|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน หรือประเทศที่เราเข้ามาดำเนินธุรกิจ”
คำตอบของวาตารุ นิชิโอกะ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ที่มีให้กับนักศึกษาฝึกงานชาวญี่ปุ่นที่ร่วมเดินทางไปไกลถึงโรงเรียนบ้านสองคอน จังหวัดอุบลราชธานี ในโครงการพลังงานสีขาว เพื่อโลกสีเขียว ของแคนนอน
นักศึกษาคนดังกล่าวถามเขาว่า คนไทยรู้สึกอย่างไรกับโครงการเพื่อสังคมที่บริษัทต่างชาติอย่างแคนนอนเข้ามาดำเนินงานจัดทำให้กับพวกเขา คำตอบที่ได้อาจจะดูเหมือนประโยคมาตรฐาน แต่วาตารุ นิชิโอกะ ตอบด้วยความตั้งใจเพื่อสะท้อนถึงความพยายามในการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทย เช่นเดียวกับเป็นการยืนยันว่า แคนนอนมีนโยบายชัดเจนที่จะตอบแทนให้กับทุกสังคมที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ
“แคนนอนทั่วโลกมีนโยบายชัดเจนว่าทุกประเทศต้องทำซีเอสอาร์ แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นกับการพิจารณาของผู้บริหารในแต่ละประเทศ และเป็นไปตามนโยบายของประธานฯ แต่ละแห่งในเมืองไทยท่านประธานฯ ให้นโยบายไว้ว่า แคนนอนไทยแลนด์จะเป็น Excellence Company เพราะฉะนั้นแนวทางซีเอสอาร์ที่คิดขึ้นก็จะต้องล้อไปตามนโยบายที่ตั้งไว้นี้ด้วย” รจน์นันท์ เพิ่มเจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่าย Corporate Affair เล่าให้ฟัง
ส่วนแนวทางหรือรายละเอียดที่มากไปกว่านี้ เธอเล่าว่า มีคำพูดของวาตารุ นิชิโอกะ ที่มักจะเอ่ยเตือนอย่างจริงใจเกี่ยวกับการทำซีเอสอาร์ให้พวกเธอฟังเสมอว่า “ทุกอย่างที่พวกคุณคิดและทำ ผลที่ได้ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศของพวกคุณเอง ส่วนผมแค่มาแล้วก็ไป แต่พวกคุณคือคนที่ต้องอยู่ที่นี่ไปตลอด”
ฝ่าย Corporate Affair ของแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ซึ่งรับหน้าที่ดูแลกิจกรรมเพื่อสังคมเพิ่งจะมีงานประจำด้านซีเอสอาร์เข้ามาเป็นสายงานหลักเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้เท่านั้น ซึ่งหากจะย้อนกลับไปดูการดำเนินงานในส่วนอื่นของแคนนอนในเมืองไทย แคนนอนเองก็เพิ่งจะเริ่มทำตลาดผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนในตลาดไทยก่อนหน้านั้นเล็กน้อยประมาณสัก 10 ปีย้อนไปจากนี้เช่นกัน
เริ่มจากการทำตลาดหมึกพิมพ์ที่บริษัทออกมาประกาศว่า หมึกพิมพ์แท้ของแคนนอนปราศจากสารพิษที่เป็นอันตราย จากนั้นมาผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น เครื่องถ่ายเอกสารขนาดใหญ่ ซึ่งว่ากันว่ามีผลกระทบต่อการก่อเกิดสารพิษต่อผู้ใช้งาน ก็เริ่มเปิดตัวพร้อมกับฉลากเขียว (Green Label) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัญญาที่ส่งต่อจากกระบวนการผลิตที่ต้องการแสดง ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกมาสู่ภาคการตลาด ก่อนจะขับเคลื่อนสู่กระบวนการเพื่อสังคมเป็นภาคต่อที่ปรากฏชัดในวันนี้
“เราเลือกทำซีเอสอาร์ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าไอที เพราะต้องการสร้างกิจกรรมที่เป็นแนวทางในการ สร้างสังคมและชุมชนให้เกิดสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ส่วนสิ่งแวดล้อมในเรื่องของไอที ถือเป็นหน้าที่ในส่วนหลังบ้านที่เราต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ การพัฒนาให้ได้ฉลากเขียว การไม่ใช้วัสดุมีพิษในส่วนผสม ซึ่งเป็นไดเร็กชั่นของแคนนอนกรุ๊ปที่มีกระบวนการผลิตและกำจัดขยะพิษอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับการลดการใช้ทรัพยากร แต่เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตไม่ใช่จุดที่เราจะนำมาทำซีเอสอาร์” สุทธิพรรณ ฉันทปฏิมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
สุทธิพรรณเล่าว่า ก่อนหน้าที่แคนนอนไทยจะค้นเจอและยึดเอา “โครงการพลังงานสีขาว เพื่อโลกสีเขียว” หรือโครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในห้องสมุดของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลนี้ขึ้นเมื่อปี 2551 องค์กรนี้ก็ไม่มีแนวทางการทำซีเอสอาร์ที่สะท้อนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้ชัดเจนนัก
