Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2529
ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ มืออาชีพธุรกิจขายหนังสือรุ่นใหม่             
 

   
related stories

เถ้าแก่ยุคใหม่พลังอันน้อยนิดแต่วิญญาณธุรกิจยิ่งใหญ่

   
search resources

Commercial and business
Printing & Publishing
ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์




ณรงค์ศักดิ์ ตันติพิจวงศ์ปัจจุบันอายุ 31 ปี และ 10 ปีเต็มที่ผ่านมาเขาคลุกคลีอยู่กับธุรกิจขายหนังสือ จากกึ่ง ๆ ธุรกิจจนเป็นธุรกิจเต็มตัวไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว เป็นธุรกิจที่กลยุทธ์การตลาดยึดในแนวรุกตลอดมา จนกล่าวได้ว่าเขามีประสบการณ์และความสามารถไม่แพ้นักธุรกิจที่อยู่วงการนี้เกือบตลอดชีวิต

เขาเกิดจากครอบครัวค้าขาย พ่อแม่มีร้านขายเครื่องเขียนเล็ก ๆ แถว ๆ สี่แยกบ้านแขก เขาจึงเริ่มเข้าไปสัมผัสธุรกิจค้าเครื่องเขียนตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 เพียงแต่ว่าร้านเครื่องเขียนของเขาไม่ขายแบบเรียน จึงดูเหมือนว่าแตกต่างกับร้านขายหนังสือปัจจุบันของเขามาก แต่แท้ที่จริงลักษณะการค้าแบบละเอียดลออและต้องเข้มงวดเกี่ยวกับ INVENTORY CONTROL ดูจะไม่แตกต่างกันนัก

ณรงค์ศักดิ์ เข้าเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในช่วงนักศึกษามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากเป็นพิเศษ ปี 2519 เขาอยู่ปี 2 และได้กระโดดสู่เวทีกิจกรรมนักศึกษาอันเป็นช่วงเวลาที่ใครก็ใฝ่ฝัน ณรงค์ศักดิ์ เป็นกรรมการชุมนุมวรรณศิลป์ ชุมนุมนี้มีกิจกรรมที่ออกหน้าออกตามากคือ เปิดแผงขายหนังสือเพื่อหารายได้ทำกิจกรรม รวมไปจนถึงจัดพิมพ์หนังสือของชุมนุม ซึ่งช่วงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมประเภท "ก้าวหน้า" หรือฝ่ายซ้ายอะไรเทือกนั้น

ช่วงชีวิตตอนนี้เขากล่าวว่า สนุกกับมันมาก แต่แล้วก็ต้องหมุนกลับ 180 องศาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นักศึกษาจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะนักกิจกรรม) หายหน้าหายตาไปเปิดแนวรบกิจกรรมในที่แห่งใหม่ห่างไกลจากผู้คนและตัวเมือง

ณรงค์ศักดิ์ ไม่ได้ไปกับพวกเขาเหล่านั้น !

เขาต้องอยู่ดำเนินกิจการชุมนุมต่อไปอันเป็นช่วงที่แสนเงียบเหงา แต่กลับคึกโครมอย่างมากๆ ในหนังสือพิมพ์การเมือง ณรงค์ศักดิ์ เล่าว่าในช่วงนี้หนังสือการเมือง อาทิ ไทยนิกร มติชน ขายดีมากเนื่องจากนำข่าวคราวของกลุ่มนักศึกษาที่เข้าไปต่อสู้ในป่ามาเขียน เขาก็พลอยเก็บดอกผลไปด้วย

แผงหนังสือของเขาที่เคยอยู่ในมหาวิทยาลัย และต่อมาต้องออกมาตั้งด้านนอกประตูท่าพระจันทร์ขายดีอย่างมาก ที่ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของร้านดอกหญ้า แม้ทุกวันนี้คงมีไว้เป็นอนุสรณ์

เขาจบการศึกษาปี 2522 อันเป็นห้วงเวลาที่นักศึกษาธรรมศาสตร์หักเหจากกิจกรรมทางการเมืองไปสู่อย่างอื่น เป็นอันว่าแผงหนังสือของชุมนุมวรรณศิลป์ก็ต้องปิดไป "ผมเสียดายที่ไม่มีใครทำต่อ ไม่มีใครอยากทำอีกแล้ว ส่วนใหญ่อยากเรียนลูกเดียว" เขาระลึกความหลัง

