ธุรกิจสถาปนิกเดินหน้าด้วย "ไอเดีย" จุดเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุน
แปลนอาคิเตคเริ่มต้นด้วยมันสมองของคน 7 คนรวมกัน ค่อย ๆ สะสมทุนจากไม่มีเลย
จนถึงวันนี้ธุรกิจของพวกเขามีสินทรัพย์แล้วประมาณ 50 ล้านบาท ท่ามกลางการขยายธุรกิจออกไปหลายแขนงอันเกี่ยวข้องกับการออกแบบ
และสิ่งสวย ๆ งาม ๆ
พวกเขารวมตัวกันครั้งแรกที่คณะสถาปตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พวกเขาประกอบด้วย ธีรพล นิยม ครองศักดิ์ จุฬามรกต วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ อำพล
กีรติบำรุงพงษ์ สันติพงษ์ ธรรมธำรง เดชา สุทธินันท์ และพิมาย วิระพรสวรรค์
(ภรรยาวิฑูรย์)
"สำนักงานสถาปนิกครั้งแรกตั้งอยู่ที่บ้านแม่ยายผม แถว ๆ บางโพ ผมสร้างเป็นเรือนหอเล็ก
ๆ เพียง 7-8 หมื่นบาท" ธีรพล นิยม 1 ใน 7 ผู้ก่อการกล่าว
การรวมตัวครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากจบการศึกษากันมาแล้ว 3 ปี เวลาที่เสียไปเพราะธุรกิจขายหนังสือซึ่งเริ่มต้นรวมตัวกันนอกมหาวิทยาลัย
ครั้งแรกเมื่อ ปี 2517
พวกเขาล้วนเป็นเด็กบ้านนอก ส่วนใหญ่บ้านเกิดอยู่ปักษ์ใต้ ล้วนเรียนหนังสือเก่ง
ๆ และปีท้าย ๆ ของการเรียนในมหาวิทยาลัยพวกเขาเป็นนักกิจกรรมจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ส่งผลดีต่อการทำงานในเวลาต่อมา
ปี 2520 เริ่มตั้งสำนักงานสถาปนิกได้งานครั้งแรกที่จังหวัดชุมพรออกแบบก่อสร้างโรงแรมภราดรอินน์
มูลค่าก่อสร้าง 38 ล้านบาท "คุณครองศักดิ์ มีพื้นเพที่ชุมพรจึงได้งานเพราะคนรู้จักกัน
เป็นงานที่พวกเขาตัดสินใจเริ่มต้นรวมตัวกันตั้งสำนักงาน" เพื่อนสนิทพวกเขาคนหนึ่งบอก
"เราคิดกันว่าในเมืองน่าจะมี ทาวน์เฮ้าส์ เป็นบ้านซึ่งไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
เสียค่ารถ เราออกแบบ พีเอส ดีเวลล็อปเมนท์เป็นเจ้าของโครงการ ทำกันหลายโครงการ"
ธีรพล เล่าว่าเป็นจุดที่พวกเขาได้งานมากขึ้น เพราะเป็นเจ้าของ "ไอเดีย"
ทาวน์เฮ้าส์ครั้งแรก ๆ ในกรุงเทพฯ
โครงการเหล่านั้นได้แก่ ศาลาแดงทาวน์เฮ้าส์ มูลค่า 5 ล้านบาท แสงเงินทาวน์เฮ้าส์
มูลค่า 6 ล้านบาท สันติสุขทาวน์เฮ้าส์มูลค่า 8 ล้านบาทเป็นต้น
ในระยะแรก ๆ งานของพวกเขาที่ได้จะมาจาก 2 ทาง เริ่มต้นที่ต่างจังหวัดกับงานขนาดย่อมในกรุงเทพฯ
ในปีที่ 3 พวกเขากระโดดไปหากินถึงสิงคโปร์ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนวิทยายุทธครั้งสำคัญ
ปี 2522 ธุรกิจเริ่มปักหลักและแตกแขนงในเวลาเดียวกัน จดทะเบียนบริษัทแปลนอาคิเตคอย่างเป็นทางการ
ขณะเดียวกันก็ตั้งบริษัทแปลนดีเวลล็อปเมนท์ ร่วมโครงการพัฒนาที่ดิน สร้างและจัดสรรทาวเฮ้าส์
ธีรพลยอมรับว่าจุดนี้เป็นจุดก้าวกระโดดในการสะสมทรัพย์สิน และขยายตัวออกไปอย่างมาก
"ถึงแม้มีเงินพวกเราใช้เงินอย่างประหยัด เงินเดือนเพียงคนละ 2,500 บาท
ได้แค่นี้อยู่หลายปี"
ในช่วงนี้แปลนอาคิเตคมีรายได้และกำไรเป็นล้านๆ บาทแล้ว!
