Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2529
สยามกลการหมดยุคถาวรหรือ "พรประภา"?             
 

 
Charts & Figures

ฐานะประกอบการกลุ่มสยามกลการปี 2528

   
related stories

ถาวร พรประภา คนที่มีทั้งโชคดีและโชคร้าย

   
search resources

สยามกลการ, บจก.
นุกูล ประจวบเหมาะ
ถาวร พรประภา
Auto Dealers




สัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางประการเกิดขึ้นกับกลุ่มสยามกลการมานานพอสมควรแล้ว เพียงแต่วิเคราะห์กันไม่ออกเท่านั้นว่า จะเปลี่ยนไปในรูปไหนได้แต่คาดเดากันไปหลายทิศหลายทางจนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2529 พร้อมๆ กับการเข้ามาของนุกูล ประจวบเหมาะ และการประกาศวางมือของถาวร พรประภา ทิศทางค่อยแจ่มชัดขึ้น เส้นทางเดินบนถนนชีวิตและบนถนนธุรกิจของถาวร เป็นมาอย่างไร จึงลงเอยได้ด้วยวันที่ 16 และมีอะไรอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์คือสิ่งที่ "ผู้จัดการ" กำลังจะบอก

การประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานกรรมการกลุ่มสยามกลการของ ถาวร พรประภา ย่อมมิใช่ความหมายเพียงถาวรไม่มีสิทธิ์ลงนามเพียงคนเดียว พร้อมประทับตราบริษัทในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทสยามกลการ จำกัด อันเป็นบริษัทแม่ที่มีสินทรัพย์เกือบๆ 6 พันล้านบาท และมีบริษัทในเครืออีกประมาณ 40 บริษัท เฉกเช่นที่เขาเคยมีอำนาจนั้นอย่างเด็ดขาดมาถึง 34 ปีเต็มเท่านั้น

ถาวรตั้งใจให้วันที่ 16 ตุลาคม 2529 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ผู้บริหารธุรกิจระบบครอบครัวขนาดใหญ่ ยอมลงจากเวทีอย่าง (ดูเหมือน) ไม่อาลัยอาวรณ์ และไม่มีใครคาดฝัน พร้อมกันนั้นเขาได้เชื้อเชิญ นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยมาดำรงตำแหน่งแทน

"ผมต้องการให้เป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าบริษัทใหญ่ที่เป็น family เขาจะหนีไม่พ้นเขาจะต้องมาทางนี้" ถาวรกล่าวอย่างภาคภูมิกับ "ผู้จัดการ"

มองกันเผินๆ สิ่งที่ถาวร พรประภา คิดและกระทำควรจะได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่งจากวงการธุรกิจในช่วงประวัติศาสตร์ "หัวเลี้ยวหัวต่อ" เช่นปัจจุบัน ยิ่งถ้าเป็นห้วงเวลาที่สยามกลการกำลังรุดหน้าไปด้วยแล้ว

แน่นอนย่อมไม่ใช่วันนี้ที่สยามกลการกำลังเผชิญปัญหาและมรสุมหลายประการ!

มันเป็นความสงสัยที่ "ปคลุม" อย่างหนาทึบพอประมาณต่อการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของสยามกลการ จึงทำให้เสียงสรรเสริญไม่ดังกังวานดั่งที่ถาวรคาดหวัง

"ผู้จัดการ" เชื่อว่าคงไม่มีคำตอบอันเป็นสูตรสำเร็จใดๆ มาคลี่คลายปมเหล่านี้ และเชื่อว่าความสงสัยที่ปกคลุมอย่างหนาทึบจะค่อยๆ กระจ่างใสเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตของสยามกลการ ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กับการ "ลงลึก" เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้ของถาวร พรประภา

บริษัทสยามกลการ มีอายุครบ 34 ปีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2529 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอายุของผู้ก่อตั้ง (Founder) และสร้างสรรค์ ถาวร พรประภา มันเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของชีวิตของเขาที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ที่ว่าเมื่อกล่าวถึงความสำเร็จของสยามกลการ กรุ๊ป จากวันนั้นมา มันเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2529 ถาวร พรประภา อายุครบ 70 ปี พร้อมๆ กับการที่บริษัทในเครือสยามกลการทั้งหลายต่างพาเหรดขึ้นตึกสำนักงานแห่งใหม่สูง 19 ชั้น ซึ่งสร้างขึ้นท่ามกลางความยากลำบากของสยามกลการในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการบริหาร

สยามกลการในยุคเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 7-8 ปี มิใช่การเริ่มต้น มิใช่การเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เป็นการสืบเนื่องจากร้านค้าขายของเก่าใหญ่โต "ตั้งทงฮวด" ของใต้ล้ง-เชง" ต้นตระกูลพรประภา และเกิดสยามกลการมีนัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ

หนึ่ง-คนหนุ่มวัย 36 ปีอย่างถาวร พรประภา ต้องถือว่ามีประสบการณ์ทางการค้าพอตัว มีความคิดของตัวเอง และเป็นคนหัวใหม่ในบรรดาผู้ประกอบการยุคนั้น เขามีความทะเยอทะยานทางธุรกิจและพร้อมจะ "ขบถ" ต่อครอบครัว มันเป็นทางแยกที่มีอนาคตของ "ตั้งทงฮวด"

สอง-สยามกลการเป็นธุรกิจ "บุกเบิก" ในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับญี่ปุ่นภายหลังที่ญี่ปุ่นบอบช้ำอย่างหนัก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ถาวร พรประภา ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในระดับดีและไม่เสียเปรียบ "ผมเซ็นสัญญาเป็นผู้แทนแรกในโลกนิสสันมอเตอร์" เขาว่า

"การค้านิสสันในระยะแรกลำบากมาก ขาดทุนเป็นเวลานานถึง 6-7 ปีโดยที่ระยะแรกข้าพเจ้าได้สั่งรถบรรทุกเข้ามาขาย ต่อมาก็สั่งรถประจำทางซึ่งต่อตัวถังสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นมาขายให้ รสพ. เป็นรถโดยสารประจำทางรุ่นแรก... นอกจากนี้ในระยะเริ่มแรกก็สั่งรถมาขายให้แก่ราชการด้วย แต่การขายทั้งสองคราวขาดทุน ข้าพเจ้าก็ยอมเพื่อเป็นการบุกเบิกตลาดรถนิสสันขึ้นในประเทศไทย..." ถาวร พรประภา เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำ เนื่องในโอกาสมีอายุครบ 60 ปี (16 พฤศจิกายน 2519) ผู้รู้อธิบายเพิ่มเติมว่าเพราะการที่เขามี connection กับกลุ่มซอยราชครูอย่างเหนียวแน่นซึ่งขณะนั้นมีอำนาจ (พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นผู้อำนวยการ รสพ.) การค้าที่เลวร้ายก็พอบรรเทาไปได้

