Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2554
RoboCup 2011 ชัยชนะที่มากกว่าถ้วยรางวัล             
โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
 


   
www resources

โฮมเพจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

   
search resources

Education
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ




เดือนกรกฎาคมถือว่าเป็นช่วงเวลาดีๆ ของเยาวชนได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคว้าเหรียญทองแข่งขันฟสิกส์โอลิมปิก หรือนักเรียนระดับประถมชนะการแข่งขันคณิตศาสตร์โลก รวมถึงแชมป์โลกในการแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิต ประเทศตุรกี

หลายต่อหลายครั้งที่ได้ยิน ไม่ว่าการแข่งขันอะไรก็ตาม หากเป็นการแข่งขันเดี่ยวคนไทยจะเก่ง แต่เมื่อไรก็ตามที่รวมตัวกันเป็นทีมมักจะพ่ายแพ้เสมอ ทว่าคำปรามาสเช่นนี้ ไม่น่าเป็นจริงเพราะหลังจากการเห็นการทำงานเป็นทีมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถรักษาแชมป์สมัยที่ 5 ในการแข่งขัน World RoboCup 2011 ได้เป็นผลสำเร็จ

การแข่งขัน World RoboCup 2011 ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 5-11 กรกฎาคม 2554 ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีทีมเข้าร่วมจาก 43 ประเทศ เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ 1. หุ่นยนต์เตะฟุตบอล ขนาดกลางและเล็ก 2. หุ่นยนต์ Humanoid มีลักษณะคล้ายคน (แข่งเตะฟุตบอล) 3. หุ่นยนต์ช่วยชีวิต (World RoboCup Rescue) และ 4. หุ่นยนต์ดูแลบ้าน (RoboCup@home)

นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสเดินทางร่วมไปกับบริษัทเอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนทีม iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ชนะการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship 2010

นอกจากทีม iRAP_Judy แล้วยังมีมหาวิทยาลัยไทยอีก 2 แห่งที่เข้าร่วมแข่งขันในโปรแกรมหุ่นยนต์ช่วยชีวิต คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทีม Success และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทีม Stabilize

นอกจากนี้ยังมีทีมเยาวชนรุ่นเล็กเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิตประเภท RoboCup Junior ทีม Thailand Team มีมูลนิธิไทยคมสนับสนุน ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีม SKUBA เข้าร่วม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับชัยชนะหุ่นยนต์แข่งขันเตะฟุตบอล ในขณะที่ทีม Thailand จูเนียร์ไม่ได้รางวัล เพราะเป็นครั้งแรกในการเข้าร่วมแข่งขัน และไม่ได้คาดหวังชัยชนะตั้งแต่แรกแต่มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิตทีม Success อยู่ในอันดับที่ 4 ทีม Stabilize คว้าอันดับ 3 ประเทศอิหร่าน ทีม MRL ได้ที่สอง และแชมป์อันดับ 1 ตกเป็นของทีม iRAP_Judy ประเทศไทย

ภาพรอยยิ้มทีมนักศึกษาไทยทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ที่นำธงชาติไทยไปโบกสบัดคว้าชัยชนะในการแข่งขันหุ่นยนต์โลก ณ ฮอลล์ อิสตันบูล เอ็กซ์โป เซ็นเตอร์ ประเทศตุรกี ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทย

เบื้องหลังการแข่งขัน 3 วัน วันที่ 7-8-9 กรกฎาคม ได้สร้างความกดดันให้กับทีม iRAP_Judy ไม่น้อย เพราะการแข่งขันในครั้งนี้มาเพื่อรักษาแชมป์ การแข่งขันจึงต้องมีสมาธิและเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ

การแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยในสถานการณ์จำลองอุบัติภัย เช่น อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากแผ่นดินไหว

