Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2529
เถ้าแก่ยุคใหม่พลังอันน้อยนิดแต่วิญญาณธุรกิจยิ่งใหญ่             
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ บุญศิริ นามบุญศรี
 

   
related stories

จิระ จิริยะสิน คอมพิวเตอร์แมน (แบบไต้หวัน) แนวหน้าของไทย
ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ มืออาชีพธุรกิจขายหนังสือรุ่นใหม่
เกียรติชัย บุญพร้อมสรรพ ไฝโปรดิวส์กับธุรกิจเสื้อฟ้า "เปรี้ยว"
ธีรพล นิยม "แปลนกรุ๊ป" ธุรกิจคนหนุ่มที่ไม่หยุดนิ่ง

   
search resources

Economics




"...กลุ่มของคุณเป็นสัญลักษณ์การวิวัฒนาการของเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ผู้มีการศึกษาสูงจำต้องเปลี่ยนความคิดจากพยายามประกอบอาชีพรับจ้างและรับราชการไปเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ความจริงสังคมไทยเต็มไปด้วยผู้ประกอบอาชีพอิสระมาช้านานแล้ว

แต่ค่านิยมของผู้มีการศึกษาสูงมักชอบไปสมัครงาน ไปหางานทำ เป็นการสร้างภาระให้สังคม ทั้งๆ ที่ได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว

บัดนี้การหางานแบบนั้น เกือบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.."

(ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขียนไว้ในหนังสือรุ่นโครงการอบรมนักลงทุนรุ่นเยาว์ รุ่นแรกปี 2528)

แม้ว่าโครงการ "นักลงทุนรุ่นเยาว์" ของบรรษัทฯ ซึ่งพยายามจับผู้เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยมานั่งสัมมนาทำความเข้าใจธุรกิจและแนะแนวประกอบอาชีพอิสระ จะผ่านไปแล้ว 2 รุ่นและผลก็ไม่ออกมาชนิดจับต้องได้ แต่ก็เป็นการ "จุดประกาย" ความคิด (ค่อนข้าง) ใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ และแม้ว่าสิ่งที่บรรษัทฯ คิดและทำจะช้ากว่าสถานการณ์ไปหลายก้าว แต่ก็นับได้ว่าเป็นครั้งแรก ๆ ที่สถาบันการเงินสำคัญของประเทศแสดงการยอมรับปัญหาอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่เป็น "เงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งในการสร้างผู้ประกอบการ (ENTREPENUER)" ขึ้นในสังคมธุรกิจ

เขาทั้ง 5 คนซึ่ง "ผู้จัดการ" จะพูดถึงต่อไปนี้ได้ออกหน้าเดินตามทางเส้นนี้ก่อนหน้ามานานพอสมควรแล้ว

เขาเริ่มต้นจากแทบจะไม่มีอะไรเลย มีแต่ความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน และมีความจำเป็นแห่งการดำรงชีพ เป็นพลังขับเคลื่อน

บรรพบุรุษของพวกเขามิใช่เศรษฐี นักธุรกิจใหญ่หรือเจ้าที่ดินศักดินามาเป็นฐานรองรับ เขาเริ่มนับหนึ่งท่ามกลางเวทีธุรกิจที่แทบจะไม่มีช่องว่าง ทั้งพวกเขาก็ไม่ใช่ผลิตผลบรรษัทต่างชาติส่งเข้ามาในประเทศไทยอย่างง่ายดายด้วย

อาจจะเรียกได้ว่าพวกเขาไม่มี "สายสัมพันธ์" (CONNECTION)" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สายสัมพันธ์" ในความหมายเก่า พวกเขาส่วนใหญ่คิดว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญที่สุด หากจะมีรูปลักษณ์คงเปลี่ยนไปมาก คงไม่ใช่บางคนที่ "เกาะ" ทหาร "เกา" ผู้มีอำนาจในแผ่นดินแล้วสร้างอาณาจักรธุรกิจใหญ่โตขึ้นมา แม้ในบางครั้งจะไม่เป็นไปตามครรลองแห่งศีลธรรม เช่นอดีตอีกแล้ว ปัจจุบันรูปลักษณ์ "สายสัมพันธ์" ได้พลิกโฉมหน้าอันเนื่องมาจากศูนย์อำนาจกระจัดกระจาย กรณียักษ์ใหญ่เอทีแอนด์ที ซึ่งพยายามขยายธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านนายทหารใหญ่คนหนึ่ง (โปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 34) หรือกรณีไม้ซุงพม่าอันอื้อฉาว ล้วนเป็นดัชนีอันแจ่มชัดถึงรูปลักษณ์ที่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา

นี่มิใช่เรื่องเลว หากแสดงให้เห็นวิวัฒนาการก้าวไปข้างหน้าของธุรกิจไทย ซึ่งให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการ และมืออาชีพรุ่นใหม่

อีกจุดหนึ่ง KNOW-HOW ด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่ไหลบ่าเข้ามาประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันภาษาบริหารธุรกิจสมัยใหม่ปลิวว่อน แม้ว่า KNOW-HOW ดังกล่าวจะยังไม่แสดงอิทธิฤทธิ์มากมายนักก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็น "เครื่องมือ" ชนิดใหม่อันน่าจับต้อง

ธนดี โสภณศิรินักบริหารธุรกิจมืออาชีพคนหนึ่งเคยกล่าวไว้นานแล้วว่านักบริหารมืออาชีพ (PROFESSIONAL CLASS) จะรวยสู้ผู้ประกอบการ (ENTREPENUER) ไม่ได้ แต่ว่าโอกาสของ ENTREPENUER นั้นมิใช่เรียกหามาได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ธนดีกล่าวในทรรศนะของเขาว่า พวกเขามีโอกาสร่ำรวยมากในธุรกิจ 4 ประเภท หนึ่ง-ธนาคารและสถาบันการเงิน สอง-ธุรกิจที่ดิน (REAL ESTATE) สาม-รวยจากทรัพย์สมบัติ (INHERITED) และสี่-เป็นนักพัฒนาสินค้าใหม่ (INOVATOR)

แต่ในสังคมไทย 3 ประเภทแรกโอกาสแทบจะไม่เปิดต้อนรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YOUNG ENTREPENUER) เลยก็ว่าได้ กิจการธนาคารและสถาบันการเงินปัจจุบันถูกคุมกำเนิดอย่างเข้มงวดแม้ "ผู้ใหญ่" "ผู้ทรงอิทธิพล" ทั้งในและต่างประเทศวิ่งกันทุกวิถีทางก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ธุรกิจที่ดินต้องพร้อมด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง 1.มีสินทรัพย์มากพอ 2.ได้รับความสนับสนุนเพียงพอและต่อเนื่องจากแหล่งเงินทุนซึ่งล้วนเป็นภาระหนักที่ไม่มีวันบรรจบกัน YOUNG ENTREPENUER

เวทีธุรกิจสำหรับพวกเขาจึงเหลือ INOVATOR เท่านั้น!

และพวกเขาทั้ง 5 คนเดินมาเส้นทางเดียวกันนี้

เกียรติศักดิ์ บุญพร้อมสรรพ (2505) เจ้าของร้านเสื้อผ้าแฟชั่น "ไฝ โปรดิวส์" 2 แห่งบนสยามสแควร์จับเส้นวัยรุ่นถูก เขาเริ่มต้นทำกระเป๋าสะพายแฟชั่นในยุคบุกเบิก จนมาถึงบูติค "เปรี้ยว" ที่สุดในเวลานี้

จิระ จิริยะสิน (2506) กรรมการผู้จัดการบริษัทถาวรคอมพิวเตอร์เขาเคยเปิดร้านวิดิโอเป็นแห่งที่สองของกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนมาจับธุรกิจคอมพิวเตอร์พีซี.ราคาถูกมากๆ โดยปะยี่ห้อไทยรายแรกและรายเดียวในขณะนี้

