|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมีสีสันในภูมิภาคนี้ ยังเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า เส้นทางสาย “คุน-มั่น กงลู่” เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน หรือของจีนกันแน่
คนที่ขับรถยนต์เลาะริมแม่น้ำโขง จากหนองคายเรื่อยลงไปจนเกือบถึงเขตนครพนม รวมถึงคนท้องถิ่นทั้ง 2 ฝั่ง เมื่อเปิดวิทยุบางคลื่นจะได้ยินเสียงดีเจสาว-หนุ่ม เอิ้นภาษาลาว บ่งบอกสังกัดของตนเองว่า “ที่นี่เป็นสถานีวิทยุแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กำแพงนครเวียงจันทน์”
พวกเขาหยิบยกเอานิทาน ปรัชญา สุภาษิตจีนมาบอกเล่าผ่านคลื่นวิทยุที่กระจายเสียงได้ชัดเจน ครอบคลุมรัศมีร่วม 100 กิโลเมตรจากเวียงจันทน์ พร้อมกับการแจกจ่ายซีดีสอนภาษาจีนให้กับผู้ฟังที่สนใจฟรีตลอดเวลา ซึ่งบ่งชี้ถึงบริบททางสังคมในอนาคตของศูนย์กลางอำนาจของ สปป.ลาว ได้เป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับการขยายตัวของชุมชน เครือข่ายพ่อค้า นักธุรกิจจีนทั้งรายใหญ่รายย่อยในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศลาวในระยะที่ผ่านมา ที่เกาะกุมพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ไปแล้ว
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “อิทธิพลจีนในลาว หยั่งลึกกว่าที่คิด” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนสิงหาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
อีกพื้นที่หนึ่งที่บริบททางสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ นั่นคืออาณาบริเวณที่ “คุน-มั่น กงลู่” หรือทางด่วนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ พาดผ่าน
“ที่ดินริมถนน R3a ส่วนหนึ่งของคุน-มั่น กงลู่ บริเวณบ้านน้ำฟ้า จุดพักระหว่างทางจากบ่อแก้ว-หลวงน้ำทา ล็อกสี่เหลี่ยม ไม่น่าจะถึง 50 ตารางวา เขาขาย 2 แสนบาท สมัยก่อนแทบไม่มีราคา” อ้าย สุกสะหวัด หนุ่มลาวใต้จากปากเซ ที่ขึ้นมาลงหลักปักฐานวิ่งรถตู้โดยสารบนเส้นทาง R3a บอกกับผู้จัดการ 360 ํ
แต่ที่สุดแล้ว อีกไม่นานที่ดินแปลงนี้ อาจจะไม่ใช่ของคนลาวในท้องถิ่นอีกต่อไปด้วยเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้กำลังนำพา พลังทุน-ผู้คน เข้าสู่ดินแดนที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น Land Link ระหว่างจีน-อาเซียน
“หนูเพิ่งนั่งรถบัสจากคุนหมิง เพื่อต่อรถบัสจากเชียงรุ่งไปลงที่ห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาว” สาวน้อยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ทักทาย ผู้จัดการ 360 ํ ที่พบกันโดยบังเอิญที่สถานีขนส่งเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ระหว่างนั่งรอรถโดยสารประจำทางกลับประเทศไทยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา
เธอบอกว่าช่วงปิดเทอม เธอตัดสินใจไปเที่ยวคุนหมิงกับเพื่อนชาวจีนที่เคยเข้ามาเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยขึ้นไปเที่ยวที่คุนหมิงก่อน แล้วย้อนกลับมาที่เชียงรุ่ง ซึ่งมีรถโดยสารให้บริการตลอดอยู่แล้ว ซึ่งช่วงคุนหมิง-เชียงรุ่ง ปัจจุบันใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงเท่านั้น (รถโดยสารประจำทาง)
ขณะที่เชียงรุ่ง-เมืองห้วยทราย ก็มีรถโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการจีนวิ่งให้บริการวันเว้นวัน เช่น จันทร์ พุธ ศุกร์ เป็นรถขาขึ้นจากเมืองห้วยทราย-เชียงรุ่ง ส่วนอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ เป็นรถขาลง (หยุดให้บริการวันอาทิตย์) ในอัตราค่าโดยสาร 120 หยวนต่อคนต่อเที่ยว (ประมาณ 564 บาท; อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวนต่อ 4.70 บาท)
ซึ่งเช้ามืดวันนั้น (06.05 น. วันที่ 15 เมษายน 2554 เวลาไทย; เวลาจีนคือ 07.05 น.) รถบัส Open Air นำผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีน โดยมีคนไทยและนักท่องเที่ยวฝรั่งปะปนอยู่ด้วยเพียงไม่กี่คน มุ่งหน้าออกจากสถานีขนส่งเชียงรุ่ง ขึ้นทางด่วนคุน-มั่น กงลู่ ซึ่งมีป้ายบอกทางภาษาจีน ไทย และอังกฤษ เป็นระยะๆ ก่อนจะแวะรับ-ส่งสินค้ารายทางที่เมืองลา หรือเมิ่งล่า อำเภอชายแดนของสิบสองปันนา ห่างจากชายแดนบ่อหาน-บ่อเต็น (พรมแดนจีน-ลาว ประมาณ 40 กว่า กม.)