"เราพยายามขยันทำงานและตรงไปตรงมากับคนที่ใช้บริการเรา ผมว่ามันเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เรามีเครดิต
เราก็ได้รับความไว้วางใจเราทำโครงการ REAL ESTATE กำไรเป็นของเราค่าที่ดินเป็นของเขา"
ธีรพลคุย
หลังจากปี 2522 เป็นต้นมา แปลนอาคิเตคก็ได้ขยายกิจการและแตกแขนงออกไปหลายทางมากขึ้น
ตั้งแต่ REAL ESTATE MANAGEMENT (แปลนดีเวลล้อปเมนท์) บริษัทแปลนทอย (เดิมชื่อแปลนครีเอชั่น)
ผลิตของเด็กเล่นส่งออก ซึ่งเพิ่งจะขยายกิจการลงทุนเพิ่มเกือบ 20 ล้านบาททั้งได้รับการส่งเสริมจาก
บีโอไอ. และกู้เงินจาก ไอเอฟซีที. เมื่อไม่นานมานี้ด้วย บริษัทแปลนกราฟฟิค
(เดิมชื่อกราฟฟิค อินเตอร์ฯ) ผลิตสิ่งพิมพ์รายงานประจำปี ปฏิทิน และไดอารี่ต่าง
ๆ ในงานที่เรียกว่า GRAPHIC DESIGN ธุรกิจที่ใกล้เคียงกันนี้คือ บริษัทแปลน
พับลิชชิ่ง ดำเนินงานหนังสือรักลูกและโรงพิมพ์แปลนพริ้นติ้งเฮ้าส์
นอกจากนี้ยังเปิดร้านเสื้อผ้า-วิทวิทที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง และสยามเซ็นเตอร์
"แปลนอาคิเตคและแปลนทอย ดูจะไปได้ดีกว่ากิจการอื่นๆ" ผู้ใกล้ชิดกลุ่มนักธุรกิจหนุ่มกลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกต
"เรา DIVERSIFIED ออกไปก็เพื่อมารองรับบริษัทออกแบบแปลนอาคิเตคของเรา
ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสให้คนของเราฝึกฝนพวกเขาขึ้นมา อีกประการหนึ่งเราคิดว่างานบริการ
(ออกแบบ) ในอนาคตจะหาเงินมากๆ ลำบาก เราเลยต้องลงทุน เพื่อให้ได้เงินมามากๆ
และเป็นกิจการที่มีคุณภาพ ซึ่งก็นับว่าโชคดี" ธีรพลร่ายยาว
ถึงไม่บอกชัดก็พอจะทราบว่าพวกเขาเริ่มทำธุรกิจเป็น หลังจากเดินเครื่อง
DIVERSIFIED ธุรกิจ
"พวกเราพยายามทำความเข้าใจธุรกิจตอนต้น ๆ ก็ไปเชิญเพื่อน ๆ ที่เรียน
MBA มา LECTURE ไม่งั้นเราไม่รู้เรื่องเหมือนกัน" ธีรพล แจงถึงพัฒนาการของพวกเขาที่มาจาก
ACTIVIST มีความคิดทางการเมือง และมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปทางพัฒนาคนและเพื่อสังคมมากไปในระยะแรกๆ
"บางบริษัทเราไม่ตั้งเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุดเช่นบริษัทผลิตหนังสือ
เรารู้สึกว่าหนังสือจะเป็นสื่อให้อะไรกับสังคมได้บ้าง"
ปี 2525-2527 เป็นช่วงที่แปลนอาคิเตคได้งานมาก ได้รับรางวัลออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น
วงการนี้ยอมรับว่าแปลนอาคิเตคเป็นท็อปเท็น
โครงการใบหยกทาวเวอร์ อาคารสูงที่สุดในกรุงเทพฯ มูลค่า 280 ล้านบาทสำนักงานใหญ่
ปตท. มูลค่า 400 ล้านบาท ชาญอิสระทาวเวอร์มูลค่าก่อสร้าง 150 ล้านบาท ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือออกแบบของพวกเขา
แปลนอาคิเตคได้รับรางวัลออกแบบดีเด่นตากอาคารคอนโดมิเนียม "สิทธาคาร"
ศูนย์เรียนรวมแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
เป็นต้น
ความสำเร็จของพวกเขาเกิดขึ้นจาก "มันสมอง" ของพวกเขาโดยแท้!
