|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผลวิจัยนีลเส็น ระบุ แคมเปญโปรโมชั่น นอกจากจะสามารถกระตุ้นอารมณ์จับจ่ายผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์และร้านค้ามากขึ้นด้วย
การทำตลาดด้วยแคมเปญโปรโมชั่น ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมจากบรรดายักษ์ธุรกิจร้านค้าปลีกมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจากนี้ไป ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่มาแรง เพราะยิ่งในยุคธุรกิจค้าปลีกขยายตัวและแข่งแรง ยิ่งทำให้แต่ละค่ายต้องเร่งโหมงบการตลาด จัดแคมเปญโปรโมชั่นถี่ยิบ เพื่อกวาดลูกค้าให้ครบทุกเซกเมนต์แบบอยู่หมัด
แม้การออกสินค้าโปรโมชั่นจะไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่ แต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วงสภาพเศรษฐกิจที่ยังกระดกหัวไม่ขึ้น การให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้าอุปโภค และบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น จะเห็นว่า ร้านค้าปลีกต่างๆ จึงหันมาให้น้ำหนักในการออกสินค้าโปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
จากรายงานชอปเปอร์เทรนด์ล่าสุด ของนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 63% กล่าวว่า โปรโมชั่นต่างๆ สามารถดึงดูดใจพวกเขา โดยมากกว่าครึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้ บอกว่า พวกเขาตอบสนองต่อสินค้าที่มีโปรโมชั่น และหนึ่งในสิบกล่าวว่า พวกเขาจะเปลี่ยนร้าน หากที่นั่นมีโปรโมชั่นที่ดีที่สุด
ขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า รายงานชอปเปอร์เทรนด์ล่าสุด ยังพบว่า ผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์ และร้านค้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเมื่อถูกถามว่าโปรโมชั่นมีผลต่อการซื้อของในซูเปอร์มาร์เกต และไฮเปอร์มาร์เกตอย่างไร ผู้บริโภค 24% กล่าวว่า พวกเขาซื้อสินค้าโปรโมชั่นเมื่อเขาชอบแบรนด์เท่านั้น (เมื่อเทียบกับ 16% จากปี 2551)
อีกทั้งความภักดีต่อแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นยังขยายไปสู่ความภักดีของผู้บริโภคที่มีต่อร้านค้า กล่าวคือ เกือบ 3 ใน 4 หรือประมาณ 73% ของผู้บริโภค กล่าวว่า พวกเขาไปซื้อของที่ร้านเดิมอยู่เสมอ โดยเพิ่มจาก 63% ในปี 2551 เป็น 69% ในปี 2552 และถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะอยู่ในกระแสที่มีสินค้าโปรโมชั่นจำนวนมาก แต่มีนักชอปเพียง 11% ที่จะเปลี่ยนสถานที่ซื้อสินค้าไปที่ที่มีสินค้าโปรโมชั่นดีที่สุด เทียบกับ 17% ในปี 2551
หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก กลุ่มนักชอปที่สนใจสินค้าโปรโมชั่นมากที่สุดในทวีป ได้แก่ เวียดนาม ด้วยผู้บริโภคที่มากถึง 87% ที่ติดตามสินค้าที่มีโปรโมชั่นอย่างกระตือรือร้น รองลงมาคือ มาเลเซีย 86% และไต้หวัน 70%
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า แม้พฤติกรรมนักชอปส่วนใหญ่จะนิยมเขียนรายการก่อนไปซื้อสินค้า แต่เกือบ 50% จะซื้อสินค้านอกเหนือจากรายการอยู่เสมอ และเมื่อไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 79% จะวางแผนว่าจะซื้อสินค้าอะไรบ้าง ทั้งๆ ที่เตรียมรายการที่ต้องการซื้อไว้แล้ว อีก 42% กลับไม่เคร่งครัดกับรายการที่เตรียมมา เพราะมักจะซื้อสินค้านอกรายการเสมอ
ทั้งนี้ ผู้ซื้อผู้หญิงมีแนวโน้มจะซื้อสินค้านอกเหนือจากรายการมากกว่าผู้ชาย ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักชอปชาวมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จัดอยู่ในสองลำดับแรกที่ชอบตัดสินใจซื้อของทันทีที่เห็นสินค้ามากที่สุด
เมื่อนีลเส็นถามผู้บริโภคว่าชอบชอปปิ้งหรือไม่ ชาวฟิลิปปินส์ 80% จัดอยู่ในลำดับแรกในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกที่ชอบกิจกรรมนี้ ในขณะที่นักชอปชาวไทย 63% มีความคิดเห็นแบบเดียวกัน โดยในประเทศไทย ผู้หญิง 77% ยังคงเป็นผู้จับจ่ายของใช้ในบ้าน ขณะที่อีก 23% เป็นผู้ชาย
สำหรับช่องทางการจับจ่ายสินค้าของผู้บริโภคในประเทศไทย ผู้บริโภคยังนิยมใช้ไฮเปอร์มาร์เกตเป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า โดยมีผู้บริโภคมากถึง 92% ไปซื้อของที่ไฮเปอร์มาร์เกตใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา รองลงมาคือ ร้านขายของชำ และร้านสะดวกซื้อ คิดเป็นสัดส่วนเท่ากัน 87% และตลาดสด 86% และผู้บริโภคใช้เงินประมาณ 50% ของการจับจ่ายของพวกเขาไปกับอาหารสด
สาเหตุที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในไฮเปอร์มาร์เกตมากขึ้น ผลวิจัยพบว่า สาเหตุหลักมาจากไฮเปอร์มาร์เกตประสบความสำเร็จในการตอบสนองความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นความง่ายในการหาสินค้า การมีสินค้าทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ และความคุ้มค่าในด้านราคา และแม้ว่าร้านสะดวกซื้อจะไม่ใช่ช่องทางหลักก็ตาม แต่ร้านค้าประเภทนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความถี่ในการซื้อมากขึ้นต่อเดือน โดยผู้บริโภคมองหาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนความอร่อยจากอาหารพร้อมรับประทานในร้านสะดวกซื้ออีกด้วย
ผลสำรวจชอปเปอร์เทรนด์ล่าสุด ยังแสดงให้เห็นว่า 32% ของผู้ซื้อชาวไทยเลือกเข้าร้านที่สามารถประหยัดเงินได้ ด้วยการใช้คูปองที่ได้จากหนังสือพิมพ์หรือใบปลิว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 29% ในผลสำรวจก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าโฆษณาสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้สนใจสินค้าเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากผู้ซื้อมักเลือกเข้าร้านที่ได้เห็นโฆษณาเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปีที่แล้ว เป็น 17% ในปีนี้
เห็นเช่นนี้ เชื่อว่าจากนี้ไป ยักษ์ค้าปลีกจะต่างพร้อมใจรุกตลาดด้วยโปรโมชั่นแรงขึ้นแน่นอน เพื่อรับมือกำลังซื้อที่กำลังฟื้นตัว จากภาวะการเมืองชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน แรงแข่งในตลาดค้าปลีกที่รุนแรงทะลุองศาเดือด ก็ทำให้แต่ละค่ายต้องใช้ทุกยุทธวิธีป้องตลาดตัวเอง พร้อมช่วงชิงตลาดจากคู่แข่งให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์เช่นกัน
|
|
|
|
|