"สำหรับในด้านรถยนต์นั่งนั้น ในตอนแรกการจำหน่ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะประชาชนยังไม่นิยมญี่ปุ่น ทำให้ข้าพเจ้าแทบหมดกำลังใจ..." อีกตอนในบันทึกความทรงจำของถาวรกล่าวไว้

ในช่วงประสบปัญหาการตลาดนั้น ถาวรบอก "ผู้จัดการ" ว่าทนขาดทุนอยู่ถึง 8 ปีเต็มๆ

"...ในที่สุดพนักงานบางคน เห็นว่าบริษัทคงจะไปไม่รอดแน่ จึงปลีกตัวลาออกไปทำงานที่อื่น บางคนก็หันไปรับราชการมีชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อบริษัทประสบวิกฤตการณ์อย่างหนักเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็เดินทางไปติดต่อกับนิสสันที่ประเทศญี่ปุ่น ไปพบนายคัทซึจิ คาวามาต้า ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานกรรมการแล้ว ข้าพเจ้าได้อธิบายเรื่องราวทั้งหมดอย่างเปิดอก ปรึกษาถึงความลำบาก อุปสรรคต่างๆ ท่านถามว่าจะให้ทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็ขอความช่วยเหลือทางด้านอู่บริการและอะไหล่ โดยขอให้นิสสันส่งคนเข้ามาช่วย การเงินก็ต้องช่วยให้เครดิตระยะยาว" ถาวรบันทึกในบันทึกความทรงจำตอนหนึ่ง

ปี 2505 บริษัทสยามกลการได้ร่วมมือกับนิสสัน ให้กำเนิดบริษัทสยามกลการและนิสสันขึ้นดำเนินงานโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรก อันเป็นโรงงานประกอบรถยนต์อย่างง่ายๆ และได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2503

"ช่วงนี้สยามกลการประสบวิกฤตมากซึ่งสะสมมานานแล้ว เกิดจากสภาพคล่องจนแบงก์กรุงเทพต้องส่งคนเข้าไปคุม" แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพว่า

สมัยนั้นบุญชู โรจนเสถียร เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งทำหน้าที่แทนชิน โสภณพนิช เกือบทั้งหมด ได้ส่งทีมงานเข้าควบคุมดูแลสยามกลการ โดยมีจงจิตต์ จันทมงคล หัวหน้าแผนกเงินกู้ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าทีม

จงจิตต์ จันทมงคล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการศูนย์บริการกลางธนาคารกรุงเทพเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สาเหตุของการขาดสภาพคล่องของสยามกลการ เนื่องมาจากเงินทุนรองรับการขยายกิจการไม่เพียงพอ "ผมอยากจะเรียกว่า 'ถ่อไม่ถึงดิน' ในอดีตนั้นเวลาแบงก์สนับสนุนทางการเงินจะระมัดระวังมาก ไม่ต้องการให้มาก เกรงว่าลูกค้าจะใช้เงินฟุ่มเฟือย ซึ่งขัดกับความเป็นจริงธุรกิจต้องการเงินในจำนวนพอเหมาะกับธุรกิจที่ขยายตัว" เขาเล่าเหตุการณ์ตอนนั้น

ธนาคารส่งสมุห์บัญชีมือดี-สังหรณ์ สุทธิสานนท์ เข้าไปงบดุลใหม่ มีการควบคุมการเปิดแอล/ซี และตรวจเช็กสต็อกสินค้า ขณะนั้นดำรง เลียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่สีลม ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีของสยามกลการ ได้เข้าประสานงานแก้วิกฤตการณ์กลการด้วยอีกคน

ดำรง เลียวสกุล ก็ยังได้มีส่วนรู้เห็นความเป็นไปในสยามกลการมาตลอด!

"ผมขออนุมัติเครดิตไลน์ให้สยามกลการถึง 1.5 ล้านปอนด์หรือประมาณ 90 ล้านบาท" จงจิตต์ กล่าวถึงจุดไคลแม็กซ์ที่สามารถช่วยสยามกลการให้พ้นวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้

บางกระแสข่าวกล่าวว่าโครงการร่วมทุน เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนและการตลาดระหว่างนิสสันกับสยามกลการนั้น ปัญหาข้อต่อสำคัฯคือการเรียนรู้เทคนิคทางเอกสารการค้าระหว่างประเทศของสยามกลการ ว่ากันว่า ที่ธนาคารเข้ามาควบคุมครั้งนั้นได้ช่วยแก้ปัญหาทางเทคนิคนี้ตกไปพร้อมด้วย "ผมเชื่อว่าค้าครั้งแรกการเปิดแอล/ซี ไม่สลับซับซ้อน แต่ต่อมาร่วมทุนตั้งโรงงานประกอบต้องเปิดแอล/ซี นำเข้าอุปกรณ์จำนวนมาก การบริหารด้านนี้ต้องอาศัยเทคนิคมากขึ้น" ฟังดูแล้วจะตลกสำหรับวงการค้ายุคนี้ เพียงแต่ยุคนั้นไม่ตลกอย่างยิ่ง

ถาวรกล่าวว่าญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนเพียง 3 ปีก็ถอนตัวไป โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงตั้งแต่แรก "ข้าพเจ้าจะลืมเสียมิได้ ท่านช่วยเราจริงๆ มิใช่หลอกใช้เราแล้วยึดเอาไปทำเอง เหมือนกับญี่ปุ่นบางบริษัทที่ตั้งเอเย่นต์แล้วตอนหลังยึดเอาไป ข้าพเจ้าจึงนับว่าโชคดีที่ได้พบคนดี" ข้อมูลจากบันทึกของถาวร พรประภา อ้าง บุคคลที่เขาอ้างถึงคือ คัทซึจิ คาวามาต้า ประธานกรรมการนิสสันขณะนั้น

ขณะเดียวกัน สังวรณ์ สุทธิสานนท์ ต่อมาได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหารในเครือสยามกลการหลายบริษัท กรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 แง่ หนึ่ง-สังวรณ์เป็นคนมีความสามารถ ถาวรประทับใจจึงดึงตัวเข้าทำงาน สอง-ถาวรใช้วิธีดึงคนจากธนาคารเข้าข้างตนในแง่ลบ (ข้อมูลตรงนี้ไม่มีใครกล้ายืนยันเต็มปาก)

วิกฤตการณ์สยามกลการครั้งนั้นได้ถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฟลูออไรด์ด้วย ถาวรเล่าว่าเขาได้ความคิดนี้มาจากญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศนั้นต้องการแร่ชนิดนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจนในที่สุดเขาก็ได้สัมปทานทำเหมืองชนิดนี้ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

