นุกูล ประจวบเหมาะ เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2472 อายุ 57 ปี (ปี
2529) พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบการศึกษาชั้น ม.8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย คว้าปริญญาตรีพาณิชย์ศาสตร์บัณฑิตกลับมาเมื่อปี
2495
เริ่มทำงานครั้งแรกที่กระทรวงการคลังในตำแหน่งเศรษฐกร ทำงานไปได้พักหนึ่งก็เดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยยอร์ชวอชิงตัน
สหรัฐอเมริกา สำเร็จมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ระหว่างที่เรียนอยู่ก็ฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไปด้วย
ปี 2500 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคลัง กรมบัญชีกลาง
ปี 2502 เดินทางไปทำงานที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ในสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง
เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี 2507 เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง ในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างถนนสายต่างๆ
ที่ใช้เงินกู้จากธนาคารโลก และเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงคนแรกที่ไม่ได้จบมาทางด้านวิศวกรรม
นุกูล ประจวบเหมาะ เล่าถึงอดีตของตนช่วงที่เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวงให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า "ตอนนั้นคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์) เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ
ในเวลาเดียวกันก็เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาทางหลวงไปด้วย
เวลานั้นได้เกิดการขัดแย้งทางด้านความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ คือ ธนาคารโลก
กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพัฒนาการและกรมทางหลวง ในเรื่องนโยบายที่จะพัฒนาทางหลวงต่อไปในอนาคต
ฝ่ายหนึ่งมีความคิดเห็นว่า ในเมื่อจะมีการลงทุนสร้างทางกันแล้วก็ควรจะสร้างให้สมบูรณ์ตามหลักสากล
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการทำแบบนั้น จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง เสียเวลามาก
เอากันแค่ถนนลาดยางและปรับปรุงถนนลูกรังก็พอ
ปัญหาอีกประการหนึ่งในเวลานั้นก็คือกรมทางหลวงกู้เงินจากธนาคารโลกเป็นเงินกู้รายแรก
แต่เวลาได้ล่วงเลยไปถึง 2 ปีแล้วก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ทางธนาคารโลกจึงเกิดความไม่พอใจ
ในฐานะเจ้าหนี้จึงคิดจะตั้งรองอธิบดีฝ่ายบริหารที่ไม่ใช่ช่วง เขาหาคนอยู่ก็หาไม่ได้
ผมกลับมาจากเมืองนอกเขาก็ส่งคนมาทาบทามทันที"
นุกูลทำงานอยู่ที่กรมทางหลวงเป็นเวลาถึง 10 ปี ได้ปรับปรุงระบบงานหลายอย่าง
จนทำให้กรมทางหลวงสามารถประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนั้นยังขยายการสร้างทางออกไปทั่วทุกแห่งทั้งประเทศ
ถนนหนทางที่ได้มาตรฐานกระจายออกไปสู่จังหวัดต่างๆ ที่ห่างไกล ความเจริญได้แผ่ขยายออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว
ผลงานครั้งนั้นของนุกูลจึงได้รับการกล่าวถึงอยู่มาก
จากกรมทางหลวงก็มาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังในปี 2517 ในสมัยที่บุญมา
วงศ์สวรรค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำงานอยู่ตำแหน่งนี้ได้ประมาณ
6 เดือน สมหมาย ฮุนตระกูล เกิดความขัดแย้งกับ สมัคร สุนทรเวช กับสวัสดิ์
อุทัยศรี เป็นอธิบดีกรมนี้ เกิดการสไตรค์ขึ้นในโรงกษาปณ์ สมหมายเลยย้ายสวัสดิ์มาลงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังแล้วย้ายเอานุกูลไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์แทนเป็นการสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน
"ผมเข้าไปอยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน เข้าไปถึงปรากฏว่าคุณสวัสดิ์แกทิ้งเรื่องไว้กองพะเนินเทินทึก
เรื่องที่ดินอะไรต่างๆ ทั่วประเทศ ผมก็ไปสางจนเสร็จ ระหว่างนั้นผมก็ออกกฎหมายให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังรับผิดชอบที่ดินของราชพัสดุทั้งหมดทั่วประเทศ
ซึ่งเมื่อก่อนนี้อำนาจยังเป็นของกระทรวงมหาดไทย พอทำเรื่องเสร็จคุณบุญชู
(โรจนเสถียร) ก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างนั้น ดร.อำนวย
วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงการคลัง คุณบุญชูมาตามผมไปบอกว่า ผมต้องไปอยู่กรมสรรพากร"
นุกูลเล่าถึงชีวิตในหน้าที่การงานของตนช่วงที่ย้ายจากอธิบดีกรมธนารักษ์ไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร
"ระหว่างผมเป็นอธิบดีกรมสรรพากรนั้น อำนวย (วีรวรรณ) เป็นปลัดกระทรวงการคลังได้พักหนึ่งก็ถูกปลดออก
ผมจำได้ว่าวันที่อำนวยมีเรื่องวันสุดท้ายนั้น ผมขับรถไปประชุมที่กระทรวงการคลังพอดี
พอไปเจอเขาที่ประตูหน้ากระทรวง อำนวยกำลังจะโบกรถแท็กซี่กลับบ้าน เพราะคืนรถประจำตำแหน่งไปแล้ว
ผมก็เลยรับเขากลับบ้าน"
นุกูลเล่าถึงความสัมพันธ์ฉันเพื่อนระหว่างตนกับ ดร.อำนวย วีรวรรณ ที่เป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ
เพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน ของกลุ่มสยามกลการ ในขณะนั้น
อยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ได้ 3 ปี ครึ่ง ซึ่งนุกูลยอมรับว่า งานที่นี่หนักมาก
พอถึงปี 2521 ก็ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ถัดมาปี 2522 ก็ย้ายเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการของนุกูล
"ตอนที่ผมเข้าไปแบงก์ชาตินั้นก็หนักใจน่าดู เรียกว่าไม่มีความสบายใจเลย
จำได้ว่าผมไปพบคุณเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อพบกันผมก็เรียนท่านไปอย่างตรงไปตรงมาว่า
ท่านอย่าเอาผมไปเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติเลย เพราะผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องธนาคารเลย
ปัญหาเวลานี้ก็รุนแรงเหลือเกิน หากผมไปแล้วเกิดมีอะไรเสียหายขึ้นมา มันจะกระทบไปถึงท่านด้วยนะในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีคลัง
ท่านก็บอกกับผมว่า นุกูล เรื่องนี้ผมเลือกคุณ ถ้าเสียหายผมรับผิดชอบเอง ท่านพูดอย่างนี้แล้วจะให้ผมตอบว่าอย่างไร
ท่านไม่ยอมให้ผมปฏิเสธเลย" นุกูลเล่าถึงเบื้องหลังการได้รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาวะเศรษฐกิจช่วงที่นุกูลเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นช่วงที่มีปัญหามากมาย
ตั้งแต่เรื่องการขาดดุลการค้ามหาศาล ปัญหาทรัสต์ล้ม แบงก์ล้ม เรื่องต่างๆ
เหล่านี้ประดังเข้ามาเหมือนมรสุมลูกใหญ่ซัดเอานุกูลต้องโซไปเซมา แต่ก็หาทำให้เขาย่อท้อไม่
นโยบายในการแก้ปัญหาถูกกำหนดออกมาเป็นระยะๆ โดยธนาคารแห่งประเทศ นโยบายที่สำคัญๆ
ก็มี นโยบายควบคุมสินเชื่อ 18% ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวงการธุรกิจ
บรรดาพ่อค้าทั้งรายเล็กรายน้อยที่เคยใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อย่างคล่องมือต้องหน้ามืดไปตามๆ
กัน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยกู้ เงินเบิกเกินบัญชีที่เคยได้รับก็ถูกตัดทอนให้ลดน้อยลงช่วงนั้นสถิติเช็คเด้งจึงพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์
เสียงสะท้อนในแง่ลบจึงเริ่มย้อนกลับมากระทบธนาคารแห่งประเทศไทย และเป้าหมายที่ถูกโจมตีอย่างหนักก็คือ
ตัวของนุกูลเอง นโยบายนี้ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2527 แล้วในที่สุดก็ถูกพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2527 โดยให้เหตุผลว่า