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ (2498) เขามากับรายการ "เกมโชว์" ซึ่งบูมมากๆ ในปี 2526 ต่อ 2527 ด้วยมีความเป็นผู้ประกอบการ (ENTREPENUERSHIP) ในตัวเขาจึงกระโดดมาดำเนินธุรกิจนี้ด้วยตนเอง โดยอาศัยโอกาสที่หยิบยื่นให้ในเวลาอันสั้น

ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ (2499) กรรมการผู้จัดการร้านดอกหญ้าและสำนักพิมพ์สามัคคีสาส์นแม้เขาจะดำเนินธุรกิจหนังสือซึ่งถือเป็นธุรกิจดั้งเดิม แต่เขาเป็นผู้บุกเบิกใช้การตลาดสมัยใหม่นำหน้าเป็นรายแรกๆ ที่เปิดฉากลดราคาหนังสือครั้งใหญ่และใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอาทิ "พรีเมียม" มัดใจลูกค้าอย่างเหนียวแน่น

และธีรพล นิยม (2494) กรรมการบริหารกลุ่มแปลนอาคิเตค กลุ่มธุรกิจของคนหนุ่มที่ DIVERSIFIED ออกไปอย่างรวดเร็วจากจุดเริ่มต้นเป็นสถาปนิกเจ้าของไอเดียทาวน์เฮ้าส์ในกรุงและเจ้าของรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นหลายรางวัล อันแสดงถึงความไม่หยุดนิ่งของพวกเขา

เขาทั้ง 5 คนเป็น "ตัวอย่าง" ของคนรุ่นใหม่ที่เจริญเติบโตท่ามกลางสภาพธุรกิจในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชจ์ขึ้นเถลิงอำนาจด้วยการเปิดฉากเชื้อเชิญต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างขนานใหญ่ รัฐบาลไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก และตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน อัตราการเติบโตธุรกิจในช่วงนั้นพุ่งปรู๊ดปร๊าด

หมดยุคสฤษดิ์ ธุรกิจก็เติบโตต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง นักลงทุนหลากชาติเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่สำคัญตามมาด้วยธุรกิจไทย ซึ่งครอบงำโดยคนไทยเชื้อสายจีนได้ค่อยๆ เปลี่ยไปร่วมทุน (JOINT VENTURE) กับต่างประเทศ

บรรษัทข้ามชาติมิเพียงส่งทุนเข้ามา ยังได้ส่ง KNOW-HOW สมัยใหม่ทั้งการผลิตและการบริหารธุรกิจเข้ามาด้วย ผลพวงเช่นนี้ได้ส่งผลสะท้อนต่อธุรกิจไทยตลอดจนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในยุคนี้เช่นพวกเขาทั้ง 5 คนด้วย

นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของนักศึกษาเมื่อเดือนตุลาคมของปี 2516 และปี 2519 ซึ่งพวกเขาบางคนในที่นี่เข้าร่วมด้วยนั้น บ่งบอกภาพอันคมชัดทรรศนะของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเสรีนิยม (LIBERAL) อันชัดแจ้ง

เมื่อพวกเขาก้าวเข้าสู่ธุรกิจ ความคิดและวัฒนธรรมของพวกเขาจึงแตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างมาก พวกเขาทันสมัยไม่อนุรักษ์นิยม แสวงหาความรู้กว้างขวาง สายตายาวไกล เป็นนักธุรกิจที่ไม่มีพรมแดนอยู่แค่ประเทศไทย และเป็นนักประชาธิปไตย

เกียรติศักดิ์ หรือไฝ มีกิจการตัวเองมาแล้วเกือบ 5 ปี ธุรกิจปรับตัวครั้งใหญ่ๆ 2 ครั้ง เปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับสินค้าอยู่ไม่หยุดวันนี้เขากำลังศึกษาลู่ทางทำธุรกิจส่งออกนำเข้าสินค้า (EXPORT-IMPORT) อยู่ ไฝชอบเดินทางไปฮ่องกง เพื่อหาลู่ทางทำการค้าในขณะเดียวกันก็ "จับ" ชีพจรหรือความแปลกใหม่ในวงการแฟชั่น แม้ธุรกิจของเขาต้องใช้ ONE MAN SHOW อันเนื่องมากจากลักษณะและขนาดของธุรกิจ แต่ความคิดของเขาไม่มีพรมแดนเขามองโลกธุรกิจเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจในประเทศไทย และรู้จัดวิธีปรับใช้

