Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2529
เกียรติชัย บุญพร้อมสรรพ ไฝโปรดิวส์กับธุรกิจเสื้อฟ้า "เปรี้ยว"             
 

   
related stories

เถ้าแก่ยุคใหม่พลังอันน้อยนิดแต่วิญญาณธุรกิจยิ่งใหญ่

   
search resources

Clothings
เกียรติชัย บุญพร้อมสรรพ




การทำงานแบบ One Man Show ในวันนี้ยังใช้ได้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่นที่การตัดสินใจซื้อเกิดจากความพอใจมากกว่าเหตุผล...เกรียติชัย บุญพร้อมสรรพ หรือ "ไฝ" เข้าใจเรื่องนี้ เขาจึงมีโอกาสเกิดและเวียนว่ายอยู่ในธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับวัยรุ่นด้วยการเริ่มจากเงินพันเมื่อวันวาน...เป็นเงินล้านในวันนี้

ขณะนี้ไฝอายุ 24 ปี เขาเคยเป็นเจ้าของร้านเสื้อ ALFAFA จำนวน 2 ร้านที่เดอะมอลล์ ขณะนี้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ไฝโปรดิวส์ และมีร้านบูติคอยู่ 2 ร้าน บนชั้น 2 และ 3 สยามเซ็นเตอร์ ขนาดประมาณห้องละ 30 ตร.ม. ซึ่งต้องเสียค่าเซ้งตกห้องละ 400,000-500,000 บาท มีโรงงานขนาดเล็กสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ทั้งมีช่างประจำอีก 6 คน

ไฝไม่เคยเรียนดีไซน์ ไม่เคยเรียนตัดเสื้อผ้า ไม่เคยเรียนการตลาด ไฝมาจากครอบครัวคนจีนที่ไม่มีธุรกิจของตนเองมาก่อน แต่ไฝทำธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่น เกี่ยวกับเสื้อผ้ามาเกือบ 5 ปีแล้ว ไฝทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาโดยตลอด...

ครอบครัวของไฝก็เหมือนกับครอบครัวคนจีนทั่วไปที่นิยมการมีลูกมาก ไฝจึงมีน้องถึง 9 คน เมื่อตอนเรียนมัธยมไฝไม่จำเป็นต้องดิ้นรน เพราะพี่ ๆ หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว มาถึงช่วงที่ไฝเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ปี 1 พี่ ๆ แต่งงานและแยกครอบครัวออกไปถึง 4 คน รายได้ที่มาจุนเจือครอบครัวจึงลดน้อยลงไป

สถานการณ์ทางครอบครัวบีบบังคับให้ไฝต้องเริ่มหากินเลี้ยงชีพ

ไฝเป็นเด็กหนุ่มท่าทางกรีดกรายและสนใจเรื่องสวย ๆ งาม ๆ เป็นทุนอยู่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ทางครอบครัวช่วงนั้นบีบบังคับให้ไฝต้องจับตามองกระแสการทำมาหากินต่าง ๆ

ปี 2525 ไฝอายุได้ 19 กำลังเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 1 ช่วงนั้นสินค้ากิฟช็อปกำลังบูม วัยรุ่นเมืองไทยเริ่มมีอุกรณ์ตกแต่งร่างกายและของใช้ที่เป็นลักษณะเฉพาะที่เก๋ไก๋มากขึ้น ไม่ใช่ยุคแห่งแบบฟอร์มหรือเสื้อยืดกางเกงยีนส์ตัวเดียวอีกต่อไปแล้ว กระแสวัฒนธรรมลักษณะนี้จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากมาย โดยเฉพาะลักษณะที่เป็นแบบญี่ปุ่น "ไฝ" จับกระแสนี้ได้ทันที

"ช่วงนั้นไฝรู้สึกว่ากิฟช็อปกำลังบูมคือสังเกตจากพวกกระเป๋า เข็มขัด เห็นเขาคาดกันเป็นของญี่ปุ่น ไฝเลยคิดทำขึ้น โดยไม่ได้เลียนแบบเขา แต่ว่าทำเป็นแบบ HAND MADE ขายพวกนักศึกษาในธรรมศาสตร์ด้วยกัน แล้วเขาก็บอกต่อ ๆ กันไป"

เงินทุนแรกเริ่มที่มีไฝได้จากการขายสินค้าถูกจังหวะเวลาบวกกับการใช้ปากเป็น

ปี 2525 เสื้อยืดที่มีตราสัตว์ติดหน้าอกเป็นที่นิยมกันมาก ไฝเกิดด้วยการขายเสื้อยืดในงานออกร้านขายสินค้าในธรรมศาสตร์งานหนึ่ง