หุ่นยนต์ต้องทำหน้าที่ค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่างๆ รวมถึงแสดงผลเส้นทางการเข้าไปช่วยเหลือ และรายงานข้อมูลผู้ประสบภัย เช่น ตรวจจับการเคลื่อนไหว ตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกาย จับสัญญาณเสียงขอความช่วยเหลือ หรือจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทีมทำงานของ iRAP_Judy มีประมาณ 13 คน และมีสายันต์ พรายมี อาจารย์ที่ปรึกษา ส่งหุ่นยนต์เข้าแข่งขัน 2 รุ่น หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 2 ตัว ตัวที่ 1 ขนาด 50x70x40 ซม. น้ำหนัก 50 กิโลกรัม แขนกล้องสามารถยกขึ้นสูง 1.5 เมตร (ชื่อดิน) และตัวที่ 2 ขนาด 55x70x40 ซม. น้ำหนัก 55 กิโลกรัม หุ่นยนต์เคลื่อนที่สายพาน (ชื่อลูกเสือ) และอีกรุ่นที่ 2 หุ่นยนต์อัตโนมัติ ขนาด 35x40x55 ซม. น้ำหนัก 20 กิโลกรัม (ชื่อไฟ) ซึ่งทีมงานจะต้องเริ่มออกแบบหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ และหุ่นยนต์อัตโนมัติ รวมถึงออกแบบด้านวงจรไฟฟ้า

กฎกติกาการแข่งขันจะแข่ง 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที ใน 1 วัน สนามแข่งขันแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 โซน มีไม้อัดเป็นฉากกั้น แต่ละโซนจะมีความยากง่ายต่างกันไป เช่น พื้นที่ลาดเอียง บันได พื้นผิวขรุขระ พื้นที่อับสัญญาณ พื้นที่ในรถ และพื้นที่หยิบจับวัตถุสิ่งของส่งให้กับผู้ประสบภัย

ในวันแรก iRAP_Judy ทำคะแนนนำมาเป็นที่หนึ่ง โดยเฉพาะหุ่นยนต์บังคับมือสามารถเก็บคะแนนในการอ่านข้อมูลผู้ประสบภัยได้ค่อนข้างมาก ในขณะที่หุ่นยนต์อัตโนมัติเก็บคะแนนได้น้อย ส่วนทีม Success มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวมถึงทีม Stabilize ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครตามมาเป็นที่ 2 และ 3 ในขณะที่ทีม YRA และทีม MRL จากอิหร่านตามมาเป็นอันดับ 4 และ 5

หลังจากเข้าวันที่สอง ประเทศอิหร่าน ทีม MRL เริ่มตีตื้นขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงกับ iRAP_Judy เพราะสามารถทำคะแนนในส่วนของหุ่นยนต์อัตโนมัติได้ดี โดยเฉพาะการสร้างแผนที่

การสร้างแผนที่เป็นจุดอ่อนของ iRAP_Judy มาตั้งแต่สร้างหุ่นยนต์ เพราะไปมุ่งเน้นให้ความสนใจเก็บคะแนนจากเหยื่อเป็นหลัก จึงทำให้วันที่สามรอบชิงชนะเลิศหากอิหร่านยังเก็บคะแนนสร้างแผนที่ได้ดี และพัฒนาในส่วนของการเก็บเหยื่อได้เพิ่มมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะคว้าชัยชนะ

ในสนามช่วงเวลาแข่งขันหุ่นยนต์จะถูกปล่อย ณ จุดเริ่มต้น โดยแข่งขันทีละทีมใช้เวลา 15 นาที ในสนามจะมีทีมงานอยู่ 2 คน ติดตามการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ ส่วนอีกหนึ่งคนทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์จะอยู่นอกสนาม ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และรายงานคำตอบจากหุ่นยนต์ให้กับกรรมการที่ยืนอยู่ข้างๆ

ช่วงเวลาการบังคับหุ่นยนต์จะมีคู่แข่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดเวลา เพื่อรายงานให้ทีมได้รับรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ อีกอย่างเป็นการป้องกันการตุกติกของผู้ร่วมเข้าแข่งขัน จนทำให้บางครั้งเกิดการปะทะคารมกันระหว่างทีมไทยและทีมอิหร่าน เพราะการสังเกตอย่างใกล้ชิดย่อมสร้างความกดดันให้อีกฝ่าย

