Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2554
ฟื้นคุณภาพน้ำ สร้างสุขสังคมเมือง             
โดย Jerome Rene Hassler
 


   
search resources

Environment




ในบทนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลองในกรุงเทพฯ และบทเรียนที่ดีจากแนวทางการรักษาแม่น้ำลำคลองในเมืองต่างๆ ของบางประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

น้ำ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของไทยมาโดยตลอด หากปราศจากแหล่งสำรองน้ำอันมีค่า ไทยคงไม่อาจผงาดขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ และหากปราศจากแม่น้ำลำคลองที่มีอยู่มากมายในอดีต เราคงไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่มีอยู่มากมายในไทยได้

ไม่เพียงพื้นที่เกษตรและพื้นที่ติดริมแม่น้ำสายใหญ่ๆ เท่านั้น ที่ชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นอยู่กับน้ำ แม้กระทั่งคนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ได้รับผลที่เกี่ยวข้องกับน้ำอย่างมาก ทั้งเรื่องน้ำดื่มสะอาด การสุขาภิบาล และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับน้ำฝน (storm-water regulation) ล้วนมีผลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของทุกคน น่าเสียดายที่เรากลับไม่ค่อยเอาใจใส่ทรัพยากรน้ำที่อยู่ในเมืองเท่าใดนัก ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และอยุธยา

กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยตอนล่าง (Lower Thailand) พื้นที่นี้เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงโดยธรรมชาติ ระดับพื้นดินโดยทั่วไปสูงเพียง 1 หรือ 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเท่านั้น ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงมักเกิดน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้งในอดีต ในปี 1942 เกิดน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ ทำให้หลายส่วนของกรุงเทพฯ จมอยู่ใต้น้ำ และทำให้เมืองเป็นอัมพาตนานหลายสัปดาห์ ปัญหาที่กรุงเทพฯ อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อยนี้ ยังถูกซ้ำเติมด้วยการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ซึ่งทำให้ชั้นของดินบางแห่งยุบตัวจมลง 20-40 มิลลิเมตรต่อปี และทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เช่นถนน ตึก นิคมอุตสาหกรรมและสะพาน เสี่ยงที่จะพังถล่มลงมาได้

ปัญหาน้ำท่วมจะยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวกรุงเทพฯ ในอนาคต ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยและกรุงเทพมหานครพยายาม ขยายระบบระบายน้ำเสียรวม (storm-water drainage systems) คลองมีบทบาทสำคัญในการป้องกันกรุงเทพฯ จากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำการระบายน้ำในกรุงเทพฯ อาศัยท่อระบายน้ำข้างถนน ซึ่งจะนำทั้งน้ำเสียและน้ำฝนลงไปสู่คลองโดยตรง แต่การบำบัดน้ำเสียที่ไม่เพียงพอทำให้คลองสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ เกิดมลพิษอย่างหนักจนน้ำในคลองเป็นสีดำ และเต็มไปด้วยน้ำเสียทุกประเภทจากครัวเรือน แบคทีเรียอันตรายและส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นคือ จำนวนคลองที่ลดลง ส่วนคลองที่ยังเหลืออยู่ก็มีสภาพทางกายภาพที่แย่มาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาคือ แม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทั้งการคมนาคมขนส่ง และการระบายน้ำ ถูกถมด้วยคอนกรีตและยางมะตอย โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองโบราณของไทย เนื่องจากเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางน้ำจำนวนมาก ทั้งห้วยหนองคลองบึง ถูกสร้างทับด้วยสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น เนื่องจากพื้นดินธรรมชาติ ซึ่งฝนและน้ำจากฝนสามารถไหลผ่าน ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก เพราะหน้าดินถูกปิดไปด้วยถนนและอาคาร บ้านเรือน ในกรุงเทพฯ ทางน้ำที่เคยมีมาแต่อดีตทั้งหมด ขณะนี้เหลืออยู่เพียง 20% เท่านั้น และปัญหานี้ก็เกิดกับเมืองต่างๆ อีกหลายเมืองของไทยด้วย และหนึ่งในเมืองที่มีปัญหามากที่สุดก็คืออยุธยา เมืองหลวงในอดีตของไทย