จุดเริ่มต้นของธุรกิจเหมืองแร่โดยจุดประสงค์แท้จริงแล้ว ถาวร พรประภา มิได้เข้ามา "จับ" โดยตรง เพียงแต่เขาต้องการใช้ธุรกิจนี้สร้างสายสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจในแผ่นดินยุคนั้นหากินกับธุรกิจนี้เป็นล่ำเป็นสัน ส่งผลให้เมื่อปี 2503 เขาได้ร่วมมือกับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ตั้งบริษัทยูนิเวอร์เซลไมนิ่ง

"ข้าพเจ้าคิดทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์ในครั้งแรกนั้นเป็นเพียงงานอดิเรก คิดว่าลงทุนไปไม่เท่าไร แต่ที่ไหนได้ยิ่งทำไปเงินที่ลงทุนก็กลายเป็น 6-7 ล้านบาท และขาดทุนทุกเดือน ทุกปี ทั้งนี้เพราะแร่ฟลูออไรด์ราคาต่ำ เนื่องจากจีนแดงได้ส่งแร่นี้ออกสู่ตลาดโลก จึงทำให้ลำบากมาก ข้าพเจ้าท้อใจเกือบจะเลิกทำเสียแล้ว แต่ในที่สุดก็ลองรวบรวมทำอีกที โดยการปรับปรุงการบริหารงานใหม่ ปรากฏระยะหลังราคาแร่ฟลูออไรด์ในตลาดโลกสูงขึ้น จึงทำได้เป็นล่ำเป็นสัน…" ถาวร พรปรภา บันทึก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้าที่ระบุว่าประมาณปี 2513-2514 บริษัทในเครือสยามกลการหลายบริษัทได้ขอเพิ่มจุดประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้มุรกิจเหมืองแรรวมอยู่ด้วย

ในช่วงมีปัญหาเหมืองแร่ก็พอดีกับปัญหาวิกฤตการณ์สยามกลการด้านการขายรถนิสสัน จึงเป็นแรงกระหน่ำให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น!

ครั้นเมื่อสยามกลการฟื้นขึ้น กิจการเหมืองแร่ก็เริ่มดีขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้นช่วงที่ถาวร พรประภา มีความสุขมากก็คงเป็นช่วงปี 2512-2522 นั่นเอง

ก็ต้องยอมรับว่าการก้าวพ้นวิกฤตการณ์ครั้งแรกของสยามกลการนั้นเพราะ "ฝีมือ" ของ ถาวร พรประภา โดยแท้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ หนึ่ง-คุยกับญี่ปุ่นรู้เรื่อง สอง-สายสัมพันธ์ (connection) กับผู้มีอำนาจต่อเนื่องไม่ขาดสาย และเพราะประการที่ 2 นี้ก้ส่งผลโดยตรงต่อประการแรก

ถาวร รู้จักนายพลนาคามูระ อดีตแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านทางสาย "ซอยราชครู" ซึ่งนำพาเขาไปได้เป็นเอเย่นต์รถนิสสัน ครั้นเมื่อมีปัญหาก็ช่วยให้ถาวรคุยรู้เรื่องและเป็นที่เกรงอกเกรงใจมาตราบทุกวันนี้ก็ว่าได้

"คุณถาวรใช้ธุรกิจเหมืองแร่สร้างสายสัมพันธ์ต่อเนื่องจากราชครูมาถึงสี่เสาเทเวศร์ ก็เป็นผู้ที่รู้กันว่า จอมพลสฤษดิ์ ชอบทำธุรกิจเหมืองแร่และป่าไม้มาก ผ่านทางน้องชายคุณทองดุลย์ ธนะรัชต์ สหัท มหาคุณ (ถาวรเรียกว่าพ่อ) และพ่อเลี้ยงพงษ์สวัสดิ์ (สุริโยทัย) เจ้าของสัมปทานป่าไม้ใหญ่ทางภาคเหนือโดยตั้งบริษัทยูนิเวอร์แซลไมนิ่ง" อดีตพนักงานเก่าแก่ธนาคารกรุงเทพผู้ซึ่งรู้จักถาวร พรประภา ดีเล่าให้ฟัง

ต่อมาถาวร พรประภา ได้ต่อสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นเป็นพิเศษกับจอมพลประภาส จารุเสถียร (เคยเป็นประธานธนาคารกรุงเทพ) ผ่านความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับชิน โสภณพนิช ในฐานะ "คนซัวเถา" เหมือนกัน

สยามกลการเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งเมื่อรถนิสสันรุ่นบลูเบิร์ดเข้ามาประกอบในประเทศไทย พนักงานธนาคารกรุงเทพรุ่นเก่าคนหนึ่งเล่าว่า จุดข้อต่อสำคัญของสยามกลการก็คือการจำหน่ายรถให้กับหน่วยราชการได้คราวละจำนวนมาก ยุคถนอม-ประภาสเรืองอำนาจ ได้มีการเปลี่ยนโฉมรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ โดย "โละ" จากรถยนต์ยี่ห้อออสตินมาสู่นิสสันบลูเบิร์ดซึ่งปัจจุบันยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง

"ป้ายแท็กซี่มีราคาและใช้ค้ำประกันได้ตอนนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดจำนำไว้กับธนาคารกรุงเทพเพื่อนำเงินออกมาซื้อรถ ตามแผนรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์แท็กซี่ของแท็กซี่ของจอมพลประภาส" พนักงานคนเดิมกล่าว

แม้กระทั่งเมื่อเขามีปัญหารถอัลฟา โรเมโอ ขายไม่ออก ถาวร พรประภา ก็สามารถโละให้กองกำลังรักษาพระนครไปทั้งล็อตเลย!

ว่ากันว่า ถาวร พรประภา เก่งที่สามารถทำศึก 3 ด้านชนะได้ในเวลาเดียวกัน ปัญหาการตลาดรถขายไม่ออก ธนาคารจะเข้ามาควบคุมและกระชับสัมพันธ์ธุรกิจกับญี่ปุ่นที่เกื้อกูลสยามกลการมากๆ

การก่อตั้งบริษัทกลการ เพื่อเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์นิสสันในต่างจังหวัดก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีมากๆ ในยุคเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่าการตั้งบริษัทสยามกลการ นอกจากจะวางเครือข่ายการตลาดในตลาดรถยนต์อย่างกว้างขวางแล้วก็เป็นการกระจายทรัพย์สินของสยามกลการ เขามองว่าในขณะนั้นสยามกลการเขามองว่าในขณะนั้นสยามกลการดำเนินกิจการภายใต้การสนับสนุน 2 ทาง คือการได้รับเครดิตชำระเงินระยะยาวจากนิสสันแห่งญี่ปุ่นและวงเงินกู้จากธนาคาร โดยเฉพาะ ธนาคารกรุงเทพ

"ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาคุมสยามกลการจึงต้องล้มเหลวไป แม้ธนาคาเองก็ตาม" เขาเน้น

สำหรับถาวร พรประภา แล้วเขาเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ได้ความคิดในการตั้งเอเย่นต์ในต่างจังหวัดทั้งหมดเป็นกิจการของสยามกลการ ดำเนินการภายใต้นโยบายเดียวจากศูนย์กลางและทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของสยามกลการ "ผมได้ไอเดียมาจากบริษัทซิงเกอร์"

ถาวรมีประสบการณ์ว่าการตั้งเอเย่นต์ลักษณะดังกล่าวสามารถควบคุมการหมุนเวียนของเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงการค้ารุ่งเรืองจะได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการที่เงินขายรถไม่ต้องไปติดค้างอยู่ที่เอเย่นต์หากเป็นคนนอก ในทางตรงกันข้ามเมื่อใดสถานการณ์การค้าซบเซาลักษณะการจำหน่ายเช่นนี้จะเพิ่มภาระมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากมี operation cost ที่แน่นอน

ถาวรยอมรับว่าการตั้งเอเย่นต์ลักาณะนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในยุคเริ่มแรกเป็นวิธีที่ดี เพราะยอดขายมีแต่เพิ่ม แต่ปัจจุบันกลับสร้างปัญหาไม่น้อย

นักบริหารมืออาชีพซึ่งรู้จักถาวรดีพูดถึงเขา และยกย่องว่าถาวรเป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอันแปรปรวนตลอดเวลาได้ดี ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสที่ดีจากสถานการณ์เหล่านั้น

ในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โหมพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นในระยะไล่เลี่ยกับระบบธนาคารพาณิชย์ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในระดับ 16 ธนาคารทั้งไทยและเทศ อันเนื่องมาจากการกระตุ้นทางภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการสินเชื่อหรือบริการความสะดวกด้านบริหารเงิน เป็นเหตุให้ในช่วงประมาณปี 2515-2516 ธุรกิจกู้ยืมเงินในรูปบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์เกิดขึ้นจำนวนมาก

ถาวร พรประภา ได้จดทะเบียนบริษัทดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัทพรประภา (ปี 2512 ) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัทเงินทุนพรประภา บริษัทสยามไฟแนนซ์ (ปี 2512) ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัทสยามลิสซิ่ง และบริษัทเอสเอ็ม ทรัสต์ (ปี 2514) ต่อมาเป็นบริษัทเอสเอ็มลิสซิ่ง

ทั้ง 3 บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจด้านเช่าซื้อสนับสนุนการค้ารถยนต์ในเครือสยามกลการเป็นส่วนใหญ่

ใครๆ ก็ว่าสยามกลการในห้วงเวลานั้นเริ่มติดลมบนแล้ว!

หากจะกล่าวในทางยุทธวิธีแล้ว การขยายตัวของสยามกลการในห้วงเวลาปี 2508-2518 เป็นการก้าวกระโดดที่สุดในช่วง 34 ปีของสยามกลการเลยทีเดียว

ก้าวแรก-แก้ปัญหา "สภาพคล่อง" ติดตามด้วยวางพื้นฐานด้านการประกอบรถยนต์อย่างง่ายๆ ในประเทศ เป็นการลดต้นทุนการผลิต และวางพื้นฐานการตลาดในขอบเขตทั่วประเทศ โดยใช้บริษัทกลการเป็นหัวหอก

ขั้นต่อมาขยายธุรกิจสนับสนุนการค้ารถยนต์ให้ครบวงจรทั้งทางด้าน Finance Support และการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น

ในประการหลังนั้นความจริงได้เริ่มบ้างแล้วในบางจุด เช่น บริษัทสยามจีเอสแบตเตอรี่ใน ปี 2509 ร่วมทุนกับญี่ปุ่นผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ แต่ขยายตัวอย่างเป็นระลอกคลื่นในปี 2516 เป็นต้นมาหรือ อาทิ บริษัท สยามกีกิผลิตเครื่องปรับอากาศรถยนต์ บริษัทสยามเอ็นจีเค สปาร์ค ผลิตหัวเทียน บริษัทสยามไดกิ้น ผลิตเครื่องปรับอากาศและอะไหล่ และบริษัทสยาริคเก้นท์ อินดัส เตรียมผลิตกระบอกสูบ ซึ่งก็ต้องใช้ know-how จากญี่ปุ่นทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็แยกธุรกิจการค้าอะไหล่ต่างหากออกไปจากเดิม อันเนื่องมาจากวงจรการค้ารถยนต์ได้ขยายมากขึ้น

การก้าวกระโดดในช่วงนี้สุดยอดอยู่ที่การเปิดโรงงานประกอบตัวถังรถยนต์ที่กิโลเมตร 21 ถนนบางนา-ตราด ในปี 2518 (เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2516) โดยได้รับการสนับสนุนจากนิสสันประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

หลังจากนั้นถึงปี 2525 การขยายตัวยการลงทุนหรือธุรกิจจะเป็นไปในลักษณะ "แตกตัว" เช่นแยกบริษัทจัดจำหน่ายออกจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งประปรายไม่มากนักและไม่มีนัยสำคัญ หากจะมีส่วนที่ผิดแผกออกไปก็มีเพียงกิจการเดียวคือ Trading Company ตั้งบริษัทเอสเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพอ้างว่าเพราะไม่มีประสบการณ์

ท่ามกลางการขยายตัวของสยามกลการซึ่ง peak ที่สุดประมาณกันว่าใกล้ๆ จะถึงปี 2520 ถาวร พรประภา เป็นเพียงผู้นำและผู้ก่อตั้งที่สำคัญมากๆ คนเดียวเท่านั้นหรือ?

คำตอบก็คือไม่ใช่!

คนแรกที่มีส่วนสนับสนุน แบ่งเบาการงานทั้งหลายทั้งปวงของเขามากที่สุดก็คือ อุษา พรประภา ภรรยาคนเดียว (ตามกฎหมาย) ซึ่งถาวร พรประภา บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเธอคือยอดหญิง

หากจะพูดถาวรคือหน้าตาของสยามกลการ อุษาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสยามกลการโดยแท้!!