"ไฝเอาเสื้อยืดตราจระเข้ของอามาขายตอนจะเอามาขายยังไม่มีที่เลย ไม่รู้จะไปวางตรงไหน ก็ไปขอกับผู้จัดการสหกรณ์ไปพูดกับเขาดี ๆ บอกเราเป็นนักศึกษายังเรียนอยู่อยากหารายได้พิเศษ เขาก็ให้ที่วางขาย เป็นแค่โต๊ะเล็ก ๆ ตัวเดียวเท่านั้นก็เอาเสื้อไปวางขายได้"

จากการขายเสื้อครั้งแรกไฝได้กำไรพันกว่าบาท

สถานการณ์ในธรรมศาสตร์เมื่อ 3-4 ปีก่อนนั้นมีส่วนช่วยเสริมสร้างโอกาสให้ไฝมาก ช่วงนั้นมีงานออกร้านบ่อย ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงนิทรรศการ งานครบรอบ 50 ปี ฯลฯ และไฝก็ไม่เคยพลาดโอกาสร่วมออกร้านแม้สักครั้งเดียว โดยสินค้าที่นำไปขายก็เป็นสินค้าที่เขาทำขึ้นเอง

นอกจากจะนำสินค้าที่ทำเองออกขายในงานออกร้านตามแต่โอกาสแล้ว ไฝยังไปฝากขายตามร้านกิฟช็อป เช่น ร้านเม็ดทราย ร้านแมงมุม เมื่อฝากขายได้สักพักไฝก็เริ่มคิดได้ว่า การถูกหักค่าฝากขายถึง 30% นั้นมากเกินไป...ไฝเริ่มคิดงานใหญ่ขึ้น

ปี 2526 สินค้าที่เป็นกิฟช็อปน่ารัก ๆ เริ่มซาลง แต่สินค้าที่เป็นแฟชั่น เป็นบูติคเริ่มแรงขึ้น ช่วงนั้นไฝไม่อยากเสียค่าฝากขายจำนวนมาก และเริ่มมีเงินทุนจากการออกร้านขายสินค้าในธรรมศาสตร์มากขึ้น ประกอบกับจับกระแสเครื่องประดับที่ใช้กับแฟชั่นได้ ไฝจึงก้าวอีกก้าวด้วยการขายส่งสำเพ็ง

"ที่ทำส่งสำเพ็งเป็นพวกเข็มขัด กระเป๋า ต่างหู เป็นของที่ใช้กับเสื้อผ้าแฟชั่น ไม่ใช่ของน่ารัก ๆ อีกต่อไป ตอนนั้นเสื้อผ้าบนสยามเซ็นเตอร์กำลังดัง เด็กจะบ้าเสื้อผ้าบนสยาม เด็กตอนนั้นถ้าจะแต่งก็จะแต่งทั้งตัวตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด แนวความคิดของไฝ คือถ้ามีเสื้อผ้าแล้วจะหาเข็มขัด เข็มขัดนั้นต้องทำให้เสื้อผ้าดูเก๋ขึ้น พอทำปุ๊บตลาดก็ยอมรับ"

ปี 2527 รายได้จากการขายของส่งสำเพ็งกับรายได้จากการออกร้านของไฝเป็นกอบเป็นกำขึ้น ช่วงนั้นตลาดบูติคบูมมากและเดอะมอลล์ก็เป็นแหล่งบูติคอีกแห่งย่านราชดำริที่น่าลงทุน เพราะวันหนึ่ง ๆ มีคนเดินช็อปปิ้งเป็นแสน ไฝคิดว่าตัวเองต้องเสี่ยง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านออกแบบเสื้อผ้ามาก่อนเลยเพียงแต่เคยตัดกระโปรงขายนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ และมีน้องชายที่เรียนตัดเสื้อมาบ้าง ไฝก็ตัดสินใจเซ้งร้านที่เดอะมอลล์ 2 ร้าน ใช้ชื่อร้าน ALFAFA และใช้เป็นชื่อยี่ห้อด้วย เพราะช่วงนั้นเขานิยมเสื้อผ้าที่มียี่ห้อตัวใหญ่ ๆ

"ช่วงนั้นไฝเป็นคนออกแบบ น้องเป็นคนตัด ฝ่ายผลิตก็ทำกันที่บ้านแม่ช่วยหาคนเย็บให้ เพื่อน ๆ บ้านมาทำกัน ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก จะมีก็ค่าผ้า ค่าเครื่องจักรเย็บก็ยังไม่ต้อง ตัดแล้วให้เขาไปเย็บที่บ้าน ตอนนั้นร้านบูติคมีไม่มากเหมือนทุกวันนี้ เปิดแล้วเห็นเงินทุกวัน"