อยุธยาเป็นเมืองโบราณที่มีการวางผังเมืองอย่างดี ถูกสร้างให้เป็นเมืองหลวงของไทยระหว่างปี 1350-1767 ที่ให้ความสำคัญกับน้ำเป็นหลัก มีการขุดคลองจำนวนมากที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลัก 3 สาย เพื่อประโยชน์ในการเป็นทั้งแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคมขนส่ง ทางระบายน้ำและการพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการวางผังเมืองที่สอดคล้องกับคุณสมบัติทางธรรมชาติอันโดดเด่นของอยุธยานี้เอง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อยุธยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดย UNESCO ในปี 1991 ตั้งแต่นั้นก็มีการก่อสร้างใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่างในเมืองโบราณแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1868 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้คลองจำนวนมากถูกถม และคลองที่ยังเหลืออยู่ก็ทำหน้าที่เพียงเป็นทางระบายน้ำเท่านั้น โชคดีที่ยังมีคลองหลายสายปลอดภัย แต่โครงการปรับปรุงคลองในอยุธยา ก็ยังไม่ค่อยได้รับความสำคัญ เมื่อเทียบกับโครงการลงทุนหลักๆ หลายอย่าง การท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวอยุธยา จะได้รับประโยชน์หากแผนการฟื้นคืนชีวิตใหม่ให้คลองได้รับการปฏิบัติตามแผน อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับอยุธยา ดังนั้น การปรับปรุงคลองจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันอยุธยาและมรดกโลกจากน้ำท่วม ปัญหานี้ก็เกิดกับกรุงเทพฯ เช่นกัน และกำลังต้องการการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน

กรุงเทพฯ ตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 240 ปีก่อน ในฐานะเมืองหลวงของไทยที่ย้ายมาจากกรุงธนบุรี ตั้งแต่นั้นมา กรุงเทพฯ เติบโตจนมีประชากรเป็นทางการกว่า 7 ล้านคน หรือ 12 ล้านคนเมื่อรวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงสร้างเมืองของกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเคียงข้างเครือข่ายคลองขุดฝีมือมนุษย์ ที่มีลักษณะเป็นวงแหวน ถนนราดยางสายแรกสร้างขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน ในช่วงที่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจสังคมแบบตะวันตกกำลังเป็นกระแสนิยม และในช่วง 100 ปีมานี้ ถนนได้เข้ามาแทนที่ทางน้ำในฐานะเส้นเลือดของกรุงเทพฯ คลองจำนวนมากถูกถมเพื่อสร้างถนน ทำให้คลองซึ่งเคยมีถึง 1,000 สาย เหลือเพียง 200 สายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จนอยู่ในสภาพที่แย่มาก

สำหรับคนกรุงเทพฯ ทางน้ำอาจสูญเสียความสำคัญบางอย่างที่เคยมีในอดีตไปสำหรับชีวิตทันสมัยในกรุงเทพฯ อย่างเช่นหน้าที่การเป็นเส้นทางคมนาคม แต่การฟื้นคืนชีวิตให้แก่ทางน้ำที่สำคัญเหล่านี้ จะเป็นกุญแจสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองที่ยั่งยืนมากขึ้น คลองโบราณสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องได้รับการยกระดับเพื่อประโยชน์หลายอย่างทั้งเส้นทางคมนาคม ป้องกันน้ำท่วม เพื่อการท่องเที่ยวและการจ้างงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเป็นสถานที่ที่ประชาชน สามารถเข้าถึงคลองบางส่วนในกรุงเทพฯ ก็มีการฟื้นคืนชีวิตอย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว อย่างเช่นคลองผดุงกรุงเกษม (ใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง) และคลองบางลำพู อย่างไรก็ตาม คลองส่วนใหญ่ยังคงเต็มไปด้วยมลพิษและมีสภาพทางกายภาพที่ไม่ดี ทำให้ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมกับการปกป้องสภาพแวดล้อมเดินไปด้วยกันได้ มีตัวอย่างดีๆ ให้เห็นในกรุงโซล สิงคโปร์และมะละกาของมาเลเซีย

ตัวอย่างหนึ่งของโครงการฟื้นคืนชีวิตแม่น้ำลำคลองโดดเด่นที่สุดในเอเชียคือที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ Cheonggyecheon เป็นคลองสายน้อยความยาวเพียง 6 กิโลเมตรที่อยู่ในเขตเมืองชั้นใน ซึ่งเชื่อมย่านธุรกิจใจกลางกรุงโซลกับแม่น้ำ Han มีการสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่เปิดโล่ง ทางเดินเท้าและสะพาน ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการพักผ่อนหย่อนใจ การเดิน การขี่จักรยานและกิจกรรมอื่นๆ ในอดีต คลองสายนี้เคยถูกถมทำถนนและทางด่วนยกระดับ แต่ประธานาธิบดี Lee Myung-Bak ผู้นำคนปัจจุบันของเกาหลีใต้ ซึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโซลเมื่อ 10 ปีก่อน ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ แม้จะถูกคัดค้านจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง แต่เขาสามารถรื้อถอนทำลายทางด่วนยกระดับ และเริ่มโครงการฟื้นคืนชีวิตคลองดังกล่าว ด้วยเงิน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเชิงนิเวศบางอย่างที่ต้องแก้ไข อย่างเช่น ยังคงต้องปั๊มน้ำหลายแสนตันลงในคลองดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในคลองแห้งขอดอีก ส่วนความหลากหลายทางชีวภาพที่พยายามสร้างขึ้นก็ยังไม่เคยถึงระดับที่ได้ดังใจต้องการของผู้วางแผน กระนั้นก็ตาม โครงการนี้กลายเป็นโครงการที่มีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่ชาวกรุงโซลและนักท่องเที่ยว ยังมีตัวอย่างของการฟื้นคืนชีวิตทางน้ำที่ประสบความสำเร็จอีก 2 แห่ง คือที่สิงคโปร์และมะละกา ซึ่งอยู่ทางใต้ของมาเลเซีย