อุษาเป็นภรรยาคนสำคัญที่สุด และเพียงคนเดียวที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจสยามกลการตั้งแต่ต้น เป็นประธานบริษัทในเครือหลายบริษัท ทั้งเป็นรองประธานในกิจการหลักๆ ของสยามกลการ ตำแหน่งที่แท้จริงก็คือ ผู้ควบคุมด้านการเงินทั้งหมดของสยามกลการ

ถาวรบอกว่าอุษาเป็นภรรยาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย (หมายถึง น้องและลูกๆ) และนี่ก็คือจุดหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะมีอุษาปัญหาลูกต่างแม่ของถาวรจึงแทบจะเรียกว่าไม่เคยปะทุ หรือ "ความขัดแย้ง" มิได้ออกมากระทบแก่ธุรกิจเลยก็ว่าได้

งานด้านปฏิบัติประจำวันอุษาจะเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ถาวรจึงมีเวลาคิดและดำเนินการด้านการตลาดที่มองไปข้างหน้า คุมงานนโยบาย

บุญชู โรจนเสถียร อดีตผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ผู้เคยสั่งทีมงานเข้าแก้วิกฤตการณ์สยามกลการในยุคแรกๆ เคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาของสยามกลการในเวลานี้ว่า "อุษาเก่งมาก ถ้ายังอยู่ถาวรคงไม่ลำบากเช่นทุกวันนี้"

อุษา พรประภา เป็นโรคมะเร็งในกระเพาะ อำลาโลกไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2522 จึงนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของ "พรประภา" ในรายงานการประชุมของบริษัทในเครือสยามกลการที่สำคัญๆ เกือบ 10 บริษัทได้บันทึกไว้อย่างเจาะจงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการมาแทนนั้นในที่ประชุมต้องยืนไว้อาลัยอุษาหนึ่งนาที

พร้อมๆ กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของอุษา ได้นำพาซึ่งเค้าของความยุ่งเหยิงในตระกูล "พรประภา" และสยามกลการอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2522-2523 เมืองไทยได้รับผลสะเทือนอย่างรุนแรงอันสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง และติดตามมาด้วยการลดค่าเงินบาทในปี 2524 บันทึกผลประกอบการบริษัทสยามกลการนับย้อนหลังจากปี 2529 ไป 10 ปี มีเพียงปี 2523 เท่านั้นที่ประสบการขาดทุนถึงประมาณ 70 ล้านบาท

ปี 2522 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องเข้ากระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทยรายงานไว้ในสรุปข่าวธุรกิจว่า ผู้ประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนตกที่นั่งลำบาก การดำเนินงานผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น ตามนโยบายของทางการเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและเทคนิคยุ่งยาก จนกระทั่งผู้ผลิตหลายรายต้องหยุดทำการผลิต

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2525 อันเป็นวันครบรอบ 30 ปี ของสยามกลการ มิสเตอร์โยโกยามา รองประธานอาวุโสนิสสันแห่งญี่ปุ่นได้กล่าวสุนทรพจน์มีความนัยว่า สยามกลการจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง "นิสสันมอเตอร์อยู่ตลอดเวลาที่จะเข้าช่วยเหลือสยามกลกการอย่างเต็มที่" เขาว่า

ผู้รู้กล่าวสยามกลการเป็นเพียงแห่งเดียว เป็นตัวแทนจำหน่ายรถนิสสันในต่างประเทศที่นิสสันไม่มีส่วนเข้ามาถือหุ้นและบริหารเลย ทั้งที่นิสสันมีความพยายามอยู่ตลอดเวลา ถาวร พรประภา ก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "นิสสันพยายามเข้ามา (ร่วม) ถือหุ้น แต่เขาเกรงใจผม เพราะผมเป็นผู้บุกเบิก (ตลาดต่างประเทศ) ให้"

ถาวรเล่าว่าเขาสนิทสนมกับประธานกรรมการนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นหลายรุ่น คนสุดท้ายเสียชีวิตไปเมื่อต้นปี 2529 อันเป็นที่กังขากันว่า ผู้บริหารนิสสันในรุ่นหลังยังจะจำประวัติศาสตร์ยากลำบากของถาวรในการบุกเบิกตลาดรถนิสสันในประเทศไทยได้หรือไม่?

ด้านการตลาดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างบริษัทกลการซึ่งดำเนินกิจการตัวแทนจำหน่ายในต่างจังหวัดในขอบเขตทั่วประเทศผู้อยู่ในวงการค้ารถยนต์กล่าวว่า ตรงจุดนี้เป็น "รูโหว่" อันสำคัญของสยามกลการ

"เป้าหมายของเซลส์เอเย่นต์ต่างจังหวัด คือขายรถใหม่ให้ได้ รวมทั้งการเปลี่ยนรถเก่าเข้ามามักจะมีการการแจ้งราคาเกินจริง หรือตั้งราคาสูงเกินไป พวกเขาไม่คิดว่ารถเก่าเหล่านี้คือสต็อกที่ขายออกยากต้นทุนก็เลยจมอยู่จำนวนมาก ทางบริษัทก็เลยต้องเจ็บตัวหลายต่อ เท่าที่ทราบเขามีรถเก่าค้างสต็อกอยู่จำนวนหลายพันคันในเวลานี้"

ว่ากันว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นตรงนี้ไม่น้อย!

ภาวะการค้าแร่ฟลูออไรด์ตกต่ำอย่างมากตั้งแต่ปี 2525 วารสารเศรษฐกิจธนาคารกรุงเทพรายงานเนื่องมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าซึ่งเป็นแหล่งใช้แร่ฟลูออไรด์เป็นวัตถุดิบมากที่สุด "และก็เช่นเคยคือราคาในตลาดโลกตกต่ำแต่ราคาต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้น และอีกเหตผลหนึ่งเนื่องมาจากการทุ่มตลาดออกขายของสาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นตลาดสำคัญที่ซื้อฟลูออไรด์จากประเทศไทย ในปี 2525 ปริมาณการส่งแร่ฟลูออไรด์เท่ากับ 174,317 ตันในมูลค่า 318 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้ลดลงไปถึงร้อยละ 35"

ธุรกิจเหมืองแร่และการค้าแร่ฟลูออไรด์ของสยามกลการก้ประจวบมาเผชิญวิกฤติการณ์ในคราวเดียวกันกับรถยนต์อีกครั้งหนึ่งจนได้!