จิระ เป็นคนหนุ่มที่ใฝ่หาความรู้มากทีเดียว อันเนื่องมาจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ของเขาซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เขาบอกว่าเขาเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลยสำหรับ "ข่าวสาร" เพื่อทำให้เขาทันสมัยอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็วางแผนสำหรับอนาคตถาวรคอมพิวเตอร์ในปี 2529 จะมีแผนกงานสำคัญอีกแผนก คือพัฒนาและวิจัย (R&D) อันเป็นหัวใจของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จิระทุ่มเททำงานหนัก เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำงานในห้องทำงานแคบๆ ในสำนักงานใหญ่โอ่โถง

ไตรภพ เกิดจากสถานการณ์กำหนดกว่าคนอื่น ๆ ทุกวันนี้เขากำลังต่อสู้กับวิกฤติการณ์ครั้งแรกเพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของเขา ไตรภพให้ความสำคัญของงานที่ผลิตออกมามาก เขาบอกว่าบอร์นออปเปอร์เรชั่นจะต้องมีทีมงานมันสมองมากพอแม้ค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้จะสูงมาก เพราะมันถืออนาคตของเขาและบอร์นฯ อีกทางหนึ่งเขามาร่วมทุนกับกันตนาซึ่งเป็น PRODUCTION HOUSE วางการทีวีมานาน แม้ไตรภพไม่ชอบนั่งเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศ แต่เขาต้องทุ่มเทศึกษาบทเรียนจากหนังสือไม่น้อยทีเดียว

ณรงค์ศักดิ์ เพิ่งจะเปิดสาขาร้าน "ดอกหญ้า" แห่งใหม่ที่หน้าพระลาน เขาบอกว่าเมื่อไม่นานมานี้เขารู้สึก "ตัน" ต้องการสิ่งใหม่ในธุรกิจ เขาเดินทางไปต่างประเทศ เรียนรู้สิ่งใหม่ เขาเพิ่งจะกลับจากญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ กลับมาพร้อมกับแผนการงานที่จะช่วยเสริมร้านดอกหญ้าของเขาให้ดึงดูดลูกค้ามากขึ้นในช่วงปลายปี ณรงค์ศักดิ์บอกว่าร้านดอกหญ้าเตรียมก้าวกระโดดขึ้นศูนย์การค้าด้วยความพร้อมทุกด้านแล้ว เพียงแต่ว่าขณะนี้เขากำลังทำงานอย่างหนักต้อนรับปลายปีก่อน เชื่อว่าแผนการนั้นจะเริ่มเดินเครื่องต้นปีหน้า

แปลน อาคิเตคเป็นแบบฉบับธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่บริหารงานแบบประชาธิปไตย ระดมความคิดจากหลายฝ่าย ธีรพล เป็นเพียงคีย์แมน 1 ใน 7 คนเท่านั้น และแปลนกรุ๊ปนับได้ว่าประสบความสำเร็จมาก ในวิถีดำเนินของพวกเขามีกิจการที่แตกแขนงออกไปไม่ต่ำกว่า 5 กิจการ ทั้งกิจการที่เล่นกับ ASSET เช่นการพัฒนาที่ดินและเทคโนโลยี-ผลิตของเล่นเด็กส่งออก เป็นกลุ่มที่มีพลังในการขยายธุรกิจมากอย่างน่าจับตา