สถานการณ์ธุรกิจสถาปนิกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก มีการแข่งขันกันมากขึ้น การ
DIVERSIFIED สู่ธุรกิจอื่น ๆ ของพวกเขาที่ดำเนินการและวางรากฐานมาประมาณ
5 ปีก่อนจึงเป็นการมองการณ์ไกล
ลักษณะการบริหารของแปลนกรุ๊ปเริ่มจากคณะกรรมการ 7 คนเป็นผู้กุมนโยบายและแผนงาน
โดยแบ่งงานให้กรรมการแต่ละคนรับผิดชอบโดยตรง อาทิ ธีรพล รับผิดชอบแปลนอาคิเตค
แปลนดีเวลล็อปเมนท์ วิฑูรย์รับผิดชอบแปลนทอย พิมายบริหารร้านเสื้อผ้าวิทวิท
เป็นต้น "แต่ละบริษัทเราพยายามให้มีแผนงาน มีระบบงบประมาณ จะได้รู้ว่ากองกลางจะสนับสนุนการเงินอย่างไร
คณะกรรมการบริหารของกลุ่มประชุม 3 เดือน/ครั้ง" ธีรพลเล่าและว่าแปลนกรุ๊ปให้ความสำคัญของการประชุมมากถึง
30% ของการทำงานทีเดียว" แต่หากมีปัญหาใหญ่ก็จะเปิดประชุมทันที ซึ่งมันไม่ค่อยเกิด"
จุดเด่นของแปลนกรุ๊ปจึงอยู่ตรงที่คณะกรรมการสามัคคีกัน ถึงมีความเห็นขัดแย้งกัน
ก็สามารถแก้ตกในที่ประชุมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกมาระเบิดนอกห้อง อย่างไรก็ตามบางคนของพวกเขาก็ยอมรับความอะลุ้มอล่วย
เป็นจุดอ่อนในการบริหารของแปลนกรุ๊ป
"แต่ละบริษัทจะต้องทำงบประมาณของตัวเองขึ้นมา ถ้าไม่พอ จำเป็นต้องใช้เงินเราก็จะประชุมคณะกรรมการกลุ่มว่าเรามีเครดิตไลน์ที่ไหน
หรือถ้าไม่พอจะทำอย่างไร จะชวนคนมาร่วมหุ้นหรืออย่างไร เรามีสมุห์บัญชีคนหนึ่ง
ไม่ใช่ 7 คนนี้นะเรียก FINANCE DIRECTOR และจะมีนักบัญชีรับผิดชอบแต่ละบริษัทขึ้นต่อ
FINANCE DIRECTOR ส่วนการวางแผนด้านการเงินในลักษณะด่วนมาก ผมจะทำโดยปรึกษากับเพื่อน
ๆ ก่อน" ธีรพล ในฐานะรับผิดชอบด้านการเงินของกรุ๊ปโดยตรงกล่าว
แปลนกรุ๊ปค่อนข้างโชคดีที่ได้รับการยอมรับจากธนาคารพาณิชย์ไม่ยากเหมือน
YOUNG ENTREPRENUER คนอื่น ๆ เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ และจับต้องได้"
เขามีฝีมือเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจออกแบบก่อสร้าง และของเล่นเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
แล้วเสี่ยงน้อยกว่า" คนวงการธนาคารแสดงความเห็น
แปลนเริ่มกู้เงินธนาคารในยุคที่ CONDOMINEUM บูมในปี 2524-25 ซึ่งธุรกิจของเขาได้งานออกแบบชนิดนี้ในระดับแนวหน้า
แปลนกรุ๊ปย้ายออกจากบ้านแม่ยายของธีรพลมาเช่าอาคารที่สีลม และเมื่อต้นปี
2529 นี้เอง คณะกรรมการได้ตัดสินใจโยกย้ายแผนกงานต่างๆ มาอยู่อาคารสำนักงานที่เพิ่งสร้างเสร็จของตนเองบนเนื้อที่เช่า
"เราก็ใช้เงินธนาคารไทยพาณิชย์มาสร้างค่าก่อสร้างประมาณ 8 ล้านบาท"
