทุกนั้น ค่ายสยามกลการเคยครองความเป็นเจ้าในประเภทรถบรรทุกขนาดเล็ก (ปิกอัพ) มาหลายปีทีเดียว แม้ในปี 2526 จะถูกโตโยต้าแซงหน้าไปบ้างแต่ก็ยังไม่ทิ้งห่างกันมากนัก เรียกว่ายังพอสูสี คือโตโยต้ามียอดการจำหน่าย 17,727 คัน ส่วนนิสสันมียอดการจำหน่าย 17,014 คันต่างกันไม่มากนัก

ล่วงเข้าปี 2527 โตโยต้าขายได้เพิ่มขึ้นเป็น 17,920 คันในขณะที่นิสสันก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันคือ เป็น 17,522 คันตามกันมาติดๆ

แต่แล้วพอถึงปี 2528 รถปิกอัพของนิสสันก็ร่วงไปอยู่อันดับ 3 คือขายได้ 11,759 คัน ซึ่งมียอดการจำหน่ายที่ลดลงในอัตราถึง 27% เป็นการลดลงมากกว่ารถอื่นๆ ทุกยี่ห้อ ขณะที่โตโยต้ายังคงครองอันดับหนึ่งในตลาดรถประเภทนี้ ด้วยยอดการจำหน่าย 14,586 คัน ลดลงจากเดิมในอัตรา 11.1% และรถอีซูซุก็ได้แซงหน้านิสสันในปีนี้เองด้วยยอดการจำหน่าย 13,335 คัน ซึ่งก็มียอดการจำหน่ายที่ตกลงไปเหมือนกันเพียงแต่ตกลงนิดหน่อยคือ 6% เท่านั้น

ปี 2529 ตั้งแต่ มกราคมถึงสิงหาคม 8 เดือน โตโยต้าก็ยังคงครองอันดับหนึ่งด้วยยอดการจำหน่าย 8,337 คัน อีซูซุก็ยังคงรั้งอันดับสองด้วยยอดการจำหน่าย 7,848 คัน นิสสันคงครองอันดับสามด้วยยอดการจำหน่าย 7,704 คัน

"ถ้าพูดถึงรถบรรทุกพวกปิกอัพเหล่านี้แล้วไม่ว่าค่ายไหนนถ้ามีรถรุ่นนั้นอยู่ในตลาดนานแล้วละก้อ จะเสียเปรียบมาก อย่างนิสสันรุ่นเอสดี 23 ซึ่งอยู่ในตลาดมา 7 ปีแล้วยอดการจำหน่ายของนิสสันจึงตกลงมามากในช่วง 2 ปีขณะนั้น และโตโยต้าก็ออกรถรุ่นเฮอร์คิวลิสออกมาในช่วงนั้นพอดี อีซูซุก็ออกสเปซแค็บอะไรนั่นออกมาอีก ยอดการจำหน่ายในช่วงนั้นของนิสสันจึงย่อมตกลงเป็นธรรมดา" นักสังเกตการณ์ผู้หนึ่งกล่าว

ส่วนทางด้านรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่นั้น ค่ายสยามกลการมีเพียงรถนิสสันที่เป็นรถขนาดใหญ่เท่านั้นจำหน่าย ซึ่งดูเหมือนสยามกลการจะไม่ค่อยถนัดนัก นิสสันจึงติดอันดับรั้งท้ายมาตลอดถึงแม้ตลาดนี้จะเป็นตลาดของรถญี่ปุ่นโดยเด็ดขาดแล้วก็ตาม

ในตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่มีรถญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่แข่งขันกันชิงความเป็นเจ้า ปี 2529 อีซูซุยังคงมาแรงที่สุด ครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งด้วยยอดการจำหน่าย 645 คัน ในช่วง 8 เดือนของปี 2529 ฮีโน่มาเป็นอันดับสองด้วยยอดการจำหน่าย 406 คัน ในขณะที่มิตซูบิชิตามมาเป็นอันดับสาม ด้วยยอดการจำหน่าย 257 คัน และรั้งท้ายด้วยนิสสันซึ่งมียอดการจำหน่าย 241 คัน

ปัจจัยประการที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้นิสสันไม่อาจผงาดในตลาดรถประเภทนี้ วิเคราะห์กันว่า เนื่องจากรถบรรทุกขนาดใหญ่เหล่านี้ซึ่งจะเป็นรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ตลาดโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัด ใช้บรรทุกสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ในขณะที่สยามกลการมีการจัดองค์กรทางการขายที่รวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ ข้อนี้เป็นข้อที่ค่ายสยามกลการเสียเปรียบรถทุกยี่ห้อ

สยามกลการอาจจะมีสาขาตัวแทนจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศก็จริงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก้คือ ตลาดของรถเหล่านี้ เจ้าของกิจการทางด้านการเกษตรในต่างจังหวัด มีพฤติกรรมการซื้อที่ไม่เหมือนกับกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์นั่งทั่วๆ ไป คนเหล่านี้ต้องการการเทคแคร์ที่ดีพร้อมกับการติดต่อธุรกิจอื่นๆ กับผู้ขายไปด้วย หลังการขาย และที่สำคัญมักเป็นการซื้อที่อาศัยความสนิทสนมและความกว้างในแต่ละท้องถิ่นพอสมควร

ซึ่งค่ายรถยนต์อื่นๆ ได้พยายามตอบแทนตลาดทางส่วนนี้ ด้วยการปล่อยให้ผู้ที่ทำธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้ขาย ในลักษณะที่แยกบริษัทออกไปต่างหากเลย อย่างเช่นค่ายฮีโน่ ก็ปล่อยให้ตระกูลรวมเมฆ ซึ่งมีชาติชาย รวมเมฆ ผู้เป็นประธานหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตัวแทนจำหน่ายฮีโน่ในจังหวัดสุพรรณบุรีไป โดยชาติชายก็ตั้งห้างหุ้นส่วนศรีพูนทรัพย์จำกัดขึ้นมาเพื่อขายรถฮีโน่ไป และห้างหุ้นส่วนนี้ก็เป็นของตัวชาติชายเอง ซื้อรถมาก็ต้องขายไปให้ได้

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ก็ยังทำไปด้วย ทำให้ความกว้างขวางและการสนิทสนมกับลูกค้ามีมากขึ้น ซึ่งผิดกับค่ายของสยามกลการที่เพียงส่งคนของตัวเองจากกรุงเทพฯ ไปตั้งบริษัทกลการในต่างจังหวัด คนเหล่านี้นอกจากไม่มีความสนิทสนมและเหตุผลที่จะติดต่อธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าแล้ว กิจการก็ไม่ใช่เป็นของตัวเองอีกด้วย การทำงานก็เพียงรับเงินเดือนหนึ่งๆ ความเร่งร้อนในการทำงานจึงสู้พวกที่เป็นตัวแทนจำหน่ายไม่ได้

ข้อนี้เป็นข้อด้อยของค่ายสยามกลการ หากไม่มีการแก้ไขกันแล้ว คาดว่าคงยังต้องยึดครองอันดับบ๊วยของรถบรรทุกประเภทนี้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอนที่สุด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us