เถ้าแก่ยุคใหม่เป็นคนเรียบง่าย ทำงานหนัก มีเพียงไตรภพเท่านั้นที่นั่งรถยุโรป ส่วนคนอื่นๆ นั่งรถเล็กจากญี่ปุ่น เวลาว่างส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบครัว หรือเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าจะเริงราตรี ยกเว้นไฝที่ชอบดิสโก้นอกจากเหตุผลเพื่อคลายความเครียดจากการงานแล้ว เขาบอกว่าการที่คลุกคลีกับวัยรุ่นทำให้เข้าใจวัยรุ่น ทั้งยังศึกษาการแต่งกายของวัยรุ่นเพื่อปรับปรุงธุรกิจของเขาอีกด้วย และไตรภพ ที่บางครั้งบางคราว

พวกเขาให้ความสนใจการบริหารธุรกิจสมัยใหม่มากขึ้นไม่ว่าการศึกษาอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตรา การใช้บริการของธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้คู่แข่ง

"ผมต้องการให้มีการแข่งขันมากกว่านี้ ธุรกิจขายหนังสือจะพัฒนาขึ้น ผมมองว่าปัญหายังแข่งขันกันไม่พอ" ณรงค์ศักด์กล่าว

แต่สิ่งที่ทุกคนกลัวคือ "ภาษี" เป็นความกลัวอันอมตะเหมือนๆ กับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการยุคก่อนๆ หลายคนไม่ยอมบอกตัวเลขรายได้ กำไรที่แท้จริง หรือไม่ก็ขอไม่เปิดเผย "ภาษีบ้านเราโหดมาก หากเราเสียตามจริงกิจการไม่มีทางอยู่ได้ผมไม่เชื่อว่าใครจะแจ้งจริง" คนหนึ่งพูดอย่างตรงไปตรงมา

มีคนตั้งคำถามว่า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ล้วนดำเนินธุรกิจตรงไปตรงมา ตามครรลองแตกต่างจากคนรุ่นเก่ามาก คำตอบคือที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีโอกาสมากกว่า พวกเขาบางคนบอกว่าการเรียนรู้วิธีซิกแซกจำเป็น แต่โอกาสไม่เปิดกว้างให้ทำอะไรได้มาก "กลยุทธ์การค้าเราต้องรู้ ไม่รู้เราอยู่ไม่ได้ เช่นบอกว่าขายเสื้อผ้าเฉพาะบนห้างเท่านั้นไม่เคยลงตลาดล่าง พอเห็นสินค้าอยู่ข้างล่างก็แกล้งโวยวายฟ้องกันก็มี แต่แท้ที่จริงเป็นคนทำเอง"

พวกเขา 5 คนเป็นเพียง "ตัวอย่าง" มิใช่ "ต้นแบบ" ที่ "ผู้จัดการ" พยายามควานหาในธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า หนทางธุรกิจของคนรุ่นใหม่มีแต่ธุรกิจที่เกิดจากสถานการณ์ ธุรกิจเกี่ยวกับ INOVATION ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่มาก ผู้มีความสามารถเท่านั้นที่จะอยู่รอด

พวกเขาสะสมประสบการณ์มาได้จำนวนหนึ่ง รักษาความมั่นคงท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจในระยะที่ยาวนานพอสมควรอนาคตเป็นของพวกเขา ที่พวกเขาจะต้องกำหนดกันเอง

"ผู้จัดการ" พบว่าในแขนงธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งมากกว่าไฝอีกหลายราย แต่พวกเขาเหล่านั้นยังอยู่ในระยะสะสมทรัพย์อย่างเงียบๆ เขาบอกว่าการเปิดตัวจะทำให้ถูกจับตามองและไม่เป็นอันทำงาน ปัจจุบันพวกเขาต้องทำงานหนักไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันและยังไม่มี "ตัวตายตัวแทน"

เชื่อหรือไม่ว่าในธุรกิจนี้บางคนเข้าไปเพียง 4 ปี มีสินทรัพย์แล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน เปิดสาขาแล้วเกือบ 10 แห่งทั้ง ๆ ที่อายุเขาไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ

ธุรกิจนี้ดูเหมือนเปิดกว้าง มีศักยภาพสูง แต่ความจริง "แดนสนธยา" ยังแฝงอยู่ "ผู้จัดการ" จะเปิดปริศนานี้ออกในไม่ช้านี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us