รถบัส Open Air คันนี้พาผู้โดยสารมาถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองบ่อหาน ในเวลาประมาณ 11.30 น. (เวลาไทย) ก่อนที่ผู้โดยสารทั้งหมดจะใช้เวลาทำพิธีการเข้า-ออกเมืองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบ่อหานของจีน และด่านบ่อเต็นของลาว รวมประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้นก็มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทาง R3a ผ่านแขวงหลวงน้ำทา-เมืองเวียงภูคา-เมืองห้วยทราย สปป.ลาว โดยแวะพักทานข้าวเที่ยงกันที่บ้านน้ำฟ้า ซึ่งกลายเป็นจุดพักหลักระหว่างทางบนเส้นทาง R3a ไปแล้ว ก่อนเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารห้วยทราย เป็นจุดสุดท้ายในเวลาประมาณ 16.05 น.ของวันเดียวกัน
รวมเวลาเดินทางจากเชียงรุ่ง สป.จีน-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว 10 ชั่วโมงโดยประมาณ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้สามารถทำพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองห้วยทราย ก่อนนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขง เข้าไทยที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ก่อนที่ด่านฝั่งไทยจะปิด
ถ้าหากต้องการความสะดวกสบายในการเดินทางบนเส้นทางสายนี้ ทั้งขาขึ้น-ขาล่องก็สามารถใช้บริการรถตู้ที่มีให้เลือกเช่าเหมาคันที่เมืองห้วยทราย นับสิบๆ บริษัท รวมรถให้บริการหลายสิบคัน ในราคาประมาณ 3,500 บาทต่อเที่ยว (ห้วยทราย-บ่อเต็น) 10 ที่นั่ง หรือถ้าเช่าเหมาต่อไปถึงเชียงรุ่ง ก็จะคิดกันในราคาประมาณ 10,000 บาทเศษต่อเที่ยว
การไหลเวียนของผู้คนบนเส้นทางสายนี้กำลังเพิ่มความถี่และปริมาณมากขึ้น
ขณะที่ทิวทัศน์ตลอด 2 ฟากฝั่งเส้นทาง R3a กำลังถูกเผา-ถากถางจนภูเขา เตียนโล่งเป็นลูกๆ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของ สวนยางพารา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนยางฯ ของกลุ่มคนจีนที่นำเม็ดเงิน-กล้าพันธุ์-ปุ๋ย มาลงทุนร่วมกับคนลาวที่จะใช้แรงงาน-ที่ดินเข้าร่วม ภายใต้สัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ ประมาณ 60 ต่อ 40 หรือ 70 ต่อ 30 ขึ้นอยู่กับรายละเอียดข้อตกลง
แน่นอน ผลผลิตทั้งหมดถูกส่งเข้าไปในจีน ล่าสุดขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนจีนเข้ามาปักหลักตั้งโรงงานยางพาราที่แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว รองรับไว้แล้ว
เช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่มีพ่อค้าทั้งรายใหญ่-ย่อยจาก สป.จีนเข้ามาลงทุนโดยใช้คนลาวในท้องถิ่นนำ แรงงาน-ที่ดินมาร่วมลงทุน ก่อนจะลำเลียงผลผลิตที่ได้ย้อนกลับไปตามเส้นทาง R3a เข้าสู่ตลาด สป.จีน ด้วยตนเอง
ไม่เว้นแม้แต่ไม้-ผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งผู้ที่เดินทางผ่านเส้นทางสายนี้ มักจะพบกับขบวนรถขนไม้ซุงท่อน-รากไม้ขนาดใหญ่ ย้อนกลับขึ้นไปทางสิบสองปันนาเป็นระยะๆ เช่นกัน
พร้อมกันนั้นบริเวณลานหน้าด่านศุลกากรบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว จุดเชื่อมต่อระหว่างถนน R3a กับทางด่วน คุน-มั่น กงลู่ ในเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ขณะนี้กลายเป็นจุดขนถ่ายสินค้าเปลี่ยนรถระหว่างจีน-ไทยไปโดยปริยาย โดยจะมีรถขนส่งคอนเทนเนอร์จากไทย เข้าไปรับถ่ายสินค้าจากรถขนส่งจีน ก่อนนำผ่านเข้าสู่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงรายอย่างคึกคัก
สถิติการนำเข้า-ส่งออกผ่านท่าเรือเชียงของ ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2553 มีมูลค่ารวม 4,938 ล้านบาท แยกเป็นนำเข้า 1,731 ล้านบาท ส่งออก 3,206 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2554 เริ่มจากเดือนตุลาคม 2553 มีการนำเข้า 139.522 ล้านบาท ส่งออก 252.141 ล้านบาท พฤศจิกายน 2553 นำเข้า141.164 ล้านบาท ส่งออก 461.262 ล้านบาท ธันวาคม 2553 นำเข้า 156.353 ล้านบาท ส่งออก 478.444 ล้านบาท มกราคม 2554 นำเข้า 149 ล้านบาท ส่งออก 461.262 ล้านบาท และกุมภาพันธ์ปีนี้นำเข้า 42.301 ล้านบาท ส่งออก 127.284 ล้านบาท
ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ตลอดแนวเส้นทางนี้ ก็หนีไม่พ้นกลุ่มทุนจากประเทศจีนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ เขตเศรษฐกิจชายแดนบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา, Kings Romans of Laos Asian Economic & Tourism Development Zone เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ของกลุ่มดอกงิ้วคำ ฯลฯ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่วางขายในตลาดท้องถิ่นทั้งที่หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว ก็เต็มไปด้วยสินค้าจีนทั้งสิ้น
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “เซินเจิ้นลาวบนสาม เหลี่ยมทองคำ” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ทั้งนี้ “คุน-มั่ง กงลู่” ซึ่งหมายรวมถึง R3a ใน สปป.ลาวด้วยนั้น เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมณฑลทางตะวันตกของจีนเส้นทางหนึ่ง สะท้อนให้เห็นได้จากความพยายามของผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ-เอกชน ตั้งแต่มณฑลหยุนหนัน จนถึงเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ต่างเพียรสร้างกิจกรรมความเคลื่อนไหว กระตุ้นให้เกิดธุรกรรมทางการค้าการลงทุนต่อเนื่อง
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “ตั้งรับอิทธิพลจีน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ล่าสุด Xiong Qinghua อธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน สป.จีน นำคณะผู้แทนภาครัฐ-เอกชน รวมกว่า 50 บริษัท เดินทางสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนผ่านเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้ พร้อมกับเปิดโต๊ะจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีความพยายามเร่งรัดให้มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันอีกครั้ง
Xiong Qinghua บอกว่าความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมานานกว่า 35 ปี และระยะทางระหว่างหยุนหนัน-ไทย ที่ห่างกันเพียง 200 กว่ากิโลเมตร ผ่านเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ ซึ่งในปี 2010 ไทยกับหยุนหนัน มีการค้าเกิดขึ้นสูงถึง 4,210 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 65.9% แบ่งเป็นการส่งออก 331 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 63.3% นำเข้า 90.40 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 75.9%
ขณะที่ 3 เดือนแรกของปีนี้ (2011) มีการค้าเกิดขึ้น 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า นับเป็นการเจริญเติบโตอยู่ในลำดับที่ 2 ในกลุ่มคู่ค้า 10 กลุ่มใหญ่
“ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือประเทศไทย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทางความร่วมมือการค้ามากขึ้นตามลำดับ”
Xiong Qinghua ยังย้ำอีกว่าเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางการค้าระหว่างหยุนหนัน-ไทยเท่านั้น เนื่องจากปี 2010 ด่านชายแดนบ่อหาน มีปริมาณนำเข้าและส่งออก 570 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการค้าระหว่างหยุนหนัน-ไทย 59.3%
แต่ปริมาณการค้าดังกล่าวยังคิดเป็นไม่ถึง 1% ของการค้าระหว่างไทย-จีนโดยรวม แสดงว่ายังมีช่องทางการพัฒนาได้อีกมาก
“ปัจจุบันเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ และ R2a ถูกใช้เป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงสินค้าระหว่างไทยกับจีนหยุนหนันแล้ว แม้ จะมีแม่น้ำโขงอยู่ก็ตาม” สรภพ เชื้อดำรง รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มือทำงานด้านอนุภูมิภาค GMS คนสำคัญของหอการค้าภาคเหนือกลุ่ม 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) บอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจก็เกิดคำถามเช่นกันว่า “ผู้คนที่อยู่ระหว่างเส้นทาง ยุทธศาสตร์สายนี้พาดผ่านจะสามารถมีส่วนร่วมได้มากน้อยเพียงใด”
(อ่านรายละเอียดเรื่อง “R3a เส้นทางสู่สวรรค์จริงหรือ” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนธันวาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
แน่นอน นี่เป็นคำถามใหญ่สำหรับก้าวย่างของประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะเริ่มต้นในปี 2558 นี้เช่นกัน
|
|
|
|
|