ปลายปี 2527 ไฝเริ่มได้เครดิตจากร้านผ้าแถวสำเพ็ง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่น มีเงินเก็บก้อนใหญ่ขึ้น มีความมั่นใจในการประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาตลอด ไฝตัดสินใจเซ้งร้านที่สยามเซ็นเตอร์ชั้น 2 เนื้อที่ประมาณ 30 ตร.ม.จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้ชื่อไฝโปรดิวส์ และเมื่อเดอะมอลล์จะปรับปรุงกิจการใหม่ ไฝจึงยุบร้านที่เดอะมอลล์เมื่อปลายปี 28 พอต้นปี 2529 ไฝก็เปิดร้านที่ชั้น 3 อีกร้านหนึ่ง...เมื่อย้ายมาอยู่สยามเซ็นเตอร์ไฝใช้กลยุทธ์การตลาดเต็มที่

ไฝไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการดีไซน์เสื้อผ้า หรือ MARKETING มาก่อน ไฝไม่รู้จักทฤษฎีแต่ใช้ SENSE และจับตามองความเคลื่อนไหวในโลกธุรกิจวัยรุ่นอยู่เสมอ

ในช่วงเปิดร้านที่สยามเซ็นเตอร์แรก ๆ บูติคมียี่ห้อตัวใหญ่ ๆ ไฝตัดสินใจใช้ชื่อไฝ โปรดิวส์ เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของตน และไม่ลืมที่จะวาง SEGMENT ของเสื้อผ้าให้เป็นเสื้อของผู้หญิง "เปรี้ยว" แยกผลิตภัณฑ์ของเขาให้แตกต่างจากร้านบูติคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

การโฆษณาและส่งเสริมการขายไฝทำเต็มที่ ทั้งในหน้านิตยสารผู้หญิงต่าง ๆ และการเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ทุกครั้งที่มีโอกาสไฝเองยังเคยบอกว่า แฟชั่นของเขามันบ้าดี

สำหรับการบริหารไฝใช้ ONE MAN SHOW ตัดสินใจด้วยตนเองมาโดยตลอดไฝทำเกือบทุกอย่างด้วยตนเอง ออกแบบแฟชั่น ออกแบบถุง วางแผนโปรโมชั่น ดูและการผลิต และบางวันถ้าใครไปที่ร้านจะเห็นเด็กหนุ่มอารมณ์ดีมีไฝเม็ดใหญ่บนใบหน้านั่งติดกระดุมเสื้ออยู่ที่ร้าน หรือไม่ก็กำลังง่วนอยู่กับการเอาเสื้อใสถุงให้ลูกค้าจะมีคนช่วยก็เป็นน้องชายชื่อสมเกียรติช่วยตัดและสร้างแบบเสื้อ และมาในระยะหลังนี้น้องสาวชื่อมาลีมาช่วยดูร้านให้อีกคนหนึ่ง

เงินลงทุนของไฝในแต่ละครั้งที่ได้มาก็เป็นเงินเก็บจากการทำธุรกิจในแต่ละช่วงไฝไม่เคยใช้บริการธนาคาร อาศัยว่าธุรกิจของไฝเงินหมุนเวียนเร็วมากและกำไรก็ได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะการลงทุนของไฝในแต่ละช่วงได้จังหวะเวลาบูมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกิ๊ฟช้อป กระเป๋าเข็มขัดแฟชั่น บูติค

ถึงวันนี้ไฝทำธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่นมาได้ 4 ปีกว่าแล้ว มีร้านเสื้อเป็นของตนเอง 2 ร้าน มีโรงงานขนาดย่อมที่มีเครื่องมือเครื่องจักอยู่ที่บ้านพร้อม มีทรัพย์สินเป็นล้านๆ บาทแล้ว

"ไฝทำสินค้าออกมามันต้องแปลกกว่าคนอื่น พยายามคิดเสมอว่าเราทำสินค้าแฟชั่นออกมา สินค้านั้นจะต้องไม่เหมือนคนอื่น ต้องเป็นผู้ริเริ่ม สินค้าจะขายง่ายขึ้น" ไฝบอกถึงเคล็ดลับการทำสินค้าแฟชั่น

ไฝก็เหมือนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ที่อ่านหนังสือมากมาย ไฝเคยบอกว่าอ่านเข้าไว้ อ่านให้มีความรู้มีข้อมูลอยู่ในหัวเยอะ ๆ ให้เรารู้อะไรหลาย ๆ อย่างแล้วเราจะมีไอเดียของเราขึ้นมา...หนังสือแฟชั่นไฝอ่าน VOGUE, BARZAR พวกนี้ติดตามแล้วเอามาปรับให้เข้ากับบ้านเรา"