นโยบายดังกล่าวให้ผลเสียมากกว่าผลดี
ปัญหาเร่งด่วนประการต่อมาคือ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขความไร้เสถียรภาพของทรัสต์ซึ่งทำท่าจะไปไม่รอดอยู่หลายบริษัท
ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอให้จัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก และเรื่องนี้ถูกคัดค้านอย่างเต็มที่จากสมหมาย
ฮุนตระกูล ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น
จุดนี้เองเป็นจุดที่ทำให้นุกูลกับสมหมายขัดแย้งกันตลอดในเวลาต่อมา และนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ
เนื่องจากทั้งคู่ต่างก็มีนิสัยที่ใกล้เคียงกันคือ ต่างคนต่างมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง
นุกูลนั้นเข้าลักษณะยอมหักไม่ยอมงอ ในขณะที่สมหมายมีความเด็ดขาดในการทำงาน
ข่าวคราวขัดแย้งของคนทั้งสองจึงปรากฏออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ แล้วในที่สุดสมหมายได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจรปลดนุกูล
ประจวบเหมาะ ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 กันยายน
2527 โดยให้เหตุผลสั้นๆ เนื่องจากนุกูลอยู่ในตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งสืบแทน
นุกูลจึงมีอันต้องตกจากเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ซึ่งการปลดผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย
นุกูลได้ระบายความอัดอั้นในในออกมาให้พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยฟังในวันประกาศอำลาจากแบงก์ชาติว่า
"ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตำแหน่ง ที่มีความสำคัญเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบและเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและเป็นตำแหน่งที่ให้คุณประโยชน์แก่ธนาคาร
กลุ่มธุรกิจมากมาย และในเวลาเดียวกันโดยอำนาจหน้าที่อาจทำความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินได้เช่นกัน
ผมหวังว่าอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมคงจะไม่เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
แบบอย่างที่ไม่ดีนั้นก็คือ ผู้ว่าการจะต้องยอมอยู่ภายใต้การครอบงำ เป็นที่พอใจของนักการเมืองจึงจะอยู่ได้
เมื่อใดก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยปราศจากอิสรภาพในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
เมื่อไรก็ตามที่ผู้ว่าการจะต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมืองจึงจะอยู่ในตำแหน่งได้
เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของธนาคารชาติจะไม่มีเหลือ ทำนบกั้นความอยู่รอดเศรษฐกิจของประเทศจะพังทลายไปอีกทำนบหนึ่ง"
หลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนุกูลก็อยู่พักผ่อนกับบ้าน
โดยปฏิเสธไม่ยอมรับการขอร้องจากสมหมายที่จะให้ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
ชีวิตของนุกูลหลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นับได้ว่าเป็นชีวิตของคนว่างงานผู้ยิ่งใหญ่
มีคนมาทาบทามจะให้นุกูลเข้าร่วมงานด้วยหลายราย แต่นุกูลก็บอกปฏเสธหมดขออยู่เฉยๆ
ที่บ้านสักระยะหนึ่ง โดยให้เหตุผลเพียงสั้นๆ ว่า "ยังไม่พบงานที่ชอบและถูกใจ"
เวลาว่างส่วนใหญ่ของนุกูลจะหมดไปกับการเล่นกีฬา อ่านหนังสือ ดูวิดีโอ ปลูกต้นไม้
อาจเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดบ้างเป็นครั้งคราว ชีวิตช่วงนั้นจึงสุขสงบหลังจากที่ตรากตรำมากับงานอย่างหนัก
เขาจะตื่นแต่เช้าขับรถโตโยต้า โคโรน่า คู่ชีพไปตีเทนนิสที่สนามโปโลคลับ
จะกลับมาถึงบ้านอีกทีก็ประมาณ 10 โมงเช้า พักผ่อนอ่านหนังสือคลายอารมณ์ ส่วนช่วงเย็นก็จะนั่งดูข่าวหรือไม่ก็ดูหนังกำลังภายในเรื่องโปรด