สิงคโปร์เป็นเกาะที่มีขนาด 712.4 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 5 ล้านคน นับเป็นหนึ่งในเขตที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดและมีความเป็นเมืองมากที่สุดในโลก หนึ่งในปัญหาใหญ่ของนครรัฐแห่งนี้คือ ความไม่สามารถพึ่งตนเองในเรื่องน้ำซึ่งต้องใช้ดื่มทุกวันได้ สิงคโปร์ต้องนำเข้าน้ำจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และมีจุดประสงค์จะลดการพึ่งพิงน้ำนำเข้าให้เหลือระดับศูนย์ ภายในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มแผนการใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นแผนใหญ่ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการโครงการริเริ่มทั้งหมดที่เกี่ยวกับระบบน้ำเสียและน้ำฝน หนึ่งในความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ คือการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำขนาดยักษ์ ใกล้กับเขต Marina-Bay อันโด่งดัง ซึ่งก็เพิ่งได้รับการฟื้นฟูใหม่เมื่อไม่นานมานี้ จุดประสงค์ของการสร้างทำนบยักษ์คือ เพื่อกั้นแยกน้ำทะเลมาเก็บไว้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ค่อยๆ เปลี่ยนน้ำทะเลส่วนนี้ ด้วยการแยกเกลือออกซึ่งต้องอาศัยเวลาให้กลายเป็นน้ำจืดที่ดื่มได้

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการน้ำดื่มสะอาดของคนสิงคโปร์ได้เพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มโครงการอนุรักษ์น้ำขนาดใหญ่ขึ้นอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ หนึ่ง เพื่อเก็บรักษาแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วในสิงคโปร์เอาไว้และรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ สอง เพื่อพัฒนาทางน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันของสิงคโปร์ให้มีหน้าที่มากขึ้น เป็นทั้งแหล่งสะสม กักเก็บและระบายน้ำ และเปลี่ยนทางน้ำเหล่านี้ให้กลายเป็นสถานที่มีชีวิตชีวา สะอาด สวยงามและดึงดูดผู้คนให้มาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมสังคมและพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ ด้วยกลไกกำหนดราคา มาตรการภาษี เงินอุดหนุนและการยกระดับจิตสำนึก สิงคโปร์มีอ่างเก็บน้ำ 17 แห่ง แม่น้ำสายหลัก 32 สาย และมีคลองและทางระบายน้ำที่มีความยาวรวมกันมากกว่า 7,000 กิโลเมตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบแหล่งน้ำและระบายน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำทำได้ด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของแม่น้ำลำคลอง และจัดพื้นที่ว่างสำหรับชุมชน โดยให้น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในการใช้ชีวิตสาธารณะ

ตัวอย่างการฟื้นคืนชีวิตแม่น้ำลำคลองที่ดีอีกแห่งคือเมืองมะละกา เช่นเดียวกับอยุธยา มะละกาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2008 โดยประกอบด้วยพื้นที่เขตหลักชั้นใน 38.62 เฮกตาร์ กับเขตกันชนอีก 134.03 เฮกตาร์ มะละกะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยแม่น้ำ Melaka ซึ่งสองฝั่งแม่น้ำได้รับการฟื้นฟูจนสวยงาม แม่น้ำ Melaka เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางเมืองมะละกา แม่น้ำสายนี้ได้สูญเสียหน้าที่การเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญไป เปลี่ยนไปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแทน โดยมีการสร้างพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ทางเดินเท้า ภัตตาคาร และสวนสาธารณะในหมู่บ้านแบบดั้งเดิมของมาเลเซีย รวมทั้งสะพานที่สวยงามอีกหลายแห่ง แม่น้ำ Melaka ได้รับการฟื้นคืนชีพจนคล้ายกับคลองในนครอัมสเตอร์ดัม ซึ่งมีเรือสำราญล่องแม่น้ำอันโด่งดัง

ความสำเร็จของทั้งโซล สิงคโปร์และมะละกายืนยันว่า การฟื้นคืนชีวิตแม่น้ำลำคลองมีประโยชน์มากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการต่อสู้กับความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยให้เราสามารถปกปักรักษาแหล่งน้ำอันมีค่าเอาไว้ ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับการพักผ่อนทั้งชาวเมืองและนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสร้างรายได้และสนับสนุน การตลาดของเมือง ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเมืองต่างๆ ทั่วโลกได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรุงเทพฯ มีเงินมากพอที่จะลงทุนในการฟื้นคืนชีวิตแม่น้ำลำคลอง เหลือเพียงการกล้าตัดสินใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจเท่านั้น ที่จะยอมปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของนโยบาย เพื่อรับใช้ความต้องการของชาวกรุงเทพฯ ให้ดีที่สุด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us