การที่กิจการของไฝเติบโตและก้าวหน้ามาโดยตลอดทั้ง ๆ ที่ทำงานแบบ ONE MAN SHOW ก็เพราะธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่นนี้การจับกระแสได้ถูกจังหวะ พร้อมกับการตัดสินใจผลิตสิ่งใหม่ ๆ ออกมาให้เหมาะกับเวลา สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและคล่องตัวได้ก่อนใคร ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการยืนอยู่ได้ ไฝทำอย่างนี้มาเกือบ 5 ปีแล้วและไฝก็คงจะรู้ดีว่าการจะมีโอกาสงาม ๆ เหมือนที่ผ่านมาคงจะยากแล้ว เพราะมีตัวแปรอีกหลายตัวที่เข้ามาและทำให้ธุรกิจของเขามีปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่แย่อยู่ในขณะนี้ ที่ไฝเองยอมรับว่ามันมีส่วนทำให้ยอดขายตกมา 6-7 เดือนแล้ว โดยไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้เพียงต้องประคองตัวให้ผ่านช่วงนี้ไป

และปัญหาที่ศูนย์อื่น ๆ มาแชร์ลูกค้าไป สยามเซ็นเตอร์ไม่ใช่ศูนย์แฟชั่นที่วัยรุ่นจะไปเดินเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป ที่มาบุญครอง เซ็นทรัล ฯลฯ มาแชร์ผู้ซื้อไปเหมือนกัน

ตลาดบูติคระดับล่างเซาะตลาดระดับบนอยู่ตลอดเวลา บูติคราคาแพงถูกก๊อปปี้ขายราคาถูกลงเกลื่อนถนน เหล่านี้ทำให้ไฝต้องครุ่นคิดพอสมควร

นอกจากนี้การสต็อคผ้าในแต่ละครั้งมีมูลค่าเป็นแสนมีผลต่อระบบเงินหมุนเวียนด้วยเพราะเงินไปจมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ร้านบูติคส่วนใหญ่ก็ต้องทำเพราะถ้าไม่สต๊อคผ้าไว้แล้วผ้าชนิดที่เก็งไว้เกิดเป็นที่นิยมขึ้นมาจะไปหาซื้อก็ไม่ได้ เพราะร้านอื่น ๆ เขาซื้อไปหมด จะเสียโอกาสทำกำไร เรื่องการสต็อคผ้าจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไฝต้องเสี่ยง

การดำเนินกิจการของไฝออกจะเครียดพอสมควร เมื่อมีเวลาไฝจะไปดิสโก้เป็นประจำที่ซุปเปอร์สตาร์หรือเดอะพาเลซหรือถ้ามีเวลาก็ขับรถไปพัทยา และไฝก็ไม่เคยพลาดเมื่อมีการกินโต๊ะแชร์กับคนระดับบิ๊กในวงการแฟชั่นเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในวงการ

ในชีวิตประจำวันตอนเช้าไฝจะอยู่ดูแลการตัดเย็บที่บ้านซึ่งตอนนี้กลายเป็นโรงงานขนาดเล็กไปแล้ว ถ้าวันไหนมีเรียนที่ธรรมศาสตร์ไฝก็จะไป และจะใช้เวลาช่วงบ่ายจนถึงค่ำนั่งอยู่ที่ร้าน

ทุกครั้งที่ไฝพัฒนากิจการของตนเองไปสู่งานใหม่ ไฝทำได้ถูกจังหวะเวลา สถานที่ และมีความเป็น INNOVATOR ที่คิดทำสินค้าที่ไม่เหมือนใคร ทำก่อนใครมาโดยตลอด โดยไม่มีใครช่วย แต่ในวันนี้ไฝอาจจะมีปัญหาว่าจะเดินต่อไปทางไหนดี จะต้องบุกเบิกไปทางไหนอีก จะพัฒนาระบบการจัดการด้านการเงินอย่างไรจากการใช้ระบบเงินหมุนอย่างทุกวันนี้ หรือจะต้องร่วมงานกับคนอื่น....แต่ที่แน่ ๆ "ผู้จัดการ" คิดว่าถ้าไฝยังจะอยู่ในธุรกิจวัยรุ่นต่อไปไฝหยุดนิ่งไม่ได้แน่

"ไฝยังไม่เบื่อธุรกิจแฟชั่นหรอกเพียงแต่เห็นสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายตกลง ไฝเลยคิดว่าต้องหาทางทำอย่างอื่นเพื่อหนีสภาพนี้...อาจร่วมกับคนอื่นทำอะไรที่มันได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้กำลังจับตามองอยู่" ไฝกล่าวปิดท้าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us