ช่วงการแข่งขันที่ใช้เวลาติดต่อกันทุกวัน หุ่นยนต์อัตโนมัติของทีม success ประสบปัญหามีเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถลงแข่งได้ ในขณะที่ทีม MRL ของอิหร่านหุ่นยนต์บังคับมือกล้องหักในขณะแข่งขัน จึงทำให้ iRAP_Judy ค่อนข้างได้เปรียบ แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้เมื่อทีม Stabilize มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครจับมือกับทีมกรีซ เข้าชิงชนะเลิศ

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศมีทั้งหมด 5 ทีมเข้ารอบ ทีมไทย 3 ทีม และทีมอิหร่าน 2 ทีม ที่ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่วันแรก

สนามในรอบชิงชนะเลิศจะมีการปรับปรุงใหม่ให้มีความยากมากขึ้น พื้นที่ลาดเอียงมากขึ้น และเพิ่มจำนวนไม้กั้นเพื่อสร้างอุปสรรคให้หุ่นยนต์ลำบากมากขึ้น และเพิ่มเวลาแข่งขันเป็น 20 นาที

หลังจากปรับสนามแล้ว ทุกทีมโดยเฉพาะในส่วนของคนบังคับหุ่นยนต์จะมีโอกาสเข้าสังเกตสนามใหม่จากบริเวณด้านนอกได้

ทีมแรก เริ่มด้วยทีม Stabilize ทำคะแนนได้น้อยที่สุด ตามด้วยทีม YRA อิหร่าน ทีม Success ทีม MRL และทีม iRAP_Judy

ทีม MRL คาดหวังว่าจะเก็บคะแนนจากหุ่นยนต์อัตโนมัติเพราะสามารถเขียนแผนที่ได้ดี จนทำให้ฉุดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจาก iRAP_Judy

ทีม MRL ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยระดับหัวกะทิของอิหร่าน ในขณะที่ทีม iRAP_Judy เป็น เด็กเรียนหนังสือระดับปานกลาง แต่มีใจรักในการสร้างหุ่นยนต์

ทีม MRL ก็ต้องพลาดจากการเลือกใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ เพราะช่วงเวลาแข่งขัน หุ่นยนต์ไม่สามารถเก็บคะแนนได้เหมือนในวันแรกและวันที่สอง

สายันต์ พรายมี อาจารย์ที่ปรึกษาทีม iRAP_ Judy บอกว่า ทีมอิหร่านตั้งโปรแกรมออฟไลน์ให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติ สั่งให้หุ่นยนต์เดินทางตามกำหนด จึงทำให้วันแรกและวันที่สองเก็บคะแนนได้ดี และสังเกตได้ว่า หุ่นยนต์จะเก็บคะแนนจุดเดิม แต่เมื่อมีการปรับสนามใหม่ อิหร่านไม่ได้ปรับโปรแกรมทำให้หุ่นยนต์ทำงานตามโปรแกรมเดิม จึงทำให้การทำงานผิดพลาด

ในขณะที่หุ่นยนต์อัตโนมัติของ iRAP_Judy ใช้โปรแกรมระบบอัตโนมัติธรรมดา เมื่อหุ่นยนต์เจออุปสรรค โปรแกรมจะสั่งให้หลบหลีกอุปสรรคได้เอง

ทีมอิหร่านพลาดพลั้งในครั้งนี้ ทำให้ iRAP_Judy กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง หลังจากเริ่มออกจากจุดสตาร์ท หุ่นยนต์ลูกเสือ (หุ่นยนต์บังคับมือสายพาน) ที่ iRAP_Judy เลือกใช้เพื่อคว้าแชมป์ในครั้งนี้สามารถผ่านอุปสรรคได้อย่างราบรื่น แม้กระทั่งคู่แข่ง อย่างทีม Success ชมว่า “สุดยอด” หรือแม้แต่ทีมอิหร่าน YRA ดูการแข่งขันจนนาที สุดท้ายยังออกปากว่า “very smooth”