กิจกรรมที่เริ่มทำภายใต้ธงซีเอสอาร์ ที่ทำมาก่อนหน้าโครงการกังหันลมสัก 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทเริ่มตั้งแผนกที่ดูแลซีเอสอาร์อย่างจริงจัง ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกในองค์กรจะคิดและนำเสนอมาเป็นครั้งคราวว่าควรจะทำอะไร
“ก่อนหน้านั้นก็ทำกันหลายแบบ มีทั้งปลูกป่า ปล่อยเต่า บริจาคสิ่งของ จนกระทั่งเกิดโครงการกังหันลมนี่แหละ ที่ถือเป็นโครงการซีเอสอาร์ระยะยาวโครงการแรกของบริษัท เกิดขึ้นได้เพราะทีมงานคิดถึงเด็กๆ ในชนบท แล้วคิดอยากจะทำอะไรเพื่อพวกเขา บวกกับการคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าทำอะไรที่จะช่วยลดปัญหาโลกร้อน กังหันลมตอบโจทย์ได้หมด แถมสามารถทำเป็นโครงการระยะยาวได้”
กังหันลม ไม่เพียงแต่เป็นโครงการซีเอสอาร์ที่แคนนอนไทยยึดเป็นโครงการระยะยาวที่ทำต่อเนื่องมาจนถึงการติดตั้งที่โรงเรียนบ้านสองคอนแห่งนี้เป็นต้นที่ 19 ของโครงการ แต่โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่ได้รับการยกย่องจากบริษัทแคนนอนในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของกังหันลม เมื่อประธานฯ จากเมืองไทยเดินทางไปร่วมประชุมกับแคนนอนประเทศอื่นๆ และมักจะนำโครงการนี้ไปบอกเล่าและได้รับความชื่นชมกลับมาเสมอ โดยต่างยอมรับว่าเป็นโครงการที่สะท้อนบทบาทของการเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนตามเหตุผลที่ทีมงานคิดขึ้น
วาตารุ นิชิโอกะเล่าว่า ทุกครั้งที่เขานำเรื่องกังหันลมไปเล่าให้ที่ประชุมแคนนอนทั่วโลกฟัง จะเรียกเสียงฮือฮาและได้รับคำชมเสมอจากที่ประชุม จนแคนนอนไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่มีแนวทางการทำซีเอสอาร์ที่ค่อนข้างโดดเด่น และสามารถดำเนินงานเป็นโครงการระยะยาวได้อย่างน่าสนใจ เพราะโครงการกังหันลมนอกจากสะท้อนถึงแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ยังฉีกแนวจากธุรกิจหลักของบริษัทด้วย
ขณะที่สุทธิพรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า
“ยังมีประโยชน์ที่สังเกตได้อีกว่า กังหันลมให้มากกว่าเรื่องของการสร้างพลังงานสะอาด เพราะทุกครั้งที่ติดตั้งกังหัน เราจะเห็นกระบวนการสร้างสำนึกเยาวชนเกิดขึ้นด้วย เพราะน้องๆ จะมีคำถาม เอามาทำไม เอามาแล้วได้อะไร ทำไมต้องมีกังหันลม เขาเริ่มเรียนรู้จากตรงนี้ ซึ่งเราหวังว่าระยะยาว เด็กๆ จะเข้าใจความพยายามของผู้ใหญ่ในวันนี้ที่ประหยัดพลังงานเพื่ออะไร คิดว่านี่คือจุดเล็กๆ ของการเริ่มต้นให้กับสังคม ต่างจากเรื่องใหญ่อย่างขยะพิษมลพิษ ซึ่งเป็นหน้าที่ในกระบวน การผลิตของอุตสาหกรรมซึ่งแคนนอนก็มีความชัดเจนในการดำเนินงานอยู่แล้วเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม สุทธิพรรณกล่าวด้วยว่า ไม่ว่ากังหันลมจะทำให้แคนนอนไทยมีความโดดเด่นในการทำซีเอสอาร์มากเพียงใด แต่หากไม่ตอบโจทย์ปรัชญาเคียวเซ (Kyosei) ที่หมายถึงการใช้และการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ตั้งแต่เริ่ม ก็คงมาไม่ได้ไกลถึงป่านนี้
“กังหันลมอาจจะเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับแคนนอนไทย แต่จะแตกต่างแค่ไหนก็ต้องอยู่บนหลักการของการคืนสู่สังคมซึ่งเป็นพื้นฐานปรัชญาของแคนนอน”
สิ่งที่ทีมงานแคนนอนคาดหวังต่อจากนี้ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อพูดถึงกังหันลมเมื่อไร ชื่อของแคนนอนก็จะผุดขึ้นมาควบคู่กันไปสำหรับเมืองไทย แต่กว่าจะได้ภาพจำเหล่านี้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการที่ใครสักคนจะออกมาแสดงบทบาทที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนได้ชัดเจนได้ดีเพียงไร เหมือนกับเรื่องราวของกังหันลมที่แคนนอนต้องการให้เป็นตัวสะท้อนพลังงานสีขาวนั้น กว่าจะเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในสังคมได้อย่างแท้จริง แคนนอนไทยเองก็ต้องมั่นใจแล้วว่า กระบวนการตั้งแต่ด้านในสุดขององค์กรจะต้องพร้อมและเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ต้องการแสดงออกให้คนรับรู้ตามนั้นแล้วจริงๆ มาก่อนหน้านั้นด้วย
|
|
|
|
|