ผู้บริหารคนหนึ่งบอก
หากใครผ่านซอยศึกษาวิทยา บริเวณป่าช้าซึ่งเป็นบริเวณสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะดีนักจะพบอาคารสถาปัตยกรรมแปลก
ๆ นั่นคือสำนักงานใหญ่ของแปลนกรุ๊ปทุกวันนี้ พวกเขาตั้งใจจะทำซัพพลีเมนท์โฆษณาตนเองในหนังสือพิมพ์เหมือน
ๆ ธุรกิจอื่น ๆ เช่นกัน
พวกเขาเป็นแบบฉบับของคนหนุ่มสมถะมาก ๆ ทุกคนแทบจะไม่มีใคร "แยกวง"
ตั้งธุรกิจต่างหาก ยกเว้นธีรพลซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริษัททำ REAL ESTATE แห่งหนึ่งและมีหุ้นในกิจการปั๊มน้ำมันในสหรัฐฯ
ส่วนอื่น ๆ ยังรวมกันอยู่ใน "กงสี" นี้โดยทั้ง 7 คนมีเงินเดือนเท่ากันประมาณ
2 หมื่นบาท พวกเขาเป็นศิลปินชอบเดินทางชอบท่องเที่ยวและเล่นกีฬา
ปัญหาธุรกิจของพวกเขาที่สำคัญคือการตลาด อาทิหนังสือรักลูกเคยขาดทุนมาก
ๆ ถึง 2 ล้านบาท ต้องพยายามพยุงฐานะจนดีขึ้นในปัจจุบัน ร้านอาหารก็เคยประสบปัญหาขาดทุนเรียบร้อย
2 ล้านต้องเลิกไป
และอุตสาหกรรมของเล่นเด็กซึ่งประสบปัญหาในช่วงแรก ๆ
"เราลงทุนช่วงต้น ๆ 4-5 ล้านบาท มันเป็นของใหม่ และไม่เคยทำเรื่องการตลาดมาก่อนเลย
กว่าจะทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นก็ใช้เวลาถึง 3 ปี สายป่านเกือบหมด"
ธีรพลยอมรับ
การแก้ปัญหาต้องระดมความคิดกัน!
คนที่ทำเรื่องการตลาดมากที่สุดเห็นจะได้แก่วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการแปลนทอย
"เรื่องออเดอร์ที่เราผลิตไม่ทัน เราก็ต้องบอกเขาตรง ๆ หรือเราบอกเขาตรง
ๆ ว่าตอนนี้ผมจะให้คุณครบ แต่เราไม่มั่นใจว่าจะควบคุมคุณภาพได้หรือไม่ ทำให้เขามั่นใจเรามากขึ้น
เราไม่ทำธุรกิจแบบตีหัวเข้าบ้าน เขารู้ว่าเรารับผิดชอบ...เราภูมิใจมากที่สุดที่ขายให้ญี่ปุ่นได้
เพราะญี่ปุ่นขายยากที่สุด" วิฑูรย์ เคยกล่าวถึงยุทธวิธีการตลาดของเขาบางส่วนในนิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่ง
ธีรพลกล่าวว่าปัจจุบันแปลนกรุ๊ปมีกิจการแตกออกไปหลายประเภท แนวคิดต่อไปของพวกเขาก็คือสร้างคุณภาพของกิจการ
มากกว่าจะขยายกิจการใหม่ ๆ เขาเชื่อว่าถึงแม้กิจการสถาปนิกจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อต่างประเทศพาเหรดเข้ามา แต่กิจการที่ขยายไปมากวันนี้ลดความเสี่ยงได้มาก
"เราขยายกิจการไปแล้วสร้างคนทำงานไม่ทันเมื่อธุรกิจใหญ่การประสานงานต้องทำมากขึ้น
เราพยายามให้ผู้ร่วมงานมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเรามากขึ้น จนถึงวันนี้มีผู้ถือหุ้นเดิมขายให้เพื่อนร่วมงานไปมากแล้ว"
ธีรพล นิยมกล่าวตอนท้าย