‘บ้านถวาย’ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งผลิต-จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมชิ้นงานหัตถศิลป์ของเชียงใหม่ที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งล้านนาถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนรู้จักกันแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
“ถนนคนเดินเชียงรุ่ง ที่มีทุกคืนไม่ต้องไปนะ มีแต่ของไทยทั้งนั้น...” อาเหวิน เพื่อนชาวไทลื้อ บอกย้ำกับผู้เขียนระหว่างเดินทางไปที่เชียงรุ่ง เพื่อร่วมงานสิบสองปันนาแฟร์ เมื่อวันที่ 13-16 เมษายนที่ผ่านมา
เพราะตลอดความยาวของถนนหน้าโรงแรม Huo Fa เมืองเชียงรุ่งประมาณ 500 เมตรนั้น แม้จะมีสินค้าเครื่องประดับ ของที่ระลึกท้องถิ่น รวมถึงหยก อัญมณี วางจำหน่ายอยู่ก็ตาม แต่บางส่วนล้วนแต่เป็นแผงสินค้าหัตถกรรม-ผลไม้จากภาคเหนือของไทยที่พ่อค้ารายย่อยชาวจีนนำเข้าไปวางขาย
ตอกย้ำถึงความเป็นไปของ “ล้านนาพาณิชย์” ในเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา สป.จีน ที่สามารถต่อยอดทำตลาดได้อีกมากมาย
ขณะเดียวกันรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีนักธุรกิจจีนเข้ามาเปิดบริษัทชิปปิ้งถึงกลางชุมชนบ้านถวายถึง 4 บริษัทแล้ว เริ่มจากบริษัทจินสุ่ย เมื่อปี 2552 จากนั้นในปี 2553 ก็มีนักธุรกิจจีนเข้ามาเปิดเพิ่มอีก 3 บริษัท รับส่งสินค้าจากบ้านถวายให้กับลูกค้าชาวจีนที่อยู่ในเมืองจีนเป็นหลัก
อีกทั้งอาซิ้ม อาซ้อ หมวย ตี๋ ที่เคยเข้ามาท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทย หรือมุ่งหน้ามาแสวงหาโอกาสใหม่ หลายคนกำลังทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากสินค้าหัตถกรรมล้านนา
โดยเฉพาะหัตกรรมบ้านถวาย แหล่งรวมความหลากหลายของงานหัตถศิลป์ที่โดดเด่น เช่น งานแกะสลักไม้, งานเดินเส้น แต่งงาน, งานลงรักปิดทอง, แอนติค, เครื่องเงิน, เครื่องเขิน, ผ้าทอ, เครื่องจักรสาน, เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ซึ่งมีร้านค้าอยู่ 6 โซน รวมถึง 400-500 ร้าน ส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาลงทุนเปิดร้าน มีเพียงประมาณ 30% เท่านั้นที่เป็นผู้ประกอบการดั้งเดิม ขณะที่ผู้ผลิตที่แท้จริงเป็นคนในชุมชนต่างๆ ของอำเภอหางดง ที่ใช้โรงเรือนหรือใต้ถุนบ้านเป็นโรงงาน
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 Xiong Qinghua อธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน สป.จีน พร้อมคณะตัวแทนภาครัฐ-เอกชนมากกว่า 50 บริษัท เดินทางด้วยรถยนต์ตามเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) เพื่อสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุน พร้อมกับตั้งวง Business Matching กับผู้ประกอบการไทยในภาคเหนือที่โรงแรมเลอเมอริเดียนเชียงใหม่ หลังจากนั้นยกคณะเดินทางเข้าไปตระเวนดูสินค้าหัตถกรรมที่บ้านถวาย
ก่อนหน้านั้น ในงานสิบสองปันนาแฟร์ ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน ที่จัดขึ้นในโครงการพัฒนาที่ดินของ Haicheng Group นั้น Haicheng Group จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการจากบ้านถวายโดยเฉพาะ ประมาณ 40-42 ราย รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายให้เดินทางไปร่วมงานนี้ ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง และที่พัก
