ถ้าคิดว่า พิพิธภัณฑ์ คือ ที่เก็บวัตถุโบราณล้ำค่าแล้วละก็ "บ้านพิพิธภัณฑ์"
แห่งนี้ไม่ใช่ แน่นอน แต่มีของสะสมที่ หลากหลายน่าสนใจทีเดียว
"เรื่องบ้านพิพิธภัณฑ์พูดมาหลายครั้งแล้ว ไม่เสร็จสักที" เอนก นาวิกมูล
เอ่ยกับ "ผู้จัดการ" ในยามบ่ายวันหนึ่งบนห้องทำงาน ของเขาที่ศูนย์สังคีตศิลป์
ชั้น 3 ของธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า ห้องทำงานเล็กๆ แห่งนั้น เต็มไปด้วยหนังสือ
และของเก่าหลายชิ้นที่วางเต็มไปหมด ห่อกระดาษสีน้ำตาลที่พรรคพวกบางคนเพิ่งส่งมาให้จากอำเภอหาดใหญ่และยังไม่ได้แกะ
ก็ยังมีอีกหลายชิ้น
สิ่งของเหล่านี้กำลังรอการลำเลียงไปยัง "บ้านพิพิธภัณฑ์" ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑล
สายสอง ด้านทางรถไฟ เป็นอาคาร 3 คูหา 3 ชั้น ที่ได้รับการสนับสนุนออกแบบให้โดยบริษัท
แปลนอาคิเต็ค หลังจากเป็นโกดังเก็บของสะสม มานาน บ้านหลังนี้กำลังแปรสภาพกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของเมืองไทย
ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นๆ ทั่วไป ที่เน้นในเรื่องการเก็บโบราณ วัตถุล้ำค่าราคาแพง
หรือของสะสมหายาก แต่ ที่นี่เป็นการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวไทยทั่วๆ
ไป เก่าบ้างใหม่บ้างคละเคล้ากันไป
สภาพภายในบ้านพิพิธภัณฑ์ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นั้นกำลัง เร่งมือในการตกแต่ง
และจัดของต่างๆ ที่ได้มาจากการเก็บสะสม การบริจาค หรือการจัดซื้อ เข้าใส่ตู้เพื่อจะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมประมาณเดือนเมษายนนี้
ในพื้นที่ชั้นแรกจากห้องเก็บของรกๆ กำลังกลายเป็นร้านค้าเล็กๆ ที่จำลองการแต่งร้านในสมัยก่อน
เด็กๆ อาจจะตื่นเต้นกับร้านขายของเล่นที่มีสินค้า ที่ไม่เคยเห็น มีร้านขายหนังสือเก่าที่มีภาพวาดหุ้มปกอวดจินตนาการและฝีมือของนักวาด
ข้าวของเครื่องใช้ในร้านกาแฟที่สมัยนี้หาดูได้ยาก เพราะเจอแต่เครื่อง บดกาแฟ
และร้านที่ตกแต่งทันสมัยของแฟรนไชส์จากต่างประเทศเสียมากกว่า ร้านตัดผมสมัยเก่าก็ดูแปลกตา
เช่นเดียวกับการจำลองร้านขายยาโบราณมาจาก จังหวัดอุทัยธานี ที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก
ส่วนบริเวณพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 ยังมีเครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป ขวดรูปทรงต่างๆ
และสิ่งของอีกมากที่กำลังรอการจัดวาง
เอนกบอกว่าของส่วนใหญ่ที่นี่ ไม่เน้นว่าจะต้องเป็นของที่มีราคา จะไม่มี
กระเบื้องจีน เครื่องลายคราม ไม่มีตุ๊กตาแพงๆ ไม่มีอะไรใหญ่โต มีแต่ของเล็กของน้อย
และอาจจะไม่ใช่ของเก่าโบราณอะไรมากมายนัก แต่เขาถือว่าของที่เก็บวันนี้พรุ่งนี้ก็เก่าแล้ว
และหากไม่มีการเก็บไว้วันนี้ วันข้างหน้าก็ไม่มีให้ดูเช่นกัน
ดังนั้น ในบ้านพิพิธภัณฑ์อาจจะมีของบางชิ้นที่อาจจะไม่ใหม่มากนักก็ได้
แต่ทุกอย่างคือ สีสันที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของชาวเมืองในแต่ละยุคเป็น
อย่างดี
"ตอนแรก มันมีแต่ห้องโล่งๆ 3 ชั้น วางของที่ได้มาระเกะระกะเยอะไปหมด ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าจะจัดอย่างไร"
เอนกเล่าให้ฟังถึงความยุ่งยากในการทำงานช่วงแรก
โชคดีที่สรายุทธ์ พึ่งสุจริต ได้ทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้นและพิพิธภัณฑ์เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
สรายุทธ์กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มาออกแบบดีไซน์แผนผังการแบ่งจัดเป็นห้องต่างๆ
ให้ เมื่อประมาณต้นปี 2544 โดยมีวิบูลย์ ทโรปนัย นักสะสมคนหนึ่งที่รู้จักกันมา
10 กว่าปี เป็นคนช่วยออกความคิดเรื่องการจัดหาตู้มาใส่
"ตอนที่ยังไม่เสร็จ ก็คิดทุกวันว่า รับเงินเขามาแล้วสถานที่ก็ได้มาแล้ว