ประสบการณ์ของเขาที่ขาดสะบั้นได้รับการสืบต่อในเวลาไม่นานนัก เมื่อรุ่นพี่คนหนึ่งที่มีธุรกิจสำนักพิมพ์ไม่มีสำนักงานเป็นของตนเอง มีหนังสือค้างสต็อคจำนวนมาก มีหนี้จำนวนหนึ่งและมีรถตู้คันหนึ่งรุ่นพี่คนนี้ตัดสินใจจะไปนอก ณรงค์ศักดิ์รับอาสารับช่วงกิจการ รุ่นพี่ให้สมบัติทุกอย่างของสำนักพิมพ์เป็นสมบัติของเขาเพื่อบริหารงานต่อไป ในขณะที่ณรงค์ศักดิ์ต้องแบกหนี้จำนวนหนึ่งเป็นการตอบแทน

"เราทำงานด้วยอุดมการณ์จริง ๆ ทุกคนไม่มีเงินเดือน"

ณรงค์ศักดิ์ เริ่มจับธุรกิจที่เป็นธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาสะสมประสบการณ์ท่ามกลางแรงกดดัน-เพื่อความอยู่รอด

"สำนักพิมพ์ของเราส่วนใหญ่พิมพ์หนังสือการเมือง ช่วงผมเข้ามาหนังสือประเภทนี้เริ่มขายไม่ดี ขายไม่ออกเหลือมากต้องปรับตัวพิมพ์หนังสือชนิดอื่นๆ" ณรงค์ศักดิ์เล่าถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

แต่เขาก็สามารถพยุงฐานะสำนักพิมพ์นี้ไปได้ แม้จะไม่ราบรื่นนัก

ตอนนั้นเรียกได้ว่า เป็นช่วงแสวงหาประสบการณ์จริงๆ!

ยังไม่หยุดแค่นั้น ณรงค์ศักดิ์ ตัดสินใจผละออกจากสำนักพิมพ์โดยเพื่อนของเขาคนหนึ่งเข้าบริหารแทน ส่วนเขาเข้ามารับหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ ซึ่งเพิ่งตั้งไข่และมีปัญหามาก "การทำงานที่ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ นอกจากจะรู้จักบุคคลในวงการค้าต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจขายหนังสือต่อมา อีกประการหนึ่งระบบควบคุมของระบบราชการนั้นเข้มงวดมาก ผมทำงานที่นี่ได้ประโยชน์มาก แท้ที่จริงระบบควบคุมอย่างเข้มงวดมีความสำคัญในธุรกิจขายหนังสือ" ณรงค์ศักดิ์ ร่ายยาว

ระหว่างทำงานประจำศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ตอนเย็นเขาก็แวะเวียนไปช่วยสำนักพิมพ์(ที่ไม่ปรากฏชื่อ) ที่ให้เพื่อนบริหารอยู่ และปรากฏต่อมาว่าเกิดการผิดพลาดครั้งใหญ่ จนมีการเรียกร้องให้ณรงค์ศักดิ์กลับเข้ามาแก้ไขสถานการณ์

ระหว่างการตัดสินใจก็พอดีร้านขายแว่นตาบริเวณท่าพระจันทร์ร้านหนึ่งปิดกิจการ ตึกแถวคูหาหนึ่งตรงนั้นปิดประกาศให้เซ้งต่อ ณรงค์ศักดิ์ตัดสินใจในทันที เขาเข้าเจรจาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขอเซ้งอาคาร การเจรจาตกลงอย่างง่ายดายด้วยการวางเงิน 7 หมื่นบาท และค่าเช่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท

"ผมระดมทุนจากวงการหนังสือที่รู้จักกันดี เช่น ร้านเพ็ญบุญ โรงพิมพ์สารมวลชน ร้านกระดาษ และเพื่อนลงทุนคนละ 5 หมื่นบาท รวม 7 คน ส่วนผมนั้นใช้รถที่มีอยู่แล้วกับเงินทางบ้านอีกนิดหน่อยเข้าถือหุ้น 1 หุ้นเช่นเดียวกัน" เขาเผยแหล่งที่มาของเงินทุนก้อนใหญ่ก้อนแรกที่เข้ามาเปิดร้าน "ดอกหญ้า" ที่ท่าพระจันทร์ อันเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ที่ดีอีกหน้าหนึ่งของเขา พร้อมๆ กับยุบสำนักพิมพ์เจ้าปัญหามารวมด้วย

เงินก้อนแรก 3.5 แสนบาท ใช้เป็นค่าเซ้งอาคารจำนวนหนึ่งที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อหนังสือ ปัญหาที่ตามคือ การตกแต่งร้าน