แน่นอน...เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายผลักดันให้ 9 จอม 12 เจียง เป็นศูนย์กลางหัตถกรรมล้านนาในอนาคตและก็เป็นมาตรวัดระดับความสนใจในวิถีล้านนาพาณิชย์ของตลาดจีนได้เช่นกัน
“บางคนเอาช้างแกะสลักจากบ้านถวายไปขายในจีน ซื้อหลักหมื่น ไปขายหลักแสน บางรายได้เป็นหลักล้าน โรงแรมหรูบางแห่ง ตกแต่งเป็นล้านนาสไตล์ 100% เราไปนอน ยังนึกว่านอนโรงแรมที่เชียงใหม่เลย” เป็นคำยืนยันจากสรภพ เชื้อดำรง รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายเศรษฐกิจอนุภูมิภาค GMS ที่เพียรบอกผ่านหลายเวที เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตหัตถกรรมไทยเข้าไปทำตลาดใน สป.จีน
“จานไม้รองแก้ว เราซื้อจากบ้านถวาย 20 บาท ไปถึงเชียงรุ่ง มีเพื่อนมาเห็น ขอซื้อต่อ เราบอก 20 หยวน เขาซื้อหมด แถมถามอีกว่ามีอีกไหม ผ้าซิ่น (ผ้าถุง) ที่ซื้อกันผืนละ 120-160 บาท เขาเอาไปขายกัน 150-200 หยวน เรียกว่าซื้อบาทขายหยวน ได้กำไรร่วม 5 เท่าตัวทันที”
ธวัชชัย บุตรธรรม ผู้จัดการศูนย์ NTHC สาขาเชียงใหม่ (Northern-Thai Handicraft Center), วิไล ไชยา เจ้าของร้านต้นแอนติค ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแต่งบ้าน โต๊ะ ตู้ กรอบกระจก แผ่นภาพ ไม้แกะสลัก และพงษ์เทพ บุตรชัย เจ้าของร้านรุ้งตะวัน OTOP ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวาย หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP อ.หางดง จ.ชียงใหม่ บอกทำนองเดียวกันว่าลูกค้าจีนเริ่มหนาตาขึ้น จากเดิมหัตถกรรมบ้านถวายจะมุ่งไปที่ตลาดยุโรปเป็นหลัก
สินค้าที่กลุ่มคนจีนสนใจ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้แกะสลักสไตล์ล้านนาและงานติดกระจก
“เสาร์-อาทิตย์จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ถือเป็นขาจรเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหน้าร้าน แต่ถ้าเป็นช่วงจันทร์-ศุกร์ มักจะมีพ่อค้านักธุรกิจจีนเข้ามา ซึ่งกลุ่มนี้นอกจากจะดูของที่หน้าร้านในตลาดบ้านถวายแล้ว ยังเข้าไปดูถึงสถานที่ผลิตตามบ้านเรือนในชุมชน เพื่อตัดราคาจากหน้าโรงงานเลย”
วิธีนี้ กลุ่มพ่อค้าชาวจีนเคยใช้กับกระบวนการซื้อ-ขายลำไย พืชเศรษฐกิจสำคัญของลำพูน-เชียงใหม่ จนสามารถเข้าควบคุมกลไกการซื้อขายผ่าน “ล้ง” ต่างๆ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ได้มากกว่า 90% แล้ว ทำให้ขณะนี้พ่อค้าลำไยจีนสามารถกำหนดราคารับซื้อได้เองทั้งตลาดเชียงใหม่-ลำพูน เรื่อยไปจนถึงจังหวัดอื่นๆ แม้แต่ลำไยจากจันทบุรีด้วย
วิไลบอกว่า ตอนนี้ใครมาเธอก็ขาย เพราะหลายปีที่เมืองไทยมีปัญหาการเมือง ทำให้ยอดขายหายไปมาก “แต่ถ้าถามว่าจะเข้าไปทำตลาดในจีนไหม ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวเยอะเหมือนกัน ทำให้กลัวถูกโกง ขายแล้วไม่ได้เงิน มีปัญหาการขนส่ง”
“กลัวถูกก๊อบปี้ด้วย จีนเขาเก่งเรื่องนี้” เธอย้ำ
สะท้อนถึงความกังวลลึกๆ ของผู้ประกอบการบ้านถวาย แม้ว่าพวกเขาจะเห็นถึงศักยภาพตลาดจีนที่จะสามารถพัฒนาเป็นตลาดหลักของหัตถกรรมบ้านถวาย ทดแทนฝั่งยุโรปที่ถดถอยไปได้ก็ตาม
วันนี้ พวกเขากำลังรอพี่เลี้ยงอยู่
|