วิกฤติการณ์ได้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2528 และปี 2529 ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2528 มูลค่าส่งออกฟลูออไรด์เหลือเพียง 150 ล้านบาท และ 4 เดือนแรกของปี 2529 ส่งออกมีมูลค่าเพียง 24 ล้านบาท นับเป็นปริมาณที่ลดต่ำอย่างน่าใจหายจริงๆ

วงการธนาคารพาณิชย์เชื่อว่าวิกฤติการณ์นี้ซัดกระหน่ำสยามกลการไม่น้อยคิดเป็นเงินก็คงหลายร้อยล้านบาท หลายคนเชื่อว่านี่เป็นมูลเหตุพื้นฐานก่อนหน้าวิกฤติการณ์ค่าเงินเยนแข็งที่ไม่ว่าถาวร พรประภา หรือนุกูล ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริหารสยามกลการชอบอ้างถึง

ในเวลาเดียวกันกิจการใหม่ที่สยามกลการพยายามขยายฐาน อาทิ เครื่องดนตรี เครื่องเสียงยี่ห้อยามาฮ่า รวมไปถึงกิจการ Trading Company ล้วนเป็นตัวดึงมากกว่าจะดันหรือพยุงเครือข่าย

ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาได้มารวมศูนย์ที่การบริหารงานของ Paramount Leader อย่างถาวร พรประภาไม่เพียงจะต้องแบกหนักดำเนินกิจการหลายพันล้านบาทโต้คลื่นเศรษฐกิจแล้วยังต้องบริหารครอบครัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย

ปี 2528 จึงเป็นปีที่เขาทำงานหนักมากที่สุดในชีวิตก็ว่าได้เป็นการทำงานในช่วงวัยชราของเขาไม่เอื้ออำนวยเสียด้วย

และแล้วหนังสือ "ด่วนมาก" ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 ที่ลงนามโดยถาวร พรประภา ก้จึงต้องร่อนถึงผู้บริหารทุกบริษัทในเครือสยามกลการ ตามหนังสือฉบับนั้น อ้างภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ซึ่งกระทบต่อกิจการของกลุ่มสยามกลการ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถยนต์ เป็นที่มาของนโยบาย 7 ประการ ซึ่งเนื้อหาหลักคือการใช้มาตรการต่างๆ มาลดค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบ ลดจำนวนพนักงานลดเงินเดือน รวมไปจนถึงยุบแผนกงาน-บริษัทที่ไปไม่รอด

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งอ้างแหล่งข่าวในสมาคมอุตสาหกรรมกล่าวถึงการประกาศลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ของสยามกลการว่า นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาสยามกลการประสบภาวะฝืดเคืองมาตลอด แม้จะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายโดยแทบจะไม่ได้รับพนักงานเพิ่มเลยในปี 2528 แต่ก็ยังตึงมืออยู่ทั้งยังไม่เห็นว่าปี 2529 สถานการณ์จะดีขึ้นด้วย

ธนาคารกรุงเทพรายงานว่าปี 2528 เป็นปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ตกต่ำที่สุด ปริมาณการจำหน่ายรถชนิดต่างๆ ลดลงประมาณ 25% โดยที่รถยนต์นั่งลดลงมากที่สุดถึง 30.8% ทั้งยังได้อ้างวาเหตุว่ามี 3 ประการ หนึ่ง-ได้รับผลกระทบจากการจำกัดสินเชื่อในช่วงต้นปี 2528 อันทำให้การปรับราคาสูงขึ้นประมาณ 10% สาม-ภาวะพืชผลตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลงโดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในต่างจังหวัด

ตอนนี้ยังไม่มีใครอ้างอันเนื่องมาจากค่าเยนแพงมากๆ แต่อย่างใด!

แผนการลดค่าใช้จ่ายดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นเมื่อปลายปี 2528 สยามกลการประกาศไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานทุกคน รวมไปจนถึงโบนัส-สวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับลงอย่างมาก ในส่วนระดับผู้บริหารมีการลดเงินเดือนกันด้วย ถาวรอ้างกับระดับผู้บริหารสยามกลการว่าจำต้อง "ผ่าตัด" เพื่อความอยู่รอด ไม่จำเป็นต้องห่วงภาพพจน์มากนัก เป็นทำนองไม่ต้องเกรงว่าข่าวออกไปในทางไม่ดีแล้ว

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 สยามกลการประกาศยุบบริษัทปริ๊นมอเตอร์ โรงงานประกอบรถยนต์ หลังจากที่ได้ประกาศยุบมาแล้วโรงงานหนึ่งชื่อสยามเจอนาราลเอสเซมบลี โดยตั้งใจจะให้เหลือเพียง 2 โรงงาน คือบริษัทสยามกลการและนิสสันและโรงงานประกอบตัวถังของบริษัทสยามอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันก็ยุบบางแผนกงานงานมารวมกันหลายหน่วยงาน "ช่วงนี้หากคุณเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน กลับมาอาจไม่มีเก้าอี้นั่งแล้ว เพราะเขายุบหน่วยงานของคุณ" พนักงานสยามกลการกล่าวขวัญกันอย่างสะใจ ว่ากันว่าถาวร พรประภา สวมวิญญาณเช่นเดียวกับเมื่อ 30 ปีก่อนตัดสินใจเพียงคนเดียว "ท่านนึกจะยุบตรงไหนก็ยุบไป" มืออาชีพคนหนึ่งบ่นอุบ

เป้าหมายการลดพนักงาน 20% ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเพลาปัญหาพนักงานไปแล้ว ในเดือนเมษายนได้มี "ฟ้าผ่า" เกิดขึ้นในระดับบริหารระดับสูง โดยเจาะจงสำหรับคนนามสกุลพรประภาเท่านั้น

พรทิพย์ ณรงค์เดช กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงิน ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งใหม่อีกตำแหน่งหนึ่ง พรเทพ พรประภา น้องชายพรทิพย์ลูกแม่เดียวกัน ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการค้า (กรุงเทพฯ) คุมแผนกงานขายหน่วยราชการ แผนกรถเก่าและบริการแผนกการตลาด และแผนกอะไหล่ ในฝ่ายเดียวกันนี้ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายค้า (ต่างจังหวัด) ได้แก่ พรพินิจ พรประภา ลูกคนละแม่กับพรเทพ ซึ่งดูแลแผนกส่งเสริมการขายและโฆษณา และศูนย์บริการอันเป็นแผนกงานที่เผชิญหน้ากับพรเทพและเขาเคยมีบทบาทมากกว่าก่อนด้วย

บุญชู โรจนเสถียร วิจารณ์การบริหารธุรกิจระบบครอบครัวว่ามิใช่ไม่ดีทั้งระบบ ทั้งนี้ต้องพิสูจน์ภายใต้การบริหารเช่นว่านี้ จะฝ่าฟันวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ได้หรือไม่ เขาเน้นว่า ถาวร พรประภา กำลังอยู่ในสงครามนี้

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใน "พรประภา" สลับฉากกับการลดค่าใช้จ่ายดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการยุบศูนย์บริการโชว์รูม

แต่ธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ไม่ยอมให้ข่าวแพลมออกมาข้างนอกแม้แต่แอะเดียว

ซึ่งในทางความเป็นจริง ถาวร พรประภา ต้องเดินเข้าๆ ออกๆ ธนาคารกรุงเทพเป็นว่าเล่น (ปกติท่านจะไปธนาคารกรุงเทพวันละกี่ครั้งไม่มีใครสนใจ เพราะท่านเป็นถึงกรรมการธนาคาร) ผลการเจรจาต้าอ่วยได้ผลผลิตออกมาเป็นมาตรการ 2 ข้อ