"ผมติดต่อสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่รู้จักดีนำหนังสือเก่ามาลดราคาเป็นเวลา 14 วันนับเป็นครั้งแรกๆ ที่ร้านหนังสือลดราคามากเช่นนี้" เขาเน้นว่าร้านดอกหญ้าคือผู้บุกเบิกการลดราคาหนังสือเก่า

หนังสือร้านดอกหญ้าขายดีมาก ได้เงินอีกก้อนมาตกแต่งร้าน และยังเหลือเงินอีกหลายหมื่นบาท

ข้อสรุปความสำเร็จครั้งนั้น นอกจากใช้การตลาด (ลดราคา) มาเป็นเครื่องเบิกทางแล้ว ทำเลตรงนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญทำเลใกล้ธรรมศาสตร์ (สถานศึกษามักจะมีคนอ่านหนังสือมากกว่าที่อื่น) และเป็นทางผ่าน...

ร้านดอกหญ้าตรึงคนอ่านหนังสือไว้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

"เราใช้ยุทธวิธีไม่ลดเงินสด แต่เป็นบัตรกำนัลแทนในเวลาต่อมา วิธีนี้จะดึงลูกค้ากลับมาหาเราอีก" เขาอธิบายถึงแนวคิดทางการตลาดให้ฟัง

นอกจากนี้ร้านดอกหญ้าเปิดศักราชแจกแถมหนังสือเสริมเป็นครั้งเป็นคราวโดยหนังสือเหล่านั้นจะไม่มีการวางจำหน่ายณรงค์ศักดิ์ เผยว่ายุทธวิธีการตลาดล่าสุดที่กำลังใช้อยู่คือ การแถมปกพลาสติก

แม้จะดูว่ากลยุทธ์ทางการตลาดของร้านดอกหญ้าไม่พิสดารมากนัก แต่ก็สามารถตรึงลูกค้าได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ร้านดอกหญ้ากำเนิดขึ้นในปี 2524 และหลังจากนั้นอีก 3 ปี ณรงค์ศักดิ์ก็ตัดสินใจฟื้นสำนักพิมพ์ขึ้นมาใหม่-สำนักพิมพ์สามัคคีสาสน์ จัดพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายปีละหลายสิบเล่ม ทั้งเป็นสายส่งอันเป็นงานพื้นฐานสำหรับร้านขายหนังสือ

"ถึงอย่างไรก็ตามทรัพย์สินของเราส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้า อาคารสำนักงานต่าง ๆ ยังเช่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเปิดสำนักพิมพ์ฐานะทางการเงินเราตึงมากเหมือนกัน" ณรงค์ศักดิ์ว่า

เขาเน้นว่าหัวใจของธุรกิจขายหนังสือคือระบบการควบคุมการรั่วไหล เขาจ้างนักบัญชีมารับผิดชอบทั้งเขาเองมีประสบการณ์ด้านนี้ครั้งอยู่ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของธุรกิจนี้ก็คือ การเติบโตที่ช้า เนื่องจากอัตราผลกำไรน้อย ณรงค์ศักดิ์ เริ่มได้ข้อสรุปว่า ตลาดของร้านดอกหญ้าที่ท่าพระจันทร์อยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว กว่าเขาจะสรุปบทเรียนข้อนี้ธุรกิจของเขาเริ่มมีขนาดใหญ่ที่แน่นอนแล้วตั้งแต่กลางปี 2528 ร้านดอกหญ้าและสำนักพิมพ์สามัคคีสาสน์ เซ้งร้านดอกหญ้าจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตรง 1.5 ล้านบาท ซื้อตึกแถวทำเป็นโกดังและสำนักพิมพ์รวมมูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท

ปัญหาที่เขาต้องเผชิญขณะนี้ก็คือ จะขยายตัวออกไปอย่างไร อัตราการเติบโตจึงจะสมดุลกับสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น นั่นคือที่มาของร้านดอกหญ้าที่หน้าพระลาน โดยพยายามปรับให้เข้ากับภาวะตลาดกล่าวคือจำหน่ายหนังสือทั่วไปครึ่งหนึ่ง และหนังสือภาษาต่างประเทศเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยจำนวนหนึ่ง เพราะย่านนั้นเป็นย่านนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