ยังไงก็ต้องทำให้เสร็จ เมื่อสร้างเสร็จแล้วตอนนี้ก็คิดทุกวันว่าจะบริหารอย่างไร
จะมีคนมาดูมั้ย จะเก็บเงินหรือเปล่า ถ้าไม่เก็บค่าใช้จ่ายที่เกิด ขึ้นจะทำอย่างไร"
เอนกระบายความรู้สึก
เอนก เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2496 ที่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
เป็นบุตรบุญส่ง และสมถวิล นาวิกมูล และผู้ที่มีอิทธิพลต่อความรักการสะสมของเอนกก็
คือ ผู้เป็นพ่อซึ่งชอบเก็บสะสมของเก่าอย่างมาก เอนกมีนิสัย รักการอ่าน การเขียน
และการถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก และได้ ตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อโตขึ้นจะต้องเป็นนักเขียนให้ได้
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง คือ สถานที่ที่เขาได้เรียนรู้ ตั้ง ข้อสงสัย และค้นคว้าหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งจบการ ศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นที่ 25 ชีวิตส่วนใหญ่ของเขานอกจากตำราเรียนแล้ว
ก็คือ การค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเก็บบันทึกร่องรอยทาง ด้านประวัติศาสตร์ของชาติไทย
ในหลายๆ เรื่องเป็นองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ และเป็นรากเหง้าของไทย
ที่น่าสนใจไว้ทั้งหมดถึง 69 เล่ม
ผลงานเรื่องแรกของเขาขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ
เพลงยังไม่สิ้นเสียง ซึ่งเป็นเรื่องราว ของพ่อเพลง แม่เพลงของไทย ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี
2518
บ้าน "พิพิธภัณฑ์" เป็นความคิดในลมหายใจเข้าออกของเขา และคิดที่จะต้องทำให้ได้มานานกว่า
10 ปี การได้ ไปเที่ยวดูงานพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้เขาชักชวน
เจนภพ จบกระบวนวรรณ สุกรี เจริญสุข ตั้งเป็นสโมสรนักสะสมให้คนสนใจของสะสมมากขึ้น
แต่พิพิธภัณฑ์ในความคิดของคนกลุ่มนี้ เแรกเริ่มเน้นไปที่ของซึ่งเด็กๆ สนใจ
จึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เด็กขึ้น กิจกรรมต่างๆ ก็ได้เกิดขึ้น เริ่มการจัดประกวดของ
เล่นไขลาน เมื่อปี 2531 การจัดประกวดอวดของ 500 จำพวก ซึ่งแต่ละครั้งที่มีงานปรากฏว่า
มีคนสนใจมาเข้าร่วมเป็น จำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อปี 2534 ร้อยเอกอาลักษณ์
อนุมาศ เจ้าของที่ดินคนหนึ่งรู้เข้าและได้เห็นความตั้งใจจริง เลยยกที่ดินให้ประมาณ
58 ตารางวา ในราคาประมาณ 1 ล้านกว่า บาท ให้ 1 แปลง เพื่อใช้ในกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์
"บริษัทแปลนออกแบบให้ฟรี ทีนี้พอออกกันไปออกกันมามันก็ขยายมากขึ้นเป็น
5 ล้าน 10 ล้าน แล้วสูงเป็น 80 ล้านบาท เป็นเพราะตอนนั้นคุณหญิงสุพัตราไปเจรจากับ
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ให้มาเป็นประธานสวนสมเด็จฯ ที่ติดกับจตุจักร ท่านบอกว่าจะกันที่เป็น
5 ไร่ เพื่อทำพิพิธภัณฑ์เด็ก ก็หาเงินกันมา อ.สุกรีก็เป่าแซกโซโฟน หาหนังมาฉาย
เล่นเพลงลูกทุ่งกัน มันก็เก็บเงินได้ล้านกว่าๆ พอดีปี 2539 อาจารย์ไกรศักดิ์
ชุณหะวัณ ก็ สนใจพิพิธภัณฑ์เด็ก ผมก็เลยคิดว่า เออ! เราคงไม่มีกำลังหรอก
ก็ขออนุญาตยกโครงการ นี้ให้กทม.รับไป ตั้งแต่นั้นก็เลยกลายเป็นของกทม.
ในส่วนที่เดิม ผมก็เลยขอทำโกดังเพื่อสร้างเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์ บริษัทแปลนออก
แบบให้ใหม่อีก เป็นตึก 3 ชั้น 3 คูหา งบประมาณ 4-5 ล้านบาท"
ทุกวันนี้นอกจากการทำงานเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ประจำของธนาคารกรุงเทพ
สังกัดฝ่ายการประชาสัมพันธ์ และงานเขียนสารคดีให้กับหนังสือต่างๆ รวมทั้งเตรียมรวม
เล่มผลงานแล้ว ทุกลมหายใจเข้าออกของเอนก นาวิกมูล คือ "บ้านพิพิธภัณฑ์"