อันแรก-ถาวรได้นำหลักฐานการเช่าซื้อรถยนต์ไปเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันวงเงินกู้จากธนาคาร สอง-ประกาศนโยบายใหม่เอี่ยม ตัดสยามกลการจำกัดออกจากบริษัทในเครือ "เราจะพิจารณาเป็นบริษัทๆ ไป บริษัทไหนดีเราจะช่วยให้วงเงินกู้ หากบริษัทแย่ เราอาจเสนอให้เพิ่มทุนหรือให้ยุบเลิกไปเลย แต่กอนถ้าเครือสยามกลการมากู้ส่วนใหญ่จะใช้บริษัทสยามกลการค้ำประกัน เราก็ให้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว" ผู้บริหารสินเชื่อระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ อธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ส่วนการถือหลักฐานการเช่าซื้อมาค้ำประกันเป็นหลักทรัพย์ได้นั้น ก็นับได้ว่า "ผ่อนคลาย" ด้านสภาพคล่องสยามกลการได้พอสมควร ทั้งนี้เพราะ "สยามกลการมีลูกหนี้เช่าซื้อมาก" เจ้าหน้าที่คนเดิมสรุป

เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2529 นโยบายนี้ก็ถูกประกาศออกไป

หลังจากข่าวด้านลบออกไปอย่างมากมาย คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ลูกสาวคนโปรดถาวรได้ออกโรงเปิดข่าวในแนวรุกบ้าง ด้วยการประกาศนโยบายส่งเสริมคนหนุ่ม ส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตย ทั้งจะนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในสำนักงาน (ตามสูตร) ผู้สังเกตการณ์วิเคราะห์การการะทำของคุณหญิงพรทิพย์ว่าราวกับเธอแสดงเป็น "ทายาท" สืบต่อถาวร ที่ใครๆ กำลังพูดถึง หนังสือธุรกิจบางฉบับออกโรงเชียร์เธออย่างออกหน้า

ไม่มีใครพูดถึงปัญหาหนี้สินของสยามกลการว่ามีมากน้อยแค่ไหน?

ในช่วงนั้นเองพิษของค่าเงินเยนแพงก็ถูกอ้างถึงสาเหตุของการตกต่ำต่อเนื่องของรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น

การที่ค่าเงินเยนสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2528 เป็นต้นมาได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างมาก ตั้งแต่ต้นปี 2529 รถยนต์ญี่ปุ่นถูกค่ายยุโรปตีถอยร่นมาตลอด มันเป็นมูลเหตุที่ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นได้เล็งเห็นความสำคัญในการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังมีบทเรียนประสบความสำเร็จด้วยดีในสหรัฐฯ มาแล้ว แผนการโยกย้ายโรงงานผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นออกนอกประเทศจึงเป็นแนวโน้มทั่วไป

ภายในประเทศไทยมิตซูบิชิประเดิมได้ตกลงร่วมทุนกับสิทธิผลมอเตอร์ กับสหพัฒนายานยนต์ เริ่มโรงงานประกอบเมื่อประมาณกันยายน 2529

สำหรับนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นนั้นตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ได้ถูกโตโยต้าแซงขึ้นหน้าครองแชมป์รถขายดีในญี่ปุ่นแล้วสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศก็ใช่ว่าจะดีนัก โดยเริ่มกระโจนสู่สหรัฐฯ เป็นรายที่ 2 รองจากฮอนด้าเมื่อปี 2526 พร้อมการลงทุนกับอัลฟาโรมีโอในอิตาลี ต่อมาก็ในอังกฤษและสเปน

ด้านเอเชียนั้นนิสสันยึดหัวหาดที่ไต้หวันผลิตตัวถังรถยนต์ ขณะนี้ทำการส่งออกไปแอฟริกาใต้ การลงทุนในอัตราส่วน 25 : 75 ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วตลาดนิสสันในเอเชียนั้นอยู่ที่ประเทศไทย และมาเลเซียและเป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ตกลงกับมิตซูบิชิในการผลิตรถยนต์แห่งชาติที่เรียกว่า "Proton Saga" ผลิตออกตีตลาดนิสสันและโตโยต้ายับเยินพอใช้

ดังนั้น ประเทศไทยจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง การร่วมทุนหรือย้ายโรงงานอันเป็นช่วงพอดีที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมผลิตเครื่องยนต์ด้วย

ทั้งก็สามารถแก้ปัญหาต้นทุนสูงหรือลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวให้กับสยามกลการในประเทศไทยด้วย แผนการของนิสสันจึงได้รับการยอมรับโดยง่ายจากสยามกลการ

ข่าวบางกระแสกล่าวว่า "เครื่องมือ" สำคัญในการเจรจาครั้งนี้ของนิสสันอยู่ที่วงเงินแอล/ซี ที่สยามกลการเปิดไปในการซื้อชิ้นส่วนในระยะยาวโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกให้ "วงเงินแอล/ซี ของสยามกลการที่เปิดโดยธนาคารเราประมาณปีละ 1 พันล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 100 ล้านบาทเศษ ในระยะ 2 ปีมานี้ปริมาณการสั่งซื้อหรือนำเข้าลดลงประมาณ 40% แต่วงเงินก็ยังคงเดิม" ดำรง เลียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" อย่างเป็นทางการ

"เทอมของแอล/ซี สั่งสินค้าเข้ามา สยามกลการพยายามเจรจากับนิสสันให้ขยายมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผลกระทบจากค่าเงินเยนแพง" แหล่งข่าวกล่าว

เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่าในระยะหลายเดือนมานี้ สยามกลการได้เจรจาแผนการร่วมลงทุนกับนิสสัน จนในที่สุดแผนการใหญ่นับเป็นพันๆ ล้านก็สามารถลงตัวได้ เขาเชื่อว่าเป็นโครงการประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศรวมทั้งส่งออก ส่วนโครงการผลิตเครื่องยนต์ซึ่งต้องรอบีโอไอนั้น ยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ดูจะขัดแย้งกับคำตอบที่ถาวร พรประภา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า นิสสันกับสยามกลการจะเริ่มโครงการผลิตรถยนต์ก่อนจะไปสู่การประกอบรถยนต์โดยชิ้นส่วนในประเทศจำนวนมากส่งออก ซึ่งข้อมูลของถาวรนี้สอดคล้องกับ Yoshino กรรมการบริหารนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารภาษาอังกฤษ Asiaweek ขณะนั้น

เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพยืนยันว่าโครงการนี้ธนาคารกรุงเทพจะต้องถือหุ้นอย่างแน่นอน

และนี่ก็คือ Global Plan ตามความหมายของถาวร ซึ่งมีความหมายเป็น Nissan Plan ในความหมายของนิสสัน!