"เราเพิ่งเปิดประมาณกลางปีมานี้ ซึ่งความสำเร็จยังคาดหวังไม่ได้มาก" ณรงค์ศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ปัญหาทีมงานก็เป็นปัญหาหนึ่งที่จะมองต้องให้ไกล ณรงค์ศักดิ์เชื่อว่าประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานผ่านไปแล้วเพียงแต่จะหาทางออกต่อเนื่องอย่างไรในปัญหาการขยายตัว "ที่ผ่านมาผมรับพนักงานส่วนใหญ่จะจบระดับพาณิชย์ ป. 4 พวกนี้ทำงานดี หนักเอาเบาสู้ พวกมีปริญญาเคยรับมาบ้างแต่มีปัญหา เช่น ทำงานต้องตรงเวลา เลิกดึกหรือค่ำหน่อยก็วิจารณ์ ผมเคยมองว่าพวกเขาเจ้าปัญหา แต่เวลาผมคิดว่าจำเป็นต้องใช้พวกเขามาเสริมทีม ระดมความคิดของพวกเขาเพื่อทำอะไรเพื่ออนาคตมิใช่เพียงวันนี้" เขากล่าวถึงแนวการสร้างพนักงานเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต

อีกปัญหาหนึ่งคือด้านการเงิน

"แต่ก่อนเราไม่เคยใช้บริการแบงก์เพราะเราไม่มีทรัพย์สิน แต่เวลานี้เรามีแล้วโดยเฉพาะหากเราจะขยายงานออกไป เราต้องระดมทุนที่มากพอ ผมเลยไปหาแบงก์ แบงก์ไทยพาณิชย์ซึ่งเราใช้บริการฝากเงินก็สนับสนุน อันที่จริงหากเราไม่มีสินทรัพย์ก็ไม่รู้จะคุยกันรู้เรื่องหรือไม่" ณรงค์ศักดิ์เล่า

ร้านดอกหญ้าและสำนักพิมพ์สามัคคีสาส์นช่วงต่อปี 2529-30 จึงเป็นยุคของการมองไปข้างหน้าเพื่ออนาคตโดยแท้ ณรงค์ศักดิ์จึงต้องขบคิดเรื่องสินค้าด้วย "หนังสือการเมืองที่เราสนับสนุนการจัดพิมพ์มาตลอดยุคนี้ขายไม่ดี ยุคนี้เป็นยุคของหนังสือสวยงาม ซึ่งเราต้องหาภาพเหล่านี้จากต่างประเทศมาขาย ลูกค้าของเราคือพวกวัยรุ่น" ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกันร้านดอกหญ้าก็ต้องพัฒนาสินค้าให้มีฐานกว้างมากกว่าการมีหนังสืออย่างเดียว

"ผมเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อศึกษาพัฒนาการของสินค้าที่ใกล้เคียงและสามารถขายคู่ไปในร้านหนังสือได้ อาทิ การ์ด ส.ค.ส. ซึ่งตอนนี้ผมกำลังทำงานชิ้นนี้อยู่ มันก็เป็นการก้าวกระโดดอีกขั้นหนึ่ง"

เมื่อเสร็จสิ้นการวางพื้นฐานทางความคิดเหล่านี้ ณรงค์ศักดิ์เปิดเผยว่าร้านดอกหญ้าจะขยายตัวครั้งใหญ่ขึ้น" เป็นข้อสรุปของเขาวันนี้

ณรงค์ศักดิ์ เป็นคนเรียบร้อย สมถะแต่งงานแล้วขับรถยนต์ญี่ปุ่นของบริษัท ทำงานตั้งแต่ประมาณ 8 โมงเช้ายันดึกทุกวัน เวลาว่างของเขาคือการอยู่กับครอบครัว ไม่เคยเที่ยวเตร่ ไม่ชอบดื่มเหล้า "มีคนแนะนำผมบ้างเหมือนกันในระยะนี้ เมื่อกิจการเราใหญ่ขึ้นก็ต้องจำเป็นสังสรรค์กันบ้าง เขาว่าบางทีการเจรจาธุรกิจจบลงเพราะเหล้าแก้วเดียว"

ที่ผ่านมาณรงค์ศักดิ์คือคน ๆ เดียวที่ดำเนินการทุกอย่างในธุรกิจหนังสือที่มียอดขายประมาณ 4-5 ล้านบาท/ปี ต่อไปเขาต้องก้าวกระโดดทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนไป

เขากล่าวในตอนท้ายว่า ธุรกิจหนังสือคนโดดเข้าจับกันน้อย เพราะเป็นธุรกิจที่ผลตอบแทนไม่สูง

"ผมอยากให้มีการแข่งขันมากกว่านี้ ผมมองผู้อ่านยังบริโภคหนังสือราคาแพงอยู่มาก" คำพูดของเขาท้าทายผู้คร่ำหวอดในธุรกิจนี้ทีเดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us