หลังจากพักผ่อนได้ที่ ชาร์จแบตเตอรี่เต็มเปี่ยมแล้ว นุกูลก็ยื่นเรื่องขอกลับเข้ารับราชการที่กระทรวงการคลังอีกหนหนึ่งหลังจากที่สมหมาย
ฮุนตระกูล พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังไปแล้ว แต่เช้าวันที่ 16 เดือนตุลาคม
2529 สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้รับข่าวว่านุกูลได้ตัดสินใจเข้าทำงานที่บริษัทสยามกลการโดยจะมีการแถลงข่าวช่วงบ่าย
2 โมงที่ห้องประชุมชั้น 2 ของบริษัทสยามกลการ
ข่าวนี้สร้างความฮือฮาให้แก่วงการธุรกิจเป็นอย่างมาก พอได้เวลาแถลงข่าวจึงแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้สื่อข่าวร่วมร้อยที่สนใจจะได้คำตอบจากการตัดสินใจในครั้งของนุกูล
โดยเฉพาะประเด็นว่าอะไรเป็นเหตุให้นุกูลตัดสินใจเช่นนี้ สยามกลการจะมีอะไรปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่
ถาวร พรประภา ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า "ในสภาวะที่เศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทยท้าทายเหลือเกินนี้
ผมอยากจะเรียนให้ท่านทราบว่า เราจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้มากยิ่งขึ้น
ด้วยการเชิญนักบริหารอาชีพที่มีความสามารถสูงมีพลัง มีเวลาเต็มที่ให้มาช่วยกันบริหารบริษัทสยามกลการ
จำกัด ให้เจริญรุดหน้าไปข้างหน้า อย่างมั่นคง เป็นที่เชื่อถือของทุกๆ ฝ่าย
ผมจึงตัดสินใจเชิญคุณนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
มาเป็นประธานกรรมการของบริษัท และแต่งตั้ง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทชุดใหม่จึงประกอบด้วย คุณนุกูล ประจวบเหมาะ คุณปรีชา พรประภา
คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช คุณกวี วสุวัต และ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย โดยที่ผมจะดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ต่อไป"
คุณนุกูลนั้นรู้จักกับถาวร พรประภา มานานตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เพราะเคยเชิญถาวรไปพูดคุยเพื่อจะได้รับทราบความเคลื่อนไหวทางด้านการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรม
โดยต้องการฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนบ้างแทนที่จะฟังจากพวกแบงเกอร์แต่อย่างเดียว
"ผมยังแปลกใจมากที่ท่านโทรชวนผมไปทำงาน ผมเซอร์ไพรส์มาก เมื่อวันที่
2 กันยายน 2529 คุณถาวรเชิญผมไปทานข้าวแล้วชวนให้ผมมาทำงานที่นี่ แต่ตอนนั้นผมได้ยื่นใบสมัครกลับเข้าทำงานที่กระทรวงการคลังอยู่
จึงบอกให้คุณถาวรรอเดือนหนึ่ง พอเดือนหนึ่งผ่านไปคุณถาวรก็โทรมาเชิญผมไปทานข้าวอีก
ทางกระทรวงการคลังเขาก็เงียบๆ ไป ผมก็เลยจกลง เท่านั้นเอง ง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก"
นุกูลเช่าเรื่องที่ถูกถาวรทาบทามด้วยมาดขรึมตามแบบฉบับดั้งเดิม
"การที่ผมตัดสินใจเข้าทำงานที่สยามกลการก็มีเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ
ประการแรก ผมคิดว่าคุณถาวรเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ ซึ่งผมมองๆ ดูแล้วมีไม่ค่อยมากนักในสังคมแบบนี้
ท่านได้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีหลักฐานมั่นคง เวลานี้ท่านก็บอกตรงๆ
ว่ามีปัญหาบางประการที่มันขยายตัวมาแล้ว และการเอาคนนอกที่เป็นกลางเข้ามา
ถ้าผมไม่ส่งเสริมก็ขัดกับความรู้สึก เพราะใจผมอยากจะส่งเสริมระบบนี้อยู่แล้ว
อีกประการหนึ่งผมเห็นว่าธุรกิจภาคเอกชนเป็นงานใหญ่และผมก็ไม่เคยทำมาก่อน
ประกอบกับช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาต่างๆ มีมาก งานนี้จึงเป็นงานที่ท้าทาย"
นุกูลให้เหตุผลของการตัดสินใจเข้ารับงานที่สยามกลการ
"ก็เพราะท่านเป็นคนดี มีความสามารถผมจึงได้ไปเชิญท่านและผมให้อำนาจท่านเต็มที่
Free Hand เลย" ถาวรพูดถึงนุกูล