"Global Plan หมายถึงสถานการณ์ทั้งโลกถือเป็น Family เดียวกัน ถือว่าสยามกลการและนิสสันมอเตอร์ควรจะมาร่วมกันในประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าเขามีของดีราคาถูกเราก็จะเอาจากประเทศนั้นมาผลิตภายในประเทศ แล้วส่งรถยนต์ออกไปขายต่างประเทศ แล้วส่งรถยนต์ออกไปขายต่างประเทศใน Area ของญี่ปุ่น ที่นิสสันอนุมัติแล้วมี ไต้หวัน มาเลเซีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์" ถาวรอธิบาย

ข่าวการประกาศร่วมทุนกับนิสสันออกมาครั้งแรกราวกลางเดือนกรกฎาคม ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2529 บริษัทสยามกลการได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทใหม่ 2 คน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ และจิตรเกษม จีรแพทย์ ลูกหม้อเก่าแก่ ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป (อาวุโส) ฝ่ายการตลาดบริษัทสยามกลกาซึ่งดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ

การเข้ามาเป็นกรรมการของ ดร.วิชิต ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ว่ากันว่าก่อนหน้านี้ ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการสยามกลการเองแต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ การเข้ามาในสยามกลการของ ดร.วิชิต นอกจากจะใช้ความรู้พิเศษด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งสยามกลการบอบช้ำไม่น้อยแล้ว ก็จะเป็นผู้คุมงานด้าน Finance สำหรับโครงการร่วมทุนระหว่างนิสสัน-สยามกลการ-ธนาคารกรุงเทพ ด้วย

"แต่ผมว่าเฉพาะหน้าคือ ดูแลเงินกู้ก้อนใหญ่สำหรับสยามกลการที่ธนาคารกรุงเทพเพิ่งอัดฉีดเข้าไปแก้ปัญหาสภาพคล่อง" แหล่งข่าวผู้รู้เรื่องดีกล่าว

บริษัทสยามกลการใช้บริการธนาคารกรุงเทพประมาณ 70% ที่เหลือเป็นธนาคารกรุงไทย ศรีนคร เชสแมนฮัตตัน แบงก์ ออฟ อเมริกา เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน( ปี 2527-2529) สยามกลการก็เคยกู้เงินตราต่างประเทศในตลาดสิงคโปร์ ใน Sibor Rate โดยไม่ได้ผ่านธนาคารกรุงเทพแต่ผ่านธนาคารเชสแมนฮัตตันและธนาคารแห่งอเมริกา

"เราเพิ่งตกลงผ่อนปรนหนี้สินเดิมประมาณ 1,000 ล้านบาทออกไป โดยยืดการชำระออกไป 7-8 ปีในขณะเดียวกันก็กำลังอัดฉีดเงินก้อนหนึ่งประมาณ 7-800 ล้านบาท เป็นเงินกู้ครั้งใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่เป็นลูกค้ามาเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง" เจ้าหน้าที่ระดับสูงธนาคารกรุงเทพเปิดเผยข้อมูล

เขาเน้นว่าปัญหาสภาพคล่องของสยามกลการไม่ได้ร้ายแรงดุจอุตสาหกรรมเสถียรภาพแต่อย่างเดียว!!

ทั้งหมดก็เป็นที่มาของวันที่ 16 ตุลาคม 2529 วันที่ถาวร พรประภา ประกาศอำลาตำแหน่งประธานกรรมการสยามกลการ โดยนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติเข้ารับตำแหน่งแทน ทำเอา "Surprise" กันทั่วหน้า

กรรมการบริหารใหม่มีคนนอก 2 คน คนตระกูล "พรปรภา" 2 คน คือ ปรี พรประภา (น้องชายถาวร) และ พรทิพย์ ณรงค์เดช อีกคนคือ "หลงจู๊" เก่าของสยามกลการ คือ กวี วสุวัต

นายธนาคารอาวุโสคนหนึ่งเชื่อว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพมีบทบาทในการทาบทามนุกูล ประจวบเหมาะ

"คุณถาวรแกอยากได้คุณพารณ อิศรเสนาฯ ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ ตั้งใจจะรอให้เกษียณซึ่งก็ถึงปีหน้าแต่ผู้ใหญ่ธนาคารใหญ่ไม่ยอม" แหล่งข่าวใกล้ชิดถาวร พรประภา กล่าว

แม้ว่าถาวร พรประภา จะยืนยันกับ "ผู้จัดการ" การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของสยามกลการนี้ไม่มีเรื่อง "ใครจะมาบีบหากผมไม่ยอม" ก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ได้ตอบคำถามแทนถาวรไปเรียบร้อยแล้ว

ภาระหน้าที่อันหนักอึ้งข้างหน้าของสยามกลการดูเหมือนได้ผ่านบ่าของถาวร พรประภา มาสู่นุกูล ประจวบเหมาะแล้ว ซึ่งนุกูลก็คงต้องเหนื่อยต่อไปในบั้นปลายชีวิต เพราะเขาเป็น Unfinished Symphony ดังที่เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นิสสันก็คงประสบช่องได้เข้าควบคุมตลาดสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น ตามความต้องการอันยาวนานให้เป็นไปตาม Strategy ทั่วไปของนิสสัน ถาวรได้สิ่งตอบแทนคือคำว่า Global Plan นั่นเป็นสิ่งที่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์คาดเดา ทั้งระบุแนวโน้มทั้งระบบญี่ปุ่นจะต้องเข้ามาเมืองไทย

ระบบครอบครัวที่ "ขัดแย้ง" พร้อมจะปะทุกันตลอดเวลาอันเกี่ยวเนื่องมาสู่การบริหารสยามกลการนั้น นุกูล ประจวบเหมาะ จะต้องเผชิญและแก้ไขในฐานะเขาเป็น "ตัวกลาง" ส่งผ่านระบบครอบครัวไปสู่สิ่งที่ก้าวหน้ากว่า

สำหรับถาวร พรประภา ว่าไปแล้วการตัดสินใจของเขาครั้งนี้ก็สมกับเป็น Pioneer ในธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ของไทยอย่างที่ตั้งใจ แม้ว่าในสนามสงคราม ดังที่บุญชู โรจนเสถียร กล่าว ผลจะออกมาว่าเขาเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะก็ตาม

เพราะประวัติศาสตร์ของคนรุ่นเขาและระบบที่เขาสร้างกับอุตสาหกรรมรถยนต์อันเติบโตและพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดอาจได้เกิดทางแยกตรงนี้จริงๆ !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us