กัญจนัศ แสนบุณศิริ (แสตมป์) รับหน้าที่บังคับหุ่นยนต์และงานเครื่องกล บอกว่าทีมจะให้ความสำคัญในการเก็บเหยื่อ มากที่สุด เพราะจะเป็นตัวเพิ่มคะแนนและหลีกเลี่ยงบางจุด เช่น ยื่นน้ำให้เหยื่อเพราะต้องใช้เวลานานเกินไป แม้กระทั่งการอ่านแผนที่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

แต่ก็ยอมรับว่าการสร้างแผนที่เป็นเรื่องสำคัญ ทว่าทีมยังไม่มีคนชำนาญด้านการเขียนโปรแกรม ซึ่งอาจต้องหามาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

“ในความจริงแล้ววัตถุประสงค์ของการแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยชีวิต ต้องการให้หุ่นยนต์สามารถสร้างแผนที่ เพื่อให้คนด้านนอกเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะหุ่นยนต์ไม่ใช่ทำหน้าที่ช่วยชีวิต” ดร.พรภพ นัยเนตร ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยกล่าว และเขายังบอกอีกว่าการแข่งขันในประเทศ ที่ผ่านมา ทีมที่เข้าแข่งขันในส่วนของการสร้างแผนที่จะได้คะแนนเพียง 1 หรือ 0 คะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของทีม iRAP_Judy ในครั้งนี้เกิดจากการทำงานหนักของทีมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาร่วมปี และนักศึกษาส่วนใหญ่รู้จักกันมาตั้งแต่ระดับ ปวช. มีการถ่ายทอดความรู้รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

จึงทำให้มหาวิทยาลัยรักษาแชมป์ได้ในสมัยที่ 5 ของปีนี้ ที่ผ่านมาเป็นแชมป์ มา 4 สมัยคือ ปี 2549 แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย เยอรมนี ปี 2550 ชนะการแข่งขันในสหรัฐอเมริกา ปี 2552 ประเทศออสเตรีย และปี 2553 ประเทศสิงคโปร์ โดยปี 2551 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แชมป์โลก หุ่นยนต์กู้ภัยที่ประเทศจีน

เป้าหมายของการแข่งขัน World RoboCup ในแต่ละปี ไม่ได้จัดเพื่อชิงถ้วยรางวัลเพียงอย่างเดียว แต่แก่นแท้ของการแข่งขันก็เพื่อฝึกฝนพัฒนาให้เยาวชนโลกได้มีการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเพื่อสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้อย่างแท้จริง คือเป้าหมายสูงสุด

การเตรียมพร้อมของทีมงานแต่ละประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันประสบความสำเร็จในทุกปี รวมถึงทีม iRAP_Judy ได้ฝึกฝนอย่างหนักทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี โดยเฉพาะกัญจนัศที่ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์ต้องทุ่มเทในการฝึก บางวันมากกว่า 10 ชั่วโมง หรือซ้อมจนกระทั่งหุ่นยนต์พัง และหัวใจความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ “การทำงานเป็นทีม” ที่มีใจรักในหุ่นยนต์

ในปีหน้ามหาวิทยาลัยจะส่งหุ่นยนต์กู้ภัยแข่งขันเช่นเดิมและส่งหุ่นยนต์ Robo Cup@home เป็นครั้งแรก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อไป

ชัยชนะของเยาวชนไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์ หรือด้านอื่นๆ แสดงให้เห็นแล้วว่า คนไทยแท้จริงไม่ได้เก่งเฉพาะการแข่งขันประเภทเดี่ยว แต่การแข่งขันเป็นทีม ก็ไม่เป็นรองใครในโลกนี้เช่นกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us